27 ก.ค. 2566 | 15:38 น.
- เจ้เล้ง โตมาในครอบครัวคนจีน และค่อนข้างยากจน ทำให้มีความฝันอยากรวยตั้งแต่เด็ก
- เรื่องราวการหาเงิน และการสู้ชีวิตของเจ้เล้ง แม้กระทั่งเคยรับซื้อของโจร และนำเข้าสินค้าหนีภาษีมาก่อน
- ช่วงปัญหารุมเร้า และเรื่องราวชีวิตรักที่ไม่สดใสกับอดีตสามีที่ฟ้องหย่าเจ้เล้ง
กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลฯ อย่างมากเกี่ยวกับ ‘เจ้เล้ง’ ตั้งแต่ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับยูทูบเบอร์รายการหนึ่งชื่อว่า ‘โปรดิวเซอร์ ยุง’ เกี่ยวกับที่มาของสินค้าราคาถูก โดยมีประโยคหนึ่งที่เจ้เล้งพูดถึงการรับซื้อของโจร และที่มาของสินค้าที่ไม่รู้ต้นทางว่าคนที่เอามาขายก็ขโมยมาอีกที
ในมุมนี้เองยังมีหลายคนในโลกโซเชียลฯ ที่ยังคงถกเถียงกันว่าสรุปผิดหรือไม่ เพราะเรื่องเกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่วันนี้ The People อยากจะหยิบมุมชีวิตของเจ้เล้งมาเล่ามากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการสู้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องราวในวัยเด็กในมิติต่าง ๆ จนทำให้เจ้เล้งเป็นเจ้เล้งอย่างทุกวันนี้
เพราะยากจนเลยอยากรวย
ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับเจ้เล้งถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไอคอนิก ‘ความขยัน’ คงต้องยกให้เจ้เล้งเป็นอีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างในเรื่องนี้ ด้วยความไม่พร้อมต่าง ๆ นานาของครอบครัวตระกูล ‘แซ่ลิ้ม’ (นามสกุลเก่าของเจ้เล้ง) ทำให้เจ้เล้งเป็นอีกคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันว่าอยากจะรวยตั้งแต่เด็ก
‘อารยา ลาภชีวะสิทธิฉัตร’ หรือ ‘เจ้เล้ง’ เป็นลูกคนที่ 4 จากลูกทั้งหมด 5 คน เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน เจ้เล้งเล่าผ่านการสัมภาษณ์ครั้งนั้น โดยบรรยายสภาพความเป็นอยู่เท่าที่จำความได้ก็คือ บ้านไม้เก่า ๆ ที่ทุกคืนต้องกางมุ้งนอน และก็มีการแยกนอนชาย - หญิง แม้กระทั่งพ่อแม่เองก็ตาม
ความแร้นแค้นของครอบครัวเจ้เล้ง อธิบายชัดเจนด้วยประโยคที่บอกว่า “บ้านก็ไม่มี ต้องเช่าศาลเจ้า 50 บาท แต่ค่าเช่าก็ไม่มีเงินจ่ายให้เขา อย่าพูดถึงแอร์หรือพัดลมเลย เพราะไม่มี ตอนนั้นคือสู้ชีวิตมาก”
ตอนเด็ก ๆ เจ้เล้งโตมากับภาพที่เห็นแม่ซื้อของมาขายในตลาดสะพานใหม่ ดอนเมือง ซึ่งของที่ขายนั้นก็จะเป็นพวกผ้าถุง เสื้อคอกระเช้า แต่ก็มีของเล่นและขนมอื่น ๆ มาเสริมบ้าง
เจ้เล้งเรียนจบเพียงชั้น ม.1 จากนั้นก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนต่อเพราะเป็นผู้หญิง ด้วยความเชื่อของครอบครัวคนจีนที่อยากให้ลูกผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วนลูกผู้ชายจะได้รับสิทธิ์เรียนหนังสือ
หน้าที่ภาระตรงนี้เอง ทำให้เมื่อเจ้เล้งอายุได้ 14 - 15 ปี เธอเริ่มมีความคิดที่อยากค้าขายเหมือนแม่ โดยเริ่มคิดเริ่มมองว่าอะไรที่สามารถทำเงินได้ แม้แต่การเก็บ ‘ลูกหว้า’ ตามท้องนาเพื่อเอามาขายก็ทำมาหมดแล้ว
นอกจากนี้ ตอนอายุ 15 ปี เจ้เล้งยังรับจ้างปักชื่อให้กับบริษัทและคนในสนามบินดอนเมืองด้วย เพราะอยากหาเงิน อยากมีรายได้เพิ่ม จนสุดท้ายเธอสามารถหาเงินได้ต่อเดือนมากถึง 5,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น จากนั้นเจ้เล้งได้เอาเงินเก็บที่ได้ในแต่ละเดือนมาซื้อของเพื่อไปขายต่ออีกที
เป็นครั้งแรกที่เจ้เล้งตัดสินใจไปซื้อของเองเพราะเห็นว่าแม่อายุเยอะมากแล้ว และครั้งนั้นเองที่เธอตัดสินใจซื้อกางเกงมาขาย (เพราะเลือกผ้าถุงไม่เป็น) เธอใช้เวลาเดินตระเวนทั่วสำเพ็งเพื่อเอาสินค้าแฟชั่นมาขาย และเลือกสินค้าแฟชั่นที่ลดราคาถูก เช่น ชุดชั้นใน OK ปรากฏว่าขายดีมาก ลูกค้าให้การตอบรับดี อาจจะเพราะว่าเธอขายของที่แตกต่างจากคนอื่นในตลาด
จากที่เป็นแผงลอยในตลาด ร้านก็ขยับขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยนิสัยที่ชอบทำงานหนักตั้งแต่เด็ก ๆ ของเจ้เล้ง และทำงานตลอด 365 วันไม่เคยหยุดพัก ทำให้เจ้เล้งใช้เวลาไม่นานนักเพื่อเข้าใกล้เส้นความสำเร็จ ซึ่งเมื่อตอนอายุได้ 20 ปี เจ้เล้งมีเงินเก็บมากถึง 300,000 บาท และก็เป็นครั้งแรกที่ตัดสินใจซื้อบ้านด้วยเงินสดในราคา 50,000 บาทด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเจ้เล้งจะประสบความสำเร็จอย่างมากตั้งแต่วัยรุ่น แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอหยุดคิดเรื่อง ‘อยากรวย’ เจ้เล้งขยายเป้าหมายเพิ่มเรื่อย ๆ จากตั้งเป้ามีเงินเก็บ 300,000 เป็น 500,000 และเป็นหลักล้าน ซึ่งเธอยังเล่าในรายการดังกล่าวด้วยว่า ‘ร้านเจ้เล้ง ดอนเมือง’ เคยขายได้สูงสุดต่อวันมากถึง 10 ล้านบาท
เพราะอ่านหนังสือถึงรวย
เจ้เล้งพูดถึงนิสัยตั้งแต่เด็กอย่างหนึ่งก็คือ ‘การอ่านหนังสือ’ โดยเจ้เล้งมองว่า คนที่อ่านหนังสือก็จะมองอะไรไว เห็นอะไรก็จะคิดไว ทำไว ปกติเธอชอบอ่านหนังสือรายสัปดาห์ โดยจะหุ้นกับคนอื่นอีก 10 คน แต่ที่น่าสนใจคือ เจ้เล้งเลือกที่จะอ่านเป็นคนสุดท้ายเพื่อที่จะได้เก็บหนังสือ นอกจากนี้ เจ้เล้งสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ เพราะท่องคำศัพท์ทุกวัน เป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงแยกออกว่าสินค้าแบบไหนดี สินค้าแบบไหนมีราคาและลูกค้าต้องการ เพราะส่วนใหญ่สินค้าที่เธอเลือกนำเข้ามาขายก็จะมาจากหนังสือที่เธอเห็นอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง
ถือเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งของเจ้เล้ง เพราะคนในสมัยนั้นมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ ซึ่งการอ่านของเธอทำให้รู้ด้วยว่า จะสามารถหาสินค้าราคาถูกได้จากที่ไหน หรือแบรนด์อะไรที่คนกำลังชอบในยุคนั้น ๆ
ดังนั้น พูดได้ว่าการอ่านหนังสือ หรือการท่องคำศัพท์มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มช่องทางรวย และทำให้รู้ความต้องการของผู้ซื้อมากกว่าคนอื่นด้วย
ปัญหารุมเร้า
แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในเรื่องธุรกิจ แต่กว่าจะมาอยู่ตรงจุดนี้ไม่ง่ายนัก เพราะที่ผ่านมาเราคงเห็นกระแสเกี่ยวกับเจ้เล้งในมุมต่าง ๆ อยู่บ้าง ตั้งแต่ดราม่าของหนีภาษี สินค้าปลอม สินค้าผิดกฎหมาย ฯลฯ มาจนถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวกับอดีตสามี หลังอดีตสามีฟ้องหย่าร้าง
ซึ่งช่วงนั้น เจ้เล้งได้เปิดใจกับหลาย ๆ สื่อถึงเหตุผลของการหย่าร้างครั้งนั้น ทั้งยังพูดถึงเงินสดจำนวนมากถึง 300 ล้าน และทรัพย์สินส่วนหนึ่งรวมเป็น 700 ล้านบาทที่ให้อดีตสามีเพื่อซื้ออิสรภาพให้กับตัวเอง เพราะไม่ต้องการใช้ชีวิตคู่กับอดีตสามีอีกต่อไป ทั้งยังเปิดใจไปถึงสาว ๆ เรื่องการเลือกคู่ชีวิต และการแต่งงานด้วย
เรื่องราวของเจ้เล้งหลาย ๆ มุมสะท้อนอะไรได้อีกมาก ซึ่งเรื่อง ‘ความบ้างาน’ แม้ว่าเคยเป็นข้ออ้างของอดีตสามีในการนำมาขู่ฟ้องหย่าตอนนั้น แต่ก็ทำให้เห็นว่า ความขยัน ความพยายาม และความชอบทำงานหาเงินของเจ้เล้ง นำมาสู่ความสำเร็จจนทุกวันนี้
ชอบประโยคหนึ่งที่เจ้เล้งพูดกับยูทูบเบอร์ โปรดิวเซอร์ ยุง ว่า “มีทุกวันนี้ได้เพราะทำงานหาเงิน ไม่ได้หาเงินซี้ซั้ว เจ้เล้งจะไม่แคร์ในสิ่งที่มันไม่จริง เราอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะเราไม่ได้ทำอะไร เพราะถ้าเราทำแบบที่เขาว่า เราคงอยู่ไม่ถึงทุกวันนี้”
นอกจากนี้ เจ้เล้งยังพูดถึงมุมคิดเรื่องธุรกิจอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ความโลภ’ คือสิ่งที่น่ากลัว และเจ้เล้งไม่เชื่อในคำคำนี้ เป็นเหตุผลว่าทำไมเจ้เล้งจะชอบลงทุนในหุ้น ไม่ลงทุนในกองทุน แต่เจ้เล้งชอบค้าขาย ชอบลงทุนกับอะไรที่เป็นสิ่งจับต้องได้มากกว่า
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ อนาคตของเจ้เล้ง เพราะตอนนี้ไม่ได้มีแค่เจ้เล้งพลาซ่า แต่ยังมีทั้งอะพาร์ตเมนต์ และสวนทุเรียนด้วย อีกทั้งเจ้เล้งยังคิดเรื่องการทำ ‘บ้านพักคนชรา’ โดยบอกว่าที่จริงคิดตั้งแต่อายุ 50 แล้วว่าถ้ามีบ้านพักคนชรา สำหรับคนที่ไม่มีลูกไม่มีครอบครัว ก็สามารถหาเพื่อน ๆ วัยใกล้กันดูแลซึ่งกันและกันได้ ฟัง ๆ ดูแล้วตอนนั้นก็คงเป็นจุดอิ่มตัวของธุรกิจเจ้เล้งแล้วละ แต่กว่าจะถึงวันที่เจ้เล้งวางมือธุรกิจภายใต้ร่มเงาของเจ้เล้งคงสยายปีกไปไกลมากกว่านี้
ภาพ : ร้านเจ้เล้ง ranjaeleng
อ้างอิงเพิ่มเติม :