‘เบิร์ด ธงไชย’ จากหนุ่มแบงก์-พนักงานต้อนรับ สู่ศิลปินแห่งชาติ เบอร์หนึ่งในใจตลอดกาล

‘เบิร์ด ธงไชย’ จากหนุ่มแบงก์-พนักงานต้อนรับ สู่ศิลปินแห่งชาติ เบอร์หนึ่งในใจตลอดกาล

‘เบิร์ด ธงไชย’ จากหนุ่มแบงก์-พนักงานต้อนรับหน้าดิสโก้เธค สู่ความสำเร็จ ‘ศิลปินเบอร์หนึ่ง’ ของไทย และศิลปินแห่งชาติที่ก้าวสู่จุดสูงสุดทุกด้าน ทั้งชีวิตส่วนตัว นายแบบ งานแสดง พิธีกร งานโฆษณา ด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานเพลง

  • เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินเบอร์หนึ่งในใจตลอดกาลของไทย เริ่มต้นเส้นทางจากที่เป็นหนุ่มแบงก์และพนักงานต้อนรับหน้าดิสโก้เธค ก่อนได้โอกาสมาเป็นนักร้อง และงานบันเทิงต่าง ๆ 
  • ธงไชย แมคอินไตย์ ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2565 ขณะที่เขาอายุ 64 ปี โดยที่แฟนเพลง ยังเรียกศิลปินในดวงใจว่า ‘พี่เบิร์ด’ เสมอ

บนเส้นทางศิลปิน ‘พี่เบิร์ด’ ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายอัลบั้ม และความนิยมตลอด 37 ปี นับจากอัลบั้มแรก ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ จนถึงผลงานชุดล่าสุดที่มีชื่อว่า 22 ‘พี่เบิร์ด’ ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง ซึ่งหมายถึงรางวัลด้านดนตรีมากมาย ที่แม้แฟนพันธุ์แท้ก็อาจจำได้ไม่ทั้งหมด

แต่มีรางวัลอันทรงคุณค่ารางวัลหนึ่งซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของศิลปินบ้านเรา นั่นคือ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ที่แม้แฟนเพลงหลายคนจะตามลุ้นในทุก ๆ ปีที่มีการประกาศเกียรติว่า ปีนั้นปีนี้จะมีชื่อ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ หรือไม่

ทว่า ในบางครั้ง แฟนเพลงหลายคนอาจไม่ได้นึกถึงรางวัลดังกล่าว เพราะตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ‘พี่เบิร์ด’ เป็น ‘ศิลปินมหาชน’ ที่นอกจากจะอุทิศตนให้กับศิลปะด้านดนตรีแล้ว ยังเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมมากมายนับไม่ถ้วน

ทันทีที่ ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ประกาศเกียรติศิลปินแห่งชาติประจำปี 2565 โดย ‘เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์’ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) สร้างความปลื้มปีติในหมู่แฟนเพลง ‘พี่เบิร์ด’ คนในวงการดนตรี และประชาชนทั่วไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ธงไชย แมคอินไตย์’

จาก ‘หนุ่มแบงค์’ ถึง ‘นักร้องดีเด่นสยามกลการ’

แววศิลปิน และความรักในการแสดงออกอยู่ในตัว ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ตั้งแต่เด็ก แม้เส้นทางก้าวสู่ดวงดาวจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะประสบความสำเร็จ ต้องมุมานะบากบั่น ฝ่าฟันด้วยตนเอง จากความชื่นชอบในการร้องเพลง ซ้อมร้องเพลงกับวงดนตรีพี่น้อง และเข้าร่วมประกวดตามงานวัด

ก้าวสู่ชั้นประถม เป็นจิตอาสาที่โรงเรียนวัดนิมมานรดี และโรงเรียนปัญญาวรคุณ ช่วยเหลือครูในกิจกรรมของโรงเรียนด้านการแสดงบนเวทีและการร้องเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ชมรมดนตรีสากล’ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ที่ ‘พี่เบิร์ด’ เป็นนักร้องของชมรมฯ (นักร้องรุ่นน้องของชมรมฯ ที่โด่งดังอีกท่านคือ ‘ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง’)

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ เข้าทำงานที่ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ ซึ่งดูเหมือนว่า น่าจะเป็นช่วงที่เขาห่างไกลจากงานด้านบันเทิง ทว่า กลับไม่ใช่ เพราะเขารับงานถ่ายแบบ และงานโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานกลางคืนเป็นพนักงานต้อนรับหน้าประตูดิสโก้เธค ‘ฟามิงโก’ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ทำให้ ‘พี่เบิร์ด’ เข้าตาแมวมองในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘พี่ไก่’ วรายุฑ มิลินทจินดา เปิดโอกาสให้ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ แสดงละครเรื่อง ‘น้ำตาลไหม้’ ในปี พ.ศ. 2526 หลังจากนั้น รับงานละครเวทีของ ‘ครูเล็ก ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์’ และภาพยนตร์เรื่อง ‘บ้านสีดอกรัก’ ในปี พ.ศ. 2527 ก่อนสมัครเข้าร่วมประกวดร้องเพลง ‘สยามกลการ’

เบิร์ด ธงไชย ได้รับรางวัล ‘นักร้องดีเด่นเพลงไทย’ ของ ‘สยามกลการ’ จากเพลง ‘ชีวิตละคอน’ ประจำปี พ.ศ. 2527 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้พบกับ ‘เรวัต พุทธินันทน์’ แห่ง ‘แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนต์’ นำไปสู่การออกอัลบั้มแรกในปี พ.ศ. 2529 ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ และเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งวงการเพลงไทยร่วมสมัยนามว่า ‘ธงไชย แมคอินไตย์’

‘อาชีพนักแสดง’ ลมใต้ปีกชั้นดีที่เสริมบารมี ‘พี่เบิร์ด’

แม้บทบาทการเป็นนักแสดงจะไม่โด่งดังและยาวนานเทียบเท่าสถานะนักร้อง แต่ต้องยอมรับว่า งานแสดงเป็นส่วนเสริมชื่อเสียง และเกื้อหนุนความสำเร็จทางด้านดนตรีของ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ไม่น้อย

หลังจาก ‘น้ำตาลไหม้’ ในปี พ.ศ. 2526 ปีรุ่งขึ้น ‘พี่เบิร์ด’ มีผลงานละครโทรทัศน์กระจายในช่องต่าง ๆ ถึง 5 เรื่อง และภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี พ.ศ. 2528 มีละครถึง 7 เรื่อง ภาพยนตร์ 1 เรื่อง และปี 29 ซึ่งเป็นปีที่อัลบั้ม ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ วางแผง เขาก็ยังรับละครอีก 2 เรื่อง และภาพยนตร์อีก 2 เรื่องเช่นกัน

หลังจากเปลี่ยนเส้นทางเดิน จาก ‘ดารา’ มาสู่ ‘ศิลปินเพลง’ อย่างเต็มตัว ทำให้ผลงานด้านละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ของ ‘พี่เบิร์ด’ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่า ปี พ.ศ. 2530 ที่ดูเหมือนจะเป็นจุดพีกแรกของ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ในวงการบันเทิง เพราะมีอัลบั้มออกถึง 2 ชุดติดต่อกัน และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นั่นคือ ‘สบาย สบาย’ และ ‘รับขวัญวันใหม่’ ขณะที่ภาพยนตร์ ‘หลังคาแดง’ ในปีเดียวกันก็สร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นอย่างมากเช่นกัน ตามด้วยอัลบั้ม ‘ส.ค.ส.’ ปี 31

จุดพีกที่ 2 ของ ‘พี่เบิร์ด’ คือปี พ.ศ. 2533 ที่อัลบั้ม ‘บูมเมอแรง’ ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยยอดขายเกือบ 3,000,000 ตลับ สอดรับกับละคร ‘คู่กรรม’ ในบทบาท ‘โกโบริ’ ที่ครั้งหนึ่งเป็นละครเรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 ของเมืองไทยตลอดกาล ตามด้วยอัลบั้ม ‘พริกขี้หนู’ ยอดขายเกือบ 4,000,000 ตลับ ทำสถิติยอดขายสูงที่สุดในยุค 90

หลังจากนั้น ‘พี่เบิร์ด’ ห่างหายไปจากการออกอัลบั้มนานถึง 3 ปี ก่อนที่จะมีอัลบั้ม ‘ธ.ธง’ ออกมาในปี 37 พร้อมยอดขายและความนิยมด้านบทเพลงที่ลดลงจาก ‘พริกขี้หนู’ ค่อนข้างมาก แต่ชื่อชั้นของ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ในวงการบันเทิงยังคงเป็นหมายเลขหนึ่ง จากการรับบท ‘จ้าวซัน’ ในละครโทรทัศน์ ‘วันนี้ที่รอคอย’ ที่โด่งดังทั้งละครและเพลงประกอบน้อง ๆ ‘คู่กรรม’ เลยทีเดียว

และแม้ว่า ผลงานด้านการแสดงในช่วงหลังจะได้รับความนิยมลดน้อยลง แต่ผลงานด้านดนตรี เหมือนการกลับมาแจ้งเกิดใหม่อีกครั้งกับ Set เพลงแนว R&B ที่ฟังสบายสบาย เข้าถึงง่าย มาพร้อมเนื้อร้องที่กินใจ ไม่ว่าจะเป็น อยู่คนเดียว คนไม่มีแฟน เล่าสู่กันฟัง ก็เลิกกันแล้ว อกมีไว้หัก กลับไม่ได้ไปไม่ถึง ไม่แข่งยิ่งแพ้ ถ่านไฟเก่า คนแพ้ที่ไม่มีน้ำตา จะได้ไม่ลืมกัน สัญญาต้องเป็นสัญญา ช่วยรับที ฯลฯ

ขณะที่เพลงเร็ว ก็ช่วยดึงความเป็นซุป’ตาร์ขาแดนซ์ของ ‘พี่เบิร์ด’ กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็น แฟนจ๋า มาทำไม To Much So Much Very Much โอ้ละหนอ My Love พูดเล่นเล่น อมพระมาพูด ลองซะจ๊ะ รักกันมั้ย เรามา Sing สองคนกำลังดี ฯลฯ

 

Marketing Man ที่ชื่อ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’

ในยุคที่ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ยังเป็นพิธีกรรายการ ‘7 สีคอนเสิร์ต’ คู่กับ ‘มยุรา ธนะบุตร’ วงการเทปเพลงไทยกำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด แต่ในเวลานั้น ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ยังไม่มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง

ท่ามกลางความรุ่งเรืองของศิลปินไทยจำนวนมาก ที่แม้ในปัจจุบัน หลายคนจะยังไม่เลิกร้องเพลง แต่ก็พูดได้ว่า ไม่ได้ประกอบอาชีพนักร้องอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว หลายวงยุติการออกอัลบั้ม แม้จะยังมีสมาชิกบางคนหรือศิลปินบางท่านยังออกผลงานเดี่ยว แต่ก็ถือได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จเช่นในอดีต

แต่ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ยังคงอยู่ ยังกลับมาเสมอ และยังเป็น ‘ศิลปินเบอร์หนึ่ง’

‘ธงไชย แมคอินไตย์’ เป็น ‘ศิลปินเบอร์หนึ่ง’ ของไทยมาเกือบ 40 ปี แม้บางช่วงจะแผ่ว และห่างหายไปจากวงการ แต่เมื่อเขากลับมา ใครก็ต้องหลีกทางให้ และแม้ว่า ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ จะไม่ได้แต่งเพลงเอง แต่เขาก็ภูมิใจ และยืนหยัดกับการเป็นนักร้อง หรือที่แฟนเพลงและนักวิจารณ์ขนานนามให้เป็น ‘Entertainer หมายเลขหนึ่ง’ ของบ้านเรา ยืนระยะมาจนเลยวัยแซยิดมาเกือบ 5 ปีแล้ว

ไม่ได้แต่งเพลงเอง เสียงร้องอยู่แค่ระดับมาตรฐาน แต่การนำเสนอ ทั้งมิวสิกวิดีโอ ทั้งการแสดงหน้าเวที การจัด Theme ผลงาน เสื้อผ้าหน้าผม การให้สัมภาษณ์สื่อ ลีลาการพูด การสร้างภาพลักษณ์ การปรากฏตัว ทั้งภาพยนตร์ ละคร โฆษณา ถ่ายแบบ

กล่าวโดยรวมคือ แม้ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ จะไม่ใช่ศิลปินในความหมายของผู้สร้างผลงานได้ด้วยตนเอง และนำเสนอผลงานด้วยตนเอง แต่เขามี ‘สัมผัสทางการตลาด’ ที่ยอดเยี่ยม หลังจากลงมติเลือกเพลง เขาก็จับอารมณ์เพลงนั้นได้อยู่หมัด

‘สัมผัสทางการตลาด’ ที่ยอดเยี่ยมนี่เอง ที่ทำให้ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ เป็น Marketing Man ที่หาตัวจับได้ยากในวงการเพลงไทยสากล และคงไม่มีหลักสูตรการตลาดในสถาบันการศึกษาที่ไหนใช้หลักวิชาการเหมือนอย่างที่ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ใช้อยู่

แม้ฉากหน้าที่แฟนเพลงได้พบเห็น ‘Entertainer หมายเลขหนึ่ง’ ของไทยขับเคลื่อนความบันเทิงอยู่บนเวที แต่ฉากหลังเป็นการทำการบ้านทางการตลาดอย่างหนัก คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ วางยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งรุกและรับ ผ่านแนวคิดด้านการตลาด และการทำงานแบบระบบ ‘ทีมการตลาดมืออาชีพ’

อย่าลืม ‘เพลง’ เป็นอุตสาหกรรม เป็นพาณิชย์ศิลป์ เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม พูดอีกแบบก็คือ ‘ดนตรี’ เป็นของซื้อของขาย ถ้าไม่ได้ทำแจกฟรี ดังนั้น จึงต้องนำ ‘หลักการตลาด’ เข้ามาบริหารการขายเพลง และสิ่งเหล่านี้ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ก็เข้าใจดี

เพราะหากว่าเขาไม่เข้าใจ ก็คงไม่อาจยืนหยัดอยู่บนถนนดนตรีมาจนจะเข้าปีที่ 38 และอายุของศิลปินเองก็ใกล้ 65 แต่ยังสามารถโลดแล่นอยู่ในวงการด้วยเพดานบินชั้นบนสุด คือการเป็น ‘ศิลปินเบอร์หนึ่ง’ ที่แม้ค่ายเพลงคู่แข่งที่เคยส่งศิลปินเบอร์หนึ่งในแต่ละยุคออกมาต่อกร ก็ยังไม่เคยออกมาโต้ได้เลยสักครั้งเดียว

 

เจ้าแห่ง Battle และ Featuring ตัว Run วงการ

เราคงไม่นับการ ‘รวมวง’ ของ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ กับศิลปินท่านอื่นเป็นครั้งแรกกับอัลบั้ม ‘ขนนกกับดอกไม้’ เพราะนั่นเกิดขึ้นช่วงเวลาที่เขาพีกสุด ๆ กับการประสบความสำเร็จในทศวรรษที่ 2530 มีอัลบั้มรวมกันเกือบ 10,000,000 Copy

รวมถึงก่อนหน้านี้ที่เขาทำคอนเสิร์ต Featuring กับศิลปินชื่อดังแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็น ‘พรศักดิ์ ส่องแสง’ ‘อัญชลี จงคดีกิจ’ หรือ ‘นกแล’

เพราะอัลบั้มสำคัญที่พิสูจน์ความเป็น Marketing Man ของ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ คืออัลบั้ม ‘ชุดรับแขก’ ที่แม้จะเชิญศิลปินมากมายมาร่วมร้อง แต่ไฮไลต์สำคัญคือ ‘โจอี้ บอย’ ในฐานะเบื้องหลังความสำเร็จของเพลง ‘แฟนจ๋า’

การ ‘รวมวง’ ครั้งแรกกับ ‘จินตหรา พูนลาภ’ ที่มาลงเสียงในเพลงดังกล่าว รวมทั้ง ‘มาทำไม’ ส่งผลให้อัลบั้ม ‘ชุดรับแขก’ ทำยอดขายไปแตะ 5,000,000 Copy เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สถานะศิลปินเบอร์หนึ่งของ ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ เริ่มแผ่วลงไป นั่นคือกลางทศวรรษที่ 2540 โดยก่อนหน้านั้น แม้ต้นสังกัดคือ Grammy พยายามดัน ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ให้ออกไปสู้กับตลาดเทปที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี MP3 แต่ก็ดูเหมือนจะเข็นไม่ขึ้นกันทั้งระบบ

‘ธงไชย แมคอินไตย์’ จึงต้องออกแรงไป ‘รวมวง’ กับร็อกเกอร์เบอร์หนึ่งในขณะนั้นคือ ‘เสกสรรค์ ศุขพิมาย’ หรือ ‘เสก LOSO’ ในอัลบั้ม ‘เบิร์ด-เสก’ ทำยอดขายไปแตะที่ 2,000,000 Copy คือบทพิสูจน์ความเป็น Marketing Man อีกครั้งกับการประคองสถานะ ‘เบอร์หนึ่ง’

โดยในปลายปี 2558 ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ จึงต้องออกแรงไป ‘รวมวง’ อีกครั้งกับศิลปิน Indy ไม่ว่าจะเป็นวง 25 Hours ที่โด่งดังจากเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘กวน มึน โฮ’ และวง PARADOX นำขบวนมาโดย ‘Indy ตัวพ่อ’ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คือ ‘โจอี้ บอย’ ในโครงการ ‘รวมวง Thongchai’ เพื่อยืนยันความเป็น Marketing Man อีกครั้ง

หลังจากนั้น Model การ ‘รวมวง’ ปรากฏขึ้นอีกครั้ง กับศิลปินสายร็อกในอัลบั้ม Bird Marathon Project และล่าสุดกับอัลบั้มใหม่ที่ชื่อ 22 ซึ่งระดมนักดนตรีมาเป็น Super Group แถวหน้าแห่งวงการ Pop-Rock ไทย มาร่วมทำดนตรี

 

37 ปี 18 อัลบั้ม และความสำเร็จสูงสุด ‘ศิลปินแห่งชาติ’

18 อัลบั้มในรอบ 37 ปี ยังไม่นับผลงานเพลงพิเศษในวาระต่าง ๆ และคอนเสิร์ต ‘แบบเบิร์ดเบิร์ด’ อีก 12 ครั้ง รวมถึงคอนเสิร์ตใหญ่อีกนับไม่ถ้วน คือปริมาณผลงานที่ยืนยันสถานะความเป็น ‘ซุป’ตาร์ หมายเลขหนึ่งตลอดกาล’ ในวงการเพลงที่ไม่มีศิลปินคนใดโค่น ‘พี่เบิร์ด’ ลงได้

ไม่ต้องพูดถึงด้านคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงหน้าเวทีที่ดึงดูดแฟนเพลงทุกรุ่น ทุกยุค ทุกสมัย ให้ติดตามคอนเสิร์ต และอุดหนุนเทป CD แผ่นเสียงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ทันทีที่ ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ได้ประกาศเกียรติศิลปินแห่งชาติประจำปี 2565 โดย ‘เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์’ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) สร้างความปลื้มปีติในหมู่แฟนเพลง ‘พี่เบิร์ด’ คนในวงการดนตรี และประชาชนทั่วไป

ทันทีที่ทราบข่าว ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ เผยถึงความรู้สึกสั้น ๆ ว่า “พี่เบิร์ดขอขอบคุณสำหรับการได้รับเกียรติยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช 2565 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) รางวัลนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้เพราะแฟนเพลงที่สนับสนุนผลงานของพี่เบิร์ดมาตลอดด้วยครับ พี่เบิร์ดขอบคุณมาก ๆ ครับ”

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO ประกอบกับภาพจาก MV โดย GMM Grammy/YouTube