logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

‘ท้าวทองกีบม้า’ หญิงแกร่งแห่งกรุงศรี ชีวิตสูงสุดสู่สามัญ จากเมียขุนนาง สู่ ‘สาวใช้’ ในวัง

‘ท้าวทองกีบม้า’ หญิงแกร่งแห่งกรุงศรี ชีวิตสูงสุดสู่สามัญ จากเมียขุนนาง สู่ ‘สาวใช้’ ในวัง

‘ท้าวทองกีบม้า’ หรือ ‘มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า’ ภรรยาของ ‘เจ้าพระยาวิไชเยนทร์’ หรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ เคยใช้ชีวิตอย่างหรูหรา กระทั่งการเมืองเปลี่ยนแปลง จากเมียขุนนาง กลายมาเป็น ‘สาวใช้’ ในวัง

  • ‘มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า’ หรือ ‘ท้าวทองกีบม้า’ เคยมีชีวิตที่หรูหราในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลับกลายเป็นสถานะ ‘สาวรับใช้’ ในวัง
  • ภายหลังคอนสแตนติน ฟอลคอน สามีของเธอถูกประหาร ท้าวทองกีบม้า ต้องเดินหน้าเรียกร้องสิ่งที่เธอต้องการ

อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานี้กระแสสังคมคอละครทั่วเมืองไทย คงกำลังติดตามละครแนวย้อนยุคชื่อดังเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ บทประพันธ์ของ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา หรือ ‘รอมแพง’ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ ‘ออเจ้า’ มาแล้วในละครภาคแรกเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ โดยเล่าเรื่องราวย้อนกลับสู่ยุค ‘วันชื่นคืนสุข’ ของสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่กำลังเติบโตจากการค้าขายกับนานาชาตินับเป็นหนึ่งในยุคทองของอยุธยา และด้วยการเป็นเมืองท่านานาชาติของภูมิภาค อยุธยาจึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของชาวต่างชาติมากหน้าหลายภาษา อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวหญิงสาวต่างชาติที่ชื่อว่า ‘โดญ่า มารี เด ปินา’ หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ ‘ท้าวทองกีบม้า’ 

แต่จริง ๆ แล้วเรื่องราวชีวิตของเธอมีมากกว่านั้น เมื่อต้องไปพัวพันกับเรื่องราวทางการเมืองของราชสำนักอยุธยาในฐานะภรรยาของ ‘เจ้าพระยาวิไชเยนทร์’ หรือที่เรารู้จักในชื่อ ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ และนี่จึงทำให้ชะตาชีวิตของเธอกลายเป็นเรื่องราวที่มากกว่าเรื่องขนมหวานนั้นเอง

‘โดญ่า มารี เด ปินา’ หรือ ‘มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า’ และ ‘แคทเทอรีน เดอ ทอร์ควิมา’ นี่คือชื่อเรียกของนางฟอลคอน หรือ ‘ท้าวทองกีบม้า’ ตามที่ชาวไทยทราบกันดี ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะเรียกเธอว่า ‘โดญ่า มารี เด ปินา’ ซึ่งตัวตนเธอถูกค้นพบจากหลักฐานเอกสารของชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาสยาม ในฐานะที่เธอเป็นภรรยาของคอนสแตนติน ฟอลคอน

โดยคาดว่าเจ้าหล่อนน่าจะเป็นลูกครึ่งระหว่างโปรตุเกส ญี่ปุ่น และเบงกอล เพราะว่าพ่อของเธอนั้นที่ชื่อนายฟานิก เป็นลูกครึ่งระหว่างชาวเบงกอลกับญี่ปุ่น ขณะที่นางอุสุลา ยามาดะ แม่ของโดญ่า มารี เด ปินานั้นเป็นลูกผสมระหว่างชาวโปรตุเกสกับญี่ปุ่น คาดว่าคนญี่ปุ่นกลุ่มนี้น่าจะย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่สยาม ในช่วงที่ ‘โชกุน ฮิเดะโยชิ’ ดำเนินนโยบายปราบปรามคนนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่นับถือคริสต์ต้องระหกระเหินมาในดินแดนทะเลใต้หรืออยุธยา

ทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกลุ่มอื่นที่เป็นพวกโรนินเข้ามารับราชการนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร บางส่วนชาวญี่ปุ่นที่รับราชการเป็น ‘ออกญาเสนาภิมุข’ เช่น ‘ยามาดะ นางามาซะ’ ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในอยุธยาในฐานะ ‘หัวหน้าหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น’ ด้วย

คนญี่ปุ่นเหล่านี้รวมถึงโดญ่า มารี เด ปินา ก็คาดว่าน่าพำนักอาศัยอยู่ในบริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น (ปัจจุบันจัดพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น) ซึ่งฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้านญี่ปุ่นก็เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโปรตุเกส ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของซากอาคารที่คาดว่าเคยเป็นโบสถ์ของชุมชน นี่ก็น่าจะสะดวกต่อครอบครัวของโดญ่า มารี เด ปินาในการปฏิบัติศาสนกิจ ในฐานะชาวคริตส์คาทอลิก

อย่างไรก็ตาม การติดต่อระหว่างสองชุมชนของครอบครัวเธอ คงทำให้ไม่นาน ชายหนุ่มชาวกรีกผู้มาแสวงโชคในดินแดนอุษาคเนย์ในฐานะพนักงานบริษัทการค้าของอังกฤษ และมาดำรงตำแหน่งงานในท้องพระคลังอยุธยาอย่างนายคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็ได้พบรักกับเธอ

ฟอลคอน ถือเป็นขุนนางชาวต่างชาติผู้ใกล้ชิดพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งเชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาได้อย่างหลากหลายอันรวมถึงภาษาโปรตุเกสด้วย คงส่งผลทำให้ในเวลาต่อมาทั้งโดญ่า มารี เด ปินา กับคอนสแตนติน ฟอลคอน ได้เข้าสมรสกันในปี พ.ศ.2225 (1682)และฟอลคอนยังเปลี่ยนนิกายศาสนามาเป็นคาทอลิกตามภรรยาของตน ในบันทึกฝรั่งเศสกล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์และขุนนางผู้ใหญ่ต่างร่วมแสดงความยินดี พร้อมทั้งส่งของขวัญให้กับคู่สมรสเป็นจำนวนมาก

ภายหลังจากการแต่งงานและเปลี่ยนนิกายของฟอลคอน งานราชการในราชสำนักของเขาก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเพียงระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยในหนังสือ Adventurers in Siam in the Seventeenth Century ระบุถ้อยความของนายบูดร เดส์ลัน อธิบายถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของฟอลคอนไว้น่าสนใจว่า

“เขา(ฟอลคอน)ทำธุรกิจมากกว่าพ่อค้าทั้งหมดรวมกัน เขาได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน(สมเด็จพระนารายณ์)ถึงวันละสองครั้ง…ซึ่งสนพระทัยที่จะทรงเอาตัวเขาไว้ถึง 2-3 ชั่วโมง”

ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่าการเปลี่ยนศาสนาของฟอลคอน ทำให้เขาเป็นที่โปรดปราน และเป็นเครื่องมืออันวิเศษในการให้ประชาคมชาวคริสต์เตียนในอยุธยาสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ ท่ามกลางการเมืองที่มีปรปักษ์รายล้อม

ช่วงที่บทบาทของสามีกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในกรุงศรี บทบาทของนางฟอลคอน หรือโดญ่า มารี เด ปินา ก็พุ่งแรงไม่แพ้สามีในฐานะสตรีชั้นสูง เริ่มมีบทบาทในการสนับสนุนการเผยแพร่คริสต์ศาสนา โดยให้เด็กชาวพื้นเมืองสยามที่ส่วนใหญ่มีบิดาเป็นชาวตะวันตก(ลูกครึ่ง)แต่ถูกทอดทิ้ง ไม่น้อยกว่า 120 คน มาร่ำเรียนนับถือคริสต์ศาสนา

เมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตก็ยังมอบทุนทรัพย์สนับสนุนให้สามารถตั้งเนื้อตัวได้ อีกทั้งเธอยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสามี ในการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อสอนวิทยาการความรู้แบบชาวตะวันตกพร้อมกับสอนศาสนา ซึ่งคาดว่ามีคนเรียนอยู่ 700 คน

อีกทั้งโดญ่า มารี เด ปินา ยังมีบทบาทสำคัญในการผสมผสานความเป็นตะวันตกกับตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน โดยบันทึกตอนหนึ่งของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ บันทึกถึงบ้านรับรองของฟอลคอนไว้ว่า “ใช้เตียงนอนแบบจีน พรมของเปอร์เซียน และลับแลจากญี่ปุ่น การจัดที่พักรับรองดูภูมิฐาน เครื่องเรือนใหม่เอี่ยม ซึ่งคิดไม่ถึงว่าจะพบในดินแดนที่ราษฎรเดินด้วยเท้าเปล่า” ทั้งยังบันทึกถึงอาหารรับแขกที่โดญ่า มารี เด ปินา ทำให้รับประทานมีทั้งอาหารญี่ปุ่น และอาหารโปรตุเกส นี่นับเป็นงานแม่บ้านในระดับหรูหราของชาวกรุงศรีอยุธยาที่คงเป็นรองแค่อาหารชาววังเท่านั้น และคงพอทำให้มองเห็นชีวิตของเธอในฐานะภรรยาของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ได้เป็นอย่างดี

แต่ชีวิตที่หรูหราในฐานะภรรยาขุนนางที่อิทธิพลลำต้น ๆ ของราชสำนักอยุธยา ดูเหมือนจะไม่จีรังยั่งยืนนัก เมื่อเข้าสู่ปลายแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์การเมืองภายในอยุธยาถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มการเมือง

กลุ่มแรกคือกลุ่มขุนนางเก่ามีบทบาทในแผ่นดินพระนารายณ์นำโดยพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) ที่กำลังถูกลดบทบาททางการเมืองจากกลุ่มฟอลคอน กลุ่มสองคือขุนนางใหม่ที่เริ่มมีบทบาททางการเมือง ซึ่งคาดว่ามีพระปีย์หรือไม่ก็เจ้าฟ้าอภัยทศสนับสนุน และกลุ่มที่ 3 คือกองกำลังฝรั่งเศสที่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ และสมเด็จพระนารายณ์ พยายามเชื้อเชิญให้มาประจำการที่ป้อมบางกอก

ขณะเดียวกัน การดำเนินงานทางการเมืองของพระนารายณ์กับฟอนคอล เริ่มสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเรื่องของการเก็บภาษี ทั้งการเกณฑ์แรงงานยังกระทบต่อกลุ่มพระสงฆ์ในศาสนาพุทธด้วย ทำให้ในเวลาต่อมากระแสต่อต้านเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด แผนการรัฐประหารเพื่อขจัดกลุ่มฟอลคอน และพระนารายณ์จึงเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2231(1688)

โดยแน่นอนว่า คนที่โดนจัดการคนแรกคงไม่พ้น ‘เจ้าพระยาวิไชเยนทร์’ หรือฟอลคอน ซึ่งถูกจับกุมและประหารชีวิตที่บ้านพักในเมืองละโว้ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 (1688) ส่วนสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตด้วยอาการประชวรในวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

ขณะที่พระโอรสอย่างพระปีย์ และกลุ่มเจ้าฟ้าอภัยทศก็ถูกขจัดจนสิ้นเสี้ยนหนาม ส่วนโดญ่า มารี เด ปินา ภายหลังการสูญเสียฟอลคอน เธอถูกจับขังเอาไว้ในบ้านพักที่กรุงละโว้ รังรักของเธอกับสามี

ภายหลังการตายของคอนสแตนติน ฟอลคอน ดูเหมือนว่าโดญ่า มารี เด ปินา หรือนางฟอลคอน ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หนังสืออยุธยา: Discovering Ayutthaya ระบุว่า หลวงสรศักดิ์ โอรสในสมเด็จพระเพทราชา (ผู้ยึดอำนาจ) พยายามจะนำตัวเธอมาเป็นอนุภรรยา พร้อมกับริบทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของครอบครัวฟอลคอน

ขณะที่บันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ กล่าวถึงการถูกคุมขังในโรงม้าของโดญ่า มารี เด ปินาว่า “สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น” ขณะที่ยังมีจดหมายฉบับที่เขียนโดยโดญ่า มารี เด ปินาเอง ได้เผยชีวิตในคุกว่า

“หากแต่วันนี้ คนที่เคยถูกเรียกขานกันว่าเป็นมารดาของเหล่ามิชชันนารี กำลังทุกข์ยากลำเค็ญอยู่ในคุกหลวง หล่อนต้องทนเจ็บปวดทรมาน ต้องเผชิญกับอันตรายนานัปการ ทั้งหล่อนต้องอยู่ในคุกมืดอับที่แทบไม่มีแสงสว่างเล็ดลอดเข้ามาได้เลย หล่อนไม่ได้อาศัยอยู่ในที่หรูหราอีกต่อไปแล้ว ต้องนอนกับพื้นดิน บนความอับชื้น และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะต่อสุขภาพของหล่อนสักเท่าใดนัก”

เมื่อชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเหมือนถูกโลกทั้งใบกลืนกิน ไม่นานเธอก็ตัดสินใจหนีไปอยู่กับกองทหารฝรั่งเศสที่บางกอก นำโดยนายพลเดส์ ฟาร์ช เพื่อหวังจะหนีไปฝรั่งเศส แต่ทว่าฝ่ายฝรั่งเศสเกรงว่าการมาของนางมารี เด ปินา อาจทำให้พวกคนที่เข้ารีตคริสต์อาจถูกลงโทษ และอาจทำให้ฝรั่สเศสเสียผลประโยชน์จากการทำการค้าด้วย จึงได้เจรจาพาทีกับออกญาโกษาธิบดี (โกษาปาน) ตัวแทนฝ่ายราชสำนักอยุธยาว่า ขอให้นางฟอลคอนผู้นี้สามารถมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เลือกจะอยู่อาศัยได้อิสระ และสมรสใหม่ได้ ทั้งครอบครัวของนางต้องเป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร ฝรั่งเศสจึงส่งตัวเธอกลับไปคืนกับฝ่ายอยุธยา และเร่งเดินทางออกไปจากสยามภายหลังวิกฤตที่ป้อมบางกอก

ชีวิตของโดญ่า มารี เด ปินา เริ่มต้องดิ้นรนอีกครั้งภายหลังการตายของสามี และสูญเสียลูก ๆ อันเป็นที่รักไประหว่างช่วงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงภายในสยาม เธอเริ่มแสวงหาความเป็นธรรมด้วยการถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และ 15 เพื่อจะขอให้บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสจ่ายเงินเลี้ยงชีพให้แก่เธอ เพราะเมื่อตอนฟอลคอน ยังมีลมหายใจ เขาได้ลงทุนลงแรงกับทางบริษัทของฝรั่งเศสเป็นจำนวนเงินมหาศาลเช่นกัน ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบสนองโดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2240 ให้ โดญ่า มารี เด ปินา รับเงินเลี้ยงชีพและผลประโยชน์ต่าง ๆ ได้

ต่อมา ในรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระ หลักฐานการดำรงชีวิตของเธอในฐานะพนักงานห้องเครื่องต้นประกอบอาหารในพระราชวัง ตำแหน่ง ‘ท้าวทองกีบม้า’ ก็ปรากฏอย่างเด่นชัดในบันทึกของมองซิเออร์โชมองต์ โดยเขาอธิบายว่า จากเดิมที่เธอเป็นผู้หญิงสูงศักดิ์ก็ได้มีสถานะกลายเป็น ‘ทาส’ มีหน้าที่จะเก็บผลไม้เสวย ภูษาฉลองพระองค์ดูแลเครื่องทองของหลวง มีพนักงานหญิงในบังคับถึง 2,000 คน

โดยพระเจ้ากรุงสยามไว้ใจเธอมาก เพราะเห็นเป็นชาวคริสเตียน อุปนิสัยของโดญ่า มารี เด ปินา ก็ถูกระบุไว้ในบันถึงของมองซิเออร์โชมองต์เช่นกันว่า

“ข้าพเจ้าได้สังเกตว่ามาดัมคอนซตันซ์คนนี้เปนคนที่ใจคอดีแลอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของสาสนาคริสเตียน แลเปนคนรู้นิสัยใจคอแบบธรรมเนียมแลความคดโกงของคนไทยทุกอย่าง เพราะฉนั้นเมื่อข้าพเจ้าตกอยู่ในที่ลำบากคราวใด ก็ได้เคยให้มาดัมคอนซตันซ์ช่วยเสมอ เพราะเห็นว่าคำแนะนำของเขาล้วนแต่ดีทั้งนั้น เวลานั้นมารดาของมาดัมคอนซตันซ์ยังอายุ 80 ปีเศษ เดิรไม่ได้แล้ว เมื่อข้าพเจ้ามาถึงได้สักปี 1 มารดามาดัมคอนซตันซ์ก็ถึงแก่กรรม”

แม้เราไม่อาจทราบว่าโดญ่า มารี เด ปินา หรือท้าวทองกีบม้า เสียชีวิตในเวลาใด แต่นักประวัติศาสตร์คาดว่าร่างของเธอของคงถูกฝั่งอยู่ในสุสานหมู่บ้านโปรตุเกส ใกล้ ๆ กับศาสนสถานของพระผู้เป็นเจ้านั้นเอง

แต่เรื่องราวของท้าวทองกีบม้ายังคงจะเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงกันต่อไปในฐานะหญิงแกร่งแห่งกรุงศรีฯ ที่ฝ่าฟันวิกฤตการณ์ทางการเมืองของราชสำนักอยุธยา และแปรเปลี่ยนชีวิตของเธอจากสูงสุดคืนสู่สามัญในบั้นปลายชีวิตนั้นเอง

         

เรื่อง: จงเจริญ ขันทอง

ภาพ: (ซ้าย) ภาพวาด คอนสแตนติน ฟอลคอน สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 กับภาพประกอบเนื้อหา ภาพวาดสตรีในสมัยโบราณจากภาพจิตรกรรมฝาผนังใช้เป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น 

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: Discovering Ayutthaya. ตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มูลนิธิ โครงการ. 2561.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง. โตโยต้าประเทศไทย, มูลนิธิ. 2560.

พลับพลึง คงชนะ. หมู่บ้านญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยา. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2550.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561

บันทึกความทรงจำของ บาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน

‘ตาม ‘แม่หญิงการะเกด’ เปิดแผนที่อยุธยาใน ‘จดหมายเหตุลาลูแบร์’’. เว็บไซต์. ศิลปวัฒนธรรม. เผยแพร่ 28 กุมภาพันธ์ 2561. 

ผศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี. นาทีชีวิต ‘ท้าวทองกีบม้า’ หลังพระเพทราชายึดอำนาจ นางหาเลี้ยงชีพ-เอาตัวรอดมาอย่างไร?’. เว็บไซต์. ศิลปวัฒนธรรม. เผยแพร่ 18 ตุลาคม 2566.