‘นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต’ ผู้เริ่มต้นอาณาจักร ‘อิตาเลียนไทย’ ที่ถูกส่งต่อสู่ ‘เปรมชัย กรรณสูต’

‘นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต’ ผู้เริ่มต้นอาณาจักร ‘อิตาเลียนไทย’ ที่ถูกส่งต่อสู่ ‘เปรมชัย กรรณสูต’

‘นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต’ คุณหมอผู้เริ่มต้นอาณาจักร 'อิตาเลียนไทย' ที่ถูกส่งไม้ต่อมาสู่ลูกชายคนสุดท้อง ‘เปรมชัย กรรณสูต’

  • บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในไทย
  • บริษัทแห่งนี้ ‘นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต’ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2501 
  • ปัจจุบัน ‘เปรมชัย กรรณสูต’ ลูกชายคนสุดท้องของนพ.ชัยยุทธ เป็นผู้เข้ามาสานต่อธุรกิจ 

การได้รับการปล่อยตัวหลังถูกพิพากษาจำคุกจาก ‘คดีเสือดำ’ ของ ‘เปรมชัย กรรณสูต’ ประธานกรรมการบริหาร ‘บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)’ ทำให้ชื่อของบริษัทแห่งนี้ซึ่งติดอันดับ Top 5 ในวงการรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศหลายแห่งรวมแล้วมีรายได้หลักหมื่นล้านบาทได้รับความสนใจอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2501 อิตาเลียนไทยได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการที่ ‘นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต’ พ่อของเปรมชัย เห็นโอกาสทองในการเติบโตของธุรกิจก่อสร้างหลังจากเศรษฐกิจของไทยและของโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 

จากเส้นทางอาชีพแพทย์รักษาคน นพ.ชัยยุทธเบนเข็มเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้อย่างไร และอะไรทำให้เขาสร้างอิตาเลียนไทยให้กลายเป็นอาณาจักรอย่างที่เห็นในปัจจุบัน นี่คือคำตอบที่เราจะพาไปค้นหา

นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต เกิดเมื่อ 26 เมษายน 2464 ณ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นลูกชายของ ‘เทียนเต็ก กรรณสูต’ กับ ‘ริ้ว กรรณสูต’ และเรียนระดับประถมจนถึงมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก แผนกฝรั่งเศส (ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 5 นพ.ชัยยุทธ มี ป๋วย อึ้งภากรณ์เป็นครูประจำชั้น)

พอถึงระดับอุดมศึกษา เดิมเขาตั้งใจจะเรียนทางด้านการเกษตร และไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี จึงหันเหเลือกเรียนในสาขาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหิดล) เหตุผลที่เลือกสาขานี้ ก็เพราะว่า มองอาชีพแพทย์เป็นอาชีพสร้างสรรค์ คนทำได้กุศลแรง และหากเป็นแพทย์ที่ดีผู้คนจะให้ความเคารพนับถือ

เมื่อเรียนจบมาเขาได้เข้ารับราชการทหารติดยศร้อยโทในตำแหน่งแพทย์ประจำกรมการเชื้อเพลิงกองทัพบก กระทั่งได้สมรสกับ ‘แพทย์หญิง ม.ร.ว.พรรณจิตร กรรณสูต (วรวรรณ)’ ซึ่งตัวเขาต้องการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว จึงตัดสินใจลาออกจากราชการหันมาทำธุรกิจที่ได้รับมรดกจากพ่อ นั่นคือ โรงน้ำแข็งและโรงไฟฟ้า ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนจะก่อตั้งโรงงานปลาป่นเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่แห่งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดชุมพร เมื่อปี 2498 

และแล้วจุดเปลี่ยนชีวิตของ นพ.ชัยยุทธก็มาถึง เมื่อได้ร่วมกับ ‘จิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี’ (Giorgio Berlingiere) วิศวกรชาวอิตาลี เข้าไปกู้เรือที่จมแม่น้ำเจ้าพระยาได้สำเร็จ

การทำงานร่วมกันครั้งนั้นทำให้ทั้งสองจับมือเป็นพาร์ตเนอร์สร้างธุรกิจร่วมกัน โดยปี 2497 ได้ก่อตั้ง ‘บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด’ ซึ่งระยะแรกดำเนินธุรกิจนำเข้าสินค้าจากยุโรปเข้ามาจัดจำหน่าย และรับเป็นตัวแทนของบริษัท S.I.L.M. จากอิตาลีในการรับจ้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยขุดลอกร่องน้ำที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลากว่า 5 ปี 

จากนั้นได้เริ่มขยายเข้าสู่งานรับเหมาก่อสร้างอาคาร ด้วยการสั่งโครงเหล็กที่ใช้ในการสร้างอาคารมาจากอิตาลี เพราะทั้งคู่มองว่า ตอนนั้นยังไม่มีใครทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง และช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจไม่ว่าของไทยหรือของโลกกําลังเริ่มฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้งานก่อสร้างทุกประเภทในไทยตอนนั้นขยายตัวเกินความสามารถของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีอยู่ 

นั่นจึงเป็นโอกาสทอง และเป็นจุดกำเนิดของ ‘บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด’ ที่ก่อตั้งขึ้นมาในวันที่ 24 กรกฎาคม 2501 

อย่างไรก็ตาม การเป็นแพทย์และมีความรู้ด้านวิศวกรไม่มากนัก ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสำหรับ นพ.ชัยยุทธจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จากคำพูดของแม่ที่เคยบอกกับเขาว่า  “ชัยยุทธ เมื่อลูกตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ขอพยายามให้ทำให้สำเร็จ อย่าท้อถอย” ทำให้เขาเป็นคนไม่ยอมแพ้และพร้อมสู้แบบไม่ถอยแม้ก้าวเดียว 

เช่นเดียวกับการเข้ามาบริหารอิตาเลียนไทย ซึ่งเขาต้องเรียนรู้และทำงานหนักเพื่อให้สิ่งที่ลงมือทำประสบความสำเร็จ มีประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่า สามารถสร้างธุรกิจของอิตาเลียนไทยให้เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ 

ไม่เพียงความเป็นนักสู้ นพ.ชัยยุทธ ยังเป็นคนมีหัวสมัยใหม่ กล้าลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคต จนสามารถขยายธุรกิจ ‘กลุ่มอิตัลไทย’ ให้ครอบคลุมในหลากหลายธุรกิจที่นอกจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแล้ว ยังมีการเข้าไปซื้อกิจการโรงแรมหลายต่อหลายแห่ง เช่น โอเรียนเต็ล โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน โรงแรมเครืออมารี 

นอกจากนี้ยังทำธุรกิจนำเข้าสินค้าประเภทไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงทำธุรกิจโรงหล่อเหล็กเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ของเครื่องจักรและรถยนต์ ธุรกิจต่อเรือเพื่อการพาณิชย์ โรงงานผลิตเหล็กเส้น โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น 

เปรมชัย กรรณสูต ทายาทรุ่น 2 ผู้รับไม้ต่อธุรกิจ

ในปี 2524 หุ้นส่วนคนสำคัญอย่าง จิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี ได้เสียชีวิตกะทันหันด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในห้องทำงานที่ตึกอิตัลไทย นพ.ชัยยุทธได้จ่ายเงินค่าหุ้นทั้งหมดให้กับภรรยาและบุตรสาวของจิออร์จิโอ แบร์ลิงเจียรี ทำให้นับจากนั้นอิตาเลียนไทยกลายมาเป็นธุรกิจของเขาแต่เพียงคนเดียว ซึ่งเขาเองได้พาอิตาเลียนไทยฝ่าฟันอุปสรรค และเติบโตขึ้นมาตามลำดับ 

กระทั่งปี 2547 นพ.ชัยยุทธได้เสียชีวิต และลูกชายคนสุดท้องอย่าง ‘เปรมชัย กรรณสูต’ ได้เข้ามารับช่วงกิจการต่อ (เดิม นพ.ชัยยุทธ วางตัว ‘เอกชัย กรรณสูต’ ลูกชายคนโตเป็นผู้สืบทอด แต่เอกชัยเสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างเดินทางกลับจากโรงงานบางปะอินในปี 2522)     

เปรมชัยเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2497 มีพี่น้องรวม 5 คน ได้แก่ ‘เอกชัย กรรณสูต’, ‘พิไลจิตร เริงพิทยา’, ‘นิจพร จรณะจิตต์’, ‘อรเอม เทอดประวัติ’ โดยเขาเป็นลูกคนสุดท้อง 

สำหรับประวัติการศึกษานั้น เปรมชัยจบระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา แล้วไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ จาก Colorado School of Mines รัฐโคโลราโด และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) จาก University of Southern California รัฐแคลิฟอร์เนีย

ส่วนเส้นทางการทำงาน เปรมชัยได้เริ่มต้นเข้ามาดูแลอิตาเลียนไทยในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อปี 2522 ในวัยไม่ถึง 30 ปี

เดิมที นพ.ชัยยุทธ พ่อของเขาและเป็นผู้ก่อตั้งอิตาเลียนไทย ต้องการให้บริษัทแห่งนี้เป็นธุรกิจของครอบครัว ไม่สนใจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน แต่ในปี 2533 เมื่อเปรมชัยได้เข้ามาบริหารเต็มตัว เขาได้เปลี่ยนความคิดนี้ เพราะต้องการให้บริษัทแห่งนี้สามารถเติบโตและขยายเครือข่ายธุรกิจได้มากกว่าเดิม

ดังนั้นปี 2537 จึงตัดสินใจนำอิตาเลียนไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท (ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 6,337 ล้านบาท) และได้งานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มากมายทั้งของภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟไทย - จีน, รถไฟทางคู่ระยะที่ 2, รถไฟสายสีม่วง (เตาปูน - ราษฎร์บูรณะ) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์), รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต), ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภาที่ร่วมประมูลกับ ซี.พี. ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในต่างประเทศอีกหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว, เมียนมา, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, บังกลาเทศ, อินเดีย, มาดากัสการ์, ออสเตรเลีย, โมซัมมิก, มัลดีฟส์ และไต้หวัน เป็นต้น 

ขณะที่รายได้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 59,698.10 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 67,833.32 ล้านบาท ขาดทุน 4,758.85 ล้านบาท ส่วนช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้ 34,888 ล้านบาท กำไร 423.80 ล้านบาท ซึ่งจากมูลค่าดังกล่าว ทำให้อิตาเลียนไทยเป็นหนึ่งใน Top 5 ของวงการธุรกิจก่อสร้างในไทย

 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เปรมชัยตกเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ หลังถูกจับกุมพร้อมพวกรวม 4 คนใน ‘คดีเสือดำ’ ที่ได้เข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก พร้อมได้มีการยึดของกลางเป็นซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุนจำนวนมาก

คดีนี้ได้รับความสนใจและถูกจับตาเป็นอย่างมากจากคนในสังคม เพราะผู้ก่อเหตุเป็นนักธุรกิจคนดังร่ำรวยติดอันดับเจ้าสัวของประเทศ ซึ่งหลังจากเกิดคดีดังกล่าวทางอิตาเลียนไทยได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการแต่งตั้ง ‘ธรณิศ กรรณสูต’ ลูกชายคนเล็กของเปรมชัยขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการประธานบริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป (จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศปัจจุบันเปรมชัยยังเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 อยู่ที่ 11.90% หรือคิดเป็นจำนวน 628,213,626 หุ้น รวมถึงยังคงดำรงตำแหน่งประธานบริหารและกรรมการในบริษัทอยู่)  

หลังจากสอบสวนและต่อสู้คดีกันนานประมาณ 3 ปี ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่ศาลทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งจำคุกเปรมชัย และจำเลยทั้งหมด โดยไม่รอลงอาญา และให้ชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนด

คดีนี้ตัวเปรมชัยถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 14 เดือน ที่เรือนจำทองผาภูมิ และวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เขาก็ได้รับอภัยโทษให้ปล่อยตัวจากเรือนจำ

.

ภาพ : อิตาเลียนไทย, หนังสือตำนานนักสู้: นายชัยยุทธ กรรณสูต 26 เมษายน 2464-29 พฤศจิกายน 2547

.

อ้างอิง 

.

หนังสือตำนานนักสู้: นายชัยยุทธ กรรณสูต 26 เมษายน 2464-29 พฤศจิกายน 2547

itd

bangkokbiznews

weblink

set