รู้จักเจ้าของ 'ร้านเล่า' ร้านหนังสือเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นในเชียงใหม่

รู้จักเจ้าของ 'ร้านเล่า' ร้านหนังสือเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นในเชียงใหม่

รู้จักเจ้าของ 'ร้านเล่า' ร้านหนังสือเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นในเชียงใหม่

‘ร้านเล่า’ คือร้านหนังสือเล็ก ๆ ย่านนิมมานเหมินทร์ที่ภายในแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศอันอบอุ่นเรียบง่ายและอิสระ ในก้าวแรกที่เข้าไปเราพบกับหนังสือหลากประเภทหลายสํานักพิมพ์บวกกับความรู้สึกที่เหมือนดั่งต้องมนต์ สำหรับคนที่มีความรู้สึกที่ดีต่อการอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลายคนน่าจะมีความสุขระหว่างเดินเข้ามา และพบกับคุณจ๋า- กรองทอง สุดประเสริฐ เจ้าของร้านผู้ต้อนรับลูกค้าด้วยรอยยิ้ม ภายในร้านไม่ได้มีแค่หนังสือต่าง ๆ แต่ยังมีของอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น สมุดโน้ตทํามือ สติ๊กเกอร์จากหนังดัง หรือแม้กระทั่งแผ่นเพลง คลอเคล้ากับเสียงเพลงในร้าน ความเป็นมาของร้านเล่าแห่งนี้มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ติดตามจากบทสนทนานี้กันได้เลย The people : แนะนําตัวให้พวกเรารู้จักเพิ่มเติม พี่ชื่อจ๋า - กรองทอง สุดประเสริฐ มาทํางานหรือบริหารอยู่ที่ร้านเล่าได้เกือบ 20 ปีแล้ว ร้านเล่าเอง จริง ๆ แรกเริ่มเดิมทีมาจากรุ่นพี่ 4 คน ชื่อ พี่ก้อย พี่เก็ท พี่จิ๋ว พี่หนู กลุ่มเพื่อนในมหาลัยเชียงใหม่ แต่ปัจจุบัน พวกเขาได้แยกย้ายกันไปทําอาชีพอื่นแล้ว อย่างพี่หนูก็ไปเป็นอาจารย์อยู่ที่ม.เกษตร ที่สกลนคร แต่พี่จ๋า เป็นน้องพี่เก็ท ซึ่งพี่เก็ทแกยังเป็นคนเดียวที่ยังรันร้านเล่าอยู่ตั้งแต่ร้านเปิดมา ช่วงก่อตั้งแรก ๆ พี่ ๆ เขาก็มาช่วยกันนะ แต่หลัง ๆ มาร้านหนังสือต้องปรับตัวจนปัจจุบันก็เหลือแค่พี่กับพี่เก็ทอยู่กันแค่ 2 คนหลัก ๆ ที่ดูแลร้านนี้ The people : ชื่อร้านเล่ามีที่มาอย่างไร ชื่อร้านเล่า จริง ๆ พี่ก้อยเป็นคนตั้ง เพราะอยากให้ร้านมีคอนเซ็ปต์ว่า ทุกสิ่งมีเรื่องเล่าในตัวเอง แล้วคําว่าเล่ามันสั้น ๆ น่ารักดี เรียกง่าย ๆ สามารถเอามาคล้องกับร้านเล่า แต่ไม่ได้เมาเหล้านะ แค่เปลี่ยนมาเป็นเมาหนังสือแทน (หัวเราะ) The people : มองความเท่าเทียมของผู้อ่านที่จะเข้าถึงหนังสือ จากราคาที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง พี่ว่าอันนั้นไม่น่าใช่เงื่อนไขหลัก พี่ว่าเราต้องยอมรับในเรื่องของค่าครองชีพกับราคาหนังสือในประเทศไทยที่มันอาจจะไม่ได้เหมือนเมืองนอก เพราะทางนั้นค่าครองชีพของเขาสูงกว่าบ้านเรา ซึ่งทั้งรายได้ที่ได้มาซื้อหนังสือมันสามารถไปด้วยกันได้ ไม่ติดขัดอะไร ถ้าเทียบกับบ้านเรา ราคาหนังสือถือว่าค่อนข้างสูงกว่าค่าครองชีพ แต่พี่คิดว่าหนังสือมันอาจไม่ได้เข้าถึงกับคนทุกระดับ แต่มันมีช่องทางในการอ่านที่มันเป็นไปได้แต่เพียงแค่ทุกวันนี้ยังไม่เอื้อต่อทุกคน แต่จริง ๆ ในเชียงใหม่เองรวมไปถึงทั่วประเทศจากหลาย ๆ พื้นที่ก็พยายามจะเคลื่อนไหวกันในเรื่องของการส่งเสริมการอ่านอยู่ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดประชาชน พี่คิดว่าบ้านเรายังค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปกับเรื่องนี้อยู่ The people : การปรับตัวของร้านหนังสืออิสระอย่าง ‘ร้านเล่า’ ที่ผู้อ่านปรับเปลี่ยนจากยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล พี่จ๋ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง พี่คิดว่าเป็นช่วงยุคเปลี่ยนผ่านของร้านค้าที่เป็นตัวกลาง เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคหรือกลุ่มผู้อ่านสามารถเข้าถึงช่องทางซื้อหนังสือได้ง่ายขึ้นอย่าง e-book ก็ไม่ใช่ปัญหาหลักที่ทางร้านเจอ แต่พี่คิดว่าจะเป็นในลักษณะของพฤติกรรมการซื้อของผู้อ่านมากกว่า จากทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงที่เนี่ย ร้านหนังสือจะเข้าไปตอบโจทย์ตรงนั้นได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้สํานักพิมพ์เองสามารถสื่อสารและลดราคาโดยตรงได้แต่ว่าก็ยังมีกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังอยากมาเห็นหนังสืออยากมาจับ มาต้อง หรือมาอยู่ในบรรยากาศของร้านหนังสือ พี่ก็พยายามจะเน้นกลุ่มลูกค้าตรงนี้ ขายหน้าร้านแล้วก็พยายามเลือกหนังสือให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่ร้าน แต่ด้วยช่องทางออนไลน์ก็พยายามให้มีมากขึ้นอย่างช่องทางการสื่อสารที่ร้านก็มีทาง lazada เหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าทางเราไม่ได้เลือกหนังสือทุกประเภทไปขายในช่องทางนั้น เราก็เลือกแนวหนังสือที่มันค่อนข้างหายากอย่างวิชาการ แล้วอย่างช่องทางอื่น ๆ อย่าง Twitter, Instagram, Facebook ก็มีนะแต่ยังเป็นแค่ลักษณะ PR ยังไม่ได้ลงขายแค่พยายามเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้คนลืมร้าน แต่ถ้าเป็นช่องทางการขายทางออนไลน์ ร้านเรายังทํางานได้แค่บางส่วนยังไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด รู้จักเจ้าของ 'ร้านเล่า' ร้านหนังสือเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นในเชียงใหม่ The people : มีความเห็นอย่างไรบ้างในเรื่องเข้าถึงหนังสือดี ๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างเช่น เชียงใหม่ พี่คิดว่ามันเป็นเรื่องปกตินะ เพราะว่าโดยจํานวนคน ความหนาแน่นของคนในกรุงเทพเป็นกลุ่มหลัก ๆ ของ บ้านเราอยู่แล้ว ที่แบบร้านหนังสือในกรุงเทพมันก็จะมีความหลากหลายมากกว่าเยอะ สมมุติถ้าเราอยากซื้อหนังสือวิชาการหนัก ๆ เราก็สามารถไปศูนย์หนังสือต่าง ๆ จุฬา ธรรมศาสตร์ หรือร้านใหญ่ ๆ ในกรุงเทพมันก็มีทางเลือกเยอะ กลุ่มลูกค้าก็เยอะ แต่อย่างในเชียงใหม่ พี่ว่ามันก็มีร้านหนังสืออิสระนะ ทางเลือกที่เยอะอยู่ในระดับหนึ่ง ที่แบบมี 3-4 ร้านเนอะ พี่คิดว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัยก็คือ ธุรกิจมันก็ต้องปรับตัว ด้วยพฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยน เพราะอย่างที่พี่ว่า ร้านหนังสือที่เป็นคนกลางต้องปรับตัวและอยู่ยากขึ้น เพราะทุกวันนี้ คนอ่านมีทางลัด มีช่องทางมากมายในการเลือกซื้อหนังสือ แต่พี่ก็ว่าเราทําเต็มที่ของเราก็คือ ยังคงเลือกหนังสืออย่างเต็มที่และพยายามเลือกให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่ร้าน The people : หนังสือเล่มแรกที่พี่จ๋าได้อ่านและประทับใจคือเรื่องอะไร ถ้าเรื่องแรกคงจะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเรื่อง “น้ำพุ” ที่โรงเรียนบังคับให้อ่าน แต่จําได้ว่าตอนนั้นคืออ่านแล้วร้องไห้แบบฟูมฟายเลย พี่รู้สึกว่ามันกระแทกใจเนอะ อันนั้นเป็นตอนเรียน แต่ถ้าเป็นเรื่องตอนที่พี่เริ่มมาคลุกคลีกับที่ร้านแล้ว เป็นเรื่องที่รู้สึกว่ามันยังเป็นเล่มที่พี่รักอยู่ทุกวันนี้คือเรื่อง “ความสุขแห่งชีวิต” ของ วิลเลียม ซาโรยัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เหมือนจะมีความทุกข์…บ้านลําบากแต่ตัวเขาไม่ได้มองว่าชีวิตเขาลําบากแต่เขากลับมีความสุขในแบบของเขา ตอนนั้นพี่ก็ร้องไห้เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่มันเป็นการร้องไห้ที่รู้สึกอิ่มนะ ซึ่งพี่คิดว่าความสุขมันมีอยู่ทุกที่ มันอยู่ที่ว่าเราเลือกมองมันแบบไหน ประมาณนี้ พี่จํารายละเอียดไม่ค่อยได้แล้ว ในตอนนั้นที่ได้อ่านพี่ยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย มาซื้อกับทางร้านเล่านี่แหละ แต่ตอนหลังก็ได้มาอีกเล่มหนึ่งเป็นแบบปกแข็งเป็นปกที่สวยมาก หลัง ๆ มา พี่อยากกลับไปอ่านวรรณกรรม แต่พอเริ่มอายุเยอะขึ้น พี่ก็อ่านน้อยลงแล้วหันไปสนใจเรื่องภาวนา พวกศาสนา ปรัชญา หลัง ๆ มานี้พี่ก็มีหนังสือที่อยากอ่านเต็มเลย แต่ก็ซื้อเก็บเอาไว้ก่อนเพราะกลัวเขาไม่พิมพ์แล้ว หลัง ๆ บางเล่มก็ไม่มีพิมพ์เพิ่มเลยก็มี อย่างเจ้าชายน้อยก็อ่านมา 3 รอบแล้ว ซึ่งแต่ละรอบที่ได้อ่านมันก็ได้คนละความรู้สึกกันนะ อย่างอ่านล่าสุดก็มีความรู้สึกอยากจะวาดรูปเจ้าชายน้อยให้พี่คนหนึ่ง เห็นว่าเขาชอบก็เลยกลับมาอ่านอีกรอบเพื่อที่จะวาดรูปให้เขาได้ แต่ก็ไม่ได้สวยอะไรหรอกนะ (หัวเราะ) รู้จักเจ้าของ 'ร้านเล่า' ร้านหนังสือเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นในเชียงใหม่ The people : ตั้งแต่ที่เข้ามารับช่วงดูแลกิจการขายหนังสือต่อ มีลูกค้าที่เข้ามาแล้วประทับใจไหม (อมยิ้ม พร้อมเสียงหัวเราะที่ตามออกมาแบบเต็มอิ่มไปด้วยความสุข) มีมาอยู่ตลอดเลยค่ะ เวลานั้นพี่ก็จะจดชื่อเอาไว้ในเล่มเวลาเจอลูกค้า แต่บางทีมันก็แล้วแต่จังหวะโอกาสที่เราได้พูดคุยกับลูกค้ามากกว่า พี่ว่าอันนี้สนุกที่สุดแล้ว การได้พบปะพูดคุยกัน เพราะแต่ละคนอาจจะแลกเปลี่ยนเรื่องหนังสือ ชีวิต หรือเรื่องอะไรก็ตามแต่ (ในช่วงระหว่างการสัมภาษณ์ เราได้เห็นรอยยิ้ม เสียงพูดคุย ที่เกิดขึ้นระหว่างพี่จ๋ากับลูกค้าที่เข้า มาเลือกซื้อหนังสืออย่างมีความสุข) ตั้งแต่ขายหนังสือมา พี่มักจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนที่เข้ามาเลือกซื้อหนังสืออยู่ตลอด อย่างก่อนหน้านี้ พี่เคยเจอลูกค้าที่มาจากกรุงเทพ แต่พอดีตอนนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟน แบบนานมาก แบบเวลาคนจากกรุงเทพเข้ามา เขาจะถือกระเป๋าห้อยคล้องไว้ที่แขนแล้วก็ถือโทรศัพท์ พี่ก็แอบคิดในใจว่าเขาก้มดูโทรศัพท์ตลอดเวลาเลยเนอะ เวลานั้นพวกพี่มักจะมีสมุดบันทึกเล็ก ๆ เอาไว้จดเรื่องราวผู้คนที่น่าสนใจที่พบเจอมาเอาไว้เล่น ๆ ในร้าน แต่ว่าเมื่อก่อนนี้ที่ร้านจะมีน้อง ๆ พาร์ทไทม์มาหลากหลาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นน้อง ๆ ในมช.นี้แหละ แต่พอหลัง ๆ มานี้ด้วยสถานการณ์โควิดด้วย เลยเหลืออยู่กันแค่นิดเดียว บรรยากาศในร้านเลยไม่ค่อยคึกคักเหมือนช่วงก่อนหน้า แล้วเมื่อก่อน ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็มีชมรมวรรณศิลป์นะ เป็นกลุ่มของน้อง ๆ พาร์ทไทม์ที่ร้าน The people : ปัจจุบันพี่จ๋ามีหนังสือเล่มไหนที่มีโอกาสได้อ่านล่าสุดแล้วอยากแนะนําต่อไหม อืม…พี่ก็อ่านค้างไว้หลายเล่มเลยนะ ถ้าถามว่าล่าสุดหรอ พี่อ่าน...(ค่อย ๆ ลุกเดินดูภายในร้านว่ามีหนังสือเล่มที่อ่านล่าสุดไหมอย่างตั้งใจ) ส่วนมากพี่ชอบอ่านพวกหนังสือที่เกี่ยวกับสงคราม แต่ว่าพี่มีที่จะอ่านเป็นกล่องเลยนะ (หัวเราะ และเดินมาพร้อมหนังสือในมืออีกจํานวนหนึ่ง) เอาจริง ๆ ช่วงนี้พี่สนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับพวกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของประวัติศาสตร์อาหาร อย่างเล่มล่าสุดที่พี่อ่านนะ คือเรื่อง “ต้มยําทําแกง” ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ เล่มนี้พี่ชอบมากเพราะมันแบบน่ารักเพราะเขาจะเขียนถึงอาหารทั่วไปพร้อมเล่าเรื่องอาหารของท้องถิ่นนั้น ๆ แล้วเป็นอาหารไทย ซึ่งภาษาที่เขาใช้มันทําให้เรารู้สึกอยากกินอาหารขึ้นมาอย่าง ไข่เจียว พอได้อ่านถึงกับต้องกลืนน้ำาลายเลย แต่ปัจจุบัน คุณวาณิช เสียชีวิตไปแล้ว (ส่วนหนังสือจํานวนหนึ่งที่พี่จ๋าหยิบมาในตอนแรกก็ได้เวลาหยิบมาเล่าให้เราฟังต่อ) หนังสือเล่มแรก เป็นการพูดถึงช่างสักในค่ายผู้กักกันชาวยิว มีชื่อเรื่องว่า “ช่างสักแห่งเอาท์วิช” ของ เฮเธอร์ มอร์ริส เป็นเรื่องความรักของช่างที่เขาต้องสักให้แก่นักโทษ แล้วเขาไปพบรักกันในค่ายผู้กักกัน ภายในเรื่องมันมีฉากของสงครามที่เศร้าและหดหู่ แต่ว่าเขาก็มีความสุขกันได้ พวกเขาโดนจับขังแยกกันและคอยลุ้นว่าคนรักของเขาจะโดนจับขึ้นรถเอาไปลมควันไหม อะไรนี้ พี่รู้สึกว่า อะไรแบบนี้มันมีความหวัง แล้วเล่มนี้เองก็จบลงแบบที่ไม่เศร้ามาก ที่สําคัญ หนังสือเล่มนี้เอามาจากเรื่องจริงด้วยนะ!! พี่ชอบอ่านพวกเรื่องที่อ้างอิงมากจากเรื่องจริง แล้วมันทําให้เห็นว่าสงครามมันทําลายอะไรหลายอย่าง (พี่จ๋าหยิบหนังสืออีกเล่มมาให้ดู) เล่มนี้คือ “ความลับของทะเล” ฉบับพิมพ์ใหม่ ของพี่เรืองรอง รุ่งรัศมี ซึ่งปัจจุบันเขาเสียชีวิตไปแล้ว เขาเอาภาพวาดของเด็กจีนมาประกอบการเล่าเรื่อง แล้วพี่รู้สึกว่ามันมีความใสความน่ารักของเด็ก ๆ อยู่ ส่วนเล่มนี้ก็ดี เป็นเรื่องของการเสียดสีที่เกี่ยวกับร้านชําขายอุปกรณ์ฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นอีกเล่มหนึ่งที่ขายดีนะ แต่เขาเพิ่งจะนํากลับมาพิมพ์ใหม่ เป็นหนังสือที่เด็กวัยรุ่นยุคใหม่ เขาชอบเข้ามาหยิบจับซื้อไปอ่านกัน แต่หลัง ๆ มานี้หนังสือพวกเกี่ยวกับซึมเศร้ามักจะขายดี เล่มนี้เองก็เป็นหนึ่งในนั้นชื่อว่า “ร้านชําสําหรับคนอยากตาย” ของ ฌอง เติลเล่ เป็นเล่มที่กวน ๆ หน่อยสนุกดี เล่มต่อไปนี้คือ “แผนที่ภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม” ซึ่งพี่ก็ชอบหยิบมาเปิดดู แล้วพี่ได้ยินมาว่ากระบวนการพิมพ์มันค่อนข้างยุ่งยากด้วยนะ เล่มนี้มันเป็นเรื่องของแผนที่ประเทศต่างๆทั่วโลกแต่เป็นแผนที่ทางวัฒนธรรม ก็คือพี่หยิบเล่มนี้มาเปิดดูในช่วงที่เกิดข้อพิพาทกันระหว่างรัซเซียกับยูเครน แล้วพี่ก็เห้ย! พื้นที่มันอยู่ใกล้กันขนาดไหน พี่เลยลองหยิบมาดู เพราะด้วยภาพมันสวยแล้วก็เยอะมากแถมดูง่าย ลึก ๆ พี่รู้สึกว่าหนังสือแต่ละเล่มมันมีคุณค่าของตัวเอง อย่างหนังสือวรรณกรรมคลาสสิกหลายเล่มมันมีความเป็นสากลที่จะสามารถเข้าใจได้กับทุกวัฒนธรรม แล้วหนังสือที่น่าสนใจเยอะมากขึ้นในหลายสํานักพิมพ์นะ (ปัจจุบันคนเริ่มหันกลับมาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นด้วยไหม?) เยอะขึ้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่พี่ว่าคนอ่านหนังสือไม่ได้หายไปนะ ตอนแรกพี่คิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่าน แต่คงจะมีบางกลุ่มที่เขาเลือกรับชุดข้อมูลผ่านช่องทางอื่นมากกว่า อย่างบางช่วงพี่ก็รู้สึกว่า หนังสือบางอย่างมันอ่านออนไลน์มันไม่เหมือนกัน อย่างช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีเด็กวัยรุ่นเข้ามาซื้อหนังสือการเมืองที่ร้านพี่กันเยอะมากเลยนะ พี่ก็แบบเอ่อ...พวกเนื้อหาที่หนัก ๆ ซับซ้อนพวกนี้มันสามารถอ่านได้ง่ายกว่าจากแบบที่เป็นรูปเล่มเนอะ (ชุดข้อมูลบางอย่างสามารถหาดูได้แค่จากรูปเล่มด้วยใช่ไหม?) ใช่ ๆ เพราะว่าบางชุดข้อมูล พี่ว่า e-book มันยังเข้าไม่ถึง แล้วจริงๆ e-book ก็ราคาไม่ได้ถูกนะ อาจจะถูกกว่าหนังสือรูปเล่มนิดเดียว พี่ก็คิดนะว่าเราหันมาซื้อหนังสืออ่าน คงจะดีกว่า (การต้องพกหนังสือเล่มหนึ่งมีความรู้สึกว่าเป็นภาระมากกว่ามีหนังสือออนไลน์บนสมาร์ทโฟนเลยทําให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาเลือกซื้อหนังสือ e-book กันหรือเปล่า?) แต่พี่ว่าไม่ใช่ทั้งหมดนะ เพราะจริง ๆ การอ่านบนหน้าจอมันสะดวกดีอยู่แต่ก็ไม่สามารถอ่านได้นาน ๆ เมื่อเทียบกับหนังสือเป็นเล่ม แถมปวดตามากกว่าด้วย แต่ก็หนังสือบางอย่างมันก็อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่เหมาะสมก็ได้ แล้วแต่คนอ่านอีกที เพราะอย่างตอนนี้ เอกสารในมหาวิทยาลัยหลายที่ก็เป็นระบบออนไลน์กันหมดแล้วด้วย The people : คิดว่าการอ่านหนังสือนับเป็นการพักผ่อนไหม พี่คิดว่ามันเป็นได้หลายแบบนะ จากประสบการณ์ของพี่เอง คือถ้าเราเป็นคนรักการอ่านมันก็เหมือนการที่เรามี เครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มเหมือนของวิเศษโดราเอม่อน (หัวเราะ) สมมติถ้าเราเหงา หนังสือก็เป็นเหมือนเพื่อน หรือถ้าเราต้องการความรู้บางอย่างที่มันเฉพาะทาง หนังสือก็สามารถเป็นแหล่งความรู้ใหม่ให้กับเราได้สามารถขยายมุมมองที่มีอยู่ให้กว้างขึ้น หรือนักศึกษาเองที่เขาได้อ่านหนังสือ พี่คิดว่าเขาก็สามารถเพิ่มคลังคําศัพท์ที่เขาจะนําเอาไปพูดเพื่อสื่อสารสําหรับการทําข้อสอบได้มากขึ้นนะ ซึ่งพี่คิดว่า หนังสือมันสามารถเป็นอะไรก็ได้แต่ไม่มีหนังสือก็ไม่เป็นไรนะเพราะจริง ๆ แล้ว บางวัฒนธรรมก็ไม่ได้มีหนังสืออยู่ในวัฒนธรรม… รู้จักเจ้าของ 'ร้านเล่า' ร้านหนังสือเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นในเชียงใหม่ The people : หากเปรียบสังคมปัจจุบันให้เป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง คิดว่าอยากหยิบเล่มไหนมาเปรียบเทียบ หรือเป็นประโยคจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งก็ได้ (ค่อย ๆ มองหาหนังสือจากภายในร้าน) แต่เอาจริง ๆ นะ พี่อยู่ร้านหนังสือมาแล้วรู้สึกโชคดีมากที่ได้รู้จักกับเด็กรุ่นใหม่ เพราะถ้าเทียบชีวิตปกติแบบป้าของพี่ พี่ก็ใช้ชีวิตเดิม อย่างไปร้านกาแฟร้านเดิม เจอคนเดิมๆ ผ่านรูปแบบการใช้ชีวิต แต่ว่าการที่พี่มาอยู่ร้าน พี่รู้สึกว่าการได้พบเจอกับผู้คนภายนอกที่เรามองเขาว่าเป็นอีกอย่าง แต่พอได้พูดคุยกัน เรากลับเห็นอีกอย่างหนึ่งจากเขาจนบางที พี่ก็สัมผัสได้ว่าเด็กรุ่นใหม่มีจุดมุ่งหมายบางอย่าง ซึ่งพี่คิดว่า “โจนาทาน ลิฟวิงตัน : นางนวล” เล่มนี้ของ ริชาร์ด บาก มันตอบโจทย์กับสังคมของเด็กรุ่นใหม่นะ เรื่องราวของนกนางนวลที่มุ่งมั่นบินฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และพยายามที่จะฝ่าฟันอย่างช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเนอะ พี่รู้สึกเหมือนว่าประเทศไทยอยู่ในพายุหมุน และเราก็รู้สึกว่าอะไรวะ แม่ง! การเมืองอะไรก็ ไม่รู้แต่เราก็ได้เห็นกลุ่มเด็กที่พยายามปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง พร้อมหาข้อมูลศึกษาเพิ่มเพื่อมาเพิ่มแง่มุมใหม่ ๆ เหมือนกับโจนาทาน ในเล่มนี้แหละ พวกเราก็ต้องสู้กันต่อไปเพื่ออนาคตเนอะ แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างภายในเล่มด้วยอย่างเช่น “พวกเราแต่ละตัวโดยที่จริงเป็นความนึกคิดของนางนวลที่ยิ่งใหญ่ เป็นความนึกคิดของอิสระเสรีที่ไม่มีขอบเขตจํากัด โจนาทาน มักพูดเช่นนั้นตอนเย็น ๆ บนชายหาดและฝึกบินเป็นขั้นเพื่อที่จะนําไปสู่การแสดงออกของธรรมชาติอย่างแท้จริงของเรา อะไรก็ตามที่จะมาจํากัดเรา เราต้องปัดออกไป และการฝึกความเร็วสูง ความเร็วต่ำ การบินกายกรรมในอากาศก็เพื่อเหตุผลที่ว่า” ประโยคหนึ่งจากหนังสือ โจนาทาน ลิฟวิงตัน : นางนวล เด็กยุคสมัยนี้เขาก็เป็นเหมือนนางนวลที่มีวิถีในแบบของเขาที่จะบินไปให้ถึงเป้าหมายที่เขาได้วางเอาไว้จากสิ่งที่เขาหวัง โดยที่ไม่ว่าเขาจะเจออุปสรรคอะไรก็ตาม เขาก็พร้อมเผชิญ แล้วพี่ว่าสังคมทุกวันนี้มันเป็นของเขา เขาอยากเปลี่ยนแปลงมันไปทางไหน ผู้ใหญ่ยุคนี้ก็ต้องฟังเขานะ The people : มีมุมมองอย่างไรต่อหนังสือที่ร้านนํามาขาย มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตในสังคมได้อย่างไรบ้าง (หัวเราะ) พี่ไม่ได้คิดถึงขนาดว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรหรอกนะ แต่พี่ว่าลูกค้าที่เข้ามาภายในร้านและได้หนังสือที่เขาไม่ค่อยได้เห็นจากร้านอื่น ๆ อย่างพวกหนังสือเก่า ซึ่งพี่รู้สึกว่า หนังสือที่ร้านอาจจะอายุเยอะแล้ว ในแต่ละเล่มอาจจะโด่งดังมากในสมัยหนึ่งแต่ด้วยเวลาที่ผ่านเลยไป หนังสือใหม่ก็มีเข้ามาอยู่ เรื่อย ๆ ทําให้หนังสือเก่าพวกนี้อาจจะถูกหลงลืมไป แต่พี่ก็ยังคิดว่าหนังสือมันยังคงร่วมสมัยและมีคุณค่ากับนักอ่านรุ่นใหม่ ๆ พี่ก็เลยสั่งหนังสือเล่มเดิมมาซ้ำ ๆ แล้วพี่คิดอยากจะยืดอายุของหนังสือไม่ให้มันอายุสั้น อย่าง 3 เล่มข้างหน้านี้นะ แผ่นดินของเรา , ไปรษณีย์ใต้ และเที่ยวบินกลางคืน เป็นผลงานของอองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี เป็นคนเดียวกันกับที่แต่งเรื่องเจ้าชายน้อย ซึ่งถ้าเราไปหาดูหนังสือพวกนี้ หน้าเพจซีเอ็ดไม่มีแล้วนะ เพราะทางนั้นคงไม่ได้สั่งซ้ำเข้ามา และพี่รู้สึกว่าหนังสือพวกนี้เป็นอีกเล่มที่ดี ถ้านักอ่านได้อ่านงานพวกนี้ พี่คิดว่าเขาจะได้มุมมองอื่นจากนักเขียนที่พวกเขาหลงรักอย่างเจ้าชายน้อยได้ แต่จริง ๆ แล้ว 3 เล่มนี้เขาเขียนก่อนหน้าเจ้าชายน้อยอีกนะ พี่คิดว่าถ้าหากเราได้อ่านหนังสือสักเล่มที่มันแบบไปจี้จุดบางอย่างของเรา มันก็สามารถทําให้เราได้เติบโตขึ้นและอาจได้มุมมองบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนะ ไม่ว่าจะเป็นนิยายรักหรืออะไรก็แล้วแต่ เรื่องง่าย ๆ เรื่องสั้น ๆ อย่างเช่นนิยายประโลมโลกที่พอเราได้อ่านแล้วมันก็อดคิดไม่ได้ที่จะนําเอามาเปรียบกับชีวิตของเราที่อาจจะเคยพบเจอมา เฉกเช่นเดียวกับในเรื่องที่ได้อ่านเพียงเล็กน้อยก็ยังดี หากว่าขณะอ่านนั้นเขามีความสุขหรือได้รู้สึกอะไรบางอย่าง ได้แง่มุมความคิดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเอาจริง ๆ เราไม่รู้ตัวหรอกว่า ตัวเราในวันข้างหน้าจะมานึกย้อนถึงถ้อยความที่ได้อ่านนั้นหรือไม่ บางทีถ้อยความเหล่านี้มันอาจจะช่วยให้ประโยชน์อะไรแก่ชีวิตเราได้ในสักวันหนึ่ง The people : ถ้าให้เลือกหนังสือที่อยากแนะนําให้กับ The People สักเล่ม จะเลือกเรื่องอะไร (เดินไปหยิบหนังสือมาเล่มหนึ่งอย่างตั้งใจ) เล่มนี้! “เมื่อโลกซึมเศร้า” ของ สรวิศ ชัยนาม หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของโรคซึมเศร้า ถ้าอ่าน เราสามารถเห็นถึงแง่มุมที่มาที่ไปว่าโครงสร้างทางระบบ ทางสังคมมันเข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนสมัยนี้อย่างไร มันเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เราสามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งเล่มนี้ทําให้ได้เห็นว่า เราไม่สามารถจะแยกขาดจากสังคมได้เพราะอะไร หลังจบบทสนทนา เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันอีกเล็กน้อย จากมุมมองของร้านหนังสือเล็ก ๆ ย่านเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนวนจากผู้คนที่แตกต่างกันทําให้เราได้รู้มุมมองรวมไปถึงทัศนคติจากผู้คนที่พบเจอและหนังสือที่ได้อ่านว่า ความรู้อยู่ทุกที่ หากแต่เพียงว่า การเปิดใจมองอะไรให้กว้างขึ้นย่อมสามารถทําให้เราเห็นสิ่งที่ดีกว่าได้ เรื่อง : ณัฐนันท์ วิจิตรบุญชูวงศ์ ภาพ : ณัฐนันท์ วิจิตรบุญชูวงศ์