วิเคราะห์การปราบเสือของ ‘ขุนพันธ์’ ตำรวจจอมขมังเวทย์ ได้ผลอย่างไร? สะท้อนถึงอะไร?

วิเคราะห์การปราบเสือของ ‘ขุนพันธ์’ ตำรวจจอมขมังเวทย์ ได้ผลอย่างไร? สะท้อนถึงอะไร?

‘ขุนพันธ์’ หรือ ‘พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช’ ได้รับการกล่าวขานว่า เป็น ‘ตำรวจจอมขมังเวทย์’ และถูกยกย่องให้เป็น ‘มือปราบเสือ’ แล้วการปราบเสือได้ผลออกมาอย่างไร? และสะท้อนอะไรบ้าง?

  • ‘บุตร พันธรักษ์’ เป็นชื่อเดิมของ ‘พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ขุนพันธ์ 
  • เขาเป็นตำรวจจอมขมังเวทย์ สร้างชื่อจากการปราบปรามจอมโจรชื่อดัง ‘อะแวสะดอ ตาเละ’ และ เสือฝ้าย, เสือครึ้ม, เสือปลั่ง, เสือใบ, เสือมเหศวร ฯลฯ จนได้รับฉายา ‘มือปราบเสือ’
  • คำถามในทางประวัติศาสตร์สังคมที่บางคนสงสัยกันคือ ผลลัพธ์ในภาพรวมของการปราบเสือโดยขุนพันธ์ ออกมาเป็นอย่างไร และสะท้อนอะไรบ้าง

‘พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช’ (บุตร พันธรักษ์) หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า ‘ขุนพันธ์’  เป็นตำรวจที่ค่อนข้างแปลกเมื่อมองจากปัจจุบัน เพราะเป็นตำรวจสายมูแบบจัดหนักจัดเต็ม จนมีสมญาว่า ‘จอมขมังเวทย์’ ทั้งๆ ที่ตำรวจถือเป็นหน่วยงานราชการสมัยใหม่ ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสงบสุขแก่ประชาชนตามหลักศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลายต่อหลายเรื่องของสังคมไทยๆ ที่เมื่อเข้าไปดูเนื้อหาสาระแล้ว เราก็มักจะพบความไม่สมัยใหม่หรือ ‘ไม่เดิร์นเอาซะเลย’ (อยู่ตลอดเว)

ความมูของขุนพันธ์มาพร้อมกับการอ้างอิงถึงตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูมิหลังชีวิตการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามเหล่าโจรผู้ร้ายจนมีชื่อเสียงโด่งดัง งานปราบปรามโจรผู้ร้ายสมัยก่อนเป็นงานอันตรายใหญ่หลวง หาจุดคุ้มทุนกับการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่ได้แล้วรอดมายืนยาวก่อนลาโลกไปในวัย 103 ปี ถูกผนึกรวมเป็นความน่าเชื่อถือและศักดิ์สิทธิ์แก่ความมูของขุนพันธ์ไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ตำรวจยุคขุนพันธ์มีอะไรหลายอย่างแตกต่างจากยุคปัจจุบันมากแน่ๆ แต่การเลือกหยิบยกเอาขุนพันธ์มาเป็น ‘วีรบุรุษ’ ของตำรวจไทยในรุ่นหลังมานี้เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างมาก เป็นวีรบุรุษนั้นหมายถึงเป็นตัวแบบในอุดมคติ ซึ่งก็หมายความว่า ณ ขณะเวลาที่มีการยกย่องวีรบุรุษเช่นนั้น ก็มักจะเป็นเวลาเดียวกับที่อุดมคติที่ว่านั้นสูญหายไปไม่มีใครเป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้วนั่นเอง 

ขุนพันธ์เป็นตำรวจในยุคที่ไทยมีชุมโจรตั้งอยู่ทั่วไปในชนบท เป็นโจรที่มีความไม่ธรรมดาตรงที่โจรเหล่านี้มักได้รับสมญาเรียกขานนำหน้าชื่อโดยประชาชนและสื่อมวลชนว่า ‘เสือ’ เช่นมี ‘เสือฝ้าย’ ‘เสือดำ’ ‘เสือใบ’ ‘เสือมเหศวร’ ‘เสือกลับ’ ‘เสือสัง’ ‘เสือผ่อน’ ‘เสือปลั่ง’ ฯลฯ  

สังคมไทยๆ อาจมีจารีตโบราณเกี่ยวกับคำนำหน้าชื่อเป็นตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ แต่การมีคำว่า ‘เสือ’ นำหน้าชื่อเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งกว่ายศฐาบรรดาศักดิ์ใดๆ (รวมทั้งคำนำหน้าชื่ออย่าง ผศ. รศ. ศ. ดร. ในหมู่นักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยของประเทศไทยเวลานี้ด้วย)  

และในการปราบเสือนั้นเอง ขุนพันธ์ค่อยๆ เป็นขุนพันธ์ในแบบที่เรารับรู้กัน วิธีการเอาชนะศัตรูโดยเรียนรู้จากศัตรูเป็นวิธีคลาสสิคที่รู้กันมานมนานในหลายวัฒนธรรม ถ้าไล่ไปถึงตำราศึกษารูปแบบวิธีการรบราฆ่าฟันกันอย่าง ‘พิไชยสงคราม’  

อย่างซุนวูก็เคยบอกว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ยิ่งเป็นศัตรูที่ยิ่งใหญ่ ปราบยาก เมื่อปราบสำเร็จ ยิ่งจะเกิดเป็นบุญบารมีในสังคมไทยๆ ให้แก่ผู้ปราบ  แต่มีตำรวจสักกี่คนที่รอดมาจนได้แก่ตายแบบขุนพันธ์

ข้อสรุปอันแรกเลยก็คือว่า การจะเข้าใจเรื่องของขุนพันธ์ได้นั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าใจพวกเสือที่เป็น target ของขุนพันธ์ โดยที่พวกเสือเหล่านั้นล้วนแต่มีประวัติเรื่องราวพิสดารของตัวเอง พวกเขาเคยปรากฏโลดแล่นตามสื่อหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น นวนิยาย ลำตัดพื้นบ้าน ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ละครทีวีหลังข่าว มามากมายก่ายกอง แต่แล้วปัจจุบันพวกเขาแทบจะไม่มีปรากฏ เหมือนหายไปวับกลายเป็นฝุ่น PM2.5 เช่นเดียวกับความรักในคืนหลังวันวาเลนไทน์ยังไงยังงั้น 

คำถามก็คือพวกเขา (เสือ) หายไปไหน? ซึ่งการหายไปของเสือมักจะถูกเคลมว่าเป็นเพราะฝีมือของตำรวจอย่างขุนพันธ์ 

แต่ในยุคหลังจากขุนพันธ์เกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังมีข้อมูลอีกมากที่แสดงถึงความไม่ได้เป็นประเทศปลอดโจรผู้ร้ายของสยามเมืองยิ้มแต่ประการใด เพียงแต่โจรเหล่านั้นไม่เรียกตัวเองหรือไม่ได้รับการอวยจากผู้คนว่า ‘เสือ’ เหมือนดังในอดีต 

อะไรคือความแตกต่างในนิยามระหว่าง ‘โจรพันธุ์เสือ’ กับ ‘โจรทั่วไป’? ล้วนแต่ต้องเคลียร์ให้ได้ก่อนที่จะตอบคำถามสำคัญสำหรับในที่นี้ก็คือว่า แท้ที่จริงแล้วขุนพันธ์ mission completed เก็บงานได้เรียบร้อยแล้วจริง หรือเป็นแค่การอวยการเคลมหรือละเมอเพ้อพกกันไปเองเท่านั้น?

     

‘โจรผู้ร้าย’ ในสยามก่อนยุคขุนพันธ์

คำว่า เสือที่ปรากฏเป็นคำนำหน้าชื่อหรือฉายาแก่บุคคลนั้น ไม่ใช่คำในเชิงลบร้าย  เพราะเสือแม้จะดุร้ายแต่ก็มีภาพลักษณ์ความสง่างาม แข็งแกร่ง ทรงพลัง และมีเกียรติอยู่โดยนัย 

ดังที่มีภาษิตว่า 'ชาติเสือไว้ลาย' ในแง่นี้เสือกับความเป็นชายที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน  ความดุร้ายบางทีก็สะท้อนอำนาจบารมี ซึ่งสำหรับในหลายวัฒนธรรมของอุษาคเนย์เป็นสิ่งที่จะสามารถบันดาลให้โชคลาภและยศวาสนาแก่ผู้ที่อ่อนแอไม่มีสิทธิไม่มีเสียงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ต้องระมัดระวังเวลาอยู่ใกล้ ดังมีภาษิตว่า “นายรักเหมือนเสือกอด” เสือกับเจ้านายดูเหมือนจะถูกเทียบเคียงความคล้ายคลึงกันอยู่โดยนัย

ไม่อาจทราบเลยว่า  ตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่ที่เริ่มมีการอวยคนบางประเภทให้เป็น ‘เสือ’ เรื่องนี้มีมานานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งได้รับสมัญญาว่า ‘พระเจ้าเสือ’ และในสมัยปลายกรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) อดีตขุนพลเอกของพระเจ้าตากสินท่านหนึ่ง ก็มีสมญาว่า ‘พระยาเสือ’

‘เสือ’ ได้รับการเคารพถึงกับมี ‘ศาลเจ้าพ่อเสือ’ ขึ้นหลายแห่ง  มีทั้งศาลเจ้าแบบจีนและศาลเจ้าพ่อแบบไทย บ้างมีตำนานเล่าว่าเป็นเสือจริงไม่ใช่คน แต่เมื่อตายกลายเป็นผีประจำถิ่น บ้างก็ว่าเป็นคนดุร้ายเมื่อสมัยมียังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายก็ว่าวิญญาณไม่ได้หายไปไหน ยังคงป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่ในสถานที่จึงต้องสร้างศาลให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ลูกหลานได้เซ่นไหว้ขอความคุ้มครอง  

‘เสือ’ พบในจิตรกรรมและงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ มาก บ้างปรากฏอยู่ในรูปคู่พญามาร เป็นพาหนะของพญามารที่มาก่อกวนพระพุทธเจ้าในคืนวันก่อนจะตรัสรู้ ในนิทานชาดกมีหลายชาติที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น ‘แมวใหญ่’

การอุปมาอุปไมย (meta-phor) คนกับสัตว์ นอกจากเสือ ก็มีตัวอย่างอีกมากมาย ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเปรยว่า ‘โง่เหมือนควาย’ ‘ช้าอย่างกับเต่า’ ‘ดื้อเหมือนแมว’ ‘ซนอย่างกับลิง’ ‘ตัวใหญ่เท่าช้าง’ ‘เล็กเท่ามด’ ‘ประจบประแจงเลียแข้งเลียขาเหมือนหมา’ ‘มีพิษเหมือนงู’ ‘บินได้ดั่งนก’ ‘ลิ้นสองแฉกแบบตะกวด’ ‘ขี้เกียจเหมือนหมู’ ‘ปราดเปรียวเหมือนม้า’ ‘พูดมากเหมือนนกแก้วนกขุนทอง’ ฯลฯ

‘เสือ’ ที่ใช้เป็นสรรพนามคน มักจะบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นมีลักษณะในทางดุร้าย แต่ก็เป็นที่ยำเกรงของผู้คนไปด้วยในตัว (ในแง่นี้จึงใช้ ‘แมว’ หรือ ‘หมา’ ไม่ได้)  ไม่ใช่พฤติกรรมหรือลักษณะที่จะพบเห็นได้ในคนทุกคน มักเป็นคนที่มีบุคลิกหรือเรื่องเล่าผิดแผกพิสดารมหัศจรรย์พันลึกไปกว่าคนอื่นๆ ไม่ใช่คนปกติเดินดินกินก๊วยเตี๋ยว เป็นมนุษย์พิเศษที่แม้ไม่ถึงกับเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็สามารถทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำไม่ได้ อาจจะเรียกตามศัพท์สมัยนี้ได้ว่า ‘ทรงอย่างแบด’ อะไรประมาณนั้น   

‘คนแบดๆ’ มีทุกยุคสมัย ทุกชั้นวรรณะ แต่ไม่ทุกสมัยและไม่ทุกคน ที่คนแบบนี้จะถูกอวยยศให้เป็น ‘เสือ’ นอกจากนี้ ‘เสือ’ ในฐานะที่เป็นคนนอกกฎหมาย  ยังเทียบได้กับ ‘ขบถ’ อีกด้วย ภายใต้สังคมที่มีลำดับชั้นและกฎเกณฑ์ทุกสิ่งอย่างดูจะสนับสนุนส่งเสริมให้คนระดับล่างไม่อาจขัดขืนกับคนระดับบนได้ตามระบบปกติ  ก็จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกเช่นกันที่ ‘ความรุนแรง’ จะกลายเป็นอำนาจสุดท้ายที่ถูกนำเอามาใช้ 

‘เสือ’ มักจะเป็น ‘ขบถ’ ควบคู่กันไปด้วย แต่ ‘ขบถ’ ไม่ทุกคนจะเป็น ‘เสือ’ ไปด้วย ‘ขบถ’ แม้จะยังเป็นคน แต่ก็กลับสูงส่งกว่า ‘เสือ’ ทั้งนี้อาจเพราะขบถบางประเภทมีศักยภาพจะแทนที่อำนาจเดิมได้ เช่น ขบถของเจ้านายและกลุ่มชาติพันธุ์เงี้ยวในภาคเหนือ, ขบถผู้มีบุญในอีสาน, ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองในภาคใต้  บางประเภทไม่เรียกตัวเองว่า ‘ขบถ’ แต่การกระทำมันใช่ ก็เช่น อั้งยี่ในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ‘เสือ’ บางคนเป็น ‘โจรสลัด’ เช่น ‘เสือผ่อน’ ที่เคยปล้นเรือสินค้าในแถบทะเลภาคตะวันออก  แต่โดยมาก ‘โจรสลัด’ มักไม่เรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่า ‘เสือ’ มีบ้างที่เป็น ‘อั้งยี่’

ลักษณะเด่นของ ‘ขบถผู้มีบุญ’ จะเป็นเรื่องการอ้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของผู้นำ  ซึ่งการอ้างอย่างนี้มีในหมู่ชนชั้นสูงอยู่ก่อนแล้ว  ความเป็นระบบระเบียบมีขื่อแปของสังคมในส่วนนี้จะหมายถึงการห้ามไม่ให้ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปสามารถอ้างกฤดาภินิหารได้ ชนชั้นปกครองอ้างได้ฝ่ายเดียว ‘ขบถผู้มีบุญ’ มีความแมสและเปิดเผยกว่า ‘เสือ’ จึงง่ายที่จะถูกนำกำลังเข้าปราบปราม  เสือมีความยืนหยุ่นกว่า  เพราะมักจะพัฒนามาจาก ‘นักเลง’

ความเหมือนอีกอย่างหนึ่งคือทั้ง ‘เสือ’ และ ‘ขบถผู้มีบุญ’ ต่างถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมท้องถิ่น  มีความผูกพันกับคนในชุมชนผ่านทางเครือญาติ หรือไม่ก็ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตอบแทนแก่คนในชุมชนจนก่อเกิดเป็นพวกพ้องกัน เช่น เมื่อปล้นได้ทรัพย์สินมีค่ามาแล้วก็เอาไปแบ่งปันแจกจ่ายแก่พวกพ้องหรือคนในชุมชน เสือบางคนเป็นนายทุนใจดีของท้องถิ่น เช่น เสือดำเป็นผู้อุปถัมภ์การสร้างอาคารแก่โรงเรียนในถิ่นธุรกันดารของสุพรรณบุรี เสือผ่อนเป็นผู้ออกเงินทุนสำหรับสร้างวัดบูรณะโบสถ์วิหารในจันทบุรี เป็นต้น  

ทั้ง ‘เสือ’ และ ‘ขบถผู้มีบุญ’ จะมีกฎเหล็กไม่ทำร้ายคนในชุมชนของตนเอง  คนเหล่านี้แม้เป็น ‘คนแบดๆ’ ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของรัฐส่วนกลาง แต่ก็ถือเป็น ‘ตัวแทนของหมู่บ้าน’

เมื่อการก่อกบฏอย่างตรงไปตรงมาถูกปราบลง ‘เสือ’ ก็มักจะเข้ามารับไม้ต่อ  แต่ก็น่าสังเกตว่า บริเวณที่เกิดมีเสือชุกชุมนั้นมักจะอยู่ที่ภาคกลางและภาคใต้ตอนบน  คืออยู่แค่ปลายจมูกของส่วนกลาง ที่เหลือมีบ้างในภาคอีสานและภาคตะวันออก  แต่ไม่มากเหมือนภาคกลาง ภาคกลางนั้นมีมากที่สุด  

ทั้งนี้อาจเพราะพื้นที่บริเวณภาคกลางตามหัวเมืองรอบนอก เช่น สุพรรณบุรี, ชัยนาท, อุทัยธานี, ลพบุรี,  ราชบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ชนบทและป่าเขาที่ยังไม่ถูกทางการเข้าควบคุมเป็นอันมาก และความอยู่ใกล้ตัวเมืองศูนย์กลางซึ่งเป็นแหล่งปฏิบัติการ ทำให้เมื่อปล้นแล้วสามารถหลบหนีได้  แค่ออกจากตลาดในเมืองหนีไปถึงเขตหมู่บ้าน ไร่นา และป่าเขา ก็เป็นที่ปลอดภัยสำหรับโจรแล้ว 

สายสัมพันธ์อีกรูปแบบที่โจรเสือมีกับชุมชน ยังได้แก่การฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ชื่อดังที่ประชาชนในท้องถิ่นให้ความเคารพศรัทธาอีกด้วย การที่เสือมีครูอาจารย์ เป็นมากกว่าการจะได้เครื่องรางของขลัง เพราะนั่นจะทำให้เสือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ควบคุมเสือได้อีกต่อหนึ่ง  หากมีเรื่องร้อนใจได้รับความเดือดร้อน ต้องการความคุ้มครอง หรือถูกเสือต่างถิ่นรังแก พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ของเสือนั้นแหล่ะที่จะเป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้านได้ ชาวบ้านในชนบทจึงไม่กลัวเสือ เพราะเสือควบคุมได้ แถมยังอาจเป็นลูกหลานหรือคนในวงวารว่านเครือของตนอีกด้วย

แต่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนกลางเป็นตัวละครที่ชาวบ้านไม่เพียงไม่สามารถควบคุมได้ อำนาจต่อรองก็น้อยจนแทบไม่มี อีกทั้งคนของทางการเมื่อเข้าไปในชุมชนยังมักแสดงตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตกดขี่ข่มเหงชาวบ้านอีก คนจากราชการส่วนกลางแลดูไม่มีประโยชน์แถมคุกคามสำหรับวิถีชีวิตสงบสุข ผิดกับโจรซึ่งปล้นคนภายนอกไม่ปล้นหมู่บ้านตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้หากต้องเลือกระหว่าง ‘เสือ’ กับคนของทางการแล้ว จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะเลือกเสือมากกว่าทางการ เสือจึงอยู่รอดได้ท่ามกลางยุคสังคมชนบทที่ยังไม่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมืองในวิถีชนชั้นกลางไปหมด        

ในงานที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ของ เดวิด บรูช จอห์นสตัน (David Bruce Johnston) เรื่อง “สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473” (Rural Society and the Rice Economy in Thailand, 1880-1930) ได้แสดงให้เห็นว่า งานยากโหดหินที่สุดสำหรับส่วนกลางในการกดปราบคนชนบทนั้นนอกจากการปราบขบถผู้มีบุญแล้ว ยังต้องรับมือยาวนานกับพวกโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่คนชนบทสร้างออกมาเป็นตัวแทนต่อต้านรัฐส่วนกลางอยู่ตลอด  เป็นงานที่ลำพังตำรวจไม่อาจทำได้ ต้องใช้กองทหารที่มีอาวุธครบมือ แต่เมื่อนำกำลังบุกทลายรังโจรแล้วผู้นำก็มักจะหลุดรอดไปก่อตั้งชุมโจรขึ้นมาใหม่ได้อีกไม่นานหลังจากนั้น      

ในพ.ศ.2434 ก่อนการเริ่มปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ถึงหนึ่งปี  สยามต้องส่งกำลังทหารเข้าไปปราบพวกโจรขโมยควายขนานใหญ่ที่ชลบุรี  ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ครั้งนั้นได้จับกุมผู้ร้ายได้กว่า 1,600 คน ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่อีกหลายปีกองทหารนี้จะต้องเผชิญกับการลุกฮือครั้งใหญ่ของคนอีสานหลังการปฏิรูป

ขณะที่ฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองจันทบุรีหลังเหตุการณ์กรณีร.ศ.112 ก็ต้องเผชิญกับการก่อกบฏของคนจีนในรูปอั้งยี่ จนต้องนำกำลังเข้าปราบปรามครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน แต่อั้งยี่จะไม่ถูกอธิบายว่าเป็นคนจันท์ที่ถูกฝรั่งเศสปราบปราม  เพราะอั้งยี่มีภาพพจน์เป็นโจรผู้ร้ายโดยสัมบูรณ์มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งเป็นผลสืบมาจากกรณีอั้งยี่ยึดเมืองฉะเชิงเทราในสมัยรัชกาลที่ 3 

การปราบปรามด้วยการใช้กำลังทหารนั้นอาจเหมาะกับชุมโจรที่มีสถานที่ตั้งมั่นชัดเจน แต่กับเสือในรุ่นหลังโดยเฉพาะตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา การใช้กำลังทหารเริ่มจะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองและไม่มีประสิทธิภาพ เปรียบเหมือน ‘ขี่ช้างไล่มด’  เพราะชุมเสือมีขนาดเล็กลงและกระจัดกระจายกันมากด้วย ทำให้ยากต่อการติดตาม บทบาทหน้าที่ในการปราบปรามจึงตกเป็นของตำรวจ และนั่นก็เป็นช่วงเวลาหลังจากที่มีการปรับปรุงจาก ‘กองตระเวน’ ในเมือง มาเป็น ‘ตำรวจ’ ซึ่งมีขอบข่ายการปฏิบัติหน้าที่เข้ามาครอบคลุมพื้นที่ชนบทมากขึ้น 

ที่สำคัญตำรวจยังเป็นหน่วยงานที่พัฒนามาจากการรับลูกหลานคนชนบทเข้ามาจับอาวุธอีกด้วย หลังจากนั้นมา ‘ตำรวจปราบโจร’ ก็คือลูกหลานคนชนบทปะทะกับคนชนบทด้วยกัน แต่เป็นคนที่ถูกตัดขาดสายสัมพันธ์เครือญาติ  ต้องมาห่ำหั่นกันเอง เป็นศึกระหว่าง ‘ตัวแทนของหมู่บ้านหนึ่ง’ กับ ‘ตัวแทนของอีกหมู่บ้าน’  ไม่ใช่ตัวแทนคนชนบทกับคนของส่วนกลางเหมือนอย่างในอดีตก่อนหน้า  

และช่วงนี้เองเป็นเวลาที่ขุนพันธ์ เด็กหนุ่มจากนครศรีธรรมราชได้เริ่มต้นชีวิตราชการ  

  

ไทม์ไลน์ชีวิตในระบบราชการไทย

กองบรรณาธิการของวารสารศิลปวัฒนธรรม เคยลำดับไทม์ไลน์ประวัติชีวิตของขุนพันธ์เอาไว้ดังจะเห็นได้ตามนี้:

พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช ชื่อเดิม ‘บุตร พันธรักษ์’ (18 กุมภาพันธ์ 2446 – 5 กรกฎาคม 2549) อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 นับเป็นมือปราบระดับพระกาฬในตำนาน บ้านเดิมอยู่บ้านอ้ายเขียว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เรียนจบหลักสูตรนายร้อยและเข้ารับราชการตำรวจในปี พ.ศ.2472

พ.ศ. 2474 ตําแหน่งผู้บังคับหมวดกองเมืองพัทลุง ปราบเสือสังหรือเสือพุ่ม เสือร้ายแหกคุกมาจากเมืองตรัง ในปีถัดมาสําเร็จโทษเสือร้ายในพื้นที่อีก 16 คน

พ.ศ. 2479 ลงไปปราบ ‘อะแวสะดอตาเละ’ โจรร้ายนราธิวาส และ เสือสาย เสื้อเอิบ ที่พัทลุง

พ.ศ. 2486 ย้ายขึ้นพิจิตรปราบเสือโน้ม

พ.ศ. 2489 ย้ายลงมาเป็นผู้กํากับการตํารวจภูธรชัยนาท พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อํานวยการกองปราบพิเศษของกรมตํารวจ ลุยปราบชุมโจรในย่านสุพรรณ อาทิ เสือฝ้าย, เสือครึ้ม, เสือปลั่ง, เสือใบ, เสืออ้วน, เสือไหว, เสือมเหศวร รวมถึงเสือไกรและเสือวันแห่งชุมโจรใน อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร  

พ.ศ. 2491 ย้ายลงพัทลุงเพื่อกําราบชุมโจรเกิดใหม่ กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตํารวจภูธรเขต 8 ก่อนจะเกษียณอายุราชการและกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่นครศรีธรรมราชบ้านเดิม ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2507    

สรุปก็คือว่าเกิด ศึกษาเล่าเรียน และเริ่มต้นชีวิตงานราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์รัชกาลที่ 5 เป็นข้าราชการตำรวจท้องถิ่นยุคคณะราษฎร สมัย ‘พล.อ.หลวงอดุล อดุลเดชจรัส’ และต่อมาคือ ‘พล.อ.เผ่า ศรียานนท์’ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ภายใต้ยุคที่มีคติว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” และสิ้นสุดอายุราชการในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2500 ยุคสามทรราช (ถนอม-ประพาส-ณรงค์) อย่างกว้างๆ ก็คือเป็นช่วงยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516

 

จาก ‘ขบถผู้มีบุญ’ ถึง ‘โจรพันธุ์เสือ’

โจรที่ได้รับสมญาว่า ‘เสือ’ นั้นมักจะได้รับความนิยมชมชอบ เพราะผลจากความล้มเหลวในการปฏิรูปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ทำให้ข้าราชการไม่เป็นที่เชื่อถือในสายตาของราษฎร อีกทั้งข้าราชการยังเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่เพิ่งเกิดหลังการปฏิรูปได้ไม่นาน  

ตรงข้ามกับ ‘เสือ’ ที่เวลานั้นเมื่อปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นกำลังวิวัฒน์สู่ความเป็นสถาบันมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเข้ามามีบทบาทในฐานะตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นแทนที่ ‘ขบถผู้มีบุญ’ ซึ่งถูกทางการปราบมากขึ้นเรื่อยๆ ‘เสือ’ ถือเป็นอีกระดับขั้นของ ‘นักเลง’ มีมาเก่าแก่ยาวนานกว่าข้าราชการไม่ว่าตำรวจหรือทหาร ตำรวจและการเกณฑ์ทหารเกิดจากการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5  แต่นักเลงมีมาตั้งแต่อยุธยาแล้ว      

เสือเป็นที่เชื่อถือในหมู่ประชาชนมากกว่าข้าราชการ เพราะเสือมีลักษณะเป็น ‘โจรของประชาชน’ หรือโจรที่เกิดจากปัญหาสังคม (Social bandit) ประกอบกับสื่อมวลชนเช่นหนังสือพิมพ์และงานเขียนวรรณกรรม ได้สร้างภาพลักษณ์เสือในเชิงโรแมนติก เสือเกิดจากคนที่ได้รับความอยุติธรรม ปล้นคนรวยช่วยคนจน มีสัจจะ เคารพครูอาจารย์ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับ ‘โรบิน ฮู๊ด’ (Robin Hood) ในสื่อของโลกตะวันตก

แถมในเวลาต่อมาเมื่อวัฒนธรรมอเมริกันแพร่หลายเข้ามา พวกเสือยังมีการปรับเปลี่ยนจนมีภาพลักษณ์ทันสมัย แต่งกายและถูกสร้างให้มีนัยยะในเชิงเปรียบเทียบกับ ‘คาวบอย’ ของวัฒนธรรมอเมริกัน แต่เป็นอะไรที่ง่ายไปหากจะบอกว่า  การแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมคาวบอยแบบอเมริกันเป็นเหตุให้เกิดเสือ เพราะเสือมีมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนหน้านั้น เสือมีภาพพจน์และเรื่องเล่าแบบอื่น 

บางกรณีการสร้างภาพลักษณ์เสือของสื่อก็เป็นการสร้างโดยอิงจินตนาการของผู้แต่งเป็นหลัก เช่นกรณีเสือใบ ตามนวนิยายของ ‘ป. อินทรปาลิต’ ระบุว่าชื่อจริงคือนายเรวัตร เป็นลูกผู้ดีมีชาติตระกูล มีการศึกษาสูงเรียนจบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เคยรับราชการในกระทรวงมหาดไทย แต่ถูกกลั่นแกล้งจากระบบที่ไม่เป็นธรรม โดนใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นอาชญากร จึงหลบหนีออกจากเมืองไปเป็นโจรอยู่ในชนบท แต่เสือใบตัวจริงเป็นๆ คือนายใบ สะอาดดี นั้นเป็นลูกหลานชาวนา จ.สุพรรณบุรี นวนิยายชุดเสือใบ-เสือดำ นับว่าสะท้อนการสร้างเสือให้แก่ชนบทด้วยมุมมองแบบชนชั้นกลางในเมือง      

ขุนพันธ์ซึ่งเข้ารับราชการตำรวจในช่วงที่มีบรรยากาศแบบนี้ อีกทั้งยังมีพื้นเพมาจากชนบท  ย่อมเข้าใจดีถึงความยากในการที่จะเอาชนะ ‘โจรของประชาชน’ ขุนพันธ์เองก็ถูกสร้างให้เป็น ‘มือปราบเสือ’ ในลักษณะเดียวกับ ‘นายอำเภอ’ ในฝั่งตะวันตกของอเมริกา ไม่ใช่เพียงการปราบปรามในทางการต่อสู้และจับกุมด้วยกำลังอาวุธ หากแต่ยังเป็นการแข่งขันในเชิงภาพลักษณ์ตั้งแต่ต้น และขุนพันธ์ก็ค่อยๆ ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ทีละนิดละหน่อย จนกระทั่งเป็นสิ่งที่เหนือกว่าเสือในแง่การยอมรับจากประชาชน ซึ่งคนที่เคยได้รับสถานะแบบนี้ในอดีตก็คือ ‘ขบถผู้มีบุญ’

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ จริงๆ แล้วสิ่งที่ขุนพันธ์เข้าไปสวมเพื่อประชันขันแข่งและกดปราบภาพลักษณ์เสือก็คือ ‘ผู้วิเศษมีบุญ’ หากเป็นในช่วงก่อนหน้า 2475 ขุนพันธ์ที่ได้รับภาพลักษณ์แบบนี้คงไม่แคล้วโดยหาว่าเป็น ‘ขบถ’ หรือ ‘ผีบุญ’ ต้องถูกจับกุมคุมขังในฐานะที่อวดอ้างกฤดาภินิหาร

แต่ในช่วงเวลาที่ขุนพันธ์ได้รับสิ่งนี้นั้นเป็นช่วงที่บทบาทสามัญชนเป็นที่ยอมรับและยกย่องกันเกือบจะทั่วทุกวงการแล้ว เพราะผลจากการอภิวัฒน์กลางกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2475 

โดยที่ผู้มีอำนาจใหม่อย่างคณะราษฎรนั้นก็เป็นพวกที่ต้องการสนับสนุนบทบาทสามัญชนอยู่ด้วย จากประวัติของขุนพันธ์ที่เล่นคุณไสยจนในหมู่โจรบางส่วนก็เรียกว่า ‘อาจารย์’ นำไปสู่การเมืองภายในวงการสีกากีในช่วงหนึ่ง มีเพื่อนร่วมอาชีพใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นโจร 

แต่ผู้นำตำรวจเวลานั้นคือ ‘หลวงอดุล อดุลเดชจรัส’ ไม่ใช่คนหูเบา ไม่เชื่อว่าลูกน้องของตนเป็นคนไม่ดี ขุนพันธ์จึงไม่เพียงรอดจากการเมืองครั้งนั้นมาได้  ยังมีลาภยศวาสนามากขึ้นกว่าเดิมไปอีก  จากการที่ได้รับความไว้วางใจให้ย้ายไปปราบเสือที่ต่างๆ จนได้รับสมญา ‘มือปราบเสือ’

   

ตำรวจมือปราบ กับ ‘ไสยศาสตร์ประยุกต์’

เคล็ดลับวิธีการที่ขุนพันธ์ใช้ในการเอาชนะเสือ คือการสร้างภาพลักษณ์ ‘คนดีมีวิชา; แข่งกับเสือ แต่ในการ ‘แย่งซีนเสือ’ นั้น ขุนพันธ์ก็ได้กลายเป็นเสือไปด้วย  ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เสือมีหรือเป็น ขุนพันธ์ก็ไปช่วงชิงหรือลอกเลียนแบบมาเป็นของตนเองหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์มูๆ จอมขมังเวทย์ ร่ำเรียนและฝึกปรือเวทมนต์คาถาอาคมต่างๆ การมีอาวุธดาบที่ร่ำลือว่าเป็นดาบเหล็กไหลที่พระยาพิชัยดาบหักเคยใช้มาก่อน และก็ถึงกับฝากตัวเข้าเป็นศิษย์ของพระภิกษุสำนักที่สร้างเสือขึ้นมาด้วย 

ตรงนี้มีผลเท่ากับขุนพันธ์เข้าไปขโมยเสื้อคลุมของบรรดาเสือมาเป็นของตน  เป็นเสื้อคลุมที่ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเคารพยำเกรง จากจุดนี้จึงเกิดข้าราชการตำรวจแบบใหม่ เป็นตำรวจที่มี ‘ความเป็นเสือ’ แต่ต่างวัตถุประสงค์กับเสือที่เป็นโจร อย่าว่าแต่ในหนังจีนเลย ในไทยนี่ก็เห็นมานักต่อนักแล้ว เวลาจะทำลายกันขึ้นมาจริงๆ ไม่มีใครจะทำได้มากเท่ากับศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันหรอก  เพราะสำนักเดียวกันย่อมรู้ทางกันดี กลายเป็นว่า ขุนพันธ์ปราบเสือ ก็คือ ‘เสือรุ่นน้อง’ ปะทะกับ ‘เสือรุ่นพี่’ วิธีปราบโจรผู้ร้ายเช่นนี้ ขุนนางและเจ้านายในราชวงศ์จักรีบางพระองค์ก็เคยใช้กับพวกอั้งยี่มาก่อน 

‘อาจารย์เครก’ (เครก เจ. เรย์โนลด์ส/Craig J. Raynolds) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่อาจารย์ฉลอง (ฉลอง สุนทรวาณิชย์) เคยเชิญมาสอนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาฯ สมัยผู้เขียนยังเป็นนิสิตหนุ่มหน้าตาดีคนหนึ่ง  เคยเขียนบทความมีข้อเสนอหลักว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ไสยศาสตร์ประยุกต์’ (Applied sciences) ที่นิยมใช้กันมากในหมู่อาชญากร ตำรวจ ทหาร นักการเมือง นักธุรกิจ ในสังคมประเทศไทย 

โดยสังกัป (Concept) ‘ไสยศาสตร์ประยุกต์’ ประกอบด้วยความรู้แขนงมูๆ ทั้งหลายแหล่ โดยเฉพาะโหราศาสตร์และเวทมนต์คาถาต่างๆ ล้วนแต่เป็นแขนงวิชาที่แตกต่างและตรงกันข้ามกับศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ เป็นศาสตร์กำหนดการตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเหล่าทหาร ตำรวจ อาชญากร นักธุรกิจ (ทั้งเทาและไม่เทา) และนักการเมืองในประเทศไทย

ศาสตร์ประยุกต์เหล่านี้ช่วยแนะแนวทางเรื่องฤกษ์ยามและขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ในการทำงาน เพราะงานของคนเหล่านี้อยู่กับความเสี่ยงและเชื่อกันว่าถูกกำหนดมาจาก ‘ดวง’ ซึ่งรายละเอียดจะเห็นได้จากการศึกษาประวัติชีวิตของขุนพันธ์  สรุปคือมิได้มีแต่ขุนพันธ์ที่ใช้ไสยศาสตร์ประยุกต์ และความเชื่อต่อไสยศาสตร์ประยุกต์ก็สะท้อนความมี ‘จักรวาลร่วมกัน’ ทั้งในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐและคนนอกกฎหมาย      

 

โจรปราบได้ แต่เสือปราบไม่ได้!!!    

งานของอาจารย์สมเกียรติ (สมเกียรติ วันทะนะ) เรื่อง “วิเคราะห์ “เสือใบ-เสือดำ” วีรบุรุษคนยากของ ป. อินทรปาลิต” เสนอว่า เสือเป็น ‘วีรบุรุษของประชาชน’ แต่มิได้มีแผนการที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เสือเป็นรูปแบบการเอาตัวรอดและช่วงชิงผลประโยชน์เฉพาะหน้า 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจารย์สมเกียรติให้ความสำคัญไม่ใช่การวิเคราะห์หาเป้าหมายของเสือจากนวนิยายชุดเสือใบ-เสือดำ ของ ป. อินทรปาลิต (ปรีชา อินทรปาลิต) หากแต่เพื่อเข้าใจชุดความหมายและค่านิยมต่างๆ อันจะช่วยให้เข้าใจบุคลิกลักษณะประจำชาติ (National character) ของคนไทย ชุดความหมายและค่านิยมเหล่านั้นได้แก่ เกียรติยศ, ศักดิ์ศรี, ลูกผู้ชาย, ชายชาติเสือ, ชายชาตินักเลง, ลบหลู่, ดูหมิ่น, ลูบคม ฯลฯ ชุดความหมายและค่านิยมแบบชายชาตรีเหล่านี้นำไปสู่คติ ‘ลูกผู้ชาย ชาติเสือ เชื้อนักเลง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้เกิดเสือขึ้นมา  โดยที่เสือถึงแม้จะเกิดจากโครงสร้างสังคม  แต่ไม่อาจเปลี่ยนระบบสังคมได้ 

เช่นเดียวกับงานของอีริค เจ. ฮอบสบอว์ม (Eric J. Hobsbawm) เกี่ยวกับโจรผู้ร้ายในโลกตะวันตก ก็ได้เสนอไว้ทำนองเดียวกัน โดยฮอบสบอว์มศึกษาโจรผู้ร้ายที่ปรากฏตามสื่อ โจรที่เป็นตำนานและขวัญใจประชาชน เขาพบว่าจอมโจรที่มีลักษณะเป็นวีรบุรุษของประชาชน มักเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมชนบทที่กำลังเปลี่ยนผ่าน สังคมแบบชนเผ่าที่ยึดโยงกันด้วยระบบเครือญาติและแบ่งปันทรัพยากรของท้องถิ่นร่วมกัน กำลังถูกรุกรานโดยระบบสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จึงทำให้เกิดคน 2 กลุ่มภายใต้ 2 ระบบวัฒนธรรมที่แตกต่างและขัดแย้งกัน  

ฝ่ายหนึ่งต้องการคงวิถีชีวิตแบบเดิมกับอีกฝ่ายที่ต้องการจะเปลี่ยนไปสู่อีกระบบที่ตนได้ประโยชน์มากกว่า เมื่อฝ่ายแรกสูญเสียอำนาจที่จะแข่งขันตามปกติ ก็นำไปสู่การสร้างโจรขึ้นมาปกป้องตนเองและทำร้ายคนภายนอกด้วยกำลังความรุนแรง และนั่นก็ยังผลให้เกิดความชอบธรรมแก่ฝ่ายหลังในการดึงเอาอำนาจรัฐส่วนกลางเข้ามาปราบปรามและควบคุมอีกฝ่ายจนได้รับชัยชนะ    

การที่เสือไม่ใช่โจรธรรมดา หากแต่เป็นวีรบุรุษของประชาชนในท้องถิ่น  เสือมีภาพลักษณ์สูงเด่นกว่าข้าราชการ ข้าราชการเป็นผู้รับใช้รัฐส่วนกลาง ในขณะที่เสือเป็นความหวังของหมู่บ้าน การปราบปรามจึงต้องแยกเสืออกจากชาวบ้าน 

แต่สิ่งที่ขุนพันธ์ทำคือการแสดงตัวเป็น ‘เสือปราบเสือ’  ไม่ได้ใช้เฉพาะกำลังความรุนแรงเข้าห่ำหั่น มีการเจรจาต่อรองกันด้วย และในการเจรจาต่อรองนี้ขุนพันธ์รู้ว่า เสือเป็นโจรที่มีสัจจะ เคารพครูอาจารย์ และศรัทธาในพุทธศาสนา  นอกจากกฎหมายก็จึงใช้พุทธศาสนา เช่น ที่เจรจากับเสือว่า ถ้ายอมไปบวช  ตนจะไม่ปราบ  การบวชคือการละทิ้งวิถีแบบเสือ 

เสือเป็นรูปแบบวิถีชีวิตและอุดมการณ์ ความชอบธรรมของเสือจึงไม่ได้หมดไปพร้อมกับการถูกปราบปราม เพราะโจรเป็นแค่ ‘ร่าง’ (Body) ในขณะที่เสือเป็นจิตวิญญาณอิสระ (Freedom spirit) ขุนพันธ์จึงปราบได้แต่เฉพาะโจร ปราบเสือไม่ได้  เพราะเสือเป็นรูปแบบวิถีชีวิตและอุดมการณ์ที่จะยังอยู่ต่อไป ตรงข้ามขุนพันธ์กลับต้องไปสวมเสื้อคลุมของเสือหรือสร้างภาพลักษณ์และเรื่องเล่าเป็นเสืออีกตนหนึ่ง นั่นเป็นทั้งข้อได้เปรียบและข้อจำกัดอยู่ด้วยในตัว   

สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีนั้นมีอยู่ 3 กรณี 

กรณีแรกมาจากเรื่องเล่าของขุนพันธ์ในการเผชิญหน้ากับ ‘อะแวสะดอ ตาเละ’ จอมโจรแห่งเทือกเขาบูโด ซึ่งมีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนจะรวมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรัฐอิสระปกครองตนเองตามหลักอิสลาม อะแวสะดอ ตาเละ ปล้นคนไทยพุทธไม่ปล้นคนมุสลิม ถึงกับได้ปักธงอ้างว่าได้ยึดดินแดนกลับคืนเป็นของชาวมลายูมุสลิมแล้ว 

จากเรื่องเล่าของขุนพันธ์ อะแวสะดอ ตาเละ มีเวทมนต์คาถาสูงส่ง ยิงไม่เข้า ฟันแทงไม่ได้ เพราะมีวิชาหนังเหนียวแก่กล้ามาก จึงปราบยาก ขุนพันธ์ต้องพบกับความล้มเหลวหลายครั้งกว่าจะสำเร็จในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าว่าด้วยการใช้ไสยศาสตร์ประยุกต์ของอะแวสะดอ ตาเละ จากมุมของขุนพันธ์ดูจะขัดกับหลักศาสนาอิสลามที่ไม่สนับสนุนการใช้ไสยศาสตร์ 

ประเด็นสำคัญสำหรับในที่นี้ก็คือ ขุนพันธ์ปราบอะแวสะดอ ตาเละ เหมือนปราบโจรผู้ร้ายได้ แต่อุดมการณ์ข้อเรียกร้องของอะแวสะดอ ตาเละ ยังอยู่ ไม่ได้หายไปด้วย ดังจะเห็นได้จากการเกิดกลุ่มก่อความรุนแรงเรียกร้องเอกราชของชายแดนใต้ที่ฝ่ายรัฐและสื่อมวลชนของส่วนกลางมักตั้งป้อมเรียกพวกเขาว่า ‘โจรใต้’

แม้แต่ในบทภาพยนตร์ การสนทนาระหว่างขุนพันธ์กับอะแวสะดอ ตาเละ ก็ยังสะท้อนให้เห็นความชอบธรรมที่ฝ่ายโจรมีมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ อะแวสะดอ ตาเละ (รับบทโดยน้อย กฤษดา สุโกศล โคแวค หรือ น้อย วงพรู) ชี้หน้าด่าขุนพันธ์ (ที่รับบทโดยอนันดา เอฟเวอริ่งแฮม) ด้วยท่าทีองอาจพร้อมกับกล่าวว่า “มรึงกับกรูต่างกันแค่เสื้อผ้าที่สวมใส่” 

ขุนพันธ์ได้แต่โต้กลับว่า “สิ่งที่นายทำมันผิดกฎหมาย” (บลา บลา บลา)  

เรื่องที่ว่าหลังปราบอะแวสะดอ ตาเละ แล้วได้รับการยกย่องจากคนมลายูมุสลิมว่า ‘รายอกะจิ’ (อัศวินพริกขี้หนู) ก็ดูเป็นเรื่องแปลก ได้รับยกย่องเช่นนั้นจริงหรือ? เหตุใดคนใต้จึงไปยกย่องคนที่ไปฆ่าพี่น้องของตนเองถึงในถิ่นของพวกเขาเช่นนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำหรับในที่นี้    

กรณีที่ 2 เป็นเรื่องของ ‘เสือผ่อน’ โจรสลัดชื่อดังในทะเลภาคตะวันออก ถึงแม้ว่าในลิสต์รายนามเสือร้ายที่ถูกขุนพันธ์ปราบไปนั้นจะมีชื่อเสือผ่อนรวมอยู่ด้วยกับเสืออื่นๆ แต่ไม่น่าเป็นไปได้เพราะเสือผ่อนเป็นโจรทะเลไม่ใช่โจรบกที่อยู่ในความชำนาญของขุนพันธ์ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าขุนพันธ์จะเคยย้ายมารับราชการอยู่ในเขตภาคตะวันออก และที่สำคัญ พ.ศ.2472 ซึ่งเป็นปีที่เสือผ่อนเสียชีวิตไปแล้วนั้น ขุนพันธ์ยังเรียนจบและเพิ่งเข้ารับราชการตำรวจ ยังไม่ได้ทำผลงานจนมีชื่อเสียงอย่างใด เรื่องนี้คงเป็นการยกย่องกันเลยเถิดไม่ดูหลักฐานและข้อเท็จจริง     

ทั้งนี้ กรณีเสือผ่อนนั้นสะท้อนภาวะที่เสือ ‘ตัวตายแต่ชื่อยัง’ คือ เสือผ่อนตามเรื่องเล่าได้ถูกลูกน้องหักหลังทำลายวิชาอาคม โดยเอาระดูของผู้หญิงมาใส่ในชามอาหารให้เสือผ่อนกิน 

เมื่อวิชาอาคมถูกทำลายจนตะกรุดจองขลังที่ได้มาจากอาจารย์คือหลวงพ่อเปรม เจ้าอาวาสวัดท่าแคลง จ.จันทบุรี เจอระดูผู้หญิงเข้าก็เสื่อมสลาย ความอยู่ยงคงกระพันของเสือผ่อนก็สูญสิ้นไปกลายเป็นคนธรรมดา เมื่อตำรวจนำกำลังเข้าไปจับกุมและมีการยิงต่อสู้กัน เสือผ่อนก็ถูกยิงเสียชีวิตที่อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี 

ทว่าหลังจากเสียชีวิตไป เสือผ่อนกลับกลายเป็น ‘ชาติเสือไว้ลาย’ ที่แท้ทรู  เพราะประชาชนในแถบชายฝั่งทะเลตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ต่างก็ได้แต่ง ‘ลำตัดเสือผ่อน’ ออกมาหลายเวอร์ชั่น บอกเล่าเรื่องราวของเสือผ่อนในฐานะวีรบุรุษผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยท้าทายอำนาจรัฐและยืนยันสิทธิดั้งเดิมของคนท้องถิ่นที่มีต่อทะเลในย่านตะวันออก (ดูเนื้อหาของ ‘ลำตัดเสือผ่อน’  ในงานของอภิลักษณ์ เกษมผลกูล ที่อ้างอิงไว้ท้ายบทความ)

กรณีที่ 3 คือเรื่องของ ‘ตี๋ใหญ่’ (กรประเสริฐ ช่างเขียน) จอมโจรชื่อดังที่อาละวาดอยู่ในภาคกลางหลายปี (ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2516-2524)  ตี๋ใหญ่มีกำเนิดจากลูกชาวสวนที่ราชบุรี  เติบโตเป็นนักเลง  แล้วเข้าสู่วงการโจรชั้นนำ  ตี๋ใหญ่ไม่เรียกตัวเองว่า เสือและสื่อมวลชนก็ไม่ได้ตั้งสมญาเขาว่าเสือ แต่ทว่าตี๋ใหญ่ก็มีและเป็นทุกอย่างที่เสือรุ่นพี่และรุ่นพ่อเคยมีหรือเป็นกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่ามูๆ มีตั้งแต่ล่องหนหายตัวได้ ยิงแทงฟันไม่เข้า มีสัจจะ รักพวกพ้อง ปล้นคนรวยช่วยคนจน เจ้าชู้หลายเมีย ฯลฯ 

แถมยังฉลาดว่องไวและขึ้นชื่อลือชาเรื่องความใจเด็ดกว่าเสือรุ่นก่อนอีก ถึงกับเคยบุกปล้นคุกเพื่อช่วยลูกน้อง และตัวตี๋ใหญ่เองก็เคยแหกคุกออกมาแล้วอยู่ได้ตั้งหลายปี ตำรวจออกติดตามจับกุมตี๋ใหญ่หลายต่อหลายครั้งไม่ประสบผลสำเร็จ  

สุดท้ายตี๋ใหญ่ไม่ได้ตายเพราะตำรวจ ตายเพราะผิดใจกับลูกน้อง (คล้ายเสือผ่อน) ถูกลูกน้องยิงเอาตอนทีเผลอ แต่ก็เกิดมีเรื่องเล่าลือกันไปอีกว่า ที่ถูกยิงตายไปนั้นไม่ใช่ตี๋ใหญ่ เป็นตัวปลอม ตัวจริงได้หลบหนีไปอยู่อเมริกาแล้ว 

เข้าทำนองเรื่องเล่าของวีรบุรุษไปอีก (แบบเต็มคาราเบล)  คล้ายเรื่องพระเจ้าตากสินที่ไม่ได้ถูกประหารแต่หนีไปบวชอยู่นครศรีธรรมราช  หรืออย่างเรื่องของเช กูวารา ที่น้าแอ๊ด คาราบาว ร้องเป็นเพลงว่า “เชยังไม่ตาย เขาอยู่ท้ายรถบรรทุก”  

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า ตี๋ใหญ่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์แสดงนำโดย 'ฉัตรชัย เปล่งพานิช' ก็เป็นรูปที่เคยปรากฏอยู่ท้ายล้อรถบรรทุกสิบล้อของไทยเช่นเดียวกับเช ตี๋ใหญ่เคยถูกทำเป็นหนังและละครอยู่หลายเวอร์ชั่นตั้งแต่ฉบับนำแสดงโดยฉัตรชัย จนถึง 'ศรราม เทพพิทักษ์' เสือผ่อนมีลำตัดบอกเล่าเรื่องราว ตี๋ใหญ่ก็มีภาพยนตร์และละคร ขณะที่เสือรุ่นที่ขุนพันธ์ปราบนั้นมีหนังสือพิมพ์และนวนิยาย ยุคโซเชียลมีเดียจะมีเสือด้วยหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้  

คำถามก็คือ ถ้าขุนพันธ์ปราบเสือหมดไปได้จริงอย่างที่เชื่อกัน แล้วกรณีอย่างอะแวสะดอ ตาและ ที่มีผู้สืบทอดอุดมการณ์ กรณีเสือผ่อนที่ประชาชนยังระลึกถึงผ่านลำตัด และกรณีตี๋ใหญ่ที่อาละวาดอยู่ในช่วงหลังขุนพันธ์เกษียรณอายุราชการไปแล้วนั้นคืออะไร? ถ้าไม่ใช่ ‘โจรปราบได้ แต่เสือปราบไม่ได้’ อย่างที่ผู้เขียนตั้งประเด็นหัวข้อไว้ข้างต้น  

      

‘อ้ายเสือ’ หายไปไหนในยุคปัจจุบัน?

ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘เสือคนสุดท้าย’ คือ ‘หลวงพ่อเสือดำ’ หรือ ‘พระครูสุนทรธรรมวิมล’ (ทวีศักดิ์ ชุตินธโร เจ้าอาวาสวัดศรีนวลธรรมวิมล เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ซึ่งอ้างว่าเป็น ‘เสือดำ’ ในตำนานเสือแห่งเมืองสุพรรณ เพิ่งมรณภาพไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2564 สิริอายุ 114 ปี) เสือดำตามประวัติก็ได้ละทิ้งวิถีของเสือ เลิกเป็นโจรไปตั้งแต่ พ.ศ.2489 แต่กรณีตี๋ใหญ่นั้นยังทำการอยู่จนถึงพ.ศ.2524 

ดังนั้น เสือคนสุดท้ายจริงๆ ควรจะเป็นตี๋ใหญ่ เด็กหนุ่มลูกชาวสวนจากราชบุรี ไม่ใช่เสือดำแห่งเมืองสุพรรณบุรี ยังไม่นับปัญหาที่หลวงพ่อเสือดำใช่เสือดำในตำนานจริงหรือไม่    

หลังยุคตี๋ใหญ่ก็ไม่พบมี ‘โจรพันธุ์เสือ’ อีกเลย  อ้ายเสือหายไปไหน? อย่างไร? และทำไม?  

นักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่นโดยเฉพาะสายใต้ที่พกพาความมูเตลูมาแบบจัดเต็ม มักจะอธิบายว่าการหายไปของเสือเป็นผลงานของขุนพันธ์ จอมขมังเวทย์จากแดนใต้  แต่ขุนพันธ์ได้เกษียณอายุราชการเลิกปราบโจรไปตั้งแต่ พ.ศ.2507  

ขณะที่ตี๋ใหญ่ เสือคนสุดท้ายนั้นเพิ่งจะจบชีวิตไปเมื่อ พ.ศ.2524 มีคนได้รับการเคลมผลงานโดยไม่ได้ทำงานเป็นเวลากว่า 17 ปี ยิ่งกว่าพวกที่ไปนั่งหลับในสภา หรือทั้งปีเข้าประชุมไม่กี่ครั้ง แต่ได้เงินเดือนเป็นแสน  แต่ขุนพันธ์ไม่ใช่คนประเภทเปลืองภาษี  ตรงข้ามเป็นคนที่ทำหน้าที่ปกติของตนเองนั่นแหล่ะ 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการหายไปของเสือนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เกินกว่าจะอธิบายว่าเป็นเพราะใครคนใดคนหนึ่ง คำอธิบายที่เป็นวิชาการแต่คนมักไม่รู้ไม่สนใจนั้นก็พอมีอยู่บ้าง อย่างเช่นในวิทยานิพนธ์ของสุมาลี พันธุ์ยุรา และศิริวรรณ ลาภสัมบูรนานนท์ รุ่นพี่ทั้งสองท่านของผู้เขียนนี้มีอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดียวกันคือ อาจารย์ฉลอง (ฉลอง สุนทรวาณิชย์)

วิทยานิพนธ์ของสุมาลี เมื่อพ.ศ.2543 หัวข้อเรื่อง “พัฒนาการของอำนาจท้องถิ่นในบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงและชายฝั่งทะเลตะวันออก พ.ศ.2440-2516” ได้เสนอว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในกรณีของภาคตะวันออก  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อเป็น ‘ดงนักเลง แดนเจ้าพ่อ’ แม้ว่าการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 ในระดับภูมิภาคตะวันออกจะเริ่มต้นช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ เพราะฝรั่งเศสเข้ามายึดจันทบุรีและตราดอยู่จนถึง พ.ศ.2447 แต่การปฏิรูปท้องถิ่นหลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น กลุ่มอำนาจท้องถิ่นต่างต้องปรับตัวเข้าหาระบบราชการที่มาจากส่วนกลางเพื่อความอยู่รอดและผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมสืบต่อมาได้ 

เมื่อเกิดการอภิวัฒน์ 2475 กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นของภาคตะวันออกซึ่งเป็นสามัญชนและมีฐานความสัมพันธ์กับระบบราชการของท้องถิ่นอยู่บ้างแล้ว ก็เขยิบมาเป็นนักการเมือง  

เมื่อถึงทศวรรษ 2490 การขยายตัวของอุตสาหกรรมพืชไร่และป่าไม้ ทำให้เกิดแรงขับดันที่กลุ่มทุนต้องการระบบการควบคุมแรงงานที่มีประสิทธิภาพ จึงนำไปสู่การเกิด ‘เจ้าพ่อภาคตะวันออก’ และพัฒนาสืบเนื่องมาจนถึงหลังทศวรรษ 2510 สรุปในกรณีของภาคตะวันออกนั้นกลุ่มอำนาจท้องถิ่นหลังยุคเสือผ่อน ได้เขยิบไปสู่อีกสถานะหนึ่ง คือปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้หายไปไหน    

ต่อมาวิทยานิพนธ์ของศิริวรรณ ลาภสัมบูรนานนท์ เมื่อพ.ศ.2552 หัวข้อเรื่อง “การผลิตซ้ำและการสร้างความนิยมของเรื่องเล่าเกี่ยวกับเสือในสังคมไทย พ.ศ.2460-2510” ซึ่งเป็นงานศึกษาเกี่ยวกับภาพลักษณ์เสือที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อโดยตรง ได้เสนอว่าหลังทศวรรษ 2510-2520 เกิดปรากฏการณ์ที่ชุมโจร/ก๊กเสือต่างๆ ที่เคยมีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สลายตัวไปกันหมด โจรกลายไปเป็นมือปืนรับจ้างสังกัดซุ้มต่างๆ เป็นลูกน้องผู้มีอิทธิพล คนคุมซ่อง คุมบ่อน คุมผับบาร์ ธุรกิจสีเทา บางคนก็พัฒนาไปเป็นเจ้าพ่อและนักการเมืองท้องถิ่นไม่เป็นโจรพันธุ์เสือ เหมือนในอดีต 

ทั้งนี้เป็นเพราะการพัฒนาเพื่อต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การพัฒนาที่เน้นการขยายพื้นที่เมืองเข้าไปแทนที่ชนบท ราชการส่วนกลางเข้าไปยึดกุมพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดพ้นจากอำนาจรัฐและถูกใช้เป็นที่ซ่องสุมของโจรผู้ร้าย วิถีชนบทถูกรุกโจมตีด้วยค่านิยมแบบชนชั้นกลาง เสือในลุคคาวบอย ดูเป็นเรื่อง ‘เชย’ ‘บ้านนอก’ ‘ไม่ทันสมัย’ ความแมนแบบชายไทยแท้ๆ ชำนาญการใช้กำลังเตะต่อยตีรันฟันแทง ไม่เป็นที่ปรารถนาเท่าชายหุ่นหมีแต่เฟรนด์ลี่พร้อมเปย์และโอนไว (ไม่เชื่อลองถามสาวๆ ที่ไหนดูก็ได้)       

ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง ที่เคยเป็นฐานมวลชนที่เสือเคยเป็นตัวแทนซับพลอต  ต่างกลายไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง  ไม่อยู่ติดที่  ความรู้สึกผูกพันต่อท้องถิ่นถูกแทนที่ด้วยภาวะความโหยหาอดีต (Nostalgia) แบบ ‘กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง’ เช่นเดียวกับ ‘มวลชนอันไพศาล’ ของพคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นเดินทางไปขายแรงงานทั้งในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ต่างๆ และกระทั่งไปต่างประเทศ พวกเขาจึงชื่นชอบแนวคิดสากลนิยม รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมระดับโลก มากกว่าจะยึดติดอยู่กับแนวคิดชาตินิยม+ท้องถิ่นนิยม แบบในอดีต 

ขณะที่ภายในประเทศไทย แรงงานก็ถูกแทนที่ด้วยแรงงานต่างชาติจากพม่า ไทใหญ่ ลาว กัมพูชา มากขึ้นเรื่อยๆ  แรงงานต่างชาติเหล่านี้กลายเป็น ‘กลุ่มผู้ไร้สิทธิไม่มีเสียง’ ขนาดใหญ่ เมื่อเกิดปัญหา ไม่ได้รับความเป็นธรรม ประกอบกับลักษณะความสัมพันธ์ต่อพื้นที่เป็นเพียงแหล่งทำงานหาเงิน เจ้าของคือนายจ้าง  สังคมไทยๆ ก็มักมีอคติต่อแรงงานพลัดถิ่นอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โอกาสและเงื่อนไขที่จะก่ออาชกรรมความรุนแรงต่างๆ จึงมักเริ่มต้นจากคนกลุ่มนี้ 

อีกอย่าง target ของตำรวจอย่างขุนพันธ์นั้นคือ โจรที่มาจากชาวไร่ชาวนาคนธรรมดา หรือพวกบ้านนอกคอกนาในสังคมชนบท พวกนี้เวลาเป็นโจรคือเป็นโจรจริงๆ ไม่ใช่ ‘โจรในคราบผู้ดี’ หรือ ‘โจรในเครื่องแบบ’ อย่างในช่วงหลังรอบ 50-60 ปีมานี้ ซึ่งโจรแบบหลังนี้ต่อให้รู้ว่าเป็นโจรผู้ร้ายจริงๆ ก็ไม่ใช่จะเอาปืนไปยิงหรือเอาดาบไปฟันได้ทันทีเหมือนอย่างแต่ก่อน   

สรุปคือโจรไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ไปเป็นอย่างอื่น เป็น ‘โจรแฝง’ ใช้ภาพลักษณ์คนดีบังหน้า ไม่ใช่ ‘โจรแบบเสือ’ ที่มาพร้อมวิถีชีวิตและอุดมการณ์เหมือนในอดีต    

 

วีรบุรุษใหม่ในยุคไร้วีรบุรุษ & เหล้าใหม่ในขวดเก่า (หรือไม่?)  

แม้จะมีคำอธิบายที่เป็นระบบเป็นวิชาการ แต่ก็เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่ความเห็นของนักวิชาการที่ศึกษาหัวข้อเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงมักไม่ได้รับยอมรับเชื่อถือ  สังคมไทยจะเชื่ออะไรที่อยากเชื่อ เช่น เชื่อว่าที่คนชั่ว หายไปไม่มีเหลืออยู่แล้วนั้นเป็นเพราะมีคนดีไปปราบ เรื่องของขุนพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่ถูกทำให้เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นเรื่องของการเมืองแบบไทยๆ วงการตำรวจจะยกย่องขุนพันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อมองว่าสถานะของตำรวจในสายตาประชาชนปัจจุบันเป็นอย่างไร     

การสร้างวีรบุรุษเกิดขึ้นได้ทุกยุคสมัย เพียงแต่วีรบุรุษที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีความหมายอย่างไร  หรือผู้สร้าง (ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้) จงใจจะใช้วีรบุรุษคนดังกล่าวนั้นบอกเล่าอะไรแก่สาธารณะ อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าสิ่งใดที่ถูกยกให้เป็นแบบอย่างในอุดมคติ สิ่งนั้นไม่ได้มีอยู่ ณ ขณะที่ยกย่องกัน บางครั้งบุคคลผู้ได้รับการยกย่อง อาจเป็นคนละคนเดียวกันกับที่บุคคลผู้นั้นเป็นจริงๆ 

โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ใครจะเล่ายังไงก็ได้ บางทีคนที่ถูกเล่าว่า ‘ชั่วร้าย’ ต่างๆ นาน อาจไม่ได้ชั่วช้าสามานย์อย่างที่เล่า  และในทางกลับกัน  คนที่ได้รับการยกย่องว่า ‘ดี’ อาจไม่ได้เลิศลอยอย่างที่อวยกันไปไกลขนาดนั้น  มนุษย์เราก็แบบนี้ไม่มีดำ-ขาวแบบสัมบูรณ์

การเลือกหยิบเอาใครมาเป็นตัวแบบอุดมคติ แล้วบอกว่าเห็นไหม สังคมนี้ยังมีคนดี ก็เหมือนเอาเหล้าใหม่เทใส่ลงในขวดเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และตัวมันเองก็สะท้อนความรู้สึกไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร หรือคิดว่าที่เป็นอยู่นี้มันดีอยู่แล้ว เราใช้วีรบุรุษกันสิ้นเปลืองเกินไปหรือเปล่า?  

ขอจบบทความทิ้งท้ายด้วยความเห็นจากนักวิชาการซึ่งเป็น ‘ชาวนครท่านหนึ่ง’ อาจารย์ปิยชาติ สึงตี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ซึ่งเคยเสนอไว้ที่หนึ่งเกี่ยวกับ ‘ขุนพันธ์ที่เพิ่งสร้าง’ ดังนี้:   

“ผมคิดว่าภาพลักษณ์ขุนพันธ์ มาเป็นมือปราบจอมขมังเวทย์ นี่มาพร้อมกับกระแสปลุกสายมู เพื่อการท่องเที่ยวแถวนี้ครับ  เคยไปคุยกับลูกสาวคนเล็กขุนพันธ์ ที่บ้านขุนพันธ์ แกมีความทรงจำ พ่อเป็นนายตำรวจซื่อสัตย์ เป็นนายพลที่ไม่มีรถยนต์ขับ น้าคนนี้ มีหน้าที่ถือปิ่นโตเอาอาหารไปถวายเพลกับพ่อ แกเล่าว่าพ่อ มีแต่รถถีบกับรถสามล้อถีบ เวลาไปวัด ครั้งหนึ่งสามล้อเสียหลัก คว่ำแกเจ็บตัวเล็กน้อย แต่เจ็บใจมากกว่า ทำไมพ่อไม่หารถยนต์สักคัน  แกชี้ให้ดูศาลาบัว (โกศ) วางกระดูกขุนพันธ์-เมีย ในบริเวณบ้าน และรั้วบ้านที่ดูใหม่ แกบอก ตำรวจจากโรงพักยุคนี้ เรี่ยไรเงินมาสร้างให้...”

 

ภาพ: อนุสรณ์ขุนพันธ์

อ้างอิง:

จอห์นสตัน, เดวิด บรูซ (David Bruce Johnston). สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473 (Rural Society and the Rice Economy in Thailand, 1880-1930). แปลโดย พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม และคณะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530.

เรย์โนลด์ส, เครก เจ. (Craig J. Reynolds). “เล่ห์ กล มนต์ คาถา: ไสยศาสตร์ประยุกต์กับการทำงานของตำรวจ (Applied Sciences for Hedging Risk and Anticipating Outcomes in Police Work)” วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2557-มีนาคม 2558), หน้า 13-51.    

ศิริวรรณ ลาภสมบูรนานนท์. “การผลิตซ้ำและการสร้างความนิยมของเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "เสือ" ในสังคมไทย พ.ศ. 2460-2510” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.

ศิลปวัฒนธรรม, กองบรรณาธิการ.  ขุนพันธ์ พูดถึง อะแวสะดอ ตาเละ ขุนโจร(การเมือง)ชาวมุสลิมจอมขมังเวทย์ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565).

ศิลปวัฒนธรรม, กองบรรณาธิการ. ขุนพันธ์ มือปราบ 7 ย่านน้ำในตำนาน เล่าเรื่องจับโจรแบบกัดมา ต้องกัดตอบ(เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566).

สมเกียรติ วันทะนะ. “วิเคราะห์ “เสือใบ-เสือดำ” วีรบุรุษคนยากของ ป. อินทรปาลิต” โลกหนังสือ.  ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2521), หน้า 40-57.  

สุมาลี พันธุ์ยุรา. “พัฒนาการของอำนาจท้องถิ่นในบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงและชายฝั่งทะเลตะวันออก พ.ศ. 2440-2516” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “โจร เสือ และเรือใบ ว่าด้วย "ลำตัดเสือผ่อน" บันทึกประวัติศาสตร์โจรสลัดชายฝั่งทะเลตะวันออก” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2549), หน้า 123-137.

Hobsbawm, Eric. J. Bandits. Middlesex: Penguin Book, 1969.

Hobsbawm, Eric. J. Primitive Rebels: Studies in Archaic forms of Social Movement in the 19th and 20th Centuries. Manchester University Press, 1974.