‘สัปเหร่อ’ กับการจัดการความตายในไทยยุคใหม่ อาชีพ ‘สัปเหร่อ’ ไม่ได้เก่าอย่างที่คิด?

‘สัปเหร่อ’ กับการจัดการความตายในไทยยุคใหม่ อาชีพ ‘สัปเหร่อ’ ไม่ได้เก่าอย่างที่คิด?

ภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’ ทำให้นึกถึงเหล่าผู้จัดการความตายในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ขุนกะเรวราก กรมสนมพลเรือน ก่อนมาสู่ ‘สัปเหร่อ’ (ที่มักเป็นเพศชาย) ในสังคมไทยยุคใหม่ ‘สัปเหร่อ’ กลายเป็น ‘คนชายขอบของชายขอบ’ ได้อย่างไร? บทความนี้จะสำรวจข้อมูลและนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบ

  • ภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ไม่เพียงทำให้ผู้คนสนใจผลงานหนังไทยอย่างมาก อีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้ทำให้เกิดมุมมองในเชิงการจัดการความตายที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนเป็นในพื้นที่ต่าง ๆ 
  • การจัดการความตายอยู่คู่กับสังคมมายาวนาน อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยสมัยใหม่ ‘สัปเหร่อ’ กลับกลายเป็น ‘คนชายขอบของชายขอบ’ กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ เรื่องนี้มีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ

เพราะ ‘ความตาย (เป็น) เรื่องใหญ่ (ของสังคม)’

ภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ชวนให้นึกถึงบทบาทของคนสำคัญในสังคมชนบทไทยอยู่กลุ่มหนึ่ง แต่สัปเหร่อก็เช่นเดียวกับคนสำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่มีอยู่มากมายก่ายกอง  ในแง่ที่มักไม่เป็นที่รับรู้หรือพูดถึงในงานประวัติศาสตร์ตลอดช่วงที่ผ่านมา แม้แต่ในหมู่นักประวัติศาสตร์ที่พร่ำเพ้อเรื่องบทบาทสามัญชนก็ไม่มีใครเคยเขียนเรื่องสัปเหร่อ เราจึงยังไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับสัปเหร่อ และที่ว่ารู้กันมานั้นเอาจริงก็ผิดพลาดไปเสียหมด 

แทบจะโดยทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย สื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันทำนองว่า สัปเหร่อเป็นอาชีพเก่าแก่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานจนย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือมีมาก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ

ผู้เขียนต้องขอเรียนทุกท่านอย่างตรงไปตรงมาอย่างนี้นะครับว่า เมื่อสอบค้นหลักฐานแล้วไม่พบคำเรียก ‘สัปเหร่อ’ แต่แน่นอนว่าในอดีตย่อมมีคนทำหน้าที่จัดการศพ เพราะความตายเป็นของคู่กับมนุษย์ 

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องแยกระหว่างวิธีการจัดการศพของแต่ละยุคสมัยกับบุคลากรที่เรียกว่า ‘สัปเหร่อ’ ออกจากกันเสียก่อน

วิธีการจัดการศพขึ้นกับลักษณะความเชื่อของผู้คนในสังคม องค์ความรู้ทั้งไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องแวดล้อม ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจสังคมและชนชั้นของผู้ตาย แม้ว่าทุกคนจะต้องตายเหมือนกัน แต่ความตายของบุคคลไม่เท่ากัน บางคนตายอย่างใหญ่โตอลังการ บางคนจากไปอย่างเงียบ ๆ ไม่มีแม้เสียงปี่แตรประโคม ขึ้นกับว่าเมื่อยังอยู่บุคคลผู้นั้นอยู่ในสถานภาพใดในสังคม ความตายในสังคมชนบทที่คนหมู่มากมีฐานะใกล้เคียงกันนั้นย่อมทำให้เห็นรูปแบบการทำศพที่เท่าเทียมกันตามมาด้วย 

แม้ว่าสมัยอยุธยาจะยังไม่มีสัปเหร่อหรือคนทำศพแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน (รวมทั้งจากภาพยนตร์ชุดไทบ้านเดอะซีรีส์ด้วย) แต่วัฒนธรรมอยุธยาก็มีวิธีการจัดการศพแบ่งได้หลายประเภทด้วยกัน มีทั้งแบบปกติทั่วไปและแบบพิเศษเฉพาะ

หมอผี-ไม่เผาผี-ประหารด้วยท่อนจันทน์-ตัดหัวเสียบประจาน-ประหารวิญญาณ  

แน่นอนว่าจะเป็นคนจัดการศพหรือ ‘เผาผี’ ได้ต้องไม่กลัวผี ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ เราก็จะพบบุคคลประเภทหนึ่งที่เชื่อเรื่องผีแต่ไม่กลัวผี เพราะรู้วิธีจัดการกับผี และโดยปกติสังคมไทยนิยมเรียกบุคคลที่ชำนาญการในด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะว่า ‘หมอ’ เช่น ‘หมอความ’ (ทนายความ) ‘หมอยา’ (แพทย์) ฉลาดหน่อยเขาก็เรียก ‘คนหัวหมอ’  และมีคำเรียกเก่าแก่ที่ใช้กันมานมนานอย่างคำว่า ‘หมอผี’

ตัวอย่างบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็นที่เรียกขานกันว่าเป็น ‘หมอผี’ ก็อย่างเช่น ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ในวรรณคดีมี ‘ขุนแผนแสนสะท้าน’ แต่ไม่พบว่าขุนวรวงศาธิราชจะเคยมีบทบาทหน้าที่ทำศพ เป็นแต่คนนำสวดมนต์ในหอวิทยาคมเท่านั้น หากขุนวรวงศาธิราชจะเคยทำงานทำการในแบบเดียวกับที่เทียบเคียงได้กับ ‘สัปเหร่อ’ ในชั้นหลังมานี้ ก็ไม่แน่ว่าจะยังเป็นที่ต้องพระทัยของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทน์หรือไม่อย่างไร 

ขุนแผนอาจจะเป็นตัวละครที่มีวิชาอาคมเรียกผีหรือสะกดผีมาใช้งาน หรืออย่างการสร้างผีไว้คอยใช้อย่างการผ่าท้องบัวคลี่เอาทารกมาทำกุมารทอง ขุนแผนไม่เคยทำศพด้วยเช่นกัน แม้จะเป็นต้นตำรับหมอผีแห่งสุพรรณภูมิก็ตาม ‘ขุนแผน’ นั้นมีชื่อตำแหน่งในบทพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง เป็นคนทำพิธีตัดไม้ข่มนามก่อนออกศึก พิธีนี้มักจะจัดทำขึ้นที่วัดชื่อ ‘วัดสนามชัย’ หลายหัวเมืองจึงมีวัดชื่อดังกล่าวนี้และก็เป็นที่ประกอบพิธีมีขุนนางตำแหน่งขุนแผนเป็นผู้ทำพิธี    

คนกรุงศรีนั้นมีสำนวนเก่าแก่อีกเช่นกันว่า ‘ไม่เผาผี’ ที่สะท้อนความโกรธเกลียดแค้นชิงชังต่อผู้วายชนม์ หรือเป็นคำสบถต่อบุคคลที่สร้างความขุ่นเคืองใจให้ การที่เมื่อตายแล้วศพไม่ได้รับการฌาปนกิจอย่างถูกวิธีทางศาสนา ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่หลายคนจะหวาดกลัว อย่างเรื่องในบันทึกฝรั่งเศสก็จะมีบอกเล่าถึงความหวั่นกลัวของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อทรงประชวรหนักว่า ทรงกลัวว่าพระศพจะไม่ถูกนำขึ้นสู่พระราชพิธีอย่างที่ควร 

ในหมู่สังคมชนชั้นสูง คำว่า ‘ไม่เผาผี’ ไม่ใช่แค่คำสบถที่ไม่มีภาคปฏิบัติการรองรับ เพราะเมื่อพิจารณารูปแบบวิธีการประหารชีวิตที่เรียกว่า ‘ทุบด้วยท่อนจันทน์’ นั้น จะพบว่าก็เป็นวิธีจัดการความตายแบบ ‘ไม่เผาผี’ อยู่ด้วยเหมือนกัน คือจับใส่ถุงแดงเอาไม้จันทน์ทุบตีให้ตายแล้วก็ฝังลงหลุมไปเลย เป็นวิธีที่ใช้กับกษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ถูกยึดอำนาจ 

ทั้งนี้ เพราะความเชื่อว่าหากเลือดขัตติยะร่วงลงตกต้องแผ่นดิน จะก่อให้เกิดความไม่ดีไม่งามขึ้นในแผ่นดินนั้น การสำเร็จโทษด้วยวิธีท่อนจ้นทน์จึงเป็นการ ‘เซฟ’ รัชกาลใหม่ที่ขึ้นสู่อำนาจอยู่โดยนัยทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ด้วย 

ส่วนสามัญชนมีวิธีการจัดการที่เรียกว่า ‘ตัดหัวเสียบประจาน’ เพราะเลือดไพร่ตกต้องใส่แผ่นดินได้ เป็นวิธีการประหารเพื่อประจานความผิดของผู้ตาย ไม่ต้องถามหารูปแบบวิธีการทำศพด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การใช้สถานที่ประหารอย่างสี่แยกหรือ ‘ตะแลงแกง’ การพาผู้ต้องโทษตระเวนไปในที่ชุมชนโดยรอบที่เรียกว่า ‘ตระเวนบก-ตระเวนน้ำ’ จนถึงการตัดหัวแล้วเสียบปักไว้ที่กำแพงเมือง เชิงเทิน หน้าประตูทางเข้าออกเมือง หรือตามถนนหนทางและท่าน้ำ ล้วนแต่ไม่ใช่วิธีกระทำโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งไปยังผู้ตาย เพราะผู้ตายที่ถูกกระทำย่อมหมดความรู้สึกรู้สาใดๆ ไปแล้ว หากแต่ที่ทำดังนั้นก็เพื่อข่มขวัญผู้ยังอยู่ไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง การประหารชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นมหรสพ เป็นการแสดงที่ให้ผู้คนได้ชมได้เห็นกับตา

เนื่องจากอยุธยาเป็นสังคมเมืองท่านานาชาติ กรณีที่ผู้ตายไม่ใช่ชาวพุทธพราหมณ์ นับถือศาสนาอื่น อยุธยาจะมีวิธีการที่ผู้เขียนนิยามเรียกไว้ว่า ‘การประหารวิญญาณ’ เช่นกรณีออกญาพิชิต (อับดุลรัซซัค) ซึ่งใช้อำนาจบาตรใหญ่ในระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้ประทับอยู่อยุธยา ได้ใช้เรือธงสมเด็จพระนารายณ์ไปบุกตีชิงสินค้าในเรือคู่แข่ง ส่งคนไปเผาสถานีการค้าบ้านฮอลันดา 

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบเรื่องก็ให้ประหารออกญาพิชิตเสีย ก่อนถูกตัดศีรษะ ออกญาพิชิตซึ่งเป็นคนมุสลิมถูกบังคับให้กราบพระภิกษุ เทินพระพุทธรูปไว้บนศีรษะในระหว่างตระเวนบกตระเวนน้ำ และที่สำคัญคือถูกบังคับให้กินหมู คือละเมิดทุกอย่างที่เป็นกฎเกณฑ์ที่ออกญาพิชิตผู้นี้สังกัดอยู่ เพื่อให้ผู้ที่ยังอยู่หมดสิ้นความนับถือในตัวเขา เมื่อตายแล้วก็ยังไม่ถูกนำศพไปยังกุโบร์  ไม่ให้ฝังศพร่วมกับญาติพี่น้องของเขาอีก     

กรณีพระบรมศพ พบการสร้างวัดขึ้นในที่ประกอบพระราชพิธี เช่น ‘วัดพระราม’ สร้างขึ้นในสถานที่ประกอบพิธีศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1, ‘วัดสพสวรรย์’ สร้างขึ้นในที่ประชุมเพลิงถวายสมเด็จพระสุริโยไท, ‘วัดวรเชษฐาราม’ เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวร, ‘วัดไชยวัฒนาราม’ สร้างขึ้นในที่ถวายพระเพลิงพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นต้น

กรณีวัดไชยวัฒนาราม จะเห็นได้ว่างานศพเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐประหาร เพราะในการจัดการได้มีขุนนางฝ่ายออกญากลาโหมสุริยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าปราสาททองในเวลาต่อมา) มารวมตัวกันมาก และเมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงกริ้วและพลั้งพระโอษฐ์ประกาศว่าออกญากลาโหมฯ เป็นขบถ ออกญากลาโหมฯ เลยฉวยโอกาสนำกำลังขุนนางเหล่านั้นบุกเข้าไปชิงราชบัลลังก์ 

ความกลัวของสมเด็จพระนารายณ์ที่ว่าจะไม่ได้รับการจัดพิธีศพอย่างสัมบูรณ์ถูกต้องตามประเพณีนั้น  เมื่อสมเด็จพระเพทราชาได้อำนาจแล้วก็ได้ย้ายพระศพจากลพบุรีลงมาอยุธยาและจัดทำการพระราชพิธีให้อย่างสมพระเกียรติ ถึงแม้ว่าสมเด็จพระเพทราชาจะได้อำนาจมาจากการรัฐประหารโค่นล้มราชวงศ์ปราสาททอง แต่เนื่องจากรัชสมัยของพระองค์ยังคงต้องใช้บุคลากรจำนวนมากจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ 

อีกทั้งยังแต่งตั้งกรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา (ประทมคนละข้าง) จึงต้องประกอบพระราชพิธีถวายให้แด่สมเด็จพระนารายณ์อย่างสัมบูรณ์ เพราะกรมหลวงโยธาทิพนั้นเป็นพระกนิษฐาและกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ หากพระราชบิดาและพระเชษฐาธิราชของพระมเหสีทั้งสองไม่ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้อง อาจทำให้ทั้งสองนางไม่ยินยอมเป็นมเหสีของชายผู้ยึดอำนาจพระราชบิดาและพระเชษฐาธิราชนั้นได้โดยง่าย 

ประกอบกับในการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2231 นั้นกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ ได้โฆษณาชวนเชื่อเรียกความสนับสนุนและรวบรวมกำลังคนมาปกป้องสมเด็จพระนารายณ์จากการถูกออกญาวิไชยเยนทร์ (ฟอลคอน) ควบคุมอีกด้วย เพราะการมุ่งเป้าโจมตีไปที่สมเด็จพระนารายณ์โดยตรงเป็นเรื่องยากกว่าการเล่นงานฟอลคอนมาก ทำให้การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2231 ไม่นำไปสู่การจัดการพระบรมศพกษัตริย์รัชกาลก่อนหน้าด้วยวิธีการไม่เผาผี    

เมื่อแรกขึ้นครองราชย์สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงปรารภจะให้นำเอาพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าท้ายสระไปทิ้งน้ำเสีย ไม่ประกอบพระราชพิธีถวายให้ แต่เหล่าขุนนางได้กราบทูลทัดทาน จึงให้ประกอบพระราชพิธี ทั้งนี้สืบเนื่องจากก่อนเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมีความไม่ลงรอยกัน สุดท้ายสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงตัดสินพระทัยประกาศยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย เป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองสู้รบกันระหว่างวังหน้านำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กับฝ่ายวังหลังนำโดยเจ้าฟ้าอภัย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2275 - ต้น พ.ศ. 2276  เรียกได้ว่ารบกันข้ามปีเลยทีเดียว    

เมื่อฝ่ายสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้รับชัยชนะขึ้นครองราชย์แล้ว เวลาล่วงเลยไปจนสิ้นรัชกาล ปัญหาแบบเดียวกันก็บังเกิดขึ้นอีก สมเด็จพระเจ้าบรมโกศต้องอยู่ในพระโกศเป็นเวลานานจนทรงได้รับพระราชสมัญญานามผู้คนเรียกขานกันว่า ‘สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ’ กว่าที่พระบรมศพจะได้รับการประกอบพระราชพิธีก็เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ราชสมบัติตกเป็นของฝ่ายเจ้าพี่เจ้าน้อง (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์)

เพราะก่อนหน้านั้นในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้ให้ความสำคัญแก่บทบาทของวังหลังนำโดย ‘เจ้าสามกรม’ เป็นอันมาก ทำให้กลุ่มเจ้านายวังหลังอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับราชสมบัติ กระทั่งเมื่อฝ่ายเจ้าพี่เจ้าน้องปราบปรามฝ่ายวังหลังสำเร็จลง เจ้าสามกรมถูกประหารท่อนจันทน์และสมัครพรรคพวกถูกนำไปตัดศีรษะที่แยกตะแลงแกง 

จะเห็นได้ว่า การเมืองที่เกี่ยวข้องกับผู้ตาย มีผลต่อการจัดการความตายค่อนข้างมาก ทั้งนี้หากแม้นว่าบุญบารมีของผู้ตายยังสามารถตกทอดไปเป็นสิทธิธรรมแก่ผู้มีอำนาจที่สืบต่อมาได้ โอกาสที่จะได้รับการปลงศพอย่างสมเกียรติย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่หากเป็นตรงกันข้าม โอกาสที่จะเกิดการ ‘ไม่เผาผี’ กันก็ง่ายดายอีกเช่นกัน     

 

คติเบื้องหลังการจัดการความตาย

นอกจากตัวบทพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่จะพบว่ามีการเก็บดองพระศพเอาไว้ได้เป็นเวลานานข้ามปี เช่น ในกรณีพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์, พระบรมศพสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ, พระบรมศพสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แล้วตามบันทึกของฝรั่งเศสเช่น นิโกลาส์ แชรแวส ยังได้ระบุถึงรายละเอียดวิธีการดองศพเอาไว้ด้วย 

นอกจากชั้นพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว ในหมู่คนชั้นไพร่สามัญชนยังมีการดองเก็บศพไว้เพื่อรอเวลาเหมาะสมก่อนจะฌาปนกิจ นอกจากนี้ กรณีศพที่ตายด้วยโรคระบาดจะไม่เผาโดยทันที ใช้วิธีฝังดินไว้ราว 2-3 ปีค่อยขุดขึ้นมาทำพิธี และเมื่อเผาแล้วก็มีประเพณีการนำอังคารไปลอยน้ำ ตามคติความเชื่อว่าน้ำจะพาไปสู่สรวงสวรรค์ สืบมาจากความเชื่อชาวอินเดียโบราณที่มีต่อแม่น้ำคงคา แถมยังเชื่อว่าน้ำจะเป็นสิ่งที่ชำระล้างให้เกิดความบริสุทธิ์สะอาดแก่ผู้ตายได้อีกด้วย 

บางกรณีอัฐิถูกนำไปลอยน้ำแล้ว ก็ยังมีการสร้างสถูปจำลองเป็นที่เก็บบรรจุอัฐิ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ตาย การปฏิบัติต่อผู้ตายที่มีรายละเอียดขั้นตอนสลับซับซ้อน ส่งผลโดยตรงต่อความมีหน้ามีตา เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของญาติมิตรผู้ยังอยู่ เป็นแบบจำลองความสัมพันธ์ที่บุคคลมีต่อสังคมชุมชนที่สังกัดอยู่ เมื่อปฏิบัติต่อผู้ล่วงลับเป็นอย่างดีไม่มีบกพร่องแล้ว ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าบุคคลผู้นั้นย่อมจะน่าคบหาเป็นมิตรไว้ นำมาซึ่งความน่าเคารพนับถือ อีกทั้งยังเป็นการสร้างบุญบารมีสืบต่อผู้ตายโดยทายาท 

แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีผลต่อการจัดการศพเด็ก แชรแวสแสดงความงุนงงและแปลกใจมากเมื่อพบว่าศพเด็กกลับได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับศพผู้ใหญ่ ศพเด็กมักไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก อาจเพราะเด็กสิ้นบุญเร็วเกินไป หรือไม่มีบุญตั้งแต่แรกแล้ว การเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ถูกเข้าใจว่าเป็นเพราะกรรมของเด็กคนนั้นที่ติดตัวมาแต่ชาติที่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำพิธีเพื่อสืบต่อบุญบารมีจากผู้ตาย  และบ้างก็ถือว่าเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะรับเด็กคนนั้นเข้าสู่โลกหลังความตายโดยทันที ไม่ต้องมีการประชุมเรียกให้มารับเหมือนศพผู้ใหญ่ 

คำอธิบายต่อกรณีการไม่มีพิธีทำศพเด็ก โดยอ้างอิงเรื่องบุญบารมีและหรือกรรม สะท้อนอิทธิพลของศาสนาพุทธพราหมณ์ได้เป็นอย่างดี ตรงกันข้ามกับยุคก่อนที่จะนับถือศาสนาจากอินเดีย ตามแหล่งสุสานก่อนประวัติศาสตร์ที่พบได้หลายแห่งในดินแดนสยามประเทศ เราจะพบเห็นได้ว่าศพเด็กได้รับการฝังอย่างดี อย่างศพเด็กที่หลุมขุดค้นบ้านโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จะพบว่ามีการทำศพเด็กโดยการบรรจุภาชนะดินเผา จนน่าเชื่อว่าเป็นรูปแบบแรกเริ่มหรือตั้งต้นการบรรจุศพลงในโกศ เข้าใจว่าเพื่อปกป้องเด็กในระหว่างทางไปสู่โลกหน้า ภายหลังการบรรจุโกศเช่นนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงด้วย    

เมื่อรับคติความเชื่อทางศาสนาจากอินเดีย การใช้ไฟในการทำให้ศพสูญสลายไปก็เกิดเป็นที่นิยมขึ้นมากกว่าการฝังไว้ในดิน เพราะความเชื่ออินเดียทั้งแบบพุทธและพราหมณ์ต่างมีมุมมองต่อร่างกายว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ วิญญาณต่างหากที่เที่ยงแท้ คนเราตายก็เพราะวิญญาณหลุดออกจากร่าง และวิญญาณก็จะไปเวียนว่ายตายเกิด จะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อถึงโมกษะ (ตามความเชื่อพราหมณ์) หรือนิพพาน (ตามความเชื่อพุทธ) ไม่เหมือนอย่างคริสต์กับอิสลาม ที่เชื่อเรื่องการกลับฟื้นคืนมาฟังคำพิพากษาของพระเจ้า ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเก็บรักษาศพเอาไว้ 

แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า วิญญาณผู้ตายได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี ก็มีความเชื่ออีกว่า ทายาทที่ยังอยู่สามารถส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สรวงสวรรค์ได้ นำมาสู่การมีพิธีกรรมเพื่อแสดงให้เห็น จากเอกสาร ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง’ จะพบรายละเอียดการสร้างเมรุสำหรับเผาศพบุคคลสำคัญให้เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุ สถานที่พำนักของเหล่าทวยเทพ เมรุยิ่งวิจิตรงดงามมากเพียงใด  ก็เชื่อว่าจะนำส่งให้วิญญาณผู้ตายได้ไปสู่วิมานบนสวรรค์ได้งดงามดังที่สร้างและเผาไปให้พร้อมกับร่างของผู้ตาย   

นอกจากการสร้างเมรุเผาศพแบบจำลองเขาพระสุเมรุ เป็นเมรุชั้นเอก โท ตรี ตามตำแหน่งแห่งที่และสถานะของผู้ตายแล้ว ร่องรอยอีกอย่างหนึ่งของอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ ยังน่าเชื่อว่าพราหมณ์อาจจะเคยมีบทบาทต่อการทำศพมาก่อนด้วย ดังจะเห็นได้จากคติที่ถือว่าอาวุธของคนทำศพที่จะใช้สะกดวิญญาณเฮี้ยน (เช่น ผีตายโหง) ได้นั้นคือ ‘คราด’ เพราะคราดเป็นอาวุธของพระยมตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิม        

 

‘กรมสนมพลเรือน’ หน่วยงานขุนนางทำศพในราชสำนัก

ในการสร้างเมรุตลอดจนรายละเอียดการบรรจุต่าง ๆ จากคติความเชื่อข้างต้นทำให้การทำให้การทำศพเป็นงานที่สลับซับซ้อนต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะตามมา ตามบทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน จะพบว่าในส่วนนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เรียกว่า ‘กรมสนมพลเรือน’

บุคลากรของกรมนี้ถือเป็นขุนนางสังกัดพระราชวังหลวง มีหลายคน ทำงานกันเป็นทีม ขั้นตอนสำคัญในชั้นแรก พวกเขาจะมาพร้อมกับผ้าขาวที่เรียกว่า ‘ผ้าสุกำ’ สำหรับห่อศพ บางครั้งจึงเรียกว่า ‘สุกำศพ’ คือการนำเอาผ้าขาวมาห่มคลุมศพไว้ไม่ให้เป็นที่อุจาดตา หากจะดองเก็บศพไว้ก่อน ยังไม่เผา ก่อนห่อก็จะผ่าศพนำเอาอวัยวะที่เน่าเปื่อยง่ายออกแล้วนำสารเคมีมารด ถึงแม้จะไม่พบวิธีการดองเก็บนานนับพันปีแบบในอารยธรรมอียิปต์ แต่ก็เก็บศพไว้ได้นานข้ามปี 

นอกจากพระบรมศพ ยังพบการดองเก็บศพไว้นานหลายปีอย่างกรณีหลวงพ่อในกุฏิ วัดกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีเรื่องว่าเป็นพระภิกษุรูปสำคัญในสมัยอยุธยาปลาย เมื่อมรณภาพลงได้มีการดองเก็บศพไว้กราบไหว้บูชาอยู่ต่อมาหลายปีจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้มีการฌาปนกิจไป ซึ่งนั่นเป็นร่องรอยว่าการดองศพแบบที่ราชสำนักอยุธยาทำนั้น หัวเมืองอย่างกุยบุรีก็ทำได้ และเมื่อกุยบุรีทำได้  เมืองอื่นก็ทำได้เช่นกัน    

บันทึกของซิมง เดอ ลาลูแบร์ ผู้เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้เล่าว่านอกจากคติอินเดียแล้ว วัฒนธรรมจีนก็มีอิทธิพลต่อวิธีการทำศพของชาวสยามมาก รวมถึงมีผลต่อการอนุญาตทางวัฒนธรรมให้ดองเก็บศพไว้ด้วย ถึงแม้จะมีความเชื่อเรื่องสังขารไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ก็ตาม ทางการอยุธยาเองก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการนำศพออกนอกเขตบริเวณที่ตาย ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและสภาพการคมนาคมที่ไม่อำนวย 

 

‘ตาปะขาว/ชีปะขาว’ คนทำศพของไพร่ราษฎร

นอกจากนี้ ลาลูแบร์ยังได้เล่าถึงบทบาทของ ‘ตาปะขาว’ ในฐานะคนทำศพแก่ไพร่ราษฎร ตาปะขาวมีบทบาทคล้ายกับกรมสนมพลเรือน เพียงแต่ตาปะขาวไม่ได้ทำงานเป็นทีมแบบกรมสนมพลเรือน ตาปะขาวคนเดียวก็อาจทำศพได้ บทบาทตาปะขาวนี้ค่อนข้างจะใกล้เคียงหรือเทียบได้กับ ‘สัปเหร่อ’ มากแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจถือเป็นสัปเหร่อตามแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้อยู่ดี 

การทำศพไม่ใช่บทบาทหน้าที่หลักของตาปะขาว บทบาทหน้าที่ที่แท้จริงคือการเป็นคนรับใช้พระภิกษุสงฆ์หรือเป็นตัวแทนระหว่างฆราวาสกับพระภิกษุ การเป็นตาปะขาวอยู่ที่การถือศีลแปดและต้องนุ่งขาวห่มขาว คำว่า ‘ตาปะขาว’ นั้นเพี้ยนมาจาก ‘ตาผ้าขาว’ ตรงนี้ทำให้เกิดความคล้ายคลึงเมื่อเทียบกับกรมสนมพลเรือน ในแง่ที่ต่างก็ใช้ผ้าขาวหรือผ้าสุกำ และ ‘ปะขาว’ อีกนัยหนึ่งก็หมายถึงตำแหน่งข้าราชการชั้นชั้นขุนหมื่นพวกหนึ่ง คู่กับ ‘ปะแดง’ (หรือ ‘ปแฎง’)    

บุคคลแบบตาปะขาวยังอาจเป็นสตรีได้ด้วย เรียกว่า ‘ชีปะขาว’ หรือ ‘แม่ขาว’ เพราะศีลเท่ากัน (คือศีล 8) และนุ่งขาวห่มขาวเหมือนกัน ตรงนี้เป็นข้อแตกต่างเมื่อเทียบกับสัปเหร่อ ดูเหมือนสัปเหร่อจะมีแต่เฉพาะผู้ชาย หรือผู้หญิงไม่เหมาะจะเป็น และสัปเหร่อยังมีคำอธิบายว่ามีรากศัพท์ที่มาจากคำว่า ‘สัปบุรุษ’ หรือ ‘สัปรุษ’ ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่เป็นคนดี คือมีนัยยะบ่งชี้ถึงเพศชายอยู่ในตัวเสร็จสรรพ 

ทั้งตาปะขาว (ผู้ชาย) และชีปะขาว (สตรี) ต่างถือเป็นตัวแทนกลางระหว่างฆราวาสในชุมชนกับพระภิกษุในอาราม สิ่งที่เป็นร่องรอยยืนยันให้เห็นว่าตาปะขาว/ชีปะขาวอาจทำหน้าที่คนทำศพแทนพระภิกษุ ก็คือการมีข้อยกเว้นทางขนบที่ว่าหากไม่มีสัปเหร่อ พระภิกษุจะต้องรับหน้าที่ทำศพเอง แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะภิกษุต้องอยู่ในอาการสำรวม ยิ่งหากเป็นศพสตรี พระภิกษุก็ทำไม่ได้ แต่หากเป็นตาปะขาวหรือชีปะขาวจะทำได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นศพผู้ชาย การที่พระภิกษุทำศพเองก็ดูไม่เหมาะไม่ควร เพราะในการทำศพบางครั้งจะต้องใช้มีดเฉือนศพ แทงศพ พลิกศพ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นตาปะขาว/ชีปะขาวก็ทำได้ จึงเห็นได้ว่าตาปะขาว/ชีปะขาวจะยืดหยุ่นและคล่องกว่าพระภิกษุทำเอง 

ในทางคติความเชื่อ ‘ตาปะขาว’ ก็เป็นที่เคารพเชื่อถือของผู้คนมาแต่เดิม นอกจากเพราะการถือศีลมากกว่าฆราวาสแล้ว ยังเป็นเพราะตาปะขาวยังมีฐานะเป็น ‘วีรบุรุษทางวัฒนธรรม’ อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากตำนานใน ‘พงศาวดารเหนือ’ กล่าวถึงเทวดาแปลงกายเป็นตาปะขาวลงมาสร้างพระพุทธชินราช หรืออย่างเรื่องตาปะขาวตนหนึ่งเป็นผู้ดูแลพระมาไลยเจดีย์อยู่ที่เมืองหงสาวดี หรืออย่างเรื่องตำนานที่มาของศาลเจ้าพ่อตาปะขาวที่นครศรีธรรมราช

แน่นอนว่า เรื่องในตำนานอาจเป็นเรื่องเล่าแต่งเสริมเติมความให้พิสดาร แต่ตาปะขาวที่มีตัวตนอยู่จริงและมีบทบาทก็มีเช่น ‘ตาปะขาวปิ่น’ ผู้สร้างรอยพระพุทธบาทสี่รอยประดิษฐานไว้บนปราสาทนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น    

จากร่องรอยในตำนาน จะเห็นได้ว่านอกจากเป็นตัวแทนพระภิกษุแล้ว ตาปะขาวยังเป็นบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับโลกศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ถึงขนาดมีเรื่องเล่าว่าเป็นเทวดาแปลงกายมากระทำภารกิจสำคัญ เป็นบรรพชนผู้ล่วงลับและมีบุญบารมีมากจากการถือศีลแปด เป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างโลกคนเป็นกับคนตาย ตาปะขาวจึงอยู่ในฐานะที่จะเป็น ‘ผู้เผาผี’ ได้ 

ถึงแม้ว่าอาจมีผู้รู้วิธีการทำศพ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ ไม่ได้เกี่ยวกับความรู้ แต่เกี่ยวกับสถานภาพของผู้ทำศพด้วย แต่ในช่วงหลังมานี้ คนเผาผีอย่างสัปเหร่อที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติอย่างที่ตาปะขาวมี    

         

ยุคของ ‘ขุนกะเรวราก’ (นายป่าช้า) กับความเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดการความตาย  

โดยคติความเชื่อผนวกกับสถานะและบทบาทแบบหนึ่ง ทำให้ตาปะขาวเป็นผู้ทำศพ (เผาผี) แก่ไพร่ราษฎร ขณะเดียวกันในราชสำนักก็มี ‘กรมสนมพลเรือน’ สำหรับทำหน้าที่นี้โดยตรง แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงคติเบื้องหลังตลอดจนการอธิบายความตายและมุมมองต่อร่างกายเปลี่ยนจากหลักศาสนามาสู่คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ก็ส่งผลทำให้เกิดรูปแบบวิธีการจัดการตลอดจนการเกิดบุคลากรแบบใหม่ที่เหมาะสมมากกว่าขึ้นมา 

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้มีการรื้อฟื้น ‘กรมแพทยาคม’ ขึ้นมาและให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการศพไปด้วย แต่ต่อมากรมนี้ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 และในสมัยเดียวกันนี้ก็ได้มีการตั้ง ‘ขุนกะเรวราก’ ขึ้นมาในสังกัดกรมพระนครบาล สำหรับทำหน้าที่จัดการทำลายศพ ขุนกะเรวรากมีชื่อเรียกอีกว่า ‘นายป่าช้า’ เพราะช่วงนั้นบ้านเมืองยังมีโรคระบาดชุกชุม มีคนตายมาก ศพถูกนำมาออกมาทิ้งนอกเมือง บ้างทิ้งในแม่น้ำลำคลองเป็นที่อุจาดตาและส่งกลิ่นเหม็นเน่าสะอิดสะเอียน แม้มีการสร้างเมรุขึ้นสำหรับเผาศพ แต่จำนวนศพที่มากเกินไป ทำให้เผาได้ล่าช้า ต้องปล่อยให้แร้งลงกินศพ เป็นที่อุจาดตาไปอีก    

เมื่อศพเกิดเป็นปัญหาระดับรัฐและสังคมขึ้นมา และศพจำนวนมากนี้เป็นศพที่ตายด้วยโรคระบาด เป็นที่รังเกียจ และผู้คนก็มีความรู้แล้วว่าศพแพร่โรคติดต่อไปให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น จึงได้เกิดหน่วยงานรัฐเข้ามาทำหน้าที่จัดการกับศพ    

ก่อนอื่นต้องตอบคำถามก่อนว่า เพราะเหตุใด ‘ตาปะขาว’ จึงไม่เหมาะจะทำหน้าที่นี้จนถึงกับต้องถ่ายโอนบทบาทงานไปให้แก่ ‘ขุนกะเรวราก’ ?

จากคุณสมบัติจะพบว่า ‘ตาปะขาว’ ใช้เวลาสร้าง มีอยู่อย่างจำกัด และไม่มีลักษณะบทบาททางโลกย์  แถมยังมาพร้อมพิธีกรรม เมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ 24-25 ตาปะขาวจึงเป็นบุคลากรที่ไม่ยืดหยุ่นหรือคล่องตัวอีกต่อไป    

ผิดกับ ‘ขุนกะเรวราก’ ที่เป็นคนธรรมดาสามัญชน เป็นข้าราชการ ไม่ต้องถือศีลสูงกว่าคนทั่วไป ไม่ได้มาพร้อมพิธีกรรมที่มีรายละเอียดซับซ้อนเพื่อส่งคนตายขึ้นสู่สรวงสวรรค์ แค่เป็นคนทำลายศพให้หมดไปจากความอุจาดตาและขจัดความสะอิดสะเอียนให้พ้นไปจากเมือง 

ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 แนวคิดวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกสมัยใหม่ได้เข้ามามีอิทธิพลมาก มุมมองต่อความตายของคนก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เชื่อว่าความตายคือวิญญาณออกจากร่าง การทำศพจึงต้องส่งวิญญาณผู้ตายไปสู่ภพภูมิที่ดี 

แต่มุมมองตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ คนตายก็แค่หมดลมหายใจ จึงไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมสวดส่งวิญญาณ และเมื่อศพมีปริมาณมากจนเกิดเป็นปัญหาสังคมขึ้นมา ศพก็ต้องถูกทำลาย ไม่ใช่ดองเก็บหรือปล่อยทิ้งไว้ตามแม่น้ำลำคลอง      

 

ตาปะขาว-ขุนกะเรวราก=สัปเหร่อ & เมื่อการทำศพไม่ใช่การตัดสายสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย & ‘สัปเหร่อ’ กับการจัดการความตายด้วยวิธีใหม่   

เมื่อถามว่า ‘สัปเหร่อ’ คืออะไร? อยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์รูปแบบวิธีการจัดการความตายข้างต้นนี้? คำตอบจะตรงกับสูตรสมการดังนี้คือ ตาปะขาว-ขุนกะเรวราก=สัปเหร่อ 

เมื่อพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า สัปเหร่อไม่ใช่อาชีพเก่าแก่อย่างที่เข้าใจผิดเพี้ยนกันไปเอง สัปเหร่อเพิ่งมีอย่างมากก็ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 25 มานี้เอง สัปเหร่อเป็นรูปแบบและบุคลากรล่าสุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของ ‘คนเผาผี’ ตั้งแต่ยุคตาปะขาวและกรมสนมพลเรือนมาถึงขุนกะเรวราก สัปเหร่อได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากรูปแบบวิธีการและข้ามพ้นข้อจำกัดของบุคลากรที่ก่อนหน้ามาแล้วทั้งสิ้น 

สัปเหร่อเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เทวดาแปลงกายมา ไม่ได้ต้องมีศีลสูงส่งกว่าคนทั่วไป ตามแบบขุนกะเรวราก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ขุนนางข้าราชการหรือหน่วยงานรัฐ เป็นคนของชุมชน ชุมชนเป็นผู้สร้างสัปเหร่อขึ้นมาเองโดยตรง โดยเฉพาะสังคมชนบทที่ระบบเครือญาติยังมีบทบาทมาก การมีสัปเหร่อในชุมชนยังช่วยให้ขจัดบทบาทของขุนกะเรวราก ไม่ให้มารบกวนหรือนำศพไปทำให้สูญสลายแค่นั้น 

เพราะสำหรับสังคมชนบท ผู้ตายไม่ใช่แค่ศพ หากแต่เป็นญาติผู้ล่วงลับ จึงต้องยังคงใช้พิธีกรรมเพื่อส่งวิญญาณ ไม่ใช่เพื่อผู้ตาย แต่เพื่อความสบายใจแก่ญาติผู้ยังอยู่ เมื่อผู้ตายได้รับการปฏิบัติจัดการอย่างถูกต้องดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยดี เห็นควันลอยขึ้นสูงท้องฟ้า เป็นสัญญาณว่าผู้ตายเดินทางไปสู่ภพภูมิอื่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็อาจเป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าโศกเสียใจของญาติผู้ล่วงลับได้บ้าง 

ในแง่นี้บทบาทของสัปเหร่อจึงต่างจากตาปะขาวและขุนกะเรวรากในอดีต เพราะไม่เพียงไม่ได้ตัดสายสัมพันธ์ระหว่างคนตายกับคนเป็น คนตายไม่ใช่แค่ศพ แต่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นน้า เป็นอา เป็นปู่ เป็นย่า เป็นยาย เป็นป้า เป็นลุง เป็นลูก เป็นผัว เป็นเมีย ฯลฯ สิ่งสำคัญที่ยังคงอยู่สืบไปก็คือสายสัมพันธ์ ที่แม้ความตายก็ไม่อาจทำให้สายสัมพันธ์อันนี้สิ้นสุดตามไปด้วย    

แต่กระนั้น อารมณ์ความรู้สึกเช่น ความรัก ความผูกพัน ความเกลียดชัง ของญาติที่มีต่อผู้ตาย อาจเกิดเป็นอุปสรรคในการจัดการศพได้โดยง่าย จึงต้องมีคนซึ่งทำหน้าที่ที่ญาติผู้ตายไม่อาจทำได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่พระสงฆ์องค์เจ้าไม่เหมาะจะกระทำด้วยตนเอง หวยจึงไปออกที่สัปเหร่อ!!!     

ฟังก์ชั่นหนึ่งของพิธีศพก็คือการประกาศยืนยันว่าบุคคลนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ไม่ได้เปลี่ยนสถานภาพในวงเครือญาติ และการปฏิบัติต่อญาติผู้ล่วงลับก็จะเป็นมาตรฐานสำหรับการปฏิบัติต่อญาติผู้ยังอยู่สืบไป นั่นจึงหมายความว่าผู้ปฏิบัติต่อผู้ตายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ย่อมจะได้รับความนับหน้าถือตาในชุมชนหรือวงญาติสืบไป 

นอกจากนี้ พิธีศพยังเป็นงานรวมญาติหรืองานชุมชนประเภทหนึ่ง ดังนั้น แม้รัฐมี ‘ใบมรณบัตร’ พิธีศพก็ยังจำเป็น เพราะใบมรณบัตรไม่สามารถจะมีบทบาทต่อการเดินทางสู่โลกหลังความตาย ใบมรณบัตรเป็นสิ่งช่วยญาติผู้ยังอยู่ให้สามารถดำเนินการต่างๆ ทางกฎหมายได้ เช่น การจัดการทรัพย์สินมรดก เป็นต้น

 

‘สัปเหร่อ’ กลายเป็น ‘คนชายขอบของชายขอบ’ ได้อย่างไร?

เมื่อสัปเหร่อเป็นบุคลากรที่สังคมชนบทและคนระดับล่างในเมืองสร้างขึ้นเพื่อกีดกันบทบาทของคนจากหน่วยงานรัฐส่วนกลาง เพื่อการปฏิบัติที่มี ‘มนุษยธรรม’ ต่อผู้ล่วงลับ ก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่ในตัวมันเองที่จะตกเป็นคนชายขอบของสังคม แต่แม้แต่ในสังคมชนบทหรือคนระดับล่างด้วยกันเองก็เหยียดสัปเหร่อ  หลายคนมีวัยเด็กที่ถูกเสี้ยมสอนให้หวาดกลัวสัปเหร่อ 

สัปเหร่อจึงมีความสัมพันธ์กับชุมชนในลักษณะ ‘เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ถูกนับรวม’ ในระดับชีวิตประจำวัน หรือนัยหนึ่งก็คือสัปเหร่อถูกทำให้กลายเป็น ‘คนชายขอบของชายขอบ’ (อีกต่อหนึ่ง) ไป 

เช่นเดียวกับหลายกรณีที่คนทั่วไปกระทำไม่ได้ด้วยตนเอง ต้องให้ผู้อื่นทำแทน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องวางมาตรการไม่ให้ผู้ที่ทำแทนตนนั้นกลายเป็นผู้มีอำนาจพิเศษเหนือกว่าตนไปด้วย จุดนี้คือข้อแตกต่างระหว่างสัปเหร่อกับคนเผาผีในอดีตไม่ว่าจะเป็นตาปะขาวหรือขุนกะเรวรากด้วยอีกประการหนึ่ง   

เมื่อเป็นดังนั้น การเป็นสัปเหร่อไม่ใช่ใครก็จะเป็นได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่ความรู้ความเชี่ยวชาญล้วนๆ เหมือนอาชีพอื่น หากแต่อยู่ที่เครือญาติเป็นข้อใหญ่ใจความสำคัญ สัปเหร่ออาจะเป็นหนึ่งในอาชีพหรือตำแหน่งแห่งที่ในสังคมชนบทเพียงไม่กี่อย่างที่ยังสืบทอดกันผ่านสายโลหิต จากพ่อสู่ลูก จากพี่สู้น้อง จากลุงสู่หลาน ฯลฯ เพราะวงศาคณาญาติอื่น ๆ จะไม่มีใครอยากให้ลูกหลานของตนเป็นสัปเหร่อ แต่ในขณะเดียวกันสัปเหร่อก็ถือเป็นคนสำคัญสำหรับทุกชุมชน ในเมื่อทุกคนต้องพบความตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง 

ในโลกวรรณกรรม ทันทีที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ออกฉาย ผู้เขียนก็นึกสนุกในการที่จะดูเพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างสัปเหร่อในเวอร์ชั่นของไทบ้านเดอะซีรีส์ กับสัปเหร่อในโลกวรรณกรรม ที่เคยคว้ารางวัลซีไรต์มาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2525 อย่างเรื่อง ‘คำพิพากษา’ ผลงานประพันธ์โดย ชาติ กอบจิตติ    

ชาติ กอบจิตติ ได้นำเสนอภาพสัปเหร่อในฐานะคนชายขอบของชายขอบเช่นกัน แต่นอกเหนือกว่านั้นผู้ที่ทำให้สัปเหร่อเป็นคนชายขอบในชุมชนของตน กลับเป็นชาวบ้านในชุมชนละแวกย่านที่สัปเหร่อสังกัดอยู่นั้นเอง และก็แน่นอนว่าเครื่องมือที่ชาวบ้านเหล่านี้ใช้ก็คือการนินทา เป็นเครื่องมือเดียวกับที่ใช้ในการสร้างผีปอบขึ้นมานั่นเอง    

พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นปีแรกที่นวนิยายเรื่องดังกล่าวนี้ได้ออกโลดแล่นสู่บรรณภพนั้น เป็นปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ไม่นาน และภายในขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็กำลังพบกับ ‘ขาลง’ เมื่อนักศึกษาปัญญาชนที่เคยหลบเข้าป่าได้ทยอยออกป่าคืนเมืองมาแล้ววิพากษ์วิจารณ์พคท.ต่าง ๆ นานา 

แนวคิดของพคท. ที่ยกย่องชาวบ้านในชนบทอย่างสูง ประกอบกับกองกำลังที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นก็เป็นชาวบ้านที่ถูกจัดตั้งมา ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์อยู่ที่สนามหลวง ไม่เพียงไม่ช่วยนักศึกษาประชาชน กลับเป็นภาพชาวบ้านที่ยืนหัวเราะร่าในท่ามกลางความรุนแรงที่ปรากฏตรงหน้า 

ในครึ่งหลังของทศวรรษ 2520 ชาวบ้านจึงไม่ใช่ชาวบ้านในอุดมคติแบบที่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าเคยซูฮกยกย่อง เป็นชาวบ้านที่มีด้านมืดและไม่น่าไว้ใจ เมื่อชาติ กอบจิตติ รังสรรค์เรื่องราวชาวบ้านที่กระทำต่อสัปเหร่อในชุมชนของตนเองออกมา ก็ได้รับเสียงตอบรับในทางบวก 

 

‘สัปเหร่อ’ ในจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์

ข้อน่าสังเกตก็คือในภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ของไทบ้านเดอะซีรีส์ จะพบว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรื่องราวของสัปเหร่อในฐานะคนสำคัญของชุมชนได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องย้อนกลับไปที่พิจารณา 2 เหตุการณ์ คือ วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. 2540 กับการระบาดของโรคโควิด-19 

หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 สังคมไทยรีเทิร์นกลับไปหาชนบทอีกครั้ง นับแต่ที่เคยเป็นสมรภูมิสู้รบกันระหว่างฝ่ายพคท.กับรัฐบาลในอดีต กระแสเศรษฐกิจชุมชน รักบ้านเกิด คืนสู่เหย้า ฯลฯ พบเห็นได้ทั่วไป ชนบทกลายเป็นคำตอบของการพัฒนาอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันสังคมชนบทก็พบความแตกร้าว โดยเฉพาะสังคมอีสานที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพากันละทิ้งถิ่นฐานไปหาอยู่หากินแดนไกล 

และเมื่อโควิด-19 ระบาดหนัก คนชนบทที่เข้ามาทำงานอยู่ในเมืองก็กลับบ้านไปตั้งหลักกันมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ชนบทกลายเป็นที่ปลอดภัย ขณะที่เมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายและที่สำคัญความตายอยู่แค่ปลายจมูก โควิด-19 ทำให้คนหวนกลับมาตระหนักเรื่องความตาย ซึ่งเป็นความจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอเมื่อวันนั้นมาถึง ไม่มีใครรอด แม้แต่ตัวสัปเหร่อเอง เมื่อถึงเวลาสัปเหร่อก็ต้องถูกจัดการศพเหมือนเช่นที่ตนเคยจัดการให้ผู้อื่นมาก่อน       

การพลัดพรากแบบ ‘จากเป็น’ เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจสังคมแบบที่ตัวละครในเรื่องไทบ้านประสบ (พ่อแม่ของรอดกับมืดต้องไปทำงานแดนไกล ทิ้งให้รอดกับมืดอยู่กับยาย และรอดซึ่งยังเป็นวัยรุ่นอยู่กลับต้องมารับบทผู้นำครอบครัว ตัวละครอื่น ๆ ก็ดูเหมือนจะเผชิญชะตากรรมเดียวกัน ยกเว้นป่องที่มีบ้านมีฐานะดีกว่าใคร พ่อแม่ ยาย อยู่ครบ) ร้ายกาจและเข้าใจได้ยากยิ่งกว่าการ ‘จากตาย’ ที่ท้ายสุดแล้วทุกตัวละครในเรื่องต่างก็ทำใจยอมรับได้ 

ดังที่ได้ชี้ให้เห็นมาแล้วว่า มุมมองต่อความตายและวิธีการจัดการความตายของคนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่โดยตลอด ส่งผลทำให้เกิดบุคลากรใหม่ที่เหมาะสมแก่การจัดการและมุมมองต่อความตายนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่า อนาคตจะมีใครมาแทนที่สัปเหร่อที่กำลังหายใจอย่างรวยรินอยู่ในขณะนี้...

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: โปสเตอร์ภาพยนตร์ สัปเหร่อ จากกลุ่ม ‘ไทบ้าน’

อ้างอิง:

กฎหมายตราสามดวง (พิมพ์ตามต้นฉบับหลวง) เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2560.

กฎหมายตราสามดวง (พิมพ์ตามต้นฉบับหลวง) เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. นนทบุรี: มสธ., 2555.

ชาญชัย ชยเมธี, พระ. ‘บทบาทของสัปเหร่อที่มีต่องานพิธีศพ กรณีศึกษาในเขตเทศบาลตำบลหลวงใต้ อำเภองาว จังหวัดลำปาง’ วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2556.  

ชาติ กอบจิตติ. คำพิพากษา. กรุงเทพฯ: หอน, 2547.

แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ‘ปลงศพ’ ใน นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2559.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ 26 ภาค. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2558.

ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร. ‘สัปเหร่อกับการจัดการศพของชุมชน กรณีศึกษาชุมชนมอญริมแม่น้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี’ วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.  

นนทพร อยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551.

ปรานี วงษ์เทศ. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการตายในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง, 2534.

ปรามินทร์ เครือทอง. สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

ฟาน ฟลีท, เยเรเมียส. บันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีท. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548.

ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์. รัฐสยดสยอง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.

ลาลูแบร์, ซิมง เดอ. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552.

วิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา), หลวง. ศาสนาสากล. กรุงเทพฯ: ส.ธรรมภักดี, 2532.

อนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), พระยา. ประเพณีเนื่องในการตาย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2507.