ชาร์ลส์ ปอนซี จากเด็กล้างจานสู่บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme)

ชาร์ลส์ ปอนซี จากเด็กล้างจานสู่บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme)

ชาร์ลส์ ปอนซี จากเด็กล้างจานสู่บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme)

"อยากมี passive income มั้ย?" "คุณจะเป็นลูกจ้างไปทั้งชีวิตเหรอ?" "มาลงทุนกับเราสิ คุณจะได้ผลตอบแทนเป็นเท่าตัวในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ยิ่งลงเยอะก็ยิ่งได้มาก" ประโยคเหล่านี้คงเป็นที่คุ้นเคยกันดี เราอาจได้ยินคำเชื้อเชิญเหล่านี้จากญาติมิตรคนสนิท คนรู้จัก หรือแบนเนอร์โฆษณาตามอินเตอร์เน็ตที่เย้ายวนใจให้กับคนหนุ่มสาวผู้มีความฝันที่จะร่ำรวยอย่างรวดเร็ว หรือคนชราวัยเกษียณที่จะเอาเงินเก็บ หรือกู้เงินมาลงทุนหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตสบายๆ ในบั้นปลาย โดยให้ "เงินทำงาน" แทนตัวเอง ก่อนที่จะพบความจริงว่า โครงสร้างธุรกิจแบบนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ที่แท้จริง แต่เป็นการเอาเงินของนักลงทุนรุ่นหลังมาจ่ายนักลงทุนรุ่นแรกต่อกันเป็นทอดๆ ซึ่งรู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า "Ponzi scheme" เข้าลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือธุรกิจ "แชร์ลูกโซ่" นั่นเอง และคนที่ทำให้การฉ้อโกงลักษณะนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และชื่อของเขาก็กลายมาเป็นชื่อของลักษณะการกระทำนี้ไปด้วยก็คือ "ชาร์ลส์ ปอนซี" (Charles Ponzi) โดยรูปแบบของการฉ้อโกงลักษณะนี้ก็ไม่ต่างกับการลงทุนแบบพีระมิด (pyramid scheme) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะมันเป็นการเอาเงินนักลงทุนที่ถูกหลอกที่หลังมาให้รายแรกที่ต่างก็คือ การลงทุนแบบพีระมิดจะใช้ระบบสมาชิกแบบเครือข่าย ที่สมาชิกแต่ละรายจะต้องออกตามหาสมาชิกสืบเนื่องเพื่อเป็นลูกข่ายของตัวเอง แต่ Ponzi scheme จะไม่มีการทำแบบนั้น ผู้บงการจะเป็นผู้ระดมทุนโดยตรงแล้วให้คนลงทุนนั่งรอผลกำไรอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็อาจจะได้กำไรงวดแรกๆ ก่อนที่นายแชร์จะหายตัวไปเมื่อการหาผู้ลงทุนหน้าใหม่เริ่มถึงทางตัน นักประวัติศาสตร์พบว่า การฉ้อโกงลักษณะนี้มีกันมาอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 แล้ว แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายและตกเป็นข่าวมากเท่ากรณีของ ชาร์ลส์ ปอนซี ชาร์ลส์ (หรือ คาร์โล ในภาษาอิตาเลียน) ปอนซี เป็นชาวเมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อปี 1883 ย้ายมาตั้งรกรากในสหรัฐฯ ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ เริ่มต้นทำมาหากินอย่างสุจริตด้วยการเร่ขายผลไม้ ไปเป็นเด็กล้างจาน เป็นบ๋อย ก่อนหันเหชีวิตเข้าสู่ด้านมืด จากข้อมูลของ The New York Times ธุรกิจกำมะลอของปอนซีเริ่มต้นที่บอสตัน แมสซาชูเซตส์ เมื่อปี 1919 เมื่อเขาออกเชื้อเชิญนักลงทุนให้มาลงทุนกับ Securities Exchange Company ของเขาโดยอ้างว่า ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินต้นภายใน 45 วัน หรือเพียง 3 เดือน ผู้ลงทุนก็จะได้เงินกำไรเท่ากับจำนวนเงินต้น และเพิ่มเป็นสองเท่าภายใน 6 เดือนเท่านั้ พูดแค่นี้คงทำให้คนโลภหูผึ่งแล้ว แต่อาจยังไม่ทำให้คนที่ยังพอมีสติหลงเชื่อได้ เขาเลยต้องหาข้ออธิบายว่า เงินที่ได้มาเขาจะเอาไปลงทุนทำอะไร ถึงได้กำไรมากมายมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้สูงถึงขนาดนั้น? สิ่งที่ปอนซีอ้างกับผู้ร่วมลงทุนก็คือ เขาจะเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อ “วิมัยบัตร” (international postal reply coupon) หรือคูปองที่สามารถเอาไปแลกแสตมป์ไปรษณีได้เท่ากับจำนวนที่ต้องใช้สำหรับการส่งจดหมายน้ำหนักไม่เกิน 20 กรัมไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) โดยจะไปเลือกซื้อวิมัยบัตรจากประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินถูกๆ แล้วเอามาขายต่อในประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่า หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการหากำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงเดือนแรก ปอนซีสามารถหาลูกค้าได้ 15 ราย ระดมทุนได้มา 870 ดอลลาร์ แต่เพียง 6 เดือนต่อมาเขาสามารถหาลูกค้าได้มากถึง 20,000 ราย ทำให้เขาได้เงินไปกว่า 10,000,000 ดอลลาร์ โดยในช่วงพีกๆ เขาต้องจ้างเสมียนถึง 16 คนมานั่งนับเงินที่เข้ามาวันละกว่า 250,000 ดอลลาร์ ด้วยเงินที่ได้มามากเกินความคาดหมายจนหาที่เก็บไม่ได้ ทำให้บางครั้งเขาต้องเอายัดใส่ถังขยะไปพลางๆ ก่อน   เขาเอาเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินจำนวนมาก และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง รวมถึงบริษัทที่เคยจ้างเขาเป็นเด็กเดินเอกสารมาก่อน “ภาพความสำเร็จ” ของเขาทำให้ชาวบ้านพากันยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษ อย่างไรก็ดี แชร์ลูกโซ่ของปอนซีก็มีอายุได้เพียงราว 9 เดือนเท่านั้น เมื่อทางไปรษณีย์บอสตันออกมาเผยว่า ปอนซีไม่เคยมาลงทุนซื้อแสตมป์อะไรเลย แต่กว่าที่ชาวบ้านจะรู้ว่าตัวเองถูกหลอก เงินของพวกเขาก็ถูกเล่นแร่แปรธาตุหายวับไปหมดแล้ว ปอนซีถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ระหว่างที่อยู่ในคุกเขายังอุตส่าห์ส่งบัตร ส.ค.ส. คริสต์มาสไปยังเจ้าหนี้ว่าเขาจะหาเงินมาคืนให้หมดทันทีที่ถูกปล่อยตัว เขาติดคุกอยู่ได้สามปีคุกก็ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด แต่ก็ไปถูกจับในข้อหาลักทรัพย์อีกรอบระหว่างที่รอการอุทธรณ์ เขาเดินทางไปยังฟลอริดาพยายามหลอกขายที่ดินชาวบ้าน ทางการฟลอริดาสอบสวนพบว่าเขากระทำความผิดฐานฉ้อโกงอีก ปอนซีก็เลยหนีไปเท็กซัสแต่ไม่รอดถูกจับตัวส่งกลับแมสซาชูเซตส์ ในฉากสุดท้ายของปอนซี เขาต้องติดคุกจนถึงปี 1934 ก่อนถูกเนรเทศกลับอิตาลีเพราะไม่ได้รับสิทธิเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้น ปอนซีเดินทางไปยังบราซิลใช้ชีวิตอย่างสมถะ ทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1949