22 ก.ย. 2563 | 00:49 น.
“คณิตศาสตร์” หนึ่งในองค์ความรู้ที่ถูกบรรจุไว้ในการศึกษาภาคบังคับของเด็กทั่วโลก แต่น้อยคนนักที่จะถูกโฉลกกับมัน ขณะเดียวกัน เด็กชายคนหนึ่งที่แทบไม่มีปัญญาเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานเลย กลับมองมันอย่างสนอกสนใจ และกลายเป็น “อัจฉริยะ” ที่อุทิศชีวิตให้คณิตศาสตร์ไปเกือบทั้งชีวิต ศรีนิวาสะ ไอเยนการ์ รามานุจัน (Srinivasa Aiyangar Ramanujan) เป็นชื่อของนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย ที่อาจไม่คุ้นหูนัก แต่เขากลับมีชื่อเสียงในแวดวงของผู้ศึกษาคณิตศาสตร์สายบริสุทธิ์ ในฐานะของผู้ค้นพบและสร้างทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์อย่าง ทฤษฎีจำนวน อนุกรมอนันต์ และเศษส่วนต่อเนื่อง ตลอดชีวิตของรามานุจันเขาได้สร้างผลงานประดับวงการคณิตศาสตร์ไว้กว่า 3,900 รายการ สิ่งที่รามานุจันค้นพบอาจไม่ได้น่าสนใจในมุมมองของคนทั่วไป แต่ความหลงใหลที่เขามีต่อคณิตศาสตร์ กลับเป็นสิ่งที่คนรอบตัวสามารถสัมผัสได้จริง รามานุจันเกิดมาในครอบครัววรรณะพราหมณ์แสนยากจนในแคว้นมัทราส พ่อเป็นนักบัญชีในร้านขายผ้า ส่วนแม่หารายได้เสริมจากการร้องเพลงสวดภาวนาตามวัด การที่เด็กชายอายุ 10 ขวบ สามารถท่องค่าสแควร์รูท 2 ค่าพายที่มีทศนิยมถึง 50 หลัก รวมถึงรู้จักสูตรทางคณิตศาสตร์ได้จากการอ่านหนังสือ ทำให้เขากลายเป็นที่สนใจจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจจะมอบโอกาสให้เด็กเก่ง ๆ ตอนอายุ 17 ปี เขาได้พยายามพิสูจน์ทฤษฎีเอกลักษณ์ของออยเลอร์ และทำวิจัยสมการของแบร์นูลลี รวมถึงทฤษฎีอื่น ๆ จนได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองคัมบาโคนัม แต่เพราะตอนที่เข้าเรียน รามานุจันเอาแต่ดื่มด่ำและหมกมุ่นอยู่กับวิชาคณิตศาสตร์ จนไม่สนใจจะรักษาเกรดวิชาอื่นเลย เขาจึงสอบตกและถูกริบทุนคืนตั้งแต่ปีแรก พอไม่มีใบปริญญาก็หมายความว่าคงหางานดี ๆ ทำไม่ได้ รามานุจันพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่ก็สอบไม่ติด เพราะคะแนนวิชาอื่น ๆ นอกจากคณิตศาสตร์ของเขาแสนจะแย่ และแม้จะพยายามสอนพิเศษเด็ก ๆ เพื่อหารายได้ สุดท้ายเขาก็ถูกเลิกจ้างเพราะชอบสอนยากเกินหลักสูตร เกินข้อสอบ และเด็กหลายคนก็ไม่ได้ชอบคณิตศาสตร์สักเท่าไหร่ ตอนอายุ 22 ปี รามานุจันต้องเข้าพิธีแต่งงานกับ ศรีมาธิ จานาคี เด็กหญิงวัย 9 ขวบที่ครอบครัวเขาทาบทามให้ ตอนนั้นแม้จะยังหมกมุ่นอยู่กับสูตรคำนวณและปัญหาทางคณิตศาสตร์ แต่เขาก็รู้ตัวดีว่าต้องหางานทำเพื่อดูแลครอบครัว เขาตัดสินใจสมัครงานเป็นเสมียนท่าเรือให้กับบริษัทสัญชาติอังกฤษ แต่เพราะยังละทิ้งความสนใจในคณิตศาสตร์ไม่ได้ (ดูเหมือนไม่คิดจะทิ้งด้วย) เขาจึงสมัครเข้าไปเป็นผู้ช่วยวิจัยของศาสตราจารย์ไดแวน บี.ราว แห่งเพรสิเดนซี คอลเลจ ด้วยหวังว่าจะได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตัวเอง ช่วงนั้นเองที่รามานุจันได้มีโอกาสตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นแรกชื่อ Some Properties of Bernoulli’s numbers ในวารสาร Journal of the Indian Mathematical Society ปี 1910 ศาสตราจารย์ไดแวนที่มองเห็นศักยภาพของรามานุจันจึงแนะนำให้เขาลองส่งจดหมายแนะนำตัวไปหาศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายคนในประเทศอังกฤษ แม้จะเป็นจดหมายที่อัดแน่นไปด้วยสมการของเสมียนท่าเรือ (เขาแนะนำตัวเองแบบนี้) แต่ผู้ที่ตอบกลับจดหมายของรามานุจัน กลับมีเพียงคนเดียว คือ ศาสตราจารย์ก๊อดฟรีย์ ฮาร์ดี แห่งทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตอนนั้นแม้คณาจารย์หลายคนในสภามหาวิทยาลัยจะพยายามคัดค้าน เพราะรามานุจันไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา และทฤษฎีของเขาก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ (ที่จริงเพราะตอนนั้นอินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พวกเขาจึงไม่อยากยอมรับความสามารถของคนจากประเทศใต้การปกครอง) แต่ฮาร์ดีก็ยังยืนกรานจะร่วมงานกับชายหนุ่มผู้นี้ให้ได้ ท้ายที่สุดรามานุจันก็ได้มาร่วมงานกับศาสตราจารย์ฮาร์ดี เขาบอกว่า ความรู้สึกแรกหลังอ่านจดหมายของรามานุจันจบ เขารู้สึกเหมือนอ่านสูตรคณิตศาสตร์ของพวกจิตไม่ว่าง แต่เมื่อได้ลองวิเคราะห์อย่างละเอียด เขาก็ค้นพบว่านี่มันไม่ใช่ผลงานระดับธรรมดา เขาเชิญจอห์น อี. ลิตเติ้ล วู้ด แห่งทรินิตี้ คอลเลจ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาแคลคูลัส และ ทฤษฎีจำนวน มาช่วยดูก่อนจะเห็นตรงกันว่าสิ่งที่รามานุจันเขียนมานั้นควรค่าแก่การศึกษาต่อ และแล้วรามานุจันก็ได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมงานกับศาสตราจารย์ฮาร์ดี พร้อมกับต้องเข้าเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ร่วมกับนักศึกษาคนอื่น ๆ ของเคมบริดจ์ด้วย นี่อาจเป็นครั้งแรกที่รามานุจันได้มีโอกาสร่ำเรียนวิชาคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาเขามักจะเรียนด้วยตัวเองจากหนังสือ ทำให้เขาใช้สัญลักษณ์และวิธีการบางอย่างแตกต่างจากคนอื่น การพบกับฮาร์ดีนับเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของรามานุจัน เพราะเขาได้ตั้งคำถามกับองค์ความรู้ของตัวเอง หลังจากที่ไม่เคยมีใครให้ถกเถียงด้วยมาก่อน รามานุจันค้นพบว่าวิธีคิดของเขาไม่เหมือนกับเหล่านักเรียนวิชาคณิตศาสตร์ทั่วไป เพราะบางหลักการที่เขาควรจะต้องเข้าใจก่อนจะไปถึงตรงอื่น เขากลับข้ามขั้นจนทำให้กระบวนการหาคำตอบนั้นไปไม่ถึงผลลัพธ์ เรื่องยาก ๆ บางเรื่องก็รู้มาก ในขณะที่เรื่องง่าย ๆ บางเรื่องก็ไม่เข้าใจ ฮาร์ดีช่วยเติมให้ช่องว่างทางความรู้ของรามานุจันนั้นสมบูรณ์ขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็ได้เรียนรู้อะไรจากรามานุจันด้วย