‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ นายช่างเอกแห่งรัตนโกสินทร์ วาดภาพมนุษย์สวยงามราวนางฟ้า-เทพยดา

‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ นายช่างเอกแห่งรัตนโกสินทร์ วาดภาพมนุษย์สวยงามราวนางฟ้า-เทพยดา

‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ มากด้วยพรสวรรค์ด้านศิลปะแทบทุกรูปแบบ ถูกเรียกว่านายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วาดภาพมนุษย์สวยงามราวนางฟ้า-เทพยดา ไม่ว่าผลงานดังและราคาสูงแค่ไหนก็ยังใช้ชีวิตแบบสมถะเรียบง่าย

  • ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ ศิลปินแห่งชาติที่เต็มเปี่ยมด้วยพรสวรรค์ด้านศิลปะแทบทุกแขนง วาดภาพมนุษย์ได้สวยงามราวกับเทพยดา-นางฟ้า
  • แม้ผลงานจะได้รับความนิยม ราคาสูง และมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ท่านยังใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย และพยายามส่งเสริมศิลปะ

วาดภาพเก่งเองตั้งแต่เล็ก

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติที่โด่งดังอีกท่าน เกิดเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรของนายชุบ และนางสว่างจันทร์ โปษยกฤต จักรพันธุ์ มีความสามารถในการวาดภาพมาตั้งแต่เล็ก ว่าไปแล้วถ้าจะเอ่ยกันแบบสมมติ อาจวาดเก่งตั้งแต่ชาติปางก่อนด้วยซ้ำเพราะวาดได้ปร๋อก่อนจะเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ เป็นซะอีก เวลาผู้ใหญ่พาไปดูโขนตามงานวัด เมื่อกลับมาบ้าน จักรพันธุ์ จะวาดตัวละครที่เห็นมา ทั้งตัวยักษ์-ตัวนาง ท่านวาดออกมาแต่ละตัวมีรายละเอียดครบเป๊ะโดยไม่ต้องมีใครสอน

 

เก่งจนกรรมการประกวดไม่เชื่อว่าเด็กวาด

จักรพันธุ์ เข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในโรงเรียนนอกจากจะปลูกฝังด้านวิชาการและด้านกีฬาแล้ว พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการโรงเรียนในสมัยนั้น ยังสนับสนุนด้านศิลปะ โดยจัดหาครูระดับปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่าง เปรม ไสยวงษ์, นิโร โยโกต้า มาสอนวาด และ ไพฑูรณ์ เมืองสมบูรณ์ มาสอนปั้น

อีกทั้งทางโรงเรียนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ส่งผลงานศิลปะเข้าแข่งขันในงานประกวด ตัวแทนนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกก็หนีไม่พ้นจักรพันธุ์ ซึ่งตอนนั้นพอได้เริ่มเรียนศิลปะก็ยิ่งเก่งขึ้นอีกเป็นกอง เก่งขนาดที่ว่าครั้งหนึ่งทางโรงเรียนส่งผลงานของท่านขณะที่เรียนอยู่ชั้น ป.3 ไปร่วมประกวดศิลปะเด็กในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ แต่ภาพวาดของจักรพันธุ์ ดันถูกคัดออกตั้งแต่แรก เพราะสวยเกินจนกรรมการไม่เชื่อว่าเป็นผลงานของเด็ก ร้อนถึงพระยาภะรตราชาจนต้องไปเคลียร์กับอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้จัดงานให้ได้ทราบข้อเท็จจริง 

เรียนพิเศษกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

ทั้งในเวลาเรียนและเวลาเล่น จักรพันธุ์ ฝึกฝนฝีมือการวาดภาพอยู่เสมอ สมุดหนังสือของท่าน ไม่ว่าจะวิชาอะไรก็เต็มไปด้วยภาพวาด ที่โรงเรียนวชิราวุธหลังบ่าย 3 นั้นเป็นเวลาให้นักเรียนเล่นกีฬา ในขณะที่เพื่อน ๆ เตะบอล เล่นรักบี้ ชู้ตบาส จักรพันธุ์ มักย่องไปแอบวาดภาพอยู่ในตึก ในช่วงที่จักรพันธ์ เรียนอยู่มัธยมปลาย บิดาของท่านได้พาไปพบจำรัส เกียรติก้อง ศิลปินชั้นแนวหน้าของไทยที่มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพบุคคลเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์

หลังจากนั้น ญาติของจักรพันธุ์ ยังพาท่านไปฝากเนื้อฝากตัวกับอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ท่านจึงได้ศึกษาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์ นอกเวลาเรียนอยู่พักใหญ่ 

เมื่อจักรพันธุ์ จบชั้นมัธยมก็สอบเข้าคณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรได้สำเร็จ แต่เป็นที่น่าเศร้าที่อาจารย์ศิลป์ ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้านั้นไม่นาน จักรพันธุ์ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเมื่อพ.ศ. 2509 หลังจากนั้น ก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาศิลปะไทยที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรต่ออีก 5 ปี ก่อนจะออกมาเป็นศิลปินอิสระอย่างเต็มตัว

ชนะรางวัลระดับชาติมากมายตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา

ไม่รู้ทำบุญมาด้วยอะไร จักรพันธุ์ ถึงมีพรสวรรค์ในเรื่องศิลปะแทบจะครบทุกด้าน ในด้านจิตรกรรมฝีไม้ลายมือในการวาดภาพของท่านนั้นเป็นที่รู้กันทั่วว่า เก่งขั้นเทพจนได้รับรางวัลระดับชาติมาการันตีเพียบ ตั้งแต่สมัยที่จักรพันธุ์ เป็นนักศึกษาอยู่ที่ศิลปากร เพื่อน ๆ เห็นฝีมือของท่านเลยพากันยุให้ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติทั้ง ๆ ที่จักรพันธุ์ ไม่ได้เป็นคนชอบประกวดประขันอะไร เพื่อน ๆ ยุจนได้ที่แล้ว ยังแถมจัดแจงมานั่งเป็นแบบให้จักรพันธุ์ วาดเพื่อส่งเข้าแข่งขันอีก

ปีแรก ภาพที่ส่งประกวด จักรพันธุ์ และเพื่อน ๆ คิดว่าสวยสุดยอด แต่ไม่รู้ทำไมกลับถูกกรรมการคัดออกก่อนการแสดงอย่างไม่เป็นท่า ปีถัดไป จักรพันธุ์ เลยพยายามวาดอย่างสุดฝีมืออีกที แล้วลองส่งเข้าประกวดใหม่ คราวนี้ได้ วิสุตา หัสบำเรอ เพื่อนนักศึกษาที่สวยโดดเด้งกว่าใครในกลุ่มมานั่งเป็นแบบให้

ภาพนี้เป็นภาพหญิงสาวสวยคมแบบไทย นั่งประสานมืออยู่บนเก้าอี้ในบรรยากาศดูลอย ๆ น่าพิศวง แววตาและสีหน้าที่ไม่แสดงอารมณ์ชัดเจนกระตุ้นให้ผู้ชมอดไม่ได้ที่จะพยายามจินตนาการถึงความรู้สึกของเธอ ยิ่งมองลึกลงไปก็ยิ่งน่าค้นหา ด้วยคุณสมบัติที่วิเศษ ในที่สุดภาพ ‘วิสุตา’ จึงได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 16 ในปีพ.ศ. 2508

‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ นายช่างเอกแห่งรัตนโกสินทร์ วาดภาพมนุษย์สวยงามราวนางฟ้า-เทพยดา

มีเรื่องเล่ากันว่า ในการประกวดครั้งนั้น เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ของจักรพันธุ์ ที่ศิลปากรและหนึ่งในเป็นกรรมการตัดสินมากระซิบว่า เดิมทีคณะกรรมการจะให้รางวัลที่สูงกว่า แต่เพราะอยากให้จักรพันธุ์ ได้เก็บภาพไว้เป็นความภูมิใจ จึงให้เหรียญทองแดง เพราะถ้าได้เหรียญทองหรือเหรียญเงินตามกฎแล้ว ภาพนั้นจะต้องถูกเก็บไว้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังจากนั้น จักรพันธุ์ ก็ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่องและได้รับรางวัลอย่างสม่ำเสมอ ภาพ ‘สุวรรณี สุคณธา’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2509, ภาพ ‘กลุ่ม’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2512, ภาพ ‘ดวงตา นันทขว้าง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2514, ภาพ ‘หลง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2515, และภาพ ‘คนนั้่ง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในพ.ศ. 2516 และเป็นปีสุดท้ายที่ท่านส่งผลงานเข้าประกวด

ไล่เรียงดูแล้วภาพวาดชุดที่ได้รับรางวัลทั้งหมดเป็นภาพเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่จักรพันธุ์ รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในมหาวิทยาลัยศิลปากร จักรพันธุ์ จึงสามารถวาดภาพที่แสดงบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคลคนนั้นได้อย่างแม่นยำ และทุกภาพก็ไม่ใช่ภาพเหมือนบุคคลแบบปกติ เพราะจักรพันธุ์ ได้สร้างองค์ประกอบ บรรยากาศ แสงเงา และสีสัน ในแบบเหนือจริงที่ไม่เหมือนใคร

 

วาดภาพมนุษย์ได้สวยดั่งเทพยดานางฟ้า

นอกเหนือจากผลงานชุดที่ได้รับรางวัล จักรพันธุ์ ได้วาดภาพเหมือนบุคคลอีกมากมาย ทั้งพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ภาพพระสงฆ์องค์เจ้า ข้าราชการ นักธุรกิจ และลูกศิษย์ลูกหา ภาพเหมือนบุคคลของจักรพันธุ์ ใช้สีและฝีแปรงที่เป็นรูปแบบเฉพาะของท่านเองในการวาดภาพ ไม่ว่าภาพนั้นจะวาดด้วย สีน้ำมัน สีน้ำ หรือสีชอล์ค จักรพันธุ์ ไม่ได้ใช้ดินสอร่างภาพก่อน แต่ใช้ความแม่นยำระบายสีลงไปเลย ภาพที่ออกมาเลยดูสะอาด ผิวพรรณของคนในภาพเปล่งปลั่งเป็นสีชมพูดูมีชีวิตชีวา ใครได้มีโอกาสลองเทียบภาพที่จักรพันธุ์ วาดกับคนจริง ๆ ที่มานั่งตัวแข็งเป็นแบบให้ จะเห็นชัดเลยว่า คนในภาพดูสวยดูหล่อกว่าคนต้นฉบับอยู่มากโข

ผลงานจิตรกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่จักรพันธุ์ ชอบวาดเป็นพิเศษตั้งแต่เป็นเด็กคือภาพตัวละครในวรรณคดี เทพยดานางฟ้า และภาพหญิงงามอย่างไทย ภาพมนุษย์ในอุดมคติของอาจารย์ที่บรรจงวาดออกมาจากจิตนาการนั้นช่างอ่อนช้อย และดูสวยยิ่งกว่ามนุษย์ใด ๆ ในโลก

‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ นายช่างเอกแห่งรัตนโกสินทร์ วาดภาพมนุษย์สวยงามราวนางฟ้า-เทพยดา

ต่อยอดจิตรกรรมไทยประเพณี

ในขณะที่จักรพันธุ์ สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมแบบร่วมสมัย ท่านยังเป็นผู้สืบสานและต่อยอดจิตรกรรมแนวประเพณีของไทยไม่ให้ถูกมองว่าเป็นของเก่าของเชย ผลงานของจักรพันธุ์ ไม่ได้ก๊อปปี้ของโบราณ แต่ต่อยอดด้วยรูปแบบและเทคนิคใหม่ที่ทันสมัยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พัฒนามายาวนานจนเรียกได้ว่าเป็น ‘สกุลช่างจักรพันธุ์’

ท่านได้มีโอกาสร่วมซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังในระเบียงวัดพระแก้ว วาดภาพประดับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวช ออกแบบม่านเวทีการแสดงหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเวทีการแสดงที่โรงละครแห่งชาติ อีกทั้งยังได้สร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรีเพื่อเป็นพุทธบูชา

 

สรรค์สร้างงานประติมากรรม

ในด้านประติมากรรม จักรพันธุ์ สร้างผลงานสามมิติออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้ภาพวาด ท่านได้ออกแบบควบคุมการสร้างผลงานชิ้นสำคัญ เช่น ประติมากรรมพระราชดำริในสมเด็จพระเทพฯ รูปเจ้าเงาะกับเด็กเลี้ยงควาย, รูปไกรทองสู้กับชาละวัน, และเรื่องรามเกียรติ์ ตอนถวายลิง ที่ตั้งแสดงอยู่ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม

จักรพันธุ์ ยังได้สร้างพระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามสุด ๆ ในรูปแบบสกุลช่างของท่านเอง เพื่อนำมาประกอบฉากละครและให้เช่าบูชา

 

อนุรักษ์การแสดงหุ่นกระบอก

ทางด้านการแสดง จักรพันธุ์ เป็นที่รู้จักมากที่สุดในเรื่องหุ่นกระบอก ตอนเล็ก ๆ ท่านเริ่มสนใจหุ่นกระบอกเพราะได้เห็นการแสดงของคณะครู เปียก ประเสริฐกุล ในทีวี จักรพันธุ์ อินจัดจนถึงกับสร้างหุ่นและฉากแบบง่าย ๆ ขึ้นมาเองจากเศษวัสดุเพื่อเอาไว้เชิดเล่น

หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี จักรพันธุ์ ถึงได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์กับบุตรสาวของครูเปียกคือ ครูชื้น สกุลแก้ว เพื่อเรียนรู้วิธีการเชิดหุ่นและรำละครแบบจริงจัง จริงจังจนเกิดคณะหุ่นกระบอกจักรพันธุ์ ขึ้นมาและแสดงโชว์เป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2518 ใน เรื่อง ‘พระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อ’ และถัดไปอีก 2 ปีก็จัดแสดงอีกในเรื่อง ‘รามเกียรติ์ ตอนนางลอย’

จากนั้นคณะหุ่นกระบอกจักรพันธุ์ใช้เวลาทุ่มเทสร้างหุ่นสร้างเครื่องแต่งกายและสร้างฉากใหม่อีกนับสิบปีเพื่อจัดแสดงเรื่อง ‘สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ’ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2530 การแสดงครั้งนั้นยิ่งใหญ่ราวกับหนังฟอร์มยักษ์แบบที่ไม่มีคณะหุ่นกระบอกที่ไหนเคยลงทุนทำถึงขนาดนี้มาก่อน

หลังการแสดงประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จักรพันธุ์ ไม่รีรอที่จะเริ่มวางแผนการแสดงในเรื่องถัดไป โดยหมายมั่นปั้นมือให้ยิ่งใหญ่วิลิศมาหราขึ้นไปอีก จึงเป็นต้นกำเนิดของเรื่อง ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’ ที่รวบรวมเอาศิลปินแห่งชาติ และเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงมาร่วมงาน หุ่นกระบอกชุดนี้สร้างขึ้นมาด้วยกลไกล้ำยุค ร่ายรำขยับเขยื้อนคว้าหอกคว้าดาบได้ราวกับคนจริง ๆ เสื้อผ้าหน้าผมเครื่องประดับก็สร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรแบบจัดเต็มใช้ทั้งทอง ทั้งเพชรนิลจินดา ทั้งผ้าราคาแพงแบบไม่มีกระมิดกระเมี้ยน ลุยสร้างหุ่น ฉาก บทละคร ดนตรีกันมาร่วม 30 ปี ยาวนานกว่ามหรสพเรื่องไหนในโลก จนวันนี้เกือบเสร็จแทบจะครบทุกฉากแล้ว

‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ นายช่างเอกแห่งรัตนโกสินทร์ วาดภาพมนุษย์สวยงามราวนางฟ้า-เทพยดา

นักเขียนฝีปากกาคม

นอกจากการวาด การปั้น และการแสดงแล้ว จักรพันธุ์ ยังเป็นนักเขียนฝีมือเยี่ยม ท่านใช้นามปากกาว่า ‘ศศิวิมล’ ชื่อนี้ถูกตั้งให้โดย สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดังและเป็นรุ่นพี่ที่ศิลปากร ‘ศศิวิมล’ เขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะ, ท่องเที่ยว, สังคม หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่จักรพันธุ์ ได้ไปพบเจอมา

บทความของท่านถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร ‘ลลนา’ นิตยสารที่แนวที่สุดในยุคนั้น พอเขียนไปเยอะ ๆ ก็รวบรวมมาพิมพ์เป็นเล่ม กลายเป็นหนังสือขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วย

หลังลลนาปิดตัวลง จักรพันธุ์ ยังตีพิมพ์บทความต่อในนิตยสาร ‘พลอยแกมเพชร’ นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่จักรพันธุ์ เขียนและตีพิมพ์ขึ้นมาเผยแพร่เช่น หุ่นไทย, หุ่นวังหน้า, หุ่นจักรพันธุ์, คิดถึงครู ไปลองหาอ่านกันดูได้

 

ลมหายใจของศิลปะไทย

จักรพันธุ์ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายจนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านได้รับยกย่องให้เป็นนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม, บุคคลดีเด่นของชาติสาขาเผยแพร่เกียรติภูมิไทย และถึงผลงานของท่านจะเป็นที่นิยมและมีราคาสูงแค่ไหน ท่านยังใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย เงินทองที่ได้จากน้ำพักน้ำแรง จักรพันธุ์ เลือกจะนำไปดูแลลูกศิษย์ลูกหา สร้างศิลปินที่จะสานต่อศิลปะไทยในแขนงต่าง ๆ และเป็นทุนในการสร้างหุ่นกระบอกที่สุดแสนจะวิจิตรด้วยความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา

อีกทั้งท่านยังกำลังก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์บนเนื้อที่กว้างขวางแถว ๆ วัชรพล พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อแล้วเสร็จจะใช้เป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงผลงานศิลปะที่จักรพันธุ์ ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาตลอดชีวิต ฝากไว้เป็นสมบัติคู่แผ่นดินไทยให้สาธารณชนได้ชื่นชมภูมิใจ

การที่พวกเราร่วมกันสนับสนุนศิลปะของบ้านเราเมืองเราให้พัฒนาและดำรงไว้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน ก็เป็นการสร้างสาธารณประโยชน์ที่ใหญ่หลวงอีกวิธีหนึ่ง ไปกันเถอะ ไปกันที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ใกล้แค่เอกมัยนี่เอง ไปอุดหนุนโปสการ์ด ภาพพิมพ์สวย ๆ หนังสืออ่านสนุก พระพุทธรูปองค์งาม ซื้อติดไม้ติดมือกันคนละนิดคนละหน่อย ได้ของดีแบบที่ไม่มีขายในห้าง แถมยังมีส่วนช่วยต่อลมหายใจศิลปะไทยที่นับวันจะแผ่วเบาให้ยืนยาวแข็งแรง

 

เรื่อง: ตัวแน่น

ภาพ: The Art Auction Center