ที่มาของชื่อ ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ จากผู้มีพระคุณ ‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’ เขียนพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้ครึ่งหนึ่ง

ที่มาของชื่อ ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ จากผู้มีพระคุณ ‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’ เขียนพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้ครึ่งหนึ่ง

ที่มาของชื่อ ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ เริ่มจากผู้มีพระคุณที่ชื่อว่า ‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’ นักเทศน์และผู้ช่วยบาทหลวงที่เขียนพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้ครึ่งหนึ่ง พร้อมหนังสือทั้งหมดของเขากว่า 400 เล่ม

  • จอห์น ฮาร์วาร์ด ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ถูกยกย่องจนสร้างอนุสาวรีย์จากหินแกรนิตเพื่อรำลึกถึง
  • จอห์น ฮาร์วาร์ด นักเทศน์ใจบุญที่เขียนพินัยกรรมมอบมรดกครึ่งหนึ่งให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และหนังสือกว่า 400 เล่ม

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า ‘Harvard Kennedy School’ อันเป็นสถาบันที่ ‘ทิม - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเรียนจบในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาการเมืองการปกครองมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของ ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับของ U.S. News และ World Report ในปี 2021

โดย ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ นั้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 1636 หรือมีอายุกว่า 387 ปี เรียกได้ว่ามีอายุมากกว่า ‘กรุงรัตนโกสินทร์’ ที่จะครบรอบ 241 ปีในวันที่ 21 เมษายน 2566

คนส่วนใหญ่คิดว่า ‘ผู้ก่อตั้ง’ ของ ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ คือ ‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’ จากรูปปั้นของเขาที่ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัย

แต่จริง ๆ ถ้ายึดตามข้อมูลทางการจากเว็บไซต์ของ ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ ระบุว่า มหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการด้วยการลงคะแนนของ ‘Massachusetts General Court’ หรือศาลทั่วไปแห่งแมสซาชูเซตส์ที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ทำหน้าที่ออกกฎหมายและเป็นตุลาการก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 1780 โดยศาลทั่วไปแห่งแมสซาชูเซตส์ได้อนุมัติเงินจำนวน 400 ปอนด์สำหรับการก่อตั้งสถาบันการศึกษาขึ้น

ในรายละเอียดศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ได้อธิบายว่า คณะนักบวชของศาสนาคริสต์กลุ่มหนึ่งที่อพยพจากอังกฤษมาสู่อเมริกาที่ในขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมคือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีวัตถุประสงค์จะเผยแผ่ศาสนาและสร้างนักบวชในชื่อแรกว่า ‘The New College’ (เดอะ นิว คอลเลจ)

ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘วิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ ในปี 1639 เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้มีพระคุณที่บริจาคทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของตัวเองและหนังสือในห้องสมุดกว่า 400 เล่มให้กับสถาบันอย่าง ‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’

 

นักเทศน์ใจบุญ

‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’ เกิดในเดือนพฤศจิกายนปี 1607 ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเกิดในครอบครัวคนขายเนื้อทางฝั่งพ่อ ส่วนแม่ของเขามาจากครอบครัวเทศมนตรีแห่งเมืองสแตรตเฟิร์ด-อะพอน-เอวอน (Stratford-upon-Avon) ขณะเขามีอายุราว 18 ปี (ปี 1625) เขาสูญเสียพ่อและพี่น้องหลายคนจากโรคระบาด

ก่อนแม่ของเขาจะแต่งงานใหม่และส่งเขาไปเรียนที่ ‘Emmanuel College’ วิทยาลัยหนึ่งใน ‘มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์’ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นอันดับ 3 ของอังกฤษ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษในปี 1627

เขาเข้าศึกษาและเรียนจบระดับปริญญาตรีในปี 1631 ก่อนจะเรียนต่อในระดับปริญญาโทและจบการศึกษาในอีก 4 ปีให้หลัง หลังเรียนจบเขาแต่งงานในปีถัดมา และล่องเรือสู่ ‘New England’ ในแผ่นดินอเมริกา

ในปี 1637 เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยศิษยาภิบาลของโบสถ์ในชาร์ลสทาวน์ ‘First Church of Charlestown’ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใฝ่รู้และเคร่งศาสนา ก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการเพื่อช่วยรวบรวม ‘Body of Liberties’ อันเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกที่ถูกจัดทำขึ้นในนิวอิงแลนด์

เพียงแค่ 1 ปีหลังจากเดินทางมาถึงนิวอิงแลนด์ เขาก็เสียชีวิตลงด้วยวัณโรคด้วยวัยเพียง 31 ปี เขาทำพินัยกรรมมอบมรดกครึ่งหนึ่งของตัวเองและวรรณกรรมคลาสสิกให้กับโรงเรียนที่เพิ่งก่อตั้งใน ‘นิวทาวน์’ ที่เตรียมจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เคมบริดจ์’ ก่อนศาลทั่วไปแห่งแมสซาชูเซตส์จะมีคำสั่งให้ตั้งชื่อโรงเรียนแห่งนั้นว่า ‘Harvard College’ หรือ ‘วิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ ที่ต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในที่สุด เพื่อเป็นการขอบคุณผู้มีพระคุณคนแรกของสถาบัน

ในปี 1828 หรืออีก 190 ปีต่อมา หลังจาก ‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’ เสียชีวิตลง ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้สร้างอนุสาวรีย์จากหินแกรนิตเพื่อรำลึกถึง ‘จอห์น’ ในฐานะ ‘ผู้มีพระคุณด้านการศึกษาและศาสนาที่ควรถูกจดจำของสหรัฐอเมริกา’

‘จอห์น ฮาร์วาร์ด’ ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่มรดกจากความตั้งใจของเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘ฮาร์วาร์ด’ เติบใหญ่และสร้างคุณูปการให้กับโลกตลอดหลายร้อยปีหลังเขาจากไป

 

อ้างอิง:

Harvard

Harvard’s history

Britannica-Harvard

Britannica-JohnHarvard

North Americ Study

Forbes