สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ สุภาพบุรุษคนสุดท้ายแห่งบางขุนพรหม

สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ สุภาพบุรุษคนสุดท้ายแห่งบางขุนพรหม

สุภาพบุรุษคนสุดท้ายแห่งบางขุนพรหม

บางขุนพรหม บทบาทแรกที่ผู้เขียนรู้จัก สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ คือบท “พล” พ่อที่มีลูก 5 คนแต่กลับรักลูกแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างลูกๆ โดยเฉพาะพัฒน์ (เสกสรรค์ ชัยเจริญ) และพงศ์ (รอน บรรจงสร้าง) ที่รักชอบผู้หญิงคนเดียวกัน ในละครเรื่อง “สุดแต่ใจจะไขว่คว้า” ฉบับปี 2532 ซึ่งโด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง  บทของสะอาดโดดเด่นตรงที่มีมิติความเป็นมนุษย์เกินกว่าละครทั่วไป มีรักโลภโกรธหลงในฐานะพ่อที่มีความลำเอียง มีลูกรักลูกชังในบ้าน หลายครั้งที่การตัดสินใจของตัวละครนี้ทำลายอนาคต ตัดโอกาสชีวิตตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง แต่ถึงจุดหนึ่งที่ตัวละครนี้เพิ่งจะเข้าใจถึงผลแห่งการกระทำของตน คนดูก็เข้าใจและพร้อมเทใจให้อภัยในท้ายสุด จนได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในปีดังกล่าว ยิ่งถ้าหากนับการแสดงเรื่องนี้ย้อนไปถึงการแสดงละครเรื่องแรกของสะอาดคือ “ดึกเสียแล้ว” (2498) ซึ่งยังเป็นละครสด (คือทำการแสดงขณะออกอากาศสด) ตั้งแต่สมัยเป็นโทรทัศน์ขาวดำช่อง 4 บางขุนพรหม เริ่มจากเป็นพระเอก จนเปลี่ยนมาเป็นไทยทีวีสีช่อง 3 มาเป็นนักแสดงสมทบ จนถึงผู้ร้าย จวบกระทั่งปัจจุบัน ผลงานของสะอาดผูกพันอยู่กับจอแก้วแห่งนี้ไม่เคยหายไปไหน  นอกจากแสดงละคร สะอาดยังเป็นทั้งนักพากย์-นักเขียนบทละครโทรทัศน์ มีเพื่อนร่วมรุ่นนักแสดงที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรากฐานวงการละครโทรทัศน์ไทย อาทิ สมจินต์ ธรรมทัตน์, กำธร สุวรรณปิยะศิริ และ สักกะ จารุจินดา  ชื่อของ “สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์” ไม่เคยห่างหายไปจากทั้งจอแก้วตลอดช่วงชีวิตที่โลดแล่นในวงการบันเทิง ในฐานะ “ผู้ร้าย” และ “สุภาพบุรุษ” ของวงการบันเทิงไทย หรือที่คนในวงการเรียกกันว่า “ป๋าอาด”  ผู้ร้ายหนังไทย แต่สำหรับคนรุ่นพ่อแม่ผู้เขียนแล้ว ชื่อของ “สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์” ผูกติดอยู่กับบทผู้ร้ายในจอเงิน-หนังไทยเสียมากกว่า เริ่มตั้งแต่ผลงานหนังเรื่องแรกอย่าง “ปราสาททราย” (2512) สะอาดก็เป็นผู้ร้ายประกบ มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์ แต่เรื่องที่ทำให้สะอาดดังเปรี้ยงปร้างในประวัติศาสตร์หนังไทยอย่างแท้จริงคือ “โทน” (2513) “โทน” เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ เปี๊ยก โปสเตอร์ นักวาดโปสเตอร์ชื่อดังที่ผันตัวมาทำหนังเรื่องแรก “โทน” ยังแหวกขนบตรงที่ไม่ใช้คู่ขวัญ มิตร-เพชรา ในยุคสมัยนั้น แต่เลือกใช้ “ไชยา สุริยัน” พระเอก 3 ตุ๊กตาทองที่ดูเหมือนจะตกความนิยมไปแล้วในช่วงนั้น จับคู่นางเอกมาแรง “อรัญญา นามวงศ์” โดยเปี๊ยกเลือก สะอาด มารับบทผู้ร้ายของเรื่อง ความสำคัญของ “โทน” และบทบาทของ “สะอาด” ในเรื่องอยู่ตรงที่ นี่เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ผู้ร้ายได้นางเอกก่อนพระเอก ทำลายค่านิยมที่ว่านางเอกหนังไทยต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องจนจบเรื่อง และสร้างมิติของตัวละครพระเอก-นางเอกให้น่าสนใจว่า ท้ายสุดแล้วพระเอกของเราจะยังยึดโยงอยู่ในค่านิยมเก่าแก่นี้หรือไม่ สุดท้าย “โทน” กลายเป็นหนังที่ทั้งท้าทายตัวขนบหนังไทยเอง และท้าทายสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ในบทบาทที่ตัวเขาเองก็ข้ามเส้นท้าทายคนดูเช่นกัน  ผลตอบรับจาก “โทน” คือคนดูชื่นชมทั้งตัวหนังและบทบาทการแสดงของดาราเอกในเรื่อง โดยเฉพาะสะอาดที่โดดเด่นจนผูกติดในบทร้ายต่อเนื่องอีกหลายสิบปี สร้างสไตล์การเป็น “ผู้ร้ายผู้ดี” คือมีมาดดี พูดจาสุขุมน้ำเสียงทุ้มน่าฟัง (เพราะสะอาดยังมีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นนักพากย์ทางช่อง 4 บางขุนพรหมในรายการโทรทัศน์ดังๆ หลายรายการ) สะอาดไม่ใช่คนพูดจากระโชกโฮกฮาก หรือบู๊สะบั้นอย่างผู้ร้ายคนอื่นๆ ร่วมยุค มักได้บทในมาด “เจ้าพ่อ” ระดับหัวหน้าใหญ่เสียมากกว่า  อีกทั้งสะอาดเป็น “ผู้ร้าย” เพียงไม่กี่คนที่หน้าตาและมาดขายได้ถึงขั้นสลับมารับบท “พระเอก” หรือ “ตัวเอก” อยู่บ้าง อาทิ “แก้วขนเหล็ก” (2514) ที่สะอาดรับบท ผีดิบเมฆินทร์ เป็นผีร้ายตามสไตล์แดรกคูล่าฝรั่งซึ่งแปลกใหม่แหวกจากหนังผีไทยในยุคนั้นๆ สะอาดก็กลายเป็นหน้าตาของหนังที่ขายได้แล้วคนจดจำกันทั่วบ้านเมือง หรืออีกผลงานหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตสะอาดโดยสิ้นเชิง คือเรื่อง “น้ำผึ้งขม” (2517) หลังจากที่รับบทผู้ร้าย-นักแสดงสมทบในหนังรักชีวิตและบู๊มาหลายเรื่อง สะอาดก็ได้รับเลือกจาก “พระองค์ชายใหญ่” หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ผู้สร้างหนังเรื่องดังอย่าง "เรือนแพ" (2504) "จำปูน" (2507) และ "เป็ดน้อย" (2511) ให้มารับท “ปุริม” นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ที่ยังฝังจิตใจแค้นในรักเก่า ถึงกับวางแผนเอาลูกสาวคนรักเก่ามารับเลี้ยงเป็นเมียในบ้านตัวเอง  บทบาทของหนุ่มใหญ่ที่รักแรงเกลียดแรง ปากคอเราะร้ายเช่นนี้ ในแนวทางแบบพระเอกหนัง “ตบจูบคลาสสิค” ที่สะอาดเล่นได้ถึงอกถึงใจคนดู สมบทบาทชวนทั้งหมั่นไส้และชวนทั้งสงสารจับใจ เมื่อปุริมรู้สึกตัวถึงความผิดพลาดของตัวเอง แล้วต้องตามง้องอนนางเอกในช่วงท้ายเรื่อง บทบาทนี้ว่ากันว่าเดิมในฉบับนิยายของกฤษณา อโศกสิน ท่านก็เขียนนิยายนี้ขึ้นโดยมีภาพของสะอาด เป็นตัวปุริมตั้งแต่แรกเริ่ม และในฉบับละครโทรทัศน์ปี 2511 สะอาดก็ยังรับบทปุริม กล่าวได้ว่าบทปุริมนี้เป็นบทที่ถูกเขียนมาเพื่อสะอาดโดยแท้ ที่สำคัญสะอาดยังได้พบรักกับ นฤมล นิลวรรณ นางเอกในหนัง “น้ำผึ้งขม” จนกลายเป็นคู่ชีวิตกันตราบปัจจุบัน  สำหรับยุคหนังบู๊ครองเมือง (2516-2530) สะอาดเล่นหนังบู๊เรื่องดังหลายเรื่อง มักรับบทผู้ร้ายเช่นเคย อาทิ "พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ" (2518) "เผ็ด" (2518) "ลุย" (2520) "ชาติผยอง" (2521) รวมทั้ง "ผ่าปืน" (2523) ที่สะอาดรับบทเจ้าพ่อมีคลาส ต้องต่อกรกับสารวัตรปืนโหด (สมบัติ เมทะนี) ที่มีฉากจำของคนดูหนังไทยทุกคนในยุคนั้นอย่าง ฉากเฮลิคอปเตอร์ผู้ร้ายบินลงจอดกลางสนามศุภชลาศัยเพื่อเล่นงานพวกพระเอก ท่ามกลางแฟนบอลเรือนหมื่นเต็มสนาม  ช่วงชีวิตการทำงานของสะอาดนับเป็นช่วงชีวิตแห่งประวัติศาสตร์ของหนังไทย ผ่านทั้งช่วงรุ่งโรจน์ ยุคทอง ยุคเสื่อมความนิยม และยุคใหม่อีกครั้ง ในช่วงหลังๆ ที่หนังไทยเปลี่ยนแปลงไปครั้งใหญ่ทั้งในแง่ระบบงานสร้างที่พิถีพิถันขึ้น เนื้อหาหลากหลาย สะอาดก็ยังมีบทบาทในหนังเรื่องสำคัญๆ เสมอ อาทิ "สุริโยไท" (2544) "7 ประจัญบาน" (2545) "นาคปรก" (2553) จนถึงผลงานแสดงหนังเรื่องสุดท้ายคือ "รุ่นพี่" (2558) สะอาดก็ยังมอบการแสดงอันน่าจดจำ ไม่ทิ้งมาด “ดาวร้าย” ที่คนดูหนังไทยในอดีตจดจำเสมอมา  ครั้งหนึ่งผู้ร้ายหนังไทยนิยมไว้หนวดแบบผู้ดี สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ คือคนแรกๆ ที่ผู้เขียนนึกถึง ครั้งหนึ่ง “เสียง” ของผู้ร้ายน่ากลัวกว่าเสียงฟ้าผ่าเสียอีก สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ คือเสียงแรกๆ ที่ผู้เขียนนึกถึง “ป๋าอาด” เป็นชื่อที่คนทำหนังรุ่นพี่และรุ่นพ่อของผู้เขียน ต่างพูดถึงด้วยความเคารพ ชมชอบ ยิ่งคนที่เคยได้ร่วมงานด้วย ยิ่งประทับใจในความเป็นมืออาชีพ เข้าถึงบทบาท และมีเรื่องเล่าสนุกๆ ให้แก่ทีมงานรุ่นลูกหลานได้ฟังเสมอ  เป็นผู้ร้ายแค่ในจอ แต่เป็นสุภาพบุรุษในชีวิตจริง  สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์   เรื่อง: ชาญชนะ หอมทรัพย์ ภาพ: หอภาพยนตร์