‘มัตซึชิตะ โคโนซุเกะ’ คนหัวก้าวหน้าที่สร้าง Panasonic ให้เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก

‘มัตซึชิตะ โคโนซุเกะ’ คนหัวก้าวหน้าที่สร้าง Panasonic ให้เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก

Panasonic เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและเป็นผู้ก่อตั้ง ก็คือ ‘มัตซึชิตะ โคโนซุเกะ’ (Matsushita Konosuke)

  • Panasonic เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี
  • ผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ ก็คือ ‘มัตซึชิตะ โคโนซุเกะ’ (Matsushita Konosuke) ซึ่งเขาเป็นคนหัวก้าวหน้าและเป็นนักบริหารที่ได้รับการยอมรับถึงแนวคิด 

'บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทรัพยากรที่มีทั้งพนักงานหรือทุนทรัพย์ล้วนมีที่มาจากสังคมทั้งสิ้น ดังนั้นการทำอะไรจึงต้องยึดผลกระทบต่อสังคมเป็นที่ตั้งเสมอ'

นี่เป็นคำกล่าวของ ‘มัตซึชิตะ โคโนซุเกะ’ (Matsushita Konosuke) ผู้ก่อตั้ง Panasonic หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี และอยู่เบื้องหลังอารยธรรมหลายอย่างของมนุษย์ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ถ่านไฟฉาย ทีวี ไปจนถึงกดปุ่มสตาร์ทรถยนต์ไฟฟ้า 

และด้วยแนวคิดดังกล่าว ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความมีหัวก้าวหน้าของผู้ก่อตั้ง ทว่ายังนำความสำเร็จมาให้กับ Panasonic จนทำให้เราสนใจในเรื่องราวชีวิตของมัตซึชิตะ

ชีวิตพลิกผันตั้งแต่เด็ก

มัตซึชิตะเกิดที่เมืองวาคายามะ (Wakayama) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1894 เขาเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยมีอันจะกิน อาศัยอยู่ในบ้านขนาดใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพราะพ่อของเขาเป็นแลนด์ลอร์ดเจ้าของที่ดินรายใหญ่ของเมือง ครอบครัวของเขาเป็นหนึ่งในครอบครัวที่มั่งคั่งที่สุดในชุมชน ชีวิตเริ่มต้นวัยเด็กของเขาจึงเป็นไปอย่างสุขสบายกว่าเด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในประเทศ

แต่แล้วดังเช่นชีวิตคนเราที่ช่างไม่แน่นอน เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อพ่อของเขาขาดทุนขนานใหญ่จากความผิดพลาดในการเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ครอบครัวแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จากคนรวยกลายเป็นคนจน จากบ้านหลังใหญ่เป็นห้องขนาดเล็ก เปลี่ยนจากชีวิตที่เป็นผู้รับบริการมาเป็นชีวิตที่ต้องออกแรงทำงานบริการหาเงินยังชีพ

ซ้ำร้าย หัวหน้าครอบครัวอย่างพ่อของเขาก็มาจากไปหลังจากนั้น ผลกระทบได้ตกมาสู่มัตซึชิตะโดยเขาต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน และในปี 1904 ด้วยวัยเพียง 9 ปี เขาต้องโบกมือลาครอบครัวที่สถานีรถไฟก่อนมุ่งหน้าไปโอซาก้าเพื่อไปเป็น ‘เด็กฝึกงาน’ ในร้านขายเตาถ่านญี่ปุ่นดั้งเดิม 

แต่ 1 ปีให้หลังร้านก็ต้องปิดกิจการลง และผลักดันให้เขาหางานใหม่ไปเป็นเด็กฝึกงานอีกครั้งใน ‘ร้านขายจักรยาน’ ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือเป็นยานพาหนะหรูหราที่นำเข้ามาจากอังกฤษ (วัฒนธรรมจักรยานยังไม่แพร่หลายในญี่ปุ่น) 

ในทางกลับกันการทำงานแต่เด็กเพราะชีวิตบังคับ หล่อหลอมให้เขาเป็นคนที่สู้งาน อดทน ทะเยอทะยาน หนักเอาเบาสู้ โชคยังดีที่เขาได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเจ้าของร้านจึงทำให้ทำอยู่ที่นี่นานหลายปี

อย่างไรก็ตาม ภายในใจลึก ๆ เขารู้สึกว่าองค์ความรู้ด้านกลไกจักรยานมีโอกาสต่อยอดได้ค่อนข้างจำกัด อีกทั้งโอซาก้าในยุคนั้น ได้เริ่มมี ‘รถราง’ วิ่งให้บริการบ้างแล้ว ทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของ ‘ไฟฟ้า’ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ขับเคลื่อนนวัตกรรมขนส่งมวลชนเหล่านี้

ในวัย 16 ปี เขาตัดสินใจย้ายไปทำบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าในตอนนั้นที่ชื่อว่า Osaka Electric Light Company และแล้วเขาก็พบความสามารถที่หลับใหลอยู่ในตัว เขามีพรสวรรค์ มีความหลงใหล และมีความเข้าใจในเรื่องของ ‘ไฟฟ้า’ เป็นอย่างดี การถูกโปรโมตไต่ระดับขั้นในองค์กรจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างต่อเนื่อง จนขึ้นมาเป็น ‘ผู้ตรวจระบบไฟฟ้า’ (Electrical inspector) 

เส้นทางชีวิตของมัตซึชิตะเหมือนจะดีขึ้น แต่เขาก็ต้องเผชิญปัญหา เมื่อเดินเข้าไปนำเสนอ ‘เต้ารับไฟฟ้า’ (Electrical socket) แบบใหม่ที่เขาออกแบบเองและมีประสิทธิภาพกว่าเดิมแก่หัวหน้า แต่กลับถูกปฏิเสธ คำอธิบายไม่มีความหมาย ความกระตือรือร้นไม่ถูกมองเห็น โอกาสต่อยอดถูกตัดขาด

นี่อาจเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะในปี 1918 เขาตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเองที่ตอนนั้นชื่อว่า Matsushita Electric Housewares Manufacturing Works ในตอนนั้นมีพนักงานไม่กี่ชีวิต เช่น ตัวเขาเอง ภรรยา ลูกพี่ลูกน้อง โดยใช้บ้านของเขาเองเป็นออฟฟิศและโรงงานในตัว

ในตอนแรก ทุกอย่างเป็นไปอย่างขัดสน ไม่มีลูกค้าเข้า ไม่มีรายได้ นำเสนอสินค้าแก่บริษัทไหนก็ถูกปฏิเสธจนผู้ช่วยขอชิงลาออกไปเพราะไม่เห็นอนาคต แต่แล้วโชคเข้าข้าง เพราะได้รับออเดอร์อย่างไม่คาดคิดให้ผลิตแผ่นฉนวนกันไฟฟ้า รอดภาวะล้มละลายไปได้อย่างหวุดหวิด

ออเดอร์นี้ทำให้บริษัทเริ่มมีเงินสดหมุนเวียน เขานำมาลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจนสามารถออกแบบ ‘หลอดไฟ’ ที่ดีไซน์เองและถูกจริตความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น มีประสิทธิภาพกว่า ในราคาที่ถูกกว่า 30 - 50% นี่คือความสำเร็จใหญ่ครั้งแรกก็ว่าได้ 

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีทุกบ้าน

ที่เหลือคือประวัติศาสตร์ที่เราพอจะเดากันได้ เริ่มในปี 1927 บริษัทได้นำเสนอสู่ตลาดไฟฉายรุ่นใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า ‘National’ เป็นชื่อที่มีความหมายแฝงตั้งใจให้สินค้ามีใช้อยู่ทุกครัวเรือนทั้งประเทศ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Panasonic) ซึ่งประสบความสำเร็จชนิดถล่มทลาย! 

ในเวลาต่อมา เป็นเงินทุนที่ทำให้บริษัทสามารถแตกไลน์สู่เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ได้โดยครอบคลุมทั้งต้นน้ำ - ปลายทาง เช่นวิจัยและพัฒนา ‘ถ่าน’ และ ‘แบตเตอรี่’ ใช้เป็นพลังงานในสินค้าใหม่ของบริษัทอย่าง วิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง และโทรทัศน์

จนถึงสินค้าปฏิวัติวงการอย่าง ‘ถ่านอัลคาไลน์’ ที่ส่งผ่านกระแสไฟฟ้าได้ดีขึ้น จุไฟฟ้ามากกว่าเดิม มีอายุการใช้งานนานขึ้น และดีไซน์ทันสมัยกว่าถ่านสังกะสีแบบเก่า ถ่านอัลคาไลน์จะเป็นสินค้าที่เราใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้

เมื่อถึงทศวรรษ 1950 บริษัทที่มัตซึชิตะก่อตั้งมาขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เบอร์ต้น ๆ ในญี่ปุ่นในสินค้าอย่าง เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และทีวี และทศวรรษต่อมา ยังกระโดดเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยซับซ้อนขึ้น อย่างเช่น ชิปคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

ทำธุรกิจต้องนึกถึงสังคมโดยรวม

มัตซึชิตะได้รับการยกย่องในเชิงปรัชญาความคิดที่ไม่ได้หมกมุ่นแต่เรื่องเงินทองธุรกิจ และได้รับการยอมรับว่า เป็นนักธุรกิจที่ได้ยอมรับในด้านแนวคิดในการบริหาร ซึ่งเขาตกผลึกทางความคิดในปี 1932 เมื่อไปเยือนวัดแห่งหนึ่ง และตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาที่มีผลต่อจิตใจของผู้คนเพราะตอบสนองความต้องการลึก ๆ ในใจมนุษย์ได้ 

นับแต่นั้นมา เขาตั้งเป้าทำธุรกิจเพื่อช่วยผู้คนในสังคมให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น บริษัทต้องยึดผู้คนเป็นศูนย์กลาง โดยที่เม็ดเงินกำไรเป็นผลตอบแทนพลอยได้เท่านั้น

ปี 1946 เพียง 1 ปีให้หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก่อตั้งสถาบัน PHP Institute ย่อมาจาก Peace and Happiness through Prosperity หรือความมั่งคั่งร่ำรวยที่นำไปสู่สันติภาพและความสุขอันแท้จริง ซึ่งคอยโปรโมตมิติเรื่องสันติภาพ ปรัชญา จิตวิญญาณ และการค้นหาความสุขของมนุษย์ 

เรื่องนี้มาจากการที่มัตซึชิตะตระหนักเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ ความขัดแย้งและความวุ่นวายจากผลของสงคราม และอยากมีส่วนช่วยในการแก้บรรเทาความทุกข์เหล่านี้ และเป็นการบุกเบิกนำพาเขาสู่โลกของงานเขียนที่หลังจากนั้นเราจะได้เสพหนังสือดี ๆ จากเขามากมายทั้งในด้านธุรกิจและปรัชญาการค้นหาความหมายในการมีชีวิตอยู่

นอกจากนี้ เขายังมีแนวคิดที่หัวก้าวหน้ามาก ๆ ในยุคนั้น อย่างเช่นการกำหนดปรัชญาการทำธุรกิจของบริษัทภายใต้หลักที่ว่า ‘บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทรัพยากรที่มีทั้งพนักงานหรือทุนทรัพย์ล้วนมีที่มาจากสังคมทั้งสิ้น ดังนั้นการทำอะไรจึงต้องยึดผลกระทบต่อสังคมเป็นที่ตั้งเสมอ’

ด้วยแนวคิดดังกล่าว เขาจึงพยายามผลิตสินค้าออกมาต่อเนื่องในปริมาณที่มากพอ โดยสินค้าต้องมีคุณภาพดีและมีราคาสมเหตุสมผล เพราะตัวเขาเชื่อว่า สินค้าเหล่านี้ไม่เพียงจะขายได้ แต่ยังจะช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นพันธกิจการทำธุรกิจของมัตซึชิตะที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ 

นอกจากนี้ เขายังมีอีกหลายแนวคิดในการบริหารที่น่าสนใจ อาทิ การมอบหมายงานให้ลูกน้องควรอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจ ให้ลูกน้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง แต่ต้องไม่ทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกน้องรับผิดชอบ โดยผู้บริหารหรือหัวหน้าควรจะสอบถามความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ

หรือการเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความสามารถ ด้วยการให้โอกาสลูกน้องรับผิดชอบงาน เพื่อให้ลูกน้องได้มีประสบการณ์และสร้างความมั่นใจในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพราะหากหัวหน้าไม่ส่งเสริมให้ลูกน้องคิดและลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว พวกเขาก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่จะคอยรับคำสั่งเมื่อถูกกดปุ่มเท่านั้น

ปณิธานสู่ศตวรรษที่ 21

ในปี 1989 มัตซึชิตะได้เสียชีวิตด้วยวัย 94 ปี แต่ Panasonic ยังคงมุ่งหน้าทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้จำกัดแค่ตัวบริษัทเอง ไม่ได้ยึดบริษัทเป็นศูนย์กลาง แต่ยังคงยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง นั่นหมายความว่าบริษัทสามารถมีบทบาททางอ้อมได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น บริษัท Tesla ที่มีวิสัยทัศน์ระดับโลก มุ่งหน้าสู่การขนส่งด้วยพลังงานที่ยั่งยืน ต้องการเปลี่ยนถ่ายจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้เร็วและมากที่สุด โดย Panasonic มีบทบาทหลักในการผลิต ‘แบตเตอรี่ไฟฟ้า’ ป้อนสู่รถยนต์ Tesla ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านรถยนต์สันดาปทั่วโลกมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่วมลงทุนสร้าง Gigafactory โรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2009

ทุกวันนี้ นวัตกรรมจาก Panasonic ยังคงอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน ขอเป็นเพียงเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็มีโอกาสสูงที่นวัตกรรมของบริษัทจะสอดแทรกอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังคำปณิธานของมัตซึชิตะที่ต้องการช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น…

.

ภาพ : Panasonic

.

อ้างอิง

.

holdings.panasonic

news.panasonic

holdings.panasonic2

britannica

konosuke