ปิดฉาก Attack on Titan ความเป็นมนุษย์ของ ‘เอเรน’ และความเจ็บปวดที่ซับซ้อนในมหากาพย์ 10 ปี

ปิดฉาก Attack on Titan ความเป็นมนุษย์ของ ‘เอเรน’ และความเจ็บปวดที่ซับซ้อนในมหากาพย์ 10 ปี

ปิดฉาก Attack on Titan: The Final Season (Part 3) กับจุดจบของ ‘เอเรน’ เรื่องราวของความเป็นมนุษย์และความเป็นเจ็บปวดรวดร้าวที่แสนซับซ้อน

  • Attack on Titan อนิเมะที่ได้รับความนิยมทั่วโลกเดินทางมาสู่จุดสุดท้ายของเรื่องในช่วงปลายปี 2023 โดยรวมแล้ว ตัวละครในเรื่องอยู่กับผู้ชมมายาวนานร่วม 10 ปี
  • เอเรน และตัวละครอื่นในโลกของ Attack on Titan แม้จะเป็นเพียงบุคคลสมมติ แต่ด้วยเรื่องราวและบริบทต่าง ๆ เนื้อหาในเรื่องสะท้อน ‘ความเป็นมนุษย์’ และความซับซ้อนของมนุษย์ได้อย่างดี

*****บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องของ Attack on Titan: The Final Season*****

เป็นเวลา 1 ทศวรรษพอดิบพอดีกับการเดินทางของเอเรน เยเกอร์ และเพื่อน ๆ ในหน่วยสำรวจ สู่บทสรุปที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่แม้ตัวอนิเมะจะจบลงไปแล้ว ก็ยังก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างไม่สิ้นสุด

การเดินทางนี้ไม่ได้ยาวนานในแง่ของกาลเวลาเท่านั้น เพราะตัวละครแต่ละตัวต่างก็ ‘มาไกล’ จากจุดเริ่มต้นในหลายมิติ และตัวละครที่มาไกลที่สุดตัวหนึ่งก็คงเป็นเอเรน จากเด็กหนุ่มผู้ใฝ่หาอิสรภาพสู่การเป็นจอมวายร้ายระดับโลก

‘80% ของมนุษย์โลก’ คือจำนวนชีวิตที่ถูกเอเรนสังหารไป มันถูกเปิดเผยใน Attack on Titan: The Final Season (Part 3) ตัวเลขนี้ทำให้เอเรน กลายเป็นศัตรูของคนทั้งโลก แม้กระทั่งเพื่อนสนิทอย่างอาร์มิน ยังมองการตัดสินใจนี้ของเอเรน ว่าเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรม และในสายตาชาวโลก เอเรน เป็นปีศาจที่ต้องถูกกำจัด ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป

แน่นอนว่าในเชิงชีววิทยา นับตั้งแต่วินาทีที่เอเรนได้รับพลังของไททัน (Titan) เอเรนก็ไม่ใช่เผ่าพันธุ์มนุษย์อีกแล้ว แต่ถ้าเราลองลอกเปลือกชั้นนอกที่ถูกเรียกว่าไททันออก เอเรน อาจเป็นตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์ยิ่งกว่าตัวละครตัวอื่น ๆ อย่างคาดไม่ถึงก็ได้

เพราะเป็นมนุษย์จึงตัดสินใจอย่างโง่เขลา

ในมุมมองของเอเรน การผันตัวเองไปเป็นศัตรูของคนทั้งโลก (Common Enemy) เป็นวิธีเดียวที่เขาทำได้เพื่อยุติความขัดแย้งที่มีมาเนิ่นนานระหว่างชาวเอลเดียและชาวมาเลย์ ซึ่งถ้ามองอย่างยุติธรรมแล้ว ในโลกภาพยนตร์และอนิเมะก็ไม่ได้มีเพียงเอเรน คนเดียวที่คิดแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสถานะของ ด็อกเตอร์แมนฮัตตัน จาก Watchmen หรือลูลูช วี บริทาเนีย (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ลูลูซ วี บริทาเนีย ที่นี่) จาก Code Geass ต่างก็เลือกเสียสละตัวเอง ยอมเป็นศัตรูร่วมของคนทั้งโลกเพื่อยุติสงครามหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นทั้งสิ้น (ส่วนรายละเอียดนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง)

แม้กระทั่งชีวิตจริง การสร้างศัตรูร่วมก็เป็นวิธีที่ถูกใช้งานอยู่บ่อยครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติผ่านคำว่า ‘ชาตินิยม’ ด้วยการตีตราให้คนกลุ่มหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งกลายเป็นศัตรูที่จะเข้ามาทำลายหรือช่วงชิงผลประโยชน์ เพื่อกลบฝังความขัดแย้งระหว่างประชาชนในประเทศเอาไว้ (สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง Common Enemy ที่นี่)

ถึงแม้การสร้างศัตรูร่วมจะเป็นวิธีที่ได้ผลแต่ก็อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด

“เพราะฉันมันโง่ คนโง่คนหนึ่งที่ดันได้รับพลังมา ก็เลยคิดได้แค่จุดจบแบบนี้”

วินาทีที่เอเรน พูดประโยคนี้กับอาร์มิน ในสายธาร (Path) เป็นเหมือนการยอมรับกลาย ๆ ว่าอาจมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้แต่เอเรน คิดไม่ออก นึกไม่ถึง เลยเดินทางมาสู่บทสรุปแบบที่เห็น และนี่ก็คือความโง่เขลาของเอเรน

ความโง่เขลาที่เกิดจากความไม่รู้ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือแม้แต่การทำเรื่องเลวร้าย ไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่เกิดมารอบรู้ ไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่เกิดมาแล้วไม่เคยผิดพลาด สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ (ไอน์สไตน์ ถึงกับเคยเอ่ยปากว่า ความโง่เขลาของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุดเลยทีเดียว)

 

เพราะเป็นมนุษย์จึงไม่อาจปล่อยวาง

ในขณะที่ตัวเอกของภาพยนตร์หรืออนิเมะเรื่องอื่นมักจะแสดงภาพลักษณ์เท่ ๆ อย่างการเสียสละชีวิตตัวเองแบบไม่เสียดาย หรือการปล่อยให้คนรักไปมีความสุขกับคนอื่นราวกับไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับเอเรน กลับตรงกันข้าม เขากล้าเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าถึงแม้จะอยากให้มิคาสะ มีความสุข แต่เขาก็ไม่อยากให้มิคาสะ ไปรักคนอื่น อยากให้มิคาสะ จดจำเขาไปให้นานเป็นสิบ ๆ ปี แม้ว่าเขาจะตายจากไปแล้ว ใจจริงของเอเรน ไม่ได้เห็นด้วยกับคำพูดหล่อ ๆ ที่ว่าอยากให้มิคาสะ ลืมตัวเองเลยแม้แต่น้อย

ความยึดติดที่เอเรน มีต่อมิคาสะ จนไม่สามารถปล่อยวางได้แม้จะรู้ว่าตัวเองต้องตายในไม่ช้า ไม่ต่างอะไรจากการฟูมฟายเมื่อต้องเลิกกับคนรัก หรือร้องไห้เมื่อสัตว์เลี้ยงที่รักจากเราไป ฉากนี้จึงเป็นกระจกที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ของเอเรน ให้ฉายชัดว่า เขาไม่ต่างจากมนุษย์ปกติทั่วไปแต่อย่างใด

เอเรน มีความรักเหมือนที่มนุษย์ทั่วไปมี เอเรน มีความเสียใจเหมือนที่มนุษย์ทั่วไปมี และเอเรน มีความหวาดกลัวต่อการสูญเสียเหมือนที่มนุษย์ทั่วไปมี ทั้งหมดนี้คือหลักฐานยืนยันว่าเอเรนมีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างไปจากคนอื่น

 

เพราะเป็นมนุษย์จึงเห็นแก่ตัว

เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘ความเห็นแก่ตัว’ เป็นหนึ่งในความเป็นมนุษย์ มนุษย์ย่อมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นพื้นฐาน เพียงแต่ในยุคปัจจุบัน เรามีศีลธรรมและสามัญสำนึกมากพอที่จะไม่ปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวนั้นไปสร้างความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนผู้อื่น

โธมัส ฮอบบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาชาวอังกฤษตั้งทฤษฎีว่า ปัจจัยที่ผลักดันให้มนุษย์รวมตัวกันเป็นสังคมก็คือผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ ในขณะที่ อดัม สมิธ (Adam Smith) นักปรัชญาการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ให้ความเห็นว่า ความเห็นแก่ตัวอย่างมีเหตุผล การแบ่งงานทำ และการแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดเสรีจะทำให้มนุษย์ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

เมื่อกลับมามองเอเรน แม้การตั้งตัวเป็นวายร้ายระดับโลกจะทำให้สันติภาพกลับมาสู่ชาวเอลเดียและชาวมาเลย์ แต่เมื่อเรามองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว ความต้องการที่แท้จริงของเอเรนมีเพียงแค่ ‘ความอยู่รอดของเพื่อน ๆ’ เท่านั้น เพราะโลกของเอเรนคือเพื่อน ๆ ดังนั้นต่อให้มนุษย์โลกส่วนอื่นถูกฆ่าไป แต่ถ้าทำให้เพื่อน ๆ ของเขาสามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้ ก็นับว่าคุ้มสำหรับเอเรน

“อยากให้อยู่ไปนาน ๆ”

คำพูดที่เอเรน กล่าวกับเพื่อน ๆ คือสิ่งยืนยันความคิดนี้ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เอเรน สร้างสถานการณ์ให้เพื่อนได้กลายเป็นวีรบุรุษ และถึงแม้ว่าวิธีนี้จะไม่ได้สร้างสันติภาพที่ยั่งยืน หากเพียงเพื่อน ๆ ของเขาได้มีชีวิตอยู่จนแก่เฒ่าและจากโลกนี้ไปตามอายุขัยที่ควร นั่นคงเพียงพอแล้วที่จะพูดว่าเอเรน ประสบความสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้เราคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เอเรน คือวีรบุรุษที่เสียสละมากมายเพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่เอเรนก็ไม่ได้ชั่วร้ายจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์เช่นกัน กลับกันแล้ว เอเรน เป็นตัวละครที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีความโง่เขลา มนุษย์ทำผิดพลาด เพราะมนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และการสะท้อนความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างละเอียดลึกซึ้งก็คือเสน่ห์ของ Attack on Titan

ไม่เฉพาะเอเรน เท่านั้น แม้แต่ตัวละครอื่น ๆ ก็มีความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ กัน สิ่งนี้เป็นเหมือนเคล็ดลับที่ทำให้ Attack on Titan ของอาจารย์ Hajime Isayama แตกต่างจากอนิเมะโชเน็นทั่ว ๆ ไป และครองใจผู้คนได้ไม่ยาก เพราะแม้ว่าหัวใจหลักคือพล็อตเรื่องและบทอันเข้มข้น แต่ความเป็นมนุษย์ที่ถูกเติมเข้าไปทำให้ตัวละครมีมิติ ทำให้แฟน ๆ รู้สึกว่าตัวละครเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพียงคาแรกเตอร์ที่อยู่ในอนิเมะ แต่เป็น ‘คนจริง ๆ’ ที่ร่วมเดินทางกันมาอย่างยาวนาน และบทสรุปการเดินทางของพวกเขาจะคงอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป

 

เรื่อง: วรณิสร์ สุยะสาม

ที่มา: Attack on Titan: The Final Season (Part 3)

อ้างอิง:

bangkokbiznews.com

goodreads.com

studybuddhism.com