ยูมิ กาโตะ: เมื่อ MISS UNIVERSE JAPAN 2018 แปลงร่างเป็นเซเลอร์มูน

ยูมิ กาโตะ: เมื่อ MISS UNIVERSE JAPAN 2018 แปลงร่างเป็นเซเลอร์มูน

เมื่อ MISS UNIVERSE JAPAN 2018 แปลงร่างเป็นเซเลอร์มูน

ทันทีที่ภาพของ ยูมิ กาโตะ (Yuumi Kato) MISS UNIVERSE JAPAN 2018 เปิดเสื้อคลุมทรงนินจาสาวสีแดงออกแล้วเผยให้เห็นชุด "เซเลอร์มูน" ที่เธอนั้นแอบซ่อนไว้ภายใต้เสื้อคลุม ก็เรียกเสียงฮือฮาอย่างเกรียวกราวจากแฟนๆ ที่มาร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวชุดประจำชาติที่ตัวแทนสาวจากญี่ปุ่นในปีนี้จะใส่ประกวดในเวทีมิสยูนิเวิร์ส ชุดประจำชาติ จะใช้ร่วมประชันในการประกวดรอบชุดประจำชาติ หรือที่ในยุคหลังๆ ของการประกวดเวทีมิสยูนิเวิร์สได้สื่อว่าเป็นชุดที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็นรัฐชาตินั้นๆ ของตัวสาวงาม ทว่าเสียงเชียร์และแสงแฟลชและสปอตไลต์ที่ส่งมายังตัวของยูมิ ไม่เพียงแต่ดังกึกก้องและส่องแสงวูบวาบอยู่เฉพาะในงานแถลงข่าวเท่านั้น แต่แฟนเพจการประกวดนางงามจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Missology, Sash Factor the Beau , thebeautyqueens และเพจนางงามจากลาตินอเมริกาทั้งหมด รวมไปถึงแฟนเพจที่มีแฟนนางงามติดตามมากที่สุดเพจหนึ่งอย่าง T-PAGEANT ของไทยต่างก็แสดงความคิดเห็น กดไลค์และชื่นชมกับภาพและวิดีโอเคลื่อนไหวของยูมิในชุดของ “อัศวินเซเลอร์มูน” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชุดนินจาสาวเป็นอย่างมาก บ้างบอกว่าในที่สุดฝันก็เป็นจริงสักทีที่ได้เห็นตัวละครของการ์ตูนในดวงใจได้เข้ามาโลดแล่นอยู่ในวัฒนธรรมการประกวดนางงามจักรวาล บ้างก็บอกว่า “นี่เป็นแนวคิดง่ายๆ แต่ยูมิสามารถถ่ายทอดความเป็นญี่ปุ่นได้ดีสุดๆ โดยที่ไม่ต้องมีสิ่งใดซับซ้อน” บ้างก็ว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเดินออกจากแนวคิดชุดประจำชาติแบบเดิมๆ จากกิโมโน มาสู่ชุดคอสเพลย์ซึ่งร่วมสมัยมากๆ” สำหรับผู้เขียนเองในฐานะที่ติดตามการประกวดนางงามจักรวาลในปีนี้มาตลอด พบว่านี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้แฟนนางงามโลกหันมาจับตามองยูมิในฐานะสาวที่สวมสายสะพาย JAPAN อย่างจริงจังนับตั้งแต่เธอคว้ามงกุฎประจำตำแหน่งมาได้ เพราะก่อนหน้านี้เธอแทบจะไม่เป็นที่ถูกจับตามองจากแฟนนางงามแต่อย่างใด การแปลงร่างของเธอเป็นอัศวินเซเลอร์มูน ในครั้งนี้ ทำให้ประวัติของเธอปรากฏชัดขึ้นกว่าเก่า รวมถึงตัวตนของเธอถูกพูดถึงอย่างจริงจังเป็นวงกว้างในกลุ่มฐานแฟนนางงามระดับโลก ยูมิ สาวงาม วัย 21 ตัวแทน MISS UNIVERSE JAPAN คนแรกที่จะนำเอาชุดคอสเพลย์เซเลอร์มูน ขึ้นเวทีนางงามจักรวาล เป็นสาวงามจากเมืองนาโกย่า เธอย้ายมาพำนักและเติบโตที่เมืองเซลังกอร์ ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่อายุ 5-13 ปี พอช่วงวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 15-18 ปีสาวนางงามจากนาโกย่าผู้นี้ก็เข้าอบรมหลักสูตรการชงชาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นอย่างจริงจัง รวมไปถึงขั้นตอนการเสิร์ฟชาแบบญี่ปุ่นด้วย แล้วก็ก้าวขึ้นมาเป็นนางแบบมืออาชีพตอนอายุได้ 19 ปี สังกัดโมเดลลิง Central Japan Model Agency ยูมิสามารถพูดภาษาญี่ปุ่น จีน อังกฤษ และมาเลย์ได้อย่างคล่องแคล่ว และล่าสุดก็ทำงานเป็นนักแสดงและผู้สื่อข่าวอีกด้วย หลังจากที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวชุดประจำชาติของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระแสของยูมิก็ฮอต ติดลมบน แฟนๆ ชาวไทยเริ่มมีการเปรียบเทียบหน้าตาของเธอกับคนดังในบ้านเราแล้วด้วย บ้างก็ว่าเธอหน้าตาละม้ายสาวชาวอาเซียนบ้านเรา เช่น ใบเฟิร์น-พัสกร พลบูรณ์ ลูกสาวของตลกชื่อดังอย่าง จาตุรงค์ มกจ๊ก ทว่าสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ จากที่ยูมิ ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นเป็นม้านอกสายตาในการประกวดนางงามจักรวาลในปีนี้ แต่ตอนนี้เธอถูกพูดถึงไปทั่วโลกแล้วในชั่วระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แน่นอนมนตร์วิเศษที่ทำให้เธอเข้าไปอยู่ในใจของแฟนนางงามจำนวนมากทั่วโลกนั่นก็คือ “มนตร์แห่งจันทรา ที่ได้สำแดงฤทธา” จากคฑาแปลงร่างของสาวน้อยผู้พิทักษ์ความรักและความยุติธรรมอย่าง อูซางิ จัง ตัวละครเอก ซึ่งเป็นสาวน้อยหน้าตาทะเล้นและมีนิสัยซุ่มซ่ามจากการ์ตูนแอนิเมชันและมังงะดังของญี่ปุ่นที่ฮิตเป็นขวัญใจเด็กๆ ไปทั่วโลกในช่วงยุค ‘90 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นในเอเชียเองอย่างประเทศต้นฉบับเช่น ญี่ปุ่น ตามมาด้วยเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และแน่นอนไทยที่ออกอากาศทางช่อง 9 การ์ตูนทุกๆ 9 โมงเช้าในยุคนั้น นอกจากนี้เซเลอร์มูน และเหล่าบรรดาอัศวินเซเลอร์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเซเลอร์เมอร์คิวรี เซเลอร์มาร์ส หรือเซเลอร์จูปิเตอร์ และวีนัส ต่างก็ยังไปโลดแล่นและปราบเหล่ามารร้ายด้วยพลังของเหล่าอัศวินเซเลอร์สาวอยู่ในจอทีวีของ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส รวมถึงกลุ่มยุโรปเหนืออย่างสแกนดิเนเวีย และค่อยๆ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปฝั่งอเมริกาเหนือและลาตินอเมริกาในที่สุด วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและสังคมญี่ปุ่นและนักพัฒนาบุคลากร ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าการ์ตูนญี่ปุ่นประเภทที่เป็นที่นิยมในกลุ่มแฟนๆ คือ Shōnen Manga: 少年漫画 (การ์ตูนสำหรับวัยรุ่นชาย) และ Shōjo Manga: 少女漫画 (การ์ตูนสำหรับวัยรุ่นผู้หญิง) เซเลอร์มูนเป็นการ์ตูน Shōjo Manga ที่ดังมากๆ ในยุค ‘90 โดยปกติการ์ตูนที่ญี่ปุ่นนั้นจะเป็นหนังสือการ์ตูนก่อน แล้วถ้าดังจริงๆ ค่อยถูกนำมาสร้างเป็นเป็นแอนิเมะ (Anime) แต่เซเลอร์มูนในเกือบทุกประเทศดังเพราะแอนิเมะ คนดูการ์ตูนแอนิเมะมาก่อนแล้วแฟน ๆ ค่อยไปตามอ่านหนังสือการ์ตูน เซเลอร์มูนพิเศษตรงที่เป็นการ์ตูนสำหรับผู้หญิง แต่ว่ามีการต่อสู้ มีท่าไม้ตาย หรือ Hissatsu-waza (必殺技) ในแนวการ์ตูน Shōnen สำหรับวัยรุ่นชาย เลยมีลักษณะผสมของการ์ตูนผู้หญิงที่เป็นซูเปอร์ฮีโรและครองใจแฟนคลับโดยเฉพาะผู้หญิงเป็นพิเศษ เพราะเป็นการแหกขนบอย่างมากที่ตัวละครหญิงทุกตัวเป็นซูเปอร์ฮีโรกันหมด ในขณะที่ตัวละครผู้ชายในเรื่องมีบทบาทน้อยกว่ามาก โดยเราจะเห็นว่าในการเปิดตัวชุดประจำชาติดังกล่าว ยูมิก็ได้ทำท่าไม้ตายของเซเลอร์มูนประกอบด้วยในการนำเสนอชุด  หากมองดูแล้วเซเลอร์มูนและเหล่าอัศวินเซเลอร์คนอื่นๆ จึงเป็นเหมือนฮีโรหญิงในโลกของซูเปอร์ฮีโรที่เต็มไปด้วยฮีโรเพศชายที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเด็กหญิง ทว่าอานิสงส์ความสนุกและการต่อสู้กับเหล่าร้ายเพื่อผดุงความยุติธรรมก็ยังส่งไปถึงเด็กผู้ชายที่โอบอุ้มเอาความเป็นหญิงและหรือที่ยังไม่รู้จักเพศสภาวะของตนในช่วงวัยเด็กได้อีกด้วย โดยที่หลายคนในวันนี้ก็ได้เติบโตขึ้นมาเป็นแฟนคลับนางงามที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนวีรสตรีหรือฮีโรผู้หญิงของพวกเขาเช่นกัน จากการศึกษาเรื่อง “Sailor Moon (Manga Comics) and Anime (Cartoon) Superheroine meets Barbie: Global Entertainment Commodity Comes to the United States” ของ Mary Grigsby ระบุว่าสินค้าที่เกิดจากการ์ตูนเรื่องดังนี้ถูกผลิตและจำหน่ายไปทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ เวลานั้น ทั้งในรูปแบบของ ซีดี วิดีโอ ตุ๊กตา และนำไปผลิตซ้ำเป็นละครเพลงและภาพยนตร์ นักวิจารณ์ทางวัฒนธรรมบางกลุ่มระบุว่าเซเลอร์มูนนั้นเป็น “อำนาจอ่อน” (soft power) ที่รัฐชาติหรือประเทศญี่ปุ่นใช้กับประเทศอื่นแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากผ่านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของตนในช่วงไม่กี่ปีก่อนที่ยุคมิลเลนเนียมจะมาถึง โดยเฉพาะกับตลาดอเมริกาซึ่งก็เป็นแหล่งต้นตำรับของวัฒนธรรมประกวดนางงามจักรวาลเช่นกัน เซเลอร์มูนเข้าไปครองหัวใจแฟนๆโดยเฉพาะแฟนๆ ที่เป็นกลุ่มเด็กผู้หญิงได้ เพราะเป็นที่ประจักษ์กันดีว่าในพื้นที่ของซูเปอร์ฮีโรของอเมริกา เช่นกลุ่มที่ Marvel และ DC ได้สร้างขึ้นมานั้นเป็นผู้ชายทั้งหมด หรือจะมีอยู่ก็เพียงแค่ตัวซูเปอร์ฮีโรผู้หญิงอย่าง Wonder Woman หรือไม่ก็ Catwoman ซึ่งรายหลังก็มีความคลุมเครือระหว่างการเป็นตัวร้ายกับฮีโรสาว การปรากฏตัวของเซเลอร์มูนจึงเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ว่างของซูเปอร์ฮีโรฝ่ายหญิงให้กับสังคมฮีโรโลกตะวันตกที่ครองตลาดอยู่นั่นเอง การก้าวขึ้นเป็นตัวแทนรัฐชาติ (nation state) ในฐานะนางงามของยูมิในครั้งนี้ จึงมาพร้อมกับพลังอำนาจอ่อนทางวัฒนธรรมอันนี้ เธอแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยภาพการเตรียมพร้อมในเรื่องชุดราตรี หรือวีทีอาร์เปิดตัวอื่นๆ เพียงแค่แปลงร่างเป็นอัศวินเซเลอร์มูน เธอก็สามารถส่งพลังความเป็นหญิงในตัวเธอ (femininity) ไปสู่แฟนนางงามที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้มาก่อนได้อย่างทั่วถึง มองอีกแง่หนึ่ง นอกจากยูมิจะสามารถนำเสนอความเป็นรัฐชาติญี่ปุ่นในฐานะรัฐชาติสมัยใหม่ (modern nation state) ซึ่งไม่ได้ยึดโยงอยู่กับรากเหง้าหรือวัฒนธรรมของซามูไรหรือนินจาอย่างเดียว (แบบที่เสื้อคลุมสีแดงตัวนอกก่อนการเปิดชุดข้างใน และเก็บส่วนเสื้อคลุมให้กลายเป็นโบว์ใหญ่สีแดงที่เราเห็นในชุดประจำตัวเซเลอร์มูน) แต่ยังประสบความสำเร็จในการนำเสนอให้เห็นว่า วัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับที่เป็นสากลและมีคุณค่าสำหรับคนทั่วโลก แบบที่เซเลอร์มูนแสดงให้เห็นว่า คุณค่าในตัวตนของตัวละครที่คอยพิทักษ์ความรักและความยุติธรรมนั้นเป็นคุณค่าที่สังคมโลกยอมรับ และอยากจะให้เกิดขึ้นผ่านเรือนกายของเธอที่ไม่ได้ขายวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นอีกแล้ว ทว่าดูแล้วคล้ายกับสิ่งที่ นิกกี มินาจ (Nicki Minaj) แร็ปเปอร์สาวคนดังที่เธอนั้นประยุกต์ใช้แนวคิดที่ โมลีน่า กุซมัน (Molina Guzman) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Dangerous curves ซึ่งวิพากษ์เรือนกายของผู้หญิงในสื่อเรียกว่า “symbolic rupture” (การแยกแตกตัวเชิงสัญลักษณ์) มาใช้กับการกำหนดภาพลักษณ์ของเธอในงานเพลงอัลบั้มต่างๆ มินาจได้สร้างวิถีต่างๆในการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวเธอในมิติเชื้อชาติ ด้วยการกำหนดรหัสเชิงสัญลักษณ์ของการแปลงกายผ่านเครื่องแต่งกาย ทรงผม สีผม สีผิว น้ำหนักกาย ดนตรี และคนที่เป็นคู่รัก ไม่ต่างจากยูมิในครานี้ที่ดัดแปลงสิ่งเหล่านี้มาใช้ผ่านการแปลงร่างเป็นเซเลอร์มูน สิ่งเดียวที่ ยูมิยังคงความเป็นเชื้อชาติเดิมของตนเอาไว้คือ การไม่ยอมเปลี่ยนสีผมและสีตาให้เป็นสีบลอนด์ทองน้ำตาลอ่อนแบบเซเลอร์มูน อันเป็นการสะท้อนเรือนกายในอุดมคติแบบคนขาวอารยัน หรือที่เรียกกันว่า Eugenic body ที่เป็นอิทธิพลของตะวันตก ซึ่งญี่ปุ่นได้รับมาหลังจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งนี้ก็เพื่อยกภาพลักษณ์ของตนทางกายภาพให้เทียบเท่าคนตะวันตก ผ่านการวาดตัวการ์ตูนของผู้สร้างในยุค ปี 70-80 เป็นต้นมา แฟนๆ The People สามารถติดตามและให้กำลังใจ ยูมิ กาโตะสาวงามจากประเทศญี่ปุ่นคนนี้ และสาวงามจากประเทศอื่นๆอีก 95 ประเทศ รวมถึง นิ้ง โศภิดา กาญจนรินทร์ MISS UNIVERSE THAILAND ได้ในระหว่างการเก็บตัวการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 67 และจะมีการตัดสินผลการประกวดในเช้าวันที่  17 ธันวาคมนี้ ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี   อ้างอิง:

  • Onlinelibrary
  • Seitz, Eleanor. "Dangerous Curves: Latina Bodies in the Media (review)." The Velvet Light Trap, vol. 68, 2011, pp. 62-64. Project MUSE, doi:10.1353/vlt.2011.0017

  ภาพ: ig missuniversejapan