‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ผู้เขียน Cobra (เห่าไฟสายฟ้า) บุกเบิกนำ ‘คอมพิวเตอร์’ มาใช้ในงานมังงะ

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ผู้เขียน Cobra (เห่าไฟสายฟ้า) บุกเบิกนำ ‘คอมพิวเตอร์’ มาใช้ในงานมังงะ

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ผู้เขียน Cobra หรือ เห่าไฟสายฟ้า ที่เป็นผลงานชิ้นอมตะของวงการ เขาคือผู้บุกเบิกนำ ‘คอมพิวเตอร์’ มาใช้ในงานผลิตมังงะอีกด้วย

แน่นอนว่า แฟนพันธุ์แท้การ์ตูนญี่ปุ่นทั่วโลกต่างใจหายด้วยความอาลัยรัก ต่อการจากไปของอาจารย์ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ (ฺBuichi Terasawa) นักวาด ‘มังงะ’ ชาวญี่ปุ่น ผู้โลดแล่นใน ‘ยุทธจักรมังงะ’ ทศวรรษ 1970

ยุคสมัยเดียวกับ ‘นากาอิ โก’ เจ้าของผลงาน ‘มาชินก้า Z’, ‘โยชิซาวะ ยาซุมิ’ เจ้าของผลงาน ‘เจ้าหนูกบอภินิหาร’, ‘อากิโมโตะ โอซามุ’ เจ้าของผลงาน ‘Kochi Kame’, ‘นาคาจิมะ โนริฮิโระ’ และ ‘ชิโร่ โทซากิ’ เจ้าของผลงาน ‘Astro Kyuudan’, ‘คุรุมาดะ มาซามิ’ เจ้าของผลงาน ‘Ring ni Kakero’

ไม่เพียง ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ จะเป็นอาจารย์นักวาด ‘มังงะ’ รุ่นเก๋า หากแต่ยังเป็นผู้นำ ‘คอมพิวเตอร์’ มารับใช้ ‘มังงะ’ เป็นคนแรกของญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Gun Dragon ที่ถือเป็น ‘มังงะดิจิทัล 3 มิติ เรื่องแรกของโลก’ ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1998-99

ยังไม่ต้องพูดถึง ‘ผลงานชิ้นเอก’ ของ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ นั่นคือ スペースコブラ (Space Adventure Cobra) หรือ ‘เห่าไฟสายฟ้า’ ที่แฟนพันธุ์แท้การ์ตูนชาวไทยรู้จักกันในนาม ‘คอบร้า’ ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นแรกของ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ที่ส่งให้เขา ‘แจ้งเกิด’ ในวงการ ‘มังงะ’ ญี่ปุ่น

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เริ่มเขียน ‘คอบร้า’ ในปี ค.ศ. 1977 และนำออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นตอน ๆ ครั้งแรกใน Shonen Jump นิตยสารการตูนรายสัปดาห์ซึ่งเป็นที่นิยมอันดับหนึ่งของเด็กผู้ชายในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1978

3 ปีแรกของ ‘คอบร้า’ นั้น ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ใช้เทคนิคที่นักวาด ‘มังงะ’ ทั่วญี่ปุ่น ทั้งยุคปรมาจารย์ก่อนหน้านี้ และยุคสมัยเดียวกันกับเขาใช้ นั่นคือ ‘ใช้มือวาด’ เสกสร้าง ‘มังงะ’ ประดุจงานศิลปะ

ทว่า ในปี ค.ศ. 1980 ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ที่ขณะนั้นอายุเข้าวัยเบญจเพสพอดี เขาได้เริ่มใช้ ‘คอมพิวเตอร์’ ในการวาด ‘มังงะ’ แทน ‘การวาดด้วยมือ’ วงการการ์ตูนญี่ปุ่นจึงยกย่อง ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ในฐานะ ‘ผู้ปฏิวัติวงการการ์ตูนญี่ปุ่นยุคใหม่’

ตราบถึงวันที่ 8 กันยายน 2023 ‘วงการการ์ตูนโลก’ ได้สูญเสีย ‘บิดาแห่งมังงะคอมพิวเตอร์’ คือ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ผู้สร้างคุณูปการให้แก่วงการการ์ตูนไปอย่างไม่มีวันกลับ

กำเนิด ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เจ้าของฉายา ‘บิดาแห่งมังงะคอมพิวเตอร์’

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี ค.ศ. 1955 ที่เมืองอาซาฮิกาว่า ตั้งอยู่บนเกาะฮอกไกโด จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ตอนเด็ก ๆ มีความฝันที่จะเป็นหมอ ทว่า ด้วยความรักการอ่านการ์ตูน หลงใหลในผลงานของอาจารย์ ‘เท็ตซึกะ โอซามุ’ เจ้าของผลงาน ‘เจ้าหนูปรมาณู’ ผู้ได้รับฉายาว่า ‘บิดาแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น’

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ตำนานแห่งปรมาจารย์ ต้นกำเนิด “เจ้าหนูปรมาณู” ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อการ์ตูน

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ จึงเริ่มหันเหเข็มทิศชีวิตเข้าสู่วงการการ์ตูนญี่ปุ่น ด้วยการส่งผลงานเข้าประกวดวาดการ์ตูน และคว้าตำแหน่งชนะเลิศทันทีในปีแรกที่ส่งผลงานเข้าประกวด ผลงานเข้าตาแมวมองในทันที แต่ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ มีความตั้งใจอยากทำงานที่ Tezuka Productions บริษัทของไอดอลของเขาคืออาจารย์ ‘เท็ตซึกะ โอซามุ’

ปี ค.ศ. 1976 ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ อายุได้ 21 ปี เดินทางจากฮอกไกโดเข้ามาที่โตเกียว เพื่อสมัครเป็นลูกศิษย์ของ ‘ปรมาจารย์มังงะหมายเลขหนึ่งของญี่ปุ่น’ คือ อาจารย์ ‘เท็ตซึกะ โอซามุ’ สุดยอดนักวาดการ์ตูนซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในขณะนั้น

โดยในระหว่างที่ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เป็นพนักงานแผนกมังงะของ Tezuka Productions เขาได้รับมอบหมายให้เขียนภาพประกอบในงานชุด Mother Earth, Turn Green Again ที่ต่อมาได้รับรางวัล ‘มังงะ’ ระดับชาติ Tezuka Prize สาขาความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ทำงานเป็นพนักงานแผนกมังงะของ Tezuka Productions ในตำแหน่งนักวาดภาพประกอบได้เพียง 2 ปี เขาเริ่มมีผลงานชิ้นแรกเป็นของตนเอง และผลงานชิ้นนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีซของเขาในทันที แม้ว่าจะเป็นเพียงผลงานชิ้นแรกในชีวิต นั่นคือ ‘คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า’

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เริ่มเขียน ‘คอบร้า’ ในปี ค.ศ. 1977 และนำออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นตอน ๆ ครั้งแรกใน Shonen Jump นิตยสารการตูนรายสัปดาห์ซึ่งเป็นที่นิยมอันดับหนึ่งของเด็กผู้ชายในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1978 ภาพรวมของ ‘คอบร้า’ ในสายตาคนในวงการการ์ตูนญี่ปุ่น มองว่า ในแง่แฟนตาซี ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ได้รับอิทธิพลจาก ‘วอลต์ ดิสนีย์’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ฮอลลีวูด

ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่คนในวงการการ์ตูนพูดถึงในฐานะต้นแบบของ ‘คอบร้า’ เป็นการผสมผสานหนัง 2 เรื่องเข้าด้วยกัน นั่นคือ ‘เจมส์ บอนด์ 007’ และ ‘สตาร์ วอร์ส’ ผนวกกับวิธีการเล่าเรื่องในแบบอาจารย์ ‘เท็ตซึกะ โอซามุ’ ทำให้ ‘เห่าไฟสายฟ้า คอบร้า’ เป็นผลงานชิ้นเอกของ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ทันทีที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Shonen Jump และประสบความสำเร็จทันทีที่วางแผงในสัปดาห์แรก

 

ผู้ปฏิวัติวงการการ์ตูนญี่ปุ่นยุคใหม่

สไตล์ และความชื่นชอบส่วนตัวของ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอนาโตมีที่สมจริงของรูปร่าง เรือนกายมนุษย์ มือ และเท้าที่วาดอย่างได้สัดส่วนเฉกเช่นงานศิลปะชั้นเลิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรวดทรงองค์เอวตัวละครหญิง และกล้าม รวมถึงโครงสร้างแบบนักรบของตัวละครชาย

‘บุอิจิ เทราซาว่า’ มักใช้โครงแรกแบบนิยายวิทยาศาสตร์ และภาพยนตร์ไซ-ไฟ โดยมีอาจารย์ ‘เท็ตซึกะ โอซามุ’ เป็นต้นแบบในการพล็อตเรื่อง เนื่องจากอาจารย์ ‘เท็ตซึกะ โอซามุ’ นั้น ถือเป็น ‘ตำนานแห่งการ์ตูนดาร์ก’ ที่มีเนื้อหาเข้มข้น สมจริงสมจัง และอุทิศเรื่องราวให้แก่สังคม

หลังวาด ‘คอบร้า’ ด้วยเทคนิคโบราณที่นักวาด ‘มังงะ’ ทั่วญี่ปุ่นทุกรุ่นใช้ในขณะนั้น และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างการใช้ ‘มือวาด’ ได้ 3 ปี ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ถึงเริ่มนำเอา ‘คอมพิวเตอร์’ และโปรแกรม ‘คอมพิวเตอร์ กราฟิก’ มาใช้ในการเขียนการ์ตูนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชของแอปเปิ้ล

ปี ค.ศ. 1985 ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เป็นคนแรกที่สรรค์สร้าง ‘มังงะ 8 สี’ กับผลงานชุด BAT ที่แม้จะวาดด้วย ‘เครื่องแมค’ ผสมกับการวาดด้วย ‘มือ’ ก็ตาม ทว่า ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย ‘มังงะ 8 สี’ เรื่องแรกเป็นอย่างมาก

ในปี ค.ศ. 1992 ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ สร้างความฮือฮาให้กับวงการการ์ตูนญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นไปอีก จากการเสกสร้าง ‘การ์ตูนคอมพิวเตอร์กราฟิกเรื่องแรกของโลก’ คือ TAKERU ที่วาดด้วย ‘เครื่องแมค’ 100%

หลังจากนั้น ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ได้ปัดฝุ่นลงาน ‘การ์ตูนวาดมือ’ ชุดแรก ๆ ของเขา มาปรับปรุงใหม่ผ่านโปรแกรม  ‘คอมพิวเตอร์กราฟิก’ ไม่ว่าจะเป็น BAT ที่ปูทางด้วย ‘คอมพิวเตอร์กราฟิก’ มาแล้ว 50%

ผลงาน 3 ปีแรกของ ‘คอบร้า’ วาดด้วยมือ 100% ก็นำมาแปลงเป็นวาดด้วย ‘เครื่องแมค’ 100% รวมถึง Gun Dragon Sigma ที่ถือเป็นภาคแรกของ Gun Dragon ซึ่งมีเพียงแค่ตัวละครหลักเท่านั้นที่วาดด้วยมือ

จากเรื่องราวทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่า ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เป็นทั้ง ‘ผู้ปฏิวัติวงการการ์ตูนญี่ปุ่นยุคใหม่’ และเป็นทั้ง ‘บิดาแห่งมังงะคอมพิวเตอร์’ จากการที่เขาเป็นผู้เริ่มนำ ‘คอมพิวเตอร์ กราฟิก’ และ ‘เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช’ มาใช้ในการรังสรรค์ ‘มังงะ’ ส่งผลให้มีการนำ ‘คอมพิวเตอร์ กราฟิก’ และ ‘เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช’ มาประยุกต์กับการสร้างสรรค์ ‘มังงะ’ ในยุคต่อ ๆ มา ตราบจนปัจจุบัน และอนาคต

 

RIP ‘บุอิจิ เทราซาว่า’

ในปี ค.ศ. 2003 ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เคยเปิดเผยผลการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า มีเนื้องอกในสมองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดยที่ต่อมาเนื้องงอกดังกล่าวได้กลายเป็นมะเร็ง ทำให้ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ต้องเข้ารับการผ่าตัด และรับรังสี รวมถึงเคมีบำบัด จนมะเร็งหมดไป แต่แล้ว มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งที่สอง ส่งผลให้ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ เป็นอัมพาตซีกซ้าย

โดยในวันที่ 8 กันยายน ปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา Twitter อย่างเป็นทางการของ ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ทวีตว่า นักเขียนการ์ตูนระดับตำนานของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย สิริรวมอายุได้ 68 ปี สิ้นตำนานนักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงานอมตะ ‘คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า’      

RIP ‘บุอิจิ เทราซาว่า’ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ผู้ปฏิวัติวงการการ์ตูนญี่ปุ่นยุคใหม่’ และเจ้าของฉายา ‘บิดาแห่งมังงะคอมพิวเตอร์’

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: บุอิจิ เทราซาว่า เมื่อปี 2016 ไฟล์จาก Esby สิทธิ์ใช้งาน CC BY-SA 4.0 ประกอบกับตัวละคร Cobra ไม่ปรากฏแหล่งที่มา