ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ : นักประดิษฐ์ผู้คิดค้น ‘พัดลมไฟฟ้า’ คนแรกของโลก

ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ : นักประดิษฐ์ผู้คิดค้น ‘พัดลมไฟฟ้า’ คนแรกของโลก

ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ นักประดิษฐ์ผู้สร้างพัดลมไฟฟ้าคนแรกของโลก และเป็นเพื่อนร่วมงานของ ‘โทมัส อัลวา เอดิสัน’ (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก ตั้งแต่บริษัทแรกที่ได้ทำงาน

KEY

POINTS

  • ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ นักประดิษฐ์พัดลมไฟฟ้าคนแรกของโลก
  • เขาเป็นเพื่อนร่วมงานกับ ‘โทมัส อัลวา เอดิสัน’ นักประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก
  • พัดลมไฟฟ้าตัวแรกที่สร้างขึ้นคือ พัดลมใบพัดเหล็ก 2 ใบแบบตั้งโต๊ะ

อากาศประเทศไทยเวลานี้ คำยอดฮิตที่หลายคนพูดจนติดปากก็คงจะเป็น “เปิดแอร์ ๆ” แต่ก่อนที่บ้านเราจะรู้จักกับคำว่า ‘แอร์’ หรือเครื่องปรับอากาศ สิ่งประดิษฐ์ที่ทุกบ้านน่าจะมีก็คือ ‘พัดลมไฟฟ้า’ และนั่นคือปรารถนาของผู้เขียนที่อยากจะพูดถึงนักประดิษฐ์คนนี้ เพราะผู้ให้กำเนิดพัดลมไฟฟ้ายังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก และหลายคนก็แทบไม่รู้ด้วยว่า เขาเป็นใคร

ถ้า ‘วิลลิส แคเรียร์’ (Willis Carrier) ถูกจดจำในฐานะผู้ให้กำเนิเครื่องปรับอากาศเครื่องแรกของโลก ‘ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์’ (Dr.Schuyler Wheeler) ก็ควรถูกตราตรึงไว้ในฐานะบิดาแห่งพัดลมไฟฟ้าเช่นกัน

ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ : นักประดิษฐ์ผู้คิดค้น ‘พัดลมไฟฟ้า’ คนแรกของโลก

เพื่อนร่วมงานนักประดิษฐ์หลอดไฟโลก

ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 1860 เขาเป็นเด็กชายชาวอเมริกันที่หลงใหลงานประดิษฐ์มาก ๆ คนหนึ่ง เราตั้งใจ และเรียนรู้สิ่งรอบตัวที่ผิดแปลกไปว่าแต่ละอย่างทำงานอย่างไร แม้แต่การเคลื่อนที่ของรถจักรยานก็อยู่ในความสงสัยของเขา

ความสนใจเกี่ยวกับงานประดิษฐ์นั้น ทำให้เขาเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากวิทยาลัยโฮบาร์ตในด้านวิทยาศาสตร์เช่นกัน

แต่เมื่อเขาอายุได้ 21 ปี ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ ตัดสินใจออกจากวิทยาลัยเพื่อไปทำงานเป็นผู้ช่วยช่างไฟฟ้าที่บริษัท Jablochkoff Electric Light Company ในปี 1882 และครั้งนั้นทำให้เขาเจอเพื่อนร่วมงานที่เก่งกาจคนหนึ่งของโลกอย่าง ‘โทมัส อัลวา เอดิสัน’ (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก ซึ่งตอนนั้นเขาทั้งคู่ได้ช่วยกันวางระบบไฟฟ้าใต้ดินมาด้วยกัน

ช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นช่วงที่ ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ หลงใหลในระบบการทำงานของไฟฟ้ายิ่งกว่าเดิม ทำให้หลังจากนั้น 2-3 ปี เขายังเลือกที่จะทำงานด้านการติดตั้งและดูแลสถานีใต้ดินอื่น ๆ ก่อนจะย้ายมาทำงานที่โรงงานเอดิสันในเมืองนิวเบิร์ก รัฐนิวยอร์ก

จนกระทั่งเขาได้ย้ายงานอีกครั้ง และนี่คือจุดเริ่มต้นของไอเดีย ‘พัดลมไฟฟ้า’ ของ ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์

 

จุดเริ่มต้นของพัดลมไฟฟ้า

ปี 1886 เขาออกจากโรงงานเอดิสัน และได้ทำงานให้กับบริษัท C&C Electric Motor Company โดยได้ทำงานร่วมกับ Charles G. Curtis และ Francis B. Crocker ซึ่งพวกเขามีความเชี่ยวชาญด้านมอเตอร์ขนาดเล็ก และเป็นที่รู้จักในฐานะนักประดิษฐ์กันทั้งคู่

ความเข้าขาของทั้ง 3 คนทำให้ในปี 1888 พวกเขาตัดสินใจเปิดเป็นบริษัทที่ชื่อว่า Crocker-Wheeler Motor Company โดยจะเชี่ยวชาญด้านมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน ในตอนนั้นยังมีไม่กี่รายที่สามารถพัฒนาและผลิตมอเตอร์ขนาดเล็กได้เหมือนบริษัทพวกเขา

ความเชี่ยวชาญเรื่องมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ทำให้ ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ เริ่มหันมาสนใจสิ่งประดิษฐ์อื่น และ ‘พัดลม’ เป็นสิ่งแรกที่เขานึกถึงเพราะเวลานั้นภาพที่เขาเห็นคือ พนักงานในบริษัทนั่งทำงานในช่วงฤดูร้อน แม้ว่าในสหรัฐอเมริกาอาจจะแผ่รังสีความร้อนได้ไม่เท่าบ้านเรา แต่เชื่อว่าอากาศในช่วงซัมเมอร์เมื่อสมัยก่อนผู้คนก็คงต้องปรับตัวกันอยู่บ้าง

ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ : นักประดิษฐ์ผู้คิดค้น ‘พัดลมไฟฟ้า’ คนแรกของโลก

และพัดลมไฟฟ้าตัวแรกที่ออกแบบโดย ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ ก็คือ พัดลมตั้งโต๊ะทำงานใบพัดเหล็ก 2 ใบพัด ที่ยังไม่มีตะแกรงครอบเพื่อป้องกันความปลอดภัยเหมือนสมัยนี้ โดยประกอบสิ่งประดิษฐ์นี้เข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เขาพบว่าสิ่งประดิษฐ์นี้มันช่วยคลายอากาศอบอุ่นได้จริง ๆ

ต่อมาจึงได้พัฒนาพัดลมต้นแบบมาเป็นพัดลมที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมเพื่อระบายความร้อน ซึ่งจะมีขนาดใบพัดเหล็กที่ใหญ่ขึ้น แต่มีข้อเสียก็คือ เสียงดังกว่าพัดลมตั้งโต๊ะโมเดลแรก

ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ : นักประดิษฐ์ผู้คิดค้น ‘พัดลมไฟฟ้า’ คนแรกของโลก

ความนิยมของพัดลมไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เป็นที่ต้องการของคนระดับสูงที่สามารถจ่ายได้ จนกระทั่งในปี 1920 ที่มีการผลิต ‘ใบพัดเหล็ก’ โดยเฉพาะขึ้นมา ทำให้ราคาพัดลมพัดลมมีราคาถูกลง คนทั่วไปสามารถจับต้องได้

ยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป จากใบพัดเหล็กที่มีความหนา เสียงดัง เย็นช้า เพราะมอเตอร์ไฟฟ้าต้องทงานหนักขึ้น เกิดเป็นไอเดียใบพัดเหล็กที่บางลงคล้ายใบมีด ออกแบบให้สามารถวางซ้อนกันได้ และมีสีสันรวมถึงสไตล์ที่หลากหลายขึ้น ตั้งแต่นั้นมาพัดลมไฟฟ้าจึงเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ต้องมีติดบ้านทุกหลัง กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือนไปโดยปริยาย

สำหรับพัดลมไฟฟ้าในประเทศไทย อาจจะไม่มีเป็นที่แน่ชัดว่ามาจากไหน เมื่อไหร่ แต่สันนิษฐานกันว่า พัดลมไฟฟ้าน่าจะเข้าประเทศไทยตั้งแต่ช่วง ‘รัชกาลที่ 6’ โดย Facebook Page:  มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6 ได้โพสต์เมื่อปี 2018 ว่า “พัดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยเคยใช้กันมาในสมัยก่อนคือ “พัดลมชัก” ซึ่งมีต้นแบบจากอินเดีย เรียกว่า punkah เป็นแผ่นผ้ายาว ๆ ผูกกับเพดาน มีปลายเชือกสำหรับดึงให้ไกวจนเกิดลมพัดได้ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พัดชนิดนี้ในพระที่นั่งอัมพรสถานและพระราชวังพญาไทเหมือนกัน ต่อมาเมื่อเริ่มมีพัดลมไฟฟ้าใช้แล้ว พัดลมชักแบบนี้ก็คลายความนิยมลงจนเลิกไปในที่สุด หากแต่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็ยังทรงโปรดการอยู่งานพัดแบบไทย ๆ เช่นเคย และรับสั่งเรียกลมจากพัดลมไฟฟ้าว่า “ลมกระป๋อง”

บทความนี้จุดประสงค์อาจไม่ใช้การย้อนรอยว่าพัดลมไฟฟ้ามาประเทศไทยเมื่อไหร่ หรือใครนำเข้ามา แต่เรามองว่า ความเชิดชูยินดีในสิ่งประดิษฐ์นี้ต่างหากที่น่าชื่นชม ในขณะที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของ ดร.ชอยเลอร์ วีลเลอร์ เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าร้อนนี้อยากจะขอบคุณใครอีกสักคนหนึ่ง ก็คงต้องเป็นเขาที่ทำให้วันนี้เรามีพัดลมไฟฟ้าใช้

 

ภาพ: ETHW/ familytreemagazin

อ้างอิง:

Electric Fans: A History Timeline

The Electric Fan

Schuyler Wheeler

About: Schuyler Wheeler

คลายร้อน (๑)