‘เบลก ไมคอสกิ’ ผู้ก่อตั้งรองเท้า TOMS ที่ไม่ได้หวังแค่รวย แต่อยากช่วยให้โลกดีขึ้นจากแบรนด์

‘เบลก ไมคอสกิ’ ผู้ก่อตั้งรองเท้า TOMS ที่ไม่ได้หวังแค่รวย แต่อยากช่วยให้โลกดีขึ้นจากแบรนด์

คนทำธุรกิจส่วนใหญ่มักจะตั้งต้นด้วยความคาดหวังในเรื่องรายได้ แต่ไม่ใช่ ‘เบลก ไมคอสกิ’ ผู้ก่อตั้งรองเท้า TOMS ซึ่งเขาให้ความสำคัญกับการทำแบรนด์ให้ช่วยโลกดีขึ้นมากกว่า

  • เบลก ไมคอสกิ ได้ให้กำเนิดรองเท้า TOMS ขึ้นมาในปี 2006 
  • แบรนด์นี้ ไม่ได้มองรายได้หรือกำไร เป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ต้องการทำแบรนด์ที่ช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น  

“จุดมุ่งหมายของคนเรา ไม่ใช่การที่คุณหาเงินได้มากเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับว่า คุณช่วยเหลือผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใดต่างหาก” นั่นเป็นเจตนารมย์ของ ‘เบลก ไมคอสกิ’ (Blake Mycoskie) ได้ให้กำเนิดรองเท้า TOMS ซึ่งพ่วงไปกับคำมั่นสัญญาว่า “รองเท้าทุกคู่ที่คุณซื้อไป เราจะบริจาครองเท้าอีกคู่ให้กับเด็กที่ขาดแคลน” 

เขาเป็นชายหนุ่มที่ไม่คิดว่าตัวเองจะกลายเป็นผู้ประกอบการที่มีพลังขับเคลื่อนสังคมได้ แต่การได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่อเมริกาใต้และไปเรียนโปโลที่อาร์เจนตินากลับได้พบกับ 2 สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล 

นั่นคือรองเท้า Alpargata รองเท้าผ้าใบท้องถิ่นของอาร์เจนตินา และเด็ก ๆ ที่ไม่มีรองเท้าใส่ ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์รองเท้า TOMS ขึ้นมา โดยคาดหวังจะให้แบรนด์ทำให้โลกดีขึ้น

ชีวิตที่แตกต่างในอีกซีกโลก

เบลก ไมคอสกิ เกิดเมื่อปี 1976 ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เขามาจากครอบครัวอเมริกันชนชั้นกลาง พ่อเป็นหมอ แม่เป็นนักเขียน 

แม้ค่อนข้างมีฐานะอยู่สบาย แต่สมัยเด็ก ๆ เขาเห็นคุณค่าหนึ่งที่พ่อแม่คอยพร่ำสอนและปฏิบัติเป็นตัวอย่างอยู่บ่อย ๆ นั่นคือ การมีจิตเมตตาบริจาคเงินทองสิ่งของให้แก่ผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือสถาปนาตัวเองให้สูงส่ง แต่เป็นการ ‘ให้เปล่า’ โดยไม่หวังผลตอบแทน แค่อยากช่วยคนอื่นแค่นั้นพอ

การให้และช่วยเหลือผู้อื่น การตระหนักรับรู้เรื่องรอบตัวที่แคร์ผู้อื่น การโฟกัสที่ความเป็นอยู่เหนือกว่าแค่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ค่อย ๆ ซึมซับอยู่ในตัวเบลก ไมคอสกิ ตั้งแต่เด็ก ซึ่งเขาเองได้นำมันออกมาใช้ช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

นอกไปจากนี้ พ่อแม่ผลักดันให้เบลก ไมคอสกิ เริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่สปอยล์ อยากได้ของเล่นอะไรต้องเก็บเงินเอง ต้องลองหาทางเอามาให้ได้ด้วยตัวเองดูก่อน จุดนี้เสริมสร้างบุคลิกกล้าเสี่ยง ลองผิดลองถูก และลงมือทำ

ไม่แปลกที่เขาจะลอง ‘ทำหลายอย่าง’ ตั้งแต่วัยรุ่นจนโตเรียนจบ เช่น รับสอนเป็นโค้ชเทนนิสช่วงปิดเทอม ทำธุรกิจซักรีดลงไปเทคแคร์ลูกค้าโดยตรงกับตัว บริษัทสื่อที่ดูแลงานด้านโฆษณา ออกรายการเรียลลิตี้โชว์ ธุรกิจสอนฝึกหัดขับรถออนไลน์

เส้นทางทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้เขาเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ และเขามาค้นพบว่าตัวเองก็ทำได้ค่อนข้างดีด้วย! แทบทุกธุรกิจที่จับล้วนมีกำไร มีระบบรันธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ลูกค้าพึงพอใจกลับมาซื้อซ้ำ เขาดูจะมี ‘หัวทางธุรกิจ’ ที่ชัดเจนและน่าจะไปได้สวยในระยะยาว

แต่แล้ววันหนึ่งเบลก ไมคอสกิ ไม่ได้คิดเช่นนั้น…

เคว้งคว้างท่ามกลางความสำเร็จ

แม้จะไม่ได้โดดเด่นระดับเปลี่ยนโลก แต่เส้นทางเดินของเขาล้วนประสบความสำเร็จในสเกลที่พึงพอใจมาอย่างต่อเนื่องเท่าที่คนคนหนึ่งจะเป็นได้ แพตเทิร์นที่ผ่านมามักเป็นการปั้นธุรกิจให้ทำกำไรและมีระบบที่มั่นคงมากพอ เบลก ไมคอสกิ จึงค่อยหานักลงทุนและขายกิจการออกไป และนำเงินก้อนที่ได้มาไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ 

แต่เขารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ ‘คำตอบของชีวิต’ เหมือนเป็นการไขว่คว้าเงินทอง เป็นหนูถีบจักรวิ่งไล่หากำไรสูงสุดอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จบ ถ้าเขาจะต้องสร้างธุรกิจหรือทำอะไรบางอย่างที่มี ‘ความหมาย’ แก่ชีวิตจริง ๆ เขาควรต้องทำอะไร?

แม้แต่ตัวเขาเองในตอนนั้นก็ไม่มีคำตอบ เขาทำได้เพียงพักสมองและมีโอกาสเรียนโปโลพร้อมพักผ่อนที่ประเทศอาร์เจนตินา

และสถานที่นี้เองที่ทำให้เขาตาสว่างและพบคำตอบที่ตามหามานาน!

อีกซีกโลกที่ไม่รู้จัก

เบลก ไมคอสกิ ปะทะกับวัฒนธรรมการใส่รองเท้าท้องถิ่นของชาวพื้นเมืองอาร์เจนตินาที่มีชื่อเรียกว่า ‘Alpargata’ เบาสบาย ทนทาน และมีดีไซน์ประหลาดตา แตกต่างจากรองเท้ามาตรฐานทั่วไปในท้องตลาด 

อีกฉากทัศน์ที่เห็นคือ บรรดาเด็กยากไร้ด้อยโอกาสที่วิ่งเล่นประสาเด็กโดย ‘ไม่ใส่รองเท้า’ ไปบนพื้นหินดินทรายทุรกันดาร ซึ่งทำให้เขาไปพบกับเชื้อสิ่งหนึ่งที่ชื่อว่า พยาธิปากขอ (Hookworms) เป็นพยาธิที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในคน โอกาสเกิดขึ้นได้สูงถ้าคุณเดินเท้าเปล่าไปตามพื้นดินที่สกปรก เช่น มีคราบอุจจาระเรี่ยราด อย่างเช่นตามถิ่นทุรกันดารของอาร์เจนตินา

วิธีแก้ง่าย ๆ คือ ‘ใส่รองเท้า’ แต่ปัญหาคือคนชนบทยากจน…ไม่มีรองเท้าใส่ ด้วยความยากจนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นี่เป็นสิ่งที่คนเมืองจินตนาการไม่ออก โดยเฉพาะคนเมืองแบบเบลก ไมคอสกิ ที่เกิดและโตมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา

ภาพของเด็กน้อยยากจนว่าน่าอดสูแล้ว แต่ภาพของพวกเขาที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคพยาธิต่าง ๆ ยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่ในสายตาของเบลก และนั่นเองทำให้เขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง!

ธุรกิจโดยบังเอิญ

เขาคิดว่าเบื้องต้นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนด้วยการทำอย่างไรก็ได้ให้เด็ก ๆ เหล่านี้ ‘มีรองเท้าใส่’

เขานำสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีมาผสมผสานเข้ากับจิตวิญญาณความหมายในชีวิตที่ตามหามานาน นั่นคือ ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และจิตใจที่แค่อยากช่วยเหลือผู้อื่น เขาเริ่มจากทำความเข้าใจตัวโปรดักต์ ให้คนท้องถิ่นสอนทำรองเท้า Alpargata จนรู้วิธีผลิต จากนั้นเขาเตรียมวางแผนการสร้างแบรนด์อย่างรอบคอบ

และแล้วในปี 2006 แบรนด์รองเท้าเพื่อสังคม TOMS ก็ได้ลืมตาดูโลก เป็นรองเท้าที่ถอดต้นแบบมาจากรองเท้า Alpargata แต่ใส่ดีไซน์ให้ทันสมัยขึ้นและปรับให้เข้ากับการใช้งานจริงของคนเมืองมากขึ้น ส่วนเหตุผลของชื่อแบรนด์ก็มาจากชื่อเต็มว่า ‘Tomorrow’s Shoes’ รองเท้าเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม

เบลก ไมคอสกิ วางโมเดลธุรกิจได้น่าสนใจว่า ‘One for One’ รองเท้าทุกคู่ที่ลูกค้าซื้อ แบรนด์จะบริจาคอีกคู่ให้เด็กยากไร้ในอาร์เจนตินา ซึ่งก็คือเด็ก ๆ ที่เบลกไปพบเจอกับตัว (ภายหลังขยายขอบเขตการบริจาคไปหลายประเทศยากจนทั่วโลก)

ช่วงแรกในระหว่างตระเวนขาย เบลกสังเกตว่า ถ้าเข้าหาผู้คนไม่ว่าจะร้านค้าหรือลูกค้ารายบุคคล ถ้าเริ่มขายเปิดด้วยตัวผลิตภัณฑ์สินค้า แทบทุกคนมักเมินหน้าหนีและพยายามปฏิเสธ 

เรื่องนี้สร้างความกังวลใจให้เขาไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมองไปรอบ ๆ ที่สมรภูมิตลาดรองเท้าแข่งขันกันสูงมาก ไหนจะยักษ์ใหญ่ที่ครอบครองตลาดและทรัพยากร แทบจะเหลือหนทางเดียวที่พอสู้ได้ นั่นคือ ‘ขายเรื่องราว’ (Storytelling) 

พอเขาทดลองเปลี่ยนมาเป็นการสร้างเรื่องราวที่จริงใจแทน บอกเล่าความตั้งอกตั้งใจที่เขายึดมั่นในสิ่งที่ทำว่ามันมีประโยชน์แค่ไหน พบว่าหลายคนตั้งใจฟังและซักถามกลับมาถึงชีวิตเด็ก ๆ เหล่านี้

เบลก ไมคอสกิ พบว่าผู้คน ‘ซื้อเรื่องราว…ก่อนซื้อรองเท้า’

ถ้าเรื่องราวโดนใจ กินใจ ทัชใจเมื่อไร…รองเท้าขายออกเมื่อนั้น และขายออกมากกว่า 1 คู่ด้วย! นอกจากเขาจะปิดการขายได้ มียอดออเดอร์เข้าและบริจาครองเท้าตามที่สัญญาได้สำเร็จ 

ในเวลาต่อมา เรื่องราวของ TOMS ยังถูกสื่อมวลชนและคนดังหลากหลายแขนงนำไปตีข่าวขยายความ สร้างเรื่องราวที่กินใจและเพิ่มการรับรู้ (Awareness) ทั้งในมุมของแบรนด์เอง และในมุมของตัวปัญหาความยากจนนี้ แม้แต่บิล เกตส์เองยังเสริมว่า “การขาดแคลนรองเท้าใส่นำไปสู่เชื้อโรคร้ายโดยตรงต่อเด็ก ๆ”

ในเวลาต่อมา TOMS จึงประสบความสำเร็จชนิดเกินคาด สามารถบริจาครองเท้าไปได้ 10,000 คู่ภายใน 1 ปีแรก เป้าหมาย KPI ดูเหมือนจะไม่ใช่ยอดขาย แต่เป็นยอดรองเท้าที่บริจาคได้ด้วยซ้ำ และจวบจนถึงปัจจุบัน TOMS บริจาครองเท้าไปแล้วกว่า 100 ล้านคู่! แก่เด็กยากไร้ทั่วโลก

เบลก ไมคอสกิ ยังขยายผลิตภัณฑ์ไปหมวดหมู่อื่น ๆ มากขึ้นให้ครอบคลุมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าถึงประเทศต้นทางที่ยากจน เพื่อหวังเพิ่มอัตราการจ้างงานแก่คนท้องถิ่น

ทุกวันนี้เขายังคงตระเวนเดินสายเคลื่อนไหวด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำ จัดเวิร์กชอปให้ผู้เข้าร่วมงานทดลอง ‘เดินเท้าเปล่า’ ในเวลาแค่ไม่กี่นาที ก็เพียงพอที่จะรับรู้แล้วว่าของพื้น ๆ ธรรมดา ๆ อย่างรองเท้า กลับช่วยทะนุถนอมขาของคนเราได้มหาศาล และเพียงพอที่จะป้องกันการบาดเจ็บ รอยแผล และเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ

นี่คือรูปแบบหนึ่งของธุรกิจ Social enterprise ที่ไม่ได้หวังเฉพาะกำไรสูงสุด แค่เป้าหมายสูงสุดคือสังคมโดยรวมที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดูเหมือนว่าโลกของเราต้องการคนแบบ เบลก ไมคอสกิ และธุรกิจแบบ TOMS อีกเยอะ…

.

ภาพ : Getty Images, TOMS

อ้างอิง 

.

About toms

Blake Mycoskie: Sole trader to serial philanthropist

Toms

Toms sale