ทำไม ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ได้เป็นนายกฯ ไทยคนแรกจากการเลือกตั้ง ในบรรยากาศยุคหลัง 2475

ทำไม ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ได้เป็นนายกฯ ไทยคนแรกจากการเลือกตั้ง ในบรรยากาศยุคหลัง 2475

‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง สมาชิกคณะราษฎรที่ก่อการปฏิวัติ 2475 ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเมื่อ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 โดยมีปัจจัยแวดล้อมมาประกอบหลายประการ

  • พระยาพหลพลพยุหเสนา สมาชิกคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยสภาพแวดล้อมและเหตุผลหลายปัจจัย
  • ในยุคสมัยหลัง 2475 บ้านเมืองยังมีตัวแปรความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มก้อนต่าง ๆ ทั้งระหว่างในคณะราษฎรด้วยกันเอง และคณะราษฎรเดิมกับเจ้านาย ซึ่งเป็นผลสำคัญต่อการเมืองหลัง 2475

เมื่อการเมืองไทยปีแรก ๆ หลังการอภิวัฒน์ 2475 ยัง ‘ตึงจัด!’ 
นายกรัฐมนตรีไทยคนแรก (จึง) ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) (ลำดับต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า ‘พระยาพหลฯ’) อาจเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร’ ‘ผู้นำคณะราษฎร’ ในการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 และ ‘เชษฐบุรุษ’ ของระบอบประชาธิปไตย ผู้มีชีวิตสมถะเรียบง่าย ไม่ยึดติดลาภยศตำแหน่ง เมื่อถึงเวลาก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งไปไม่ดื้อด้านขัดขวางคนรุ่นใหม่ 

แต่เมื่อพิจารณาประวัติการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะแรกเริ่มระบอบใหม่หลังการอภิวัฒน์ 2475 ถึงแม้ว่าผู้นำคณะราษฎรจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก แต่พระยาพหลฯ ก็ควรต้องนับเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2476 โดยที่สภาผู้แทนราษฎรที่โหวตให้พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น ก็เป็น ส.ส. จากผลการเลือกตั้งครั้งแรกหลังอภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 

เส้นทางการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งของไทยมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เช่นเดียวกับการตั้งต้นของระบอบใหม่ที่เรียกกันตามศัพท์สมัยนั้นว่า ‘ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ’ (Constitution king) เมื่อแรกเริ่มอภิวัฒน์นั้นยังไม่มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ จึงได้มาจากการเลือกเฟ้นสรรหาโดยที่ประชุมของคณะผู้ก่อการ สำหรับนายกรัฐมนตรี มีความพีคตรงที่ชื่อแรกที่เสนอกันว่าจะเชิญให้มาเป็นนั้นคือ ‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ ผู้ซึ่งก่อกบฏนำกำลังทหารจากหัวเมืองจะมายึดอำนาจเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2476

‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ เป็นชื่อที่ถูกปัดตกไป เพราะหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้ออกเสียงคัดค้านอย่างหนักแน่น เพราะเห็นว่าพระองค์เจ้าบวรเดชนิยมระบอบเผด็จการ อีกทั้งยังเป็นเจ้านายในระบอบเก่า ข้อที่ว่าพระองค์เจ้าบวรเดชนิยมระบอบเผด็จการและบริหารอย่างเผด็จการได้รับการยืนยันจากอดีตลูกน้องเก่าในกองทัพที่กลายมาเป็นคณะราษฎร อาทิ พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พระยาพหลพลพยุหเสนา และพันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเวลาต่อมา)  

‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ จึงถูกปัดตกไป ชวดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงเคยคาดหวัง และทำให้ทรงโกรธเคืองหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างมาก และนั่นก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งเมื่อ ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ หรือ ‘สมุดปกเหลือง’ ถูกกล่าวหาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระองค์เจ้าบวรเดชก็เห็นเป็นโอกาส นำกำลังทัพจากหัวเมืองบุกเข้ามายังพระนครในนาม ‘กองทัพสีน้ำเงิน’ โดยอ้างว่า คณะราษฎรเป็นคอมมิวนิสต์จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และนั่นก็เป็นจุดจบของพระองค์เจ้าบวรเดชกับพรรคพวก

เมื่อทราบข่าวว่ามีกองทัพจากหัวเมืองนำโดยเจ้านายในระบอบเก่า ยกมาตั้งอยู่ดอนเมือง จะมายึดอำนาจ ราษฎรทั้งในพระนครและหัวเมืองต่างออกมาแสดงตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนคณะราษฎร คนหนุ่มฉกรรจ์ที่เป็นทหารกองเกินต่างมารายงานตัวเพื่อเข้าเป็นทหารทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลา และเมื่อพระยาทรงสุรเดชปฏิเสธที่จะเป็นผู้บัญชาการสู้ศึกในครั้งนี้ หน้าที่ก็ตกเป็นของนายทหารชั้นลำดับถัดไปคือพันโทหลวงพิบูลสงคราม  

คราวนี้ก็เกิดเป็น ‘มวยถูกคู่’ เพราะพันโทหลวงพิบูลสงครามนั้นเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารมาตั้งแต่ชั้นก่อตั้งสมัยยังเรียนอยู่ฝรั่งเศส เกิดเป็นศึกระหว่างเจ้านายเก่ากับอดีตลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง เข้าทำนอง ‘ไพร่รบนาย’ หรือ ‘ราษฎรรบเจ้า’ ผลปรากฏว่าฝ่ายคณะราษฎรชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (ไม่แปลกใจเลยว่า ‘อนุสาวรีย์ปราบกบฏ’ แยกวงเวียนบางเขน ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตจากการสู้รบและเป็นอนุสรณ์ของสงครามครั้งนี้ จะเป็นที่เกลียดชังแก่ฝ่ายอนุรักษนิยมยิ่งกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งสร้างในยุคคณะราษฎรเหมือนกัน จนต้องทำให้สูญหายไปในท้ายที่สุด)    

แต่นอกเหนือจาก ‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ แล้ว ชื่อลำดับถัดมาที่ถูกเสนอให้ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก คือ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ (ก้อน หุตะสิงห์) พีคไปอีกเหมือนกันตรงที่ผู้เสนอชื่อก็คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ด้วยเหตุผลว่าพระยามโนฯ เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ไม่ใช่เจ้า แต่มีสายสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม อยู่ในเกณฑ์ที่จะสร้างความสมานฉันท์ประนีประนอมกันระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับคณะเจ้านายได้ 

แต่แทนที่พระยามโนฯ จะดำเนินการให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเฟ้นหาผู้แทนราษฎรเข้ามาทำหน้าที่ในสภาตามระบอบประชาธิปไตย ดังที่ได้มีการตกลงกันไว้กับคณะราษฎร ปรากฏว่าพระยามโนฯ ก็กลับเป็นบุคคลแรกที่ก่อรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตย โดยในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 พระยามโนฯ ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภา พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และนายทหารฝ่ายคณะราษฎรก็รู้ข่าวมาระยะหนึ่งแล้วว่า พระยามโนฯ มีแผนจะปลดนายทหารคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลัง 

พระยาพหลฯ จึงได้นำกำลังมายึดอำนาจไปจากรัฐบาลพระยามโนฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476  พระยาพหลฯ ในฐานะหัวหน้าก่อการได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก โดยประกาศจะคืนอำนาจแก่ราษฎร โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนถัดมา พระองค์เจ้าบวรเดชกับหลวงสิทธิสงครามก็ได้นำกำลังจากหัวเมืองบุกมาพระนคร การเลือกตั้งจึงต้องเลื่อนออกไป 

จนกระทั่งเมื่อฝ่ายกบฏบวรเดชพ่ายแพ้ราบคาบแล้ว รัฐบาลพระยาพหลฯ จึงได้ประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 (สมัยนั้นยังเริ่มต้นปีใหม่ในเดือนเมษายน เดือนพฤศจิกายนจึงเป็นช่วงกลางปี) และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 นี้เอง ถือเป็นการเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกนับแต่มีการอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา 

เป็นการเลือกตั้งที่มีผลทำให้ได้เกิดมีมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ (ส.ส.) หรือที่จะเรียกกันอย่างกว้าง ๆ ในเวลาต่อมาว่า ‘นักการเมือง’ และก็เป็นการเลือกตั้งที่ส่งผลทำให้เกิดการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนแรกจากการเลือกตั้งของราษฎร เมื่อผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนั้นได้โหวตเลือกให้พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นสมัยที่ 2

 

10 สิงหาคม 2435 & ‘วัฒนธรรมการเลือกตั้ง’ ก่อน 2475

ในประวัติศาสตร์ไทย การเลือกตั้งครั้งวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ก็เคยมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 จึงเกิดประเด็นปัญหาข้อถกเถียงในประวัติศาสตร์ว่า การเลือกตั้งครั้งไหนกันแน่ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ขึ้นกับว่ามีเกณฑ์อย่างไร ถ้าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติเพื่อได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี ก็ต้องถือว่าครั้งแรกนั้นคือวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 แต่ถ้าว่ากันตามลำดับไทม์ไลน์และพฤติกรรมการเลือกตั้ง ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 นั้นเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เพื่อเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ณ แขวงบางปะอิน จ.กรุงเก่า (อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน) เป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลสมัยรัชกาลที่ 5 ที่จำต้องมีตัวแทนระดับหมู่บ้านและตำบล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสอดคล้องกับการปฏิรูป วิธีการและรูปแบบที่ใช้แบบเดียวกับที่ชนชั้นนำได้ไปศึกษาดูงานมาจากประเทศอาณานิคมในสมัยนั้น ภายใต้ระบอบอาณานิคมที่ปกครองโดยชาติตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เจ้าอาณานิคมจะยอมให้คนพื้นเมืองได้เลือกผู้นำของตนเองในระดับหมู่บ้านและตำบล เพื่อรับคำสั่งและประสานงานร่วมมือกับเจ้าอาณานิคมที่กุมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางอีกต่อหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จหลังจากที่ได้มีการทดลองจัดการเลือกตั้งที่แขวงบางปะอิน จ.กรุงเก่า ได้ขยายผลไปเป็นการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นทั่วประเทศในเวลาต่อมา นั่นหมายถึงว่าราษฎรตามหัวเมืองท้องถิ่นได้มีโอกาสสัมผัสกับรูปแบบวิธีการดำเนินการปกครองที่จะใช้ในระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา และนั่นก็คือการที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สร้าง ‘หน่ออ่อน’ ของระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในขณะเดียวกันด้วย 

ช่วงเวลาจากวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 นั้นเป็นเวลากว่า 41 ปี คือผ่านไปกว่า 1 ชั่วอายุคนแล้วที่ราษฎรได้สัมผัสและรู้จักการเลือกตั้ง แถมยังเป็นการรู้จักและสัมผัสในระดับหมู่บ้านในท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย ในแง่หนึ่งการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการอภิวัฒน์ 2475 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 นั้นไม่ใช่ของใหม่ที่ราษฎรโดยเฉพาะตามหัวเมืองไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย  พวกเขาต่างเคยเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นของตนเองมาแล้วทั้งสิ้นนั่นเอง    

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ‘10 สิงหาคม 2435’ จะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นดังที่กล่าวมานี้ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันแต่เพียงว่าเป็นวันที่มีกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรก กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้วันที่ 10 สิงหาคม เป็น ‘วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน’ แต่ที่จริงแล้ว ‘10 สิงหาคม’ เป็นวันสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์สังคมไทยด้วย ถึงจะยังไม่ใช่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ตาม 

น่าสังเกตว่าวิธีการอย่างการให้ราษฎรเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นมา 1 คน จากนั้นให้ผู้บ้านแต่ละหมู่บ้านไปเลือกกำนันสำหรับว่าการตำบลขึ้นอีกต่อหนึ่งนี้ ก็เป็นรูปแบบวิธีการอย่างเดียวกับที่คณะราษฎรใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 คือการใช้ราษฎรแต่ละจังหวัดเลือกผู้แทนของตนเอง  จากนั้นให้ผู้แทนมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่สภาอีกต่อหนึ่ง และก็เป็นวิธีการที่ใช้กันสืบมาจนปัจจุบัน     

 

15 พฤศจิกายน 2476 & การเปิดศักราชใหม่
การเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกหลังการอภิวัฒน์ 2475

ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 รัฐสภาจะต้องประกอบด้วยสมาชิก 156 คน มาจากการแต่งตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 78 คน และมาจากการเลือกตั้งของประชาชอีก 78 คน จากนั้นให้ผู้แทนราษฎรทั้ง 78 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรมานี้ จะต้องมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อหนึ่ง แล้วนายกรัฐมนตรีก็จะได้จัดตั้งรัฐบาลในลำดับชั้นต่อไป   

เวลานั้นสยามได้ยกเลิกการปกครองระบอบมณฑลเทศาภิบาลไปแล้ว จึงได้ให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจปกครองระดับภูมิภาค ตอนนั้นมีทั้งสิ้น 70 จังหวัด กำหนดอัตราประชากร 2 แสนคนต่อผู้แทนราษฎร 1 คน จังหวัดที่มีประชากรมากมีผู้แทนได้ 2 คน ได้แก่ เชียงใหม่, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, นครราชสีมา เป็นต้น จังหวัดที่มีสิทธิมีผู้แทนได้ 3 คน คือ จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) และจังหวัดอุบลราชธานี

ตามข้อมูลรายงานการสำรวจสำมะโนประชากรในปีนั้น มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งสิ้น 4,278,231 คน มีผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้น 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 ของประชากรทั้งหมด

ปรากฏว่าจังหวัดที่ติดอันดับมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงมากที่สุดคือจังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82 จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71 นั่นเพราะแม่ฮ่องสอนเวลานั้นยังเป็นแดนลี้ลับ ประสบปัญหาการติดต่อคมนาคมกับส่วนกลางมาก 

การที่จังหวัดในหัวเมืองอย่างเพชรบุรีติดอันดับมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกันมากที่สุด และนอกจากเพชรบุรีก็ปรากฏว่าจังหวัดหัวเมืองอย่างปราจีนบุรี, ชลบุรี, ราชบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครสวรรค์, เชียงใหม่, ลำปาง, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ขอนแก่น ล้วนต่างก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งก็สะท้อนอิทธิพลจากวัฒนธรรมการเลือกตั้งในท้องถิ่นที่ดำเนินมากว่า 4 ทศวรรษ ก่อนหน้าการอภิวัฒน์ 2475

สมัยนั้นยังไม่มีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนเป็นทางการ มีแต่การรวมกลุ่มทางการเมืองที่เรียกว่า ‘คณะ’ เช่น ‘คณะราษฎร’ ในขณะที่องค์กรจัดตั้งที่มีอายุยาวนานและมีขนาดใหญ่ที่สุดในสังคมไทยสยามเวลานั้นคือ ‘คณะคอมมิวนิสต์สยาม’ ซึ่งได้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างลับ ๆ มาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2475 ต่อมาได้พัฒนาขยายใหญ่มาเป็น ‘พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย’ (พคท.) 

การมีพรรคการเมืองยังคงถูกมองในแง่ลบ แม้แต่ในหมู่คณะราษฎร คณะราษฎรเองก็ไม่ถือว่าตนเองเป็นพรรคการเมือง เช่นเดียวกับฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ต่อมาฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็กลับเป็นกลุ่มการเมืองกลุ่มแรก ๆ ที่จัดตั้งพรรคการเมืองแบบจดทะเบียนก่อตั้งเป็นทางการคือ ‘พรรคก้าวหน้า’ หัวหน้าก่อตั้งคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2488 ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น กลุ่มอนุรักษนิยมก็ยุบพรรคก้าวหน้าแล้วไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2489 

ดังนั้น การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ยังเป็นช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดพรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่จำเป็นจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง จึงเป็นการเลือกตั้งโดยผู้สมัครจะต้องลงรับสมัครเลือกตั้งในนามบุคคล ไม่มีผู้ใดสังกัดพรรคการเมือง 

ต่อเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าสภาแล้ว ผู้แทนราษฎรมักจะรวมกลุ่มกันตามภูมิภาค จึงเกิดเป็น กลุ่มส.ส.อีสาน ส.ส.ภาคเหนือ ส.ส.ภาคใต้ เป็นต้น ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ได้เกิดมนุษย์พันธุ์ใหม่ในการเมืองไทยที่เรียกว่า ‘นักการเมือง’ เป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งที่มีชื่อเสียงในวงการต่าง ๆ อยู่ก่อนแล้ว และมีชื่อเสียงขึ้นมาหลังการเลือกตั้ง อาทิ นายเลียง ไชยกาล, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายโชติ คุ้มพันธุ์ เป็นต้น       

ถือได้ว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ได้เปิดศักราชใหม่ให้กับประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย เป็นแบบอย่างแก่การเลือกตั้งทั่วประเทศในเวลาต่อมาสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่าในอดีตส.ว. ไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะโดยหลักการของระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีต้องเป็นตัวแทนจากประชาชน จะโดยการเลือกตั้งโดยตรงหรือการเลือกโดยอ้อมผ่านการโหวตของผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่งก็ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ทั้งนั้น      

 

มติของ ‘สภาผู้แทนราษฎร 16 ธันวาคม 2476’
ที่มาของ ‘รัฐบาลคณะราษฎร’ สมัยแรกเริ่ม

ถึงแม้ว่าเราไม่อาจจะทราบว่า ในใจของเหล่าผู้ทรงเกียรติที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในหมู่ผู้แทนราษฎรชุดแรกของสยาม (สมัยนั้นยังใช้ชื่อประเทศว่า ‘ประเทศสยาม’ เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ ‘ประเทศไทย’ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 1) ที่ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 นั้น เป็นอย่างไร ทำไมถึงโหวตให้พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกจากการเลือกตั้งไปด้วย 

เมื่อมองดูสภาพความเป็นไปไปต่าง ๆ ในยุคสมัยนั้น ก็พบว่าพระยาพหลฯ เวิร์คและเหมาะสมที่สุดแล้วในตอนนั้น เพราะถึงแม้ว่าภายในคณะราษฎรเองก็มี ‘ตัวเต็ง’ อย่างหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยาทรงสุรเดช พันโทหลวงพิบูลสงคราม แต่สองในสามคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับพันโทหลวงพิบูลสงคราม ต่างก็หลีกทางให้ ‘พี่ใหญ่’ อย่างพระยาพหลฯ เพราะหากเป็นทั้งสองในเวลานั้นก็สุ่มเสี่ยงจะตกเป็นเป้าโจมตีแก่ฝ่ายคณะเจ้านาย 

หลวงประดิษฐ์ฯ เพิ่งจะถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต้องลี้ภัยไปต่างแดนก่อนกลับเข้ามาอีกหลังพระยาพหลฯ ยึดอำนาจพระยามโนฯ และแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์ฯ มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ผลออกมาว่า ไม่ ไปแล้วก็ตาม แต่ยังอาจถูกใช้เป็นประเด็นโจมตีจากฝ่ายคณะเจ้านายได้อีก เพราะเป็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากพวกเดียวกัน    

ในขณะที่หลวงพิบูลสงคราม ถึงแม้ไม่มีชนักปักหลังเหมือนหลวงประดิษฐ์ฯ แต่เนื่องจากเป็นผู้บัญชาการในศึกปราบกบฏบวรเดชที่ทำให้ฝ่ายคณะราษฎรชนะฝ่ายคณะเจ้านายในสมรภูมิที่รบกันอย่างเปิดเผย ก็อาจทำให้ตกเป็นเป้าของฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน เพราะได้ก่อศัตรูอย่างลับ ๆ จากฝ่ายตรงข้ามที่ยังคงมีความรู้สึกเจ็บแค้นจากสงครามปราบกบฏ หลวงพิบูลสงครามจึงหลบไปอยู่หลังฉากอย่างเงียบ ๆ รอจังหวะเข้ามามีบทบาทหน้าฉากในภายหน้า ซึ่งเป็นการวางบทบาทตัวเองได้อย่างเหมาะสม คาดว่าเป็นเพราะได้รับคำชี้แนะที่ดีและเหมาะสมจาก ‘หลังบ้าน’ อย่างท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยา

ก็เหลือตัวเลือกอยู่เพียงพระยาทรงสุรเดชกับพระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดชแสดงตัวแสวงหาอำนาจและมีท่าทีแข็งกร้าวเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ จนเกิดเป็นความแตกแยกกันระหว่างคณะราษฎรสายทหารบกกับสายพลเรือนและสายทหารเรือ อีกทั้งการไม่ยอมรับหน้าที่ผู้บัญชาการปราบปรามกบฏบวรเดช ยังทำให้เกิดประเด็นข้อพิจารณาถึงจุดยืนและท่าทีของพระยาทรงสุรเดชเมื่อต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายอดีตเจ้านายในระบอบเก่า 

ณ โมเมนต์นั้นผู้แทนราษฎรที่มาจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปของคณะราษฎร ย่อมเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นต่อระบอบใหม่ ไม่ต้องการจะประนีประนอมกับระบอบเดิม จึงไม่ไว้ใจนายทหารที่มีท่าทีแข็งกร้าวอย่างพระยาทรงสุรเดช 

แต่ขณะเดียวกัน พระยาพหลฯ กลับมีคุณสมบัติที่ตรงกันข้ามกับพระยาทรงสุรเดชหลายประการ ด้วยมีภาพลักษณ์เป็นนายทหารใสซื่อมือสะอาด ไม่แสวงหาอำนาจลาภยศ ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย และเป็นผู้นำที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เหมือนพระยาทรงสุรเดชกับพระองค์เจ้าบวรเดช ที่มีบุคลิกค่อนไปทางเผด็จการอำนาจนิยมแบบทหารๆ

เมื่อพิจารณาว่าภายในคณะราษฎรเวลานั้นได้เกิดรอยร้าวฉานขึ้นมาแล้วระหว่างสายทหารนำโดยพระยาทรงสุรเดช ฝ่ายหนึ่ง กับ สายพลเรือน นำโดยหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งที่จริงฝ่ายนี้ไม่ได้อ่อนแอกว่าฝ่ายพระยาทรงสุรเดช เพราะคณะราษฎรสายทหารเรือที่นำโดยหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ต่างก็อยู่ข้างฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็นับถือพระยาพหลฯ เป็นพี่ใหญ่ ดังนั้น พระยาพหลฯ จึงอยู่ในฐานะที่จะประสานรอยร้าวภายในของคณะราษฎรได้ดีกว่าผู้อื่น   

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ยังมีมิติเป็นการเลือกตั้งที่เกิดหลังการปราบกบฏวรเดช เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 เมื่อนำกำลังเข้ามายึดทุ่งบางเขนและดอนเมืองได้แล้ว ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชได้ประกาศโจมตีคณะราษฎรไว้หลายอย่าง และที่สำคัญได้ยื่นเงื่อนไขแก่รัฐบาลว่า “ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก”

ดังนั้น หลังปราบกบฏบวรเดชลงได้แล้ว นอกจากคณะราษฎรจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นประเด็นมาโจมตีได้อีกแล้ว สำหรับฝ่ายคณะราษฎรและเหล่าผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งบัดนั้นได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเข้าสู่สภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น จำเป็นจะต้องได้ผู้นำที่เป็นหลักประกันว่าจะเป็นผู้นำที่รักษาไว้ซึ่งการเมืองการปกครองระบอบใหม่ ไม่ประนีประนอมกับฝ่ายคณะเจ้านายหรือมีแนวคิดจะถวายคืนพระราชอำนาจเหมือนอย่างพระยามโนฯ กับพระองค์เจ้าบวรเดช 

จากเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ทั้งการเป็นผู้นำที่ภาพลักษณ์ดี มาพร้อมคติพจน์ที่ว่า ‘ชาติเสือไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ’ เป็นผู้สามารถจะเป็นผู้ประสานรอยร้าวระหว่างคณะราษฎรสายทหารบกกับสายพลเรือนและทหารเรือ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่เชื่อมั่นได้ว่าจะไม่ประนีประนอมกับฝ่ายคณะเจ้านาย ในเวลานั้นไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าพระยาพหลฯ

ด้วยเหตุดังนั้นพระยาพหลฯ ก็เลยกลายเป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ได้รับการโหวตจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ทำให้พระยาพหลฯ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญไปด้วย 

และนั่นก็เป็นการเปิดศักราชใหม่นำมาสู่การมี ‘รัฐบาลคณะราษฎร’ ที่ดำเนินการปกครองตามระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเป็นสมัยแรก กรุยทางต่อมาสู่ยุครุ่งเรืองของผู้นำจากคณะราษฎรในสมัยต่อมาอย่างรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 1 (พ.ศ.2481-2487)

 

‘ชาติเสือไว้ลาย ชาติชายไว้ชื่อ’
อนุสรณ์พระยาพหลพลพยุหเสนา

เมื่อสถานการณ์ความจำเป็นที่ต้องประสานรอยร้าวระหว่างคณะราษฎรด้วยกัน และการไม่ประนีประนอมกับฝ่ายคณะเจ้านาย ได้คลี่คลายไปแล้ว การเมืองไทยในช่วงเริ่มทศวรรษ 2480 อำนาจของคณะราษฎรและระบอบใหม่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วง 5 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์ จึงไม่จำเป็นต้องมี ‘พี่ใหญ่’ ที่จะช่วยถ่วงดุลและประคับประคองอีกต่อไป พระยาพหลฯ ก็ยอมถอยฉากให้แก่รุ่นน้องที่มีความเหมาะสมกว่าอย่างหลวงพิบูลสงคราม เมื่อพระยาพหลฯ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490) ปรากฏว่าครอบครัวไม่มีเงินจัดฌาปนกิจศพ รัฐบาลจึงรับหน้าที่เป็นผู้จัดงานให้ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่าในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ นอกจากไม่ได้สะสมอำนาจบารมีส่วนตัวแล้ว ยังไม่ได้สะสมความมั่งคั่งร่ำรวยเหมือนอย่างนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เป็นนายกจากการรัฐประหารในช่วงหลังมานี้    

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้มีการรื้อทำลายและเปลี่ยนชื่ออนุสรณ์สถานที่เกี่ยวกับคณะราษฎรไปเป็นอันมาก เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2565) เว็บไซต์ประชาไท นำเสนอรายงานเรื่อง “ส่อง 6 อนุสรณ์สถานพระยาพหลฯ 'ที่ยังคงอยู่-เปลี่ยนชื่อ-จากไป’” พบว่า ในจำนวนอนุสรณ์ของพระยาพหลฯ ทั้ง 6 อย่างนั้น มีชะตากรรมดังต่อไปนี้:

(1) ‘ถนนพหลโยธิน’ ชื่อถนนสายกรุงเทพฯ-เชียงราย ระยะทางกว่า 1,007 กม. ที่ตั้งเป็นเกียรติแด่พระยาพหลฯ นั้นยังอยู่และใช้ชื่อตามเดิมนี้ 

(2) ‘ค่ายพหลโยธิน’ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ชื่อที่ได้รับพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2495 เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาพหลฯ แต่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 มีประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาให้เปลี่ยนชื่อ ‘ค่ายพหลโยธิน’ เป็น ‘ค่ายภูมิพล’ และยังได้มีการรื้อซุ้มประตูเก่าออกเปลี่ยนเป็นซุ้มใหม่แทน 

(3) ‘อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ’ ณ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ปัจจุบันได้ถูกย้ายออกไปจากสถานที่ ไม่ทราบว่าถูกนำไปไว้ที่ใด 

(4) ‘อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ’ ณ โรงพยาบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจบุรี ปัจจุบันยังมีอยู่

(5) ‘อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ’ ณ โรงงานกระดาษ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันยังมีอยู่

(6) ‘อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ’ ณ โรงงานน้ำตาลไทย อ.เกาะคา จ.ลำปาง ปัจจุบันยังมีอยู่

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: พระยาพหลฯ ไฟล์ public domain ประกอบกับฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถ่ายในยุคร่วมสมัย แฟ้มภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. ‘การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ร.ศ.130 ถึง 2475’ รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 26 ฉบับที่ 3 (2548), หน้า 80-239.

กำพล จำปาพันธ์. ‘การเมืองของการสมมตินามประเทศ: จากสยามและไทยกลายเป็นไทย (ระหว่างทศวรรษ 2430-2480)’ วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน-พฤศจิกายน 2548), หน้า 58-148.

กำพล จำปาพันธ์. บทวิพากษ์ประวัติศาสตร์อยุธยา & ความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมเมืองอยุธยาหลังเสียกรุง พ.ศ.2310 ถึง 2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560 (เอกสารประกอบการสัมนาประจำปีมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 15 กันยายน 2560). 

กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2545.

ณัฐพล เมฆโสภณ และกิติยา อรอินท์. '‘ส่อง 6 อนุสรณ์สถานพระยาพหลฯ ที่ยังคงอยู่-เปลี่ยนชื่อ-จากไป'‘ เว็บไซต์ประชาไท (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566).

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.

นิคม จารุมณี. ‘กบกบวรเดช พ.ศ.2476’ วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.

ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์. เลือดสีน้ำเงิน: ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.

ประวัติของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2490 (งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2490).

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบ 42 ปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: มูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ, 2526.

พรรณพร สินสวัสดิ์. ประวัติการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2548.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2550.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: พี. เพรส., 2551.

อ. พิบูลสงคราม (อนันต์ พิบูลสงคราม). จอมพล ป. พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ: ตระกูลพิบูลสงคราม, 2540.

อนุสรณ์ครบรอบ 120 ปี พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) 29 มีนาคม 2550. กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองวิริยะพัฒนาโรงพิมพ์, 2550.