‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 15’ กษัตริย์ฝรั่งเศสยุค ‘ปกครองบนเตียง’ โค้งสุดท้ายก่อนปฏิวัติ 1789

‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 15’ กษัตริย์ฝรั่งเศสยุค ‘ปกครองบนเตียง’ โค้งสุดท้ายก่อนปฏิวัติ 1789

การกลับมาของ ‘จอห์นนี เดปป์’ มาพร้อมงานแสดงในบท ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 15’ กษัตริย์ฝรั่งเศสยุค ‘ปกครองบนเตียง’ โค้งสุดท้ายก่อนห้วงปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 วัยหนุ่มพระองค์อยู่กับสตรีที่เฉยชา เมื่อชรากลับมี ‘หญิงงามเมือง’ ในภาพยนตร์ Jeanne du Barry

  • พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 กษัตริย์ที่ปกครองฝรั่งเศสยุคโค้งสุดท้ายก่อนจะเกิดการปฏิวัติเมื่อปี ค.ศ. 1789
  • ตัวตนของพระองค์ถูกเล่าขานในเชิง กษัตริย์ยุคปกครองบนเตียง มีเรื่องราวพัวพันกับสตรีหลากหลายรูปแบบ รวมถึงมาดาม ดู บาร์รี  สนมคนดังในประวัติศาสตร์

บทนำ

ปกติการรายงานข่าวความเคลื่อนไหววงการบันเทิงของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ไม่สู้จะมีอะไรให้เป็นที่ฮือฮา(สายบันเทิง)มากนัก แต่เมื่อไม่นานมานี้ การเปิดตัวภาพยนตร์ดราม่าอิงประวัติศาสตร์ฟอร์มยักษ์ของฝรั่งเศสเรื่อง ‘Jeanne du Barry’ ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผู้ที่จะรับบทแสดงนำฝ่ายชายคือ ‘ป๋าเดปป์’ หรือ ‘จอห์นนี่ เดปป์’ (Johnny Depp) จะมารับบทเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

และไมเวนน์ เลอ เบสโก (Maïwenn Le Besco) นักแสดงสาวมากฝีมือชาวฝรั่งเศสก็จะเป็นทั้งผู้กำกับและรับบทนักแสดงนำฝ่ายหญิง โดยเธอจะรับบทเป็นจาน ดู บาร์รี่ (Jeanne du Barry) หรือ ‘มาดาม ดู บาร์รี’ (Madame du Barry) พระสนมคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 

แน่นอนว่าเรื่องของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งคาบเกี่ยวยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตั้งแต่ต้นจนปลาย (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.1715-1774) เป็นช่วงเวลาสำคัญหนึ่งของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ยุโรป และโลกสากล เพราะเป็นช่วงไม่นานนักก่อนจะเกิดการปฏิวัติเขย่าโลกอย่างการปฏิวัติอเมริกา ค.ศ.1776 กับการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789

เหตุการณ์ต่าง ๆ ในแวดวงสังคมชนชั้นสูงของฝรั่งเศสช่วงนั้นย่อมมีมากมายหลายหลาก แต่เรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นพล็อตให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายสูงศักดิ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ฝรั่งเศส กับหญิงสาวจากชนชั้นล่างซึ่งฝึกปรือวิทยายุทธ์ด้านการให้ความสุขทางเพศรสแก่ผู้ชายอยู่หลายปีในซ่องโสเภณีแห่งหนึ่งกลางกรุงปารีส   

  

ยุคสุริยกษัตริย์ (Age of the “Sun King”) ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ฝรั่งเศส

ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เป็นยุคคั่นกลางระหว่างยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์บูร์บอง (House of Bourbon) อย่างยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งถือเป็นยุคตกต่ำถึงขีดสุดจนถึงกับถูกปลงพระชนม์ด้วยกิโยติน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สร้างมรดกตกทอดไว้ให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 หลายประการ แต่เรื่องหลักใหญ่ใจความเลยนั้นมี 2 อย่างคือ “พระราชวังแวร์ซาย” กับ “ความเป็นสุริยกษัตริย์” (Sun King)

พระราชวังแวร์ซายนอกจากเป็นสถานที่ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สร้างอย่างใหญ่โตวิจิตรตระการตามอย่างศิลปะบาโรคแล้ว ยังเป็นที่ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใช้ในทางการเมืองการปกครอง แวร์ซายเป็นที่ที่ห่างออกไปจากปารีสกว่า 60 กม. ไม่มีชุมชน ไม่มีประชาชนแวดล้อม เป็นพระราชวังตั้งอยู่ท่ามกลางแหล่งล่าสัตว์หาความสำราญของชนชั้นสูง จึงง่ายที่จะทำให้ผู้ครอบครองพระราชวังแห่งนี้เป็นศูนย์กลางและทุกสิ่งทุกอย่าง  เพราะตั้งอยู่แยกขาดจากเจ้าของบ้านเมืองที่แท้จริงคือประชาชนชาวฝรั่งเศส

พระราชวังแวร์ซายเป็นที่เฉพาะของชนชั้นสูง เมื่อองค์ประมุขไปพำนักอยู่และเป็นที่ที่จะทรงใช้อำนาจบริหารราชกิจสั่งการต่าง ๆ ก็ทำให้ขุนนางและพวกพระ จะต้องเดินทางมาเข้าเฝ้า เพื่อความสะดวกขุนนางและพระเหล่านี้ก็จำเป็นจะต้องมีที่พักชั่วคราวอยู่ภายในพระราชวังด้วย จึงได้เกิดการสร้างอะพาร์ตเมนต์ขึ้นภายในพื้นที่พระราชวังแวร์ซาย ทำให้พวกขุนนางและพระต้องถูกตัดขาดจากที่ดินและแรงงานรับใช้ของตน อันเป็นขุมกำลังทางเศรษฐกิจและอำนาจทางสังคมของขุนนางเจ้าที่ดินและพวกพระ หันมาทำงานใกล้ชิดกับกษัตริย์แทน  

ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ยุโรปผ่านพ้นยุคแห่งความมืดมนอนธกาลจากการถูกครอบงำโดยศาสนจักร มาฟื้นฟูวิทยาศาสตร์และศิลปะวิทยาการ นำมาซึ่งยุคใหม่ที่เป็นพื้นฐานให้แก่โลกสมัยในเวลาต่อมา

องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันขณะนั้นมาระยะหนึ่งแล้ว ก็คือความเชื่อที่ว่าโลกมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล หากแต่คือดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางและให้แสงสว่างแก่มวลมนุษยชาติ

ระยะนี้ราชวงศ์บูร์บองของฝรั่งเศสจึงได้มีการปรับตัวเข้าหาความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ดังกล่าว มีการสร้างตราสัญลักษณ์ถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นรูปดวงอาทิตย์ และตั้งพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ว่า “สุริยกษัตริย์” (Sun King) พร้อมทั้งชุดคำอธิบายต่าง ๆ ที่สร้างความเป็นศูนย์กลางให้แด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้เป็นประดุจดั่งดวงอาทิตย์ของสุริยจักรวาล

“Sun King” กลายเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐและสังคมของฝรั่งเศสที่ได้รับการปฏิบัติจริง ควบคู่กับทฤษฎีที่เปรียบรัฐและสังคมเป็นเหมือนร่างกายมนุษย์ (Organic state theory) โดยมักเปรียบกษัตริย์เป็นเหมือนศีรษะหรือสมอง ขุนนางเป็นแขนขาของกษัตริย์ ไพร่และทาสเป็นมวลกาย วาทะหนึ่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อันโด่งดังเป็นที่จดจำและถือเป็นการสรุปรวบย่อใจความสำคัญหลัก ๆ ของความเป็น Sun King ก็คือวาทะที่ทรงตรัสไว้ว่า “ข้าคือรัฐ” (L'etat c'est moi)

Passion ความหลงใหลปลาบปลื้มปีติกับการที่เหล่าขุนนางกับพระยกย่องเป็น “สุริยกษัตริย์” เป็นที่รับรู้ไปทั่ว แม้แต่สยามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อส่งคณะทูตมีออกพระวิสุทธิสุนทร (โกษาปาน) เป็นหัวหน้าคณะไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตามหนังสือ “คู่มือทูตตอบ” สำหรับให้โกษาปานและคณะทูตตอบ 

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงตรัสถามว่า กษัตริย์อยุธยาสืบเชื้อสายมาจากไหน ก็ยังให้คณะทูตตอบอย่างเอาอกเอาใจว่า สืบมาจาก “สมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร์” ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าที่ออกพระนามว่า “พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์”

แต่ในด้านกลับกัน Sun King เป็นเพียงทฤษฎีหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ที่ตกทอดไปให้แก่อีกสองรัชสมัยต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นระบอบที่ขึ้นกับบุคลิกความสามารถและความเข้มแข็งของกษัตริย์แต่ละพระองค์ค่อนข้างสูง ไม่อาจพัฒนาสืบทอดไปเป็น “สถาบัน” ที่มั่นคงลงหลักปักฐานได้อย่างยั่งยืน เพียงแต่กษัตริย์ฝรั่งเศส 3 พระองค์ภายใต้ระบอบดังกล่าวนี้ 2 พระองค์แรกครองราชย์ยาวนานรวมกันเป็นเวลากว่า 131 ปี เลยดูเหมือนมีเสถียรภาพ แต่ที่จริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ 

 

กษัตริย์ผู้คลั่งรักกับการปกครองบนเตียง

รัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นยุคที่ยาวนานครองราชย์อยู่กว่า 72 ปี (ค.ศ.1643-1715) ภายหลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สวรรคตอย่างกะทันหัน เจ้าชายหลุยส์ ดยุคแห่งอองจู ผู้มีสมญาว่า “Louis XV de France” (หลุยส์แก็งเดอฟรองซ์) หรือ “หลุยส์ผู้เป็นที่รัก” (Louis be love or Louis le Bien-Aimé) ก็ได้ขึ้นสืบราชสมบัติในขณะยังทรงพระชนมายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น กว่าจะว่าราชกิจได้ก็อีก 15 ปีต่อมา 

ถึงแม้ว่ายุคสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จะยาวนานเช่นกัน เป็นเวลากว่า 59 ปี (ค.ศ.1715-1774) ยาวนานเป็นอันสองรองจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สวรรคตไปก่อนหน้าจะเกิดการปฏิวัติอเมริกาเพียง 2 ปี และก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส 15 ปี และก็เป็นช่วงที่มีการทำสงครามขยายอำนาจมากอีกช่วงหนึ่ง เพราะมีการแข่งขันกับอังกฤษซึ่งได้กลายเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินไปแล้ว และราชวงศ์ฮับสเบิร์ก (House of Habsburg) ซึ่งปกครองสเปนควบออสเตรียและดินแดนเดิมของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ราชวงศ์บูร์บองที่ครองฝรั่งเศสและนาวาร์ (แคว้นบาสก์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศสเปน) จึงเหมือนอยู่ท่ามกลางศัตรูภายนอกมีศึกสองด้าน

แต่ในด้านพระราชอุปนิสัยส่วนพระองค์นั้น กล่าวกันว่าทรงแตกต่างจากพระอัยยิกาของพระองค์อย่างสำคัญตรงที่มิได้ทะเยอทะยานจะครองอำนาจเหนือทุกคน เพียงแต่ระบอบการเมืองสังคมเป็นยุคที่ต่อเนื่องมาจากรัชกาลที่แล้ว

สิ่งที่ทรงฝักใฝ่หลงใหลจริงจังนั้น ไม่ใช่กษัตริย์ผู้ให้แสงสว่างแก่ชาวโลก หากแต่คือความเป็นนักรักผู้ยิ่งใหญ่  ใช้เวลาแต่ละวัน วันละหลายชั่วโมงอยู่บนที่บรรทมร่วมกับนางสนม จะเรียกรัชสมัยนี้ว่า “ยุคการปกครองจากบนเตียงนอน” (Ruled from the bed) ก็ไม่ผิดนัก

พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางมารี เลสซ์ไซน์สกา (Marie Leszczynska) พระธิดาในกษัตริย์โปแลนด์ แต่งตั้งไว้ในฐานะพระราชินี ทรงมีพระสนมมากมายหลายนาง แต่ที่โปรดปรานมีอยู่ 2 นาง คือ มาดาม เดอ ปองปาดูร์ (Madame de Pompadour) และ มาดาม ดู บาร์รี (Madame du Barry) 

 

มาดาม เดอ ปอมปาดูร์

เอลีนอร์ เฮอร์มัน (Eleanor Herman) กล่าวไว้ในบทนำของหนังสือชื่อ “Sex with King” (ฉบับภาษาไทยแปลว่า “นางในกษัตริย์” โดย โตมร ศุขปรีชา) ว่า 

“หากโสเภณีเป็นอาชีพเก่าแก่ที่สุดของโลก เช่นนั้นแล้ว ศิลปะอันละเอียดอ่อนกว่าของการเป็นนางใน ก็คืออาชีพเก่าแก่อันดับสอง หากเราจินตนาการถึงนางในที่งดงามที่สุด เธอผู้เหมาะสมกับกษัตริย์ เราจะเห็นภาพสลัวระยับของหญิงคนหนึ่งซึ่งมือของเธอนั้นคอยแอบปลุกปั้นประวัติศาสตร์ 

ส่วนใหญ่แล้วเธอจะยืนอยู่ในเงาของโลกใบหนึ่งซึ่งแสงจ้าทั้งหมดสาดส่องจับจ้องยังชายผู้กำลังก่อร่างสร้างประวัติศาสตร์ นาน ๆ ครั้ง เราจึงจะได้ยินเสียงกระโปรงไหมส่ายเสียด หรือได้ยินเสียงหัวเราะราวดนตรีของเธอสะท้อนก้องออกมาจากหลังบัลลังก์”

แม้จะมีพระนางมารี เลสซ์ไซน์สกา (Marie Leszczynska) เป็นมเหสี แต่เนื่องจากทรงเป็นผู้กระหายรักไม่สิ้นสุด จึงแสวงหาผู้มาเติมเต็มให้แก่พระองค์เสมอ ค.ศ.1745 ก็ได้ทรงแต่งตั้งมาดาม มาร์กีซ เดอ ปอมปาดูร์ (Madame Marquise de Pompadour) หญิงสูงศักดิ์ผู้เลอโฉม มาเป็นพระสนม เธอเป็นแบบอย่างของนางในผู้ซุกซ่อนความปรารถนาที่แท้จริงไว้ในส่วนลึก

เธอไม่ใฝ่เรื่องทางเพศ เพราะอาการเจ็บป่วยเป็นโรคติดเชื้อในช่องคลอดเรื้อรัง ในสมัยนั้นยังไม่มีวิธีการและยารักษาที่มีประสิทธิภาพ  ครั้งหนึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ถึงกับคร่ำครวญว่า “ข้าอยู่กับนางนกทะเลเย็นชืด” บางครั้งพระองค์ก็ผิดหวังกับความไม่สามารถตอบสนองความต้องการให้แก่พระองค์ จนต้องลุกออกจากเตียงนอนของเธอไปโดยไม่ได้จูบลาอย่างเคยด้วยซ้ำ

พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เป็นผู้กระหายความใคร่และเริงรมย์ได้วันละหลายครั้ง แต่นางในของพระองค์ประเดี๋ยวดีเดี๋ยวไข้ นางต้องเสแสร้งสนุกไปกับการออกแรงของพระองค์ ด้วยหวังจะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศของตน มาดาม เดอ ปอมปาดูร์ หันมาทดลองสูตรอาหารที่มีเซเลอรี เห็ดทรัฟเฟิล และวานิลลา แต่กลับมีผลร้ายต่อสุขภาพของเธอแทน

สุดท้ายเธอยอมจำนนว่าตัวเองคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพระสวามีได้ เมื่อพบกับเพื่อนสนิทคือ ดัชเชส เดอ บรังกาส์ (Duchesse de Brancas) จึงเล่าความอัดอั้นว่า “ฉันกลัวว่าจะไม่ได้รับใช้พระองค์และจะต้องสูญเสียพระองค์ไป เธอรู้ไหม ผู้ชายนั้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบางเรื่อง แต่ฉันก็โชคร้ายที่เย็นชาเรื่องนี้โดยธรรมชาติ... พระองค์จะต้องเบื่อหน่ายฉัน และหาคนอื่นมาแทน”

ทว่าเราทราบจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ว่า  มาดาม เดอ ปอมปาดูร์ ยังคงอยู่คู่พระวรกายของกษัตริย์ผู้หื่นกระหายชาวฝรั่งเศสพระองค์นี้ต่อมาอีกหลายปี อะไรทำให้มาดามไม่ตกงานไปตั้งแต่แรกเริ่ม? มาดามจัดการกับพระสวามีผู้มีความต้องการไม่สิ้นสุดได้อย่างไร? ในขณะที่เธอกลายเป็นผู้หญิงที่เย็นชา

ดัชเชส เดอ บรังกาส์ ให้คำแนะนำเพื่อนอย่างชาญฉลาดว่า “เธอต้องทำตัวให้พระองค์รู้สึกว่าขาดเธอไม่ได้  ด้วยการทำดีกับพระองค์เสมอ ในเวลาที่พระองค์ต้องการ อย่าบอกปัดพระองค์ จงปล่อยให้เวลาทำงานของมันไป แล้วในที่สุดพระองค์ก็จะผูกพันกับเธอตลอดไป ด้วยอำนาจของความคุ้นชิน”

จากคำแนะนำอันชาญฉลาดหลักแหลมของดัชเชส เดอ บรังกาส์! มาดาม เดอ ปอมปาดูร์ ได้พยายามแปรเปลี่ยนความใคร่ให้เป็นมิตรภาพอันล้ำลึกและยาวนาน เธอเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองที่มีไหวพริบ และเป็นความสำราญพระทัยที่หาไม่ได้จากผู้อื่นของพระองค์ เป็นสิ่งที่พระองค์ขาดหายไป ในท่ามกลางความหรูหราของพระราชวังที่ได้ชื่องดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เต็มไปด้วยขุนนางและพระเจ้าเล่ห์ที่ต้องกำราบให้อยู่ใต้อำนาจเสมอ

ในขณะที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ ที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้มากที่สุดไม่ใช่ใครอื่น คือหญิงสาวที่ร่วมเรียงเคียงหมอนกับพระองค์นั้นเอง พูดง่าย ๆ คือพระองค์ยกมาดาม เดอ ปอมปาดูร์ ไว้ในฐานะเพื่อนและที่ปรึกษาเปรียบเหมือนเมียหลวง แล้วไปหาความสำราญทางเพศเอาจากนางในคนอื่น ๆ

 

มาดาม ดู บาร์รี

เมื่อมาดาม เดอ ปอมปาดูร์ สิ้นพระชนม์ไป ในวัยชราภาพพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามากและอำนาจมั่นคงแล้ว ทรงไม่ได้ต้องการเพื่อนและที่ปรึกษา ทรงต้องการวีรสตรีที่จะเข้ามาเติมเต็มความรู้สึกว่ายังหนุ่มและแข็งแรง กระทั่งทรงพบกับสาวปารีเซียงผู้ช่ำชองนางหนึ่งคือ มาดาม ดู บาร์รี (Madame du Barry) ซึ่งมีดีกรีเป็นอดีตนางโลมชื่อดังของปารีส

เธอใช้สองเต้าไต่เต้าจากซ่องโสเภณีมาสู่หญิงบำเรอของขุนนาง และกระทั่งเข้าสู่พระราชวังแวร์ซายในฐานะพระสนมเอกแทนที่ตำแหน่งเดิมซึ่งเคยเป็นของสตรีสูงศักดิ์อย่างมาดาม เดอ ปอมปาดูร์

จุดพีกที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์สัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง ‘La Favorite’ นักแสดงสาวมากฝีมืออย่างเลอ เบสโก ซึ่งก็เป็นผู้กำกับของเรื่องด้วย เลือกถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ในช่วงที่มีสัมพันธ์สวาสกับมาดาม ดู บาร์รี นางในคนสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แทนที่จะเลือกสตรีที่มาจากชนชั้นสูงที่เพียบพร้อมอย่างมาดาม เดอ ปอมปาดูร์ แต่เรื่องของมาดาม ดู บาร์รี ก็นับว่ามีสีสันไม่แพ้เรื่องของหญิงชนชั้นสูงอย่างใน The Crown ซึ่งเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์อังกฤษยุค Queen Elizabeth

กล่าวกันว่ามาดาม ดู บาร์รี เดินเข้ามาสู่ชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ได้จังหวะพอเหมาะพอดี หากมาไวกว่านี้ นางจะไม่อาจทาบรัศมีเจิดจรัสของมาดาม เดอ ปอมปาดูร์ หรือหากมาช้ากว่านี้ กษัตริย์ชราก็อาจถูกสภาพสังขารเข้าครอบงำจนไม่มีกำลังวังชาที่จะควบม้าทำศึกได้เหมือนแต่ก่อน กลายเป็นว่ากษัตริย์ผู้ได้ชื่อว่าหมกมุ่นมากที่สุดพระองค์หนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรป ในวัยหนุ่มพระองค์กลับใช้ชีวิตอยู่กับ “นางนกทะเลที่เย็นชืด” แต่เมื่อชรากลับได้อยู่กับ “หญิงงามเมือง” ที่ช่ำชองที่สุดแห่งยุค

เมื่อเห็นกษัตริย์ทรงเศร้าพระทัยต่อการจากไปของมาดาม เดอ ปอมปาดูร์ ขุนนางเฒ่าเสเพลและผู้ภักดีอย่างดยุค เดอ ริเชอลิเย่ (duc de Richelieu) ซึ่งได้เริงรมย์กับสาวปารีเซียงผมบลอนด์แสนสวยนางหนึ่ง ก็ได้แนะนำนางผู้นี้ให้แก่กษัตริย์ของเขา หลังการพบกันครั้งแรกผ่านไป พระราชากล่าวกับดยุคว่า “ข้าพึงพอใจกับผู้หญิงของเจ้ามาก นางเป็นผู้หญิงเดียวในฝรั่งเศสที่ทำให้ข้าลืมได้ว่าข้าอายุหกสิบ”

แทนที่จะนอนกับเธอ แล้วให้เธอกลับไปเหมือนอย่างคนอื่น ๆ พระองค์กลับรั้งเธอไว้ ทรงกล่าวแก้เกี้ยวกับพระสหายของพระองค์ว่า ทรงค้นพบ “ความรื่นรมย์ใหม่” ดยุคตอบอย่างดูแคลนว่า “พะย่ะค่ะ เป็นเพราะพระองค์ไม่เคยเสด็จไปยังซ่องนางโลมมาก่อนน่ะสิ” แต่นั่นก็หมายถึง ดยุคยอมยกนางให้แก่พระองค์

เลอ เบล (Le Bel) ข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์ซึ่งเคยทำหน้าที่จัดหาผู้หญิงมาถวาย ตระหนักดีว่าเจ้านายของตนกำลังลุ่มหลงสตรีที่ไม่เหมาะสมกับพระองค์อย่างยิ่ง และตัวเขาก็ไม่พอใจที่จะได้ “นายหญิงคนใหม่” เป็นอดีตนางโลม เขาได้แสดงความกล้าหาญโดยการกราบทูลให้พระองค์ทรงอย่าเพิ่งรีบตัดสินพระทัยที่จะแต่งตั้งมาดาม ดู บาร์รี แต่แล้วทันใดนั้นพระราชาก็ทรงพิโรธ เลอ เบล ถูกสั่งให้หุบปากทันที หลังจากนั้นไม่นานเลอ เบล ก็ถึงแก่ความตายไปอย่างเงียบ ๆ

แพทย์ประจำราชสำนักเป็นอีกผู้หนึ่งที่เคยกราบทูลคัดค้าน โดยหยิบยกเหตุผลทางการแพทย์ว่า สตรีที่อายุน้อยกว่าพระองค์มากเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อหัวใจของพระองค์ สตรีสูงวัยเป็นผลดีต่อหัวใจของพระองค์มากกว่า แต่พระราชาก็ไม่ฟังคำคัดค้าน ทรงไม่หวั่นแม้แต่น้อยว่าสตรีอายุน้อยจะทำให้พระองค์ต้องหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ความตายของเลอ เบล ตลอดจนความไร้ประสิทธิผลของข้ออ้างทางการแพทย์ของแพทย์หลวงประจำราชสำนัก ทำให้ทุกคนในพระราชวังแวร์ซายตระหนักได้ถึงระดับความปรารถนาที่กษัตริย์แห่งดวงอาทิตย์พระองค์นี้ ทรงมีต่อดรุณีนาม “จาน ดู บาร์รี” (Jeane du Barry)

เมื่อปราศจากเสี้ยนหนาม “มง” ก็ลงมาที่พระนางเป็นที่เรียบร้อย ขณะเดียวกันข้าราชสำนักอื่น ๆ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นกษัตริย์สดใสถึงเพียงนี้มาก่อน พระองค์ดูหนุ่มขึ้นและดูมีชีวิตชีวามากกว่าที่เคย

ทว่าในช่วงปลายก่อนสิ้นพระชนม์เพียง 2-3 สัปดาห์ กษัตริย์แห่งประเทศซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับต้นของโลกสมัยนั้น ในวัย 64 ชันษาก็ทรงตระหนักว่า แม้แต่ มาดาม ดู บาร์รี ก็ไม่อาจปลุกเร้าพระองค์ให้ลืมความจริงของชีวิตที่ว่าพระองค์ไม่ใช่ชายที่ยังหนุ่มแน่นและทรงพลังอีกต่อไปแล้ว จึงโอดครวญกับแพทย์ว่า “ข้าแก่แล้ว คงถึงเวลาที่ต้องรั้งบังเหียนม้าให้เพลา ๆ ลงบ้าง”

แพทย์ทูลตอบโดยทันทีว่า “ข้าแต่พระองค์ นี่ไม่ใช่เรื่องของการรั้งบังเหียนม้าแล้ว จะดีกว่าหากพระองค์ถอดบังเหียนออกเสียเลย” หากเป็นในช่วงที่ยัง “ข้าวใหม่ปลามัน” แพทย์หลวงอาจจะเผชิญชะตากรรมเดียวกับข้ารับใช้คนสนิทอย่างเช่น เลอ เบล ไปแล้วก็เป็นได้

กล่าวกันว่าแม้ในช่วงเวลาสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ เมื่อฝีดาษคุกคามจนพระวรกายผิดประหลาดเต็มด้วยปุ่มปมผุพอง สิ่งสุดท้ายที่พระองค์เอื้อมพระหัตถ์ไปสัมผัสนั้นก็คือหน้าอกตูม ๆ ของมาดาม ดู บาร์รี เรียกได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ในตำนานที่ “สวรรคตคาอก” อย่างแท้ทรู จะมีฉากนี้ในหนังที่จอห์นนี่ เดปป์ เล่นหรือไม่  ณ เวลานี้ไม่อาจทราบได้ แต่เชื่อว่าใครที่พอจะรับรู้พระราชประวัติตรงนี้ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรป จะต้องรอดูอยู่แน่ ๆ (ฮา ๆ)

 

รักในราชสำนักแวร์ซาย และ #ชนวนเหตุการณ์ปฏิวัติปารีส1789 

ในผลงานประวัติศาสตร์ยุโรปชิ้นสำคัญอย่างเล่ม “Sex with King” (นางในกษัตริย์) เอลีนอร์ เฮอร์มัน ผู้เขียนซึ่งมีมุม Gender ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัณหาความมักมากของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 อาจสืบทอดหรือได้ต้นแบบแรงบันดาลใจมาจากบรรพบุรุษของพระองค์คือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ซึ่งแสดงความเป็นชายเข้มแข็งและหนุ่มตลอดกาลผ่านการมอบครรภ์ให้แก่นางในไม่หยุดหย่อน

นางในบางคนตั้งครรภ์กับกษัตริย์ 4 คนในรอบ 7 ปี บางคนให้กำเนิดบุตร 7 คนในเวลา 9 ปี อย่างมาดาม เดอ แมงต์เตอนง (Madame de Maintenon) สตรีผู้เคร่งศาสนา ผ่านช่วงหมดประจำเดือนไปแล้วเมื่ออภิเษกสมรสอย่างลับ ๆ ในวัย 75 ชันษา ถึงบ่นเวิ่นเว้อกับบาทหลวงว่า “กษัตริย์ยืนกรานจะมีเซ็กซ์ทุกวัน บางคราวก็วันละหลายครั้ง” บาทหลวงตอบว่า “เนื่องเพราะพระเจ้าแต่งตั้งให้เธอคอยปกป้องพระองค์ให้พ้นบาป เธอจึงควรอดทน”

วิธีการสำคัญหนึ่งที่ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใช้สร้างความนิยม รักษาพระราชอำนาจ ตลอดจนการควบคุมเหล่าขุนนางเจ้าที่ดิน นอกจากการบังคับให้ต้องเดินทางไกลมาเข้าเฝ้าอยู่ตลอดจนพวกเขาห่างเหินจากฐานกำลังในที่ดินของตัวเองแล้ว หลังเสร็จการประชุมว่าราชกิจ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังมักจัดให้มีงานรื่นเริงอย่างงานราตรีหน้ากาก ซึ่งมีกติกาให้ชายหญิงทุกคนในงานจะต้องสวมหน้ากากปิดบังโฉมหน้าแล้วพบปะพูดคุยเต้นรำกันตามอัธยาศัย ถูกใจกันก็สามารถ “ไปต่อ” ได้ในที่ลับ

อาจเป็นห้องใดห้องหนึ่งในอะพาร์ตเมนต์ที่อยู่ภายในพระราชวัง สวนหย่อมข้าง ๆ หรืออย่างในรถม้า แล้วก็แยกย้ายกันไปไม่สานต่อความสัมพันธ์ในที่สาธารณะ 

สามีภรรยาขุนนางที่ชีวิตคู่ไม่มีความสุขเพราะต่างต้องแต่งงานด้วยวิธีคลุมถุงชน งานรื่นเริงแบบนี้กลายเป็นความสุขสันต์หรรษาที่มาเติมเต็มชีวิตที่ขาดหายไปก่อนจะถูกจับแต่งงาน สำหรับขุนนางที่ซุกซน งานรื่นเริงที่แวร์ซายคือโอกาสที่อาจจะได้ ‘กุ๊กกิ๊ก’ กับเมียเพื่อนโดยไม่มีความผิด

แม้แต่สตรีชั้นสูงคู่ปรับของมาดาม ดู บาร์รี อย่างพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) ก็เคยมาพบขุนนางหนุ่มรูปงามในงานนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บางครั้งก็ทรงสวมหน้ากากปลอมพระองค์มาอยู่ในงานนี้ด้วย

สังคมชาวฝรั่งเศสมีความเชื่อว่า หากผู้ชายตามใจตนเองในเรื่องเพศมากเกินไป จะทำให้เป็นโรคเกาต์ ท้องผูก ลมหายใจเหม็น และจมูกแดง ทั้งหมดนี้พระเจ้าหลุยส์ (ทั้ง 14, 15 และ 16) ต่างก็ทรงมีพระอาการหมด ทว่ายังไม่พอจะระงับความกระหายได้

พฤติกรรมความหมกมุ่นตลอดจนความเป็นไปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่พระราชวังแวร์ซาย ไม่ได้เงียบหายไปกับสายลมและทิวป่าที่แวดล้อมพระราชวัง หากแต่ลอยไปตามทางรถม้าถึงเมืองหลวงซึ่งอยู่ห่างกว่า 60 กม.

ประชาชนชาวปารีสได้รับรู้รับฟังเรื่องราวว่า กลุ่มชนชั้นผู้นำผู้ซึ่งพวกเขาจ่ายภาษีให้ไปนั้น อยู่อย่างสุขสำราญเพียงใดในท่ามกลางช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังเผชิญความทุกข์ยากจากเศรษฐกิจตกต่ำและโรคระบาดรุมเร้า

พระราชวังแวร์ซายเป็นสถานที่ปลีกวิเวกห่างจากชาวเมืองปารีสที่ชอบก่อความวุ่นวายให้แก่พระราชวงศ์ ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ใช้เป็นศูนย์กลางอำนาจแทนที่พระราชวังในกรุงปารีส เป็นที่ที่กษัตริย์สามารถเกษมสำราญได้อย่างแยกขาดจากประชาชนของพระองค์ และพระราชวังนี้ตลอดจนประเพณีที่เกี่ยวข้อง ต่างสืบทอดมาจนถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

ความที่ทรงโปรดปรานผู้หญิงเป็นที่ทราบกันดี แม้แต่ในหมู่นักปฏิวัติเสรีนิยมช่วงที่ฝรั่งเศสเกิดขาดแคลนอาหาร ก็ได้จัดตั้ง “กองทัพแม่บ้าน” เดินเท้าจากปารีสไปแวร์ซาย เพื่อนำ “คนขายขนมปังกับลูกเมีย”กลับคืนมาสู่ปารีส นอกจากการร้องขอขนมปัง นัยก็คือการเรียกร้องให้พระราชวงศ์กลับมาสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของพระองค์ ซึ่งก็ทำสำเร็จแต่สายเกินไปจนไม่อาจดับไฟการปฏิวัติที่กำลังลุกโชนอยู่ในขณะนั้นแล้ว

 

บทสรุป และ ส่งท้าย

“คนขายขนมปังกับลูกเมีย” ที่นักปฏิวัติฝรั่งเศสยุคนั้นกล่าวถึงก็คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับราชวงศ์บูร์บอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ฝรั่งเศสให้อำนาจแก่ผู้ชายซึ่งเป็นกษัตริย์อย่างสูง แต่เมื่อผู้ชายตกอยู่ภายใต้อำนาจสตรี สตรีจึงคือผู้มีอำนาจที่แท้จริงอยู่หลังฉากอีกต่อหนึ่ง และสตรีผู้มีบทบาทดังกล่าวนี้ก็ตกเป็นจำเลยของสังคมไปด้วย

เมื่อประชาชนเดินขบวนไปเรียกร้องขนมปังที่แวร์ซาย มีเรื่องเล่าลือกันว่า ครั้งนั้นพระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) พระราชินีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตรัสว่า “ก็ให้พวกเขากินเค้กไปสิ” ดังนั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ.1789 พระนางก็ถูกพิพากษาให้เผชิญกิโยตินไปพร้อมกับพระสวามี

ก่อนถูกประหารด้วยกิโยติน มีหลักฐานระบุว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตรัสต่อประชาชนชาวฝรั่งเศสว่า ทรงบริสุทธิ์ปราศจากมลทินต่อทุกข้อกล่าวหาที่กลุ่มหัวรุนแรงยัดเยียดให้ การส่งกองทัพไปสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา ค.ศ.1776 เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมในยุโรปว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มิได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ทรงต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปัจจุบันทันด่วนและรุนแรงแบบที่เกิดขึ้น เมื่อมองว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไม่ใช่ปัจจัยที่นำไปสู่ 1789 ผู้ที่ตกเป็นจำเลยจึงไม่ใช่ใครอื่นคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

นอกจากนี้ การส่งกองเรือรบข้ามทะเลไปช่วยอเมริกาในการทำสงครามปลดแอกจากอังกฤษ ยังมีประเด็นให้ต้องพิจารณาว่า แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงความพยายามที่จะกำจัดแหล่งทรัพยากรอันมหาศาลของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งเป็นคู่แข่งขันกับจักรวรรดิฝรั่งเศสอยู่ในเวลานั้น มากกว่าที่จะเป็นการสนับสนุนการปฏิวัติโดยมีอุดมการณ์เห็นพ้องด้วยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าความรุนแรงย่อมไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่ว่าฝ่ายใดและไม่ควรเกิดขึ้นในทุกกรณี และดูเหมือนว่าในหมู่ชนชั้นสูงของฝรั่งเศสเองก็อาจจะมีคนเห็นเค้าลางของความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างแล้วเหมือนกัน ดังที่มาดาม เดอ ปอมปาดูร์ ผู้ซึ่งเป็น “หลังบ้าน” ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 อยู่หลายปี ได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งว่า “เมื่อสิ้นข้า จะเกิดน้ำท่วมใหญ่” (Après moi le déluge!)

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: [ซ้าย] จอห์นนี เดปป์ ภาพจาก Getty Images [ขวา] ภาพวาด พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 โดย Maurice-Quentin de La Tour (1748)

อ้างอิง:

Anderson, Perry. Lineages of the Absolutist State. London: Verso, 1993.

Crouch, Christian Ayne. Nobility Lost: French and Canadian Martial Cultures, Indians, and the End of New France. Ithaca: Cornell University Press, 2016.

Mitford, Nancy. The Sun King. London: Folio, 2011.

Perry, Mervin. Western Civilization: Ideas, Politics, and Society. 
Wadsworth: Cengage Learning, 2013.

Rude, George. The French Revolution. London: Weiden-feld & Nicolson, 1988.

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลกจากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.

จรัล ดิษฐาอภิชัย. การปฏิวัติฝรั่งเศส: จากวันยึดคุกบาสตีลถึงวันสถาปนาสาธารณรัฐ (1789-1792). กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, 2538.

พีรวุฒิ เสนามนตรี. The French Revolution ปฏิวัติฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: ยิปซีกรุ๊ป, 2562.

ไรท์, ไมเคิล. “ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม : เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่เปิดเผยใหม่” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548 [ออนไลน์] https://www.silpa-mag.com/history/article_7424 [เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563].

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ์. ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ.1492-1815. กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2554.

อาทิตย์ทิพอาภา, พระองค์เจ้า. ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : โฆษิต, 2549.

เฮอร์มัน, เอลีนอร์ (Eleanor Herman). นางในกษัตริย์ (Sex with King). แปลโดย โตมร ศุขปรีชา, กรุงเทพฯ: มติชน, 2553.