อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต

อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต

อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนทรานสฟอร์มองค์กร ในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต

การทรานสฟอร์มองค์กรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี…ลงทุนด้านเทคโนโลยีหรือทำเพียงขยับขยายธุรกิจให้หลากหลายมากขึ้นคงไม่เพียงพอ แต่ต้องทรานสฟอร์มในทุกมิติ ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การเพิ่มความสามารถในเรื่องดิจิทัล การนำเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ประโยชน์ และอีกคีย์สำคัญที่ขาดไม่ได้คือเรื่องการเตรียม ‘คน’ ให้พร้อมต่อการรับมือกับความท้าทายในอนาคต รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนแนวคิดในการทำงานให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลง 

อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังถูกท้าทายอย่างเข้มข้น จากการมาถึงของดิจิทัล ประกอบกับเทรนด์การลงทุนของลูกค้าที่เปลี่ยนไป คำถามคือ ธุรกิจหลักทรัพย์ต้องปรับตัวอย่างไร? ปัจจัยที่จะช่วยให้การทรานสฟอร์มให้สำเร็จมีอะไรบ้าง?

The People สนทนากับ อารภัฏ สังขรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ Regional Head of Transformation เมย์แบงก์ กรุ๊ป เขาคือหนึ่งผู้นำที่โลดแล่นอยู่ในธุรกิจการเงินมากว่า 25 ปี เชี่ยวชาญในการทำ Transformation กับทั้งองค์กรไทยและต่างประเทศ สำหรับภารกิจพา บล.เมย์แบงก์ ฝ่าคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโตต่อในอนาคต อารภัฏนิยามไว้ว่าเป็นงานที่ทั้งยากและท้าทาย แต่ก็เป็นหนึ่งในงานที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิต 

 

อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต

 

บทบาท CEO กับภารกิจสุดท้าท้าย

ก่อนหน้านี้อารภัฏทำงานอยู่ในธุรกิจธนาคาร รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้กับธุรกิจในภาคการเงิน 

“การมาร่วมงานกับ บล.เมย์แบงก์ ถึงแม้จะยังอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน แต่ต้องบอกว่ามีเสียงเตือนมาเหมือนกันว่า ธุรกิจหลักทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงถูกดิสรัปต์ การนำองค์กรให้ประสบความสำเร็จในยุคนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมก็เก็บเอาสิ่งที่คนอื่นๆ บอกเรามาพิจารณา แต่ตอนนั้นสิ่งที่ทำให้ผมสนใจและบอกกับตัวเองว่า ถ้าหากเราทำได้ อิมแพกต์ที่เกิดขึ้น จะไม่ใช่แค่พาองค์กรพุ่งทยานไปข้างหน้าเท่านั้น แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดเรื่องการรับผิดชอบต่อนักลงทุน ด้วยอิมแพกต์ที่ใหญ่และท้าทาย เราจึงตกปากรับคำมาร่วมงานกับ บล.เมย์แบงก์ในที่สุด”

เขาเล่าถึงโจทย์ท้าทายที่ทำให้ตัดสินใจตกปากรับคำ ขึ้นแท่นเป็นผู้นำของ บล.เมย์แบงก์ ในปี 2020 ก่อนจะฉายภาพให้เห็นว่า ทำไมใครๆ ต่างมองว่าธุรกิจหลักทรัพย์กำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่ท้าทายที่สุด 

“ธุรกิจหลักทรัพย์กำลังถูกการดิสรัปต์ของดิจิทัล รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงข่าวสารและความรู้ของผู้บริโภค นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเราพึ่งพาหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว ไม่ตอบโจทย์นักลงทุนในปัจจุบันที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้กำลังท้าทายทั้งอุตสาหกรรม จนหลายคนคาดการณ์ว่า ธุรกิจนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง”  

การมาของเขาจึงมาพร้อมโจทย์ในการการทรานสฟอร์ม บล.เมย์แบงก์ ครั้งใหญ่ เพื่อพาองค์กรให้เติบโตต่อไป

 

อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต

3 ระยะเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคใหม่ 

“ผู้นำต้องมีบทบาทสำคัญในการทำ Transformation ถึงจะมีโอกาสสำเร็จสูง แต่สิ่งที่ผมอยากบอกกับทุกคนก็คือ ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ยิ่งองค์กรใหญ่ ยิ่งมีโจทย์ท้าทายเยอะ การทำให้สำเร็จยิ่งไม่ง่าย”

การทรานสฟอร์มองค์กรของอารภัฏแบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มต้นจากการเลือก ‘ทำ’ ในสิ่งที่สำคัญและมีผลต่อการเติบโตในอนาคต

ระยะที่ 1: Refocus

“คือการลำดับความสำคัญว่าอะไรที่ควรทำก่อน-หลัง อะไรที่ควรโฟกัส-ไม่โฟกัส การจะลำดับความสำคัญได้นั้นต้องเริ่มต้นจากการกำหนดวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายขององค์กรเราก่อนว่า ในอนาคตองค์กรของเราจะเป็นอะไร ไม่ใช่แค่อนาคตในอีก 2-3 ปีเท่านั้น แต่ต้องเป็นการกำหนดเป้าหมายระยะไกล” 

“สำหรับ บล.เมย์แบงก์ วิสัยทัศน์ของเราคือการเปลี่ยนจาก Investment Transaction สู่ Investment Advisor ไม่ใช่แค่เป็นตัวกลาง แต่เราคือผู้ให้คำปรึกษาที่อยู่เคียงข้าง พาลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่เขาคาดหวังไว้”

ระยะที่ 2: Restructure

“การปรับโครงสร้างขององค์กร แน่นอนว่าย่อมกระทบกับชีวิตของทีมงานทุกคน สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากและค่อนข้างอ่อนไหว แต่ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ถ้าเราไม่เริ่มปรับเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ เราอาจไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนอีกเลย”

“เริ่มต้นจากการดูว่า องค์กรจะเติบโตต่อไปได้ ทีมงานจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร การนิยามสิ่งที่องค์กรต้องการออกมาได้ชัดเจนจะทำให้เห็นว่าใครที่เหมาะสมกับองค์กร สำหรับคนที่ไม่เหมาะสม เราจะอยู่เคียงข้าง ช่วยให้พวกเขาปรับตัวได้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ทุกคนมีความสามารถในการปรับตัวเปลี่ยน ถ้าเขาปรับได้ เขาจะเติบโตต่อไปในอนาคต แต่หากใครที่ไม่พร้อมปรับตัว สิ่งที่เราทำได้อย่างดีที่สุดคือ บอกกล่าวกับพวกเขาอย่างจริงใจ”

ระยะที่ 3: Reinvent

“เมื่อผ่านทั้งสองระยะมาได้ องค์กรตอนนี้จะเปรียบเหมือนกับบ้านที่ได้รับการทำความสะอาดจนเรียบร้อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือนำเสนอธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนยกระดับองค์กรให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง บล.เมย์แบงก์ในปัจจุบันดำเนินมาถึงระยะนี้แล้ว”

“สิ่งที่เป็นหลักของธุรกิจ บล.เมย์แบงก์ ตอนนี้เริ่มต้นมาจากการกลับมาดูว่ากลุ่มลูกค้าหลักๆ ของเราคือใคร พบว่าอันดับหนึ่งคือ นักลงทุนระดับไฮเอนด์ รองลงมาคือนักลงทุนเจนใหม่ที่กำลังให้ความสำคัญกับการวางแผนสร้างความมั่งคั่ง จึงเป็นที่มาของการกลับมาเน้นความสำคัญของ Family Office หรือบริการให้คำปรึกษาตลอดจนวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนที่มีสินทรัพย์จำนวนมาก 

“รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนเจนใหม่ อย่าง Maybank Invest App แอปพลิเคชันสำหรับการลงทุนที่มีสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลายชนิด ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุน และอื่นๆ ที่มีให้เลือกมากมาย”

 

อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต

 

‘คนเก่ง’ ไม่สำคัญเท่า ‘คนไม่ยอมแพ้’

ต่อให้วางกลยุทธ์ไว้เฉียบคมแค่ไหน ลงทุนกับการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในองค์กรมากเท่าไหร่ คีย์สำคัญของธุรกิจยังเป็น ‘คน’ อยู่เสมอ เมื่อถาม อารภัฏว่า คนแบบไหนคือคนที่มีคุณสมบัติตรงกับที่ บล.เมย์แบงก์ ในเวลานี้ต้องการ เขาเล่าถึง 5 DNA ที่กำลังพยายามปลูกฝังให้กับทีมงานทุกคน

     1. ขับเคลื่อนด้วยแพสชัน 

“ผมสนับสนุนให้ทีมงานทุกคนมีแพสชันไม่ว่าจะเป็นกับเรื่องงานหรือเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เพราะคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะมีแพสชันกับสิ่งที่เขาทำเสมอ”

     2. มีทักษะการคิดและแก้ปัญหา

“องค์กรของเรามุ่งเน้นผลลัพธ์เป็นสำคัญ นอกจากทักษะความเชี่ยวชาญในโลกของการลงทุนแล้ว ที่นี่เรายังให้ความสำคัญกับการฝึกทีมงานให้มีทักษะในการแก้ปัญหา เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า”

     3. มีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้

“ท่ามกลางโลก ธุรกิจ และลูกค้าที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มักจะทำให้เกิดโจทย์ท้าทายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เคยทำสำเร็จวันนี้ ไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จในอนาคต แต่หัวใจที่ไม่ยอมแพ้จะทำให้เราเอาชนะปัญหาต่างๆ ได้เสมอ”

     4. ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

“งานที่นี่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นโปรเจกต์ ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ด้วยฝีมือของคนเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลายฝ่าย ทักษะในการทำงานเป็นทีม และความสามารถในการรับฟังความคิดของผู้อื่นจึงสำคัญมาก”

     5. เชื่อในการลงมือทำ

“ผมสนับสนุนให้ทุกคนมีคุณสมบัติของการเป็นผู้ลงมือทำ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระดับซีเนียร์ เพราะการลงมือทำนำมาซึ่งความเข้าใจ หากคุณต้องการจะนำทีมงานให้ได้ คุณต้องมีความเข้าใจในเนื้องานก่อน ดังนั้นการลงมือทำยังสำคัญเสมอ”

 

อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต

 

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมไหน ไม่มีธุรกิจใดที่ไม่เผชิญกับความท้าทายจากการถูกดิสรัปต์ การทรานสฟอร์มหรือการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ยุคใหม่จึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายของทุกองค์กรในปัจจุบัน ‘ผู้นำ’ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา และตระหนักไว้เสมอว่า ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงย่อมมีแรงต่อต้าน สิ่งสำคัญที่สุดที่จะพิสูจน์ภาวะผู้นำในช่วงเวลา ผู้นำจึงไม่ใช่แค่ผู้คอยกำหนดวิสัยทัศน์แล้วเอาแต่สั่งการจากข้างบน แต่ยังต้องเป็นผู้ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา คลุกคลีกับทีม ตลอดจนลงมือทำเพื่อสร้างความเชื่อให้กับทีมงาน 

“ผมเชื่อเสมอว่า การจะเป็นผู้นำที่ดีต้องไม่มองพนักงานเป็นแค่หน่วยหรือจำนวนตัวเลข ที่เมื่อเขาออกไปก็แทนค่าด้วยพนักงานคนใหม่ แต่เราต้องมองพนักงานในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ซึ่งมีหัวจิตหัวใจ มีครอบครัวและคนที่เขารักที่ต้องดูแล และเขาคือคนสำคัญในการร่วมสร้างองค์กรของเรา การมีทัศนคติอย่างนี้จะทำให้ผู้นำรับฟังและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น พนักงานก็มีความสุข และอยากใช้ศักยภาพของเขาเข้ามาช่วยผลักดันองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างเต็มความสามารถ” อารภัฏกล่าวทิ้งท้าย

 

อารภัฏ สังขรัตน์ ถอดบทเรียนในวันที่ เมย์แบงก์ ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่อนาคต