01 ก.ค. 2568 | 12:53 น.
KEY
POINTS
ในซีซัน 3 ของ ‘Squid Game’ มีฉากหนึ่งที่กลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง ไม่ใช่เพราะมันโหดร้ายที่สุด หรือหักมุมที่สุด แต่เพราะมันเปลือยหัวใจของตัวละครที่คนดูเคยรัก จนยากเกินจะรับไหว
เลือดหยดแรกในมือของ ‘ซองกีฮุน’ ไม่ได้มาจากเกม แต่จากการลงมือของเขาเอง
เขาปลิดชีพ ‘คังแดโฮ’ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ล้มเหลวในภารกิจสำคัญ และหายไปในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตายของการก่อกบฏ ความสูญเสียที่ตามมาไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมรบ แต่ยังรวมถึงความเชื่อ ความหวัง และภาพตัวเองในฐานะผู้นำที่ดี
‘ฮวังดงฮยอก’ ผู้กำกับของ Squid Game เรียกฉากนี้ว่า ‘จุดต่ำสุดของกีฮุน’ (Gi-hun’s lowest point) และย้ำว่า มันคือฉากที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่กีฮุนฆ่าคนด้วยความโกรธ โดยไม่มีกฎของเกมเป็นข้ออ้าง
ไม่มีความบีบคั้น ไม่มีเงินรางวัล ไม่มีการสู้เพื่อเอาตัวรอด มีแค่ความเคร่งเครียด ความทรมาน และความโกรธที่ไม่รู้จะหาทางระบายไปทางไหน
เมื่อไม่มีศัตรูให้ต่อสู้ เขาจึงหันไปหาคนที่ใกล้ที่สุด คนที่เคยมีความหวังเดียวกัน แต่กลับไม่อยู่ตรงนั้นในเวลาที่เขาต้องการที่สุด
หากจะเข้าใจฉากนั้นอย่างลึกซึ้ง เราคงต้องวางคำถามว่า “ทำไมเขาถึงฆ่า” แล้วหันมาถามใหม่ว่า “อะไรในใจของเขาที่ตายไปก่อนหน้านี้”
ในทางจิตวิทยา สิ่งที่กีฮุนเผชิญคือปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงหลังจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถอธิบายผ่านสองแนวคิดหลัก ๆ ได้แก่ ‘กลไกการป้องกันตัวทางจิต’ (Defense Mechanisms) และ ‘ภาวะความเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ’ (PTSD)
กลไกแรกที่ชัดเจนคือ ‘การโยนความผิด’ หรือ ‘Projection’ กีฮุนไม่สามารถยอมรับได้ว่าแผนของเขาล้มเหลว เพราะการยอมรับนั้นคือการยอมรับว่าตนเองพาเพื่อนไปสู่ความตาย เขาจึงโยนความผิดทั้งหมดไปยังแดโฮ แทนที่จะเผชิญหน้ากับบทบาทของตัวเองในความพ่ายแพ้นั้น
ในฉากที่เขาฆ่าแดโฮ มันไม่ใช่การฆ่าคนหนึ่งคน หากแต่เป็นการฆ่าความรู้สึกผิดในใจตัวเอง เป็นการกดทับเสียงสะท้อนในหัวที่พร่ำถามว่า “ทำไมถึงไม่รอบคอบกว่านี้”
กีฮุนจึงไม่ใช่เพียงเหยื่อของเกม แต่เป็นเหยื่อของกลไกทางจิตที่พยายามช่วยให้เขารอดชีวิต แม้ต้องแลกด้วยการเป็นคนที่เขาไม่เคยคิดอยากเป็น
อีกกลไกหนึ่งที่ควรถูกกล่าวถึงคือ ‘Displacement’ หรือการระบายความโกรธใส่เป้าหมายที่ง่ายกว่าและไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แทนที่จะโกรธตัวเองหรือผู้คุมเกม กีฮุนเลือกลงมือกับแดโฮ เพราะเขาอยู่ตรงนั้น อยู่ใกล้พอให้ลงโทษ อยู่ไกลพอจากความซับซ้อนที่แท้จริง
เมื่อคนเราไม่สามารถควบคุมสิ่งใหญ่ได้ บางครั้งเราก็เลือกควบคุมสิ่งเล็กที่อยู่ในมือ แม้มันจะไร้สาระและโหดร้ายเพียงใดก็ตาม
ในอีกด้านหนึ่ง หากมองกีฮุนผ่านแว่นของ PTSD เราจะเห็นชายที่แบกบาดแผลสะสมทางจิตใจจากเกมนรกนี้มาตลอดตั้งแต่ซีซันแรก ความตาย การหักหลัง การถูกใช้เป็นหมาก มันไม่ได้จบลงแค่ที่ร่างกายรอดมาได้ แต่มันสะสมเหมือนระเบิดเวลาที่นับถอยหลังอยู่ในใจ
การล้มเหลวของแผนกบฏอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขารู้สึกว่า “พอกันที” กับการพยายามเป็นคนดี
ในบริบทของ PTSD ปฏิกิริยาเช่นโทษคนอื่น หุนหันพลันแล่น หรือแม้แต่ใช้ความรุนแรง ไม่ได้เป็นแค่พฤติกรรมเบี่ยงเบน แต่คือเสียงร้องขอความช่วยเหลือที่ไม่ได้ออกมาเป็นคำพูด
มันคือการดิ้นรนของจิตใจที่อยากให้โลกเข้าใจว่า เขาก็เป็นแค่คนธรรมดา ที่แบกทุกอย่างไว้ไม่ไหวอีกแล้ว
เราอาจอยากเห็นกีฮุนเป็นพระเอกที่ไม่ล้มเหลว แต่โลกแห่งความเป็นจริงไม่เคยมอบตำราให้ใครรอดออกมาจากความเจ็บปวดได้อย่างสะอาดมือ
ในทางกลับกัน สิ่งที่เขาทำอาจเป็นคำถามย้อนกลับมายังเราเอง ว่าในชีวิตประจำวัน เราเคยโยนความผิดให้ใครหรือเปล่า เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
เราเคยด่าลูกน้องแทนที่จะยอมรับว่าคำสั่งเราไม่ชัด เราเคยหงุดหงิดใส่คู่ชีวิต ทั้งที่ปัญหาคือเราเครียดจากงาน เราเคยบอกว่าเพื่อนทรยศ ทั้งที่เราเองต่างหากที่ตั้งความหวังสูงเกินไป
การโยนความผิดและระบายใส่คนอื่น อาจช่วยให้เรารู้สึกมีอำนาจชั่วขณะ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันคือการก่อรอยร้าวในความสัมพันธ์ที่อาจไม่สามารถซ่อมได้
และเมื่อมันสะสมมากพอ เราอาจไม่ต่างจากกีฮุนในฉากนั้น คนที่ไม่รู้ว่าใจตัวเองพังไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และหันไปทำร้ายคนที่ไม่ควรถูกทำร้ายเลยตั้งแต่ต้น
ดังนั้นหากเราต้องการไม่เดินซ้ำรอยเขา เราอาจต้องเริ่มจากการกล้ายอมรับว่า ตัวเราเองก็มีข้อผิดพลาดได้เช่นกัน
ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องแบกความหวังทั้งหมดไว้คนเดียว แค่ไม่โยนความเจ็บไปให้คนอื่น บางที แค่นั้นก็อาจเพียงพอที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ในโลกที่โหดร้ายไม่แพ้เกมไหน ๆ เลย
เรื่อง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
อ้างอิง:
NHS. “Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD).” NHS, 17 Oct. 2023, www.nhs.uk/mental-health/conditions/post-traumatic-stress-disorder-ptsd/overview/. Accessed 1 July 2025.
Chulalongkorn University, Faculty of Psychology. “Defense Mechanisms.” Chulalongkorn University Faculty of Psychology, www.psy.chula.ac.th/en/feature-articles/defense-mechanisms/. Accessed 1 July 2025.
Kennedy, Remus Noronha. “Squid Game Season 3's Hideous Gi-Hun Moment Is Actually His Most Important Scene.” Screen Rant, 26 June 2025, screenrant.com/squid-game-season-3-gi-hun-blaming-dae-ho-revenge-explained-hwang/. Accessed 1 July 2025.