‘ทวี นันทขว้าง’ บิดาของ ‘น้ำพุ’ ศิลปินมือฉมังที่อ.ศิลป์ พีระศรี ชมว่า “เกิดมาเพื่อวาดรูป”

‘ทวี นันทขว้าง’ บิดาของ ‘น้ำพุ’ ศิลปินมือฉมังที่อ.ศิลป์ พีระศรี ชมว่า “เกิดมาเพื่อวาดรูป”

ทวี นันทขว้าง บิดาของ ‘น้ำพุ’ ศิลปินมือฉมังที่อ.ศิลป์ พีระศรี ยกย่องว่า “เกิดมาเพื่อวาดรูป” และ “ให้รางวัลที่ 1 ได้ทุกชิ้น ชิ้นไหนก็ได้” เมื่อเห็นงานของเขาแล้ว ผู้ชมสามารถตกหลุมรักได้ โดยไม่ต้องพึ่งคำอธิบายตัวงานศิลปะเพิ่มเติม

จากลำพูนสู่กรุงเทพฯ

ทวี เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 เป็นคนอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพราะชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ พอจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนในละแวกบ้านเกิด ท่านจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง เรียนอยู่ 2 ปีจนอายุได้ 20 ก็ย้ายมาเรียนที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ตอนนั้นเพิ่งเปิดมาได้แค่สองสามปีโดยมีอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการสอน

ทวีเรียนจบจากศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2491 และไปทำงานเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างอยู่ 4 ปี หลังจากนั้น ท่านก็ย้ายไปอยู่ที่กรมการข้าวอีก 2 ปี จนในที่สุดก็ลาออกมาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยอาจารย์ศิลป์ สอนวิชาจิตรกรรมในมหาวิทยาลัยศิลปากร

ในปีพ.ศ. 2503 ทวีได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้ไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรม ปกติหลักสูตรใช้เวลาเรียนสี่ปีถึงจะจบ แต่ทวีมีพื้นฐานแน่นจากโรงเรียนเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงใช้เวลาแค่ 2 ปีก็เรียนจบ

เมื่อกลับมาเมืองไทย ทวี ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในฐานะศิลปินอิสระ ควบคู่ไปกับการสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านสอนศิลปะจนเกษียณอายุในปีพ.ศ. 2528 หลังเกษียณจึงมีเวลาสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่กับบ้านอย่างเต็มที่ ทวีทุ่มเททำงานศิลปะแม้เวลาที่ป่วยเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรงจนทำให้เจ็บปวดทุกครั้งที่ขยับเขยื้อน แต่ท่านก็ยังฝืนวาดภาพที่ท่านรักเพื่อให้จิตใจสงบ ทวี นันทขว้าง เสียชีวิตเมื่อพ.ศ. 2534 ในวัย 66 ปี

ทวี นันทขว้าง

สามีของสุวรรณี พ่อของน้ำพุ

เรื่องชีวิตส่วนตัว ทวี พบรักและแต่งงานครั้งแรกกับ สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดัง ทั้งคู่มีบุตรสาวและบุตรชาย รวม 4 คน หนึ่งในนั้นคือ วงศ์เมือง นันทขว้าง หรือ ‘น้ำพุ’ ที่เสียชีวิตจากการใช้ยาเสพติด ด้วยความเสียใจและอยากให้เป็นอุทาหรณ์ สุวรรณีจึงเขียนเรื่องของน้ำพุตีพิมพ์เป็นหนังสือ ตัวสุวรรณีเองก็มีชีวิตที่แสนเศร้าเพราะภายหลังเธอต้องเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมด้วยคมมีดของฆาตกรที่ต้องการเพียงจะชิงทรัพย์

ทวี แยกทางกับ สุวรรณี ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ เหล่านี้ มีรักใหม่อีกครั้งแต่ก็ไปไม่รอด ลองผิดลองถูกจนในที่สุดท่านก็สมรสกับ บุญรักษา จันทร์ส่องแสง และมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน

อิมเพรสชั่นนิสม์ คลี่คลายเป็นเซอเรียลลิสต์

ย้อนมาที่เรื่องผลงานศิลปะ รูปแบบผลงานในสมัยแรกเริ่มของทวี ส่วนใหญ่จะเป็นแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ (impressionism) งานของท่านในช่วงนี้มีเอกลักษณ์ด้วยการป้ายสีฉุบฉับอย่างรวดเร็วแม่นยำด้วยฝีแปรงกว้าง ๆ ก่อนจะจบงานด้วยการตัดเส้นรอบ ๆ รูปทรงต่าง ๆ เพื่อเน้นความหนักแน่น

เนื้อหาของภาพในยุคแรกมักเป็นภาพวัด ภาพหุ่นนิ่ง และภาพเหมือนบุคคล หลังจากนั้น เมื่อทวีมีอายุมากขึ้นท่านจึงค่อย ๆ เปลี่ยนสไตล์การวาดเป็นแบบเสมือนจริงยิ่งขึ้นด้วยการใช้พู่กันขนาดเล็กค่อย ๆ บรรจงใส่รายละเอียดยุบยิบลงในภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพดอกบัว ภาพดอกกล้วยไม้ ภาพทิวทัศน์ขุนเขา และภาพป่าดงพงไพรที่ดูสบายตา

ผลงานของทวี ในยุคนี้มีเอกลักษณ์ที่ความลึกล้ำของภาพ ทวี ไม่ได้พยายามเลียนแบบธรรมชาติ สิ่งที่ท่านทำคือเพิ่มเติมและตัดทอนสิ่งที่มีในธรรมชาติ นำมาจัดองค์ประกอบใหม่ในบรรยากาศที่เหมือนจะอยู่ในฝันก่อให้เกิดความรู้สึกพิศวง ด้วยเหตุนี้ นักวิจารณ์ศิลปะจึงมักจำแนกผลงานของทวี เป็นแนวเหนือจริง หรือเซอเรียลลิสต์ (surrealism) และยกให้เป็นศิลปินคนแรก ๆ ของเมืองไทยที่ริเริ่มวาดภาพในสไตล์นี้

 

ให้รางวัลที่ 1 ได้ทุกชิ้น ชิ้นไหนก็ได้

ต้องบอกเลยว่าฝีไม้ลายมือของ ทวี นันทขว้าง ฉายแววโด่งดังมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรหรือที่ไหน ๆ ในโลก นักเรียนที่ได้คะแนน 100 เต็มนับว่าเป็นเลิศ แต่สำหรับทวี งานของท่านมักได้คะแนน 100 + 1 หรือ 100 + 3 อยู่เนือง ๆ เรียกได้ว่า เก่งเกินจนต้องให้คะแนนแบบล้นๆ เป็นที่รู้ดีในมหาวิทยาลัยว่า งานของทวี มักถูกอาจารย์เลือกมาติดบอร์ดโชว์ให้เพื่อน ๆ อิจฉาเล่นอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งกลายมาเป็นอาจารย์สอนศิลปะซะเอง

ภาพวาดชิ้นต่าง ๆ ของ ทวี กวาดรางวัลจากงานประกวดศิลปะระดับชาติ และระดับนานาชาติมากมาย ครั้งหนึ่ง อาจารย์ศิลป์ถึงกับเอ่ยปากชมว่า “นายทวีเขาเกิดมาเพื่อเขียนรูป งานของนายทวีนี้ให้รางวัลที่ 1 ได้ทุกชิ้น ชิ้นไหนก็ได้” ด้วยความสามารถและรางวัลการันตีมากมายจึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในปี พ.ศ. 2499 และได้เป็นศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ. 2533 ซ้อนไปอีกตำแหน่ง

‘ทวี นันทขว้าง’ บิดาของ ‘น้ำพุ’ ศิลปินมือฉมังที่อ.ศิลป์ พีระศรี ชมว่า “เกิดมาเพื่อวาดรูป”

ทุบสถิติราคาอย่างต่อเนื่อง

ในแง่ความนิยมชมชอบของสาธารณชนไทยกับผลงานศิลปะของ ทวี นันทขว้าง ถ้าบอกว่า ฮิตกันมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบันนั้นไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินจริงเลย ตั้งแต่ตอนที่ทวี มีชีวิตอยู่ ผลงานของท่านก็วาดไม่ทันขายแล้ว แกลเลอรีหรือนักสะสมถ้าอยากได้ก็ต้องรอคิวกันยาวเหยียด สมัยที่ทวี มีชีวิตอยู่ ภาพเขียนของท่านเปลี่ยนมือกันในราคาหลักแสนซึ่งถือว่าเป็นศิลปินที่ขายผลงานได้ราคาสูงที่สุดท่านหนึ่งในเมืองไทย แถมคนซื้อบางคนซื้อไปแล้วถูกใจถึงกับใจป้ำโอนเงินมาเพิ่มให้ก็มี

ถึงผลงานจะขายดีได้ราคาแต่ทวีก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เพราะภาพแต่ละภาพใช้เวลาวาดเป็นเดือนกว่าจะเสร็จ อีกทั้งศิลปินไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะปั๊มผลงานออกมาได้ทุกวัน ถ้าอารมณ์ไม่ดี ฟีลลิ่งไม่มา จะให้ฝืนวาดยังไงก็วาดไม่ได้ ในแต่ละปี ทวี เลยผลิตผลงานออกมาได้เพียงแค่ไม่กี่ชิ้น

หลังจากทวี ถึงแก่กรรม ราคาผลงานของท่านก็เริ่มขยับจากหลักแสนไปเป็นหลักล้าน และแพงขึ้นเรื่อย ๆตามลำดับ ยกตัวอย่างในช่วงราวปี พ.ศ. 2540 มีการประมูลของ ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) ที่เอาทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการมาขายทอดตลาด และการประมูลของบริษัทประมูลระดับโลกอย่าง คริสตี้ส์ (Christie's) ที่มาจัดงานประมูลศิลปะในประเทศไทย ภาพวาดที่ขายได้ราคาสูงสุดในงานประมูลทั้ง 2 งานก็เป็นผลงานของทวี โดยขายได้ในราคาภาพละเกือบ 3 ล้านบาท

หลังจากนั้น เมื่อมีผลงานของทวีออกประมูลที่ไหนก็ยังรักษาสถิติราคาได้อย่างต่อเนื่อง กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานของทวี ยังคงมีแฟนคลับหน้าเก่าหน้าใหม่อย่างเหนียวแน่น เวลาจะเปลี่ยนมือกันแต่ละครั้งยังมีคนไทยใจถึง ซุ่มเงียบควักเงินจ่ายกันในราคาหลายล้านบาท หรือถ้าเป็นภาพขนาดใหญ่ไซส์พิเศษก็ซื้อขายกันไปหลายชิ้นในราคาหลักสิบล้านบาทขึ้นไป

‘ทวี นันทขว้าง’ บิดาของ ‘น้ำพุ’ ศิลปินมือฉมังที่อ.ศิลป์ พีระศรี ชมว่า “เกิดมาเพื่อวาดรูป”

ตกหลุมรักได้เลย โดยไม่ต้องพึ่งคำอธิบาย

ผลงานจิตรกรรมของทวีนั้นทำให้ตกหลุมรักไม่ยาก หากได้มองจะรู้สึกเหมือนกำลังถูกดูดไปในอีกมิติ ลองจินตนาการภาพบรรยากาศบึงน้ำสลัวๆ ที่เต็มไปด้วยดอกบัวสีชมพูสดตัดกับใบบัวที่มีทั้งใบอ่อนใบแก่สีเขียวสีน้ำตาล รอบ ๆ บึงมีต้นไผ่กำลังโน้มกิ่งสัมผัสปลายใบกับผิวน้ำอย่างแผ่วเบา เกิดเป็นริ้วคลื่นเล็ก ๆ ดันเอาใบไม้แห้งที่ลอยอยู่ให้ขยับไปกระทบกับกอผักบุ้งที่อยู่ใกล้ ๆ บนใบบัวมีหยดน้ำเม็ดเล็ก ๆ ใส ๆ กลิ้งเกลือกเปล่งประกายระยิบระยับให้ความรู้สึกชุ่มเย็น

แสงและเงาในภาพนั้นเหมือนจะสมจริงแต่ก็ไม่จริง บอกไม่ได้ว่าเป็นเวลาเช้าสายบ่ายเย็น กลางวันหรือกลางคืน ตลอดเวลาที่ติดอยู่ในมิติที่น่ารื่นรมย์นี้ ผู้ชมจะรับรู้ถึงความสงบนิ่ง และเข้าใจเลยว่าผลงานศิลปะชิ้นเยี่ยมนั้นสามารถชักนำจิตใจได้มากจริง ๆ

เมื่อเห็นภาพวาดอันงดงามเข้าถึงได้ง่าย และความสำเร็จอันเป็นอมตะของ ทวี นันทขว้าง ถึงแม้ตัวศิลปินจะไม่อยู่ แล้วหันมามองศิลปะสมัยใหม่ในทุกวันนี้ที่ศิลปินมากมายพยายามดิ้นรนสร้างผลงานให้แหวกแนวหลุดโลกจนบางทีก็ดูไม่รู้เรื่อง ต้องพึ่งการแถไถอธิบายแนวคิดให้คนดูที่เริ่มจะปวดหัวได้เข้าใจ เลยทำให้รู้สึกว่างานศิลปะแบบที่เห็นแล้วสวยเลยไม่ต้องคิดเยอะ ดูง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งนั้นก็ดี เพราะสร้างความสุนทรีย์ให้ได้ทันทีและและเป็นความสุนทรีย์ที่แท้จริง คงมีหลายคนคิดเช่นนี้ ความนิยมในผลงานของทวีเลยยังคง ‘ทวี’ ขึ้นเรื่อย ๆ ไปกับกาลเวลา

 

เรื่อง: ตัวแน่น

ภาพ: The Art Auction Center