ตรอกข้าวสาร: ฝรั่งต่างชาติ เมืองหลวง และความเปลี่ยนแปลงของสงกรานต์ไทย

ตรอกข้าวสาร: ฝรั่งต่างชาติ เมืองหลวง และความเปลี่ยนแปลงของสงกรานต์ไทย

ประวัติศาสตร์ ‘ตรอกข้าวสาร’ หรือ ‘ถนนข้าวสาร’ ที่มีชื่อเสียงดังไกลในระดับโลก โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์

KEY

POINTS

  • ‘ถนนข้าวสาร’ เป็นถนนที่ตัดขึ้นโดยวิธีการถมคลองเดิมมาเป็นถนน ผู้คนนิยมเรียกตามเดิมว่า ‘ตรอกข้าวสาร’ ตัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 ก่อนถนนราชดำเนินเป็นเวลากว่า 7 ปี  
  • จากบทบาทเดิมที่เคยเป็นแหล่งค้าเครื่องสังฆภัณฑ์สำหรับรับใช้เรื่องทางธรรมแก่วัดสำคัญทั้งสองนิกาย มาสู่การเป็นแหล่งย่านสถานเริงรมย์สำหรับฝรั่งอเมริกันได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2520 ถนนตรอกข้าวสารก็เริ่มมีชื่อเสียงดังไกลในระดับโลก เพราะเป็นสถานที่ที่ปรากฏในสื่อบันเทิงของต่างชาติ
  • ถึงแม้ว่าถนนข้าวสารจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่การเล่นสาดน้ำเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเริ่มมีเมื่อประมาณ พ.ศ.2533 เนื่องจากเป็นแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราวที่เรียกว่า ‘เกสต์เฮ้าส์’ การเล่นน้ำสงกรานต์ของคนไทยเป็นที่ถูกใจแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาพักในถนนข้าวสารเป็นอย่างมาก

จากคลองสู่ถนน & ความเปลี่ยนแปลงจาก ‘กรุงเก่า’ มาเป็น ‘กรุงใหม่’ 

ปัจจุบันถ้าพูดถึงสถานที่เล่นสงกรานต์ยอดฮิตในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก สถานที่ที่เราจะนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ คงไม่พ้น ‘ถนนข้าวสาร’ หรือบางทีก็เรียก ‘ตรอกข้าวสาร’ แต่ละปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงกรานต์ ถนนแห่งนี้คับคั่งไปด้วยผู้คนหลากหลายจากต่างประเทศ  

‘อเล็กซ์ การ์แลนด์’ (Alex Garland) ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง ‘The Beach’ ซึ่งเคยมาเยือนและใช้ชีวิตอยู่ที่ถนนนี้ ได้เคยกล่าวในรายการวิทยุ BBC-Radio 1 ไว้ว่า ‘จะมีที่ไหนหนอที่มีคนสารพัดชาติมารวมตัวกันที่นี่ ที่ถนนข้าวสาร ถนนที่เพียบพร้อมไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อ เพราะที่นี่คุณจะหาเทปผีจากวงดังวงไหนก็ได้ในโลก มีที่พักราคาถูก’ 

ภาพพจน์ดั้งเดิมของเมืองไทยตั้งแต่อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ชาวต่างชาติมองผ่านสายตาว่าเป็น ‘เวนิสตะวันออก’ (Venice of the East) นอกจากที่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง มีเรือพายแล่นไปมาแล้ว ยังเป็นเมืองที่มากไปด้วยชาวต่างชาติ ในทางวิชาการประวัติศาสตร์จึงมีการนิยามเรียกเมืองแบบนี้ว่า ‘เมืองท่านานาชาติ’ (International Port Polity) 

แต่เมื่อหลังจากทำสนธิสัญญาเบาริงเมื่อพ.ศ.2398 (รัชกาลที่ 4) เปิดรับการเข้ามาของชาวต่างชาติมากขึ้น เพราะสยามได้เปลี่ยนนโยบายการค้าจากแบบผูกขาด พ่อค้าต่างชาติจะต้องมีซื้อสินค้าสำคัญ ๆ ได้จากพระคลังหลวงเท่านั้น มาสู่นโยบายการค้าแบบตลาดเสรี พ่อค้าต่างชาติสามารถเดินทางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อรับซื้อสินค้าได้ด้วยตนเอง จุดนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไปกระทบต่อเส้นทางคมนาคมทั้งภายในเมืองหลวงและหัวเมืองในเวลาต่อมา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พ่อค้าต่างชาติในการเข้าถึงสินค้าและทรัพยากรต่าง ๆ

ลำพังการเดินทางทางน้ำในบางช่วงอาจประสบปัญหา เข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้จำกัด จึงมีการบุกเบิกเส้นทางและตัดถนนเพื่อการคมนาคมทางบกกันมากขึ้น ในหัวเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครราชสีมา จันทบุรี นครศรีธรรมราช จะเห็นได้ว่าเส้นทางบกมีการแผ้วถางและสร้างกันอยู่ก่อนแล้ว โดยปรับขยายจากเส้นทางเกวียนเดิม ถึงแม้ว่าช่วงนั้นจะเทคโนโลยีรถยนต์เกิดขึ้นแล้วในโลกตะวันตก แต่กว่าที่จะถูกนำเข้ามาก็เป็นเวลาหลังจากนั้นพอสมควร ถนนแรก ๆ เช่น ที่ตัดในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้แก่ ถนนเจริญกรุง, ถนนบำรุงเมือง, ถนนเฟื่องนคร เป็นต้น จึงเป็นถนนสำหรับรถม้าและรถลาก (ใช้แรงงานกุลีจีน)   

ถนนหลวงที่ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นเส้นทางหลักในพระนครอย่างถนนราชดำเนิน ตัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2442 แต่ก่อนหน้านั้นมีถนนอีกชนิดหนึ่งที่ตัดขึ้นโดยวิธีการถมคลองเดิมมาเป็นถนน หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ถนนข้าวสาร’ หรือที่ผู้คนนิยมเรียกตามเดิมว่า ‘ตรอกข้าวสาร’ ตัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 ก่อนถนนราชดำเนินเป็นเวลากว่า 7 ปี  

โดยเมื่อปี พ.ศ.2435 กรมโยธาธิการได้กราบบังคมทูลฯ เสนอให้ตัดถนนตรอกข้าวสาร เริ่มตั้งแต่หน้าวัดชนะสงคราม ตัดมาทางตะวันออกตามตรอกข้าวสารแล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนครตอนหน้าสวนหลวงตึกดิน เดิมใช้ชื่อว่า ‘ถนนวัดชนะสงคราม’ แต่ไม่เป็นที่นิยม ราษฎรยังคงนิยมเรียกตามชื่อเดิมว่า ‘ถนนตรอกข้าวสาร’ 

พ.ศ.2435 นั้น เป็นจุดเริ่มของนโยบายปฏิรูปเพื่อความทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับวงวิชาการไทยศึกษาก็มีมุมมองจากนักประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เสนอกันมานานแล้วว่า ในปีนั้นเป็นจุดตั้งต้นของระบอบการเมืองการปกครองที่เรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราช’ (Absolute monarchy) แน่นอนช่วงหนึ่งสิ่งหนึ่งอาจทันสมัย แต่สักพักก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะเกิดมีสิ่งอื่นที่เหมาะสมกว่า จึงนำมาสู่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475    

อย่างไรก็ตาม ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้งยังเป็น ‘คลองข้าวสาร’ ก็นับว่าเป็นเส้นทางคมนาคมและย่านการค้าสำคัญของพระนคร คลองนี้ขุดขึ้นเมื่อไหร่ไม่เป็นที่ปรากฏ  แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นการขุดเพื่อให้เกิดชัยภูมิเมืองหลวงที่คล้ายคลึงกับอยุธยา ที่จะมีคลองข้าวสาร อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก บริเวณปากคลองมีวัดสำคัญชื่อวัดเกาะแก้ว 

ตามเรื่องใน ‘อภินิหารบรรพบุรุษ’ ระบุว่าเป็นชุมชนบ้านเกิดของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และยังเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเกาะเมืองอยุธยาไปยังแหล่งปลูกข้าวสำคัญอย่างทุ่งหันตราและทุ่งชายเคือง ตลอดจนเป็นเส้นทางออกสู่หัวเมืองตะวันออกอย่างนครนายกและปราจีนบุรี เมื่อคราวใกล้เสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ได้ใช้เส้นทางนี้ในการออกจากอยุธยาไปรวบรวมกำลังคนที่หัวเมืองตะวันออก    

แต่แม้จะเลียนแบบ ‘กรุงเก่า’ ยังไง กรุงเทพฯ ก็ยังสภาพเป็น ‘กรุงใหม่’ เมื่อมีการขุดคลองแสนแสบและมีถนนราชดำเนินขึ้นแล้ว ถนนข้าวสารที่ถึงแม้จะมีความยาวเพียง 400 เมตร กลับมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับแหล่งค้าของสำคัญอย่างข้าวสาร ฉะนั้นชื่อ ‘ถนนข้าวสาร’ หรือ ‘ตรอกข้าวสาร’ เดิมไม่ใช่แค่ชื่อตั้งกันเล่นๆ เพราะเป็นย่านค้าข้าวกันอย่างจริงจัง เป็นแหล่งค้าข้าวที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา

จากเดิมที่เป็นคลองเล็ก ๆ อยู่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนราชดำเนิน และคลองแสนแสบ แม่น้ำเจ้าพระยาคือไฮเวย์สำหรับการเดินทางออกทะเลไปต่างประเทศ ในขณะที่ถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางที่เหล่าข้าราชการและชาวต่างชาติใช้สัญจรไปมา ส่วนคลองแสนแสบเดิมเป็นคลองขุดเพื่อสงครามอานาม - สยามยุทธ์ แต่ได้เกิดประโยชน์แก่การทำนาปลูกข้าวในบริเวณฝั่งตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจรดบางปะกง 

หลังจากเกิดมีคลองแสนแสบเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมาแล้ว พื้นที่รกร้างฝั่งตะวันออกก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นที่นาผืนใหญ่ และเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจการค้าหลังสนธิสัญญาเบาริง เนื่องจากโลกอาณานิคมประสบปัญหาขาดแคลนข้าว ทำให้ต้องซื้อข้าวจากสยาม เมื่อข้าวจากที่นาฝั่งตะวันออกถูกลำเลียงมาขึ้นที่ท่าเรือก็นำมาที่ถนนข้าวสารได้สะดวก 

อีกทั้งถนนข้าวสารยังมีทางเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าบางลำพู (ปัจจุบันคือย่านถนนพระอาทิตย์) ทำให้เกิดความสะดวกในการขนส่งข้าวไปลงเรือที่จะแล่นออกไปต่างประเทศ ดังนั้นการค้าข้าวที่เป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยนั้น ก็เป็นเหตุให้มีกลุ่มพ่อค้าต่างชาติเดินทางเข้ามายังถนนแห่งนี้เพื่อหาข้าวเสบียงและข้าวส่งออก   

‘ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน’ & ถนนในฐานะสัญลักษณ์ความศิวิไลซ์

จากการที่เป็นย่านเศรษฐกิจการค้าข้าว ทำให้ถนนข้าวสารเป็นย่านที่มีความเจริญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ นอกจากข้าวยังมีการขายถ่านหุงข้าว ของชำ หลังจากเปลี่ยนคลองเป็นถนนก็เริ่มเกิดมีชุมชนขึ้น และขยับขยายต่อมา เริ่มมีร้านขายของหลากประเภทมากขึ้น เช่น ร้านขายของเล่น, ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์, ร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ (สมัยรัชกาลที่ 6 ก๋วยเตี๋ยวเรือไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แค่ก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยาก็มีหลักฐานย้อนกลับไปได้จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เลยทีเดียว จอมพล ป. ท่านเพียงแต่ส่งเสริมให้ประชาชนกินในช่วงน้ำท่วม เพราะสะดวกมีเรือพายไปขายตามบ้านเรือน ก็เท่านั้น)   

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ถนนข้าวสารเป็นถนนเส้นหนึ่งที่เกิดจากการแปรเปลี่ยนทางคมนาคมภายในย่านการค้าของกรุงเทพฯ จากคลองมาสู่ถนนเป็นรุ่นแรก ๆ  นอกจากถนนข้าวสาร ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันยังมีถนนข้างเคียงอื่น ๆ อีก  แต่ไม่ได้เจริญมากเท่าถนนข้าวสาร อาทิ

‘ถนนตานี’ (คาดว่ามาจากคลองตานี ที่เกณฑ์ชาวมุสลิมปัตตานีมาขุดเมื่อต้นกรุงฯ) ถนนนี้ไม่ค่อยจะมีการอนุญาตให้ปลูกสร้างตึกแถว เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของวัดบวรนิเวศวิหาร มักจะทำสัญญาให้เช่า - เซ้ง เป็นระยะเวลาตามกำหนดมากกว่า จึงไม่ขยายตัวมากเหมือนถนนข้าวสาร  

‘ถนนตะนาว’ (เดิมคือเส้นคลองตะนาวศรี) เป็นถนนหนึ่งที่ติดต่อกับถนนข้าวสาร มีการสร้างตึกแถวของคนจีนที่ทำการค้าไปตลอดแนวของถนน ตึกแถวเหล่านี้มีสองชั้นปลูกสร้างกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 – 5 ถนนนี้ดูเจริญกว่าถนนตานี  แต่ก็ไม่ถึงขนาดเทียบเท่าถนนข้าวสาร  

เดิมการสร้างตึกแถวมี 2 ประเภท คือ (1) ตึกแถวที่เอกชนสร้าง ซึ่งจะสามารถสร้างและขยายตัวได้อย่างรวดเร็วตามกำลังทรัพย์ (2) ตึกแถวที่ปลูกอยู่บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การก่อสร้างจะเป็นไปอย่างมีลำดับขั้นตอน จะต้องมีการขออนุญาตเสียก่อนจึงจะปลูกสร้างอาคารได้ อาคารประเภทนี้จึงมักใช้เวลาสร้างยาวนานกว่าการปลูกสร้างตึกแถวของเอกชน  

‘ถนนรามบุตรี’ เดิมเป็นแนวคลองโบราณมาก่อนเช่นกันจนถึงเมื่อสมัยที่มีการตัดถนนในกรุงเทพฯ นั้น มีการถมคลองเพื่อทำเป็นถนน เป็นย่านที่พักอาศัยของผู้มีฐานะดี มีการปลูกบ้านแบบตึกยุโรปซึ่งนับเป็นรูปแบบที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น  

การเกิดถนนแทนที่คลอง ทำให้ถนนเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าทันสมัย  และเป็นย่านเศรษฐกิจการค้า อีกทางหนึ่งก็ทำให้ย่านผู้ดีเก่าที่เคยอยู่กับเส้นทางคมนาคมแบบคลอง กลายเป็นตรอกขนาดย่อม จนดูเหมือนจะเป็นไปตามคำทำนายในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา วรรคหนึ่งที่ว่า ‘ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน’ 

แต่ทว่านั่นเป็นภาพความเลวร้ายของระบบสังคมที่คนในสมัยอยุธยาหวั่นกลัวไม่อยากให้เกิดขึ้น จนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2231 แต่ทว่าสำหรับรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 5 มุมมองต่อเรื่องนี้เปลี่ยนไปแล้ว การมีถนนที่ชาวต่างชาติมาเดินพลุกพล่านไปมา ไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ความเสื่อมทรามของบ้านเมืองเหมือนอย่างที่คนในอดีตเชื่อกัน  

ตรงข้ามนั่นกลับเป็นสิ่งที่เกิดความเชื่อใหม่ว่านั่นคือความเจริญรุ่งเรืองหรือศิวิไลซ์ของบ้านเมืองต่างหาก และความเชื่อนี้ไม่ใช่ความเชื่อในระดับชาวบ้านประชาชน หากแต่เป็นในระดับผู้นำบ้านเมืองเวลานั้น การสร้างถนนเริ่มจะกลายเป็นเครื่องแสดงความชอบธรรมของอำนาจมาตั้งแต่นั้นจวบจนปัจจุบัน  

จากถนน ‘ทางธรรม’ สู่ ‘ทางโลกย์’ 

เมื่อเป็นถนนแล้ว  ก็ยังพบความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ว่าถนนข้าวสารที่อยู่คู่สังคมสยามมานั้น ไม่ได้อยู่แบบเก่าเดิมตลอด หากแต่มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างมาก นอกจากเป็นย่านค้าข้าวที่ใหญ่ที่สุดของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีการค้าอีกประเภทที่แม้ไม่ใหญ่โตมากเหมือนการค้าข้าว แต่ก็จัดเป็นแหล่งสำคัญสำหรับการค้าประเภทนี้ คือการค้าเครื่องสังฆภัณฑ์ เพราะต้นทางถนนทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของวัดชนะสงคราม ปลายทางทิศตะวันออกอีกฝั่งก็มีวัดบวรนิเวศวิหาร  

ที่พิเศษเฉพาะก็คือเป็นแหล่งค้าเครื่องสังฆภัณฑ์ ที่มีพร้อมทั้งสังฆภัณฑ์ของฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย เพราะวัดชนะสงครามเป็นวัดในสังกัดมหานิกาย  ขณะที่วัดบวรนิเวศวิหารนับเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูปสำหรับธรรมยุติกนิกาย  เพราะเป็นวัดจำพรรษาเดิมของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังผนวชอยู่มีพระนามว่า ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ ฃ

เมื่อพระวชิรญาณภิกขุลาผนวชไปรับราชสมบัติ ตามคำกราบบังคมทูลของกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า ในเวลาต่อมา) และขุนนางตระกูลบุนนาค นำโดยเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค ผู้ควบ 2 ตำแหน่ง เป็นทั้งเสนาบดีพระคลังและกลาโหม) และหลวงนายสิทธิ์ (ช่วง บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในเวลาต่อมา) วัดบวรนิเวศวิหารยิ่งมีความสำคัญและธรรมยุติกนิกายก็ได้สมญาว่าเป็น ‘นิกายกษัตริย์’ ไปด้วย  

แต่ในช่วงสงครามเย็น หลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ได้มีชาวฝรั่งต่างชาติจากประเทศโลกเสรี โดยเฉพาะอเมริกาและอังกฤษ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นอันมาก  นอกจากพัทยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอยู่ไม่ไกลจากสนามบินแห่งชาติอู่ตะเภา ที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดผิดหูผิดตาไปค่อนข้างมากแล้ว ที่เมืองหลวง ถนนข้าวสารก็ได้มีชีวิตใหม่ เกิดเป็นย่านที่นิยมในหมู่ชาวตะวันตกเข้ามาพักผ่อน เพราะเป็นย่านที่มีเกสต์เฮ้าส์และที่พักราคาถูก อยู่ไม่ไกลจากสถานที่สำคัญอันเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวในเมืองหลวง   

จากบทบาทเดิมที่เคยเป็นแหล่งค้าเครื่องสังฆภัณฑ์สำหรับรับใช้เรื่องทางธรรมแก่วัดสำคัญทั้งสองนิกาย มาสู่การเป็นแหล่งย่านสถานเริงรมย์สำหรับฝรั่งอเมริกันได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2520 ถนนตรอกข้าวสารก็เริ่มมีชื่อเสียงดังไกลในระดับโลก เพราะเป็นสถานที่ที่ปรากฏในสื่อบันเทิงของต่างชาติ ตัวอย่างก็เช่น 

ภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีฉากเป็นถนนตรอกข้าวสาร 

  • ภาพยนตร์เรื่อง The Beach นำแสดงโดย ‘ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ’ มีเนื้อหาช่วงต้นอ้างอิงและถ่ายทำที่ถนนข้าวสาร
  • มิวสิกวิดีโอเพลง Groovejet โดย Spiller มีส่วนหนึ่งของมิวสิกวิดีโอถ่ายทำที่ถนนข้าวสาร
  • ภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลี เรื่องเจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา (Princess Hours) ได้ยกกองมาถ่ายทำกันในถนนข้าวสาร บางฉาก
  • ภาพยนตร์ฮ่องกง เรื่อง Secret Action มีการถ่ายทำที่บริเวณถนนข้าวสา
  • ภาพยนตร์อินเดียเรื่อง No Entry นำแสดงโดยนาง Sri Devi ซึ่งเป็นดาราชื่อดังของอินเดีย มีฉากที่ถ่ายทำบนถนนข้าวสาร

มิวสิควีดีโอที่มีฉากเป็นถนนตรอกข้าวสาร

  • มิวสิกวิดีโอเพลง ‘ดีกว่าบ่มีไผ’ ของวง Cells วงร็อกจากประเทศลาว
  • เพลง ‘Five Step’ ของวงพารัน บอยแบนด์จากเกาหลี
  • มิวสิกวิดีโอเพลง ‘สาด’ ของก้านคอคลับ
  • มิวสิกวิดีโอเพลง ‘ฝรั่งจ๋า’ วง SAME SAME ร่วมร้องกับอาภาพร นครสวรรค์

‘ฝรั่งปนไทย’ & ‘สงกรานต์’ หรือ ‘Wet Monday’ นอกขนบอีสเตอร์?  

ถึงแม้ว่าถนนข้าวสารจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่การเล่นสาดน้ำเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเริ่มมีเมื่อประมาณ พ.ศ.2533 เนื่องจากเป็นแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราวที่เรียกว่า ‘เกสต์เฮ้าส์’ การเล่นน้ำสงกรานต์ของคนไทยเป็นที่ถูกใจแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาพักในถนนข้าวสารเป็นอย่างมาก โดยการเล่นสงกรานต์ถนนข้าวสารในช่วงแรก ๆ ก็เป็นแต่เพียงเล่นสาดน้ำกันธรรมดาเท่านั้น

เทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารนี้มาโด่งดังเปรี้ยงปร้าง ก็ในช่วง พ.ศ.2542 - 2543 โดยนอกจากการเล่นสาดน้ำเป็นปกติแล้ว ก็ยังมีทั้งการจัดกิจกรรม มีเวทีการแสดง มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน จากแต่เดิมที่คนเล่นต้องเตรียมน้ำเตรียมแป้งมาเล่นกันเอง และมีน้ำเตรียมไว้ให้เล่นตามจุดต่าง ๆ ให้ด้วย  

พ.ศ.2542 - 2543 นั้น ยังเป็นช่วงที่ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ดังนั้นการโปรโมทงานสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วนั้น จึงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความพยายามในการโปรโมทการท่องเที่ยวไทย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยนั่นเอง  

เดิมก่อนหน้า 2542 - 2543 บริเวณที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างใหญ่โต มีฝรั่งต่างชาติเข้าร่วมในระดับเป็นคลื่นมวลชนนั้นอยู่ที่พัทยา ซึ่งเป็นสถานที่พักตากอากาศเดิมของทหารอเมริกัน แต่ที่พัทยาเนื่องจากสถานที่กว้างขวางใหญ่โตกว่าตรอกข้าวสารมาก จึงจัดการลำบาก แต่สำหรับตรอกข้าวสารแล้วไม่เป็นปัญหาในส่วนนี้  

ไม่เฉพาะฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเท่านั้น ที่รับรู้กันดีว่าประเพณีการละเล่นสงกรานต์ของไทยนั้นเป็นที่ถูกอกถูกใจชาวต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งตะวันตกกันมาก  ทว่าความถูกอกถูกใจนี้นอกจากเป็นเรื่องความนิยมชมชอบต่อวัฒนธรรมประเพณีไทยแล้ว ยังเป็นเพราะการเล่นสาดน้ำเนื่องในเทศกาลวันสำคัญก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในขนบประเพณีของชาวชาติตะวันตกมาแต่เดิมด้วย อย่างที่เรียกกันว่า ‘Wet Monday’ หรือ ‘Water Festival’ ซึ่งในสังคมตะวันตกจะเล่นกันในช่วงวันจันทร์แรกหลังวันอีสเตอร์ (ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม ตามปฏิทินสุริยคติ) ชาวชาติตะวันตกที่ยังฟินอยู่กับ Wet Monday ก็มาเล่นน้ำกันต่อที่ประเทศไทยในเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งมีระยะห่างกันแค่สัปดาห์เดียว    

การเล่นสาดน้ำที่ในระยะหลังมานี้พัฒนามาสู่การใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำรูปลักษณ์อาวุธสงคราม กลายเป็นภาพจำภาพหลักเกี่ยวกับสงกรานต์ในไทยไปแล้ว ตรงนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนทางด้านประเพณีไปด้วย เพราะแต่เดิมประเพณีสงกรานต์จุดที่เป็นไฮไลต์อยู่ที่การรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ และการทำบุญเลี้ยงพระ ก่อพระเจดีย์ทราย กล่าวคือสงกรานต์เดิมนั้นเป็นประเพณีทางศาสนา ไม่ใช่ประเพณีทางโลกย์ แต่ทุกประเพณีย่อมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเข้ากับยุคสมัยเป็นเรื่องปกติธรรมดา  

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเล่นสาดน้ำแบบถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ ก็เกิดกลายเป็นต้นแบบให้กับการเล่นอย่างเดียวกันนี้ในต่างจังหวัด อาทิ ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น, ถนนท่าแพ จ.เชียงใหม่, ถนนข้าวคั่ว จ.นครราชสีมา, ถนนข้าวหลาม จ.ชลบุรี, ถนนเจ้าหลาว จ.จันทบุรี เป็นต้น 

ก็เป็นอันว่า วัฒนธรรมตะวันตกได้แทรกปนเข้ากับประเพณีไทยได้แบบเนียนกริบ  ดังนั้นไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหาหลักฐานให้ยากหรอกว่า สงกรานต์ไทยเริ่มมีสาดน้ำกันที่ไหน เมื่อไหร่ คำตอบก็ในย่านใจกลางพระนครหลวงของไทยเองนั่นแลขอรับ...  

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง :
     โบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์), พระยา.  อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ (ฉบับชำระครั้งที่ 2) และภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2550. 
     ปรารถนา รัตนะสิทธิ์. ‘กำเนิด ‘ถนนข้าวสาร’ จากคลองสู่ถนนชื่ออาหารหลักคนไทยได้อย่างไร’ https://www.silpa-mag.com/history/article_19050 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566). 
     ปรารถนา รัตนะสิทธิ์. ย่ำตรอก ซอกซอย บนถนนข้าวสาร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2550. 
     มนสินี อรรถวานิช. ‘การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบกายภาพเมืองกรุงเทพฯ บริเวณถนนข้าวสาร’ กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551. 
     แวน รอย, เอ็ดวาร์ด. ก่อร่างเป็นบางกอก (Siamese melting pot). แปลโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2565. 
     สารานุกรมเสรี (Wikipedia). ‘ถนนตรอกข้าวสาร’ https://th.wikipedia.org/wiki/ถนนข้าวสาร (สืบค้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567). 
     อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545.