‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

ย้อนรอยคดี ‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ ที่เคยฟ้องร้องกันเรื่องลิขสิทธิ์จนมาถึงวันที่ Nintendo และ Universal Studios กลับมาจับมือกันอีกครั้ง

KEY

POINTS

ช่วงนี้ดูเหมือนว่า ‘Donkey Kong’ กำลังกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง เพราะเกมภาคใหม่อย่าง ‘Donkey Kong Bananza’ บนคอนโซล ‘Nintendo Switch 2’ ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากเกมเมอร์ ไปจนถึงการเปิดโซนธีมพาร์ก (Theme Park) ใหม่ที่ ‘Universal Studios Japan’ เมื่อปี 2024 และล่าสุดยังมีข่าวลือว่า Nintendo จับมือ ‘Universal Pictures’ ลงทะเบียนโปรเจกต์ภาพยนตร์ ‘Donkey Kong’ สร้างความตื่นเต้นให้แฟน ๆ ไม่น้อย

แต่รู้หรือไม่ ว่าก่อนที่ทั้งคู่จะสร้างผลงานระดับโลกร่วมกัน ทั้ง Nintendo และ Universal เคยเปิดศึกฟ้องร้องและแตกหักจนถึงขั้นไม่มองหน้ากันมาแล้ว 

บทความนี้จะพาย้อนดูคดีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Donkey Kong และทำให้ Nintendo กลายเป็นบริษัทที่ใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง 

‘Kong’ ปะทะ ‘Kong’

ย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1981 ตอนนั้น Nintendo เพิ่งก้าวสู่ตลาดเกมอเมริกา และสร้างปรากฏการณ์ด้วยการส่ง ‘Donkey Kong’ เกมตู้อาร์เคดที่มีตัวละครลิงกอริลล่ายักษ์ที่ปีนป่ายโครงเหล็กและจับตัวหญิงสาวไว้บนตึกสูง โดยมีตัวเอกเป็นช่างไม้ (ภายหลังกลายมาเป็นตัวเอกในเกมใหม่ที่ชื่อว่า ‘Super Mario Bro.’ ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคขึ้นไปช่วย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก 

เหล่าเกมเมอร์ยุคนั้นยอมต่อคิวหยอดเหรียญเพื่อเล่นเกมนี้กันแน่นขนัด ทำให้บริษัทเกมเล็กๆ จากญี่ปุ่นเจ้านี้ เริ่มมีชื่อเสียงในเมืองลุงแซม

‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

แต่ความโด่งดังนี้กลับสร้างปัญหา เมื่อ Universal Studios บริษัทภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ‘King Kong’ อสูรกายลิงยักษ์ระดับตำนานแห่งฮอลลีวูดมองว่า เจ้าลิงจากแดนปลาดิบใช้กระแสความโด่งดังพญาลิงของตนไปสร้างรายได้ 

มิถุนายน ค.ศ. 1982 Universal Studios จึงฟ้องร้อง Nintendo ด้วยข้อหาลอกเลียนคาแรกเตอร์และโครงเรื่องจาก King Kong ซึ่งเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าและผิดลิขสิทธิ์ 

การที่บริษัทเล็ก ๆ จากต่างแดนถูกยักษ์ใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์ยื่นฟ้อง ทำให้หลายคนเชื่อว่า Nintendo คงต้องยอมความเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาใหญ่โต ทว่า Nintendo กลับเลือกตรงกันข้าม โดยให้เหตุผลว่า หากยอมจำนน เท่ากับเป็นการยอมรับว่าได้ละเมิดลิขสิทธิ์จริง ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อธุรกิจในระยะยาว พวกเขาจึงตัดสินใจเผชิญหน้ากับ Universal Studios อย่างเต็มกำลัง 

‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

‘หมัด’ ต่อ ‘หมัด’

การไต่สวนเปิดฉากขึ้นในศาลแขวงสหรัฐ ณ นครนิวยอร์ก ปลายปี 1982 ไปจนถึงปี 1983 บรรยากาศการต่อสู้คดีเต็มไปด้วยความตึงเครียด ฝ่าย Universal มี ‘ซิด ไชน์เบิร์ก’ (Sid Sheinberg) ประธานบริษัท MCA Inc. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Universal Studios ในเวลานั้น ยืนกรานว่า Nintendo จงใจสร้างเกมโดยใช้พล็อตและตัวละคร King Kong ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท ทำให้ Nintendo จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า Donkey Kong มีเอกลักษณ์และไม่ได้ลอกมาอย่างที่ถูกกล่าวหา  

โดยได้ทนายฝีมือเยี่ยมอย่าง ‘จอห์น เคอร์บี้’ (John Kirby) มาช่วยต่อสู้ ซึ่งเตรียมกลยุทธ์ในการหักล้างข้อกล่าวหาของฝั่งตรงข้ามมาเป็นอย่างดี

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ทางเคอร์บี้เตรียมมา คือการขออนุญาตนำตู้เกมมาติดตั้งในห้องพิจารณาคดี ให้ผู้พิพากษาได้ชมเกมด้วยตาตัวเองถึงลักษณะการเล่นและตัวละคร 

เคอร์บี้และทีมงานอธิบายจุดแตกต่างระหว่างเกมกับภาพยนตร์อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นโทนของเกมที่ออกแบบให้ตัวละครที่ตลกขบขัน เพราะเจ้าลิง Donkey Kong ในเกมเป็นตัวร้ายแบบในคอมิค ซึ่งต่างจาก King Kong ที่เป็นหนังสัตว์ประหลาดที่มีความจริงจัง

อีกทั้งชื่อ Donkey Kong ก็เกิดจากความต้องการที่จะสื่อความหมายว่า ‘ลิงยักษ์ทึ่ม’ โดยคำว่า ‘Kong’ ในภาษาญี่ปุ่นเป็นศัพท์สแลงที่หมายถึงลิงขนาดใหญ่ดุร้าย ส่วน ‘Donkey’ สื่อถึงความเซ่อซ่า เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นชื่อลิงจอมพลังแต่ทึ่มทื่อ

แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่ได้ทำให้ Nintendo ชนะ เพราะไม่สามารถพิสูจน์และหักล้างข้อกล่าวหาได้ ทำให้เคอร์บี้ต้องงัดเอาไม้เด็ดออกมา ซึ่งเรื่องที่ทนาย Nintendo หยิบมาใช้ก็เรียกได้ว่าแสบสันต์ จนทำให้ฝั่ง Universal Studios ถึงกับพูดไม่ออก

โดยประเด็นที่เคอร์บี้นำมาใช้นั้น คือการนำข้อโต้แย้งที่ทาง Universal Studios เคยใช้และชนะคดีที่เกี่ยวกับ King Kong มาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ Universal Studios พัวพันกับคดีแย่งสิทธิ์สร้างภาพยนตร์ King Kong ฉบับรีเมคในปี 1976 กับค่ายคู่แข่งอย่าง 'Paramount Pictures'

ซึ่งข้อพิพาทในตอนนั้นคือ ทั้ง Paramount Pictures และ Universal Studios ต่างต้องการสร้าง King Kong ฉบับรีเมก (Remake) จากต้นฉบับปี ค.ศ. 1933 

‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

แต่ทาง Paramount Pictures กล่าวว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์จาก “RKO Pictures” ซึ่งเป็นเจ้าของภาพยนตร์เวอร์ชันต้นฉบับ ดังนั้นการที่ Universal Studios จะสร้างด้วยจึงเป็นการละเมิดโดยตรง

แต่ทาง Universal Studios ก็โต้ค่ายหนังคู่แข่งกลับว่า แม้ลิขสิทธิ์ต้นฉบับของ King Kong จะเป็นของ RKO Pictures แต่พวกเขาสร้าง King Kong จากวรรณกรรมของ ‘เมเรียน ซี. คูเปอร์’ (Merian C. Cooper) ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1933 เช่นกัน แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ไปต่ออายุลิขสิทธิ์ตามระบบเดิมของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ต้องต่ออายุเป็นระยะ ผลคือ King Kong กลายเป็นผลงานที่หมดลิขสิทธิ์ไปโดยปริยาย ทำให้ใครก็สามารถนำเจ้าลิงยักษ์ตัวนี้ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือทำสื่ออื่นๆ ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการไม่ลอกแบบเวอร์ชันภาพยนตร์ต้นฉบับ เหตุผลนี้ทำให้ Universal Studios ชนะคดีนี้ ในที่สุด

การนำโต้แย้งของ Universal Studios เองในอดีต กลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญของคดี Donkey Kong เมื่อทนายฝั่ง Nintendo นำคำตัดสินในคดีเก่ามาแสดงต่อศาล เพื่อยืนยันว่า ตัวละครและเรื่องราวของ King Kong ได้กลายเป็นสาธารณสมบัติไปแล้ว ให้การพยายามอ้างสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าเพื่อฟ้อง Nintendo ไม่มีน้ำหนัก เพราะเท่ากับเป็นการเรียกร้องสิทธิ์ในสิ่งที่ตนเคยยืนยันมาก่อนแล้วว่าทุกคนสามารถใช้ได้โดยเสรี 

เมื่อผู้พิพากษาพิจารณาพยานหลักฐานและข้อกฎหมายอย่างรอบด้าน จึงมีคำตัดสินให้ยกฟ้องคดีนี้ โดยศาลสั่งให้ Universal Studios ชดใช้ค่าใช้จ่ายทางกฎหมายทั้งหมดแก่ Nintendo เป็นเงิน 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครอบคลุมทั้งค่าทนาย ความเสียหายจากยอดขายที่เสียไป ตลอดจนค่าถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในการสู้คดี

บทเรียนล้ำค่าที่ Nintendo ยึดถือ

Universal Studios ไม่ยอมจำนนง่าย ๆ และยื่นอุทธรณ์คดีขึ้นสู่ศาลชั้นสูงในปี 1984 พยายามหาหลักฐานเพิ่มเติมมาแก้ต่าง โดยอ้างผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการร้านเกมว่าเคยมีความสับสนระหว่าง King Kong กับ Donkey Kong บ้าง แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็ยืนคำพิพากษาเดิมทุกประการว่า Nintendo เป็นฝ่ายชนะอย่างเด็ดขาด และคดีถึงที่สุดในปี 1986 เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงถอนคำร้องอุทธรณ์คดีส่วนเล็ก ๆ ที่เหลืออยู่ เรียกได้ว่าเป็นการปิดฉากศึก Kong ปะทะ Kong อย่างสมบูรณ์

ชัยชนะในคดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อ Nintendo โดยตรง ในเชิงชื่อเสียง Nintendo กลายเป็นที่จับตามองในฐานะผู้หาญกล้าท้าชนยักษ์ใหญ่และพลิกชนะคดีได้ในที่สุด ทำให้ Nintendo ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดตะวันตก กลายเป็นที่ยอมรับและก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมเกมอย่างเต็มภาคภูมิในยุคถัดมา 

คดีนี้ยังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหาร Nintendo ว่าพวกเขาสามารถแข่งขันและปกป้องสิทธิ์ของตนกับบริษัทยักษ์ระดับโลกได้ หากมีความถูกต้องอยู่ในมือ 

นอกจากนี้ยังทำให้ Nintendo ตระหนักถึงความสำคัญของ ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ (Intellectual Property (IP)) มากขึ้น ทั้งเรื่องการการจดทะเบียนและปกป้องคาแรกเตอร์เกมของตนอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีพิพาทลักษณะเดียวกันอีก 

และหากพบว่ามีบริษัทไหนที่ทำผิดที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์เกม พวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ละเมิดอย่างสุดความสามารถ จนทำให้ Nintendo ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองอย่างเข้มงวดที่สุดรายหนึ่งในอุตสาหกรรมเกม

ส่วนผลด้านกฎหมาย คดีนี้ไม่ได้สร้างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ขึ้นมาโดยตรง แต่ถือเป็นการรับรองหลักการที่ว่า ตัวละครหรือเรื่องราวที่กลายเป็นสาธารณสมบัติแล้ว ไม่มีใครสามารถจับจองสิทธิ์หรือผูกขาดทางการค้าได้ 

ซึ่งหลักการนี้นำไปปรับใช้กับกรณีอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างเช่น 

ตัวละครวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” (Sherlock Holmes) หรือภาพยนตร์เก่าที่หมดอายุลิขสิทธิ์ หากใครจะนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ก็สามารถทำได้ ตราบใดที่ไม่ได้ลอกองค์ประกอบที่เพิ่มเติมเข้ามาจากผู้อื่นในภายหลังโดยตรง (เช่น ลักษณะพิเศษของตัวละครฉบับที่คนอื่นสร้างใหม่) นอกจากนี้ ยังช่วยเน้นย้ำให้บริษัทต่าง ๆ ระมัดระวังการอ้างสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองด้วย

สำหรับ จอห์น เคอร์บี้ ทนายผู้พลิกเกม ก็ได้รับการยกย่องอย่างมากจาก Nintendo โดยนอกจากโบนัสและคำชมแล้ว พวกเขายังได้มอบของขวัญพิเศษเป็นเรือใบลำใหญ่ที่ตั้งชื่อว่า ‘Donkey Kong’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ชัยชนะในคดีนี้ และ Nintendo ยังได้นำชื่อสกุล ‘เคอร์บี้’ ของเขามาตั้งเป็นชื่อตัวละครฮีโร่สีชมพูตัวกลมในเกม ‘Kirby’s Dream Land’ ในปี 1992 ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ (Franchise) ดังของค่ายจนถึงปัจจุบัน

‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

‘Kong’ ปะทะ ‘Kong’ (อีกครั้ง)

หลังจากคดีความในยุค 1980 ทั้งสองบริษัทก็แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจเลย เรียกได้ว่าต่างคนต่างอยู่ ต่างเติบโตในเส้นทางของตัวเอง จนกระทั่งปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ Nintendo กำลังมองหาช่องทางใหม่ ๆ นอกเหนือจากตลาดเกมคอนโซลที่เริ่มอิ่มตัว ส่วน  Universal Studios ก็มองหาแฟรนไชส์ที่มาจากเกมยอดนิยมเพื่อเติมเต็มธีมปาร์กของตนเอง ทั้งสองฝ่ายจึงจับมือกันในโครงการมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโซน 'Super Nintendo World' ภายในสวนสนุก Universal Studios โดยเริ่มต้นที่ญี่ปุ่น และขยายไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ 

โดยมีตัวละครจากแฟรนไชส์สำคัญอย่าง Mario และ Donkey Kong เป็นหัวใจหลัก โดยโซน Super Nintendo World เปิดตัวครั้งแรกในปี 2021 และขยายเพิ่มโซน Donkey Kong ในปี 2024 ‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’ ‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัทยังร่วมกันสร้าง 'The Super Mario Bros. Movie' (2023) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย จนกลายเป็นแอนิเมชันจากเกมที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาภาคต่อ 

ล่าสุดยังมีข่าวลือว่า Nintendo และ Universal เตรียมเดินหน้าโปรเจกต์แอนิเมชัน Donkey Kong เป็นลำดับถัดไป แฟน ๆ หลายคนจึงคาดหวังว่า อาจได้เห็นสองลิงยักษ์ Donkey Kong และ King Kong มาโลดแล่นอยู่ในจักรวาลเดียวกันบนจอภาพยนตร์ ในฐานะตัวละครที่มาสร้างความสนุกแบบเต็มรูปร่วมกันสักที ไม่ใช่ในฐานะคู่ฟ้องร้องอย่างในอดีต

‘Donkey Kong’ vs ‘King Kong’ การต่อสู้ของลิงยักษ์ที่สะเทือนโลก ‘Nintendo’

เรื่องราวการระหว่าง Universal และ Nintendo ครั้งนั้น จึงเปรียบเสมือนบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของความถูกต้องและความกล้าหาญในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตน โดยผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงพลิกโฉมชะตากรรมของบริษัทเล็ก ๆ อย่าง Nintendo ให้ก้าวสู่ระดับโลกเท่านั้น 

หากยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยยืนยันว่า ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ คือสิ่งที่ต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมควบคู่กันไป 

แม้ในท้ายที่สุด ‘เงิน’ และ ‘เวลา’ จะพิสูจน์ให้เราเห็นว่า ไม่มีความบาดหมางใดยืนยงตลอดกาล เพราะเมื่อผลประโยชน์ลงตัว ศัตรูในวันวานก็สามารถกลายเป็นมิตรแท้ทางธุรกิจในวันนี้ได้ ดังที่กรณีของ ‘King Kong’ กับ ‘Donkey Kong’ ได้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนในวันนี้นี่เอง

 

ภาพ : IMDb, Universal Studios Japan

 

อ้างอิง

Universal vs. Nintendo Case - Gaming Historian / Gaming Historian

Universal City Studios, Inc. v. Nintendo Co., Ltd. / videogameresource

Nintendo vs. Universal: The Lawsuit Over Donkey Kong / CBR

The true story behind Universal suing Nintendo over King Kong and Donkey Kong / flickeringmyth

Universal City Studios, Inc., Plaintiff-appellant, v. Nintendo Co., Ltd., Nintendo of America, Inc., Defendants-appellees, 746 F.2d 112 (2d Cir. 1984) / JUSTIA U.S. Law

Nintendo's bringing its iconic characters to Universal Studios theme parks all over the world / BUSINESS INSIDER

Nintendo History 101: Donkey Kong vs. King Kong / Nintendo World Report

รู้ไหมว่า “คิงคอง” เป็นของใคร? / Brandthink