‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ ผู้กำกับ MV ชาวไทยคนแรก ๆ ในประเทศ กับแนวคิดเรื่องการปรับตัวทันโลก

‘นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล’ ผู้กำกับ MV ชาวไทยคนแรก ๆ ในประเทศ กับแนวคิดเรื่องการปรับตัวทันโลก

นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้กำกับ MV ชาวไทยคนแรก ๆ ในประเทศไทย อดีตผู้บริหารค่ายจีนี่ (genie) ในเครือ GMM Grammy ให้สัมภาษณ์กับ The People เกี่ยวกับเรื่องการทำงานของตัวเองที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องไปถึงคนรอบข้าง

“การทำงานของพี่ส่วนใหญ่ ไม่ผูกขาดทางความคิดอยู่แล้ว พี่เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความสามารถเสมอ พี่บอกเสมอว่าพี่จะเป็นเสาเข็มนะ...เสาเข็มก็คือพื้นฐาน อะไรที่มันเป็นพื้นฐานของการทำงานเนี่ย พี่จะเป็นคนช่วยค้ำตึกตึกนี้ที่คุณเป็นคนสร้าง

ฉะนั้น ตึกที่คุณสร้างเนี่ย คุณจะออกแบบยังไง เอาให้สนุกเลย แต่คุณจะไม่ล้มแน่นอน เพราะว่าเราค้ำไว้ให้ การค้ำตรงนี้มันค้ำด้วยหลาย ๆ อย่างที่เขาไม่ชอบหรอก เช่น การ Raise fund, ความคิด หรือแนวทางอะไรต่าง ๆ ที่มันไม่ได้ดีเทลมาก

ส่วนดีเทลเขาเป็นคนทำ ตึกนี้สวยไม่สวยอยู่ที่ฝีมือเขาแล้ว เพราะอย่างนั้น สิ่งที่เราทำก็คือเป็นการเปิดโอกาส แล้วเราก็วางตัวเองเป็นเสาเข็ม ข้อดีของเสาเข็มคือมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นเมื่อความสำเร็จเกิดขึ้น เขาก็จะมีความภาคภูมิใจและก็มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ ในขณะที่เราเองก็มีความภาคภูมิใจ ได้ตึกขึ้นมาดี ๆ ตึกหนึ่ง...”

นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้กำกับ MV ชาวไทยคนแรก ๆ ในประเทศไทย อดีตผู้บริหารค่ายจีนี่ (genie) ในเครือ GMM Grammy ให้สัมภาษณ์กับ The People เกี่ยวกับเรื่องการทำงานของตัวเองที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องไปถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะแง่แนวคิดการทำงานของตัวเขาเองที่ส่งผลต่อผู้ร่วมงานด้วย

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่าในอดีต นิค – วิเชียร ในฐานะคนที่เผชิญการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยมามากมายตั้งแต่การเริ่มต้นของนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘มิวสิกวิดีโอ’ (MV) มาจนถึงค่ายเพลง ยุคเทปผีซีดีเถื่อน และระบบสตรีมมิง ทุกย่างก้าวของนิค – วิเชียร ทิ้งร่องรอยเป็นผลงานและศิลปินชั้นยอดที่หลายคน หลายกลุ่มยังโลดแล่นอยู่จนถึงวันนี้

นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล เล่าถึงหลักคิดในการปรับตัวไว้อย่างน่าสนใจ

“สิ่งแรก แน่นอนคือต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง แล้วก็ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าใจในหลักของการเปลี่ยนแปลงว่าทุก ๆ อย่าง ทุกสรรพสิ่ง เปลี่ยนแปลงเสมอ

แล้วต้องรู้ว่า ทุกๆ อย่างมันไม่ถาวระนะครับ มันปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ถ้าเข้าใจในหลักนี้ เราก็จะไม่ Suffer อะไร แต่ถ้าจะอยู่ให้ได้ เราต้องเรียนรู้ว่าแล้วมันเปลี่ยนแปลงยังไง มีวิสัยทัศน์ มีการคาดการณ์ดูให้ได้ว่ามันจะประมาณไหน ไม่ต้องเอาเป็นเอาตายกับมัน แต่ว่าต้องมีการคาดเดา

การคาดเดานี้จะต้องมาจากการศึกษา ต้องมาจากการเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในห้องเรียนก็ได้ แต่เลือกที่จะเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ นั่นคือคนรุ่นใหม่ ๆ นะครับ

คนรุ่นใหม่ ๆ ก็อยู่กับสิ่งใหม่ ๆ ถ้าเราไปเรียนจากคนรุ่นเก่าเราก็จะได้เรื่องเก่า ฉะนั้น ถ้าเราเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่เนี่ย คนรุ่นใหม่ก็จะบอกสิ่งใหม่ ๆ ให้เรา แต่ความที่เราเป็นคนรุ่นเก่าที่ผ่านมามีประสบการณ์ เราก็สามารถแยกแยะแล้วก็วิเคราะห์มันได้ จุดแบบนี้ก็คิดว่าแค่นี้ก็น่าจะเพียงพอที่จะเอาตัวรอดในยุค พ.ศ.หน้า

อย่างที่บอก หนึ่ง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง สอง เรียนรู้ศึกษาจากคนรุ่นใหม่ สาม เอามาวิเคราะห์แยกแยะด้วยประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า แล้วก็กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ที่มีประสบการณ์บวกกับมี Know-how แค่นี้ก็น่าจะรอดแล้ว”

สำหรับโลกธุรกิจบันเทิงและอุตสาหกรรมดนตรีมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนเสมอมา การเรียนรู้วิธีคิดจากคนที่ประสบความสำเร็จเป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อตั้งรับสิ่งที่คาดไม่ถึงในอนาคตได้ จึงเป็นที่มาของงานมอบรางวัล The People Awards 2023 ภายใต้แนวคิด ‘People of Tomorrow’ งานประกาศรางวัลที่เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกัน

The People Awards 2023 ในปีนี้ ใช้เกณฑ์พิจารณารางวัลจากความโดดเด่นในเรื่องความพร้อมรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ความพยายามในการผลักดันให้สังคมปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงผลจากการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นกับคน สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยจะประกาศผลในวันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 14.00 - 16.30 น. ณ คริสตัล บ็อกซ์ (Crystal Box) ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท พร้อมถ่ายทอดบรรยากาศงานประกาศผลรางวัลผ่านช่องทางออนไลน์