ดิไวน์ : เจ้าแม่แดร็กควีนจาก Pink Flamingos ผู้ขอท้าทายทุกความดีงาม

ดิไวน์ :  เจ้าแม่แดร็กควีนจาก Pink Flamingos ผู้ขอท้าทายทุกความดีงาม

เรื่องราวของ ‘ดิไวน์’ (Divine) แดร็กควีนตัวแม่จาก Pink Flamingos (1972) หนังคัลท์ต้องห้ามในตำนาน กับเส้นทางชีวิตและภาพจำในฐานะตัวแม่ผู้ขอท้าทายทุกขนบธรรมเนียมและความดีงาม

คุณเคยเห็นภาพนี้ไหม?

ดิไวน์ :  เจ้าแม่แดร็กควีนจาก Pink Flamingos ผู้ขอท้าทายทุกความดีงาม

ภาพแดร็กควีนสวมชุดเดรสสีแดง แต่งหน้าและเขียนคิ้วแบบจัดจ้าน พร้อมถือปืนและท้าวสะเอว ถือเป็นหนึ่งในภาพที่เป็นภาพจำที่สุดในโลกของภาพยนตร์ -- โดยเฉพาะภาพยนตร์คัลท์ (Cult Film) -- เลยก็ว่าได้ เพราะมันคือภาพในตำนานจาก Pink Flamingos (1972) ที่กำกับโดย ‘จอห์น วอเทอร์ส’ (John Waters) และถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในหนังที่โสโครกที่สุดในประวัติศาสตร์พภาพยนตร์เลยก็ว่าได้

บุคคลในภาพมีนามว่า ‘ดิไวน์’ (Divine) แดร็กควีนผู้เป็นนักแสดงคู่บุญของวอเทอร์ส รวมถึงคลื่นพลังลูกสำคัญที่ส่งให้หนังของเขา โดยเฉพาะกับ Pink Flamingos ทะยานไปสุดทางในแบบของตัวเอง จนถูกขนาดนามว่าเป็น 'แดร็กควีนแห่งศตววรษ' หรือ 'ก็อดซิลลาแห่งแดร็กควีน' เลยทีเดียว

เธอเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร และเพราะอะไรถึงถูกขนานนามว่าเป็นแดร็กควีนแห่งศตวรรษ สามารถติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่บทความนี้ 

ฝันร้ายของ ‘เกล็นน์’

เราอาจจะรู้จักเธอในฐานะแดร็กควีนร่างใหญ่ ไอคอนแห่งการแหกคอกขนมธรรมเนียม นามว่า ‘ดิไวน์’ (Divine) แต่บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าหน้าผมและท่าทีสุดห่ามท้าโลกคือชายผู้เติบโตขึ้นที่ในอดีตต้องเก็บงำตัวตนของตัวเองไว้ข้างในนามว่า ‘แฮร์ริส เกล็นน์ มิลสเตด’ (Harris Glenn Milstead) 

เกล็นน์เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นกลางในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และมีวัยเด็กที่สวยงามจากครอบครัวที่เข้าใจและตามใจ เกล็นน์รู้ตัวว่าตัวเองเป็น ‘เควียร์’ (Queer) ตั้งแต่มันยังไม่ถูกยอมรับ แต่วัยเด็กที่สวยงามของเกล็นน์ก็หยุดอยู่เพียงที่รั้วบ้านมิลสเตด เพราะเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่รั้วโรงเรียนมันคือโลกหนึ่ง… โลกที่เกล็นน์เองก็มองว่าไม่ต่างอะไรจากฝันร้าย

ปัญหาแรกที่เกล็นน์เผชิญมาก้าวออกจากรั้วบ้านคือความไม่มั่นใจในตัวเองที่เกิดขึ้นมาจากรูปร่างและน้ำหนักที่ทำให้เกล็นน์กลายเป็นคนเก็บตัวไม่กล้าคุยกับใคร เพราะเขารู้สึกแตกแยกออกจากคนอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว เกล็นน์ก็มักถูกเพื่อนที่โรงเรียนรังแก ถึงขั้นที่ว่าในทุก ๆ วันจะมีกลุ่มนักเรียนดักรอเพื่อที่จะเล่นงานเกล็นน์ จนเขาต้องพกรอยแผลรอยช้ำกลับบ้านไปแทบทุกวัน ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่กล้าที่จะเอ่ยปากบอกใคร เพราะเหล่าคนที่รังแกขู่ว่าจะเอาถึงชีวิต

วังวนการถูกรังแกของเกล็นน์ดำเนินไปจนกระทั่งเขาไปตรวจร่างกายกับหมอ ที่ได้เห็นร่องรอยการถูกทำร้าย จนกระทั่งหมอคนนั้นได้บอกเรื่องราวทั้งหมดกับพ่อและแม่ของเกล็นน์จนเรื่องนี้ก็ไปถึงตำรวจ และทำให้เหล่านักเรียนที่รังแกเกล็นน์ก็ถูกไล่ออกในท้ายที่สุด…

ชีวิตของเกล็นน์เปลี่ยนไปหลังจากนั้น เหตุผลหนึ่งก็เพราะมารผจญมากมายได้จากไปแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือมีคน ๆ หนึ่งเดินเข้ามาในชีวิต คนที่จะทำให้โลกของเกล็นน์เปลี่ยนไปตลอดกาล คนที่จะทำให้เกล็นน์ได้แผ่กระจายความโกรธแค้นที่อัดอั้นของตัวเองออกมาในรูปแบบการแสดง คนที่ทำให้เกล็นน์ได้เกิดใหม่ในเป็น ‘ดิไวน์’ เขาคนนั้นคือ ‘จอห์น วอเทอร์ส’ (John Waters) พระสันตะปาปาแห่งหนังขยะ (The Pope of Trash) เพื่อนคนใหม่ของเกล็นน์และในอนาคตพวกเขาทั้งสองจะร่วมกันสร้างผลงานที่โลกจะไม่ลืม!

 

‘ดิไวน์’ ตัวแม่ที่ขอท้าทุกความดีงาม

 

ดิไวน์คือชื่อฉัน

มันคือชื่อที่จอห์น วอเทอร์ส ตั้งให้ฉัน

ฉันชอบมัน

และต่อไปนี้มันจะกลายเป็นชื่อที่ทุกคนจะเรียกฉัน

 

ภายหลังจากจบมัธยมปลายและได้เป็นเพื่อนกับวอเทอร์ส เกล็นน์ก็ไปเป็นช่างแต่งผม ในขณะเดียวก็แต่งแดร็กจัดปาร์ตี้ที่บ้านโดยใช้เงินของพ่อแม่ตัวเองอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งจอห์น วอเทอร์ส, เกล็นน์ และเพื่อนของพวกเขาอีกคนามว่า ‘เดวิด โลชารี’ (David Lochary) ทั้งสามเกลอตระเวนใช้ชีวิต ปาร์ตี้ สูบกัญชา และผูกพันกันจนรู้สึกเหมือน ‘ครอบครัว

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง จอห์น วอเทอร์ส ก็ตัดสินใจตั้งชื่อให้กับเกล็นว่า ‘ดิไวน์’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละครข้ามเพศจากนวนิยายเรื่อง Our Lady of the Flowers (1943) โดย ฌ็อง เจเน (Jean Genet) ที่วอเทอร์สกำลังอ่านอยู่ ณ ขณะนั้น นอกจากนั้น วอเทอร์สเองก็ยังกล่าวอีกว่าดิไวน์คือ “ผู้หญิงที่ (เกือบ) สวยที่สุดในโลก”
.
และด้วยเป้าหมายของวอเทอร์สที่อยากจะสร้างหนังแหกคอกท้าทายขนบธรรมเนียม (Counter Culture) หรือหนังที่ ‘ขยะที่สุดในประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์’ เพื่อเสียดสีประเพณีและสังคม ในขณะเดียวกัน ภารกิจนี้มันก็ถิอเป็นโอกาสที่จะทำให้ดิไวน์ได้ลองเป็นนักแสดงด้วย จึงได้เกิดเป็นผู้กำกับ-นักแสดงคู่บุญที่แหกคอกที่สุดที่โลกเคยมีมา

นับจากนั้นพวกเขาก็ตะลุยสร้างหนังเล็ก ๆ ที่ใช้ทุนไม่มากกันด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Roman Candles (1966), Eat Your Makeup (1968), The Diane Linkletter Story (1969), Mondo Trasho (1969) และ Multiple Maniacs (1970) โดยที่ดิไวน์ก็จะรับบทนำเป็นผู้หญิงและแต่งตัวแบบแดร็กควีนจนกลายเป็นภาพจำในที่สุด

แต่ผลงานที่สร้างตำนานของพวกเขาก็ต้องยกให้กับ ‘Pink Flamingos’ ในปี 1972 ที่มีภาพจำที่ดิไวน์สวมชุดเดรสสีแดง โกนหัว ใส่วิก แต่งหน้าเขียนตา พร้อมเล็งปืน และแน่นอนว่าใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องไม่จดจำ Pink Flamingos เพียงแค่ภาพที่ว่าอย่างแน่นอน เพราะในหลาย ๆ ฉากในเรื่องก็ล้วนพาให้ผู้ชม ไม่เพียงแค่ช็อค แต่อาจจะติดตาไปอีกนานเลยก็ได้

ภายหลังจาก Pink Flamingos ภาพจำของดิไวน์จึงกลายเป็นตัวแม่แห่งความโสโครกและกลายเป็นไอคอนแห่งการท้าทายทุกขนบธรรมเนียมบนโลก ณ ขณะนั้น นับว่าเป็นการเฉิดฉายในแบบของดิไวน์ก็ไม่ผิดเสียเท่าไหร่นัก แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อพ่อและแม่ของเขาได้ชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็รับไม่ได้เอามาก ๆ จนทำให้พวกเขาย้ายไปอยู่ที่ฟลอริดาและไม่คุยกับดิไวน์เลยเป็นเวลากว่า 9 ปี

Pink Flamingos คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของดิไวน์และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในรถบ้านกับการช่วงชิงตำแหน่ง ‘บุคคลที่โสโครกที่สุดในโลก’ (The Filthiest Person Alive) จึงเกิดเป็นความเรื่องราวที่เกิดมาเพื่อท้าทุกขนบธรรมเนียมทุกอย่างที่เราเคยเข้าใจ

 

ถึงเวลาตัวแม่เฉิดฉาย

 

ฉันไม่ใช่ Drag Queen

ฉันก็แค่นักแสดงธรรมดา

 

ภายหลังจาก Pink Flamingos ดิไวน์ก็ยังคงเดินหน้าในสายการแสดงต่อจนเกิดเป็นภาพยนตร์เรื่อง Female Trouble (1974) ในขณะเดียวกันก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะการแสดงแดร็กที่ชื่อว่า ‘The Cockettes’ นอกจากนั้นก็ยังได้ไปรับบทบาทในการแสดงเวทีในบทละครของ ‘ทอม อายน์’ (Tom Eyen) เรื่อง ‘Women Behind Bars

ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคที่ดนตรีดิสโกเฟื่องฟู ผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองต่างก็พากันร่ำร้องและขยับเขยื้อนตามเพลงของ Bee Gees ผู้จัดการของดิไวน์ก็ได้แนะนำให้เขาลองจัดโชว์แดร็กตามไนท์คลับจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่นานหลังจากนั้น ดิไวน์ก็ได้ปล่อยเพลงของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็น I’m So Beautiful, Walk Like a Man, หรือ You’re Think You’re a Man ก็ล้วนกลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ททั้งสิ้น

มาจนถึงในปี 1988 ทั้งวอเทอร์สและดิไวน์ก็ได้ปล่อยภาพยนตร์เรื่อง Hairspray ออกมา ซึ่งถือเป็นผลงานที่เจาะตลาดได้กว้างที่สุดและได้เรท PG ที่สามารถดูได้ทั่วถึงมากที่สุดตั้งแต่พวกเขาทั้งคู่ได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกันมา นอกจากนั้นมันก็ยังเป็นผลงานที่ดิไวน์ได้รับบทบาทแสดงเป็นตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์ที่สุดตั้งแต่ทำมา และ Hairspray ก็ได้กลายเป็นหนังตลกคลาสสิกที่ผู้คนยังจดจำมาถึงทุกวันนี้

จุดนี้เองก็เลยเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ดิไวน์อยากจะเดินหน้าในการเป็นนักแสดงอย่างจริงจัง เพื่อพิสูจน์ฝีมือให้ผู้คนจดจำเขาในฐานะ ‘เกล็นน์ มิลสเตด’ ไม่ใช่ดิไวน์ เพื่อพิสูจน์ว่าเขาก็สามารถเป็นนักแสดชายที่มีความสามารถและสามารถแสดงในบทบาทที่ไม่ถูกบดบังโดยดิไวน์ได้

ทว่าความหวังที่เราจะได้เห็น ดิไวน์ หรือ เกล็นน์ แสดงในบทดราม่าที่จะทำให้เราเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของเขาได้แหลกสลายลง เมื่อในคืนวันที่ 7 มีนาคม 1988 สามสัปดาห์หลังจากที่ Hairspray ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เกล็นน์ มิลสเตด ก็ได้จากโลกนี้ไปจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันขณะนอนหลับด้วยวัยเพียง 42 ปี

แม้ว่าดิไวน์จะจากไปก่อนที่เขาจะฝากผลงานกับเรามากกว่านี้ แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ดิไวน์ได้ฝากเอาไว้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นโลกภาพยนตร์หรือโลกของแดร็ก ก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ที่จะถูกจดจำและเล่าขานต่อไป แถมมันยังได้สร้างอิทธิพลให้กับผลงานรุ่นต่อ ๆ ไปอีกมากมาย โดยเฉพาะกับตัวละครวายร้ายอย่าง เออร์ซูลา (Ursula) จาก The Little Mermaid ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดิไวน์โดยตรง

 

ภาพ : Pink Flamingos