‘ถนอมไว้ในดวงใจ’ กับเรื่องราวที่งดงามอีกมุมของ ‘ถนอม สามโทน’ หรือ ‘วิทยา เจตะภัย’

‘ถนอมไว้ในดวงใจ’ กับเรื่องราวที่งดงามอีกมุมของ ‘ถนอม สามโทน’ หรือ ‘วิทยา เจตะภัย’

‘ถนอม สามโทน’ หรือ ‘วิทยา เจตะภัย’ เสียชีวิตลงแล้ว แต่บทเพลง ผลงาน และเรื่องราวที่สะท้อนถึงความสามารถในการร้องเพลงของเขายังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลงทั้ง ‘สามโทน’ และผลงานเดี่ยวของวิทยา ตลอดไป

  • ‘ถนอม สามโทน’ หรือ ‘วิทยา เจตะภัย’ เป็นที่รู้จักในฐานะสมาชิกบอยแบนด์ สามโทน แต่จุดเด่นที่หลายคนอาจยังไม่สังเกตคือเสียงร้องที่นุ่ม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

บางคนรู้จัก ‘ถนอม สามโทน’ ในนามศิลปินนักร้อง แต่คนรุ่นหลัง ๆ จะรู้จักเขาในนาม วิทยา เจตะภัย ที่เป็นนักแสดงละครและภาพยนตร์ เขาเคยรับบทเป็น ‘มนต์ เมืองเหนือ’ คนที่ตั้งชื่อให้พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘พุ่มพวง’ (The Moon)

อีกแง่มุมชีวิต หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า วิทยา คือศิลปินที่ขับขานเพลงหวานได้ไพเราะไม่เป็นรองใคร ผลงานเพลงที่เขานำเพลงอมตะในอดีตมาขับร้องนั้น กลายเป็นสิ่งของหายากที่นักฟังเพลงระดับโปรที่ใช้เครื่องเสียงระดับ HI-END นิยมนำมาเปิดฟัง และทดสอบระบบด้วยเนื้อเสียงร้องของเขาที่มีความนุ่มลึก อวบอิ่ม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

‘ถนอม สามโทน’ คือ หนึ่งในสมาชิกบอยแบนด์กลุ่มแรก ๆ ของไทยในค่ายคีตา เรคคอร์ด ซึ่งมีสมาชิก 3 คน คือ ธงชัย ประสงค์สันติ, บุ๋มบิ๋ม และถนอม ผลงานของสามโทนเคยสร้างปรากฎการณ์ยอดขายเทปล้านตลับ ในชุดแรกที่ชื่อยาว ๆ ว่า ‘แอบสนุกสนานกับความมุ่งมั่นของชีวิต’ โดยมีเพลง ‘เจ้าภาพจงเจริญ’ เป็นเพลงหัวชุดที่คนรู้จักและกลายเป็นอีกหนึ่งเพลงชาติของงานเลี้ยงต่าง ๆ

ชื่อจริง ‘วิทยา’ ชื่อเล่น ‘ถนอม’?

วงสามโทนรวมตัวกันโดย พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นผู้ช่วยเหลือให้ตั้งไข่ เริ่มจากธงชัย ประสงค์สันติ มาก่อน คนต่อมาคือ บุ๋มบิ๋ม (สุธีรัชย์ ชาญนุกูล) คนหน้าเสือใจเนื้อที่ทำงานเป็นครีเอทีฟในบริษัทคีตาฯ และวิทยา (ถนอม) เป็นคนสุดท้ายที่เข้าวงมา

โดยพี่จิก ประภาส เคยบันทึกไว้ว่า สมาชิกคนที่สาม อันนี้ที่มายิ่งแปลก เขามากับเทปคาสเซ็ตต์ที่เป็นเดโมที่มีนักแต่งเพลงท่านหนึ่งส่งมา (ให้ทางค่ายเลือกซื้อมาบันทึกเสียง) โดยส่งเพลงมายี่สิบกว่าเพลง แต่เลือกแค่เพลงเดียว พี่จิกกลับไปสนใจเสียงร้องของคนที่ร้องไกด์มา

หลังจากฝ่ายผลิตเพลงติดต่อซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงไปแล้ว พี่จิกก็ขออนุญาตนักแต่งเพลงท่านนั้นพบกับคนร้องไกด์คนนั้นหน่อย นักแต่งเพลงก็ชี้มือไปข้าง ๆ ที่เด็กหนุ่มหน้าตาซื่อ ๆ ที่ถือถุง หอบกระเป๋าเดินตามนักแต่งเพลงมาทุกครั้ง เขาแนะนำตัวว่าเขาชื่อวิทยา

พี่จิกนั่งคุยกับวิทยาแบบถามคำตอบคำไปพักใหญ่ อะไรบางอย่างบอกให้รู้ว่า เขาน่าจะเป็นส่วนผสมที่ดีกับธงชัยและบุ๋มบิ๋ม

วันต่อมาพี่จิกเอารูปถ่ายของวิทยาให้ธงชัยและบุ๋มบิ๋มดู เพราะอยากดูปฏิกิริยาของสองคน โดยบอกไปว่า ไอ้หนุ่มคนนี้ร้องเพลงดีมาก ช่วงเสียงกว้าง กว้างชนิดหายากเลยล่ะ เอื้อนสวย และกำลังเสียงดีมาก แต่เวลาพูดจะพูดแบบถามคำตอบคำนะ ธงชัยไม่ถามอะไรต่อ แต่กลับบอกว่า เขาน่าชื่อถนอมนะ คนหน้าตาอย่างนี้ควรชื่อถนอม แล้วก็หัวเราะกัน

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา หนุ่มเมืองแพร่หน้าซื่อที่มีชื่อจริงว่า ‘วิทยา’ ก็เลยมีชื่อเล่นว่า ‘ถนอม’

ดังแล้วแยกวงทำ อัลบั้ม ‘สามคนสามใจ’?

หลังจาก สามโทน ออกอัลบั้มชุดที่ 2 คือ ‘ขบวนการโป๊ง โป๊ง ชึ่ง’ แล้ว ต่อมาได้ออกอัลบั้มชุดที่ 3 ‘สามโทนสามใจ’ ซึ่งนำเพลงอมตะในอดีตมาขับร้องใหม่ แยกกันร้องเพลงตามแนวที่ชอบ มีเพลงร้องร่วมกันหนึ่งเพลง วิทยา ได้ทำเพลงในชื่อชุด ‘ใจเบอร์ ๒ นายถนอม’ ซึ่งมีสโลแกนว่า ‘ป๊อบโรยน้ำตาลที่ถนอมถนัด หวานไม่หวาน น้ำตาลเรียกพี่’ ซึ่งในปกมีคำอธิบายว่า ไม่ได้ดังแล้วแยกวง แต่เป็นเพราะทั้งสามคนแอบชื่นชมในเนื้อหาบทเพลงรุ่นเก่าเหล่านี้ เลยถือโอกาสเอาแต่ใจตัวเอง แยกกันทำตามใจไปคนละแนว และหลังชุดนี้ก็กลับมารวมกันอีกครั้ง

ในชุดนี้ วิทยา ได้นำเพลงที่เขารักหลาย ๆ แนวทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง อย่างเพลงไพเราะ บอกรักฝากใจ ลมจ๋า ดาว ที่สุดของหัวใจ ขยี้รัก และน้ำลงเดือนยี่ มาขับร้องใหม่ได้อย่างน่าฟัง เรียบเรียงดนตรีแบบสมัยใหม่

 

จุดเริ่มงานเดี่ยว ‘ถนอมไว้ในดวงใจ’ รวมสุดยอดเพลงลูกทุ่งในแผ่นดิน

หลังจากนั้น ได้แยกย้ายกันทำงาน หลังจากชุดที่ 4 เกิดขึ้น และงานเพลงชุด ‘ถนอมไว้ในดวงใจ’ ได้คลอดออกมา 4 ชุด ขับร้องโดย วิทยา เจตะภัย (ใช้ชื่อนามสกุลจริง ในอัลบั้มนี้) ซึ่งเป็นงานเพลงที่รวมนักดนตรีสุดยอดฝีมือในแต่ละแขนง ควบคุมโดย ‘โดม ทิวทอง’ กับดนตรีละเมียดละไม สมคุณค่ากับบทเพลงเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง หนึ่งในคนเล่นดนตรีในชุดนี้ เท่าที่ทราบ คือ แต๋ง - ภูษิต ไล้ทอง

เอ่ยชื่อเพลงในชุดนี้แล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นระดับวรรณกรรมเพลงที่คุ้นหูแฟนเพลงลูกทุ่ง อาทิ บทเพลงที่ทูล ทองใจ ขับร้องไว้ อาทิ โปรดเถิดวงใจ มนต์เมืองเหนือ คืนอำลา ในฝัน เดือนต่ำดาวตก เหนือดวงชีวา อันเป็นดวงใจ นางรอง นิราศเวียงพิงค์ จอมขวัญใจ รักจนขาดใจ เธอรู้หรือเปล่า น้ำตาเทียน คืนพี่ครวญ รังรักในจิตนาการ ปรารถนา จูบมัดจำ ฯลฯ ซึ่งวิทยาขับร้องได้ไพเราะจนมีคนกล่าวชื่นชมว่า ถัดจากทูล ทองใจ ก็มีวิทยานี่แหละที่ถ่ายทอดเพลงได้อารมณ์โรแมนติกมาก

ด้วยเนื้อเสียงที่นุ่มละมุนน่าหลงใหล ลูกเอื้อนสวยงาม วิทยา ถ่ายทอดเพลงของนักร้องที่ล่วงลับไปอีกคน คือ ศรคีรี ศรีประจวบ ซึ่งน้อยคนนักจะนำเพลงมาขับร้องใหม่แล้วได้รับการยอมรับ โดยได้ขับร้องเพลง แม่ค้าตาคม พอหรือยัง ลานรักลั่นทม มนต์รักแม่กลอง หนาวลมที่เรณู รักแล้วเดือนห้า บุพเพสันนิวาส ทุ่งรัก ฯลฯ

ซึ่งทุกเพลงที่เอ่ยมา ล้วนเป็นเพลงเอกหัวชุดที่เขาตั้งใจขับร้องอย่างสุดหัวใจ ไม่มีเพลงใดที่ร้องแบบผ่านให้จบ ๆ ไป หรือร้องแบบแค่เป็นแค่เพลงประดับชุดให้ครบจำนวน

และยังมีบทเพลงเพลงของ ก้าน แก้วสุพรรณ ที่ขับร้องใหม่แบบเสียงนุ่มลุ่มลึกทั้ง น้ำตาลก้นแก้ว รอยไถแปร แก่งคอย ดาวจรัสแสง และเพลงคุณภาพของหลวงอาพร ภิรมย์ อย่างเพลง กระท่อมทองกวาว น้ำตาลาไทร ก็เป็นฉบับที่หวานซึ้ง ไม่เสียต้นฉบับ รวมถึงเพลง สาวฝั่งโขง ของปอง ปรีดา ก็ไพเราะไม่แพ้เพลงอื่น ๆ 

ใครจะไปนึกถึงว่า วิทยา หรือถนอม ในชุดสามโทน ที่เคยร้องเพลงชื่อ ‘ฉันเอง’ ใช้เสียงเต็ม ๆ แบบแนวร็อก จะมาขับร้องเพลงอมตะที่กล่าวมาได้อย่างนุ่มละมุน ฟังสบายไม่กัดหู กลมกลืนกับดนตรีที่เน้นเครื่องดนตรีสดอย่างลงตัวที่สุด 

สมัยที่ผมยังเป็นนักจัดรายการวิทยุ ผมมักนำเพลงชุดนี้มาเปิดบ่อยมาก ไม่ว่าย้ายไปจัดที่สถานีใด ก็จะหิ้วแผ่นส่วนตัวไปเปิดเสมอ ๆ และได้รับคำชื่นชม ไม่ว่าจะจิ้มเลือกเปิดร่องเพลงใด ก็ถือว่าเป็นเพลงเอกทั้งหมด 

พระพร ภิรมย์ - ครูพยงค์ มุกดา เอ่ยปากชมว่า นี่คือสุดยอด

ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ พระพร ภิรมย์ และครูพยงค์ มุกดา ได้ฟังบทเพลงชุด ‘ถนอมไว้ในดวงใจ’ ครูทั้งสองได้เขียนคำนิยมไว้บนปกเทป ซีดีว่า

“เมื่อได้ฟังเพลงชุด ถนอมไว้ในดวงใจ รู้สึกเกิดศรัทธามาก บอกตรง ๆ ว่า แจ่มใสทุกเพลง แม้แต่เสียงดนตรีที่บรรเลงก็ไพเราะมีสกุลในภาษาดนตรี ผู้ขับร้องก็มีสกุลในภาษาศิลป์ ฟังได้ตั้งแต่กระท่อมขึ้นไปถึงปราสาท” พระพร ภิรมย์ กล่าวไว้ไม่เกินความจริง

ส่วนครูพยงค์ มุกดา เขียนว่า

“เหมือนเป็นการเอาเสียงสมยศกับทูลมารวมกันในการร้องเพลงของเขาเอง ฟังแล้วทำให้นึกถึงสองคนนี้ ผมขอต้อนรับคุณวิทยา และรู้สึกภูมิใจที่คุณวิทยาได้ร้องเพลงของผมไปด้วย ก็หวังใจว่า คุณวิทยาจะเป็นทางเลือก และเป็นคนที่มาซ่อมสิ่งที่ได้สูญหายไประยะหนึ่งของคนที่คิดถึงสมยศและคิดถึงทูล มาซ่อมให้หายบกพร่อง ทำให้มีความสุขเต็มขึ้นมาได้เต็มทุกรส คือไม่ใช่แต่โลกโฉ่งฉ่างเท่านั้น”

ในส่วนของวิทยา นอกจากการกล่าวขอบคุณ เทิดทูนครูเพลงแล้ว ได้เขียนความในใจว่า “เมื่อตอนเด็ก เริ่มร้องเพลงเป็นแล้ว ก็มีบทเพลงเหล่านี้ อยู่ในหัวใจเรื่อยมา ไม่เคยมีแม้สักช่วงใดของชีวิต ที่จะขาดหายไปจากบทเพลงเหล่านี้ ดีใจก็ร้องเพลง เสียใจก็ร้องเพลง มีความสุขก็ร้องเพลง มีความทุกข์ก็ร้องเพลง 

แน่นอนที่สุด...เพลงคือชีวิตของผม ร้องเพลงเพื่อความสุขของผู้อื่น ร้องเพลงเพื่อความสุขของตัวเอง และร้องเพลงเพื่อการดำรงชีวิตตลอดมา เฝ้าคอยอยู่นานแสนนานที่จะได้สืบสานบทเพลงที่เปี่ยมคุณค่า ตั้งใจสื่อสารให้ดีที่สุด ทุกถ้อยกวีและทุกท่วงทำนอง เพื่อมิให้บทเพลงเหล่านี้เสื่อมค่าลงไป เพื่อให้เป็นบทเพลงที่มีคุณค่าต่อทุก ๆ คนที่ได้ฟัง”

ผลงานเพลงจากชุด ‘ถนอมไว้ในดวงใจ’ ซึ่งถ่ายทอดเพลงของศิลปินและครูเพลงในอดีตที่ส่วนใหญ่ล่วงลับไปแล้วทั้งสิ้น รวมทั้งวิทยา เจตะภัย ก็ได้ตามไปคารวะครู เป็นคนธรรพ์บนสวรรค์ชั้นฟ้า ทิ้งน้ำเสียงอันไพเราะในแบบฉบับเฉพาะตัวเป็นมรดกให้วงการเพลงตลอดไป  

 

เรื่อง: เคน สองแคว

ภาพ: คมชัดลึก