WeWork อดีตสตาร์ทอัพที่เคยมีมูลค่าถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้ต้องยื่นล้มละลาย

WeWork อดีตสตาร์ทอัพที่เคยมีมูลค่าถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้ต้องยื่นล้มละลาย

Adam Neumann เคยถูกมองว่า เป็นชายที่มีวิสัยทัศน์ โดยเขาได้ก่อตั้ง WeWork ที่มาปฏิวัติพื้นที่ทำงาน จนกลายเป็นสตาร์ทอัพ ‘ดาวรุ่งพุ่งแรง’ แต่สุดท้ายภาพดังกล่าวก็เป็นเหมือนภาพลวงตา เพราะตอนนี้ WeWork ได้ยื่นล้มละลายแล้ว

  • Adam Neumann เป็นชาวอิสราเอลเกิดเมื่อ 25 เมษายน 1976
  • เขาเป็นผู้ปฏิวัติธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงาน ภายใต้ชื่อ WeWork
  • WeWork มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ถึง 47,000 ล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้บริษัทแห่งนี้ยื่นขอล้มละลาย

ใครจะเชื่อว่า ธุรกิจ Co-Working Space จะสร้างสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า 47,000 ล้านดอลลาร์ได้ แต่ Adam Neumann ผู้ก่อตั้ง WeWork สามารถทำได้

Adam Neumann เกิดเมื่อ 25 เมษายน 1976 ณ เมืองเบียร์ชีบา ประเทศอิสราเอล และในช่วงวัยรุ่นเขาได้เข้าไปเป็นทหารในกองทัพเรืออิสราเอล ก่อนจะย้ายมาใช้ชีวิตที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และเลือกเรียนในสาขาธุรกิจที่ Baruch College เพราะตัวเขามีความฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ

ธุรกิจแรก ๆ ที่เขาทำ คือ การผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กภายใต้ชื่อแบรนด์ Egg Baby แต่สุดท้ายธุรกิจดังกล่าวไปไม่รอด ต้องเผชิญกับประสบปัญหาขาดทุนจนต้องปิดกิจการไป

ทว่า Adam Neumann ก็ไม่ยอมแพ้ และไม่นานเขาได้พบกับ Miguel McKelvey ผู้มีอาชีพเป็นสถาปนิก ซึ่งทั้งคู่มีความสนใจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน จึงตัดสินใจจับมือเป็นหุ้นส่วนนำพื้นที่ออฟฟิศในตึกเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในย่าน Soho ของนิวยอร์กมาปรับปรุงแล้วเปิดเช่าให้คนมาทำงานร่วมกันในราคาประหยัด

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ WeWork ธุรกิจ Co-Working Space ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2010 โดย Adam Neumann ตั้งใจสร้าง WeWork ให้เป็นพื้นที่ที่จำลองความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้มาจากส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้ตอนอยู่ในอิสราเอล และคิดว่า เรื่องนี้ยังขาดไปในโลกตะวันตก  

นอกจากนี้ Adam Neumann ยังออกแบบให้ WeWork สร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย อาทิ การจัด Business Networking กิจกรรมที่เน้นสร้างคอมมูนิตี้และคอนเน็กชันให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจและการทำงานได้มากขึ้นกว่าเดิม

ปรากฎว่า เวิร์ค เพราะโมเดลของ WeWork ตอบโจทย์บริษัทที่อยากรัดเข็มขัดจากค่าเช่าตึกสำนักงาน บวกกับกระแสสตาร์ทอัพกำลังมาแรง มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนมากอยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองและต้องการพื้นที่ทำงานในราคาประหยัด ทำให้ WeWork เติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เบอร์ลิน, เม็กซิโกซิตี้, บัวโนสไอเรส, ปารีส เซาเปาโล รวมถึงไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการได้มากมาย โดยเดือนธันวาคม 2014 WeWork สามารถระดมทุน Series D ได้ 355 ล้านดอลลาร์ ถูกประเมินมูลค่าบริษัทไว้ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์

ในปี 2016 ความโดดเด่นของ Adam Neumann และ WeWork ได้สะดุดตาสะดุดใจ Masayashi Son ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ SoftBank ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนของญี่ปุ่น จนตัดสินใจในสตาร์ทอัพแห่งนี้ 3,100 ล้านดอลลาร์ (มีรายงานว่า เขาตัดสินใจตอนเดินสำรวจสำนักงานของ WeWork ในนิวยอร์กประมาณ 12 นาที)

ในปี 2017 WeWork มีสาขาถึง 156 แห่งใน 15 ประเทศจากทั่วโลก และระดมทุน Series G ได้ไป 760 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง Business Insider รายงานว่า มูลค่าดังกล่าวสูงกว่าสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Twitter ที่ ณ ตอนนั้นมีมูลค่าอยู่ราว 12,960 ล้านดอลลาร์

แน่นอนว่า ผู้ก่อตั้งอย่าง Adam Neumann ได้รับการยอมรับว่า เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์สามารถสร้างสตาร์ทอัพที่เรียกได้ว่า ร้อนแรงสุดแห่งยุค และเขาติดอันดับมหาเศรษฐีด้วยมูลค่าหุ้นที่มีสุทธิประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์

แม้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ผลประกอบการของ WeWork ก็ยังขาดทุนอยู่ โดยเขาให้สัมภาษณ์กับ Forbes ในปี 2017 อธิบายถึงการขาดทุนว่า  

“การประเมินค่าและขนาดธุรกิจของเราในวันนี้ขึ้นอยู่กับพลังงานและจิตวิญญาณของเรามากกว่ารายได้ที่เป็นตัวเลขหลายเท่า”

ในปี 2018 Adam Neumann เตรียมนำบริษัทที่เข้าสร้างขึ้นมาเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใน NASDAQ แต่ด้วยปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง แถมยังมีคำถามถึงธรรมาภิบาลของผู้ก่อตั้ง เพราะมีรายงานข่าวถึงการใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยและความไม่โปร่งใสของการบริหารของ Adam Neumann ออกมาเป็นระยะ ๆ  ทำให้การยื่น IPO ต้องเลื่อนออกไป

ถึงกระนั้นในปี 2019 SoftBank ก็เป็นผู้นำการระดมทุนให้กับ WeWork ในรอบ Series H ได้สำเร็จ โดยได้เงินลงทุนไป 1,000 ล้านดอลลาร์ มีการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ที่ 47,000 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ไม่พอจะหยุดปัญหาต่าง ๆ ได้

เนื่องจากในปีเดียวมูลค่าบริษัท WeWork ลดลงจาก 47,000 ล้านดอลลาร์ เหลือไม่ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ แถมมีทีท่าจะลดลงไปอีก เพราะข่าวฉาวของซีอีโอ และรายได้ที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมหาศาล จนต้องประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจและลดจำนวนพนักงานเกินครึ่ง

จากมรสุมต่าง ๆ ในปี 2019 Adam Neumann ถูกบอร์ดสั่งปลดออกจากการบริหารงานและตำแหน่งซีอีโอทันที

แม้ในปี 2021 WeWork จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ ทว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ดีขึ้น ทำให้ปัจจุบันได้ยื่นขอล้มละลายกิจการตามกฎหมาย Chapter 11 ของสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยมีผลเฉพาะส่วนธุรกิจในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น

แต่การยื่นล้มละลายดังกล่าว ก็นับเป็นการปิดตำนาน WeWork สตาร์ทอัพที่ร้อนแรงสุด ๆ และเคยมีมูลค่ากิจการสูงถึง 47,000 ล้านดอลลาร์ไป

ขณะที่ตัวของผู้ก่อตั้งอย่าง Adam Neumann ในปี 2022  เขาได้ก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า Flow ที่ตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าติดตามว่า เส้นทางต่อจากนี้ของเขาจะเป็นอย่างไร และ Flow จะซ้ำรอย WeWork หรือไม่

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง

.

forbes

businessinsider

nypost

standard

markets

businessinsider

investors