Carenation พวงหรีดรักษ์โลก ธุรกิจที่ทำให้ ‘การจากลา’ สร้างคุณค่ากับสังคม

Carenation พวงหรีดรักษ์โลก ธุรกิจที่ทำให้ ‘การจากลา’ สร้างคุณค่ากับสังคม

ชวนคุยกับ ‘บิ๊ก-ปริชญ์ รังสิมานนท์’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Carenation พวงหรีดรักษ์โลก อีกกรณีศึกษาของ SE (Social Enterprise) ธุรกิจเพื่อสังคมของไทยที่อยู่รอดและเติบโตในหลากหลายประเด็น พร้อมค้นหาเหตุผล ทำไม SE ในไทยถึงไม่ ‘บูม’ ทั้งๆ ที่มีการจุดพลุมานาน

  • Carenation พวงหรีดรักษ์โลก เป็นอีกกรณีศึกษาของ SE ธุรกิจเพื่อสังคมของไทยที่ประสบความสำเร็จ
  • SE แห่งนี้ ถือกำเนิดเมื่อปี 2019 โดยมี ‘บิ๊ก-ปริชญ์ รังสิมานนท์’ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง

จากเริ่มต้น ‘ให้’ ด้วย Passion ส่วนตัวที่ชอบช่วยเหลือสังคม แต่สุดท้าย ‘ปริชญ์ รังสิมานนท์’ ก็ค้นพบว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่มีความยั่งยืน จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้การช่วยเหลือที่เขาลงมือลงแรงไปเกิดความยั่งยืน?

และนั่นเป็นจุดกำเนิดของธุรกิจที่ทำให้การ ‘จากลา’ ได้สร้างคุณค่าให้กับสังคม ภายใต้ชื่อ Carenation (เป็นการตั้งชื่อให้พ้องกับดอกคาร์เนชั่น และสะท้อนให้เห็นถึงคำว่า Care คือ ความห่วงใย )พวงหรีดรักษ์โลกที่ทุกการซื้อจะมีการแบ่งรายได้ไปบริจาคให้กับมูลนิธิต่างๆ 

โดย Carenation ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2019 เริ่มต้นด้วยการทำงานกับมูลนิธิเพียงไม่กี่แห่ง และทำยอดบริจาคในหลักแสนบาท จนมาถึงตอนนี้ขยายการทำงานกับ 29 มูลนิธิ และสร้างยอดบริจาคได้เกือบ 17 ล้านบาท

Carenation พวงหรีดรักษ์โลก ธุรกิจที่ทำให้ ‘การจากลา’ สร้างคุณค่ากับสังคม   

จาก Passion สู่ธุรกิจเพื่อสังคมแบบยั่งยืน 

บิ๊ก-ปริชญ์ : ส่วนตัวผมทำงานเพื่อสังคมมาหลายสิบปี และเป็นหนึ่งใน Thai Young Philanthropist Network (TYPN) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม อย่างช่วงเกิดเหตุการณ์สึนามิพากเราระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย 

นอกจากนี้ตัวผมเองบริจาคให้กับหลายมูลนิธิทั้งเงินตัวเองและขอเพื่อนบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกเหรียง ที่ช่วยเหลือและเยียวยาเด็กๆ จากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ผมคิดว่า การให้แบบนี้ไม่ยั่งยืน เพราะมูลนิธิต้องใช้เงินตลอด เนื่องจากมีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเข้ามาใหม่เรื่อยๆ ทำให้คิดสร้างโมเดลที่จะทำให้ยั่งยืน ไม่ต้องไปขอใคร

มีวันนึงผมไปงานศพของผู้ใหญ่ที่เคารพแล้วเห็นพวงหรีดดอกไม้สดนับร้อยถูกส่งมาความเคารพต่อผู้ล่วงลับ ส่วนใหญ่จะเป็นพวงหรีดที่มีโฟมและพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งพวงหรีดเหล่านี้มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 วัน จากนั้นจะกลายเป็นขยะที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานเป็นร้อย ๆ ปี หรือถ้าเผาก็สร้างมลภาวะให้สิ่งแวดล้อม เลยได้ไอเดียทำธุรกิจนี้ขึ้นมา

ธุรกิจที่ให้คนตายได้ทำดีครั้งสุดท้าย  

บิ๊ก-ปริชญ์ : สำหรับพวงหรีดของ Carenation จะทำมาจากกระดาษรีไซเคิลและกระดาษจากป่าปลูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะให้คนในชุมชนหรือผู้ที่ต้องการหารายได้ เป็นคนมาประกอบ และเงินที่ได้จากการขายพวงหรีดแต่ละอัน จะแบ่งไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิต่าง ๆ ตั้งแต่ 10-40% ตามราคาของพวงหรีดที่เลือก 

พวงหรีดของเรา จะมีราคาตั้งแต่ 750– 4,000 บาท ซึ่งจะมีการใส่ข้อมูลให้เห็นชัดว่า ราคาเท่านี้ จะมีการบริจาคไปท่าไร และเทียบเท่ากับการเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กกำพร้ากี่คน เช่น พวงหรีดเวหา ราคา 4,000 บาท จะมีการบริจาคให้มูลนิธิ 40% หรือ 1,600 บาท เทียบเท่ากับค่าอาหารกลางวันเด็กกำพร้า 53 คน, พวงหรีดขาวละออ ราคา 3,000 บาท จะมีการบริจาคให้มูลนิธิ 35 % หรือ 1,050 บาท เทียบเท่ากับค่าอาหารกลางวันเด็กกำพร้า 35 คน เป็นต้น

Carenation พวงหรีดรักษ์โลก ธุรกิจที่ทำให้ ‘การจากลา’ สร้างคุณค่ากับสังคม

ที่สำคัญ การบริจาคจะเน้นความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกกระบวนการ โดยผู้สั่งซื้อพวงหรีดสามารถเลือกแบบ เลือกมูลนิธิที่ต้องการบริจาค และเมื่อชำระเงินมาแล้ว จะมีใบเสร็จให้ทุกการบริจาค ที่ผู้บริจาคนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเราจะมีการอัพเดทเงินบริจาคบนหน้าเวบไซต์ของเราทุกวันว่า วันนี้มียอดบริจาคไปเท่าไร และแต่ละมูลนิธิได้รับบริจาคเท่านั้น

ตอนนี้นอกจากพวงหรีดแล้ว Carenation ยังทำ ‘ของชำร่วยสานบุญ’ การ์ดขนาดเท่าที่คั่นหนังสือเพื่อให้ใช้ทดแทนการแจกของชำร่วย สามารถสั่งได้ไม่มีขั้นต่ำ แล้วนำเงินไปบริจาคอย่างโปร่งใสให้กับองค์กรการกุศลที่เลือก และใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับพวงหรีด

เหตุใด SE ในไทยถึงไม่บูม

บิ๊ก-ปริชญ์ : เหตุผลที่ SE ในบ้านเราไม่ประสบความสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่มีการพูดถึงกันมานาน นั่นเพราะว่า  ‘คนไทยตื่นตัว แต่ไม่ขยับ’  เช่นเดียวกับ AI และ Chat CPT ซึ่งทุกคนพูดถึงกันเยอะ แต่เมื่อเจาะลึกเอาเข้าจริงมีกี่องค์กรที่จริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน

ทุกคนรู้ว่า Sustainable มาแรง แต่ขาดการขับเคลื่อนต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาครัฐที่ถือเป็นแกนหลักในการกำหนดนโยบาย อย่างถุงพลาสติก หากรัฐไม่ประกาศแบนและบังคับให้เลิกใช้ ก็ยังคงไม่ใจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรืออย่างตอนนี้จาก  Sustainable มาพูดถึงเรื่อง BCG คือ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การที่ SE เองการจะอยู่รอดและเติบโตได้ ประเด็นอยู่ที่ Business Model ต้องแข็งแรง เพราะแม้จะไม่มุ่งหวังผลกำไร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็ต้องมีรายได้ที่หล่อเลี้ยงบริษัทให้อยู่ได้ และมีการเติบโต ง่ายๆ คือ เราอยากช่วยสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรายได้ให้เลี้ยงตัวเองได้เช่นกัน 

‘Business Mode’l และ ‘ความโปร่งใสสำคัญ’ 

บิ๊ก-ปริชญ์ : สำหรับความสำเร็จของ Carenation นั่นเพราะตลาดพวงหรีดเป็นตลาดใหญ่ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีคนทำ แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นเข้ามาเยอะขึ้น และตัวเราเองมีความยูนีก สามารถแก้ Pain Point ได้ เนื่องจากเรารู้ดีว่า คนไม่ต้องการสั่งพวงหรีดที่ใช้วัสดุย่อยสลายยากและทำลายสิ่งแวดล้อม เราเลยขึ้นธุรกิจมาแก้โจทย์เรื่องนี้ 

“ผมว่า SE บางราย ดีไซน์ธุรกิจแบบขาดความเข้าใจผู้บริโภค ทำให้เกิดปัญหาการไปต่อของธุรกิจ เราต้องแก้ Pain Point ไม่ใช่เปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่าง หลอดพลาสติก ที่ตอนแรกหลายแห่งหันมาใช้หลอดกระดาษ แต่สุดท้ายกลับมาใช้เหมือนเดิม เพราะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเกินไป เลยไปต่อได้ยาก”

Carenation พวงหรีดรักษ์โลก ธุรกิจที่ทำให้ ‘การจากลา’ สร้างคุณค่ากับสังคม

อีกประเด็น คือ ต้องสามารถตรวจสอบความโปร่งใสในการช่วยเหลือได้ เช่น Carenation จะมีการออกใบเสร็จให้กับทุกคนที่ซื้อได้เห็นว่า ใครเป็นคนซื้อ บริจาคให้มูลนิธิไหน เงินถึงมือมูลนิธิก็มีการอัพเดท เราทำทุกกระบวนการของการบริจาคเงินอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และใบเสร็จผู้บริจาคนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ที่สำคัญ ต้องมี Innovation ซึ่งเรื่องนี้ไม่แค่ตัวโปรดักท์ ยังหมายถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ใน Business Process ทั้งหมด เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น อย่าง Carenation สามารถสั่งซื้อได้ผ่านทางออนไลน์ ตัวเลขบริจาคก็โชว์อยู่หน้าเว็บไซต์ และทุกอย่างก็ทำด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด  

สุดท้าย หากต้องทำ SE ให้เกิด ‘ต้องลงมือทำ อย่ารอให้ใครมาช่วย’ เหมือนที่เขาคิดและลงมือสร้างให้ Carenation เกิดขึ้นมา