‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ ผู้เขียน The Lord of the Rings ได้ไอเดียสร้างวรรณกรรมอมตะมาจากไหน?

‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ ผู้เขียน The Lord of the Rings ได้ไอเดียสร้างวรรณกรรมอมตะมาจากไหน?

มหากาพย์ The Lord of the Rings และ The Hobbit ที่บัญญัติภาษาในจักรวาลของตัวเองเป็นผลงานของ ‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ เขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างวรรณกรรมอมตะส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ชีวิตและความสนใจทางด้านภาษา

  • ‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ (J. R. R. Tolkien) สร้างสรรค์จักรวาลแฟนตาซีของตัวเองที่มีทั้งประวัติศาสตร์ ผู้คน วัฒนธรรม และภาษาเฉพาะในจักรวาลแฟนตาซีของ The Hobbit และ The Lord of the Rings
  • ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่ทำให้ ‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ เขียนวรรณกรรมอมตะอีกชุดหนึ่งของโลกขึ้นมาคือ ประสบการณ์ชีวิตที่พิเศษเฉพาะและความสนใจทางด้านภาษาของเขาเอง

เป็นเรื่องยากที่จะนึกภาพของวรรณกรรมแฟนตาซียุคใหม่ที่ไม่มีเอลฟ์ คนแคระ และเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีประวัติศาสตร์ ภาษาแปลกหู และวัฒนธรรมเป็นของตนเองอยู่ในเรื่องราว อาจกล่าวได้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ส่วนหนึ่งแล้ว มีแรงบันดาลใจจากผลงานของ ‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ (J. R. R. Tolkien) ผู้เขียน The Hobbit และ The Lord of the Rings วรรณกรรม 2 เรื่องที่ทำให้ผู้อ่านตะลึงไปกับจินตนาการอันกว้างไกลของชายที่สร้างสรรค์โลกทั้งใบที่เรียกว่ามิดเดิลเอิร์ธ (Middle-earth)

“เรื่องราวเหล่านี้เริ่มไปพร้อมกับผม ถึงแม้ผมจะไม่ได้คิดหวังไว้ว่าจะมีใครสนใจเรื่องพวกนี้นอกจากตัวผมเอง ผมจำไม่ได้ว่ามีช่วงเวลาไหนที่ผมไม่เขียนมัน เด็กหลายคนสร้างหรือเริ่มสร้างภาษาในจินตนาการขึ้น ผมเองก็ทำเช่นกันนับตั้งแต่ผมเริ่มเขียนหนังสือได้ แต่ผมไม่เคยหยุดสร้างมันเลย”

ไม่เพียงสร้างโลกในจินตนาการที่ทำให้เราเชื่อว่าเป็นของจริง มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง วัฒนธรรมและผู้คนเท่านั้น โทลคีนยังไปไกลขนาดสร้างภาษาที่ใช้ได้จริงหลายภาษา มีตัวอักษร มีรูปแบบไวยากรณ์ และสร้างกระทั่งรากศัพท์ของแต่ละคำด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้โลกที่โทลคีนสร้างขึ้นมีความแข็งแรงและแทบจะแยกไม่ออกว่านี่คือโลกแต่ง หรือประวัติศาสตร์จริงกันแน่ 

แล้วอะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมให้โทลคีนสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาได้? คำตอบก็คือประสบการณ์ชีวิตและความสนใจทางด้านภาษา

โทลคีน มีชื่อเต็มว่า จอห์น โรนัลด์ รูเอล โทลคีน (John Ronald Reuel Tolkien) เกิดที่เมืองบลูมฟอนเทน (Bloemfontein) สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อปี 1892

ตอนที่อายุได้เพียง 4 ปี บิดาของโทลคีนก็เสียชีวิต มาเบล (Mabel Tolkien) ผู้เป็นแม่จึงนำโทลคีนและน้องชายย้ายกลับมาที่เกาะอังกฤษ สามแม่ลูกไปเช่ากระท่อมที่ตั้งอยู่ติดกับโรงสีแห่งหนึ่งนอกเมืองเบอร์มิงแฮม

โทลคีนกล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในวัยเด็กของเขา การเติบโตในชนบทปลูกฝังความรักในธรรมชาติให้กับสองพี่น้อง มาเบลเองก็สอนให้ลูกชายทั้งสองอ่าน เขียน และเริ่มรู้สึกว่าลูกชายคนโตชอบเรียนเกี่ยวกับภาษา โดยเฉพาะภาษาละติน แต่เมื่อโทลคีนมีอายุได้ 12 ปี มาเบลก็เสียชีวิต สองพี่น้องโทลคีนจึงต้องย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของบาทหลวงฟรานซิส ซาเวียร์ มอร์แกน (Francis Xavier Morgan) ที่โบสถ์ Birmingham Oratory ในเมืองเบอร์มิงแฮม ในปี 1904

ที่โบสถ์แห่งนี้เองที่ปลูกฝังความเป็นคาทอลิกให้กับโทลคีน ซึ่งส่งผลมาถึงงานเขียนของโทลคีนด้วย แต่มันก็ทำให้ชีวิตวัยเยาว์ที่เคยมีความสุขอยู่กับทุ่งนาชนบทต้องพลิกมาสู่เมืองที่เต็มไปด้วยอาคาร 

ไม่ไกลจากโบสถ์ที่โทลคีนอาศัยอยู่นั้นเป็นที่ตั้งของหอคอยและโรงงานสูบน้ำเก่าแก่ นี่จึงกลายมาเป็นภาพแรกของ ‘หอคอยทมิฬ’ ในความทรงจำของโทลคีน รวมไปถึงความรู้สึกต่อต้านต่อเครื่องกลไกและโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เพียงเท่านั้น การย้ายมาอยู่ใต้การดูแลของคุณพ่อฟรานซิสยังทำให้โทลคีนได้พบกับรักแรกและรักเดียวในชีวิตคือ อีดิธ แมรี่ โทลคีน (Edith Mary Tolkien นามสกุลเดิม แบรตต์ [Bratt])

เบเรนกับลูธิเอน

อีดิธเป็นเด็กกำพร้าที่แก่กว่าโทลคีน 3 ปี เธอได้รับความอนุเคราะห์จากคุณพ่อฟรานซิสเช่นเดียวกัน ทว่าคุณพ่อฟรานซิสไม่เห็นด้วยที่ทั้งสองคบหากัน เนื่องจากอีดิธไม่ได้ศรัทธาในวิถีคาทอลิก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1916 หลังจากที่อีดิธเปลี่ยนมาเป็นคาทอลิกในที่สุด 

หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เปิดฉาก โทลคีนถูกส่งไปรบที่ฝรั่งเศส วันหนึ่งในปี 1917 อีดิธมาเยี่ยมพร้อมลูกชาย สองสามีภรรยาออกไปเดินเล่นกัน ในขณะที่กำลังนั่งพักผ่อน อีดิธก็เต้นรำท่ามกลางหมู่ไม้ ความงามของภรรยาในวันนั้นฝังใจโทลคีนตลอดมา

“ในวันนั้น ผมของเธอดำขลับราวขนนกเรเวน ผิวงามผ่องไร้ริ้วรอย และดวงตาสุกใสอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เธอร้องเพลงและเธอร่ายรำ”

นั่นคือตอนที่เรื่องราวที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของโทลคีนเริ่มก่อตัวขึ้น คือตำนานของเบเรนและลูธิเอน ชายหนุ่มที่เป็นมนุษย์ไปตกหลุมรักธิดาของกษัตริย์เอลฟ์ ทั้งสองต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อให้ได้ครองคู่กัน แม้จะถูกคัดค้านจากกษัตริย์เอลฟ์แบบเดียวกับที่ทั้งสองเจอจากคุณพ่อฟรานซิส หรือต้องเผชิญหน้ากับเทพอสูรและการสละชีวิตอมตะ

เรื่องราวของเบเรนและลูธิเอน ไม่เพียงเป็นต้นกำเนิดของอารากอร์นและอาร์เวน แต่มีความหมายต่อตัวโทลคีนอย่างยิ่ง จนกระทั่งปรากฏชื่อของเบเรนและลูธิเอนสลักอยู่บนแผ่นหินเหนือหลุมศพของทั้งโทลคีนและอีดิธว่า 

“อีดิธ แมรี่ โทลคีน ลูธิเอน 1889 - 1971  
จอห์น โรนัลด์ รูเอล โทลคีน เบเรน 1892 - 1973”

 

สมาคมนักอ่านและจุดเริ่มต้นของมิดเดิลเอิร์ธ

ในช่วงระหว่างที่ความสัมพันธ์ของโทลคีนและอีดิธเริ่มก่อตัวนี้เอง ในปี 1911 ตอนที่อายุ 19 โทลคีนและเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ดอีก 3 คนได้ก่อตั้งสมาคมห้องสมุดขึ้น มีชื่อว่า สมาคมน้ำชาชาวบาร์โรเวียน หรือทีซีบีเอส (Tea Club, Barrovian Society; T. C. B. S) เพื่อแบ่งปันความรู้ โดยเฉพาะบทกวี วรรณกรรม และเอาเรื่องที่ตนเองเขียนหรือสนใจมาอ่านให้เพื่อน ๆ ฟัง 

โทลคีนแบ่งปันความสนใจเกี่ยวกับตำนานโบราณและเทพปกรณัมกับเพื่อน ๆ โดยเฉพาะ เบวูล์ฟ (Beowulf) และ เซอร์กาเวนกับอัศวินมรกต (Sir Gawain and the Green Knight) บทกวีภาษาแองโกล-แซกซอนและภาษาอังกฤษโบราณ ซึ่งต่อมาโทลคีนนำมาแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษยุคใหม่ในภายหลัง 

ที่สมาคมทีซีบีเอสนี้เองที่โทลคีนมีความคิดที่จะแต่งเรื่องราวที่เป็นมหากาพย์ขึ้น และได้เสียงสนับสนุนจากเพื่อน ๆ เป็นอย่างดี และในช่วงนี้เองที่โทลคีนเริ่มต้นวางรากฐานให้กับภาษาในจินตนาการของตน ได้แก่ เควนยา (Quenya) หรือภาษาละตินของพวกเอลฟ์ และซินดาริน (Sindarin) ที่เป็นภาษาพูดของเอลฟ์ในยุคที่สาม จนกระทั่งในปี 1914 โทลคีนก็ได้แต่งบทกวีขึ้นหนึ่งบทที่ได้แรงบันดาลใจมาจากส่วนหนึ่งของโคลงเกี่ยวกับกำเนิดพระคริสต์ บทกวีที่โทลคีนแต่งขึ้นนี้มีชื่อว่า 

‘การเดินทางของเออาเรนเดล ดาราสนธยา (The Voyage of Éarendel the Evening Star)’ 

ซึ่งนับว่าเป็นงานเขียนชิ้นแรกของโทลคีนที่เกี่ยวข้องกับมิดเดิลเอิร์ธ นับจากนั้นเป็นต้นมา โทลคีนก็เริ่มต้นเขียนเรื่องราวของมิดเดิลเอิร์ธในยุคบรรพกาล โดยเขียนลงในสมุดโน้ตราคาแค่ไม่กี่เพนนี โทลคีนเรียกมันว่าประมวลตำนานอันสาบสูญ (Book of Lost Tales) บางบทของหนังสือเล่มนี้ โทลคีนเขียนขึ้นในสนามเพลาะหรือหลุมที่ใช้หลบกระสุนในช่วงที่โทลคีนร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยซ้ำ

 

การมาถึงของฮอบบิท

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงในปี 1918 โทลคีนกลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ในโครงการจัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซฟอร์ด โดยทำหน้าที่หาความหมายและรากศัพท์ของคำ ในช่วงที่โทลคีนทำงานอยู่นั้น ตัวพจนานุกรมได้ดำเนินงานมาถึงอักษร W แล้ว หลายคำที่โทลคีนเป็นคนอธิบายความหมายก็ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่คำพื้น ๆ อย่าง water และ warm

หลังจากนั้นโทลคีนก็ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) และมีงานเขียนและงานแปลออกมาหลายชิ้น หนึ่งในนั้นก็คือ เซอร์กาเวนกับอัศวินมรกต ที่เคยอ่านให้เพื่อน ๆ ฟังในสมาคมทีซีบีเอส ในระหว่างนี้ก็ไม่ได้ทิ้งงานเขียนเกี่ยวกับมิดเดิลเอิร์ธเลย 

โทลคีนย้ายกลับมาทำงานที่ออกซฟอร์ดอีกครั้งในปี 1925 ในฐานะอาจารย์วิชาภาษาแองโกล-แซกซอน และได้เข้าร่วมกับสมาคมอิงคลิง (The Inkling) อันโด่งดัง ซึ่งมีสมาชิกคนสำคัญและกลายเป็นเพื่อนรักคู่กัดของโทลคีน คือ ซี. เอส. ลิวอีส (C. S. Lewis) เจ้าของผลงาน The Chronicles of Narnia

ในกลุ่มอิงคลิงนี้เองที่โทลคีนเริ่มเอางานเขียนของตนคือชุด Lost Tales และฉบับปรับปรุงเรื่องราวใหม่มาอ่านให้สมาชิกฟัง จนกระทั่งในฤดูร้อนปี 1930 ขณะที่โทลคีนกำลังตรวจข้อสอบอยู่ ก็มีประโยคหนึ่งแล่นเข้ามาในหัว เขาจึงเขียนลงไปด้านหลังกระดาษคำตอบของนักศึกษาว่า

“ในโพรงใต้ดินแห่งหนึ่ง มีฮอบบิทอาศัยอยู่”

โทลคีนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำนั้นมาจากไหน หรือแปลว่าอะไร และก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ เว้นแต่เขียนแบบร่างแผนที่ แล้วจึงค่อย ๆ เขียนเรื่องราวของฮอบบิทขึ้นมา แต่ไม่เคยมีความคิดที่จะเขียนเป็นหนังสือสำหรับตีพิมพ์เลย นอกจากเอาไว้เล่าเป็นนิทานให้ลูก ๆ ฟัง และนำไปอ่านให้สมาคมอิงคลิงฟัง

แม้ว่าซี. เอส. ลิวอีส จะคะยั้นคะยอให้เขียนให้จบ ๆ แล้วส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ตีพิมพ์เสียที แต่ในที่สุดต้นฉบับนี้ก็มาถึงมือสำนักพิมพ์ เมื่อคุณแม่อธิการแห่งเชอร์เวลล์ เอดจ์ (Rev. Mother of Cherwell Edge) ขอยืมไปอ่านตอนที่ป่วย แล้วมีลูกศิษย์คนหนึ่งที่ทำงานให้สำนักพิมพ์ Allen & Unwin ไปเห็นเข้า จึงผลักดันให้ The Hobbit ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1937 

หนังสือเรื่องฮอบบิทได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจนบรรณาธิการต้องส่งจดหมายมาแสดงความยินดีพร้อมกับเขียนมาว่าผู้อ่านจำนวนมากเรียกร้องที่จะเห็นภาคต่อของฮอบบิท ในช่วงคริสต์มาสของปีถัดมา โทลคีนจึงตอบไปว่า

“ผมกำลังเขียนบทแรกของเรื่องราวครั้งใหม่เกี่ยวกับพวกฮอบบิทอยู่ บทนั้นชื่อว่า ‘งานเลี้ยงที่รอคอย’”

 

การมาถึงของแหวนแห่งอำนาจและซิลมาริล 

โทลคีนใช้เวลาถึง 13 ปีในการเขียนและตรวจต้นฉบับอีก 3 ปี กว่าที่ The Lord of the Rings จะได้รับการตีพิมพ์ หนังสือที่มีถึง 62 บทเป็นเรื่องท้าทายสำหรับสำนักพิมพ์ ไม่เพียงมันจะหนาเกินกว่าจะตีพิมพ์เป็นเล่มเดียวได้ มันยังเต็มไปด้วยชื่อคนและสถานที่ ภาษาไม่คุ้นหูมากมาย 

ในเรื่องฮอบบิท โทลคีนตั้งใจให้เป็นแค่นิทานที่ยืมเอาชื่อและตัวละครบางตัวจากตำนานที่แต่งเอาไว้มาใช้ แต่ใน The Lord of the Rings โทลคีนจงใจให้เป็นภาคต่อของตำนานอย่างแท้จริง มันจึงมีโทนจริงจังอย่างเหลือเชื่อและหนามากเกินไป จนในที่สุด สำนักพิมพ์ตัดสินใจหั่นหนังสือออกเป็น 3 เล่มเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์หากว่าเล่มแรกขายไม่ดี จะได้ไม่ต้องขาดทุนมากนัก

ผลที่ได้คือหนังสือ 3 เล่มได้รับการตอบรับในฐานะสุดยอดวรรณกรรมแฟนตาซีของโลก และวางรากฐานวรรณกรรมแฟนตาซีชั้นสูง เป็นต้นแบบให้กับนักเขียน เกม และภาพยนตร์ไซไฟ-แฟนตาซีมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ The Lord of the Rings จะตีพิมพ์ไปแล้ว โทลคีนก็ไม่เคยหยุดการพัฒนาตำนานของตนเองเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่สลับซับซ้อน ชื่อและภาษา จนในที่สุดหลังจากที่โทลคีนเสียชีวิตไปแล้วมันก็ไม่เคยเสร็จสมบูรณ์ ทิ้งไว้แต่ต้นฉบับจำนวนมหาศาลเกินกว่าจะเอามาตีพิมพ์ได้

ในที่สุดก็ได้ คริสโตเฟอร์ โทลคีน ลูกชายคนสำคัญมารวบรวม เรียบเรียง และชำระ จนในที่สุดในปี 1977 สี่ปีหลังจากที่โทลคีนเสียชีวิตไปแล้ว งานเขียนทั้งชีวิตของโทลคีนก็ได้รับการพิมพ์ในชื่อ ตำนานแห่งซิลมาริล (The Silmarillion)

 

การก้าวเข้าสู่จอเงินและจอแก้ว

ปัจจุบันโทลคีนถือว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก ลำพังแค่ The Hobbit อย่างเดียวก็ขายไปแล้วมากกว่า 100 ล้านเล่ม และแปลไปมากกว่า 50 ภาษา ขณะที่ The Lord of the Rings มียอดขายรวมทั้งแบบแยกเล่มและรวมเล่มกว่า 150 ล้านเล่มทั่วโลก และแปลไปแล้วเกือบ 40 ภาษา

ความสำเร็จระดับนี้และความสนใจของนักอ่านที่ไม่เคยตกทำให้มีความพยายามที่จะดัดแปลงหนังสือทั้งสองเล่มในรูปแบบภาพยนตร์หลายครั้ง (แม้โทลคีนเองจะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำ The Lord of the Rings ฉบับภาพยนตร์)

ความพยายามครั้งแรกที่นำผลงานทั้งสองขึ้นมาบนจอเงินที่รู้จักกันดีคือภาพยนตร์แอนิเมชัน The Hobbit ในปี 1977 และ The Lord of the Rings ในปี 1978 ทั้งสองเรื่องเรียกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เรื่องที่สองได้รับคำวิจารณ์ในเชิงค่อนไปทางลบ เพราะจบอย่างค้างคาเพียงแค่ครึ่งเรื่องเท่านั้น จึงไม่มีการเข็นภาคต่อตามมา ทว่าฉบับปี 1978 นี้เองที่เป็นต้นแบบให้กับภาพยนตร์ฉบับของปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson)

ในปี 1995 ที่ปีเตอร์ แจ็กสันเริ่มต้นโครงการภาพยนตร์ The Lord of the Rings นั้น ลิขสิทธิ์ในการดัดแปลงอยู่ในมือของค่าย Miramax แต่ทางค่ายต้องการให้ทำภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวจบ และยอมให้เต็มที่แค่สองเท่านั้น ซึ่งนั่นจะต้องตัดทอนเนื้อหาอย่างมหาศาล จนแจ็กสันต้องหาผู้ลงทุนใหม่ก่อนที่สิทธิ์จะหลุดมือตนไป ซึ่งก็มาได้ New Line Cinema ที่ให้งบมา 280 ล้านเหรียญ และสานฝันให้แจ็กสันด้วยการอนุมัติให้เพิ่มจากหนึ่งไปเป็นสามเรื่องตามจำนวนหนังสือที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 เล่ม

แจ็กสันจึงรวบรวมทีมงานทั้งบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ผู้รู้ในตำนานของโทลคีน ศิลปินที่วาดรูปประกอบผลงานของโทลคีนมาหลายสิบปี เป็นการรวมบรรดาแฟนตัวจริงของโทลคีนให้มาร่วมมือกัน หลังจากใช้เวลาถ่ายทำหนึ่งปีเต็มที่นิวซีแลนด์ ภาพยนตร์แบบคนแสดงจริงเรื่องแรกของ The Lord of the Rings ก็ปรากฏโฉมในปี 2001 ตามมาด้วยตอนที่สองและสามในปีถัด ๆ มา

หากความสำเร็จของฉบับวรรณกรรมยิ่งใหญ่เพียงไร ความสำเร็จของฉบับภาพยนตร์ก็เรียกได้ว่าทัดเทียมกัน ทันทีที่ The Fellowship of the Ring เผยโฉม มันสร้างปรากฏการณ์ให้กับภาพยนตร์แฟนตาซีฟอร์มยักษ์ (ซึ่งฉายพร้อมกันกับแฮร์รี พอตเตอร์ ภาคแรก) มันทำรายได้ถล่มทลายเกือบ 800 ล้านเหรียญทั่วโลกในปีที่ออกฉาย จากทุนสร้างเพียง 281 ล้านเหรียญสำหรับภาพยนตร์ 3 เรื่อง และนี่เป็นเพียงแค่เรื่องแรกเท่านั้น

ภาพยนตร์เรื่องถัดมาก็ได้รับคำชื่นชมและสร้างปรากฏการณ์ไม่แพ้กันด้วยรายได้ 936 ล้าน และ 1,100 ล้านเหรียญ (เป็นภาพยนตร์พันล้านเรื่องที่สองถัดจาก Titanic) ทั้งยังสร้างสถิติเป็นภาพยนตร์ชุดที่กวาดรางวัลออสการ์มากที่สุดถึง 17 ตัว จากการเข้าชิงรวม 30 สาขา

ความสำเร็จนี้ไม่เพียงทำให้มิดเดิลเอิร์ธเป็นที่รู้จักในวัฒนธรรมป็อปและสร้างแฟนรุ่นใหม่ ๆ ให้โทลคีนเท่านั้น มันยังนำไปสู่การเปิดศักราชภาพยนตร์แฟนตาซี ซึ่งรวมไปถึง The Hobbit ที่ได้ทีมสร้างเดิมมารังสรรค์เช่นกัน

ล่าสุด The Lord of the Rings ถูกหยิบมาตีความใหม่และดัดแปลงในรูปแบบซีรีส์ โดย Amazon Prime ซึ่งจะบอกเล่าเรื่องราวในยุคที่สองของมิดเดิลเอิร์ธ ที่ยังไม่เคยถูกดัดแปลงในรูปแบบใดมาก่อนในชื่อ The Lord of the Rings: The Rings of Power

ท่ามกลางเสียงที่แตกเป็นสองทางทั้งตื่นเต้นจากผู้ชมและวิจารณ์แบบกังวล ๆ แกมสงสัยจากแฟนวรรณกรรมจากภาพตัวอย่างที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้

ตัวซีรีส์ถูกวางแผนเอาไว้ถึง 5 ซีซัน ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งซีซันแรกทยอยปล่อยออกมาให้รับชมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2022

ต้องรอชมกันว่า Amazon Prime จะนำเราย้อนกลับไปสู่มิดเดิลเอิร์ธในทิศทางใดต่อไป

 

เรื่อง: เพจ พ่อมดเทาเล่าเรื่อง

ภาพ: ภาพถ่ายโทลคีน เมื่อธันวาคม 1955 ภาพจาก Haywood Magee/Getty Images ประกอบกับโปสเตอร์ภาพยนตร์ The Lord of The Rings