Happy Birthday to You : เรื่องลับในบทเพลงที่คุณร้องมาทั้งชีวิต

Happy Birthday to You : เรื่องลับในบทเพลงที่คุณร้องมาทั้งชีวิต

เพลงวันเกิดที่คุณร้องทั้งชีวิต เริ่มจาก ‘Good Morning to All’ โดยสองพี่น้อง ‘แพตตี’ และ ‘มิลเดรด ฮิลล์’ ก่อนกลายเป็น ‘Happy Birthday to You’ ที่ดังไปทั่วโลก

ลองจินตนาการภาพงานวันเกิดของใครสักคน มีเค้ก มีเทียน มีของขวัญ และมีเพื่อนรายล้อม แต่ไม่มีเสียงร้องในเพลง “Happy Birthday to You” โลกจะเงียบเหงาสักเพียงใด

แม้จะดูเป็นคำถามเชิงเปรียบเปรย แต่คำตอบก็ชัดเจนในทางประวัติศาสตร์แล้วว่า ก่อนปี ค.ศ. 1893 โลกยังไม่มีเพลง ‘Happy Birthday to You’ ให้ร้องกันจริง ๆ การเฉลิมฉลองวันเกิดในยุควิกตอเรียน แม้มีเค้กและเทียนก็จริง แต่ขาดเสียงเพลงที่ทุกคนรู้จัก เพราะเพลงดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น

กระทั่งมีสองพี่น้องหญิงสาวในรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา นามว่า ‘แพตตี สมิธ ฮิลล์’ (Patty Smith Hill) และ ‘มิลเดรด เจ. ฮิลล์’ (Mildred J. Hill) ร่วมกันสร้างบทเพลงทักทายเด็กอนุบาลขึ้น โดยตั้งชื่อว่า ‘Good Morning to All’ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเพลงวันเกิดที่เราใช้กันทุกวันนี้

ในเวลาต่อมา บทเพลงนี้ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อร้องกลายเป็น ‘Happy Birthday to You’ และค่อย ๆ แทรกซึมเข้าสู่ทุกมุมของโลก กลายเป็นเพลงที่มีการขับร้องมากที่สุด

 

Happy Birthday to You : เรื่องลับในบทเพลงที่คุณร้องมาทั้งชีวิต

 

รากฐานแห่งความไม่ธรรมดา

ทุกบทเพลงย่อมมีที่มา และที่มาของเพลง Happy Birthday to You เริ่มต้นขึ้นจากบ้านหลังหนึ่งในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ซึ่งเป็นเวทีแห่งการปลูกฝังความกล้าคิด กล้าเรียน และกล้าแตกต่าง ในยุคที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังถูกจำกัดอยู่ภายในกรอบของครัวเรือน

บ้านของครอบครัว ฮิลล์ ประกอบด้วยคุณพ่อ วิลเลียม วอลเลซ ฮิลล์ (William Wallace Hill) ผู้เป็นบาทหลวงนิกายเพรสไบทีเรียน และคุณแม่ มาร์ธา ฮิลล์ (Martha Hill) พร้อมลูก ๆ อีกแปดคน รวมถึงมิลเดรดและแพตตี สองพี่น้องผู้จะกลายเป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลงอมตะในภายหลัง

สิ่งที่ทำให้ครอบครัวฮิลล์โดดเด่น ไม่ใช่เพียงจำนวนสมาชิกที่มาก หรือบ้านทรงแปดเหลี่ยมที่สร้างหอคอยพิเศษให้เด็กแปดคน มีพื้นที่กว้างสำหรับการเล่น แต่คือปรัชญาการเลี้ยงดูที่แตกต่างจากครอบครัวอื่นในยุคนั้น

 

Happy Birthday to You : เรื่องลับในบทเพลงที่คุณร้องมาทั้งชีวิต

วิลเลียม วอลเลซ ฮิลล์ เป็นทั้งนักเทศน์และนักการศึกษาผู้มีวิสัยทัศน์ เขาเชื่อว่า ผู้หญิงควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกับผู้ชาย และไม่จำเป็นต้องแต่งงานเพื่อ ‘มีที่ทาง’ ในสังคม เขาก่อตั้งโรงเรียนหญิงล้วน ชื่อ Bellewood Female Seminary และสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนหญิง ไม่ว่าจะเป็นธรณีวิทยา ดาราศาสตร์ หรือแม้แต่ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

ขณะเดียวกัน มาร์ธา ฮิลล์ ภรรยาของเขา เชื่อมั่นว่า ‘การเล่นคือการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็ก’ เธอจึงสร้างพื้นที่ในหอคอยของบ้านให้ลูก ๆ ได้เล่นอย่างเสรี ด้วยอุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างไม้ กระดาน และถังไม้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สร้างโลกแห่งจินตนาการด้วยตัวเอง 

 

จากห้องเรียนอนุบาลสู่บทเพลงแรก

แพตตี เติบโตมาภายใต้วิสัยทัศน์ของบิดา ที่เชื่อว่าลูกสาวไม่จำเป็นต้องแต่งงาน แต่สามารถมีบทบาทและส่องแสงให้แก่โลกได้  แนวทางของเธอเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อได้พบโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ Louisville Courier Journal ที่ประกาศเปิดสอน “Kindergarten” แนวคิดใหม่จากเยอรมนี ซึ่งเปรียบครูเป็น ‘คนทำสวน’ และเด็ก ๆ เป็น “ดอกไม้ในสวนแห่งการเรียนรู้”

แพตตี ตัดสินใจเข้าร่วมชั้นเรียนฝึกครูอนุบาลรุ่นแรกของเมืองหลุยส์วิลล์ และพบว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเข้าถึงเด็ก ๆ ไม่ใช่ผ่านคำสั่ง หรือการสอนแบบท่องจำ แต่คือ ‘การเล่น’ และ ‘บทเพลง’ เธอสังเกตพบว่า เด็กในชุมชนที่เธอสอนนั้นเข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่า เมื่อมีเสียงเพลงเข้ามาช่วย พวกเขาสามารถจดจำข้อมูลใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้นเมื่อมีทำนองประกอบ โดยเฉพาะหากเนื้อเพลงสะท้อนสิ่งที่พวกเขาสัมผัสจริงในชีวิตประจำวัน 

แพตตีเขียนเนื้อเพลงสั้น ๆ สี่บรรทัดขึ้นมา

 

Good morning to you


Good morning to you


Good morning, dear children


Good morning to all!

Happy Birthday to You : เรื่องลับในบทเพลงที่คุณร้องมาทั้งชีวิต

 

จากนั้น เธอขอให้ มิลเดรด พี่สาวช่วยแต่งทำนองประกอบให้ แต่การแต่งทำนองที่ ‘ง่ายสำหรับเด็ก’ นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเด็กเล็กมีช่วงเสียงจำกัด ทำนองที่เธอเขียนจะต้องไม่สูงหรือต่ำเกินไป 

เธอนึกถึงเสียง ‘street cries’ หรือเสียงร้องขายของริมถนนของชาวแอฟริกันอเมริกันที่เคยได้ยินในวัยเด็ก เสียงที่ไม่มีโน้ตหรูหรา แต่เต็มไปด้วยจังหวะชีวิต และการสื่อสารที่จริงใจ ทำนอง ‘Good Morning to All’ จึงถือกำเนิดขึ้นจากการซึมซับเสียงของผู้คนรอบตัว ไม่ใช่แค่การวางโน้ตลงบนกระดาษอย่างเลื่อนลอย

เมื่อทำนองแรกเสร็จ มิลเดรด นำไปทดลองกับเสียงของน้องสาวคนสุดท้อง ‘เจสสิกา’ ก่อนจะลองนำไปให้เด็ก ๆ ร้องจริงในชั้นเรียนของแพตตี และเสียงร้องนั้นไหลลื่น จนแพตตีอุทานออกมาว่า ‘Eureka!’ 

 

กำเนิด ‘Happy Birthday to You’

เพลง ‘Good Morning to All’ เริ่มขับขานในห้องเรียนของแพตตี สมิธ ฮิลล์ ทุกเช้า เสียงเด็ก ๆ ร้องท่อนสั้น ๆ ด้วยความเบิกบานใจ ก่อนจะปรับมาเป็น 

 

Happy Birthday to you


Happy Birthday to you


Happy Birthday, dear children


Happy Birthday to you

 

ทำนองเดียวกันกับเพลงในตอนเช้า แต่เปลี่ยนถ้อยคำใหม่ ความหมายใหม่ และกลายเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับเจ้าของวันเกิด

ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนแรกที่เขียนคำว่า Happy Birthday ลงบนกระดาษ แต่สำหรับครอบครัวฮิลล์ ณ เวลานั้น เพลงนี้ได้ถือกำเนิดแล้วอย่างสมบูรณ์ จากเพลงที่เริ่มต้นจากการสอนทักทายตอนเช้า
กลายเป็นเพลงวันเกิดสำหรับเด็กในโรงเรียน
และต่อมา กลายเป็นเพลงวันเกิดของโลกทั้งใบ

ในปี ค.ศ. 1893 ทั้ง ‘Good Morning to All’ และทำนองที่ใช้สำหรับ ‘Happy Birthday’ ถูกตีพิมพ์ใน Song Stories for the Kindergarten โดย Summy Company ซึ่งถือเป็นหมุดหมายแรกของการเผยแพร่ทำนองอันเป็นที่รู้จักนี้ 

 

การเดินทางของบทเพลง

หลังจากเพลง ‘Happy Birthday to You’ ขับขานเป็นครั้งแรกในห้องเรียนอนุบาลของครูแพตตี มันเริ่มออกเดินทางเงียบ ๆ พร้อมกับครูฝึกสอนและเด็ก ๆ ที่เรียนรู้บทเพลงนี้ในแต่ละวัน โดยไม่มีใครคาดคิดว่า บทเพลงสั้น ๆ สี่วรรคนี้ จะกลายเป็นเพลงที่มีผู้คนร้องมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์

ทำนองเพลงนี้เริ่มถูกใช้แพร่หลาย โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาปฐมวัย เมื่อ แพตตี ฮิลล์ ย้ายไปสอนที่ Columbia University ในกรุงนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1906 เธอก็นำบทเพลงนี้ติดตัวไป และลูกศิษย์ของเธอก็นำกลับไปใช้ในห้องเรียนทั่วประเทศ 

ในขณะที่เพลงถูกใช้อย่างกว้างขวาง ไม่มีใครในวงการสื่อสารมวลชนหรือธุรกิจเพลงในยุคนั้นรู้ว่าใครคือเจ้าของบทเพลงจริง ๆ

คำว่า ‘Happy Birthday to You’ ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในปี ค.ศ. 1912 จากแหล่งที่ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง และต่อมาในปี ค.ศ. 1924 เพลงนี้ก็ไปปรากฏในหนังสือเพลงชื่อ Harvest Hymns โดย Robert Coleman ซึ่งตีพิมพ์เนื้อเพลง ‘Happy Birthday to You’ เป็นวรรคที่สองของ ‘Good Morning to You’ โดยไม่ให้เครดิตแก่แพตตีและมิลเดรดแต่อย่างใด 

ความเงียบงันของลิขสิทธิ์ กลับกลายเป็นเสียงกึกก้องของการละเมิดโดยไม่ตั้งใจ บทเพลงเริ่มถูกนำไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ถูกส่งเป็น Singing telegram ถึงบ้าน (บริการส่งสาส์นหรือข้อความถึงใครบางคน โดยใช้คนไปส่งสาส์นพร้อมร้องเพลง แทนการพูดหรือเขียนข้อความ นิยมมากในช่วงช่วงทศวรรษ 1930s) ใช้เปิดในรายการวิทยุ และแม้กระทั่งบนเวทีบรอดเวย์ 

เรื่องนี้ทำให้ เจสสิกา ฮิลล์ น้องสาวคนเล็กของครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ทดลองร้องเพลงให้พี่สาวฟังในคืนประวัติศาสตร์ ต้องลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ให้แก่ครอบครัวของเธอ

วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1935 ศาลในนครนิวยอร์กได้เปิดให้ แพตตี และ เจสสิกา ขึ้นให้การว่าใครคือผู้แต่งที่แท้จริงของ ‘Happy Birthday to You’ ขณะนั้น มิลเดรด ผู้แต่งทำนองได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 1916 ไม่มีโอกาสได้ยินคำตัดสินของโลกถึงสิ่งที่เธอเคยสร้างไว้

ในการให้ปากคำต่อหน้าทนายความ แพตตียืนยันว่าเธอเป็นผู้เขียนเนื้อเพลง ‘Good Morning to All’ และมิลเดรดเป็นผู้แต่งทำนอง ส่วนเนื้อเพลง ‘Happy Birthday to You’ นั้น ‘เราร้องมันทุกครั้งที่มีวันเกิดในโรงเรียน’ 

นับจากวันนั้น เพลง ‘Happy Birthday to You’ ได้รับการจดลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ โดยให้เครดิตแก่ Patty S. Hill และ Mildred J. Hill เป็นครั้งแรกในปี 1935

ในแง่ของลิขสิทธิ์ ‘Happy Birthday to You’ ถูกตีความว่าเป็น ‘เพลงเชิงพาณิชย์’ เมื่อนำมาใช้ในการแสดงสาธารณะ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือกิจกรรมที่มีรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ภายใต้การดูแลของ บริษัท Summy-Birchard (ต่อมาควบรวมกับ Warner/Chappell Music) เพลงนี้สร้างรายได้ประมาณ 1–2 ล้านดอลลาร์ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของฮิลล์แทบไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากสิ่งที่พวกเธอสร้างสรรค์ไว้ แพตตี ฮิลล์ ยังคงใช้ชีวิตเป็นนักการศึกษา ทำงานที่ Columbia University จนเกษียณในตำแหน่งศาสตราจารย์อาวุโส และเสียชีวิตในปี 1946 ขณะอายุ 78 ปี ส่วน มิลเดรด ฮิลล์ เสียชีวิตก่อนหน้านั้นถึงสามทศวรรษ ในปี 1916 ด้วยวัยเพียง 57 ปี และไม่มีโอกาสได้เห็นว่าเสียงเปียโนของเธอจะกลายเป็นสัญลักษณ์สากลของการเฉลิมฉลองวันเกิด

รายได้จากลิขสิทธิ์เพลงถูกนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนด้านการศึกษาปฐมวัย ผ่านมูลนิธิ Hill Foundation แม้จะไม่มีใครในตระกูลแต่งงานหรือมีทายาท แต่เจตนารมณ์ของบทเพลงก็ยังคงส่งต่อไปในหมู่เด็ก ๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า 

นอกจากนี้ การใช้เพลงนี้โดยไม่ขออนุญาต ได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่กินเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2013 มีผู้ยื่นฟ้อง Warner/Chappell เพื่อขอให้ยกเลิกลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าว และในปี 2016 ศาลสหรัฐฯ ตัดสินว่าเพลง ‘Happy Birthday to You’ นั้น ตกเป็นสมบัติสาธารณะ (public domain) แล้ว (สืบเนื่องจากผู้สร้างสรรค์ผลงานวายชนม์เป็นเวลานานกว่า 50 ปี) 

 

เสียงเพลงที่ไม่มีวันตาย 

กว่า 130 ปี หลังจากที่เพลง ‘Good Morning to All’ ถือกำเนิดขึ้นในห้องเรียนแห่งหนึ่ง
เรื่องราวของสองพี่น้องฮิลล์กำลังจะถูกเล่าขานอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2025 สำนักพิมพ์ Creston Books จะตีพิมพ์หนังสือภาพสำหรับเด็กชื่อ
‘Happy Birthday to You!: The Sisters Who Wrote the Most Famous Song in the World’
เขียนโดยนักเขียนหนังสือเด็กมากประสบการณ์ ราเชลล์ เบิร์ก (Rachelle Burk) และภาพประกอบโดย อบิเกล แลชบรูค (Abigail Lashbrook) เพื่อนำเรื่องราวของแพตตีและมิลเดรด มาบอกเล่าให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จัก 

นี่จึงเป็นทั้งหนังสือสำหรับเด็ก และเป็นการคืนชื่อเสียงให้แก่ผู้หญิงสองคนที่เปลี่ยนวัฒนธรรมโลกด้วยบทเพลง 4 วรรค

บางที นี่อาจเป็นของขวัญวันเกิดที่งดงามที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยได้รับ.
 

ที่มา
- Gormly, Kellie B. "The Forgotten Sisters Behind ‘Happy Birthday to You’." Smithsonian Magazine, Smithsonian Institution, 7 Mar. 2024.
- Publishers Weekly. "Fall 2025 Children’s Sneak Previews." Publishers Weekly, 14 June 2024. 
- Raven, Margot Theis. Happy Birthday to You! The Mystery Behind the Most Famous Song in the World. Illustrated by Chris K. Soentpiet, Sleeping Bear Press, 2008.
- "Happy Birthday to You." Wikipedia, Wikimedia Foundation, accessed 25 July 2024,