พระเจ้าตากสิน ไม่ถูกสำเร็จโทษ เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ฉบับ "ยาผีบอก"

พระเจ้าตากสิน ไม่ถูกสำเร็จโทษ เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ฉบับ "ยาผีบอก"
พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือที่เราคุ้นเคยกันในพระนาม "พระเจ้าตากสินมหาราช" ถือเป็นวีรบุรุษที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในสังคมไทย เพราะอดีตพ่อค้าเกวียนรายนี้สามารถรวบรวมแผ่นดินในอาณาจักรอยุธยาที่ล่มสลายให้กลับมาเป็นปึกแผ่น คืนความสุขให้กับคนไทยได้อีกครั้ง แต่ชะตากรรมในบั้นปลายของวีรบุรุษพระองค์นี้ช่างน่าเศร้ายิ่งนัก เนื่องจากพระองค์ถูกสำเร็จโทษจากข้อหาสร้างความวุ่นวายในพระราชอาณาจักร เร่งรัดทรัพย์สินราษฎร จองจำข้าราชการโดยไร้ความผิด ทั้งยังตีโบยพระสงฆ์ ด้วย "มีสัญญาวิปลาศ ว่าตนเปนผู้มีบุญศักดิใหญ่ เปนพระโพธิสัตรว์จะสำเร็จพระพุทธภมิได้ตรัสเปนพระชนะแก่มาร เปนองค์พระศรีอาริยเมตไตรยในกัลปนี้" (ปฐมวงษ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4) แต่วาระสุดท้ายของพระองค์มีการบอกเล่าที่แตกต่างหลากหลายมาก แม้ส่วนใหญ่เล่าไว้ตรงกันว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษแน่ เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่เล่าว่า "ฝ่ายแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น" ซึ่งมิได้บอกชัดว่าการสำเร็จโทษนั้นกระทำด้วยวิธีการใด ขณะที่ในพระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ซึ่งชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ระบุชัดว่า "ผู้คุมแลเพ็ชฌฆาฎหามออกไปนอกพระราชวัง ถึงน่าป้อมวิไชยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตร์ตัดศีษะเสีย ถึงแก่พิราไลย" ซึ่งมีเนื้อหาทำนองเดียวกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ด้วยน่าจะใช้โครงของพระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์เป็นต้นแบบ)   แต่ที่ไปไกลกว่านั้นก็คือ การบอกว่า พระเจ้าตากสินหาได้ถูกสำเร็จโทษไม่ หากแต่สามารถหนีรอดไปได้ด้วยกลวิธีต่าง ๆ ซึ่งบุคคลสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่าในลักษณะนี้เป็นที่แพร่หลายอย่างมากก็คือ "หลวงวิจิตรวาทการ" ผู้ปลุกปั้นลัทธิชาตินิยมคนสำคัญของไทย อย่างที่บอกว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ทำให้แพร่หลาย แต่เรื่องราวที่ว่าพระเจ้าตากสินมิได้ถูกประหารมีเค้ามูลเล่าขานเป็นพงศาวดารกระซิบมานานนับร้อยปีแล้วโดยมีเหง้ามาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างพระเจ้าตากสินกับ "เจ้านคร" เจ้านคร "หนู" ผู้นี้คือผู้ที่สถาปนาตนเป็น "เจ้า" เมื่อครั้งสิ้นแผ่นดินอยุธยา เพื่อรักษาระเบียบและความสงบสุขในเมืองนครคราวเกิดสุญญากาศทางอำนาจ ครั้นพระเจ้าตากสินทรงสถาปนาแผ่นดินกรุงธนบุรีขึ้นต้องการจะรวบรวมบ้านเมืองจะต้องยกทัพมาตี เมื่อตีได้จึงให้เจ้านราสุริยวงศ์ พระนัดดาครองเมือง แล้วให้เจ้านครมาอยู่ในกรุงธนบุรี ระหว่างนั้นพระเจ้าตากสินก็ได้ "เจ้าหญิงฉิม" ธิดาของเจ้านครมาเป็นพระชายา (ภายหลังได้เป็นเจ้าจอมมารดาฉิม) เมื่อพระนัดดาสิ้นพระชนม์จึงโปรดให้เจ้านครกลับไปครองเมืองตามเดิม นอกจากการดองกันระหว่างพระเจ้าตากสินและเจ้านครแล้ว เจ้าพัฒน์ (หรือ พัด) อุปราชแห่งเมืองนครซึ่งได้แต่งกับธิดาองค์ใหญ่ของเจ้านคร ภายหลังเมื่อชายาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าตากสินยังส่งน้องสาวของเจ้าจอมมารดาฉิมผู้เป็นธิดาองค์เล็กของเจ้านคร ให้ไปเป็นชายาของเจ้าพัฒน์ผู้ได้เป็นเจ้าพระยานครต่อมาด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงกล่าวถึง "ข่าวลือ" เกี่ยวกับการพระราชทานชายาให้วังหน้าเมืองนครเอาไว้ว่า "กล่าวกันว่าเมื่อเวลาพระราชทานมีครรภ์ 2 เดือนเจ้าพัดจะไม่รับก็ไม่ได้ เมื่อรับไปแล้วก็ต้องไปตั้งไว้เปนนางเมืองไม่ได้เปนภรรยา บุตรที่มีครรภ์ไปนั้นเปนชายชื่อน้อย ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาสนา มากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เปนเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเปนการเปิดเผย" [พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของพระไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์)] จากพระราชนิพนธ์ข้างต้นทำให้เราทราบว่า เรื่องราวที่เล่ากันว่าเจ้าพระยาเมืองนคร (น้อย) นั้นคือทายาทผู้สืบทอดสายเลือดของพระเจ้าตากสินได้ถูกกล่าวขานกันมานานแล้ว และภายหลังหลวงวิจิตรวาทการก็ได้ขยายโครงเรื่องให้พิศดารยิ่งขึ้นไปอีก ในคราวที่เขาสร้างสรรค์นิยายเรื่อง "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน" นิยายเรื่องนี้หลวงวิจิตรฯ แต่งว่าเมื่อคราวเกิดกบฏพระยาสรรค์นั้น ข้าราชการที่ยังภักดีต่อพระเจ้าตากสินได้คิดหาวิธีการช่วยเหลือพระองค์ให้พ้นภัย และก็ได้ "หลวงอาสาศึก" ซึ่งหลวงวิจิตรฯ แต่งว่าเป็นเพื่อนร่วมรบของพระเจ้าตากสินมาตั้งแต่คราวตั้งค่ายอยู่วัดพิชัย เป็นคนอยู่ข้างเท้าช้างพังคีรีบัญชรเมื่อทรงขับช้างเข้าชนประตูเมืองจันทรบุรี ทั้งเป็นคนวิ่งออกหน้าเมื่อคราวตีค่ายโพธิ์สามต้น แต่อาภัพไม่ได้เติบโตในหน้าที่การงานด้วยความที่หน้าคล้ายพระพักตร์พระเจ้าตากสินมากจนพระองค์ระแวง มาเป็นผู้ "อาสา" ตายแทนพระองค์ ฝ่าย "เจ้าพัฒน์" อุปราชเมืองนคร หัวเรือใหญ่ในแผนการนี้ก็ได้พาพระเจ้าตากสินซึ่งบวชเป็นภิกษุนั่งเรือหนีไปอยู่เมืองนคร ฝ่ายหลวงอาสาศึกก็ถูกประหารด้วยการตัดคอ โดยมิได้มีผู้ใดระแวงสงสัยว่าเป็นตัวปลอม เพราะเชื่อว่าพระองค์ประชวร "สัญญาวิปลาศ" คงทำให้รูปลักษณ์ผิดไปบ้าง ผ่านไปได้ราวสามปี พระเจ้าตากสินที่ยังครองสมณเพศอยู่จึงได้เสด็จไปยังเมืองเพชร ก่อนถูกคนร้ายลอบสังหารระหว่างวิปัสสนากรรมฐานอยู่ในถ้ำ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ซึ่งก็เป็นการบังเอิญว่า เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ได้บันทึกไว้ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ดำรัสให้ขุดศพเจ้ากรุงธนบุรี ทำการฌาปนกิจที่เมรุวัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมหรสพพอสมควร และเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงทั้ง 2 พระองค์" ตรงนี้หลวงวิจิตรฯ แต่งว่า ฝ่ายเจ้าพัฒน์มารู้เรื่องหลังเหตุการณ์ผ่านไปได้ราว 3 เดือน ก็ได้แต่ปลงว่าเป็นพรหมลิขิตที่ไม่อาจฝืน และไม่ขอสอบสวนหาความจริงต่อ เพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ซ้ำร้ายยังอาจมีภัยมาถึงตัว จึงรับใช้ราชวงศ์จักรีต่อไปอย่างเต็มความสามารถ และเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่ "ท่านน้อย" ฟูมฟักจนได้เป็นเจ้าพระยานครสืบมา เรื่องแต่งของหลวงวิจิตรฯ นับว่าสอดคล้องกับเรื่องเล่าที่แพร่หลายในหมู่ชาวนครจนถึงปัจจุบัน โดยเรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ทาง "เพลินจิตต์รายสัปดาห์" และได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงจากสาธารณะ และสาธารณชนบางส่วนก็พากันหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่หลวงวิจิตรฯ ก็ไม่กล้าบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะเขาเองก็ได้แต่ฟังมาอีกทีจาก "ท่านผู้มีเกียรติผู้หนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายตรงจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" ซึ่งรับฟังเรื่องนี้ต่อมาอีกทอดเช่นกัน   หลวงวิจิตรฯ บอกว่าเรื่องนี้ไม่อาจเล่าเป็นประวัติศาสตร์ได้ ได้แต่แต่งขึ้นเป็นนิยาย เปรียบดั่ง "ยาผีบอก" ที่คนนอนหลับฝันไปแล้วผีมาบอกยาแก้เคล็ดให้ ซึ่งเขาบอกว่า ตนเองเคยเป็นประจักษ์พยานมาแล้วว่ายาผีบอกมีสรรพคุณดีจริง แต่ก็ไม่อาจจดเป็น "ตำรายาหลวง" ได้ ด้วยเหตุนี้หลวงวิจิตรฯ จึงแต่งให้ตัวเอกของเรื่องเป็นบรรณารักษ์ประจำหอสมุดแห่งชาติ ที่เจอผีทหารเอกพระเจ้ากรุงธนบุรีมาเข้าฝัน แล้วเขียนตำราประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีออกมาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เติมเต็มและสามารถคลายปมสงสัยที่ค้างคาของประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีตากสินได้เกือบเบ็ดเสร็จ แต่พอเขียนเสร็จ (ด้วยผีอำ) ก็รู้ตัวว่าเรื่องที่เขียนด้วยลายมือของตนนั้นไม่อาจถือเป็นตำรับตำรา หลักวิชาอันใดได้ แต่จะปล่อยทิ้งไว้ก็เสียดายจึงขอเผยแพร่ต่อให้คนอ่านคิดเอาเองจะถือเป็นตำนาน นิทาน หรือนวนิยายก็ตามใจนึก อย่างไรก็ดี เรื่องสั้นชิ้นนี้กินใจผู้อ่านเป็นอันมาก จนคนไม่น้อยพากันเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่าผีทหารพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ในยุคปัจจุบัน ถึงขนาดมีคนหลายคนไปติดต่อสอบถามกับทางหอสมุดแห่งชาติว่าผีดุในหอสมุดมีจริงหรือไม่?  เรื่องสั้นของหลวงวิจิตรฯ จึงนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเขาเองรู้สึกเทไปฝั่งเชื่อว่าจริงแต่ไม่กล้าพูดเต็มปากดังที่กล่าวว่า "ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าที่จะบอกความจริง ข้าพเจ้าเขียนด้วยความรู้สึกก่ำกึ่ง เพราะอาจจะเป็นความจริงก็ได้ คิดดูเหตุผลแวดล้อมก็มีหลายอย่าง คำนวณดูความห่างกันในระหว่างวันที่ว่าถูกประหารกับวันถวายพระเพลิงพระบรมศพก็เป็นเหตุผลแวดล้อมที่คอยจะจูงใจให้เชื่อเสียร่ำไป เรื่องคนหน้าตาเหมือนกัน ปลอมตัวมาตายแทนกัน ไม่เป็นเรื่องประหลาดสำหรับคนสมัยโบราณ มีเรื่องชนิดนี้ถมไป ไม่ต้องโบราณถึงไหน เพียงของฮิตเลอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ยังมีคนที่หน้าตารูปร่างเหมือนฮิตเลอร์ถึง 4 คน ซึ่งฮิตเลอร์เองได้ให้คนเหล่านั้นแต่งกายไว้หนวดเหมือนฮิตเลอร์แบบไปในที่ต่าง ๆ เพื่อให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าฮิตเลอร์ไปเอง และเพื่อซ่อนความจริงว่าฮิตเลอร์จะไปทางไหน" (ส่วนหนึ่งของคำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 1 รวมเรื่องสั้นใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ของหลวงวิจิตรวาทการ)