ดูการสักในอุษาคเนย์-ไทย มีรอยสักรับราชการไม่ได้จริงหรือ สักแล้วอดรับราชการเกิดเมื่อใด?

ดูการสักในอุษาคเนย์-ไทย มีรอยสักรับราชการไม่ได้จริงหรือ สักแล้วอดรับราชการเกิดเมื่อใด?

สำรวจวัฒนธรรม ‘การสัก’ ในอุษาคเนย์และไทย ในอดีตการสักได้รับความนิยมแพร่หลาย แล้วมีรอยสักรับราชการไม่ได้จริงหรือ? สักแล้วอดรับราชการเกิดเมื่อใด?

เป็นเรื่องเป็นราวเมื่อ ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล นักร้องสาววง BLACKPINK ได้ถ่ายแบบขึ้นปกนิตยสาร Harper’s BAZAAR แรกก็กระแสตอบรับดีมีคนคนแห่เข้าไปชมว่าสวย น่ารัก มากมาย แต่แล้วก็มีชาวเน็ตจากประเทศไทยแอบสังเกตเห็นว่า ลิซ่ามีรอยสัก ต่อมาในทวิตภพก็มีท่านหนึ่งไปคอมเมนต์แสดงความเป็นห่วงเป็นใย เช่นว่า:   

“ผิวเนียนๆ สวยๆ สักทำไม คนไทยถือว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ไปสักอะ เตือนเพราะหวังดี สักไปทำงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ ผู้ใหญ่เห็นก็ไม่ชอบ โดยเฉพาะพวกข้าราชการ เป็นไอดอลน่ารักให้เด็กๆ ทุกเพศ ทุกวัย ก็ดีอยู่เเล้ว ภาพลักษณ์ภายนอกมีผล เเต่ความรู้สึกคนจริงวัยเดียวกันไม่เท่าไร เเต่อายุมากๆ สิ #chaelisa”

ก็เกิดกระแสดราม่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคล แต่ทว่าเรื่องนี้กลับสะท้อนสังคมไทย ๆ ที่มีอคติต่อคนมีรอยสัก และเมื่อมองกว้างออกไปจากสังคมประเทศไทย ลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ก็จะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ในประเทศต่าง ๆ บ้านพี่เมืองน้อง บ้านลุงเมืองป้า บ้านปู่เมืองย่า ของเหล่าบรรดาเพื่อนบ้าน ‘อาเสี้ยน’ ของเรา ก็มักจะมีอคติและกีดกันคนมีรอยสักเช่นกัน เพราะอะไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

บทความนี้จะพาสำรวจวัฒนธรรมการสักร่างกายของคนอุษาคเนย์ ก่อนจะวกกลับมาที่ไทยแลนด์แดนเมืองยิ้มของเรา     

รอยสักในวัฒนธรรมอุษาคเนย์

การสักร่างกายเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ เป็นข้อสรุปที่เรารับรู้กันมานมนาน โดยเฉพาะในหมู่ชายฉกรรจ์ที่อยู่ในวัยมีเรี่ยวแรง มีกล้ามเนื้อที่แสดงออกถึงความแข็งแกร่งและสมรรถนะของร่างกาย แต่นอกจากนี้แล้ว การสักยังมีความหมายอย่างอื่นอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับพื้นที่และเวลาที่ผู้สักสังกัดอยู่  ชาวล้านนานิยมสักกันมากจนกระทั่งเกิดเป็นอัตลักษณ์แยกความแตกต่างกันระหว่าง ‘ลาวล้านนา’ กับ ‘ลาวล้านช้าง’ 

ลาวล้านนาถูกเรียกว่า ‘ลาวพุงดำ’ เพราะมีรอยสักเต็มตัว ลาวล้านช้างถูกเรียกว่า ‘ลาวพุงขาว’ แต่ไม่ถึงกับไม่มีรอยสัก ตรงข้ามคนลาวล้านช้างก็นิยมการสักด้วย เพียงแต่บริเวณที่เน้นสักนั้นอยู่ตรงขาไม่เน้นหน้าท้อง (พุง) จนกระทั่งเกิดเป็นภาษิตโบราณที่ว่า “ขาบ่ลาย ผู้สาวบ่ให้ก่าย” 

การสักเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นชายชาตรี ขะแมร์ก็นิยมสักอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน ฟัน แทง ไม่เข้า ยิงไม่ออก เมื่อเป็นเรื่องความเป็นชายชาตรี ก็พัฒนาไปสู่วงการนักเลงอันธพาล  เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นนอกกฎหมาย บ้าบิ่น และไม่ธรรมดา

เมื่อคนเหล่านี้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ก็ได้หันไปพึ่งพิงกฎระเบียบในโลกศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแสดงออกผ่านรอยสัก รอยสักของชาวขะแมร์จึงเป็นเครื่องที่สะท้อนความสมดุลของจักรวาลในระดับเรือนร่าง และเป็นการจำลองหรือย่อส่วนของโลกศักดิ์สิทธิ์มาสู่โลกสามัญโดยมีร่างกายเป็นพื้นที่แสดงออก กล่าวอีกนัยหนึ่ง รอยสักเป็นการดึงเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาคุ้มครองร่างกายและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง 

ช่วงหนึ่งมีความนิยมสักรูปปราสาทลงบนอกหรือหลังของบุคคล ปราสาทที่ได้รับความนิยมในกัมพูชาก็แน่นอนย่อมต้องเป็นปราสาทนครวัดและนครธม ปราสาทนครธมหรือ ‘อังกอร์บายน’ ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะผังของปราสาทมีลักษณะคล้ายแผ่นผ้ายันต์โบราณ ซึ่งเป็นความพ้องของคติความเชื่อในจักรวาลวิทยาและความพ้องกันของชื่อ คำว่า ‘ยน’ ในภาษาขะแมร์แปลว่า ‘ยันต์’ แต่บางท่านก็เชื่อว่าปราสาทบายนเป็นต้นแบบของผ้ายันต์ขะแมร์ ใช้แปะหน้าประตูทางขึ้นเรือนหรือในผนังบ้านเรือน ป้องกันสิ่งชั่วร้ายและนำพาโชคลาภมาให้แก่ผู้อยู่อาศัย 

ในเวียดนาม ความนิยมในการสักมีไม่มากเท่าขะแมร์ ไทย และลาว เพราะพื้นฐานความเชื่อมาจากลัทธิขงจื๊อ ซึ่งมีหลักคำสอนเน้นบทบาทหน้าที่ในโลกนี้มากกว่าโลกหน้า จากการสำรวจเล็ก ๆ จัดทำโดยบริษัทสำรวจทางการตลาด Q&Me เมื่อปี 2558 ซึ่งถือเป็นข้อมูลอัพเดตที่สุดแล้วสำหรับเรื่องตลาดรอยสักในเวียดนาม พบว่ามีคนเวียดนามเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีรอยสัก และมีชาวเวียดนามกว่าร้อยละ 25 ที่มีทัศนคติว่า เห็นรอยสักแล้วรู้สึกหวาดกลัว 

ปัจจุบันถึงแม้ทัศนคติต่อการมีรอยสักของคนในเวียดนามกำลังเปลี่ยนไป แต่แทตทู (tattoo) หรือ ‘รอยสัก’ ก็ยังถูกมองว่าเกี่ยวโยงกับพวกอันธพาล โสเภณี หรือพวกแก๊งอาชญากรรมอยู่ดังเดิม อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าการสักจะเป็นที่นิยมในหมู่สตรีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน พวกเธอเหล่านั้นต้องการมีอัตลักษณ์ทางกายที่แสดงออกได้มากกว่าทางด้านเสื้อผ้าหน้าผม ลำพังอาภรณ์และรูปร่างหน้าตา ไม่อาจเติมเต็มความรู้สึกมั่นใจให้แก่สาวเวียดได้ 

ที่เป็นเช่นนั้น มีผู้เสนอว่า เป็นเพราะหญิงสาวชาวเวียดถูกกดจากวัฒนธรรมแบบจารีตขงจื๊อมากเกินไป จึงรู้สึกได้ถึงอิสรเสรีภาพบางอย่างเมื่อได้มีการละเมิดเล็ก ๆ ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าเนื้อตัวร่างกายนั้นเป็นของเธอเองโดยสัมบูรณ์ ไม่ใช่ร่างกายที่ต้องถูกควบคุมบงการโดยอำนาจรัฐและสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่

อีกฝั่งฟากหนึ่ง ในพม่าและมอญในลุ่มแม่น้ำอิระวดี กลับผิดแผกแตกต่างไปจากไทย ลาว ขะแมร์ ตรงที่เดิมการสักถูกสงวนไว้เป็นของเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีทัศนคติที่คล้ายคลึงกับไทย ลาว และขะแมร์ ที่เชื่อว่าการสักคือการจำลองจักรวาลของโลกศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่ร่างกายนั่นแหละ

ชนชั้นนำมอญและพม่าถึงคิดว่าไม่ควรจะให้ไพร่ได้สักมาก เพราะเดี๋ยวสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไปอยู่กับพวกไพร่ราษฎรสามัญชนหมด ไม่อยู่กับพวกตน อีกทั้งการห้ามเช่นนี้ยังสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของพม่า ที่กบฏผู้มีบุญของพม่ามักเริ่มจากผู้มีรอยสัก จากนั้นก็ตามมาด้วยการแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ตามแบบฉบับผู้วิเศษมีบุญ หนักเข้าเมื่อประชาชนให้การสนับสนุนมากก็ถึงกับสามารถตั้งตนเป็นกษัตริย์ก็มี 

ในแถบชวา-มลายู การสักเป็นที่นิยมเช่นกัน แอนโทนี รีด (Anthony Reid) นักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์เคยเสนอว่า การสักของชาวมลายูและชวาที่นับถืออิสลาม เป็นการผสมผสานหรือประนีประนอมระหว่างวัฒนธรรมศาสนา (อิสลาม) จากโลกภายนอกกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ แต่ได้เปลี่ยนความหมายจากการจำลองจักรวาลวิทยามาเป็นการใช้ร่างกายในฐานะพื้นที่สื่อความหมายทางสังคมมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งมีรอยสักมากตามมา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการประดิษฐ์คิดค้นผ้าบาติกขึ้นใช้แพร่หลาย ก็ทำให้บทบาทของรอยสักในแง่นี้เสื่อมความนิยมลง เพราะการมีอาภรณ์ปกปิดเรือนร่างย่อมส่งผลทำให้การใช้ร่างกายในฐานะพื้นที่สื่อความหมายต่อผู้อื่นลดน้อยถอยลงไปโดยปริยาย หลังจากนั้น การแสดงออกถึงความหรูหรา อำนาจ ความมั่งคั่ง ของบุคคลมักจะแสดงออกผ่านการใช้เสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เข้ามามีบทบาทแทนที่รอยสัก   

 

รอยสักในวัฒนธรรมไทยสยาม

แตกต่างจากกรณีของพม่า เพราะเดิมสังคมไทยสยามนิยมใช้รอยสักในฐานะ ‘ตราประทับความเป็นไพร่’ (ดูคำนิยามรอยสักโบราณที่ผู้เขียนเสนอไว้ในหนังสือ ‘มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex’) รอยสักไม่ใช่ของสงวนไว้แต่เฉพาะชนชั้นสูง ตรงกันข้าม มีข้อมูลหลักฐานที่เชื่อได้ว่าชนชั้นนำสยามไม่นิยมสักร่างกาย เพราะเชื่อว่าร่างกายของชนชั้นสูงเกิดมาพร้อมความสมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว บนร่างกายของไพร่จะมีการสัก ทั้งแบบสักเลขยันต์เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า ยิงไม่ออก เป็นความเชื่อร่วมกันทั้งไทย ลาว และขะแมร์ เสริมสร้างความมั่นใจในสังคมที่สภาพชีวิตอยู่ใกล้คมหอกคมดาบและกระสุนปืน 

แต่ส่วนใหญ่เป็นการสักเพื่อบ่งบอกสังกัดกรมกอง ในแง่นี้ร่างกายไพร่ถูกใช้เป็นพื้นที่สื่อสาร ว่าเป็นใคร อยู่ตรงไหน มีสถานะและบทบาทหน้าที่อย่างไร ประกอบกับความนิยมในพื้นบ้านที่ผู้ชายมักไม่นิยมสวมใส่เสื้อผ้า ร่างกายจึงถูกใช้ในลักษณะเป็นพื้นทีสื่อสารไปโดยปริยาย รวมถึงการสักที่เป็นการลงโทษประจานสร้างตราประทับบนเรือนร่างของบุคคลว่าเป็นผู้ร้ายหรือผู้กระทำความผิดต้องพระราชอาญา 

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อไพร่มีอายุได้ 18-20 ปีบริบูรณ์ จะต้องลงทะเบียนสังกัดมูลนาย ซึ่งก็คือเจ้านายและขุนนางทั้งหลาย โดยการสักเป็นสัญลักษณ์ตามจุดสำคัญต่าง ๆ เช่น คอ, แข้ง, ขา, ข้อมือ ซึ่งจะสักเป็นรูปตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ อาทิ รูปลำตาล, รูปดาบ วิธีการเช่นนี้เรียกกันแต่โบราณว่า ‘การสักเลก’ ความเป็นไพร่จึงเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นจากตำหนิหรือรูปสัญลักษณ์ที่สักตามร่างกาย 

มีเรื่องเล่าเป็นตำนานเกี่ยวกับการสร้างปราสาทราชวังว่า ระหว่างทำพิธีขุดหลุมจะตั้งเสา กษัตริย์จะส่งทหารออกไปตามบ้านเรือนราษฎรในยามราตรี เพื่อเรียกหาคนชื่อ ‘อิน จัน มั่น คง’ รวมเป็น 4 คน เมื่อได้มาครบแล้วก็จะนำเข้าวังไปบำรุงดูแลอย่างดี รวมทั้งญาติพี่น้องพ่อแม่ก็จะได้รับการดูแลอย่างดีด้วย เมื่อถึงเวลาได้ฤกษ์ยามที่กำหนดแล้วก็นำคนทั้ง 4 นั้นไปโยนลงหลุมฝังคนให้ไปกับการตั้งเสาพระราชวัง

เรื่องนี้มาเกี่ยวกับรอยสักก็คือเขามีหลักเกณฑ์ว่า คนโชคร้ายดวงซวยที่ชื่อ ‘อิน จัน มั่น คง’ นั้นจะต้องเป็นคนที่ไม่มีรอยสักด้วย ก็แหง๋ล่ะ! การฆ่าคนมีรอยสักเท่ากับเสียแรงงานไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถูกทำให้กลายเป็นข้อดีของการมีรอยสัก เพราะจะได้ไม่ถูกจับไปโยนลงหลุม และก็เป็นที่มาของการสั่งเตือนของคนเฒ่าคนแก่ว่า เวลากลางคืนใครมาเรียกชื่อห้ามขานรับ เพราะอาจเป็นผีจะมาเอาตัวไป 

นอกจากนี้ จากภาพจิตรกรรมจะเห็นว่าคนสมัยอยุธยานิยมสักกันมาก นอกจากการสักสังกัดมูลนายแล้ว ยังมีการสักเพื่อความสวยงามเช่น การสักรูปสัตว์อย่างสิงโต, เสือ, ช้าง, จระเข้ ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขามทั้งสิ้น บางกรณีเป็นสัตว์ในจินตนาการเช่น มังกร, นาค เป็นต้น

เชื่อกันว่าลายสักที่เกิดจากเวทมนต์หรือผู้มีวิชาอาคมเป็นผู้สักให้จะยิ่งเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขลังให้แก่รอยสัก จนทำให้ภูตผีปีศาจหรือศัตรูที่เป็นมนุษย์ด้วยกันไม่อาจทำอันตรายได้ 

ตรงจุดนี้เองเป็นที่มาของการอนุญาตทางวัฒนธรรมให้พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้สักได้ เพราะจะยิ่งเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขลังให้แก่รอยสัก ความศักดิ์สิทธิ์ขลังของรอยสักจึงมีประเด็นขึ้นกับว่าใครเป็นผู้สักให้ด้วย ไม่ใช่ใครก็ได้เป็นผู้สักให้ รอยสักในวัฒนธรรมไทยไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์โดยตัวมันเอง หากแต่ขึ้นกับว่าได้รับการสักมาจากใครด้วย    

การสักคือการสร้างตราประทับไว้กับบุคคลจนชั่วชีวิต สมัยก่อนยังไม่มีเทคนิคทางเคมีในการลบรอยสักได้ง่ายเหมือนอย่างทุกวันนี้ กรณีแรงงานรับจ้างชาวจีนที่เข้ามามีบทบาทแทนที่แรงงานเกณฑ์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เหตุที่ไม่ใช้การสักเลกกับชาวจีนเหล่านี้ก็เพราะการเป็นแรงงานรับจ้างถือว่าเป็นเรื่องชั่วขณะชีวิต อีกทั้งทางการยังได้ประโยชน์มากกว่าจากการผูกด้ายข้อมือที่เรียกว่า ‘ผูกปี้’ เพราะมีกำหนดเวลา 3 ปีต่อ 1 ครั้ง จึงจัดเก็บรายได้จากการผูกปี้อนุญาตให้เข้ามารับจ้างทำงานในสยาม แทนที่จะสักครั้งเดียว 

แถมในระหว่าง 3 ปีนั้น ส่วนใหญ่ปี้ที่ผูกมักจะหลุดจากข้อมือก่อนครบเวลา จึงต้องเสียค่าผูกใหม่อยู่เสมอ ก็เป็นรายได้เข้าคลังหลวงเพิ่มไปอีก แรงงานรับจ้างชาวจีนสมัยก่อนจึงรู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่และเลือกปฏิบัติด้อยกว่าไพร่ในสยามเสียอีก และปี้ที่ผูกก็เป็นอุปสรรคในการทำงาน ต้องรักษาไว้ไม่ให้หลุดหาย 

 

มีรอยสักรับราชการไม่ได้จริงหรือ?

สำหรับคำถามนี้ ก็ตอบได้เลยว่า ‘ไม่จริง’ เพราะในกรณีของอยุธยาเรื่อยมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ การรับราชการก็หมายถึงต้องสักเลกเข้าสังกัดกรมกองอยู่แล้ว และไพร่ทุกคนก็จะต้องถูกสักเลก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรับราชการโดยไม่มีรอยสักบนร่างกายเลย แถมกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการรับใช้ใกล้ชิดอย่าง ‘ทหารองครักษ์’ ยังมักเป็น ‘คนลาวพุงดำ’ ซึ่งนิยมสัก ตามเนื้อตัวร่างกายเต็มไปด้วยรอยสักมากกว่าคนกลุ่มอื่นอีก 

ดังที่ปรากฏในบันทึกของเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) หรือ ‘หมอแกมป์เฟอร์’ นายแพทย์ชาวเยอรมันที่เข้ามาอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ได้บรรยายถึงรูปร่างลักษณะของทหารรักษาการณ์ในพระราชวังหลวงที่เขามีโอกาสพบเห็นดังนี้:    

“ตามประตูวังและถนนหนทางในพระราชวังเต็มไปด้วยคนเปลือยกายท่อนบน ตามตัวสักสีดำลักษณะเหมือนรูปหมากรุกมียอดแหลมอย่างรูปที่สุสานพระคริสต์ ณ กรุงเยรูซาเลม ลางคนก็สักแต่ที่แขน  ลางคนก็สักทั่วตัวจนถึงขา ซึ่งปกปิดด้วยผ้าซึ่งนุ่งตามวิธีพื้นเมือง คนพวกนี้ภาษาโปรตุเกสเรียกว่า บรัสปินตาเดส (Braspintades) เป็นทหารรักษาพระองค์เฝ้าประตูวัง และเป็นฝีพาย ถือกระบองสั้นแทนอาวุธ  เดินกรายไปกรายมาทั่วบริเวณพระราชวังเหมือนคนขี้เกียจ”

นอกจากในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาที่แกมป์เฟอร์ได้มีโอกาสมาพบเห็นด้วยตาตนเองแล้ว ก่อนหน้านั้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ คณะทูตฝรั่งเศสชุดที่มีซิมง เดอ ลาลูแบร์ เข้ามาด้วย ก็มีบันทึกว่า ทหารองครักษ์ในพระราชวังหลวงของสมเด็จพระนารายณ์ทั้งในอยุธยาและลพบุรี ต่างก็เป็นคนลาวล้านนาที่มีรอยสักเต็มตัว เรียกว่า ‘กองทหารลาวอาสา’ เป็นกองทหารม้ารักษาพระองค์ อยู่ภายใต้สังกัดขุนนางตำแหน่ง ‘ออกญาลาว’ มีหน้าที่ตามเสด็จคอยอารักขาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงพระองค์ใดทรงเสด็จออกไปนอกพระบรมมหาราชวัง 

นอกจากนี้ยังมี ‘กรมลาวอาสา’ หรือ ‘กองอาสาลาว’ ทำหน้าที่เป็นกำลังทหารเช่นเดียวกับกองอาสาชาติอื่น ๆ อาทิ กองอาสาจาม, กองอาสาญี่ปุ่น, กองอาสามอญ, กองอาสาฝรั่งแม่นปืน (โปรตุเกส) เป็นต้น (ดูรายละเอียดในหนังสือ ‘Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์’) 

คำว่า ‘กองอาสา’ ที่นำหน้าชื่อชนชาตินั้นนี้เป็นคำที่ใช้ในทางยกย่องพระเกียรติ แต่ที่จริงกองทหารรับจ้าง  ในยุคที่การเป็นทหารพร้อมจะต้องปะทะกับข้าศึกแบบถึงเลือดตกยางออกได้ตลอดเวลาอย่างสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์นั้น ไม่มีใครจะมายอมตายให้กันฟรี ๆ ต้องมีค่าจ้างที่คุ้มกับการเสี่ยงภัยพอสมควร  รายได้ที่เอาไปจ้างทหารหรือข้าราชการเหล่านั้นมาจากไหน ก็ได้มาจากการเก็บภาษีอากร เครื่องราชบรรณาการ ส่วยสาอากรต่าง ๆ ตลอดจนรายได้จากการค้าต่างประเทศ ภายหลังสภาพเช่นนี้เปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ยุคอาณานิคมปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา   

 

ระบบโลกยุคอาณานิคม: จุดกำเนิดข้าราชการพันธุ์ใหม่ที่ไร้รอยสัก

เนื่องจากการสักร่างกายเป็นธรรมเนียมเดิมของอุษาคเนย์ ใช้ในการบ่งบอกสถานะบุคคล และเป็นเครื่องสร้างขวัญกำลังใจในการเผชิญอันตรายของบุคคล ดังนั้นเมื่อชาติตะวันตกขยายอำนาจเข้ามาสถาปนาระบอบอาณานิคมขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขธรรมเนียมนี้ใหม่ ยกเลิกการสักเลกไพร่ หันมาสร้างระบบรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจแบบใหม่ขึ้น เป็นระบบราชการที่อิงกับศาสตร์สมัยใหม่ของโลกตะวันตก ไม่ได้อิงความเป็นผู้วิเศษมีบุญมาแต่อดีตกาลเหมือนอย่างชนชั้นนำอุษาคเนย์ เป็นระบบราชการในยุคที่มีเครื่องมือสื่อสารชนิดใหม่อย่างการใช้ ‘เอกสาร’ 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เอกสารราชการได้มีบทบาทแทนที่การสักเลกมากขึ้นเรื่อย ๆ และเนื่องจากเป็นรัฐราชการแบบใหม่อิงศาสตร์ความรู้แบบตะวันตก เน้นโลกนี้และการรับรู้ความจริงทางผัสสะ เจ้าอาณานิคมไม่เชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์เหนือจริง จึงไม่เชื่อว่าผู้ที่มีรอยสักจะมีความสามารถเหนือคนปกติธรรมดาที่ไม่มีรอยสัก 

อีกทั้งรอยสักยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสถานะของบุคคลที่มีเจ้านายในสังกัดระบบเจ้าขุนมูลนายแบบเก่า คนมีรอยสักจึงไม่เป็นที่ต้องการของระบบราชการรุ่นใหม่นี้ เพราะคนมีรอยสักเป็นคนที่มีสังกัดในสังคมแบบเก่าก่อนการเข้ามายึดครองของเจ้าอาณานิคม เจ้าอาณานิคมจึงไม่ไว้วางใจต่อคนเหล่านี้ และเชื่อว่าพวกเขา (คนมีรอยสัก) ยังคงจงรักภักดีต่อเจ้านายในระบบเก่าอยู่นั่นเอง 

การรับสมัครบรรจุคนเข้ารับราชการสังกัดรัฐราชการแบบอาณานิคมจึงไม่รับคนมีรอยสัก รับคนที่ยังไม่มีรอยสักหรือก็คือคนที่ยังไม่ถูกสักเลกเข้าสังกัดกรมกองของระบบราชการแบบเก่า การปฏิรูปสร้างระบบราชการแบบใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นระบบที่ลอกเลียนแบบมาจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสศึกษาดูงานการปกครองของดัตช์ในชวา อังกฤษในมลายู สิงคโปร์ และอินเดีย ก่อนนำมาปรับใช้ในสยาม 

ดังนั้น การรับราชการที่ไม่รับคนมีรอยสัก มีจุดเริ่มมาจากการรับเอาแบบอย่างจากระบบการปกครองของอาณานิคม สิ่งนี้ไม่ใช่จารีตดั้งเดิมของไทยและอุษาคเนย์แต่อย่างใด 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการสักร่างกายจะหายไปกับการมาของระบบโลกยุคอาณานิคม ทั้งนี้เพราะการสักร่างกายยังมีอีกหลายความหมาย การสักในความหมายที่เป็นเครื่องบ่งชี้สถานะไพร่ของบุคคลได้ถูกทำลายไป แต่การสักในความหมายอื่น ๆ ไม่ได้ถูกทำให้สูญหายไปด้วย 

ตัวอย่างของการสักในความหมายอื่น ๆ ที่ยังคงนิยมสืบมาก็อย่างเช่น การสักเพื่อความสวยงามของร่างกาย การดึงดูเพศตรงข้าม การแสดงออกถึงความเป็นชายชาตรี การพรีเซนต์อัตลักษณ์เฉพาะของบุคคล และกระทั่งการสักเพื่อความแข็งแกร่งของร่างกายมากกว่าปกติเช่นการสักเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน เป็นต้น 

การมีรอยสักในความหมายที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่กับตัว เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกกีดกันออกไปโดยระบบอาณานิคม แต่ไม่ได้หมายความว่าระบอบอาณานิคมจะยกเลิกการควบคุมร่างกายผู้ใต้ปกครองไปด้วยแต่อย่างใด เพียงแต่การควบคุมเปลี่ยนไปใช้รูปแบบอื่น ซึ่งในสังคมตะวันตกได้พัฒนา ‘เทคโนโลยีอำนาจ’ ขึ้นมาตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แล้ว ดังที่งานของมิแชลล์ ฟูโกต์ (Michel Foucault) เสนอไว้ในเล่มที่แปลเป็นไทยในชื่อว่า ‘ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่’  

คนพื้นเมืองที่ชาติตะวันตกขยายอำนาจไปปกครองในถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใน ดินแดนโลกใหม่’ อย่างในทวีปอเมริกา เอเชีย และตะวันออกไกล จำนวนมากมีวัฒนธรรมการสักร่างกาย ดังนั้นการเปลี่ยนคนพื้นเมืองมาสู่การเป็นพลเมืองของโลกอาณานิคม สิ่งแรกที่เจ้าอาณานิคมจะต้องทำจึงหมายถึงการยกเลิกรอยสัก แต่ยิ่งห้าม ก็เหมือนยิ่งยุ รอยสักจึงไม่ได้หายไป เพียงแต่เปลี่ยนความหมายไปเป็นแบบอื่น เพราะรอยสักมีที่มาจากระบบความคิดทางสังคมวัฒนธรรม      

 

รอยสักในสังคมไทยปัจจุบัน

ในวิทยานิพนธ์สาขาวาทวิทยา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สุขสันต์ กมลสันติโรจน์ หัวข้อเรื่อง ‘การสื่อสารและการรับรู้ความหมายของ ‘รอยสัก’ ในสังคมไทยปัจจุบัน’ ได้ศึกษาพฤติกรรมและวัตถุประสงค์ของการสัก บทบาทในการสื่อสารของรอยสักในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่การสื่อสารภายในตัวเอง การสื่อสารระหว่างบุคคล และการสื่อสารกลุ่ม รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรกับการรับรู้ความหมายรอยสัก

รูปแบบงานวิจัยที่ใช้เป็นแบบผสมผสานระหว่างงานวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยใช้การสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ

(ก) ผู้ประกอบอาชีพสัก (ช่างสัก) ตามสถานที่ต่าง ๆ รวม 3 แหล่ง คือตามท้องตลาดหรือตามบ้านที่ไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า ในห้างสรรพสินค้า และตามวัดหรือสำนักต่าง ๆ จำนวน 10 คน
(ข)ผู้ที่ได้รับการสักจากแหล่งต่าง ๆ จำนวน 90 คน
(ค) บุคคลทั่วไปที่พบเห็นรอยสัก จำนวน 150 คน

ผลการวิจัยพบว่า

(1) ผู้สักนิยมไปสักกับกลุ่มเพื่อนมากที่สุด โดยวัตถุประสงค์ในการสักขึ้นกับสถานที่ที่ไปสักกล่าวคือ ผู้ที่ไปสักตามวัดหรือสำนักอาจารย์ต่าง ๆ ต้องการความอยู่ยงคงกระพัน โชคลาภ และเสน่ห์เมตตา มหานิยม แต่สำหรับผู้ที่สักจากห้างสรรพสินค้าหรือจากสถานที่อื่น ๆ ส่วนมากสักเพื่อความสวยงามตามแฟชั่นและสมัยนิยม

(2) ปัจจุบันรอยสักมีบทบาทการสื่อสารในระดับ ๆ การสื่อสารในตนเอง รอยสักช่วยสร้างความมั่นใจในเรื่องการอยู่ยงคงกระดันและนำโชคลาภมาให้ผู้สัก และเป็นเครื่องย้ำเตือนความทรงจำและความประทับใจต่าง ๆ ส่วนในการสื่อสารระหว่างบุคคล รอยสักมีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์ในตัวผู้สักทั้งในการสร้างอัตลักษณ์ที่ผู้สักต้องการให้คนอื่นรับรู้ และอัตลักษณ์ที่ผู้อื่นรับรู้ผ่านทรงรอยสักที่พบเห็น

นอกจากนั้น รอยสักยังมีบทบทในการ ดึงดูดหรือลดความสนใจจากภาพตรงข้าม เพิ่มหรือลดอำนาจ และเป็นปัจจัยสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติพันธ์กับบุคคลอื่น สำหรับในการสื่อสารกลุ่ม รอยสักทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นสมาชิกหรือพวกเดียวกัน

(3) กลุ่มตัวอย่างที่มีตัวแปรทางประชากรต่างกันจะรับรู้ความหมายของรอยสักต่างกัน ทั้งในด้านการรับรู้วัตถุประสงค์ การวางตำแหน่งของการสัก และความเหมาะสมของลวดลายการสักแต่ละลวดลาย

จะเห็นได้ว่า ยิ่งถูกห้ามมากเท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนว่าการสักจะยิ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น เพราะจะกลายเป็นเครื่องแสดงออกถึงเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายตัวเอง และการได้ละเมิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ถือเป็นการปลดปล่อยตนเองจากกฎเกณฑ์ของสังคมในบางโอกาส 

การสักเลขยันต์ที่ยังคงเป็นที่นิยม แต่ด้วยความหมายและกลุ่มเฉพาะที่เปลี่ยนไป คนในกลุ่มอาชีพที่อยู่กับความเสี่ยงและอันตรายรอบตัว เช่น กลุ่มอันธพาลนักเลงต้องการเครื่องส่งเสริมกำลังใจซึ่งคนที่มีบทบาทสนับสนุนการสักตรงนี้ก็คือพระภิกษุ อักขระยันต์จะได้ศักดิ์สิทธิ์ 

ในแง่นี้ รัฐที่กีดกันรอยสักมีส่วนทำให้รอยสักกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เพราะรอยสักจะกลายเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับกลุ่มคนที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมไปโดยปริยาย และเมื่อรอยสักถูกทำให้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ก็เกิดเป็นเครื่องสื่อสารความหมายบางอย่าง ความต้องการการยอมรับและให้เกียรติกันในฐานะมนุษย์ เช่น ในหมู่หญิงขายบริการที่มีความนิยมสักยันต์ 5 แถว เป็นต้น   

อย่างไรก็ตาม การสักร่างกายในปัจจุบันได้เปลี่ยนความหมายมาสู่การถือเป็นการกระทำตามสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละคน คนไทยควรเรียนรู้การรู้จักเคารพและยอมรับสิทธิในการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล มากกว่าจะหยิบยกเอาบรรดาระเบียบกฎเกณฑ์ที่ผู้อื่นกำหนดขึ้นมาใช้ตัดสินคนอื่น    

 

ภาพ: (ซ้าย) ภาพวาดในอดีต แสดงให้เห็นถึงรอยสัก (ขวา) ขึ้นเครื่องเวลาอะไรไม่รู้ แต่ดูผ่าน ๆ เหมือนรีบ

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 25663.

แกมป์เฟอร์, เอนเยลเบิร์ต. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. แปลโดย อัมพร สายสุวรรณ, กรุงเทพฯ; กรมศิลปากร, 2545.

ทาร์ลิง, นิโคลาส. (บก.). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับเคมบริดจ์ เล่มสอง. แปลโดย มัทนา เกษกมล, กรุงเทพฯ: สกว., 2552.

ปริตรตา เฉลิมเผ่า-กออนันตกูล (บก.). เผยร่าง-พรางกาย: ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2541.

ฟูโกต์, มิแช็ล. ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่. แปลโดย ทองกร โภคธรรม, กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2554.

ไม่ระบุนามผู้เขียน. ‘รอยสักของหญิงเวียดนามเหล่านี้ ล้วนมี ‘เรื่องราว’’ มติชนรายวัน. วันที่ 17 เมษายน 2564

รีด, แอนโทนี. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคการค้า ค.ศ.1450-1680. แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ และคณะ. กรุงเทพฯ: สกว., 2548.

ลาลูแบร์, ซิมง เดอ. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552.

สุขสันต์ กมลสันติโรจน์. ‘การสื่อสารและการรับรู้ความหมายของ ‘รอยสัก’ ในสังคมไทยปัจจุบัน’ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวาทวิทยา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.