ก้าวใหม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ แบรนด์อายุกว่าร้อยปีที่ต่อจากนี้จะไม่ได้มีดีแค่ ‘ผงชูรส’

ก้าวใหม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ แบรนด์อายุกว่าร้อยปีที่ต่อจากนี้จะไม่ได้มีดีแค่ ‘ผงชูรส’

‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ (Ajinomoto) เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1909 โดยภาพจำ คือ ผู้ผลิตผงชูรสรายแรกของโลก แต่ในยุคปัจจุบันองค์กรแห่งนี้กำลังก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหญ่ กับการประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ‘การเป็นผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุข’

  • ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ เป็นบริษัทที่ ‘คิคุนาเอะ อิเคดะ’ และ ‘ซาบุโรสุเกะ ซูซูกิที่ 2’ เป็นผู้ก่อตั้ง
  • สินค้าตัวแรกและเป็นสินค้าสร้างชื่อให้อายิโนะโมะโต๊ะ คือ ผงชูรส
  • ปัจจุบันอายิโนะโมะโต๊ะไม่ได้มีแค่ผงชูรส อาหาร และเครื่องดื่ม แต่กำลังเดินหน้าสู่ก้าวใหม่

 

เมื่อเอ่ยถึง ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ (Ajinomoto) ภาพของ ‘ผงชูรส’ จะต้องลอยขึ้นมาในหัวอย่างแน่นอน เพราะเป็นสินค้าตัวแรกที่ ‘คิคุนาเอะ อิเคดะ’ (Kikunae Ikeda) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 1908 และเป็นสินค้าพระเอกที่สร้างชื่อให้อายิโนะโมะโต๊ะเป็นที่รู้จักในระดับโลก 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน องค์กรอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้กำลังก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหญ่ กับการประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ‘การเป็นผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุข’ ซึ่งจะถูกส่งผ่านค่านิยมหลักขององค์กร นั่นคือ Amino Science หรือ ศาสตร์แห่งกรดอะมิโน ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนปี 2030 ของกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ  

การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก และเป็นการขยายธุรกิจสู่น่านน้ำใหม่ให้มากกว่าเครื่องปรุงรส อาหาร และเครื่องดื่ม แต่ก่อนจะไปถึงรายละเอียดของวิสัยทัศน์ใหม่ เราขอย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของอายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่ง ‘คิคุนาเอะ อิเคดะ’ และ ‘ซาบุโรสุเกะ ซูซูกิที่ 2’ (Saburosuke Suzuki II) เป็นผู้วางรากฐานไว้ก่อน

ก้าวใหม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ แบรนด์อายุกว่าร้อยปีที่ต่อจากนี้จะไม่ได้มีดีแค่ ‘ผงชูรส’

บุรุษผู้หลงใหลในโลกเคมี

คิคุนาเอะเกิดที่เกียวโตเมื่อปี 1864 ตระกูลของเขาเป็นคนร่ำรวย ทำให้เขาได้รับการศึกษาอย่างดีเยี่ยมในยุคนั้น ซึ่งรวมถึงวิชาเคมีวิทยา (Chemistry) ที่จุดประกายความสนใจมาตั้งแต่เด็ก และตัวเขาก็หลงใหลในโลกของเคมีและต่อยอดจนเข้าศึกษาต่อด้านนี้ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ได้สำเร็จ 

หลังเรียนจบ เขามุ่งหน้าสอนด้านเคมีให้กับเด็กรุ่นใหม่ และได้เป็นศาสตราจารย์ด้านนี้ในปี 1896 แต่ความทะเยอทะยานของเขาไม่ได้สิ้นสุดลง ในปี 1899 ภายใต้เงินทุนจากรัฐบาล คิคุนาเอะสวมหมวกเด็กนอกโกอินเตอร์ไปศึกษาต่อด้านเคมีเชิงฟิสิกส์ (Physical chemistry) ที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (Leipzig University) ประเทศเยอรมนี 

การเดินทางไปศึกษาต่อครั้งนี้ ทำให้เขามีโอกาสได้กิน ‘มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อ และชีส’ เป็นครั้งแรกในชีวิตขณะศึกษาอยู่ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นรสชาติที่ไม่คุ้นเคย และจุดประกายความสงสัยใคร่รู้ว่า มันน่าจะมีอีกรสชาติหนึ่งที่นอกเหนือไปจาก ‘หวาน ขม เค็ม เปรี้ยว’ ที่มนุษยชาติรู้จักกันมาเนิ่นนานแล้ว

รสชาติที่มากกว่าหวาน ขม เค็ม เปรี้ยว

กาลเวลาผ่านไป คิคุนาเอะกลับมาใช้ชีวิตในญี่ปุ่นและเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และการค้นพบอันมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นในปี 1907 เมื่อภรรยาของเขาได้ทำน้ำซุปที่ได้จากการต้มสาหร่ายทะเลคอมบุมาเสิร์ฟให้กิน 

เมื่อลิ้มแตะสัมผัส คิคุนาเอะระลึกถึงรสชาติของ ‘มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อ และชีส’ ที่เคยลิ้มรสสมัยอยู่เยอรมนี เขาเชื่อว่า แม้ประเภทอาหารจะต่างกัน แต่พื้นฐานรสชาติน่าจะเป็นตัวเดียวกัน โดยไม่ได้มีเฉพาะรสชาติพื้นฐานอย่างหวาน ขม เค็ม เปรี้ยว 

ความสงสัยใคร่รู้นำพาเขาไปค้นหาคำตอบที่ห้องแล็บในมหาวิทยาลัยโตเกียว (สมัยนั้นชื่อว่า Tokyo Imperial University) จากนั้นได้ทำการทดลองทางเคมีวิทยาต่อเนื่อง จนค้นพบว่า รสชาติที่มาจากน้ำซุปนั้น คือ ‘กลูทาเมต’ (Glutamate) เป็นกรดอะมิโน (Amino acid) พบได้ใน เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล หรือมะเขือเทศ และอีกมากมายในอาหารการกินของมนุษย์

คิคุนาเอะนิยามรสชาตินี้ด้วยภาษาญี่ปุ่นว่า ‘อูมามิ’ (Umami - うまみ) มาจากการรวม 2 คำ

  • อุไม (Umai) แปลว่า อร่อย
  • มิ (Mi) แปลว่า แก่นแท้

อูมามิจึงหมายถึง แก่นแท้ของรสชาติ (Essence of taste) ในเวลาต่อมา ยังได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ให้เป็นรสชาติพื้นฐานลำดับที่ 5 ที่ลิ้นมนุษย์สามารถรับรู้รสได้ด้วย

กำเนิดอายิโนะโมะโต๊ะ  

เวลานั้น ‘ซาบุโรสุเกะ ซูซูกิที่ 2’ นักธุรกิจที่เล็งเห็นโอกาส เขามองว่านี่คือ ‘นวัตกรรมด้านอาหาร’ อย่างหนึ่งเลยทีเดียว จึงได้ไปขอสิทธิบัตรในการผลิตกับคิคุนาเอะ ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ผงชูรส’ หรือ ‘โมโนโซเดียม กลูทาเมต’ (Monosodium Glutamate - MSG) และคิคุนาเอะได้จดสิทธิบัตร จากนั้นทั้งสองก็ร่วมกันก่อตั้ง ‘บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ’ ขึ้นมาในปี 1909 เจาะกลุ่ม ‘แม่บ้านหญิง’ เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มแรก

ก้าวใหม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ แบรนด์อายุกว่าร้อยปีที่ต่อจากนี้จะไม่ได้มีดีแค่ ‘ผงชูรส’

เราสามารถพูดได้ว่า ‘ที่เหลือเป็นประวัติศาสตร์’ (The rest is history.) ได้อย่างเต็มปาก เพราะผงชูรสได้ถูกบริโภคกันในครัวเรือนและร้านอาหารอย่างแพร่หลาย สามารถเปลี่ยนของกินรสชาติธรรมดา ๆ ให้เอร็ดอร่อยขึ้นได้ราวกับมหัศจรรย์ 

แม้จะมีภาพจำและจุดเริ่มต้นมาจากผงชูรส แต่ในทศวรรษต่อ ๆ มา อายิโนะโมะโต๊ะไม่ได้จำกัดแค่ผงชูรส เริ่มต้นในปี 1938 จัดตั้งสถาบันวิจัยของตัวเองเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และได้คิดค้นกลุ่มอาหารของกินต่าง ๆ อีกมากมายที่อยู่ล้อมรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน 

รวมไปถึงวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี เครื่องสำอาง และฉนวนสำหรับไมโครชิป ซึ่งธุรกิจส่วนนี้อยู่ในส่วน Non-food ของบริษัทจากการนำกรดอะมิโนกลับไปใช้ใหม่ โดยเป็นการต่อยอดงานวิจัยพัฒนา R&D ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ที่ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยเช่นกัน

อายิโนะโมะโต๊ะสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

ปัจจุบัน สินค้าในเครือบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะได้ถูกวางจำหน่ายไปกว่า 130 ประเทศ พร้อมพนักงานกว่า 32,000 คนทั่วโลก

ก้าวใหม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ แบรนด์อายุกว่าร้อยปีที่ต่อจากนี้จะไม่ได้มีดีแค่ ‘ผงชูรส’  

สำหรับเมืองไทย อายิโนะโมะโต๊ะได้เข้ามาดำเนินธุรกิจ ภายใต้ชื่อ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 เมษายน 1960 โดยถือเป็นฐานการผลิตผงชูรสแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น และผลิตผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร อาทิ กาแฟกระป๋อง Birdy, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยำยำ, ผงปรุงรสตรารสดี, น้ำตาล Lite Sugar ฯลฯ 

ขณะที่การประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ‘การเป็นผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุข’ นั้น เป็นไปตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนปี 2030 ของทางกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ ด้วยการพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพดีของผู้คนจำนวน 1,000 ล้านคน ขณะเดียวกันต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจลง 50% 

อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ใหม่นี้ก็ถือเป็นความท้าทายของอายิโนะโมะโต๊ะ เพราะเมื่อภาพจำขององค์กรคือผงชูรส และเมื่อนึกถึงผงชูรส ผู้บริโภคก็มักจะนึกถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกินแล้วผมร่วง กินแล้วคอแห้ง หรืออาจส่งผลต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ ซึ่งน่าติดตามว่า จะแก้โจทย์นี้ได้อย่างไร  

.

ภาพ : อายิโนะโมะโต๊ะ

.

อ้างอิง 

.

การแถลงข่าวอายิโนะโมะโต๊ะ เผยแผนสู่การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจครั้งสำคัญ

ajinomoto

britannica

umamiinfo

umamiinspiration