การเดินทางของ ‘หมอลำ ลมหายใจของคนอีสาน

การเดินทางของ ‘หมอลำ ลมหายใจของคนอีสาน

ประวัติศาสตร์ของ ‘หมอลำ ที่เรียกได้ว่าเป็น ลมหายใจของคนอีสาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“หมอลำคือลมหายใจของคนอีสาน” 

นี่เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก เพราะแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ศิลปะการแสดงชนิดนี้ยังคงเดินทางเคียงข้างพี่น้องชาวอีสานไปทุกหนทุกแห่ง  

โดยเฉพาะในช่วง ‘สงกรานต์’ ซึ่งเป็นเวลาแห่งความสุขที่ชาวอีสานจะได้กลับบ้านไปอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา เพลงหมอลำที่โดดเด่นด้วยจังหวะสนุกสนานถูกเปิดดังกระหึ่มไปทั่วทุกหัวระแหง 

‘จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์’ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘รถแห่อีสาน มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม’ พูดคุยกับ The People ถึงการเดินทางผ่านช่วงเวลาและยุคสมัยของ ‘หมอลำ’ ก่อนจะพัฒนาไปเป็น ‘รถแห่’ ที่ฮิตกันทุกวันนี้ 

เราเริ่มบทสนทนาด้วยการขอให้ ‘จารุวรรณ’ ช่วยยืนยันว่า หมอลำยังเป็นลมหายใจของคนอีสานอยู่หรือไม่?

“ตอนนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่ค่ะ แต่เราจะบอกว่าหมอลำต้องเป็นแบบนี้ตลอดเวลา ก็ไม่ได้เหมือนกัน หมอลำก็มีพลวัตของหมอลำที่ไม่เคยเหมือนเดิมเหมือนกัน”

‘จารุวรรณ’ เท้าความหน้าที่ของหมอลำในอดีตว่า หลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อ โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ผีฟ้า’ หรือ ‘พญาแถน’ ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และดลบันดาลให้เกิดฝนตกในพื้นที่ได้  

“มันเป็นเรื่อง sound of soul เป็นเสียงอีกแบบหนึ่งของจิตวิญญาณคนอีสาน ที่คนอีสานพยายามจะใช้สื่อสารกับทวยเทพข้างบน เพื่อที่จะทำยังไงให้ฝนตก เพราะอีสานมันแล้ง ก็ต้องขอฝน มันคือวัฒนธรรม”

ส่วนอีกหน้าที่ของหมอลำคือการเป็น ‘สื่อ’ สำหรับใช้สื่อสาร 

“มีคำเปรียบเปรยสมัยก่อนว่า คนอีสานทุกคนเป็นหมอลำหมด ยกเว้นแค่เสาบ้าน มันคงเป็นภาษาที่เขาสื่อสารกันทั่วไป ทั้งการร้อง และการรำ อาจจะหมายถึงหมอลำกลอน หรือหมอลำอะไรต่าง ๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนขนาดนั้นเลย” 

‘จารุวรรณ’ ยังยกตัวอย่างการใช้หมอลำเป็นเครื่องมือสื่อสารในมิติ ‘การเมือง’ ด้วยเช่นกัน

“ถ้าจะพูดถึงมิติทางการเมือง เราจะเห็นเรื่องกบฏผีบุญ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งคนอีสานได้ใช้หมอลำในการต่อต้านกับรัฐไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการก่อกบฏผู้มีบุญขึ้นมา ทางรัฐไทยก็พยายามจะอธิบายว่า ผู้มีบุญ หมายถึง พวกที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีบุญญาบารมีมามัวเมาชาวบ้าน 

“แต่ในมิติของชาวบ้าน มันคือการบอกข่าวสาร การสื่อสารกันในกลุ่ม โดยใช้หมอลำเป็นเครื่องมือหนึ่ง คือมีแค่แคนเต้าเดียวกับคนรำ แต่แค่นั้นก็ทำให้การเมืองใหญ่สั่นสะเทือนได้แล้ว”

ล่วงเลยมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กระแสทุนนิยมไหลมาที่อีสานค่อนข้างเยอะ ผ่านกองทัพทหารอเมริกันที่เข้ามาจำนวนมาก เพื่อมาตั้งค่ายไปรบในสงครามเวียดนาม 

“ตรงนี้จึงเริ่มมีนายทุนเข้ามา เริ่มมีการอัดแผ่นเสียงหมอลำ และแม้จะมีเครื่องดนตรีฝรั่งเข้ามา ทั้งกีตาร์ แซกโซโฟน แต่หมอลำก็ยังอยู่ อยู่แบบไหน? อยู่แบบอยู่ด้วยกันนั่นแหละ ไม่ได้หายไปไหน เหมือนความเป็นพื้นบ้านมันคือการเลือก ทั้งเลือกรับและเลือกปฏิเสธ เลือกรับในสิ่งที่เข้ากับตัวเองได้ เดี๋ยวนี้เราจึงเห็นหมอลำที่ใส่แซกโซโฟนเข้าไป

“หมอลำยังอยู่ แต่ไม่ได้อยู่แบบเดิม ไม่ได้อยู่แบบนิ่ง” จารุวรรณสรุปไว้อย่างน่าสนใจ

ถึงตรงนี้เราแอบตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งที่หมอลำยังคงปรากฏอย่างแพร่หลาย เป็นเพราะสามารถหลอมรวมกับสิ่งใหม่ได้อย่างแนบเนียบ ไม่ได้ถูกจำกัดมากเท่าศิลปะแขนงอื่น ๆ ใช่หรือไม่? 

“ใช่ค่ะ ด้วยความไม่ถูกจำกัดนี่แหละ เพราะว่ามันก็ต้องรับใช้ตลาด พอมันเป็นอุตสาหกรรม ทุนนิยม หรือจะพูดถึงในสเกลเล็กก็ตาม มันก็ต้องพยายามเอาใจกลุ่มเป้าหมาย ก็คือคนรุ่นใหม่ที่พยายามโตมาเรื่อย ๆ เหมือนคนแต่ละยุคก็เติบโตมาในแวดล้อมของเสียงที่ไม่เหมือนกัน เช่นจะเอาหมอลำในยุคเราไปเทียบกับยุคพ่อแม่หรือในยุคปู่ย่าตายาย มันก็คนละ soundscape การรับรู้ของเพลงจะไม่เหมือนกัน”

แล้วในส่วนของเนื้อหา แตกต่างไปจากอดีตอย่างไรบ้าง?

“ถ้าได้ไปฟังพวกหมอลำเก่า ๆ จะเห็นถึงการเดินทางหรืออาจจะเป็นเรื่องศาสนา อาจจะเป็นเรื่องหลักธรรมคำสอน เรื่องบาปบุญคุณโทษ ส่วนอื่น ๆ ก็จะพูดถึงความบันเทิง 

“อีกอย่างคือ ในอดีตเขาจะยกย่องหมอลำว่าเป็นปราชญ์ คือผู้ที่รู้มากกว่าคนอื่น ถ้าในวรรณกรรมเรื่อง ‘ลูกอีสาน’ หลวงพ่อจะบอกกับบักคูณว่าให้ตั้งใจเรียน โตมาจะเป็นครูก็ได้ เป็นนายฮ้อยก็ได้ เป็นหมอลำก็ได้ คือ 3 อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มี value มากที่สุดในสังคมอีสานในยุคนั้น

“แต่ทีนี้พอมันมีเพลงลูกทุ่ง หมอลำ หรือหมอลำซิ่งเข้ามา ตอนหลัง ๆ หมอลำก็กลายเป็นหมอลำร้องเพลง มันไม่เหมือนกัน คือเมื่อก่อน หมอลำจะไม่ได้ร้องเพลงเยอะขนาดนี้ แต่ทีนี้ พอมันมีดนตรีแบบใหม่เข้ามา ก็ต้องยอมรับว่า เพลงแบบสมัยใหม่ที่เอาใจคนสมัยใหม่เนี่ย มันลดทอนความเป็นหมอลำแบบเก่าค่อนข้างจะเยอะอยู่เหมือนกัน” 

แล้วหากเป็นอย่างนี้ หมอลำจะยังคงเป็น ‘เครื่องบันทึกประวัติศาสตร์’ ได้อยู่หรือไม่ 

“มันบันทึกประวัติศาสตร์แน่ ๆ แต่ว่า มันอยู่ที่ว่าเราบันทึกด้วยอะไร อย่างเช่น เพลงแต่ละเพลง แต่ละยุค มันก็เล่าเรื่องราวไม่เหมือนกันอยู่ดี สมมติเพลงสมัยก่อนที่พูดถึงป่าเขาลำเนาไพรต่าง ๆ มันก็พูดถึงบรรยากาศของสมัยนั้น แต่ว่าสมัยนี้ มันอาจจะพูดผ่านเครื่องดนตรีที่ใช้ก็ได้ พูดผ่านข้าวของ อย่งหมอลำสมัยใหม่ก็มีพูดถึงรถปอร์เช่ พูดถึงกระเป๋ากุชชี พูดถึงผลไม้ฝรั่ง อันนี้มันก็คือเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่บอกว่า โลกกระทัดของคนอีสานสมัยนี้ สามารถรับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว”

เราชวน ‘จารุวรรณ’ ย้อนไปตรงที่พูดถึงการให้ ‘คุณค่า’ กับอาชีพ ‘หมอลำ’ ว่าในอดีตกับปัจจุบัน แตกต่างกันหรือไม่? เพราะเมื่อสักครู่เธอพูดถึงวรรณกรรมเรื่อง ‘ลูกอีสาน’ ที่ยกให้อาชีพหมอลำเป็น 1 ใน 3 อาชีพที่มี value มากที่สุด

“คิดว่าเป็นเหมือนเดิม คืออะไรก็ได้ที่มีชื่อเสียง ตามมาด้วยเงินทองและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีเพื่อนหลายคนเหมือนกัน สมัยเรียนก็ร้องเพลงไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย แต่ว่าเขาไม่หยุดเรียนหนังสือ เนื่องจากค่านิยมสมัยเรา มันจำเป็นจะต้องมีการศึกษาด้วย อันนี้ก็เพิ่มขึ้นมาอีกหน่วยหนึ่ง แต่ถามว่า การเรียนจบออกมาแบบพวกเราที่มีเงินเดือน กับเขาที่ขึ้นเวทีคืนเดียวแล้วเขาก็ได้แล้ว ก็เลยคิดว่า ถ้ามีความสามารถขนาดนั้นอยู่ ยังคิดว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในสังคมอีสานเหมือนกัน”

มาถึงเรื่อง ‘รถแห่’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘จารุวรรณ’ เชี่ยวชาญ เราถามว่า หลังจากนี้หมอลำที่ไม่ได้ขึ้นรถแห่ จะอยู่ยากขึ้นหรือไม่?

“อยู่ยากเหมือนกัน คิดว่าทุกอย่างต้องปรับตัว แม้กระทั่งกลองยาวในปัจจุบันก็มีการเล่น แบบ variety แล้ว อย่างอาจารย์พัฒนา กิติอาษา ท่านมองในเชิงเศรษฐกิจนะคะ ท่านบอกว่า มันเติบโตควรคู่กับสมัยใหม่ คือเราไม่สามารถสลัดรากเดิมได้ แล้วสร้างใหม่ทางวัฒนธรรม แต่ว่าของใหม่กับของเก่า มันเติบโตควบคู่กันไป เหมือนการมีรถแห่ ไม่ได้มองว่ากองยาวกับหมอลำที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้มันจะหายไป แต่ว่ามันโตควบคู่กันไป มันแตกไลน์อะค่ะ แล้วพอรถแห่ปรับ กลองยาวปรับ หมอลำพื้นบ้านก็ต้องปรับเหมือนกัน เราก็จะเห็นการปรับตัวของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นองคาพยพ”

เราหยุดบทสนทนาในช่วงที่เกี่ยวกับ ‘หมอลำ’ ไว้เพียงเท่านี้ เพราะทุกคนน่าจะเห็นภาพแล้วว่า ‘หมอลำ’ นั้น เดินทางมาถึงวันนี้ได้อย่างไร ท่ามกลางเทคโนโลยีทางดนตรีที่เปลี่ยนไปแทบจะตลอดเวลา 

แล้วครั้งหน้า เราจะถ่ายทอดบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องราวของ ‘รถแห่’ ที่ทุกวันนี้ เป็นมากกว่า ‘สถานบำบัดความคิดถึง’ ไปแล้ว 

 

เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ : พาฝัน ศรีเริงหล้า

ภาพ : หมอลำอุดมศิลป์