ความเป็นมาของ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” สุนทรพจน์เคล้าน้ำตา วาทะจาก ‘พลเอก สุจินดา คราประยูร’

ความเป็นมาของ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” สุนทรพจน์เคล้าน้ำตา วาทะจาก ‘พลเอก สุจินดา คราประยูร’

‘พลเอก สุจินดา คราประยูร’ เจ้าของวาทะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” สุนทรพจน์ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ และติดในความทรงจำของผู้คน เมื่อกลายเป็นช่วงเวลาที่สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างมาก

  • พลเอก สุจินดา คราประยูร เคยลั่นวาจาว่าจะไม่เล่นการเมือง แต่แล้วกลับต้องกล่าววาทะ เสียสัตย์เพื่อชาติ และรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • วาทะเสียสัตย์เพื่อชาติ ไม่เพียงเป็นภาพจำประการหนึ่งที่ชาวไทยมีต่อพลเอกสุจินดา แต่ยังนำมาซึ่งผลต่อการเมืองในเวลาต่อมา

“ผมเสียใจ เราเป็นคนหนึ่งที่เชิดชูกองทัพ เรียนมาเพื่อหวังให้กองทัพเข้มแข็งมั่นคง เป็นที่พึ่งที่ศรัทธาของประชาชน แต่เรากลับมีส่วนในการทำให้กองทัพถูกโจมตี ก็เสียใจ” 

พลเอกสุจินดา คราประยูร เผยบาดแผลในหัวใจภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผ่านไปแล้ว 7 ปี แต่ก็เป็นความเสียใจที่ตั้งบน ‘การทำให้กองทัพถูกโจมตี’ เพราะภาพลักษณ์ของทหารในปี 2535 ตกต่ำอย่างมาก ความตกต่ำนี้ถูกเปรียบเทียบอ้างอิงกับภาพลักษณ์ของทหารในยุคสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ทหารกลายเป็นผู้ร้ายของสังคม เป็นศัตรูของประชาชน และเป็นสิ่งถ่วงรั้งความเจริญของระบอบประชาธิปไตย

เป็นความเจ็บปวดของพลเอกผู้รักกองทัพยิ่งชีพ เพราะเมื่อประวัติศาสตร์ได้เขียนเรื่องราวให้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้เป็นคนตระบัดสัตย์ แม้เขาจะมีมุมมองส่วนตัวว่า การเสียสัตย์นั้นเป็นไป ‘เพื่อชาติ’

เมื่อพูดอะไรออกไป คำพูดนั้นจะกลายเป็นนายของเรา และนอกจากคำพูดจะกลายเป็นนายของเรา คำพูดของเรายังจะเป็น ดิจิทัล ฟุตพรินท์ (Digital Footprint) เป็นเชิงอรรถให้ปัจจุบันอ้างอิงถึงอดีตที่จะส่งมอบหลักฐานไปยังอนาคต

รัฐประหาร 2534 การกลับมาใหม่ของอำนาจเก่า

หลังอ่านแถลงการณ์ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เพียงไม่กี่ประโยค พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ มีท่าทีตะกุกตะกักเพราะอ่านผิด แต่แทนที่จะแก้ไขคำพูดให้ถูกต้อง พล.อ.สุนทร กลับเงยหน้ามองกล้องที่กำลังถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญ เอ่ยคำพูดด้วยน้ำเสียงไม่ต่างจากการออกคำสั่งต่อทหารผู้ใต้บังคับบัญชา “เอาใหม่”

เอาใหม่ - เป็นถ้อยคำของ พล.อ.สุนทร ที่เกิดจากอุบัติเหตุในการอ่านแถลงการณ์ของคณะ รสช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่คำว่า “เอาใหม่” ก็เป็นอุปลักษณ์ของ ‘การกลับมาใหม่’ ของ ‘อำนาจเก่า’ ได้เช่นกัน

การประนีประนอมระหว่างประชาธิปไตยกับอำมาตยาธิปไตยปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2521 จนเป็นที่มาของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงเวลา 8 ปีของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ การขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงถือเป็นการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มพลังอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น แต่ก็เป็นเวลาช่วงสั้น ๆ

เพราะในเช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยการไฮแจ็คเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศไทย C-130 ที่กำลังมุ่งหน้าไปจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการ ‘เอาใหม่’ ของระบบอำนาจเก่า

คณะ รสช. ประกาศเหตุผลในการทำรัฐประหารไว้ 5 ข้อ 1. รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง 2. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจำ 3. เผด็จการรัฐสภา 4. การทำลายกองทัพ 5. การบิดเบือนคดีลอบสังหาร

หลังนำการรัฐประหารสำเร็จ พลเอกสุนทร มอบบทบาทนำให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นมามีบทบาทกำหนดทิศทางของคณะรสช.และการเมืองในห้วงเวลานั้น

หลังจากนั้น ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 คณะ รสช.ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่า จะคืนประชาธิปไตยให้โดยเร็ว

 

“ผมไม่มีความประสงค์ที่จะเล่นการเมือง

ด้วยบุคลิกที่มีความเป็นผู้นำของพลเอกสุจินดา รวมถึงบทบาทสำคัญใน รสช. จึงทำให้สังคมจับตามองมาที่แกนนำคณะรสช. ผู้นี้ เขาต้องตอบคำถามสื่อมวลชนตั้งแต่วันแรก ๆ ที่รัฐประหารว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ผมไม่มีความประสงค์ที่จะเล่นการเมืองและเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่จำเป็นต้องทำ (รัฐประหาร) ครั้งนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายที่หากไม่ทำแล้ว บ้านเมืองจะตกอยู่ในสภาพที่เลวลง ๆ ทุกวัน จนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือ เรากลัวเผด็จการรัฐสภาที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ในความเป็นจริงนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่” พลเอกสุจินดา กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่กี่วันหลังรัฐประหาร

หลังจากนั้น คณะ รสช.แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่เลือกโดยพลเอกสุจินดา

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับเสียงคัดค้าน เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีนักกฎหมายนาม มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เปิดช่องให้ รสช.สืบทอดอำนาจ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ‘ร่างทรง รสช.’

มีชัย ฤชุพันธุ์

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง มีชัย ฤชุพันธุ์ มือกฎหมายเบื้องหลังรัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร 

 

เสียชีพอย่าเสียสัตย์

นักวิชาการบางส่วนเสนอตัวเข้าร่วมทำงานกับ รสช. แต่อีกด้านหนึ่งก็มีกระแสการต่อต้าน

“นักศึกษาจะไม่ร่วมแสดงความคิดเห็นใด ๆ เสนอให้คณะผู้ก่อการรัฐประหารอย่างเด็ดขาด เพราะการพัฒนาประชาธิปไตยของนักศึกษากับทหารต่างกัน สิ่งที่นักศึกษาต้องการคือเสรีภาพ ไม่ใช่การใช้กำลัง เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” เสาวนีย์ จิตรื่น เลขาธิการ สนนท. กล่าว

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก, คืนเสรีภาพในการชุมนุม, ทวงสัจจะประชาธิปไตยเพื่อให้มีการเลือกตั้งในปี 2534, การติดตามและเปิดโปงการร่างรัฐธรรมนูญที่สังคมกังวลว่าเป็นการเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ รสช.

ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่าง ๆ นักวิชาการ นักศึกษา ที่เคยรวมตัวกันเป็นคณะทำงานรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2521 ได้กลับมารวมตัวกันใหม่ภายหลังรัฐประหารในนามคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

แม้ว่าจะมีผู้นำแรงงานส่วนหนึ่งนำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้แก่ รสช. แต่ ทนง โพธิ์อ่าน ก็เป็นแกนนำลุกขึ้นประณาม รสช. ที่ละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงาน หลังจากนั้น เขาถูกบังคับให้สูญหายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2534 ตราบปัจจุบัน

ทั้ง สนนท. และ ครป. ร่วมกันเคลื่อนไหวจนสามารถสร้างเป็นมติมหาชนคัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช. ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ 2534 จน พล.อ. สุจินดา คราประยูร ต้องออกมาแถลงในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534

“เราขอยืนยันว่า จะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญ หลังจากการเลือกตั้งแล้ว สภา รสช.ก็หมดไปเองโดยอัตโนมัติ ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็จะกลับไปทำหน้าที่ในเหล่าทัพเพียงอย่างเดียว และที่พูดกันว่าพลเอกสุจินดา จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.อ.เกษตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ขอยืนยันในที่นี้ว่า ทั้งพลเอกสุจินดา และ พล.อ.อ.เกษตร จะไม่เป็นนายกรัฐนตรี”

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพยายามจะสืบทอดอำนาจของ รสช. แต่ก็มีแรงหนุนให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจากทหาร มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้สนับสนุนคนหนึ่งให้พลเอกสุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรี         

“ผมยืนยันไม่เล่นการเมือง ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่เป็นนายกฯ โดยเด็ดขาด การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน” พลเอกสุจินดา ออกมายืนยันอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2534 และย้ำว่า “บอกไปหลายครั้งแล้วว่าไม่เล่นการเมือง เมื่อไม่เล่นก็ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมไม่เปลี่ยนใจ เป็นคนรักเดียวใจเดียว”

แม้วันเลือกตั้งจะใกล้เข้ามา แต่รัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้นายกฯ คนนอก ก็ทำให้สังคมจดจ้องมาที่พลเอกสุจินดาอีกครั้ง

“ผมรับรองหัวเด็ดตีนขาด ไม่เอาแน่ ไม่เอาด้วย ใครจะตั้งพรรคการเมืองยังไงก็เรื่องของเขา ผมบอกตั้งแต่แรกและนานแล้วว่าไม่เอาแน่ เรื่องเล่นการเมือง ผมว่าเหนื่อยจะตายคนเป็นนายกฯ เมืองไทย ใครเข้าไปเป็นก็รู้ว่าเหนื่อยขนาดไหน นายกฯ อานันท์ ยังออกปากเลย แต่ท่านก็ทำงานหนักจริง สามทุ่มยังไม่ได้กลับบ้าน” เป็นอีกครั้งที่พลเอกสุจินดา ย้ำว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ คนนอก

หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคที่รวมตัวของเจ้าพ่อท้องถิ่น และนักการเมืองที่เคยอยู่ร่วมรัฐบาลพลเอกชาติชายที่ถูก รสช.รัฐประหาร พวกเขาได้ สส.จำนวน 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

พรรคเสียงข้างมากเดินเกมเชิญทั้ง พล.อ.สุจินดา และ ‘บิ๊กเต้’ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. มาเป็นนายกฯ คนนอก ซึ่งเป็นไปตามที่ พล.อ.สุนทร ประธาน รสช.เคยกล่าวไว้ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง “สุไม่เอา ก็ให้เต้”        

การจัดตั้งรัฐบาลยังคงยืดเยื้อเมื่อชื่อของ ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีปรากฎในแบล็คลิสต์ของทางการสหรัฐเนื่องจากพัวพันกับพ่อค้ายาเสพติด จึงต้องมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ในที่สุด พรรคสามัคคีธรรมและพรรคร่วมอีก 4 พรรค ก็มองไปยังช่องประตูที่รัฐธรรมนูญเปิดแง้มไว้ให้นายกรัฐมนตรีไม่จําเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

พลเอกสุจินดา จึงดำรงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เคยให้คํามั่นต่อประชาชน เขาจึงถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นผู้สืบทอดอํานาจของ รสช. สังคมย้อนถามถึงคําปฏิญาณตนของชายชาติทหารที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”

 

สุนทรพจน์ที่มีน้ำตา

8 เมษายน พ.ศ. 2535 พลเอกสุจินดาเดินทางมาที่ห้องประชุมกองทัพบก เพื่ออำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในวันนั้น น้ำตาของเขาไหลออกมา ไม่สามารถสะกดต้านไว้ได้

“ชีวิตของผมมีความสุขที่สุด คือชีวิตที่ได้รับราชการอยู่ในกองทัพบก” พล.อ.สุจินดา กล่าวด้วยเสียงที่เหมือนน้ำถูกกรองด้วยก้อนหินชั้นกรวดจนยากที่จะไหลออกมา

“การที่ผมตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เนื่องจากประการหนึ่งก็คือ มั่นใจว่ากองทัพบกนั้นเป็นกองทัพที่มั่นคง นายทหารทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันพร้อมที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อทำให้กองทัพบกมั่นคง เพื่อให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มีความเจริญ ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะความเป็นทหารที่เรามีคติประจำใจว่า เรายอมเสียสละได้เพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความจำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น การเสียชื่อเสียง เสียสัจวาจาก็อาจเป็นความจำเป็น”

การกลับคำพูดเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นที่มาวลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายคัดค้านรัฐธรรมนูญทำการเคลื่อนไหว รวมถึงเกิดกระแสการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ในวันแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 รัฐบาลถูกโจมตีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านและผู้ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนบริเวณหน้ารัฐสภามีประชาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ต่อมาการประท้วงได้ลุกลามจนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535

กลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่รัฐปราบปรามประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตและสูญหาย เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของการเมืองไทย

พลเอกสุจินดา ตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 ปิดฉากอนาคตทางการเมืองตราบปัจจุบัน ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ยาวนาน เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 48 วัน แต่วาจาของเขายังคงดังก้องในห้องโถงของประวัติศาสตร์ สะท้อนไปมาระหว่างอดีต อนาคต และปัจจุบัน

พลเอก สุจินดา คราประยูร ต้อนรับแขก

พลเอกผู้ฝันอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์และเคยเป็นเพื่อนจิตร ภูมิศักดิ์

พลเอกสุจินดา เกิดเมื่อปี 2476 ที่บ้านพักสถานีรถไฟโพรงมะเดื่อ ไม่ไกลจากบ้านของเขาเป็นที่ตั้งขององค์พระปฐมเจดีย์

เขาเกิดมาในครอบครัวของนายสถานีรถไฟ ความใฝ่ฝันแรกในวัยเด็กคือการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพราะนิสัยรักการผจญภัย การเดินทางไปเจอเรื่องราวต่าง ๆ แต่ความยากจนของครับครัวผลักดันให้พลเอกสุจินดา ต้องฝันไกล เขาจึงสอบเรียนแพทย์ที่คณะเตรียมแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็พบว่า เด็กหนุ่มวัย 16 ในตอนนั้นไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเรียนมหาวิทยาลัยได้

หลังลาออกจากคณะเตรียมแพทย์มาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบกตามคำแนะนำของเพื่อน ในการสอบสัมภาษณ์ว่าเหตุใดจึงเรียนเตรียมแพทย์มาก่อน เขาตอบว่า “อยากช่วยชีวิตคน” แต่เมื่อผู้สอบสัมภาษณ์ถามอีกว่า เหตุใดจึงเปลี่ยนมาเรียนนายร้อย? พลเอกสุจินดาในตอนนั้นตอบว่า “ตอนนี้ผมเปลี่ยนเจตนารมย์อยากจะฆ่าคน”

คำตอบนี้มีความสำคัญเพราะสะท้อนตัวตนและความเป็นคนมีอารมณ์ขัน ชอบพูดเล่นสร้างเสียงหัวเราะของพลเอกสุจินดา จนวันหนึ่งคำพูดได้หวนกลับมาเป็นอาวุธทำร้ายตัวของเขาเองในอีกหลายปีต่อมา เมื่อเขาขึ้นมามีอำนาจในกองทัพบกและเป็นผู้นำการรัฐประหาร

จากครอบครัวนายสถานีรถไฟ พลเอกสุจินดา ก้าวเข้าสู่สังคมชนชั้นนำ เมื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อปี 2496 และเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่อบรมกล่อมเกลาให้เขามีความเป็นทหารผู้รักชาติ

“ชีวิตของเราถูกหล่อหลอมในโรงเรียนนายร้อย หล่อหลอมความคิดให้รักชาติ ศาสนา ให้รักพวกรักพ้อง  รักกลุ่ม เสียสละเพื่อชาติ ปฏิญาณตนทุกวันว่า ตายเสียดีกว่าที่จะละทิ้งหน้าที่” พลเอกสุจินดา เล่าย้อนถึงชีวิตช่วงเป็นนักเรียนนายร้อย จปร.ในการให้สัมภาษณ์กับ วาสนา นาน่วม เมื่อปี 2542

ช่วงชีวิตที่ถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์ทหาร ยังทำให้เขายกสถานะทางสังคมของตนขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ และนายทหารที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยต่างเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร

แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิต พลเอกสุจินดา เคยเป็นเพื่อนกับจิตร ภูมิศักดิ์

“อาจไม่มีใครรู้ จิตร ภูมิศักดิ์ กับผมนี่เป็นเพื่อนกันนะ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก เคยนอนดูหนังสือด้วยกัน เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน เขาเข้าไปเรียนอักษร จุฬาฯ และตอนที่ผมเข้ามาเป็นนักเรียนนายร้อย จปร. เขาก็มาติววิชาภาษาไทยให้พวกผม” พลเอกสุจินดา ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2535

ตัวตนของพลเอกสุจินดา ในสายตาเพื่อร่วมรุ่น จปร.5 เป็นผู้นำ เป็นประธานรุ่นตลอดกาล เรียนเก่งเป็นที่ 1 ของรุ่น รักเพื่อนชนิดทำข้อสอบแทนเพื่อน และยอมรับโทษเเทนเพื่อน ซึ่งนายทหาร จปร.5 ก็ได้ร่วมเป็นร่วมตายกันมาทั้งในสงครามลาวและเวียดนาม จึงก่อให้เกิดความแน่นแฟ้นและเป็น ‘แผงอำนาจ’ สำคัญ ที่จะก้าวขึ้นมาในเวลาที่สมควร

 

นายพลอารมณ์ขัน

นอกจากภาวะผู้นำที่เป็นลักษณะเด่นของพลเอกสุจินดา ความเป็นคนอารมณ์ดี มีอารมณ์ขันก็เป็นบุคลิกเด่นอีกประการของพลเอกสุจินดา

ความเป็นคนชอบอำและพูดจาสร้างเสียงหัวเราะทำให้สื่อมวลชนตั้งฉายาให้ว่า ‘นายพลอารมณ์ขัน’ แต่อารมณ์ขันกับบทบาทของนายพลก็อาจจะเป็นอะไรที่ขัดแย้งกัน เพราะบางครั้งก็ทำให้คนไม่เชื่อในคำพูดของเขา เพราะคิดว่าพูดเล่น

“เขาชอบพูดเล่น จนบางทีเขาพูดจริง แต่เรานึกว่าเขาพูดเล่น เช่น ตอนเรียน รร.เสธ.ทบ.ด้วยกัน เขาเป็นแผลที่ข้างแก้ม เราก็ถามไปว่าโดนอะไรมา เรานึกว่าโดนมีดโกน เขาบอกว่าติ๋วข่วน เขาพูดจริง แต่เราไม่เชื่อ แต่เขาพูดจริง เมียข่วนจริง ๆ” พลเอกวิโรจน์ แสงสนิท กล่าวไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ความคิดทางการเมืองของสุจินดา คราประยูร’

การตอบคำถามนักข่าวของพลเอกสุจินดา ก็มักจะเรียกเสียงหัวเราะเสมอ ไม่เว้นยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะสืบทอดอำนาจ รสช. เพราะเนื้อหาออกแบบเอื้อให้อำนาจแก่รสช. ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ การมี สส.แต่งตั้ง และการให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นสส.

“พวงใหญ่หรือพวงเล็กขึ้นอยู่กับอากาศ พวงเล็กเพราะอากาศหนาว ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญไว้แบบพวงใหญ่ เพราะอากาศยังร้อนอยู่ แต่เมื่ออากาศเย็นลง ก็กลายจากพวงใหญ่เป็นพวงเล็ก”

แต่อารมณ์ขันของพลเอกสุจินดา ก็เริ่มเคร่งเครียดในช่วงที่เขาตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและประชาชนต่อต้านและโจมตี  

“ผมก็ยังหล่ออยู่ แต่มีคนบอกว่าเป็นนายกฯ แล้วไม่ควรพูดเล่น เลยต้องเครียด ถ้าพูดเล่นเหมือนก่อนจะยิ้มแย้ม จะให้ผมพูดเล่นหรือเปล่า” พลเอกสุจินดา ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังถูกทักเรื่องความเครียดที่ปรากฎทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นริ้วรอยบนใบหน้า รอยยิ้มที่หายไป ผมขาวบนศีรษะ ซึ่งช่วงเวลาที่เขาตอบคำถามสื่อมวลชนนี้ เป็นเวลาไม่กี่วันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535

วาสนา นาน่วม วิเคราะห์บุคลิกและนิสัยของพลเอกสุจินดาไว้ว่า คำพูดของพลเอกสุจินดา ที่ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนทั่วไปเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การพูดเล่น แต่เป็นเหมือนสัญญา เป็นสัจจะ ดังนั้นเมื่อวันที่เขาตัดสินใจ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ จึงถูกโจมตีอย่างรุนแรง

“คำว่า ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ได้กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญต่อนายทหารที่ชอบพูดเล่นอย่างพลเอกสุจินดาเลย ทั้ง ๆ ที่เขามักพูดเสอมว่า ‘เมื่อพูดอะไรออกไปแล้ว คำพูดเป็นนายเรา’ แต่การที่เป็นคนชอบพูดเล่น อาจทำให้พลเอกสุจินดา ให้ความสำคัญกับคำพูดตัวเองน้อยลง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบทางการเมืองของพลเอกสุจินดา บทบาทของพลเอกสุจินดา ได้หายไปจากการเมืองและกองทัพ แต่คำพูดของเขายังคงอยู่ คำพูดของเขาสถาปนาตัวตนพลเอกสุจินดาไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่ตัวตนของคนคนหนึ่งย่อมแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่ามองมาจากมุมมองแบบไหน

“ภาพคุณปู่ในความทรงจำของผมอาจไม่เหมือนกับภาพที่คนอื่นเห็น คุณปู่เป็นฮีโร่ที่เจ นับถือมาตั้งแต่เด็ก ท่านเป็นคนที่มีแต่ให้ ท่านไม่ใช่คนดุแต่มีระเบียบวินัยสูง แต่มุมที่เจ ได้รับมาจากคุณปู่ไม่ใช่ระเบียบวินัย ท่านทำให้เจ มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวทั่วโลก ได้ลองกินอะไรแปลก ๆ พูดได้ว่าความรักในเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม เจได้มาจากคุณปู่” จอมภพ คราประยูร ผู้เป็นหลานของพลเอกสุจินดา ได้กล่าวถึงปู่ของเขา

ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นเจ้าของวลีอมตะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

 

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพ: NATION PHOTO

อ้างอิง:

วาสนา นาน่วม. (2545). ความคิดทางการเมืองของพลเอกสุจินดา คราประยูร

ธนาพล อิ๋วสกุล. (2545). 10 ปี พฤษภาคม 2535

ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ. (2564). 30 ปี รัฐประหาร รสช. การแย่งอำนาจที่นำไปสู่การนองเลือด "พฤษภาทมิฬ"