อโยธยาแฟนซี สัญญาวิปลาส และพระพนรัตน์ (แก้ว) บทบาทสงฆ์ในสงครามความทรงจำ

อโยธยาแฟนซี สัญญาวิปลาส และพระพนรัตน์ (แก้ว) บทบาทสงฆ์ในสงครามความทรงจำ

เจาะรากจินตกรรมเรื่อง ‘บ้านเมืองดี’ ที่นำไปสู่การโค่นล้มสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ด้วยวาทกรรม ‘สัญญาวิปลาส’ ที่มีพระและพงศาวดารหนุนหลัง

KEY

POINTS

  • ‘อโยธยาแฟนซี’ ไม่ได้เริ่มจากจอทีวี แต่จากชนชั้นนำยุคต้นกรุงเทพฯ
  • ‘สัญญาวิปลาส’ คือวาทกรรมทางการเมือง ไม่ใช่ข้อวินิจฉัยทางแพทย์
  • ‘สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว)’ มีบทบาททั้งในฐานะผู้ถูกลงโทษ และผู้เขียนประวัติศาสตร์ใหม่

(๑) อันเนื่องมาจาก ‘ใจขังเจ้า’  

เมื่อ ‘พันแสง’ หรือ ‘ขุนแสงผลาญ’ (รับบทแสดงโดย ‘ณเดชน์ คูกิมิยะ’) ในซีรีส์แนวย้อนยุคเรื่อง ‘ใจขังเจ้า’ กล่าวกับ ‘ชวาลา’ (รับบทแสดงโดย ‘พาย-รินรดา แก้วบัวสาย’) ในระหว่างกำลังสวีทชมความงามยามราตรีของเมืองอโยธยาว่า

“อโยธยาสวย... สวยจนเรายอมสละชีวิตให้ ข้ายินดีที่จะแลกชีวิตเพื่อความสงบสุขเยี่ยงนี้ แม่หญิงรู้มั้ยว่าความสุขที่สุดของคนเราคืออะไร... นอนหลับสนิท ไม่ต้องหวาดผวา ไม่ต้องสะดุ้งตื่น ไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง... นี่แหล่ะอโยธยาในฝันของข้า” 

โดยที่ภาพฉากที่คู่พระนางจ้องมองสวีทกันอยู่นั้น เป็นภาพเจดีย์ริมน้ำที่ดูละม้ายคล้าย ‘พระปรางค์’ วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เสียมากกว่า ‘วัดไชยวัฒนาราม’ มิตรสหายสายประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม และสถาปัตย์ ต่างก็ได้ทีนำมาล้อกันฉ่ำ... 

แค่นั้นยังไม่พอ การชื่นชมความงามของอโยธยา พร้อมกับคำกล่าวมีนัยที่ว่า เป็นเมืองที่ผู้คน “นอนหลับสนิท ไม่ต้องหวาดผวา ไม่ต้องสะดุ้งตื่น ไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง” ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เป็นอโยธยาหรืออยุธยาในเชิงจินตนาการเพ้อฝัน ไม่ตรงกับที่เป็นจริง ยุคที่ยังมีระบบเจ้าขุนมูลนายและไพร่ทาสกันแบบจัดหนัดจัดเต็มแบบนั้น จะมาสุขสันต์หรรษาแบบพระนางคู่นี้ได้อย่างไรหนอออเจ้า...   

แม้ว่าชื่อเมืองนี้ในเนื้อเรื่องจะออกไปในทาง ‘เรื่องแต่ง’ อยู่มากก็ตาม แต่ชื่อเรื่องนี้ (อโยธยา) ก็หลีกเลี่ยงที่จะถูกนำมาเปรียบกับ ‘กรุงศรีอยุธยา’ ไปเสียมิได้ เพราะเป็นอีกชื่อคู่เคียงกันมา (‘อโยธยา’ ไม่ได้หยุดใช้ไปหลังสถาปนากรุง ๑๘๙๓ ซักกะหน่อย) 

อย่างไรก็ตาม ‘ภาพฝันอยุธยา’ หรือ ‘อโยธยาแฟนซี’ ในแบบที่พันแสง (ณเดชน์) เอ่ยกับชวาลานี้ก็เป็นภาพแฟนซีเกี่ยวกับอยุธยาที่ค่อนข้างจะเก่าแก่และดั้งเดิม จนถึงกับเป็นอีกสิ่งหนึ่งของอยุธยาที่มีอายุย้อนหลังกลับไปราวเกือบ ๒๗๐ ปีล่วงมาแล้ว เพราะเป็นมุมมองต่ออยุธยาแบบเดียวกับที่ชนชั้นนำต้นกรุงเทพฯ สร้างขึ้นทั้งในท่ามกลางศึกโค่นล้มราชวงศ์ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ’ และกว่าครึ่งศตวรรษแรกเริ่มของการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง เรื่องนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับจุดกำเนิดของประวัติศาสตร์ไทยโดยตรงเลยทีเดียว      

(๒) ยุคบ้านเมืองดี/อโยธยาแฟนซี (ฉบับออริจินอล)   

ทั้งนี้ย้อนหลังกลับไปในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อพ.ศ.๒๓๑๙ ราชอาณาจักรสยามที่เคยพังพ่ายลงไปพร้อมกับสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ ก็ได้เริ่มกลับฟื้นคืนกำลังขึ้นมา เพราะเป็นปีเดียวกับที่เศรษฐกิจการค้าเริ่มฟื้นตัวเมื่อราชสำนักและกลุ่มคหบดีตลอดจนไพร่มั่งมี (ที่เรียกกันอย่างรวม ๆ ได้ว่า ‘กระฎุมพีกรุงธนบุรี’) ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมการค้ากับจีนและนานาชาติในอุษาคเนย์ 

ตลาดย่านการค้าภายในกรุงธนบุรีมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแทนที่ตลาดเก่าที่อยุธยา ราชสำนักต้าชิงแม้จะยังไม่รับรองสถานะ ‘เสียมอ๋อง’ ให้แก่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในเวลานั้น แต่ก็ได้ตอบรับเครื่องบรรณาการและมีข้อตกลงทางการค้าร่วมกับกลุ่มพ่อค้าตามเมืองท่าของจีน กลุ่มพ่อค้าเอกชนชาวจีนที่มีอยู่ตามหัวเมืองชายทะเล ซึ่งต่างก็แล่นเรือติดต่อค้าขายไปมากับเมืองหลวงใหม่ของสยาม 

ทว่าความรุ่งเรืองของกรุงธนบุรี กลับมีลักษณะเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งสร้างความมั่งคั่ง แต่อีกด้านก็นำมาซึ่งการเกิดกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พวกเขามองว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งแห่งที่ประมุขสูงสุดนั้น แม้ว่าจะทรงมีบทบาทเป็นผู้นำในการกอบกู้ราชอาณาจักร แต่เรื่องนี้รวมถึงความรุ่งเรืองของกรุงธนบุรี กลับถูกนำเอาไปเปรียบเทียบกับอยุธยากรุงเก่า และมีการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับอยุธยาในฐานะ ‘บ้านเมืองดี’ 

โดยนัยยะก็คืออยุธยาถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานความรุ่งเรืองของบ้านเมือง ขณะเดียวกันอยุธยาเก่าก็ถูกสร้างใหม่ให้เป็นภาพฝันสวยงามมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นจริง ๆ กลายเป็นบ้านเมืองที่ปราศจากความทุกข์ยาก ยิ่งเมื่อกรุงธนบุรีมีความก้าวหน้ารุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น อยุธยาในแง่นี้ก็ยิ่งถูกยกให้สูงเด่นมากขึ้นไปอีก เพื่อถอยห่างจากกรุงธนบุรี อย่างชนิดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไม่มีวันจะประสบความสำเร็จได้เหมือนที่กษัตริย์กรุงเก่าเคยเป็นหรือเคยทำได้มาก่อน 

ทั้งๆ ที่หลายอย่างที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทำได้นั้น กษัตริย์อยุธยาไม่เคยทำได้มาก่อน และเป็นยุคที่สยามแผ่อำนาจไปไกลกว่าที่เคยเป็นมาในสมัยอยุธยา กรุงธนบุรีในระยะเวลาอันสั้นกลายเป็น ‘มหาอำนาจใหม่’ มีอิทธิพลเหนือล้านนา ล้านช้าง กัมพูชา ฮาเตียน (ในช่วงแรก) นครศรีธรรมราช เป็นต้น  

ความสำเร็จของ ‘ลูกจีนแต้จิ๋ว’ ท่านหนึ่ง ย่อมเป็นที่อิจฉาและสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มขุนนางเก่า ตลอดจนขุนนางใหม่ที่มาจากคนชั้นเดียวกันกับผู้นำ (สินแซ่แต้/สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) ความคิดที่ต้องการจะโค่นล้มราชวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อพ.ศ.๒๓๑๙ และตีคู่มากับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจการค้าของกรุงธนบุรี เมื่อไม่สามารถใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจการค้าได้ ก็หันมาใช้ประเด็นเรื่อง ‘พระสติวิปลาส’ ซึ่งง่ายเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เองเนื่องจากทรงมีพระอัจฉริยภาพคิดการและกระทำการต่าง ๆ แตกต่างไปจากที่กษัตริย์อยุธยากรุงเก่าเคยทำมา 

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แม้จะทรงอานุภาพแต่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ตามขนบจารีตประเพณี  แต่ก่อนหน้า พ.ศ.๒๓๑๙ ที่บ้านเมืองยังแตกเป็นกลุ่มก๊กต่าง ๆ และกรุงธนบุรียังอยู่ในสถานะสงครามกับกลุ่มก๊กเหล่านี้ การมีผู้นำที่ไม่ต้องตามครรลองของแบบแผนประเพณีถือเป็นข้อยกเว้น แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่ภาวะสงบ และเศรษฐกิจการค้าซึ่งเคยซบเซาจนผู้คนอดอยากกันมากนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว บุคลิกลักษณะความเป็นผู้นำแบบสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงกลายเป็นประเด็นเรื่องสำคัญและถูกทำให้ใหญ่โตขึ้นมา จากกรณีที่เรียกว่า ‘สัญญาวิปลาส’      

(๓) สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) & การสร้างวาทกรรมสัญญาวิปลาส และข้ออ้างการรัฐประหาร  

วาทกรรมสัญญาวิปลาสส่วนสำคัญเลยถูกสร้างโดยกลุ่มคนที่มีความแค้นเคืองส่วนตัวต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เนื่องจากไม่พอใจการถูกลงโทษอย่างเฉียบขาดรุนแรงในช่วงสมัยธนบุรี เพราะเมื่อผ่านพ้นยุคแห่งสงคราม (Age of the war) มาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เองก็เหมือนจะทรงพระตระหนักดีถึงการตั้งป้อมเปิดประเด็นเรื่องความเหมาะสม-ไม่เหมาะสมของพระองค์ พระองค์จึงทำหลายวิธี แม้กระทั่งการแสดงอภินิหารเพื่อสร้างความเป็นผู้นำแบบผู้มีบุญญาธิการบารมีเฉกเช่นอดีตกษัตริย์ ไม่ถึงกับอ้างเป็นองค์อวตาร ทว่าการแสดงอภินิหารกลับยิ่งถูกนำไปใช้ยืนยันถึงความมีพระสัญญาวิปลาสหรือพระสติฟั่นเฟือน  

‘สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว)’ เป็นปัญญาชนราชสำนักท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าวนี้ แรกเริ่มเดิมทีสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ก็อยู่ข้างฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แต่มามีเรื่องเมื่อปลายกรุงธนบุรี ดังที่ ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์’ (ผู้แต่งพระราชพงศาวดารฉบับนี้คือสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) แต่ธรรมเนียมของเอกสารโบราณจะนิยมยกย่องความสำคัญของผู้คัดลอกหรือผู้นำมาเผยแพร่ เมื่อหมอบรัดเลย์นำเอาพระราชพงศาวดารฉบับนี้มาตีพิมพ์ หลังจากที่ต้นฉบับคัดลอกสูญไปช้านานแล้ว จึงมีการตั้งชื่อพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวนี้ตามคำข้างต้นเพื่อเป็นเกียรติแด่หมอบรัดเลย์) ได้เล่าเรื่องเอาไว้ดังนี้

“อนึ่งสามเณรศิษย์พระพนรัตก็มาฟ้องกล่าวโทษว่า พระพนรัตส้องเสพเมถุนธรรมทางเว็จมัคแห่งตน จึงโปรดให้พิจารณารับเป็นสัตย์ให้สึกเสียแล้วเอามาตั้งเป็นหลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการี”  

ตัวบทข้อความข้างต้นนี้ถือว่ามีความน่าเชื่อถือมากในแง่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบันทึกเล่าโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งก็คือตัวสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) เอง ปกติไม่มีใครจะมาบันทึกเล่าเรื่องตัวเองในมุมแบบนี้ ข้อฉงนสนเท่ห์ก็คือเพราะเหตุใดเมื่อสอบสวนทวนความได้ความจริงแล้วว่า สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ได้ทำความผิดเช่นนั้นจริง แต่ทำไมสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ถึงลงโทษเพียงให้สึกจากการเป็นพระภิกษุ และกลับตั้งเป็น ‘หลวงธรรมรักษา’ เจ้ากรมสังฆการี ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ดูแลคณะสงฆ์ไปอีก 

จะเป็นเพราะสมัยนั้นไม่มีองค์ความรู้และข้อกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นเรื่อง LGBTQ+ หรือเพราะเหตุใดไม่อาจทราบได้แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ เรื่องการประพฤติผิดข้อกาเมของพระภิกษุสงฆ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีอยู่ทุกยุคสมัย ที่สำคัญอีกอย่างยุคของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาจจะเป็นยุคที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ยิ่งความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเฉพาะทางที่หาใครมาแทนที่ได้ยาก สำหรับสมัยนั้นยิ่งเป็นคนสำคัญ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในช่วงนั้นยังต้องอาศัยกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อพระราชภารกิจฟื้นฟูบ้านเมืองอยู่ และสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ผู้ซึ่งมีความรู้ความชำนาญด้านอักษรศาสตร์ จึงเป็นบุคลากรสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาจจะทรงรู้สึกเสียดายหากต้องขับออกไปจากวงราชการงานเมือง 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จะไม่ได้ขับออกไปหรือลงโทษสถานหนักก็จริง แต่คงเป็นเรื่อง ‘แค้นฝังหุ่น’ ของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) เป็นแน่ สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) จึงเป็นปัญญาชนคนสำคัญหนึ่งที่ไปมีส่วนร่วมในการสร้างทั้งวาทกรรม ‘บ้านเมืองดี’ (เปรียบเทียบนัยกับกรุงธนบุรี) และวาทกรรม ‘สัญญาวิปลาส’ (กรณีสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) ผ่านการชำระและแต่งพระราชพงศาวดาร ถ้าพูดตามศัพท์ร่วมสมัยก็ต้องบอกว่า สมเด็จฯ ท่านเป็น ‘งูเห่า’ สมัยกรุงธนบุรีนั่นเอง     

วาทกรรมบ้านเมืองดีหรือก็คือ ‘อโยธยาแฟนซี’ ยุคแรก กับ ‘สัญญาวิปลาส’ ก่อเงื่อนไขนำไปสู่การรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อย่างไร ไม่จำเป็นต้องบรรยายไว้ในที่นี้อีกต่อไปแล้ว เพราะท่านผู้อ่านคงจะได้รับรู้รับทราบมาจากการอ่านที่อื่นกันมาบ้างแล้ว 

ประเด็นสำคัญก็คือว่า ‘สัญญาวิปลาส’ เป็นวาทกรรมก่อเงื่อนไขการรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ลำพังวาทกรรมนี้วาทกรรมเดียวยังไม่พอ ‘สัญญาวิปลาส’ ยังผูกติดมากับวาทกรรม ‘บ้านเมืองดี’ อีกด้วย และวาทกรรมอันนี้ทำให้ลำพังการโค่นผู้นำที่มีอาการพระสติฟั่นเฟือนนั้นยังไม่เพียงพอ ยังต้องย้ายเมืองหลวงใหม่ไปอีกด้วย แต่แม้จะย้ายเมืองหลวงมาเป็นกรุงเทพฯ แล้ว ‘บ้านเมืองดี’ ก็ยังติดตามมามีผลต่อกรุงเทพฯ อีกต่อหนึ่ง สลัดไม่หลุด และต่อมาก็กลายเป็นเหตุผลชนชั้นนำใหม่สมัยกรุงเทพฯ ไปเสียเอง   

(๔) จาก ‘อโยธยา’ สู่ ‘สุโขทัย’ & รัฐ/สังคมในอุดมคติของกรุงเทพฯ  

อยุธยายังคงเป็นแบบแผนความเชื่อกำกับกรุงใหม่ที่กรุงเทพฯ อยู่ต่อมา กรุงเทพฯ ในช่วงแรกสถาปนานั้นยังพยายามถ่ายแบบผังเมืองของอยุธยา สถานที่สำคัญต่าง ๆ ตลอดจนชื่อย่านนามสถานต่างใช้ชื่อทับซ้อนกับกรุงเก่า แม้แต่ชื่อเมือง แม้จะเปลี่ยนเป็นกรุงเทพฯ แล้ว ในระยะแรกก็ยังใช้ชื่อว่า ‘อยุธยา’ ราชสำนักกรุงเทพฯเองก็ยังนิยมออกพระนามพระมหากษัตริย์ว่า ‘พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา’ จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงทรงให้เปลี่ยนมาเรียกเมืองหลวงใหม่ว่า ‘กรุงเทพฯ’ และออกพระนามพระองค์เองว่า ‘พระเจ้ากรุงสยาม’ 

ดังนั้น ที่มีผู้รู้ (เช่น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น) เคยพูดว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ เป็น ‘กษัตริย์อยุธยาองค์สุดท้าย’ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็น ‘กษัตริย์สยามองค์แรก’ นั้นจึงถูกต้องตามขนบนิยมของยุคสมัยเมื่อครั้งกระโน้น ไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดหรือตลกขำขันอย่างใด  

จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ วาทกรรมบ้านเมืองดีก็เปลี่ยนจากอโยธยามาเป็นสุโขทัย ราชสำนักได้แต่งเรื่อง ‘นางนพมาศ’ หรือ ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ขึ้นมาสำหรับใช้เป็นขนบแบบแผนอย่างใหม่ (ในนามธรรมเนียมอย่างเก่า) และในยุคสมัยเดียวกันนี้เอง (สมัยรัชกาลที่ ๓) ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ในกาลต่อมา) ก็ได้มีบทบาทเปลี่ยนความหมายของ ‘ยุคบ้านเมืองดี’ เป็นอุดมคติของชนชั้นนำ จากอโยธยามาเป็นสุโขทัย 

เมื่อครั้งเสด็จธุดงค์เมืองเก่าสุโขทัย ได้ทรงนำเอาของ ๒ สิ่งอย่างกลับมาอยู่ที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ ด้วย คือ ‘พระแท่นมนังคศิลาอาสน์’ และ ‘ศิลาจารึก’ หลักหนึ่ง ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง’ หรือ ‘จารึกสุโขทัยหลักที่ ๑’  

พระวชิรญาณภิกขุยังเป็นปัญญาชนท่านแรกที่ได้แปลเนื้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ (วงการโบราณคดีของไทยมักจะบอกว่า ‘ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์’ เป็นคนแรกที่แปล ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือพระวชิรญาณภิกขุต่างหากที่แปลมาก่อนหน้าเป็นเวลานับร้อยปี) แปลเป็นภาษาไทยร่วมสมัยยังไม่พอ พระวชิรญาณภิกขุยังแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปให้พระนางเจ้าวิกตอเรียของอังกฤษได้ทอดพระเนตร 

แถมยังทรงมีพระราชหัตถเลขาตีความศิลาจารึกหลักนี้ว่ามีความสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ไทย เฉกเช่นเดียวกับที่ ‘กฎบัตรแมกนาคาร์ตา’ (Magna Carta) มีในประวัติศาสตร์อังกฤษอีกด้วย นั่นคือพระวชิรญาณภิกขุได้ทรงพยายามจะสื่อความกับมหาอำนาจโลกตะวันตกสมัยนั้นว่า สยามเป็นชนชาติศิวิไลซ์มีรัฐธรรมนูญเก่าแก่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  

ตรงนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยเปลี่ยนจุดเริ่มต้นจากอโยธยามาเป็นสุโขทัย ซึ่งดำเนินต่อมาอีกเป็นร้อยปีหลังจากนั้นมา...       

(๕) บทสรุปและส่งท้าย

เป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกยุคสมัยจำเป็นจะต้องมี ‘ยุคบ้านเมืองดี’ เป็นรูปแบบสังคมในอุดมคติ สำหรับให้ผู้คนรู้สึกภาคภูมิใจในบ้านเมืองของตน เมื่อสุโขทัยได้รับการประดิษฐ์สร้างให้เป็นตัวแบบดังกล่าวนี้แทนที่อโยธยาในอดีต ก็พอดีกับที่ในเวลาอีกไม่นานหลังจากนั้น (หลังสมัยรัชกาลที่ ๔) ความคิดเรื่อง ‘ชาติบ้านเมือง’ จะเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยสยาม สุโขทัยที่ถูกสร้างในช่วงเวลานั้นเลยถูกหยิบจับเข้าไปผสมรวมกลายเป็น ‘จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย’ ไป  

ถ้อยคำจากศิลาจารึกสุโขทัยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” กลายเป็นตัวแบบสำคัญสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง ตามมาด้วยสิ่งที่เรียกว่าการปกครองระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์หรือพ่อปกครองบุตร (Paternalism) ที่หมายถึงระบอบประชาธิปไตยแบบไทยแท้ ก่อเกิดเป็นความมั่นอกมั่นใจของชนชั้นนำไทย ในขณะที่ช่วงหลังมานี้คงต้องยกให้ถ้อยคำที่ว่า “ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” มีบทบาทตรงนี้แทนที่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” 

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ยังสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ในแง่ข้าวปลาอาหารที่จับต้องได้ แต่ “ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” (จะโลกนี้หรือโลกหน้าก็ไม่รู้เหมือนกัน) สื่อถึงศักยภาพในทางการแข่งขันกับต่างประเทศ แต่เราจะแข่งขันกับเขาไปเพื่ออะไร เรื่องนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องตอบ 

ผู้เขียนมีความประทับใจและนิยมชมชอบพระราชดำรัสสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ มากเป็นพิเศษ พระองค์ตรัสไว้ดังนี้

“การต่อไปภายหน้า... ศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว” 

ปล. วันก่อนเพิ่งมีคนพูด “ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” อยู่หยก ๆ วันนี้เจอภาษี ‘ร้อยชัก ๓๖’ ของนายพระขนอนหลวงกรุงอเมริกาที่ชื่อ ‘ออกพญาโดนัลด์ทรัมป์’ เข้าหั้ย แล้วเป็นไงล่ะทีนี้? 

มันสะใจไหมน้องงงงงงง.........

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561. 

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๔.    

เบาว์ริง, เซอร์ จอห์น. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม (The Kingdom and people of Siam). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๐.  

ปรามินทร์ เครือทอง. ฉากสำคัญ “พระเจ้าตาก” ประวัติศาสตร์ที่ต้องเล่า. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๘.   

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๑. 

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์. กรุงเทพฯ: โฆษิต, ๒๕๕๑.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว). กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๔. 

พิริยะ ไกรฤกษ์. จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗.  

เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๑๓. 

วริศรา ตั้งค้าวานิช. ประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗. 

วิเชียรปรีชา (น้อย), พระ. พระราชพงศาวดารเหนือ. กรุงเทพฯ: ไทยเขษม, ๒๕๑๖.  

สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.) ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๕.