23 ก.ค. 2568 | 14:13 น.
KEY
POINTS
ได้เคยพูดถึงความบ้าบอคอแตก หลุดโลก และเสียดสีภาพยนตร์และซีรีส์ดัง ๆ ในยุคนั้น ที่มีอยู่ในเรื่อง ‘หนูน้อยอาราเล่’ ไปแล้วใน https://www.thepeople.co/read/22110 เนื่องจากภาพยนตร์ Superman (2025) กำลังโด่งดังเป็นกระแสทั้งในไทยและทั่วโลก ผู้เขียนเองในฐานะที่ทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับ ‘อาจารย์โทริยะมะ อะกิระ’ จึงรู้สึกถึงพันธกิจที่จะต้องกล่าวถึงตัวละคร ‘Suppaman’ ในเรื่องหนูน้อยอาราเล่ (ไม่ใช่ ‘Superman’ นะ)
อาจารย์โทริยะมะ อะกิระ จะไม่ทิ้งลายความตลกแบบเสียดสีในทุกเรื่องคือชอบเอาชื่อของกินในชีวิตประจำวันมาตั้งชื่อตัวละคร อย่างเช่น
โนะริมะกิ ที่แปลว่า ‘ห่อสาหร่าย’ ก็เอามาบิดคำเป็นนามสกุลของ ดร. สลัมป์
เซ็มเบ้ ที่แปลว่า ‘ข้าวเกรียบ’ ก็เอามาเป็นชื่อจริงของ ดร. สลัมป์ คือ โนะริมะกิ เซ็มเบ้ (則巻千兵衛)
อาราเล่ ที่แปลว่า ‘ขนมแป้งกรอบ’ ก็กลายเป็นชื่อหนูน้อยอาราเล่ในเรื่อง
โดยสาเหตุที่อาจารย์ต้องเล่นมุกกวนประสาทเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาขยี้ เพราะยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต การสำรวจความนิยมหนังสือมังงะจะเกิดขึ้นทางไปรษณีย์แทบจะ 100% และอาจมีสำรวจทางโทรศัพท์เล็กน้อยในบางครั้ง จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเสพติด ติดใจ และติดตามซื้ออ่านอยู่รายสัปดาห์ไปตลอดให้ได้ ไม่เช่นนั้นอาจถูกทีม บ. ก. สั่งตัดจบได้ทันที อาจารย์จึงใช้ Intertextuality (ภาษาไทยแปลว่า สหบท หรือ สัมพันธบท) ที่อ้างอิงพล็อตของภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่ฮิตอยู่ในใจผู้อ่านอยู่แล้วในขณะนั้น ทำให้ผู้อ่านอินได้ง่าย ก็คือเอามุกจากเรื่องอื่นมาเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่แล้วเล่นมุกซ้ำอีกรอบนั่นเอง
โดยสไตล์ของอาจารย์จะใช้ Intertextuality แบบตลกเสียดสีให้ต่างจากการ์ตูนเครียด ๆ เรื่องอื่น ๆ ที่เป็นกระแสฮิตในยุคใกล้ ๆ กัน เรียกว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการแถรายสัปดาห์นั่นเอง โดยในอาราเล่จะล้อเลียนเรื่องฮิต ๆ ในญี่ปุ่นยุคนั้นเช่น ก็อดซิลล่า, กาเมร่า, อุลตร้าแมน, พล็อตมนุษย์ต่างดาว, กังฟู, รวมทั้งพล็อตเรื่อง Superman ด้วย (ต่อมาเมื่ออาจารย์เขียน Dragon Ball ก็จะพบว่าล้อเลียนภาพยนตร์ฮิตแบบทั่วโลกโดยเฉพาะจาก Hollywood)
พออาจารย์โทริยะมะจะเอาตัวละครซูเปอร์แมนมาเล่นบ้า ๆ บอ ๆ ก็ต้องไม่ทิ้งลายความกวนประสาท โดยเอา Superman (1978) เวอร์ชั่นคลาสสิกของคุณ ‘Christopher Reeve’ มาเล่น คือพระเอกหนีออกมาจากดาว Krypton และมาที่โลกเพื่อเป็นซูเปอร์ฮีโร่ และยุคนั้นซูเปอร์แมนนิยมแปลงร่างในตู้โทรศัพท์ (ยุคที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ)
ความขยี้เลยเริ่มตั้งแต่ชื่อกันเลย ในภาษาญี่ปุ่นนั้นไม่มีสระเออ และไม่มีสระแอ คำว่า Superman ต้นฉบับในภาษาญี่ปุ่นจึงออกเสียงว่า ซูป้ามัง (スーパーマン Superman) จึงเข้าล็อกการขยี้สไตล์โทริยะมะ โดยในเรื่องจะไม่ใช่ ‘ซูป้ามัง’ แต่เป็น ‘ซุปปะมัง’ (スッパマン หรือ Suppaman) โดยคำว่า ซุปปะอิ (酸っぱい) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าเปรี้ยว (ซุปปะ คือเปรี้ยว ส่วน -อิ เป็นคุณศัพท์-อิ) บ๊วยในญี่ปุ่นนั้นมีการปรุงรสหลากหลายทั้งเค็ม หวาน เปรี้ยว แต่ต้นฉบับผลบ๊วยจริง ๆ นั้นมีรสเปรี้ยว จึงเอารสเปรี้ยวเป็นรสชาติพื้นฐานของบ๊วยในเรื่อง จึงให้กินบ๊วยเปรี้ยวแล้วแปลงร่างเป็นมนุษย์เปรี้ยว คือ ‘Suppaman (スッパマン)’
โดยในฉบับภาษาอังกฤษมีการแปลตรงตัวว่า Suppaman คือ Sourman แต่อย่างไรก็ตามในวัฒนธรรมไทยในยุคที่อาราเล่ออกอากาศนั้น คนไทยเราคุ้นเคยกับบ๊วยเค็มตากแห้งมากกว่า ในเสียงพากย์โดยน้าต๋อยเซ็มเบ้ (ผู้เขียนเกิดทันออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 9) จึงแปลไดอะล็อกภาษาญี่ปุ่น 「ウメボシたべてスッパマン!」ว่า
“กินบ๊วยเค็ม แล้วเป็นซุปเปอร์แมน...จู๋ (ทำปากจู๋)”
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการเล่นคำกับชื่อดาวด้วยเนื่องจากภาษาญี่ปุ่นมีคำพ้องเสียงเยอะมากจึงเอามาเล่นได้ คือภาษาญี่ปุ่นคำว่า ‘ดาว’ อ่านว่า โฮะชิ หรือ โบะชิ ก็ได้ จึงให้ Suppaman หนีมาจากดาวบ้านเกิดที่ชื่อ โอะกะกะอุเมะ-โบะชิ เป็นการเล่นคำเสียดสีแบบโทริยะมะ เพราะ
‘โอะกะกะ’ ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ปลาคัตสึโอะบุชิ
‘อุเมะ’ แปลว่าบ๊วย แล้วถ้า ‘อุเมะโบะชิ’ แปลว่าบ๊วยตากแห้ง
ชื่อดาวที่ชื่อ โอะกะกะอุเบะ-โบะชิ จึงแปลได้ 2 แบบคือ จะแปลว่า ‘ดาวโอะกะกะอุเมะ’ ก็ได้ หรือแปลว่า ‘ปลาคัตสึโอะบุชิ และ บ๊วยตากแห้ง (ไว้กินเป็นกับข้าว)’ ก็ได้เช่นกัน
เมื่อมาจากดาวปลาคัตสึโอะบุชิและบ๊วยตากแห้ง จึงต้องกินบ๊วยเปรี้ยว แล้วแปลงร่างเป็นมนุษย์เปรี้ยว Suppaman เท่านั้นไม่พอ ตัวละครพระเอกใน Superman (1978) ชื่อว่า ‘คลาร์ก เค้นท์’ (Clark Kent) ก็ต้องถูกอาจารย์โทริยะมะเอามายำใหญ่ใส่ความฮาเช่นกัน โดยซุปปะมังหรือซุปเปอร์แมนในเรื่องอาราเล่จะมีชื่อจริงว่า ‘คุระอะคุ เค็นตะ’ (暗悪健太) โดยเสียง ‘คุระอะคุ’ เวลาอ่านแบบญี่ปุ่นจะรวบเสียงเป็น คุร่าคุ คือพยายามเลียนแบบเสียง ‘คลาร์ก’ ในเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น ส่วน เค็นตะ ก็พยายามขยี้เสียง ‘เค้นท์’ แต่ความแสบของโทริยะมะคืออักษรนามสกุลคุระอะคุนั้น
คุระ (暗) แปลว่าความมืด
อะคุ (悪) แปลว่าความชั่วร้าย
เท่ากับว่า Suppaman คนนี้ไม่ได้เป็นฮีโร่ แต่เป็นคนชั่วที่เป็นวอนนาบีฮีโร่เท่านั้น นอกจากนี้บนอกของ Superman ต้นฉบับจะมีอักษร S แต่อกของ Suppaman ผู้ชั่วร้ายคนนี้จะเขียนอักษร す (ซุ) เพื่อให้รู้ว่าฉันเป็น Suppaman มนุษย์เปรี้ยวนั่นเอง หาใช่ฮีโร่ผู้ผดุงความเป็นธรรมไม่!
Suppan จึงมีพฤติกรรมที่ทุเรศ เลวทราม หลายวีรเวรด้วยกัน เช่น บินไม่ได้แต่ใช้สเก็ตบอร์ดแล้วนอนเอาพุงตัวเองคร่อมสเก็ตบอร์ดแล้วเอามือไถ ๆ ไปตามพื้นแล้วจินตนาการว่าตัวเองกำลังบินอยู่, ไม่กล้าสู้กับคนเก่งกว่า, แต่มักรังแกคนอ่อนแอกว่าตลอด, เวลาอยากแปลงร่างในตู้โทรศัพท์แล้วตู้โทรศัพท์ไม่ว่างก็เอาระเบิดมือเขวี้ยงเข้าไปทำร้ายคนที่กำลังใช้โทรศัพท์อยู่, เอาจรวดยิงทำร้ายชาวหมู่บ้าน, ท่าไม้ตายคือ ‘ดัชนีแห่งความกล้า (勇気の人さし指)’ คือการใช้นิ้วชี้ไปจิ้ม ๆ อุนจิ, ฯลฯ สารพัดจะวีรเวรชนิดนี้ทั้งฮาทั้งสมเพชกับ Suppa-Hero วอนนาบีคนนี้ฃ
การ์ตูนเรื่องนี้เป็นการ์ตูนแก๊ก จึงไม่มีใครบาดเจ็บ ไม่มีใครตาย แม้จะโลกแตก มนุษย์ต่างดาวบุก คนทั้งหมู่บ้านเพนกวินก็ไม่แคร์อะไรกับโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเจออะไรแปลกประหลาด พิลึก หายนะขนาดไหน ทั้งหมู่บ้านก็สามารถชิลล์ ๆ สโลว์ไลฟ์กันได้อย่างไม่เดือดเนื้อร้อนใจใด ๆ เป็นสังคมในอุดมคติมาก ๆ เหมาะสำหรับผ่อนคลายความเครียด โยนสมองทิ้งไปให้หมดก่อนชมเรื่องนี้ก็ดีนะ
เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล