‘รถแห่อีสาน’ มหรสพสัญจรที่ไปไกลเกินกว่า ‘สถานบำบัดความคิดถึง’

‘รถแห่อีสาน’ มหรสพสัญจรที่ไปไกลเกินกว่า ‘สถานบำบัดความคิดถึง’

สัมภาษณ์ ‘จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์’ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘รถแห่อีสาน มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม’

หากการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เป็นการเยียวยาหัวใจที่อ่อนล้าให้กลับมามีแรงทำงานอีกครั้ง มันคงจะดีไม่น้อยหากเรามีโอกาสหวนคืนสู่บ้านเกิดหรือสถานที่ที่เป็นเหมือนขุมพลัง ได้บ่อย ๆ 

แต่ใช่ว่าทุกเดือนจะมีวันหยุดยาวเหมือนเดือนมกราคม หรือเมษายน และใช่ว่าทุกคนจะมีเงินมากพอซื้อตั๋วขึ้นรถกลับบ้านได้ทุกครั้งที่ใจอยาก ฉะนั้นหากมีบางสิ่งที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศตอนอยู่ที่บ้าน พวกเขาจะไม่รอช้าที่จะพาตัวเองไปหาสิ่งนั้น 

และนั่นทำให้มหรสพสัญจรอย่าง ‘รถแห่อีสาน’ กลายเป็น ‘สถานบำบัดความคิดถึง’ ของพี่น้องชาวอีสานที่ออกมาทำงานต่างถิ่น 

‘จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์’ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘รถแห่อีสาน มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม’ พูดคุยกับ The People ในประเด็นรถแห่ ที่ตอนนี้กลายเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง และมีผู้เล่นในตลาดมากมาย ไปไกลเกินกว่าการเป็นสถานบำบัดสัญจร

ต่อไปนี้คือบทสนทนาทั้งหมด

The People : เหตุผลที่คุณจารุวรรณถึงเลือกทำวิทยานิพนธ์หัวข้อนี้

จารุวรรณ : พื้นฐานเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วค่ะ พอมาเรียนมานุษยวิทยา มันก็เป็นศาสตร์ที่เรียกร้องให้เราต้องสนใจความเป็นชายขอบ ความเป็นคนเล็กคนน้อย แล้วทีนี้ บังเอิญว่าช่วงนั้นรถแห่กำลังเติบโตขึ้นมา ก็ยังไม่ได้เยอะมาก แต่ก็เริ่มมีให้เห็น ช่วงที่เกิดขึ้นมาแรก ๆ ตัวเราเองก็ยังไม่ได้ชอบมันเลยเหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แล้วพื้นฐานตัวเองด้านศิลปวัฒนธรรม เราค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมพอสมควร ก็เลยแบบ นี่มันอะไรกันเนี่ย 

มีงานหนึ่งแถวบ้าน เหมือนเขาเอามาแก้บน ซึ่งปกติพื้นที่ตรงนั้นจะต้องเป็นหมอลำมาโดยตลอด เราจึงเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเขาถึงไม่ใช้หมอลำเหมือนแต่ก่อนแล้ว มันได้เหรอ? แล้วทุกคนโอเคกับมันจริง ๆ เหรอ? ตอนนั้นเราเหมือนต่อต้านในใจ เราไม่น่าจะรับของพวกนี้ได้ คิดว่ามันอาจจะแค่เป็นกระแส แล้วคงจะหายไปมั้ง ตอนนั้น (รถแห่) มันไม่ได้หน้าตาสวยแบบนี้ด้วยซ้ำ มันเป็นเหมือนรถหกล้อแล้วเอาลำโพงไปวาง ทำเสียงดัง ๆ เหมือนเป็นงานสงกรานต์ตลอดทั้งปี  

แต่ทีนี้มีวิชาหนึ่ง ตอนเรียนปริญญาโท อาจารย์ให้ไปคิดว่าเราอยากศึกษาอะไร วันหนึ่งเราได้มีโอกาสไปงานวัดแถวท่าพระ ซึ่งมีมหรสพเยอะมาก แล้วปรากฏว่าตรงรถแห่มีคนดูเยอะที่สุดเลย น่าจะเป็น ‘ออย แสงศิลป์’ ที่กำลังดัง ตอนนั้นเขาได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชารถแห่’ ก็เลยไปยืนดู แล้วลองเอามาเขียนส่งอาจารย์ ปรากฏว่าเปเปอร์นั้นได้ A ตั้งแต่เรียนมายังไม่เคยได้ A เลย มันคงเป็นทางของเราจริง ๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มเก็บข้อมูลจริงจัง อยู่กับมันมาตั้งแต่ปี 2562

The People : ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘หมอลำ’ กับ ‘รถแห่’

จารุวรรณ : ต้องอธิบายอย่างนี้ก่อน รถแห่มีหลายประเภท และหลายฟังก์ชันในการใช้งาน อย่างรถแห่ในอีสานตอนกลาง โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำชี ไล่ตั้งแต่ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี จะเป็นรถแห่ที่ร้องเล่นหมอลำเป็นหลัก เพราะว่ากลุ่มจังหวัดเหล่านี้ โดยพื้นฐานทางวัฒนธรรม เป็นกลุ่มที่ร้องเล่นหมอลำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่พอเขยิบไปทางอีสานใต้ ก็จะเป็น ‘กันตรึม’ ดังนั้น ถ้าพูดถึงรถแห่ทางอีสานตอนกลาง มันก็มีวิธีการร้องเล่นคล้าย ๆ เดิม แค่มันเปลี่ยนเครื่องมือจากเวทีเป็นรถ 

จากที่ไปคุยกับคนที่ทำรถแห่คณะแรก ๆ ในชัยภูมิ เขาบอกว่า เริ่มต้นเขาก็ได้เครื่องปั่นไปจากคณะหมอลำนั่นแหละ ที่หมอลำเลิกใช้แล้ว แล้วเขาก็เอามาใส่บนรถบรรทุกดู แล้วก็ลองเล่นที่งานบวชของญาติ ปรากฏว่าทำได้ เขาก็เลยเริ่มที่จะดัดแปลง 

พอทำไปทำมา รถมันหนักมากเลย เพราะเครื่องปั่นไฟมันหนัก เขาก็คิดว่าจะจัดการยังไง ผนวกกับมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เขาก็เริ่มลด size พวกเครื่องมือลง จึงเริ่มออกมาเป็นรถแห่ในปัจจุบันที่สามารถ monitor บน iPad ได้

The People : ถ้าหมอลำอยู่แบบเดิม ไม่มีรถแห่ จะอยู่ยากขึ้นไหม

จารุวรรณ : อยู่ยากเหมือนกัน แต่คิดว่าทุกอย่างปรับตัว แม้แต่กระทั่งกลองยาวในปัจจุบันก็มีการเล่นเป็นแบบ variety แล้ว อันนี้ถ้ามองในแว่นสายตาอย่าง อาจารย์พัฒนา กิติอาษา ที่มองในเชิงเศรษฐกิจ ที่บอกว่า มันเติบโตควรคู่กับสมัยใหม่ คือเราไม่สามารถสลัดรากเดิมได้ แล้วสร้างใหม่ทางวัฒนธรรม แต่ว่าของใหม่กับของเก่า มันเติบโตควบคู่กันไป เหมือนการมีรถแห่ ไม่ได้มองว่า กองยาวกับหมอลำที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้มันจะหายไป แต่ว่ามันโตควบคู่กันไป มันแตกไลน์ค่ะ แล้วพอรถแห่ปรับ กลองยาวปรับ หมอลำพื้นบ้านก็ต้องปรับเหมือนกัน เราก็จะเห็นการปรับตัวของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นองคาพยพ 

The People : ช่วงสงกรานต์ บรรยากาศโดยรวมของธุรกิจรถแห่เป็นยังไงบ้าง 

จารุวรรณ : เต็มหมดแล้ว เขาจองกันตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำ เพราะรู้กันล่วงหน้าว่าวันไหน ทั้งสงกรานต์ ปีใหม่ ออกพรรษา ลอยกระทง บุญบั้งไฟ บุญผะเหวด แห่นาค แห่กฐิน 

The People : โดยรวมคือมีงานตลอดทั้งปี

จารุวรรณ : ในอีสาน เกือบจะตลอดทั้งปี เว้นช่วงเข้าพรรษาไว้ 3 เดือน เพราะว่าช่วงเข้าพรรษาไม่มีงานบุญอยู่แล้ว อาจจะมีบ้างหากเป็นงานที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่ก็น้อยมาก ช่วง 3 เดือนนี้เขาจะเริ่มเปิดตลาดใหม่ คือเคลื่อนตัวเข้ามาในภาคกลาง มาเล่นในตลาด ในโรงงาน 

The People : ทำให้พวกเขามีเงินหล่อเลี้ยงตัวเองได้ตลอดทั้งปี

จารุวรรณ : ใช่ มันขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม อย่างคนอีสานที่เป็นผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ที่ไปคุยมา อายุไม่ได้ห่างจากพวกเราเยอะเลย เต็มที่อาจจะ 40 กลาง ๆ ด้วยซ้ำ วงล่าสุดที่ไปคุยด้วย เจ้าของรถอายุ 28 ปี มีงานทุกวัน น่าจะมีเงินหลายล้านแล้ว ผู้ประกอบการพวกนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ได้มีทุนมาก มีหนี้สินด้วยซ้ำ อาจจะ ให้พ่อแม่กู้ให้ เพื่อจะเอาเงินมาลงทุน จะบอกว่าชีวิตติดลบก็ว่าได้ มันก็เลยต้องสู้กันไปแบบนี้ 

The People : สมัยก่อน ถ้าเข้าพรรษาหรือไม่ได้มีงานบุญ เขาก็จะไปทำนาทำไร่ แต่อันนี้คือเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เป็นอาชีพอาชีพหนึ่งได้เลย ถูกไหมคะ 

จารุวรรณ : ถูกค่ะ อย่างถ้าเมืองใหญ่ ๆ เขาก็จะมีพักชัดเจน พักเพื่อจะซักซ้อม ประมาณช่วงออกพรรษา เขาก็จะมีวันเปิดวง เพื่อบอกว่าปีนี้เขามาใน theme อะไรบ้าง อย่างเช่น ประถมบันเทิงศิลป์ ระเบียบวาทะศิลป์ พวกใหญ่ ๆ ที่เป็นการแสดงแบบจริงจัง เขาก็จะเอาพวก 3 เดือนนั้น เป็นช่วงซ้อมเต้น เป็นช่วงทำชุด เป็นช่วงคิดการแสดงใหม่ มันเป็น industry ใหญ่ 

The People : พอจะประเมินได้ไหมคะว่า ตอนนี้มีรถแห่ในบ้านเรามากน้อยแค่ไหน 

จารุวรรณ : ยากเลยค่ะ จากที่ไปคุยที่เดียวนะ เป็นอู่ต่อรถที่ชัยภูมิ ที่ตอนนี้เป็นบริษัทที่ทำรถแห่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปีหนึ่งเขาทำรถ 100 - 200 คัน นี่คือช่วงก่อนโควิดนะ อันนี้แค่ออกมาจากบ้านเขานะ ไม่รวมที่ทำเอง แล้วไม่ได้อยู่แค่อีสานด้วย แต่ส่งออกไปภาคใต้ ไปเชียงใหม่ ด้วย 

The People : คุณจารุวรรณเคยเขียนบทความใน The People ระบุว่า รถแห่เป็นสถานบำบัดความคิดถึง ตอนนี้ยังคิดว่ามันทำหน้าที่เหมือนเดิมหรือไม่ หรือเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน 

จารุวรรณ : ใช่ อันนี้พูดถึงในประเด็นที่มันเป็นสถานบำบัดของพวกที่อยู่ไกลบ้าน พวกแรงงาน โดยเฉพาะตามนิคมอุตสาหกรรม ครั้งก่อนไปชลบุรีมา วันนั้นไม่ได้เอารถแห่มา แต่ว่าเป็นวงที่เล่นรถแห่ คือเดี๋ยวนี้เขารับงานหลายแบบ คือพวกตลาดนัดก็จะ set เวทีให้ แต่เป็นเวทีที่ไม่ได้เล่นบนรถ แต่เขายกวงมาร้องเพลงไมค์ ภิรมย์พร เพลงละครชีวิต พอถึงท่อนที่ร้องว่า “จากแดนอีสาน บ้านเกิดเมืองนอน” ทุกคนเงียบ เราก็ตกใจ มันขนาดนั้นเลยเหรอวะ ขนาดไม่เคยอินกับเพลงนี้เลย แล้วเราไปอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแบบนั้น น้ำตาจะไหลจริง ๆ มันเบอร์นั้น 

The People : เป็นการแสดงที่เข้าถึงหัวใจคนสุด ๆ 

จารุวรรณ : ใช่ แล้วตั๋ว ถ้าก่อนเวลาก็เข้าฟรี แต่ว่าต้องซื้อของกินในนั้นนะคะ มันมีหลายแบบ มีลานเบียร์ ถ้าเปิดโต๊ะราคานี้ ก็จะได้นั่งตรงนี้ มีการจัดการ มีรายละเอียดที่ต่างกันเยอะเหมือนกันในแต่ละตลาด 

The People : นี่คือการทำธุรกิจที่จริงจังมาก ๆ

จารุวรรณ : ใช่ค่ะ เคยไปงานมหกรรมรถแห่ ที่เอารถแห่ 4 - 5 คัน มาเล่นในพื้นที่เดียวกันมี เหมือนเขาจะล้อมวงให้คนอยู่ตรงกลาง ถึงคิวคันไหนก็เคลื่อนตัวเข้ามาอยู่ตรงกลาง มันเป็นเหมือน stage ลองไปดูแถวบางปะกง อยุธยาฯ บางทีก็เล่นกับหนังกลางแปลง มีโฆษณาแฝงของผลิตภัณฑ์ที่เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งทำให้ค่าตั๋วถูกลง

The People : รถแห่ก็มีสปอนเซอร์ด้วยเหรอคะ?

จารุวรรณ : ใช่ค่ะ มีมาโดยตลอดด้วยซ้ำ ช่วงโควิดก็จะเยอะหน่อย สติ๊กเกอร์หรืออะไรที่ติดอยู่บนรถแห่ ไม่ได้ติดเฉย ๆ เสียเงินทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทที่ตีตลาดแรงงาน เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ อาจมีการตั้งบูธอยู่ข้าง ๆ ด้วย ส่วนรถแห่เองก็มีเสื้อ FC ของคณะขาย ตัวละ 100 – 200 บาท 

The People : ทำไมท่าเต้นต้องเซ็กซี่ เนื้อเพลงต้องสองแง่สองง่าม 

จารุวรรณ : มันเป็นแบบนี้มาโดยตลอด ถึงไม่มีรถแห่ ดนตรีอีสานก็จะสองแง่สองง่าม ไม่ใช่แค่ดนตรีอีสาน ดนตรีพื้นบ้านทุกที่สองแง่สองง่าม เพราะชาวบ้านไม่ได้ถูกตีกรอบว่าต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อยเล่น มันไม่เหมือนดนตรีราชสำนัก หรือดนตรีถูกจัดการโดยรัฐ แต่อันนี้มันก็คือจัดการโดยชาวบ้าน มันจะไม่พูดเรื่องเพศกันในชีวิตประจำวันได้เหรอ มหรสพคือพื้นที่ที่เราสามารถแสดงออกแบบนี้ได้บ้าง 

The People : อะไรคือจุดขายของรถแห่แต่ละคณะ 

จารุวรรณ : จากที่ไปสัมภาษณ์มา เขาพูดว่าหัวใจของรถแห่คือ ‘เครื่องเสียง’ เข้าใจว่า ตอนเริ่มต้นเขาลงทุนกับมันมาเยอะ แล้วมันเจ๊ง คือเขาไม่ได้มีความรู้เรื่องวิศวกรรมอะไรกันมากใช่ไหมคะ คิดว่าแค่มีตัวปั่นไฟให้มันมีพลังงาน มีแอมป์ มีตัวแปลง ส่งเสียงออกมาได้ แค่นั้นมันก็เล่นได้แล้ว แต่พอเล่นไปสักพัก พวกความรู้ต่าง ๆ พวกนี้มันไม่ถึง มันก็พัง แล้วเขาก็เจ๊งกัน หมดหลายแสนเลยบางวง กว่าจะลงตัวที่แบบนี้ได้ จนกระทั่งมีความรู้ใหม่ จน stable แล้ว ตอนนี้ก็ไม่ค่อยพังแล้ว แต่เมื่อก่อนระเบิดก็มี คือเขาลงทุนกับมันมาก เขาก็เลยเชิดชูว่ามันคือหัวใจ

The People : นอกจากเครื่องเสียงแล้วมีอะไรที่เขางัดมาแข่งกันอีก 

จารุวรรณ : ไหวพริบ สมมติเมื่อคืนมีเพลงสักเพลงดัง แบบอยู่ดี ๆ เป็นไวรัล พรุ่งนี้เช้า วงไหนเอาไปร้องก่อน ชนะ 

ใครร้องเล่นเพลงเก่า คนก็จะไม่ตื่นเต้นอะไรแล้ว พวกเพลงใน TikTok อะ ถ้าดังคืนเดียว พวกคุณต้องแกะแล้วนะ ไม่งั้นพวกคุณไม่ทันชาวบ้านเขานะ อันนี้คือไหวพริบของนักดนตรีชาวบ้าน บางทีไม่ต้องเรียนดนตรีด้วยซ้ำอะ แต่เล่นได้แล้ว 

The People : หลังจากนี้ รถแห่มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนอีกหรือไม่ 

จารุวรรณ : คิดว่าเพิ่มมากขึ้น แต่การแข่งขันก็สูงขึ้นเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกวงจะรอด การบริหารจัดการก็ค่อนข้างสำคัญ ไม่ใช่เจ้าของวงทุกวงจะซื้อใจนักร้อง นักดนตรีให้อยู่กับตัวเองได้ แล้วส่วนใหญ่เจ้าของรถมักไม่ใช่นักดนตรี จะเป็นผู้ประกอบการอย่างเดียว ดังนั้น การไม่รู้ดนตรี ต้องพึ่งพานักดนตรีข้างนอกอยู่ตลอด จึงต้องดูแลกันดี ๆ จริง ๆ ยิ่งช่วงโควิด ยิ่งเห็นถึงน้ำใจกันเลยว่าจะอยู่กันยังไง

The People : รถแห่มีศักยภาพจะผลักดันเป็น Soft Power ได้หรือไม่ 

จารุวรรณ : คือถ้าคิดว่าจะผลักดันรถแห่เลย คิดว่ายัง เพราะกว่าเขาจะเห็นค่าหมอลำ จนถึงปัจจุบันนี้ เขาสู้มาเยอะเหมือนกัน แล้วกิจกรรมพวกนี้มันขับเคลื่อนด้วยรัฐ มันต้องช้าอยู่แล้ว ไปเวย์ตัวเองดีกว่า ให้เขาเป็นตัวเองดีแล้ว เดี๋ยวจะห้ามนู่น ห้ามนี่ เดี๋ยวก็ไม่เป็นตัวเอง 

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์