‘ศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่น’ ยุทธศาสตร์หลอมรวมจิตใจหลังสงคราม

‘ศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่น’ ยุทธศาสตร์หลอมรวมจิตใจหลังสงคราม

ที่มา 3 ศิลปะการต่อสู้หลักของญี่ปุ่น ซึ่งถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์หลอมรวมจิตใจประชาชน หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

KEY

POINTS

  • รู้จักศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ วิชาซูโม่, วิชาซามูไร และวิชาคาราเต้
  • การใช้ศิลปะการต่อสู้เพื่อเป็นศูนย์รวมใจประชาชน ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะแร้นแค้น หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
  • ข้อถกเถียงเรื่องที่มาของศิลปะการต่อสู้ระหว่างญี่ปุ่นกับชาติต่าง ๆ 
     

ญี่ปุ่นน่าจะเป็นไม่กี่ชาติของโลกที่มีการจัดระบบของ ‘ศิลปะการต่อสู้’ ไว้หลากหลายประเภทมาก บทความนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านไปทัวร์วิทยายุทธของชาวอาทิตย์อุทัยกันแบบคร่าว ๆ (ไม่ครบทุกประเภทแน่นอนเพราะมีหลากหลายมาก) ว่าแต่ละประเภทมีที่มาอย่างไรบ้าง 

โดยจะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักคือ วิชาซูโม่, วิชาซามูไร และวิชาคาราเต้ แต่ขอไม่กล่าวถึงวิชานินจา เนื่องจากไม่ได้เป็นศิลปะการต่อสู้ (อ่านรายละเอียดเรื่องนินจาได้ที่ https://www.thepeople.co/social/the-never-die/52881)

ซูโม่ (相撲)

ซูโม่เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ย้อนอดีตไปได้ถึงยุค ‘เทพเจ้า’ ซึ่งเชื่อกันว่า ยุคโบราณก่อนที่จะมีจักรพรรดิพระองค์แรกนั้น เทพเจ้าทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นอยู่ ตามบันทึกโคจิกิซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ได้กล่าวถึงซูโม่เอาไว้ เรียกได้ว่าซูโม่นั้นเก่าแก่มากชนิดที่แทบจะระบุเวลาได้ยากว่าเกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อกี่พันปีก่อนกันแน่ (ก็เล่นบอกว่ามีมาตั้งแต่ยุคเทพเจ้าปกครองญี่ปุ่นเลยนี่นะ) 

ซูโม่นั้นมีฟังก์ชันที่แตกต่างไปจากวิชาซามูไรและคาราเต้ เพราะซามูไรและคาราเต้เป็นศิลปะเพื่อการต่อสู้ฆ่าฟันมาแต่ต้น ในขณะที่ซูโม่นั้นแต่เดิมเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าที่จัดขึ้นเพื่อทำนายความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลที่จะเก็บเกี่ยวได้ ตามแบบฉบับของลัทธิชินโตของญี่ปุ่น และภายหลังพัฒนาขึ้นเป็นกีฬาเพื่อแสดงให้ผู้ชมได้ชมเพื่อความบันเทิง

กล่าวคือซูโม่ไม่เคยเป็นวิชาที่ใช้จริงในสนามรบ เพราะเป็นวิชาที่เคร่งครัดในพิธีกรรมและระเบียบแบบแผน ที่มีไว้เพื่อพิธีกรรมและเพื่อความบันเทิงมาตลอดนั่นเอง (แต่ไม่ได้แปลว่านักซูโม่จะอ่อนแอนะ แรงเท่าหมีควายตัวใหญ่ ๆ เลยก็แล้วกัน เพราะต้องคัดคนที่รูปร่างใหญ่โตกว่าคนปกติ แล้วเอาไปกินอาหารสูตรลับของนักซูโม่ และฝึกวิชาตามแบบฉบับซูโม่ ให้กลายร่างเป็นมนุษย์ยักษ์แบบที่เห็น)

‘ศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่น’ ยุทธศาสตร์หลอมรวมจิตใจหลังสงคราม

ซามูไร (侍)

วิชาซามูไรนั้นเป็นต้นกำเนิดของศิลปะการต่อสู้หลายวิชาในปัจจุบัน โดยวิชายุคเก่าจะลงด้วยคำว่า ‘จุทสึ (術)’ ที่แปลว่า ‘ศาสตร์แห่ง...’ เช่น 

  • จูจุทสึ (柔術) คือวิชายิวยิตสูนั่นเอง โดยเน้นบิดหรือหักข้อต่อและจับทุ่มให้กระแทกพื้น
  • เคนจุทสึ (剣術) คือวิชาดาบในการต่อสู้
  • บัตโตจุทสึ (抜刀術) และอิไอจุทสึ (居合術) มีความคล้ายกันมากเพราะเน้นการชักดาบออกจากฝักด้วยความเร็วสูงเพื่อ counter attack ศัตรู แตกต่างกันในรายละเอียดการฝึกและการทำสมาธิ
  • คิวจุทสึ (弓術) คือศิลปะการใช้ธนู โดยเฉพาะการยิงธนูบนหลังม้า

ที่น่าสังเกตคือ วิชาแนวเตะต่อยอย่างคาราเต้นั้นแต่เดิมไม่ได้เป็นของญี่ปุ่น แต่มาจากต่างประเทศ อันจะกล่าวถึงคาราเต้ในช่วงต่อไป สาเหตุที่ซามูไรญี่ปุ่นไม่เน้นพัฒนาวิชาเตะต่อย เนื่องจากซามูไรสมัยก่อนใส่เกราะเหล็กและต่อสู้กันด้วยดาบหรืออาวุธยาว

แม้จะมีการเตะต่อยกันนอกสนามรบบ้างแต่ก็ไม่ได้จำเป็นถึงขั้นต้องพัฒนาพลังการเตะต่อยให้เป็นรูปธรรม แต่ไปเน้นการจับทุ่มให้ล้มและจุก หรือช้ำในจากน้ำหนักของเกราะเวลาโดนทุ่ม, การบิดข้อต่อมือเท้าแขนขาให้หัก, การบิดข้อต่อมือเท้าแขนขาให้เห็นช่องว่างของเกราะเพื่อเอาดาบเสียบสังหารศัตรูได้

จึงเป็นการพัฒนาศิลปะการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าไปพยายามเตะหรือต่อยเพื่อให้ทะลุเกราะเหล็ก เพราะในสนามรบเน้นฆ่าให้เร็วที่สุด จะ dirty แค่ไหนก็ได้ ไม่ได้เน้นเกียรติยศหรือการต่อสู้แบบแฟร์ ๆ เหมือนในนิยาย ประกอบกับช่วงศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 19 นั้น ญี่ปุ่นปิดประเทศโดยสมบูรณ์แบบอยู่ตลอด 200 ปี จึงไม่มีวิทยายุทธจากจีนหรือจากต่างแดนเข้ามาผสมเลย ทำให้วิชาซามูไรพัฒนาเป็นแนวทางของตัวเองได้อย่างค่อนข้างปลอดจากอิทธิพลของต่างชาติต่างวัฒนธรรม

วิชาซามูไรเหล่านี้เมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ต่างก็เปลี่ยนชื่อจาก ‘จุทสึ’ ไปเป็น ‘โด (道)’ ที่แปลว่า ‘วิถีแห่ง...’ คือวิชาเหล่านี้ผ่านการ Modernized แล้ว แม้ว่าแต่ละวิชาจะกลายร่างเป็นสมัยใหม่แตกต่างในปีที่ต่างกันไปบ้าง แต่ทุกวิชาล้วนกลายเป็นคำว่า ‘โด’ ไม่เกิน 100 ปีนี้เอง ปัจจุบันจึงกลายเป็น

จูจุทสึ (柔術) แตกแขนงออกเป็น 2 วิชาคือ จูโด (柔道) และ ไอกิโด (合気道) โดยจูโด ที่เราฮิตเรียกกันว่ายูโดจะเน้นทำลายการทรงตัวของคู่ต่อสู้ ขัดขา จับทุ่ม ทำให้ล้ม ในขณะที่ไอกิโดจะเน้นการใช้แรงของอีกฝ่ายหวนคืนไปสู่อีกฝ่ายรวมทั้งมีการบิดข้อต่อมือเท้าแขนขา 

  • เคนจุทสึ (剣術) กลายร่างเป็นเคนโด (剣道) ที่เราเห็นใส่เกราะแล้วใช้ดาบไม้ฟาดกันในโรงฝึกตามซีรีส์หรือการ์ตูนญี่ปุ่นนั่นละ
  • บัตโตจุทสึ (抜刀術) และอิไอจุทสึ (居合術) ปัจจุบันเหลือแค่วิชา อิไอโด (居合道) เท่านั้น
  • คิวจุทสึ (弓術) กลายร่างเป็น คิวโด (弓道) เป็นกีฬายิงธนูแบบญี่ปุ่นในปัจจุบัน

แต่เดิม วิชาที่ลงท้ายด้วย ‘โด’ เหล่านี้แม้จะผ่านการ Modernized แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เป็น ‘กีฬา’ แต่อย่างใด ยังคงเป็น ‘ศิลปะการต่อสู้’ อยู่ แต่หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศพินาศย่อยยับ ทางรัฐบาลจึงต้องการสิ่งที่เป็นศูนย์รวมใจประชาชน ในขณะที่ประชาชนต้องอดอยากแร้นแค้น และทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงรณรงค์ใช้กระแสกีฬาเพื่อกระตุ้นขวัญและกำลังใจของคนในชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชนหันมารณรงค์แข่งกีฬาทุกประเภท มีการก่อตั้ง ‘วันออกกำลังกาย (体育の日)’ และเปลี่ยนเป็น ‘วันกีฬา (スポーツの日)’ ในภายหลัง

เมื่อรณรงค์ให้ประชาชนเล่นกีฬาอย่างเป็นรูปธรรม ศิลปะการต่อสู้ของชาติตัวเองจึงได้รับสปอตไลต์ไปด้วย คือรณรงค์ให้เอาศิลปะการต่อสู้หลายประเภทที่กล่าวมา มาแปลงร่างให้เป็นกีฬามากขึ้นด้วย ศิลปะการต่อสู้ของซามูไรในปัจจุบันจึงมีหลายแนวมาก แนวดั้งเดิมที่ยังเป็น ‘จุทสึ’ ก็มี, แนวที่ผ่านการ Modernized เป็น ‘โด’ แล้วแต่ก็ยังไม่ยอมเป็นกีฬาก็มี, และแนวที่เป็น ‘โด’ แล้วก็ทำตัวเป็นกีฬาโดยสมบูรณ์แบบก็มี เรียกว่ามีความหลากหลายสูงมาก มีกฎกติกาและปรัชญาที่แตกต่างกันไปในแต่ละสมาคม แต่ละชมรม แม้จะเป็นวิชาที่มีรากฐานเดียวกัน แต่ก็เข้ากันไม่ได้ก็มีมากมาย 

‘ศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่น’ ยุทธศาสตร์หลอมรวมจิตใจหลังสงคราม

คาราเต้ (唐手 หรือ 空手) 

คาราเต้นั้นแต่เดิมเป็นวิชาของต่างประเทศ ไม่ได้เป็นวิชาของญี่ปุ่น แต่เดิมเคยมีประเทศที่ชื่อว่า ‘ราชอาณาจักรริวกิว (琉球王国)’ ที่คนไทยคุ้นเคยกับอาหาร ‘ปลาริวกิว’ นั่นแหละริวกิวเดียวกัน (อ่านเรื่องเกี่ยวกับริวกิวได้ที่ https://conomi.co/culture-history/ryukyu/?fbclid=IwAR1J2JlGFsjrCSDYpgddJCU6cLnFqXrlwZP2o3ckYKq_TlVXqLBehUqnWmo)

วิชาคาราเต้พัฒนาขึ้นที่ริวกิว เนื่องจากกฎหมายริวกิวเข้มงวดมากว่าห้ามประชาชนพกอาวุธโดยเด็ดขาด มีเพียงข้าราชการบางส่วนเท่านั้นที่พกอาวุธได้ แต่พลเรือนเกือบทั้งประเทศห้ามพกอาวุธ จึงมีการพัฒนาศิลปะการต่อสู้ไปในทิศทางแบบสู้มือเปล่าเป็นหลัก ต่างจากประวัติศาสตร์ซามูไรของญี่ปุ่นที่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาการเตะต่อยแนวนี้

ศิลปะการต่อสู้ของริวกิวดั้งเดิมเรียกว่า ‘ที (ティー)’ แต่ภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันออกเสียงว่า ‘เทะ (手)’ แปลเหมือนกันคือแปลว่า ‘มือ’ เป็นวิชาต่อสู้ที่เน้นใช้มือมากกว่าเท้า เพราะชาวริวกิวโบราณตัวเล็กและเตี้ยกว่าชาวญี่ปุ่นด้วยซ้ำ จึงไม่เน้นสู้ด้วยเท้า มีการประยุกต์อุปกรณ์การเกษตรในชีวิตประจำวันมาใช้แทนอาวุธ เช่น การประยุกต์เหล็กขวางปากม้าและบังเหียนม้ามาเป็นกระบองสองท่อน, ประยุกต์ด้ามจับของโม่หินโบราณมาเป็นไม้ศอก, ใช้กระดองเต่ามาทำเป็นโล่, ใช้ไม้พายของเรือมาเป็นอาวุธ, และใช้ไม้พลองชนิดต่าง ๆ เป็นอาวุธ คือไม่ได้สู้มือเปล่าตลอดเวลา แต่ก็ใช้อาวุธที่เป็นอาวุธโดยสภาพจริง ๆ ไม่ได้ ต้องประยุกต์อุปกรณ์อื่นมาแทนอาวุธ

เนื่องจากริวกิวเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างน่านน้ำนานาชาติ (สมัยโบราณ ชาติไหนพัฒนาท่าเรือ ชาตินั้นก็เจริญ เหมือนอยุธยาโบราณของไทย) จึงแลกเปลี่ยนวิชากับมวยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (唐) เมื่อเพลงมวยดั้งเดิม ‘ที’ ผสมกับมวยจีน จึงเกิดวิชาใหม่คือ ‘ทูดี (トゥーディー)’ หรือที่ภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันออกเสียงว่า ‘โทเดะ (唐手)’ แปลตามตัวอักษร 

โท (唐) หมายถึงราชวงศ์ถัง 

เดะ (手) คือเสียงที่เพี้ยนจากเสียง เทะ ที่แปลว่าวิชาการต่อสู้เทะของชาวริวกิว 

อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักรริวกิวนี้มีอายุตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 15 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1879 เพราะถูกญี่ปุ่นผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น (ซามูไรใส่เกราะ พร้อมดาบและอาวุธอื่น ๆ ครบมือ บุกมาสู้กับดินแดนที่ประชาชนส่วนใหญ่ห้ามพกอาวุธ ได้แต่สู้มือเปล่า ก็เห็นผลกันอยู่) และถูกเปลี่ยนชื่อกลายเป็นจังหวัด Okinawa ไป

ต่อมาในปี ค.ศ. 1901 เริ่มมีการให้นำวิชาโทเดะเข้าไปเป็นหนึ่งในวิชาพลศึกษาของโรงเรียนบางแห่งใน Okinawa จึงมีการเปลี่ยนวิธีเรียกอักษร 唐手 จากที่เดิมอ่านว่าโทเดะที่เป็นเสียงอ่านแบบจีนโบราณ ให้อ่านแบบเสียงญี่ปุ่นว่า คะระเทะ แทน จึงกลายเป็นเสียงคาราเต้ในปัจจุบันนี่เอง แต่ยังคงใช้อักษร 唐 ที่แปลว่าราชวงศ์ถังอยู่ในตอนนั้น จนในปี ค.ศ. 1922 จึงมีชาว Okinawa คนแรกที่ได้นำคะระเทะ (唐手) ไปเผยแพร่ที่ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ นั่นก็คืออาจารย์ฟุนะโคะชิ กิชิน (船越義珍) ทำให้คะระเทะเริ่มเข้าสู่ญี่ปุ่นและวิวัฒนาการเป็นเอกเทศแยกออกจากโทเดะของ Okinawa 

แต่แล้วในช่วงเวลาใกล้กันนี้สัมพันธภาพระหว่างญี่ปุ่นและจีนไม่ดีเอาเสียเลย เกิดสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (日清戦争) ในปี ค.ศ. 1894 - 1895 ระหว่างราชวงศ์ชิงของจีนและจักรวรรดิญี่ปุ่นเพื่อแย่งดินแดนในคาบสมุทรเกาหลี และเกิดสงครามจีน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 (日中戦争) ในปี ค.ศ. 1937 - 1945 ทางญี่ปุ่นจึงมีความพยายามเปลี่ยนอักษร คะระเทะ (唐手: เพลงมวยราชวงศ์ถังผสมวิชาเทะ) ให้กลายเป็นอักษร คะระเทะ (空手) ที่แปลว่าศิลปะการต่อสู้มือเปล่าไปแทน เพื่อกำจัด ‘ความเป็นจีน’ ทิ้งไปจากวิชานี้ เพราะช่วงนั้นญี่ปุ่นเกลียดจีนมาก จึงโปรโมตเต็มที่ว่าคะระเทะเป็น ‘ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น’ ตั้งแต่ช่วงนั้น (ใครเคยชม ‘ยิปมัน’ ภาคแรก คงเข้าใจสถานการณ์นั้นดี)

ยังไม่สะใจรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อมีกระแสเปลี่ยนชื่อศิลปะการต่อสู้จาก ‘จุทสึ’ ไปเป็น ‘โด (道)’ เกิดกับวิชาซามูไร ญี่ปุ่นจึงเอาคำว่า ‘โด’ มาแปะลงในคาราเต้มันเสียดื้อ ๆ ทั้งที่ไม่เคยมี ‘คะระเทะจุทสึ’ สักหน่อย แต่จู่ ๆ คะระเทะก็กลายเป็น คะระเทะโด (空手道) ไปเฉยเลย เป็นวิวัฒนาการที่แหกคอกไปจาก ‘จุทสึ’ อื่น ๆ ที่เคยเป็น ‘จุทสึ’ แล้วค่อยเป็น ‘โด’ แต่คะระเทะไม่เคยเป็น ‘จุทสึ’ แต่จู่ ๆ กลายเป็น ‘โด’ เลย แต่คนจำนวนมากก็ยังไม่นิยมเรียก เพราะเรียกแค่ คะระเทะ เฉย ๆ ฟังดูคุ้นเคยกว่า และแน่นอนโทเดะที่ไม่เคยมีระบบสอบสาย ก็กลายร่างเป็นคะระเทะโดที่เอาระบบสอบสายเลื่อนขั้นแบบจูโดมาใช้ด้วย เป็นความพยายามของญี่ปุ่นที่จะกำจัดความจีนทิ้งไป และแปลงร่างคะระเทะให้กลายเป็น ‘ของญี่ปุ่น’ ทุกรูปแบบ

คาราเต้เป็นวิชาที่แพร่หลายทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศและเกิดเป็นคาราเต้แปลก ๆ หลายหมื่นสำนักมาก แบ่งเป็น 4 กระแสหลัก ดังนี้

  1. Japanese Karate - คือวิชา โทเดะ ที่พัฒนาขึ้นที่ญี่ปุ่น จนฉีกออกไปจากโทะเดะของ Okinawa
  2. Okinawan Karate - คือวิชา โทเดะ ที่วิวัฒนาการเป็นคาราเต้โอกินาวา ที่แตกต่างจาก Japanese Karate
  3. Korean Karate - ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมีการไปยึดเกาหลีและเผยแพร่คาราเต้ให้ชาวเกาหลี แต่วิชาที่เผยแพร่ให้ชาวเกาหลียังเขียนด้วยอักษรโทเดะ พอบวกกับอักษรว่า ‘วิถีแห่ง…(道)’ ชาวเกาหลีเลยเรียกศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ตามเสียงเกาหลีว่า ทังซุโด (당수도) ที่เป็นเสียงอ่านของอักษร 唐手道 (วิถีแห่งโทเดะ) ก่อนจะวิวัฒนาการไปเน้นการใช้เท้าเตะมากกว่าการใช้มือ และหลังจากนั้นอีกจึงจะเกิดวิชา เทควอนโด (태권도) ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเกาหลีในเวลาต่อมา ซึ่งทางเกาหลียังถกเถียงกันอยู่ว่า ทังซุโดอาจเป็นต้นฉบับของเทควอนโดก็ได้ แต่ก็มีอีกสายเถียงว่าทังซุโดก็คือทังซุโดของญี่ปุ่น แต่เทควอนโดนั้นเกาหลีคิดเองนะจ๊ะไม่ใช่ของไอ้ยุ่นสักหน่อย (ก็สถานการณ์ญี่ปุ่น - เกาหลีที่ทุกคนเข้าใจกันดี)
  4. American Karate - ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ชาวอเมริกันได้มีการเรียนรู้ทั้ง Japanese Karate และ Korean Karate แล้วชาวอเมริกันก็นำคาราเต้ของทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีมาพัฒนาเป็นวิชาของตัวเองเรียกว่า American Karate โดยเน้นการใช้ในกองทัพสหรัฐอเมริกาที่เน้นใช้จริงในสงคราม

ความแพร่หลายของคาราเต้ระดับทั่วโลกเกิดจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง ‘Karate Kid’ (1984, 1986, 1989) ที่ไม่ใช่ของ ‘เฉินหลง’ แต่เป็น Karate Kid ต้นฉบับ ที่โด่งดังมากและก่อให้เกิดกระแสอยากฝึกคาราเต้ขึ้นทั่วโลก

จึงสรุปได้ว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่ร่ำรวยศิลปะการต่อสู้มาก และมีความบ้าค้นคว้า บ้าวิจัย และบ้าสร้างสไตล์ใหม่ ๆ ของตัวเอง ทำให้มีวิชาหลากหลายนับร้อยนับพัน ดังที่กล่าวมาก็ยังเป็นแค่เศษเสี้ยวของจำนวนวิชาที่ญี่ปุ่นปัจจุบันมี จึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักคือ วิชาซูโม่, วิชาซามูไร และวิชาคาราเต้ โดยจะขอไม่กล่าวถึงวิชานินจา ตามที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจอยู่บ้าง
    

เรื่อง : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล
ภาพ : Pexels