ถอดปัญหาในใจ ‘ภาพ’ สีขาวโล่ง ๆ บนผืนผ้าใบ (แม่ง)เป็น ‘ศิลปะ’ ได้ไง(วะ)?

ถอดปัญหาในใจ ‘ภาพ’ สีขาวโล่ง ๆ บนผืนผ้าใบ (แม่ง)เป็น ‘ศิลปะ’ ได้ไง(วะ)?

‘ภาพ’ ที่มีแต่สีขาวโล่ง ๆ บนผืนผ้าใบ (แม่ง)เป็น ‘ศิลปะ’ ได้ไง(วะ)? แล้วทำไมงานที่ดูเหมือนใครก็ทำได้ ถึงมีคุณค่า(หรือมูลค่า)สูงลิ่ว ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลก

  • สำหรับผู้ชมทั่วไปที่พบเห็นผลงานศิลปินแบบภาพที่มีแต่สีขาวโล่ง ๆ บนผืนผ้าใบน่าจะมีคำถามในใจว่า งานแบบนี้เป็นศิลปะได้ด้วยหรือ?
  • คำถามต่อมาคือ ถ้าภาพสีขาวบนพื้นโล่ง ๆ ที่ดูแล้วเหมือนว่าใครก็ทำได้(ในมุมมองคนทั่วไป) ทำไมภาพเหล่านี้ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินบางคนถูกตีว่ามีคุณค่า (หรือมูลค่า) ถึงไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกได้?

ในบรรดางานศิลปะหลากหลายประเภทและแนวทาง มีงานศิลปะประเภทหนึ่งที่คนส่วนใหญ่สงสัยและเข้าใจผิดมากที่สุด โดยมักจะบอกว่างานศิลปะประเภทนี้ดูไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็พาลบอกว่าเป็นงานศิลปะมักง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ศิลปะแนวทางที่ว่านั้นคือ Abstract Art หรือ ศิลปะนามธรรม นั่นเอง

Abstract หรือนามธรรม คืออะไร? อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ ‘รูปธรรม’ หรือสิ่งที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัส ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ อย่างเช่น ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ศิลปะนามธรรมก็คือการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เป็นรูปธรรม หรือเป็นภาพ (ในรูปแบบสองมิติหรือสามมิติก็ตามแต่) ด้วยการใช้ภาษาภาพ (Visual language) ที่สื่อสารด้วยการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็น เส้น, สี, รูปทรง, พื้นผิว เพื่อสร้างองค์ประกอบทางสายตา ที่ไม่อ้างอิงหรือลอกเลียนจากความเป็นจริงที่เรามองเห็น รับรู้ หรือทำความเข้าใจได้ ที่หลายคนเรียกว่าดูไม่รู้เรื่องนั่นแหละ! ด้วยเหตุนี้ ศิลปะประเภทนี้จึงเป็นงานศิลปะที่เข้าใจยากที่สุด

ด้วยความที่สิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างความคิด, อารมณ์ และความรู้สึก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของศิลปะนามธรรม คุณค่าของงานศิลปะประเภทนี้จึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องราว, ความเข้าใจ หรือทักษะของศิลปินว่า วาดภาพออกมาได้เหมือนความเป็นจริงแค่ไหน

หากแต่อยู่ที่การประกอบกันของเส้น, สี, รูปทรง, พื้นผิว, จังหวะ, ความเคลื่อนไหว, ความขัดแย้งหรือกลมกลืนทางองค์ประกอบของภาพ ที่ส่งผลโดยตรงต่อจินตนาการ, ความคิด, อารมณ์, ความรู้สึกภายในเมื่อได้เห็นหรือสัมผัส โดยไม่ต้องถอดรหัส แปลความหมาย หรือตีความ เพราะฉะนั้น ยิ่งเราพยายามดูงานศิลปะนามธรรมให้รู้เรื่อง หรือพยายามทำความเข้าใจมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งดูไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจมากเท่านั้น

ในขณะที่งานศิลปะในอีกแนวทางหนึ่งไปไกลยิ่งกว่านั้น ด้วยการทำงานที่นอกจากจะหลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องราว ไม่แอบแฝงสัญลักษณ์ให้ตีความ หรืออุปมาเปรียบเปรยถึงสิ่งใด และไม่พยายามเลียนแบบความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ศิลปินในแนวทางนี้ยังละทิ้งอารมณ์ความรู้สึก อันเป็นหัวใจสำคัญของศิลปะนามธรรมอีกด้วย โดยพวกเขาหันมาให้ความสำคัญกับเนื้อแท้และสาระสำคัญของวัตถุหรือวัสดุที่ใช้ในการสร้างงานแทน จนเกิดเป็นการสร้างสรรค์แบบใหม่ที่จงใจหลีกเลี่ยงหรือแม้แต่ล้มล้างสุนทรียะและความงามทางศิลปะแบบเดิม ๆ ลงอย่างสิ้นเชิง ศิลปะแนวทางนี้มีชื่อเรียกว่า ‘มินิมอลลิสม์’ (Minimalism)

ศิลปะมินิมอลลิสม์ ขยายขอบเขตแนวคิดของศิลปะนามธรรมที่ว่า ศิลปะควรมีความจริงแท้เป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องลอกเลียนสิ่งอื่นใด พวกเขาต้องการให้ผู้ชมมองเห็นและตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่ข้างหน้าอย่างตรงไปตรงมา

ดังนั้น สื่อ วัสดุ หรือสิ่งที่ศิลปินใช้สร้างเป็นตัวงาน จึงเป็นความจริงแท้ด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นตัวแทนของอะไรทั้งสิ้น ดังคำกล่าวของศิลปินผู้เป็นต้นแบบของมินิมอลลิสม์อย่าง แฟรงค์ สเตลล่า (Frank Stella) ที่ว่า

“What you see is what you see” (สิ่งที่คุณเห็น ก็คือสิ่งที่คุณเห็นนั่นแหละ)

ศิลปินมินิมอลลิสต์เชื่อว่า สุนทรียะในงานศิลปะของพวกเขาคือการนำเสนอรูปแบบและคุณค่าของความงามอันบริสุทธิ์เที่ยงแท้ ไม่เสแสร้งหรือพยายามเป็นอะไรอื่นมากไปกว่าตัวเอง นั่นก็คือความเรียบง่าย ความมีระเบียบ และความสอดประสานกลมกลืนทางทัศนธาตุนั่นเอง

งานศิลปะมินิมอลลิสม์จึงมักใช้วัสดุสำเร็จรูปที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม มีรูปทรงเรขาคณิตอันเรียบง่ายและซ้ำ ๆ กัน หรือถ้าเป็นภาพวาดก็เป็นภาพวาดรูปทรงเรขาคณิตอันเรียบง่ายที่แสดงคุณสมบัติของเส้น สาย สีสัน (อันนิ่งน้อยเรียบง่าย) หรือแม้แต่คุณสมบัติของวัสดุที่ใช้สร้างงานอย่างลักษณะของเนื้อสี หรือพื้นผิวของผ้าใบที่ใช้วาดภาพนั่นเอง

ภาพ White Stone โดย อัคเนส มาร์ติน ภาพจาก Pinterest/Dep Art Gallery Milan ถ่ายโดย Antonio Addamiano

ภาพวาดบางภาพ จึงอาจจะมีแค่เส้นสาย รูปทาง หรือสีสันอันน้อยนิด หรืออาจจะมีแค่สีเดียวทาลงบนผ้าใบโดยไม่มีรูปทรงเส้นสายอะไร หนักข้อที่สุดอาจจะมีแค่ผืนผ้าใบที่ทาสีขาวเปล่า ๆ ลงไปเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ภาพวาดของ โรเบิร์ต ไรแมน (Robert Ryman), แอคเนส มาร์ติน (Agnes Martin), โจ แบร์ (Jo Baer), โจเซฟ อัลเบอร์ส (Josef Albers)

ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก มีศิลปินผู้หนึ่งที่เป็นผู้บุกเบิกแนวทางศิลปะที่ส่งอิทธิพลให้ศิลปะทั้งสองประเภทที่ว่า ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า คาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) ศิลปินหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ชาวรัสเซีย ผู้บุกเบิกผลงานที่ส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของศิลปะไร้รูปลักษณ์ (Non-objective art) และศิลปะนามธรรมในศตวรรษที่ 20

ผลงานที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเขาคือภาพวาดสี่เหลี่ยมสีดำธรรมดา ๆ อันเรียบง่ายที่สุดในโลกศิลปะ ที่มีชื่อว่า The Black Square (สี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดำ) (1915)

มาเลวิช วาดภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดำภาพแรกขึ้นในปี 1915 ภาพวาดนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของพัฒนาการของศิลปะกลุ่มหัวก้าวหน้าของรัสเซีย (Russian Avant-Garde) สี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดำบนพื้นขาว กลายเป็นสัญลักษณ์และองค์ประกอบพื้นฐานของศิลปะกระแสใหม่ในยุคนั้นที่เรียกว่า Suprematism ซึ่งหมายถึงศิลปะนามธรรมที่แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่สูงสุดของความรู้สึกทางศิลปะและความคิดเชิงนามธรรม มากกว่าจะนำเสนอเรื่องราวหรือรูปทรงที่เลียนแบบความเป็นจริง

มาเลวิช ได้รับแนวคิดบางส่วนมาจากลัทธิศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) และนำมาดัดแปลงให้มีความเป็นนามธรรมยิ่งขึ้น โดยให้ความสนใจกับรูปทรงพื้นฐานที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตอย่าง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ฯลฯ และใช้สีสันที่เรียบง่ายอย่าง ขาว, ดำ, แดง, เหลือง, เขียว, น้ำเงิน

ผลงานในแนวทางนี้ที่เรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อที่สุดของเขาคือภาพ White on White (1918) ซึ่งเป็นภาพวาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาวบนผ้าใบสีขาวที่กลมกลืนกันจนแทบแยกไม่ออก ที่ทำเช่นนี้เพราะเขาต้องการแสดงความรู้สึกอันบริสุทธิ์ผ่านความเรียบง่ายของพื้นผิวและเนื้อสีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้จะเป็นสีขาวเหมือนกัน แต่ถ้าสังเกตดูให้ดี ๆ ก็จะเห็นว่าสีขาวนั้นมีความแตกต่างกันในเฉดสีและน้ำหนักอยู่ดี สีขาวของสีที่วาดบนผ้าใบก็เป็นสีขาวคนละโทนกับสีขาวของผ้าใบด้วย

ภาพ Suprematist Composition: White on White (1918) โดย คาซิมีร์ มาเลวิช

มาเลวิช เชื่อว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้สังคม รัฐ และศาสนา ไม่จำเป็นต้องบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องแสดงภาพของบุคคล วัตถุหรือสิ่งของอะไรก็ตามแต่

เขากล่าวว่า สิ่งต่าง ๆ ในโลกล้วนแล้วแต่ไม่มีความหมายในตัวเอง ความรู้สึกของคนเราที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นในโลกรอบตัวเหล่านั้นต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่ารูปร่างภายนอกที่มองเห็นและจับต้องได้

Suprematism จึงเป็นแนวทางศิลปะที่ให้อิสรภาพทางความรู้สึกนึกคิดกับผู้ชมอย่างเต็มที่โดยไม่ปิดกั้น ผู้ชมไม่จำเป็นต้องถูกบังคับและครอบงำทางความคิดด้วยรูปทรงและเรื่องราวในภาพอย่างที่ศิลปินต้องการให้เป็น จึงนับเป็นศิลปะที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างมาก แนวทางศิลปะกระแสนี้ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่องานศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ศิลปะนามธรรม’ จวบจนปัจจุบัน

ผลงานแนวทางนี้ของมาเลวิช สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนดูงานและวงการศิลปะในยุคนั้นอย่างมาก (อย่าว่าแต่คนยุคนั้นเลย ต่อให้เป็นคนยุคนี้ก็น่าจะตื่นตะลึงเหมือนกันแหละนะ) แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูงจากเหล่าปัญญาชนและนักคิด ด้วยความที่มันเปิดให้มีเสรีภาพทางความคิดและอิสระในการตีความอย่างไร้ขีดจำกัดของมัน เพราะคนดูจะมองว่ามันเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิวัติทางความคิดที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญที่สุดครั้งหนึ่งในวงการศิลปะเลยก็ว่าได้

ในทางกลับกัน เมื่อจอมเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้นำของสหภาพโซเวียตในปี 1924 พรรคคอมมิวนิสต์ของสตาลิน ดำเนินนโยบายในการจำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างหนักหน่วง ไม่เว้นแม้แต่บรรดาศิลปินเอง ก็ถูกบังคับให้ทำแต่ผลงานศิลปะแบบเหมือนจริงแนวสังคมนิยม (Socialist realism) ที่แสดงภาพโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ นำเสนอภาพท่านผู้นำผู้ยิ่งใหญ่สง่างาม กองทัพที่เกรียงไกร และเหล่าชนชั้นแรงงานที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อรัฐและท่านผู้นำอย่างไม่ย่อท้อ

ด้วยความที่สตาลิน ไม่ต้องการให้ประชาชนมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐโดยไม่มีข้อแม้ ศิลปะแนวนามธรรมของมาเลวิช ที่กระตุ้นให้คนใช้สมอง เปิดโอกาสให้คนแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี และสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายทางความคิด จึงเป็นที่ชิงชังของสตาลิน เป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ผลงานของมาเลวิช ส่วนใหญ่ถูกยึดและทำลาย ในปี 1930 ตัวเขาเองก็ถูกจับกุม, คุมขัง และถูกเจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าคอยอบรมเพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นหลายคนก็ได้รับชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน

เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา มาเลวิช เริ่มหันมาวาดภาพเหมือนจริงในแบบประเพณี ซึ่งเป็นแนวทางแบบเดียวกับที่นโยบายทางวัฒนธรรมของสตาลิน อนุญาตให้ทำ อย่างไรก็ดี เขาแอบใส่รูปสี่เหลี่ยมสีดำบนพื้นสีขาวเล็กจิ๋วลงในภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศอุดมการณ์ที่แท้จริงของตนเองลงไปนั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว คุณค่าของงานศิลปะแต่ละชิ้นนั้นไม่ได้อยู่ที่ความสวยหรือไม่สวย เหมือนจริงแค่ไหน ทำง่ายหรือทำยากเพียงใด หรือราคาแพงเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ว่า งานศิลปะเหล่านั้นส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของโลกศิลปะ หรือแม้แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมการเมืองอย่างไร (เพราะศิลปะนั้นไม่อาจแยกตัวจากสังคมการเมืองได้อย่างสิ้นเชิง)

และที่สำคัญ ถ้าถามว่า ทำไมงานศิลปะที่ดูง่าย ๆ เหมือนคุณเองก็ทำขึ้นมาได้ ถึงได้กลายเป็นผลงานที่มีคุณค่า(หรือมูลค่า) สูงล้ำอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกได้

นั่นก็เพราะคุณ(หรือใครก็ตามแต่)ยังไม่เคยทำมันขึ้นมาก่อนนั่นแหละนะ!

 

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพ: ภาพ White Stone โดย อัคเนส มาร์ติน ภาพจาก Pinterest/Dep Art Gallery Milan ถ่ายโดย Antonio Addamiano

อ้างอิง:

หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ สำนักพิมพ์แซลมอน

หนังสือ Minimal Art โดย Daniel Marzona สำนักพิมพ์ TASCHEN

The Art Story

TATE