กำเนิด ‘วัดธาตุทอง’(ซาวด์) วัดเก่าแก่ สู่โรงเรียนวัด ฉากหลังความทรงจำของ ‘ยังโอม’

กำเนิด ‘วัดธาตุทอง’(ซาวด์) วัดเก่าแก่ สู่โรงเรียนวัด ฉากหลังความทรงจำของ ‘ยังโอม’

เกร็ดเรื่องราวของจุดกำเนิด ‘วัดธาตุทอง’ (ซาวด์) และบรรดาบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อการก่อตัวของ ‘โรงเรียนวัด’ ที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อสังคม ตัวอย่างล่าสุดคือ ‘ยังโอม’ เจ้าของเพลง ‘ธาตุทองซาวด์’

  • ชื่อ ‘วัดธาตุทอง’ ติดหูคนไทยมากเป็นพิเศษในปี 2566 เมื่อกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเพลงและอัลบั้มใหม่ของ ยังโอม (YOUNGOHM) แรปเปอร์รุ่นใหม่ และศิษย์เก่าของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
  • วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นทางการในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะสร้างโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองตามมา

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่ามีวัดวาอารามที่สำคัญมากมาย บางวัดเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ประชาชน มีบทบาทในการพัฒนาสังคมไทยโดยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงบางคนบางท่านซึ่งก็เคยผ่านการเรียนโรงเรียนวัดมาก่อน (เด็กวัด)

และในแต่ละวัดมักจะมีศิลปะที่น่าสนใจอันเป็นเอกลักษณ์แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนามิใช่น้อย เชื่อได้ว่า หลายคนอาจรู้จักวัดต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงกันพอสมควรอยู่แล้ว แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ วัดที่ติดหูคนไทยมากที่สุดช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น ‘วัดธาตุทอง’ ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเพลงธาตุทองซาวด์ ของ ‘ยังโอม’ (YOUNGOHM) ศิลปินแรปเปอร์ชื่อดังที่กำลังมาแรงในขณะนี้

ถึงแม้หลายท่านเคยได้ยินได้ฟังเพลงนี้กันมาบ้างแล้ว แต่ทราบกันหรือไม่ว่า วัดแห่งนี้มีประวัติที่น่าสนใจ อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนชื่อดังย่านเอกมัย นามว่า โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง

วัดธาตุทอง

วัดธาตุทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ตั้งอยู่เลขที่ 1325 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยมี พระราชวรญาณโสภณ (ชุบ เขมงฺกโร) เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

วัดธาตุทอง เดิมไม่ได้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่แรก เมื่อสืบดูจากประวัติศาสตร์ วัดนี้เกิดจากการรวมวัด 2 วัดเข้าด้วยกันคือ วัดหน้าพระธาตุและวัดทองล่าง ประวัติโดยสังเขปของวัดหน้าพระธาตุ เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชื่อว่า วัดหน้าพระธาตุนี้ เนื่องด้วยภายในกลางบริเวณวัดมีพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อันตั้งเป็นสัญญลักษณ์อยู่ตรงหน้าพระอุุโบสถ

ส่วนประวัติโดยสังเขปของวัดทองล่างนั้น ตั้งอยู่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองพระโขนง สถานที่ตรงนั้นเป็นสวนผลไมัของบรรพบุรุษของนายทอง ว่ากันว่า ในสถานที่นั้น มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่อยู่กลางสวน นายทองเห็นว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่ควรอยู่ในวัด หากจะโค่นทิ้งก็กลัวจะเป็นอันตรายต่อวงศ์ตระกูล จึงได้บริจาคที่ดินส่วนนั้นและสร้างวัดเล็ก ๆ พอเป็นที่จำวัดของพระภิกษุ

แต่วัดทองล่างนั้นยังขาดเสนาสนะและถาวรวัตถุต่าง ๆ พอสมควร ต่อมา พระภิกษุชาวรามัญรูปหนึ่งชื่อว่า ‘กะทอ’ (กะทอเป็นภาษารามัญ มาจาก กะ = ปลาตะเพียน ทอ = ทอง กะทอจึงแปลรวมกันว่า ปลาตะเพียนทอง) ท่านมักจะถูกชาวบ้านเรียกว่า ‘สมภารทอง’ จนติดปาก ท่านได้ร่วมกับนายทองทำนุบำรุงวัดจัดสร้างอุโบสถ เสนาสนะ

เมื่อสิ่งก่อสร้างเสร็จบริบูรณ์ จึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า ‘วัดโพธิ์สุวรรณาราม’ หรือวัดโพธิ์ทอง พอเวลาล่วงเลยมา ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘วัดทอง’ แต่ในยุคเดียวกันนั้น คำว่า ‘วัดทอง’ มีหลายแห่งตามแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งบนและล่าง จึงเพิ่มอักษรท้ายซื่อนี้ว่า ‘วัดทองล่าง’ คู่กับวัดทองบนที่มีชื่อเหมือนกันในสมัยนั้น

ต่อมา ในพุทธศักราช 2480 รัฐบาลโดยมี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ต้องการที่ตำบลคลองเตย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ วัดหน้าพระธาตุและวัดทองล่างซึ่งอยู่ภายในบริเวณนั้นจึงถูกเวนคืนที่ดิน โดยรัฐบาลได้ชดใช้เงินให้เพื่อไปรวมกับวัดอื่น ๆ หรือไปสร้างวัดขึ้นมาใหม่

ทางคณะสงฆ์จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีพระมหารัชมังคลาจารย์ (เทศ นิเทสสกเถร) สมัยเมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระรัชมงคลมุนี วัดสัมพันธวงศ์ เป็นประธานกรรมการและพระพรหมมุนี (ผิน สุวจเถร) ครั้งยังเป็นพระเทพมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้แนะนำเลือกสถานที่ดินสร้างวัด มีเนื้อที่ 54 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา ราคาที่ดินไร่ละ 500 บาท หรือวาละ 5 สลึง สถานที่ตั้งอารามในปัจจุบัน โดยถือกรรมสิทธิ์เป็นที่วัดธาตุทอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 คณะกรรมการได้ย้ายเสนาสนะถาวรวัตถุจากวัดหน้าพระธาตุและวัดทองล่าง มาปลูกสร้างเข้าด้วยกัน ที่ตำบลคลองบ้านกล้วย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นองค์อุปถัมภ์ และทรงนำมงคลนามทั้ง 2 วัด คือนำคำว่า ธาตุ ของวัดหน้าพระธาตุ และ นำคำว่า ทอง ของวัดทองล่างมารวมกันเข้า จึงได้ชื่อว่า วัดธาตุทอง และประกาศการย้ายวัดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2481

ถัดปีต่อมา จึงเริ่มมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาเป็นคราวแรก ปีพุทธศักราช 2483 จึงเริ่มก่อสร้างปูชนียวัตถุ ถาวรวัตถุต่าง ๆ ตามลำดับ ในระยะแรกที่วัดก่อตั้ง การก่อสร้างยังไม่สำเร็จด้วยดีและยังไม่มีผู้สามารถไปควบคุมในฐานะเจ้าอาวาสได้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตได้มีพระบัญชาให้ พระเทพมงคลรัตนมุนี ขณะที่ยังเป็นพระครูปลัดสัมพิพัฑฒญาณาจารย์ วัดบวรนิเวศวิหาร ไปเป็นผู้กำกับการในหน้าที่เจ้าอาวาสชั่วคราว เมื่อ พ.ศ. 2482

ต่อมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เมื่อท่านได้จัดการภายในวัดธาตุทองเรียบร้อยพอสมควรแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้กลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารตามเดิม และมีพระบัญชาให้พระมหานพ อังกุรปัญโญ รักษาการเจ้าอาวาสควบคุมดูแล ต่อมาไม่นานก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดธาตุทอง ในปี พ.ศ. 2505 คณะสงฆ์และกรรมการวัดได้ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตอุโบสถ เมื่อวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505

ตั้งแต่มีการริเริ่มสร้างวัดธาตุทอง ทางคณะสงฆ์และกรรมการวัดได้ดำเนินงานกิจการทางพระพุทธศาสนาโดยดำรงฐานะเป็นวัดชั้นราษฎร์มาระยะเวลา 45 ปี จนกระทั่งในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นองค์อุปถัมภ์วัดธาตุทอง และ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอนุญาตให้จัดทำตราสัญลักษณ์ประจำวัดธาตุทองขึ้นใหม่ วัดจึงได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หากนับอายุวัดธาตุทองตั้งแต่การก่อสร้างวัด จนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้จึงมีอายุ 85 ปี และวัดธาตุทองแห่งนี้จึงจัดว่า ถูกสร้างขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง สิ่งที่เป็นโบราณวัตถุและศิลปะต่าง ๆ ที่สำคัญที่ถูกสร้างขึ้นไว้ในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่เสียหายและสาบสูญไปเมื่อครั้งมีการย้ายวัดทั้ง 2 ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังคงเหลือไว้เพียงโบราณวัตถุ 2 อย่าง คือ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ย้ายมาจากวัดหน้าพระธาตุ พระพุทธชินินทร ประจำอุโบสถ ที่สร้างขึ้นสมัยอู่ทอง และยังมีปูชนียวัตถุอันสำคัญที่สร้างขึ้นมาใหม่ ได้แก่ พระสัพพัญญูอันเป็นพระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2495 หลวงพ่อพระพุทธอภิบาลปวงชน สร้างเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พุทธศักราช 2525 พระพุทธมนต์ปรีชา สุโขทัย พระประธานหอประชุม (ปัจจุบันประดิษฐานภายในอุโบสถ) พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุอินแขวนจำลอง พระพุทธชินราชจำลอง ประจำวิหารลิมปาภรณ์

และยังมีสิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ภายในวัดธาตุทอง อันเป็นถาวรวัตถุที่สำคัญและเป็นสถานที่ทำประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาและประชาชนเป็นอันมาก ยกตัวอย่างเช่น พระอุโบสถ หอประชุมและวิหาร โรงเรียนปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร ฌาปนสถานและศาลาบำเพ็ญกุศล โรงเรียน ศูนย์บริการสาธารณสุข สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ห้องสมุดประชาชน หอสมุดค้นคว้าตำราทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

โดยเฉพาะโรงเรียนวัดที่ใช้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง มีชื่อเสียงมากในยุคนี้เพราะเป็นโรงเรียนที่ ยังโอม เจ้าของเพลงธาตุทองซาวด์ เคยได้เข้ามาศึกษาจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเนื้อหาเพลงส่วนใหญ่ได้เล่าเรื่องราวชีวิตของเขาในช่วงศึกษาอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ จนติดหูผู้ฟัง
 

โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง

โรงเรียนมัธยมธาตุทอง ถูกสร้างขึ้นโดยความดำริของพระธรรมปาโมกข์ (นพ อังกุรปัญโญ) ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณดิลก ท่านเห็นถึงความยากลำบากของนักเรียนที่ต้องเดิน ทางไกล เพื่อไปเรียนต่างอำเภอ เนื่องจากในขณะนั้น อำเภอพระโขนงยังไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ท่านจึงได้ปรารภกับคุณสอาดและคุณมะลิ ธรรมสโรช ถึงเรื่องดังกล่าว

คุณสอาดและคุณมะลิ มีจิตศรัทธา จึงได้ถวายเงิน จำนวน 50,000 บาท เพื่อสร้างโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองขึ้น มีอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น โดยมีนายผ่อง อนันตกุล เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ใน พ.ศ. 2494

จากเดิมมีนักเรียนไม่ถึง 300 คน โรงเรียนได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงริเริ่มสร้างอาคารเรียนหลังที่หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นตึก 3 ชั้นโดยพระญาณดิลกได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินของวัด 560 ตารางวา (ปัจจุบัน คืออาคาร 1, 2 และ 3)

ต่อมา เนื่องจากจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น พระเทพญาณกวี (สมณศักดิ์ของพระธรรมปาโมกข์ขณะนั้น) ได้กรุณาอนุญาตให้ใช้เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เนื้อที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากอาคาร 1,2 และ 3 ประมาณ 400 เมตร เพื่อสร้างเป็นอาคาร 4 ในปี พ.ศ.2521 เพื่อเป็นที่เรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และในปี พ.ศ. 2533 ได้สร้างตึกอเนกประสงค์ 4 ชั้น เพื่อเป็นที่เรียนวิชาพื้นฐานวิชาชีพ โดยได้ตั้งชื่ออาคารนี้ว่า อาคารพระธรรมปาโมกข์ (นพ อังกุรปัญญา) เพื่อยกย่องเกียรติคุณของท่านที่ได้สละที่วัดและทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งมาสร้างโรงเรียน

ปัจจุบัน โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองเป็นโรงเรียนประเภท ‘สหศึกษาขนาดใหญ่’ เป็นโรงเรียนมีการศึกษาที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนแห่งนี้ได้สร้างความประทับใจให้เด็กรุ่นใหม่คือเป็นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมที่ประกาศระเบียบเรื่องทรงผมผ่านทางเพจเฟสบุ๊คใช้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง-Matthayom Wat Thatthong School ทางโรงเรียนประกาศไว้ว่า นักเรียนสามารถไว้ทรงผมตามเพศวิถี โดยทางโรงเรียนได้เน้นเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องการประกาศระเบียบทรงผมในโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ซึ่งเป็นกระแสมาแรงมากในช่วงนั้น

ปัจจุบัน วัดธาตุทองเป็นวัดที่มีการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกสามัญและแผนกบาลีสนามหลวงได้ผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนามากมาย ทั้งยังมีคนมีชื่อเสียงคือ กากัน กาลิค พระเอกซีรีส์พระพุทธเจ้าก็เคยมาอุปสมบทภายในวัด และโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองที่อยู่ที่เดียวกันนั้นก็ได้ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพสามารถพัฒนาสังคมไทยไปในทิศทางที่ดีได้

ยิ่งในปัจจุบันเป็นโรงเรียนวัดที่มีชื่อเสียงมากจากบทเพลงธาตุทองซาวด์ เชื่อได้ว่า กระแสเพลงธาตุทองซาวด์ที่กำลังฮิตช่วงนี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษามากขึ้นทำให้โรงเรียนวัดแห่งนี้เป็นโรงเรียนมัธยมระดับต้้น ๆ ของประเทศไทย ทำให้ครูอาจารย์และนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ก็มีความภาคภูมิใจ ไม่ได้มีความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเป็นโรงเรียนวัด เมื่อนักเรียนที่จบจากที่นี่ออกไปก็สามารถตะโกนดัง ๆ ว่า Thattong team!

 

เรื่อง: เพิ่มพูน หงษ์เหิร
ภาพ: งานอาร์ตประกอบอัลบั้มธาตุทองซาวด์ THATTONG SOUND ของศิลปิน ยังโอม ประกอบกับฟุตเทจจากคลิปใน YOUNGOHM/YouTube