ไขปริศนาไวรัลเรื่องการค้นพบ ‘คฤหาสน์ร้าง’ กลางป่า จ.ระนอง บ้านอดีตเจ้าเมือง หรือของใคร?

ไขปริศนาไวรัลเรื่องการค้นพบ ‘คฤหาสน์ร้าง’ กลางป่า จ.ระนอง บ้านอดีตเจ้าเมือง หรือของใคร?

ไขปริศนาเรื่องไวรัลว่าด้วยการค้นพบ ‘คฤหาสน์ร้าง’ กลางป่า เชิงเขาพริกไทย จังหวัดระนอง ว่ากันว่าเป็นบ้านของอดีตเจ้าเมืองระนอง หรือของใคร?

  • ภาพคฤหาสน์ร้างกลางป่าที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ชาวไทยสนใจความเป็นมาของบ้านเก่าหลังนี้
  • มีข้อมูลเกี่ยวกับบ้านหลังนี้หลากหลาย ข้อมูลหนึ่งมาจากคุณโกศล ณ ระนอง ทายาทรุ่นที่ 5 ของเจ้าเมืองผู้เป็นต้นตระกูล ณ ระนอง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นบ้านของพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่หงี่ ณ ระนอง) เจ้าเมืองระนองคนที่ 3

ช่วงมีนาคม – เมษายน 2566 มีข่าวฮือฮาเกี่ยวกับการค้นพบทางโบราณคดีในสื่อโซเชียล สร้างความตื่นเต้นแก่คนในพื้นที่จังหวัดระนอง รวมทั้งผู้สนใจประวัติศาสตร์และโบราณคดี หลังจากที่มีการถางป่าปรับพื้นที่ใหม่เพื่อเตรียมทำหมู่บ้านจัดสรร ตรงบริเวณเชิงเขาพริกไทย ในเขต ต.บางนอน อ.เมือง จ.ระนอง เมื่อได้ถางป่าที่เคยรกทึบออกจากเนินเขาเสียจนเกือบเกลี้ยงเกลา สิ่งที่ถูกซ้อนเร้นใต้ดงทึบมาอย่างยาวนาน ก็ได้เปิดเผยสู่สายตาชาวระนอง

มันคือคฤหาสน์ร้างหลังใหญ่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม สิ่งที่สร้างความตกตะลึงยิ่งกว่านั้น คือศิลปะสถาปัตยกรรมอันงดงามที่ผ่านกาลเวลามากเกินกว่าร้อยปี

เดินทางสู่เขาพริกไทย

หลังจากที่ทราบข้อมูลทางสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการค้นพบคฤหาสน์ร้างหลังนี้มาได้สักระยะ เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดระนอง จึงไปสำรวจพื้นที่เขาพริกไทย อันเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นาน

เส้นทางสู่เขาเพริกไทยนั้น ไม่ซับซ้อนมากเท่าใดนัก เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองขึ้นไปทางเหนือเพียง 4 กิโลเมตร บนเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น สุสานเจ้าเมืองระนอง, ประภาคารด่านศุลกากรระนอง และหาดชาญดำริ

ในวันที่เดินทางไปสำรวจนั้น ผู้เขียนยังได้พบกับ คุณธนกร สุวุฒิกุล หรือ ‘พี่โต’ นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการ อบจ.ระนอง ทั้งยังเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองระนอง เป็นผู้นำชม และถ่ายทอดข้อมูลจากการศึกษาเรื่องราวของคฤหาสน์ร้างแห่งนี้

บนเส้นทางเข้าสู่ที่ตั้งของตัวคฤหาสน์ เดิมทีเคยเป็นสวนยาง โดยต้นยางจะปลูกเรียงกันตั้งแต่ช่วงริมถนนลาดขึ้นไป แต่พอถึงตรงที่เป็นเนินเขา จะมีสภาพเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น นั่นจึงทำให้แทบไม่มีใครรู้เลยว่าบนเนินนั้น มีสิ่งก่อสร้างโบราณซ่อนตัวอยู่ จนในวันที่ผู้เขียนเดินทางไปถึงนั้น สภาพของพื้นที่ที่เห็น เป็นผืนดินสีแดงกว้างไกล มีร่องรอยจากการไถป่าเปิดหน้าดิน เหลือเพียงต้นไม้ประเภทปาล์มกับจันผาขึ้นเป็นหย่อม ๆ เปิดมุมมองให้เห็นเนินเขาด้านในกับตัวอาคารโบราณ ตั้งอยู่บนเนินให้ดูโดดเด่นแลเห็นได้แต่ไกล

ที่มาของการค้นพบ  

การค้นพบคฤหาสน์ร้างเชิงเขาพริกไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จากที่มีเอกชนรายหนึ่งเข้ามาซื้อที่ดินติดเขาพริกไทยจากเจ้าของสวนยาง เพื่อทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งใหม่ จากนั้นก็ได้ทำการถางป่า ปรับพื้นที่ตั้งแต่ที่ราบริมถนน เรื่อยไปจนถึงเนินเขาเล็ก ๆ ที่ต้นไม้ปกคลุมอยู่หนาทึบ และเมื่อทำการโค่นต้นไม้บนเนินออก ตัวคฤหาสน์โบราณ จึงเผยโฉมสู่สายตาของชาวบ้านเชิงเขาพริกไทย

หลังจากนั้น ได้มีกลุ่มคนเข้าไปสำรวจ ถ่ายภาพ แล้วนำมาเผยแพร่ลงในสื่อออนไลน์ (เพจเฟซบุ๊ค ชมรมคนรักมวลเมฆ) เผยภาพถ่ายตัวอาคารโบราณที่มีต้นไม้ปกคลุม ฉายความลึกลับน่าค้นหา และเป็นธรรมดาเมื่อภาพนี้ปรากฏสู่สาธารณะ ก็ได้เชิญชวนให้อาคันตุกะทั้งในและนอกพื้นที่ แวะเวียนเข้ามาเดินชมคฤหาสน์ร้างแห่งนี้กันอย่างคึกคัก รวมทั้งสื่อมวลชนจากหลายสำนักที่เข้ามาถ่ายทำ และนำเสนอออกสู่สายตาประชาชนให้เป็นที่รับรู้มากยิ่งขึ้น

คฤหาสน์ร้างบนเนินเขาที่ถูกปรับพื้นที่ โดยมีเขาพริกไทยเป็นฉากหลัง

สภาพของคฤหาสน์โบราณ

จากทางเข้า เดินลุยดินฝุ่นแดงไปไม่กี่ชั่วหอบ เราได้มาอยู่บนยอดเนินของตัวคฤหาสน์โบราณที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ที่นี่เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีมุขมุมโค้งทรงห้าเหลี่ยมยื่นออกมาเป็นลักษณะของระเบียง ผนังของมุขเจาะหน้าต่างใหญ่ทรงโค้งตรงชั้นล่าง 3 ช่อง และชั้นบน 3 ช่อง บนพื้นเต็มไปด้วยซากอิฐ ชิ้นส่วนกำแพงปูน เศษหลังคาดินเผา และชิ้นส่วนหินอ่อน

ตรงระเบียงว่ากว้างแล้ว เมื่อเข้าไปด้านใน ก็ยิ่งรู้สึกถึงความโอ่โถงกว้างขวางยิ่งกว่า ในตัวบ้านชั้น 1 มีห้องโถงอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยห้องใหญ่ด้านละ 2 ห้อง รวมเป็น 4 ห้อง ในห้องแรกที่ติดประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ มีร่องรอยของคานบันไดที่พอสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นส่วนของทางขึ้นสู่ชั้นบน

ด้านท้ายของบ้านมีห้องแยกออกไปอีก 1 ห้อง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นห้องโถงเล็ก มีร่องรอยบันไดขึ้นไปยังชั้นสองอีกหนึ่งจุด และมีประตูทางออกด้านหลังบ้าน 1 บาน

สภาพโดยรวมด้านในว่างเปล่า ไม่มีร่องรอยของเฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ใดๆ เหลืออยู่ กลางห้องโถงและห้องที่แยกออกไปบางห้องมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นกลางบ้าน ยอดไม้สูงทะลุเพดานอันว่างเปล่าจนโผล่ยอดให้แลเห็นกิ่งก้านสาขาปกคลุมแทนหลังคา เป็นภาพที่ขรึมขลังดูทรงพลังอย่างน่าประหลาด

ชั้นสองของบ้านโล่งว่างเปล่า เพราะพื้นไม้ผุพังทลายหายไปจนหมด แต่ก็ยังเห็นร่องรอยของช่องเสียบคานไม้ตรงรอยต่อของเพดานชั้นล่าง ซึ่งเป็นคานที่ใช้ปูไม้กระดานเป็นพื้นของชั้นที่สองนั่นเอง

ตัวอาคารคฤหาสน์ร้าง

รูปแบบสถาปัตยกรรม

คุณธนากร (พี่โต) ให้ข้อมูลเรื่องศิลปะสถาปัตยกรรมของอาคารที่ได้ศึกษาว่า อาคารลักษณะนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่ชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกกันว่า ‘อังมอเหลา’ ที่แปลว่า ‘ตึกหรือคฤหาสน์ของคนผมแดง’ ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่าเป็นบ้านของพวกฝรั่งนั่นเอง (เช่นการเรียกคนต่างชาติว่าฝรั่งอั้งม้อ) ซึ่งบ้านลักษณะนี้ กำลังเป็นที่นิยมในแถบอาณานิคมอังกฤษบนดินแดนมลายู เช่น สิงคโปร์, ปีนัง, มาเลเซีย ดังนั้น อาคารที่เรียกกันว่า ชิโน - โปรตุกีส หรือ ชิโน - ยูโรเปี้ยน ก็สามารถเรียกรวมกันว่า อังมอเหลา ได้เช่นกัน

ตึกอังมอเหลา เริ่มเป็นที่นิยมแถบภาคใต้ของประเทศไทย ในราวปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ดังปรากฏให้เห็นที่ ภูเก็ต พังงา ตรัง จนมาถึงระนอง

จากการเปรียบเทียบการสร้างตึกอังมอเหลาแห่งแรกในเมืองระนอง พบว่าเป็นบ้านของท่านหลวงพจน์วิจิตร (ตันเชงอุ๋ย) ต้นตระกูลตัณฑะจินะ ที่ตั้งอยู่บนถนนเรืองราษฎร์ ในตัวเมืองระนอง สร้างขึ้นในปีเดียวกันกับบ้านพระพิทักษ์ชินประชา ที่เมืองภูเก็ต  (พ.ศ.2447) ส่วน อังมอเหลา บนเชิงเขาพริกไทยนี้ ยังไม่พบหลักฐานจากเอกสารใด ๆ เลยว่าสร้างขึ้นเมื่อใด?

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบความใหญ่โตของคฤหาสน์ รวมทั้งโลเคชั่นของที่ตั้ง คืออยู่บนเนินเขา หน้าบ้านเป็นที่ราบกว้าง ส่วนด้านหลังเป็นภูเขา ซึ่งเป็นการวางตำแหน่งบ้านตามหลักฮวงจุ้ยที่ถูกต้องตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ นั่นแสดงว่า คฤหาสน์หลังนี้ต้องเป็นของคนใหญ่โตระดับเจ้าเมือง และเมื่อดูช่วงเวลาของการสร้างอังมอเหลาหลังแรกอย่างบ้านหลวงพจน์วิจิตรแล้ว เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า คฤหาสน์ใหญ่แห่งเขาพริกไทยนี้ น่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นภายในบ้าน แทงยอดสูงพ้นเพดานด้านบน

ข้อมูลสำคัญจากทายาทตระกูล ณ ระนอง  

การปรากฏตัวเริ่มแรก ยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่า คฤหาสน์หลังนี้เป็นของใคร สร้างขึ้นเมื่อใด..?

หลังจากนั้น มีการให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของคฤหาสน์หลังนี้กันอย่างหลากหลาย ทั้งจากกลุ่มเครือญาติตระกูล ณ ระนอง หรือผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเริ่มสืบค้นถึงความเป็นมา จนในที่สุด ก็ได้คำตอบจากคุณโกศล ณ ระนอง ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของเจ้าเมืองผู้เป็นต้นตระกูล ณ ระนอง คุณโกศลได้รื้อฟื้นความทรงจำในวัยเด็ก จากคำบอกเล่าของคุณพ่อของท่านว่า ปู่ของท่านเคยมีบ้านอยู่ที่เขาพริกไทย

คุณปู่ของคุณโกศล ณ ระนอง ท่านนี้ก็คือ ‘พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี’ (คอยู่หงี่) เจ้าเมืองระนองคนที่ 3 นั่นเอง..

คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองระนอง จะทราบกันดีว่า เมืองระนองเติบโตขึ้นจากทรัพยากรสำคัญอย่าง ‘แร่ดีบุก’ โดยมีเจ้าเมืองท่านแรกคือท่าน ‘คอซู้เจียง’ ชาวจีนฮกเกี้ยน ที่อพยพเข้ามายังสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านได้สร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นพ่อค้าดีบุก จากนั้นก็ไต่เต้าขึ้นเป็นนายอากร เก็บค่าดีบุกส่งเข้าท้องพระคลังได้อย่างมหาศาล มีความดีความชอบจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงรัตนเศรษฐี’ และต่อมาก็ได้เป็น ‘พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี’ (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก

หลังจากนั้น ก็ได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองต่อไปยังบุตรชาย คือ ‘พระยารัตนเศรษฐี’ (คอชิมก็อง) เจ้าเมืองระนองคนที่ 2 ท่านผู้นี้เคยรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองระนอง พ.ศ.2433

มีประวัติที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ แต่เดิม จวนเจ้าเมืองเก่าตั้งแต่สมัยท่าน คอซู้เจียง เจ้าเมืองระนองคนแรก ตั้งอยู่ริมคลองหาดส้มแป้น แต่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ท่าน ‘คอซิมก๊อง’ ผู้เป็นบุตรชายจึงได้ย้ายจวนขึ้นไปยังที่แห่งใหม่ ใน พ.ศ.2420 ตรงตำบลเขานิเวศน์ ริมถนนเรืองราษฎร์ โดยสร้างเป็นอาคารอิฐสอปูนสดแบบจีน ก่อผนังรับน้ำหนักหนาถึง 6 นิ้ว โครงบนทำด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้อง และใช้เป็นจวนเจ้าเมืองต่อเนื่องมาจนถึงสมัยที่ท่าน ‘คอซิมก๊อง’ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองระนองคนที่ 2 ต่อจากบิดา

ปัจจุบัน จวนหลังนี้ยังปรากฏซากอาคารและกำแพงสูงใหญ่ให้เห็นอยู่ ซึ่งชาวระนองเรียกกันว่า ‘ค่ายเจ้าเมืองระนอง’

ต่อมา พระยารัตนเศรษฐี (คอชิมก๊อง) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ย้ายไปดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร บุตรชายของท่านจึงเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองระนองคนที่ 3 นั่นคือ พระยารัตนเศรษฐี (คอยู่หงี่ ณ ระนอง) ท่านผู้นี้ เป็นผู้ดัดแปลง ‘พระที่นั่งรัตนรังสรรค์’ หรือพลับพลารับเสด็จรัชกาลที่ 5 บนเขานิเวศน์ ซึ่งเดิมเป็นอาคารไม้ ให้เป็นศาลากลางจังหวัดระนอง โดยสร้างเป็นตึกฝรั่งสถาปัตยกรรมแบบชิโน - โปรตุกีส สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2444 นับเป็นอังมอเหลาแห่งที่ 2 ที่ถูกบันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์เมืองระนอง

ดังนั้น ถ้าคฤหาสน์โบราณ ณ เชิงเขาพริกไทย เป็นของพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่หงี่ ณ ระนอง) เจ้าเมืองระนองคนที่ 3 จริง เป็นไปได้ว่า คฤหาสน์หลังนี้ อาจสร้างในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับศาลากลางบนเขานิเวศน์ นั่นเอง

ภาพเจ้าเมืองระนองท่านที่ 1 – 3

ความเปลี่ยนแปลง จากทิ้งร้างสู่การค้นพบ

ด้วยความที่ไม่ปรากฏเอกสารและภาพถ่ายเก่าเกี่ยวกับคฤหาสน์นี้หลงเหลืออยู่เลย มีเพียงคำบอกเล่าจากความทรงจำของคุณโกศล ณ ระนอง ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของเจ้าเมืองระนองเท่านั้น จึงเป็นที่น่าขบคิดต่อไปว่า เหตุใด พระยารัตนเศรษฐี (คอยู่หงี่ ณ ระนอง) จึงเลือกมาสร้างบ้าน อยู่ตรงเชิงเขาพริกไทย ซึ่งห่างออกมาจากจุดศูนย์กลางของเมืองระนอง

เมื่อพิจารณาจากความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ยของจีน ที่มีความเหมาะสมตรงที่

1.) ด้านหลังเป็นภูเขา

2.) การที่ตัวบ้านตั้งอยู่บนเนิน หน้าบ้านเป็นพื้นที่ลาดลงไปยังที่ราบกว้างใหญ่ ทำให้ตัวบ้านนั้นดูโดดเด่นเป็นสง่า สมฐานะความเป็นเจ้าเมือง

3.) พื้นที่นี้อยู่ไม่ไกลจากสุสานของท่านปู่ ซึ่งก็คือ ‘พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง)’ เจ้าเมืองระนองท่านแรก ผู้เปรียบเสมือนดังต้นตระกูลที่สร้างฐานะความมั่นคงให้แก่ลูกหลายสืบมา จนกระทั่งภายหลัง เมื่อบรรดาลูกหลานที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายๆ ท่านถึงแก่อนิจกรรม ก็ได้นำศพมาฝังไว้ในสุสานใกล้เคียงกับท่านคอซู้เจียง

มีเรื่องเล่าในประชุมพงศาวดารภาคที่ 50 เรื่อง ตำนานเมืองระนอง พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เล่าไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จเมืองระนองเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2460 เวลานั้น “..พระยารัตนเศรษฐี ( คอยู่หงี ) บุตรพระยาดำรงสุจริต ( คอซิมก๊อง) ก็ป่วยเป็นโรคอัมพาตทุพลภาพไม่สามารถรับราชการได้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเป็นพระยาดำรงสุจริต และโปรด ฯ ให้พระระนองบุรีศรีสมุทรเขตต์ (คอย่โง้ย บุตรพระยาจรูญราชโภคากร คอซิมเต๊ก) เป็นผู้ว่าราชการเมือง”

น่าสังเกตว่า เมื่อพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่ ณ ระนอง) ป่วยหนักจนไม่สามารถรับราชการได้ รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระระนองบุรีศรีสมุทรเขตต์ หรือ คอยู่โง้ย บุตรพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต๊ก) เป็นผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งตำแหน่งเจ้าเมืองระนองได้เปลี่ยนสายไปอยู่กับเครือญาติอีกสายหนึ่ง ซึ่งพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต๊ก) ผู้นี้ เป็นบุตรชายคนที่ 5 ของท่านคอซู้เจียง และเป็นน้องชายของท่าน ‘คอซิมก๊อง’ เจ้าเมืองระนองคนที่ 2

จนกระทั่ง พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่ ณ ระนอง) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2475 ด้วยความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างทั้งในครอบครัว และสถานการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมือง อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดการดูแลคฤหาสน์หลังนี้อีกต่อไป

อีกทั้งยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากตัวคุณโกศล ณ ระนอง ที่ได้สัมภาษณ์ไว้ในรายการข่าวของช่องไทยรัฐ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ท่าน ‘คอยู่หงี่’ ถึงแก่อนิจกรรม ผู้จัดการมรดกของท่าน ‘คอยู่หงี่’ ได้ขายที่ดินรวมทั้งตัวคฤหาสน์รวม 300 ไร่ให้แก่เอกชนรายหนึ่ง จากนั้น เรื่องราวที่เกี่ยวกับคฤหาสน์อันเป็นนิวาสถานของท่านเจ้าเมืองระนองคนที่ 3 ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนอย่างถาวร

กาลเวลาได้กลืนกินคฤหาสน์หลังใหญ่จากที่เคยหรูหรา ให้ถูกซ่อนเร้นใต้ดงไม้อันหนาทึบ บนเนินดินเชิงเขาพริกไทย เรื่อยมาจนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงบนผืนดินครั้งล่าสุดนี้ ได้เผยโฉมตัวคฤหาสน์โบราณสู่โลกภายนอกอีกครั้ง พร้อมกับการพลิกฟื้นความทรงจำเก่า ๆ รวมทั้งปริศนาอีกหลายสิ่ง ที่รอการสืบค้นกันต่อไป   

คุณธนกร สุวุฒิกุล (พี่โต) นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองระนอง

ขอขอบคุณ

นายธนกร สุวุฒิกุล นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง

อ้างอิง:

1. บทความ “เมืองระนองกับศาลากลาง” จากเว็บไซต์ ranongcities.com

2. บทความ “จวนเจ้าเมืองระนอง เรื่องน่ารู้มากมายภายในกำแพง”. ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนเมษายน 2562

3. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 50 เรื่อง ตำนานเมืองระนอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง สมาชิกในสกุลณระนองพิมพ์ทูลเกล้า ฯ ถวาย สนองพระเดชพระคุณ เมื่อเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พ.ศ. 2471 พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

4. คฤหาสน์เจ้าเมืองระนองร้างกลางป่าลึก100ปี | 15-03-66 | ไทยรัฐนิวส์โชว์ ช่องยูทูบ Thairath Online