Rally Movement แบรนด์แฟชั่นที่อยากพิสูจน์ความสำเร็จตามวิถีของตัวเอง โดยไม่ต้อง Go Inter

Rally Movement แบรนด์แฟชั่นที่อยากพิสูจน์ความสำเร็จตามวิถีของตัวเอง โดยไม่ต้อง Go Inter

เมื่อพูดถึงแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่กำลังร้อนแรงอยู่ขณะนี้ ต้องมีชื่อ Rally Movement ติดอยู่ในลิสต์อันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน โดยแบรนด์นี้เริ่มต้นจากเสื้อผ้าทำงานผู้หญิงกลุ่ม First jobber ก่อนจะขยายสู่สินค้าอื่น ๆ จนโด่งดังเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะแรร์ ไอเทมอย่าง Rally The Bag กระเป๋าทรง Bucket ที่เปิดจองเมื่อไร ก็ขายหมดเกลี้ยงภายในไม่ถึง 1 นาที

  • ‘เค้ก-อภิพรรณ มงคลพาณิชยกิจ’ และ ‘ปั๊ม-นิธิศ วงศ์สวัสดิ์’ เป็นสองผู้ก่อตั้ง Rally Movement แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่มาแรง ณ ตอนนี้ 
  • ทั้งคู่มีแนวคิดในการทำแบรนด์รวมถึงสร้างธุรกิจที่น่าสนใจ และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา กับแบรนด์ Rally Movement   

สำหรับที่มาของ Rally Movement เกิดจากความตั้งใจของคู่รักอย่าง ‘เค้ก-อภิพรรณ มงคลพาณิชยกิจ’ และ ‘ปั๊ม-นิธิศ วงศ์สวัสดิ์’ ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจในวัย 23 ปีหลังจากเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะอยากทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองขึ้นมา เพื่อสร้างให้เป็นอาชีพจริงจัง

แม้จะเป็น ‘เด็กใหม่’ ที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ทว่าทั้งคู่เลือกวางรากฐานการเติบโตของแบรนด์ตาม Passion และทฤษฎีที่ตัวเองสร้างมา ทั้งการวางคอนเซปต์แบรนด์ การออกแบบสินค้าที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งาน มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ และพวกเขาตั้งเป้าตั้งแต่วันแรกจะทำยอดขายให้ได้เดือนละหนึ่งล้านบาท

รวมไปถึงความตั้งใจที่จะไม่พาแบรนด์ไปบุก ‘ตลาดต่างประเทศ’ ซึ่งเป็นความฝันของคนส่วนใหญ่ที่ทำแบรนด์อยากจะไปให้ถึง เพราะทั้งคู่มองไม่ใช่เรื่องจำเป็นและไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของ Rally Movement 

ทำไมทั้งคู่ถึงคิดแบบนั้น และกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องเจอกับอุปสรรคอะไร และผ่านมาได้อย่างไร ในช่วงบ่ายของวันนึง The People จึงได้นัดพูดคุยกับสองผู้ก่อตั้ง Rally Movement ที่ pop up store สาขาคิงส์ เพาเวอร์ รางน้ำ เพื่อให้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ให้เราได้ฟัง ซึ่งเมื่อพบทั้งคู่บอกกับเราว่า ปกติไม่ค่อยอยากออกสื่อ เพราะอยากให้คนจดจำคาแรกเตอร์ของแบรนด์มากกว่าจำหน้าของพวกเขา

Rally Movement แบรนด์แฟชั่นที่อยากพิสูจน์ความสำเร็จตามวิถีของตัวเอง โดยไม่ต้อง Go Inter

จาก Hobby สู่การลงสนามจริง

เค้ก-อภิพรรณ : แบรนด์ Rally Movement เริ่มต้นมาประมาณ 6 ปีกว่า จากตอนสมัยเรียนเค้กทำเสื้อผ้าขายกับเพื่อนเป็นงานอดิเรก ตอนเด็ก ๆ ทำแบบสนุก ๆ อยากใช้สกิลที่เรียนมา อีกอย่างเคยทำงานประจำเป็นโปรเจกต์มีคนมาจ้างให้ออกแบบเสื้อผ้า 

พอเรียนจบจึงรู้สึกว่า อยากจะทำแบรนด์ให้เป็นอาชีพจริงจัง เลยชวนปั๊มมาทำด้วยกัน เพราะอยากได้พาร์ทเนอร์ที่จะมาช่วยบาลานซ์กัน เพราะเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย 

ปั๊ม-นิธิศ : คำว่าจริงจังในที่นี้คือมีระบบระเบียบมากขึ้น มีการวางแผนละเอียดขึ้น ไม่ใช่เหมือน hobby สมัยเด็กที่อยากขายอะไรก็ได้ตามใจชอบ เราจะแบ่งหน้าชัดเจน เค้กจะทำแฟชั่นเป็นหลัก ผมจะทำเรื่อง Branding, CI (Corporate Identity) การตลาด ส่วนเชิงบริหารเราจะทำร่วมกัน คิดทุกอย่างเป็นสเต็ป กว่าจะถึงวันนี้มันไม่ได้ง่าย มันผ่านการเก็บเล็กผสมน้อยกันมา

วางเป้าหมายชัดเจน และลุย 

Rally Movement แบรนด์แฟชั่นที่อยากพิสูจน์ความสำเร็จตามวิถีของตัวเอง โดยไม่ต้อง Go Inter

เค้ก-อภิพรรณ : วันแรกที่เริ่มทำแบรนด์เราวางเป้าหมายชัดเจนเลย คือ อยากมีแบรนด์ที่คนรู้จัก และมั่นคง เป็นแบรนด์ที่เป็นมาตรฐานที่ดีให้คนไทยได้ใส่เลย โดยคอนเซปต์ในตอนนั้นคิดมาจากความตื่นเต้นของตัวเองที่จะได้เป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงาน ก็เลยตั้งใจทำเสื้อผ้าออกมาตอบกลุ่มเป้าหมาย First jobber ที่ตัวเองกำลังจะเป็น ณ ตอนนั้น เพราะรู้สึกว่า ถ้าเราทำในสิ่งที่เราเป็นอยู่น่าจะเข้าใจลูกค้าได้ดีที่สุด ก็เลยเลือกเสื้อผ้าสไตล์นั้นเป็นหลัก แต่ต่อมาเราขยายไลน์โปรดักท์ให้หลากหลายตามโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ปั๊ม-นิธิศ : แบรนด์เราเริ่มอยู่ตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เราจะโตช้า แต่ไม่เคยอยู่ในจุดขาดทุน นั่นเพราะว่าเรามีแผนชัดเจน เช่น เราคุยกันไว้ตั้งแต่วันแรกว่า ต้องขายของให้ได้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดแบรนด์และต้องขายให้ได้เดือนละหนึ่งล้านบาท เป็นเป้าหมายที่ไม่ง่ายก็จริง แต่การตั้งเป้าชัดเจนจะทำให้เรารู้ว่า จะต้องทำยังไงให้ไปถึงจุดหมายนั้น ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้มีการปรับเปลี่ยนบ้าง ทว่าแกนหลักไม่เคยเปลี่ยน เช่น Story Behind ของแบรนด์ที่เราเคลียร์มาก ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีของงานดีไซน์และธุรกิจ 

เรายังใช้คำว่า Rally Movement เป็น Functional Wear มีความเป็นแบรนด์แฟชั่นก็จริง แต่สินค้าเราตั้งใจไม่ได้ใส่ครั้งเดียวแล้วจบ สามารถใส่ได้เรื่อย ๆ ยาว ๆ ตอบเรื่องของ Value for money และตอนนี้เรา Completed Day To Night และ Weekend ด้วย  

เค้ก-อภิพรรณ : ตอนเริ่มต้นกลัวไหม คำตอบ คือ ไม่กลัว เพราะเราอยากทำแบรนด์ให้เกิดขึ้นจริง ๆ และการที่ต้องมีเป้าหมาย เพราะตอนเด็ก ๆ เคยทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีเป้าก็รู้สึกว่า ทำไปถึงจุดไหนถึงจะเรียกว่าดี แค่มีเงินใช้เรื่อย ๆ นั่นไม่ได้ยั่งยืน จึงต้องตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง ยิ่งมีพาร์ทเนอร์ด้วย ยิ่งช่วยให้เห็นไดเรคชั่นจะหันไปทางไหน ทำให้เข้าใจตรงกัน 

เช่น เราอยากได้ยอดขายเดือนละ 1 ล้านบาท เราต้องคิดเลยว่า จะต้องขายของให้ได้เท่าไร วางราคายังไง หรือกระเป๋า Rally The Bag ที่เป็นจุดพีคของเราตอนนี้ ก็นึกถึงฟังก์ชั่นก่อนค่อยมาคิดทำยังไงให้ออกมาสวย ซึ่งเรื่องเหล่านี้มาจากตัวเองที่เป็นคนของเยอะ ทีนี้กระเป๋าหนังที่ใช้เวลาใส่ของเข้าไปมันจะหนัก เลยอยากได้กระเป๋าที่ทรงแบบช่องโล่ง ๆ สามารถใส่อะไรเข้าไปโดยที่ไม่ต้องเปิดหา ทรงนี้ตอบโจทย์สุด ส่วนที่เลือกใช้ knitwear เพราะแข็งแรง เบา ดูแลง่าย แต่กว่าจะได้กระเป๋าใบนี้ออกมาใช้เวลาพัฒนาเป็นปี และเปิดตัวเมื่อเดือน 9 ปีที่แล้ว ตอนเปิดจองก็หมดภายในไม่ถึง 1 นาที ตอนนี้เวลาเปิดจองก็หมดเร็วมาก 

Rally Movement แบรนด์แฟชั่นที่อยากพิสูจน์ความสำเร็จตามวิถีของตัวเอง โดยไม่ต้อง Go Inter

ปัญหามีทุกวัน อย่ากลัว

ปั๊ม-นิธิศ : ปัญหามีทุกวันและมีตลอดเวลา ซึ่งการเป็นเจ้าของกิจการต้องเจอเรื่องร้อยแปด เช่น ผมเองเจอ คนสำคัญสุด ๆ ขององค์กรลาออก โดนโกง โดนขโมย แต่เวลาเจอปัญหาจะปล่อยเวลาเซ็งแป๊บเดียว แล้วหา Next Step ไปต่อ เพราะถ้าเราคิดทุกอย่างเป็นปัญหา เราจะติดอยู่ตรงนั้น เราต้องชินกับการแก้ไขปัญหา

Mindset การมองปัญหาสำคัญนะ หากคิดว่ามันใหญ่ มันใหญ่ทุกเรื่อง เราต้องชินกับการแก้ปัญหา ถ้าพูดถึงคนทำธุรกิจวันนึงเจอปัญหาไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง ต้องปรับตัวเก่ง ๆ อีกเรื่องเราไม่เคยหยุด เรื่องนี้สำคัญมากเราไม่เคยถอดใจ ในวันที่เราขายไม่ดี เราก็ยังขายอยู่ ในวันที่ขายดี เราก็ยังขายอยู่ ไม่เคยหยุดพัฒนา ไม่หยุดปรับตัว

เค้ก-อภิพรรณ : ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาด้วยซ้ำ ค่อย ๆ เคลียร์เป็นวัน ๆ เคลียร์เป็นเรื่อง ๆ อย่างที่บอกเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว เพราะฉะนั้นมีอะไรมาต่อเรื่อย ๆ ตลอดเวลา พอจบเคลียร์เรื่องนึง จบปุ๊บอันนี้คัทจริง ๆ แล้วไปเรื่องอื่นต่อเลย ไม่ค่อยมีเวลาไปโฟกัสกับอดีตเท่าไร ไม่อย่างนั้นจะติดกับดักของปัญหา

ขอโตตามวิถีของตัวเอง 

เค้ก-อภิพรรณ : เราพอใจมากกับ Rally Movement แต่หากกถามว่า เป้าหมายที่จะพาแบรนด์เดินหน้าต่อคืออะไร เราอยากจะทำแบรนด์ของเราให้มีจุดบาลานซ์ ทั้งเรื่องการเติบโตทางธุรกิจและยังมีความสุขกับการทำงานอยู่ทุกวัน สมมุติว่า วันนี้รู้สึกสปีดเร็วเกินไป แล้วตัวเองและทีมรู้สึกไม่ healthy ไม่มีความสุขกับการทำงาน อันนั้นคิดว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี  

โอเค วันนี้แบรนด์เราอาจจะอยู่ในจุดที่คนอื่นมองว่า เป็นกระแสหรือได้รับความนิยม ซึ่งแต่เราและทีมยังรู้สึกบาลานซ์ตัวเองได้อยู่ ได้ออกกำลังกาย ได้ทำงานเป็นเวลา เลิกงานตรงเวลา ได้ใช้ชีวิตของตัวเองไปด้วยทำงานไปด้วยแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้คือจุดที่รู้สึกแฮปปี้ที่สุดแล้ว

ปั๊ม-นิธิศ : เราอยากสร้างทฤษฎีของตัวเอง มีคนพูดกับเราเยอะว่า แบรนด์จะมี Cycle ของมันขึ้นเดี๋ยวก็ลง และส่วนใหญ่พูดเหมือนกัน  5 ปีระวังนะ ตอนนี้แบรนด์ Rally Movement เรา 5 ปีมาแล้วยังรู้สึกไม่มีปัญหาอะไร เติบโตได้เรื่อย ๆ  ผมอยากพิสูจน์เรื่องนี้ ถ้าไม่ได้ทำตามทฤษฎีอะไรเลย และสร้างทฤษฎีของตัวเองขึ้นมา มันจะไปได้ไกลแค่ไหน ในพลังที่เรามีอยู่ ในทีมที่เรามีอยู่ 

เช่น หลายแบรนด์อยากไปต่างประเทศ แต่เราไม่จำเป็นต้องไป หรือเรายังคงยืนในจุดยืนของแบรนด์ แบบนี้เป็นต้น ถามว่า ทำเพื่ออะไร ตอบเลยเพื่อตัวเองล้วน ๆ คำว่า ตัวเองคือเราค่อนข้างสนุกและภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองสร้างมา นั่นหมายความว่า หากเลือกเดินตามทางของตัวเอง เราอยากเห็นว่า มันจะไปได้สักแค่ไหน 

เค้ก-อภิพรรณ : ใช่เราอยากโตตามทางที่เราเลือก อย่างเรื่องไปต่างประเทศ เราไม่ได้มองจำเป็นหรือเป็นโจทย์ใหญ่ของเรา เพราะทุกวันนี้เรามีลูกค่าต่างชาติเยอะอยู่แล้ว เราเองยังเห็นศักยภาพและความสนุกของลูกค้าไทยอีกเยอะเลย ซึ่งส่วนตัวมองเป็นเสน่ห์ของการเป็น Local Brand อย่างเวลาเราไปต่างประเทศจะเจอแบรนด์ที่ไม่มีขายในประเทศอื่น อยากได้ต้องบินมาซื้อเท่านั้น 

ปั๊ม-นิธิศ : แบรนด์เกาหลีหลาย ๆ แบรนด์เอง คนอยากได้ต้องพรีออเดอร์กันเพราะไม่ขายที่อื่น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ Rally Movement เป็น Local Brand ที่ต่างชาติรู้จัก และต้องมาซื้อที่ไทยเท่านั้น ทำไปเพื่ออะไร คำตอบคือ เพื่อตัวเองล้วน ๆ เพราะผมค่อนข้างภูมิใจในสิ่งที่สร้างมา และอยากรู้ว่า ถ้าเราไม่ยอมทำตามทฤษฎี เราจะไปได้อีกแค่ไหน 

Rally Movement แบรนด์แฟชั่นที่อยากพิสูจน์ความสำเร็จตามวิถีของตัวเอง โดยไม่ต้อง Go Inter

บทเรียนที่ได้เรียนรู้และอยากส่งต่อ

เค้ก-อภิพรรณ : กว่า 6 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำแบรนด์และธุรกิจของตัวเอง คือ Flexibility สำคัญ เพราะตื่นขึ้นมาก็เจอปัญหาแล้ว ยิ่งเราขายออนไลน์และอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเร็วมาก  จริง ๆ โควิด-19 อาจจะเป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างเร็วขึ้นด้วย ดังนั้นต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะในทุก ๆ เรื่อง การปรับตัวให้เร็วจึงเป็นทักษะที่ดีสำหรับตอนนี้และในอนาคตด้วย 

อย่างตอนนี้ AI เข้ามาเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางการขาย หรือลักษณะการทำงานของคน สมมุติถ้าเรายังยึดติดกับเรื่องเดิมที่เราเคยทำมาในวันแรก เราอาจจะอยู่รอดได้ยาก เรื่อง Relearn และ Unlearn ก็สำคัญมาก อย่างเรื่องที่เคยเรียนตอนมหาวิทยาลัย เช่น เรื่องมาร์เก็ตติ้งตอนนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เราจึงต้องพัฒนาและหาความรู้ตลอดเวลา 

ปั๊ม-นิธิศ : Passion สำคัญนะ แต่ Passion ไม่ได้หมายความว่า ทำงานที่เราชอบอย่างเดียวไม่ได้  มันไม่พอ บางครั้งจำเป็นต้องฝืนทำงานที่ไม่ชอบด้วย ต้องมองเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เนื่องจากบนโลกของความเป็นจริงไม่มีใครทำเฉพาะสิ่งที่ชอบได้อย่างเดียว แต่ Passion ต้องมาจากตัวเองก่อน ถึงจะทำออกมาได้ดี 

เค้ก-อภิพรรณ : จริง ๆ ยุคนี้ต้องเริ่มจากตัวเองก่อนจะดีที่สุด เพราะด้วยเทคโนโลยีหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้ทุกคนเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้ง่ายมาก ซึ่งพอทุกอย่างง่าย จะเป็นยุคของ Customer Centric ที่จุดศูนย์กลางจะอยู่ที่ลูกค้า ฉะนั้นการจะเป็น Top of mind ของลูกค้าได้ เราต้องมีความแบบเป็นตัวของตัวเองสูง หากทุกคน Follow ตามเทรนด์หมด เราจะไม่ stand out ออกมา

สุดท้ายสิ่งที่ทั้งคู่อยากส่งต่อให้กับคนที่กำลังมองว่าทางเดินของตัวเอง คือ ‘การลงมือทำ’ เพราะไม่ว่าไอเดียจะดีและเจ๋งแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำ ก็จะไม่มีทางเห็นผล ฝันของตัวเองจะเป็นจริงได้อย่างไร ที่สำคัญ ‘อย่ากลัว’ แม้จะไม่มีประสบการณ์ เพราะทุกคนสามารถเรียนรู้ระหว่างทางได้

.

ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย