แรนดี การ์ดเนอร์ : ชายผู้ทดลอง ‘อดนอน’ 264 ชั่วโมงจนได้ครองสถิติโลก

แรนดี การ์ดเนอร์ : ชายผู้ทดลอง ‘อดนอน’ 264 ชั่วโมงจนได้ครองสถิติโลก

คุณเคยอดนอนนานที่สุดกี่ชั่วโมง? สำหรับ ‘แรนดี การ์ดเนอร์’ (Randy Gardner) คำตอบของเขาคือ 264 ชั่วโมง หรือ 11 วัน ต่อเนื่องกัน เขาทำได้อย่างไรกัน? และร่างกายของเขาเป็นอย่างไรหลังจากนั้น?

ตอนนั้นพวกเรานี่บ้าบอกันมาก ๆ

คึกคะนองไปตามประสาเด็กเล่นพิเรนทร์น่ะ

 

การนอนหลับ’ (Sleep) ถือเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งเป็นการพักผ่อนซ่อมแซมร่างกาย และยังเป็นการจัดระบบความคิด ความจำ และสมองอีกด้วย เราได้ยินกันมาตลอดในเรื่องของภัยที่มีจากการอดนอน ไม่ต้องมองไกลถึงสื่อต่าง ๆ ที่พร่ำบอกเรื่องนี้ก็ได้ แต่เรามักได้ยินคำเตือนเหล่านี้จากคนใกล้ตัวเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วว่า

 

อย่าอดนอนนะ มันไม่ดี

 

แต่ชีวิตในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน การนอนกับการทำงาน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตกลับเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเหลือเกิน บ้างก็ทำงานหนักจนเลือกที่จะปรับลดเวลานอนของตนลง บ้างก็ทำงานมาทั้งวัน กลับมาบ้านก็เลือกที่จะแลกเวลานอนกับการได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตนอยากได้ใช้บ้าง เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ ทำนู่นทำนี่ และรู้สึก ‘ไม่อยากนอน

เราอาจได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์และการอดนอนมาบ่อยครั้ง และหนึ่งสิ่งที่ตีแผ่เรื่องนี้มาได้อย่างน่าสนใจคือภาพยนตร์เรื่อง ‘ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ผลงานของ เต๋อ - นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ ที่ตีแผ่เกี่ยวกับชีวิตของชาวฟรีแลนซ์ และการอดนอนที่ลากยาวไปหลายวันจนต้องพบกับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพที่จะทำให้เขาต้องคิดใหม่เรื่องชีวิตและการทำงาน

หลายคนอาจมีคำถามที่ว่า มนุษย์เราจริง ๆ สามารถอดนอนได้นานขนาดนั้นเลยหรือ? หรือคนธรรมดาอย่างเรา ๆ สามารถอดนอนได้นานขนาดไหนกัน ในบทความนี้ The People จึงอยากจะนำเสนอเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่ได้ทำการท้าทายศักยภาพของตนเองโดยการทดลอง ‘อดนอน’ ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และดูเหมือนว่าการพยายามครั้งนั้นทำให้เขาได้ทุบสถิติโลกไปเลยทีเดียว กับการอดนอนยาวนานกว่า 264 ชั่วโมง หรือ 11 วันนั่นเอง

แต่อะไรล่ะ คือราคาที่เขาต้องแลกมากับการทดลองครั้งนี้?

โครงงานวิทยาศาสตร์ฉบับฮาร์ดคอร์

เรื่องราวมันเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1963 ย่างเข้าปี 1964 ตอนที่ชายหนุ่มวัย 17 ปี 2 คน  ‘แรนดี การ์ดเนอร์’ (Randy Gardner) และ ‘บรูซ แม็คแอลลิสเตอร์’ (Bruce McAllister) กำลังคิดหาเรื่องว่าจะทำการทดลองอะไรในโครงการวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะมาถึงดี และหารู้ไม่ว่าไอเดียที่เขากำลังจะลงมือทำกันนั้น จะเป็นสิ่งที่จะถูกพูดถึงไปทั่วทั้งโลกไปอีกหลายทศวรรษ

ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะทุบสถิติโลกเรื่องการอดนอนให้ได้นานที่สุด ที่ ณ ขณะนั้นมีดีเจคลื่นวิทยุจากโฮโนลูลูนามว่า ‘ทอม ราวนด์ส’ (Tom Rounds) ครองสถิติโลกดังกล่าวไว้ที่ 260 ชั่วโมงกับการอดนอน โดยนอกจากความมุ่งหวังที่จะทุบสถิติโลกแล้ว ทั้งคู่ก็ยังอยากจะทดลองเพื่อศึกษาผลที่มีต่อสมองว่าการไม่นอนจะสร้างผลกระทบต่อสมองอย่างไร

 

แรกสุดเลย เราอยากจะศึกษาผลของการอดนอนที่มีต่อความสามารถที่เหนือธรรมชาติของมนุษย์ แต่พอเราค้นพบว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราจึงเบนเข็มทิศใหม่และมุ่งศึกษาเรื่องผลของการอดนอนที่มีต่อความสามารถในการรับรู้ของสมองแทน…

 

ทีนี้ ใครล่ะจะเป็นคนที่ต้องอดนอน เพราะต้องมีคนใดคนหนึ่งเป็นคนที่คอยจดบันทึก และอีกคนเป็นผู้ถูกทดลอง ซึ่งการตัดสินก็ไม่ได้ยากนัก เพียงแค่ทอยเหรียญหัว - ก้อย และ แรนดี การ์ดเนอร์ คือผู้ที่ถูกเลือกให้ปฏิบัติการทดลองสุดจะเสี่ยงในครั้งนี้ โดยมีบรูซคอยจดบันทึกตลอดการทดลอง

นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของ ‘Randy Gardner Sleep-Deprivation Experiment’ อันลือลั่นและดังไกลไปทั่วทั้งโลก

เริ่มต้นอดนอน

หลังจากที่ตกลงกันอย่างลงตัวแล้วว่าใครจะเป็นคนอด ใครจะเป็นคนจด การทดลองครั้งนี้ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 1963 การ์ดเนอร์เดินหน้าอดนอนไปพร้อม ๆ กับผู้จดอย่างบรูซที่ก็ต้องถ่างตาเก็บข้อมูลการไม่นอนของการ์ดเนอร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 วัน ดูเหมือนว่าวิธีนี้อาจไม่ได้ผลนัก เพราะผู้จดอย่างบรูซก็ไม่สามารถจดและคอยตรวจตราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พวกเขาจึงได้ดึงตัวเพื่อนมาช่วยในปฏิบัติการนี้ด้วย แต่นอกจากเพื่อนจะยื่นมือมาช่วยแล้ว ก็ได้มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนามว่า ‘วิลเลียม ดีเมนต์’ (William Dement) ขอร่วมลงเรือการทดลองนี้ด้วยอีกคน ซึ่งจะทำให้การทดลองนี้ถูกกำกับดูแลจดบันทึกจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพราะเขาคนนี้ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญแห่งวิทยาศาสตร์การนอนในช่วงเวลาดังกล่าวเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าทำให้พ่อแม่ของการ์ดเนอร์โล่งอกขึ้นมาระดับหนึ่ง

การทดลองอดนอนดำเนินไปอย่างท้าทาย การ์ดเนอร์ต้องพยายามหากิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเล่นบาสเกตบอล โบว์ลิ่ง และห้ามนอนราบไปกับพื้นหรือเตียง นอกจากนั้น เวลาที่เข้าห้องน้ำซึ่งอาจมีการงีบหลับ ก็จะมีลำโพงติดไว้ในนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ (หรือเหล่าเพื่อน ๆ) ที่ช่วยกำกับดูแลคอยย้ำเตือนว่าอย่าเผลอหลับ

สิ่งที่การ์ดเนอร์เผชิญระหว่างการทดลองอารมณ์ที่แปรปรวน ปัญหาการจดจ่อ และปัญหาด้านความทรงจำระยะสั้น ซึ่งยิ่งเวลาผ่านไปก็มีอาการถึงขั้นหวาดระแวงและเห็นภาพหลอน นอกจากนั้น จากผลการสแกนสมองในภายหลังก็ชี้ให้เห็นว่า สมองของการ์ดเนอร์ แม้ตัวของเขาจะลืมตาตื่น แต่สมองของเขากลับไม่ได้ทำงานทั้งหมด หมายความว่ามีบางส่วนที่หลับ และบางส่วนที่ตื่น สลับกันไปเช่นนี้

การทดลองดำเนินไปกว่า 264 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 11 วัน ซึ่งเป็นการทุบสถิติโลกของการอดนอนที่นานที่สุดไปในทันที แต่ภายหลังทาง Guiness World Records ก็ขอปฏิเสธที่จะเก็บอะไรเหล่านี้เป็นสถิติโลก เพราะการที่มีคนพยายามทำลายสถิตินี้จะเป็นภัยต่อสุขภาพของผู้เข้าร่วม

แรนดี การ์ดเนอร์ ครองสถิติโลกในเรื่องการอดนอนที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่วันนั้นจนได้ถูกทำลายลงในปี 1986 กับชายที่มีนามว่า โรเบิร์ต แม็ดโดนัลด์ ที่อดนอนไปกว่า 453 ชั่วโมง หรือเกือบจะ 19 วันเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการบันทึกอีกดังที่เรากล่าวไป

 

ผลกระทบที่ตามมา

การ์ดเนอร์หลับไป 14 ชั่วโมงก่อนจะตื่นขึ้นมาเพราะต้องไปเข้าห้องน้ำ การ์ดเนอร์เล่าว่าเขารู้สึกมึนงง แต่ก็ไม่ได้มึนหนักถึงขนาดนั้น ก็แค่มีความรู้สึกเหล่านั้นเข้ามา และก็กลับไปที่โรงเรียนได้อย่างปกติ ซึ่งหลังจากนั้น การ์ดเนอร์ก็ถูกส่งตัวไปที่แอริโซนาเพื่อศึกษาและตรวจด้านสมองเพิ่มเติมจนได้ข้อมูลอื่น ๆ ดังที่เราได้เอ่ยถึงไปก่อนหน้า

หากมองเช่นนี้ เราก็อาจรู้สึกว่าการอดนอนจนทุบสถิติโลกก็ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรเท่าไรนี่ เพียงแค่มึนงงและใช้เวลาแค่นิดหน่อยก็สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติ แต่แท้จริงแล้ว ผลที่ตามมาอาจมาหลังจากนั้น การ์ดเนอร์เล่าว่าต้องเผชิญกับภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia) นานหลายสิบปีหลังจากการทดลองในวันนั้น

 

ใครจะไปอดนอนนานขนาดนั้นกันเล่า?

 

เรื่องราวของการ์ดเนอร์ชี้ให้เราเห็นถึงภัยของการอดนอนได้อย่างชัดเจน แต่อาจมีผู้อ่านบางท่านที่รู้สึกว่า เขาคงไม่ได้อดนอนติดต่อกันยาวนานกว่า 11 วันเป็นแน่ แต่แม้คุณไม่ได้อดนอนยาวนานเฉกเช่นการ์ดเนอร์ นั่นก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่เผชิญกับพิษของการอดนอน

เพราะการอดนอนนั้นตามมาด้วยผลกระทบหลายแบบ แม้ไม่ได้อดนอนติดต่อกันยาวนาน เพราะมันสามารถสั่งสมได้จนเกิดเป็นผลพวงที่เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง เราอาจได้ยินบ่อยว่าการนอนเปรียบเสมือนยาวิเศษที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ทุกคืน เราอาจได้ยินกันจนชินหู แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่จริง