‘โคจิ ซาโตะ’ ผู้ถูกเลือกที่แบกความหวังพา Toyota โลดแล่นสู่ยุคสมัยใหม่ที่แสนจะท้าทาย

‘โคจิ ซาโตะ’ ผู้ถูกเลือกที่แบกความหวังพา Toyota โลดแล่นสู่ยุคสมัยใหม่ที่แสนจะท้าทาย

ทำความรู้จัก ‘โคจิ ซาโตะ’ซีอีโอคนใหม่ของโตโยต้า ลูกหม้อเก่าที่ถูกเลือกและคาดหวังให้พายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งนี้ก้าวสู่ยุคใหม่

  • แบรนด์รถยนต์เก่าแก่และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์โตโยต้ากำลังถูกท้าทายจากหลายปัจจัย 
  • เมื่อไม่นานมานี้ ‘อากิโอะ โทโยดะ’ หลานของผู้ก่อตั้งโตโยต้าที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอ ประกาศสละตำแหน่งนี้แล้วเลือก ‘โคจิ ซาโตะ’  
  • ว่ากันว่า ‘โคจิ ซาโตะ’ เป็นผู้ถูกเลือกและแบกความคาดหวังไว้มากมาย   

แม้โตโยต้า (Toyota) จะเป็นแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ ได้รับความนิยมทั่วโลกมานานกว่า 85 ปี และคงจะมียอดขายเป็นกราฟที่ไม่น่ากังวลต่อไปได้เรื่อย ๆ อีกหลายปีข้างหน้า - แต่ยักษ์ใหญ่ก็ต้องการอะไรใหม่ ๆ เช่นกัน

‘อากิโอะ โทโยดะ’(Akio Toyoda) ได้ประกาศเตรียมก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของโตโยต้า ในวันที่ 1 เมษายน 2023 พร้อมเลือกส่งไม้ต่อให้กับ ‘โคจิ ซาโตะ’ (Koji Sato) วัย 53 ปี เพราะเชื่อเหลือเกินว่าซาโตะ คือ ‘คนรุ่นใหม่’ และในช่วงเวลาแห่งยุคสมัยใหม่นี้ ‘คนรุ่นเก่า’ อย่างอากิโอะ โทโยดะ ต้องหลีกทางให้ เพื่อให้บริษัทเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อากิโอะ โทโยดะ ซึ่งเป็นหลานของผู้ก่อตั้ง Toyota ได้ทยอยเปลี่ยนบอร์ดบริหารใหม่ ให้เป็นคนรุ่นอายุเฉลี่ย 40 - 50 ปี เขารู้ตัวดีว่า คนวัย 66 ปีอย่างเขาถึงขีดจำกัดในการบริหารงานแล้ว ในตลาดที่ต่อสู้กันดุเดือดเช่นนี้

นั่นทำให้ อากิโอะ โทโยดะ ตัดสินใจลงจากตำแหน่งซีอีโอ และนั่งแค่ตำแหน่งเดียวคือประธานกรรมการบริษัท ส่งต่อตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ให้กับ โคจิ ซาโตะ

แล้วโคจิ ซาโตะคือใครกัน? ทำไมเขาได้รับหน้าที่กุมบังเหียนบริหารค่ายรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดในโลกได้ ทั้งที่เขาไม่ใช่ทายาทตระกูลโทโยดะเลยด้วยซ้ำ

จากวิศวะสู่ซีอีโอ

โคจิ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1969 ปัจจุบันอายุ 53 ปี เขาเรียนจบการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยดังของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1992 หลังจากเรียนจบ เขาเข้าร่วมงานกับ Toyota ทันทีในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกล

เขาเป็นหัวกะทิก็ว่าได้ โคจิ เป็นวิศวกรหนุ่มที่เฉิดฉาย เขาทำหน้าที่ออกแบบรถ Toyota กว่า 3 ทศวรรษ เป็นหนึ่งในทีมออกแบบรถรุ่นตำนาน ทั้ง Prius รถยนต์ไฮบริดตัวดัง และ Corolla รถยนต์ที่ฮอตฮิตในสนามแข่ง ที่เขาคิดค้นให้ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนจนสำเร็จ เพราะเชื่อว่าเป็นอีกทางเลือกพลังงานนอกจากไฟฟ้า (โคจิ ยังเคยเป็นผู้นำทีมแข่งรถของ Toyota อีกด้วย)

เขาเริ่มไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นหัวหน้าวิศวกรของ Lexus International ในปี ค.ศ. 2016 จากนั้น ค.ศ. 2020 เขาได้รับตำแหน่งประธานธุรกิจแบรนด์รถหรู Lexus International และ ประธานของ Gazoo Racing Company แบรนด์รถแข่งของ Toyota ขณะที่ปีที่แล้ว ค.ศ. 2022 เขาได้รับอีกตำแหน่ง คือ Chief Branding Officer ของ Toyota

ก่อนจะเตรียมก้าวสู่ตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของ Toyota ในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้

คนที่ถูกเลือกแม้ไม่ใช่ทายาท

หากลองค้นข่าวของโคจิ ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศการสืบทอดตำแหน่งครั้งนี้ ต้องบอกว่าพบชื่อเขาปรากฏบนกูเกิลน้อยกว่าที่คิดเอาไว้ จะบอกว่าเขาเป็น ‘ม้ามืด’ ก็ไม่เชิง แต่ต้องยอมรับจริง ๆ ชื่อของเขาสร้างเซอร์ไพรส์หลังจากการรอคอยการประกาศมานาน 

อะไรทำให้อากิโอะ เลือกโคจิ? 

แน่นอนว่าความหัวกะทิของเขาเป็นหนึ่งในปัจจัย แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการเป็นผู้บริหารค่ายรถยนต์เบอร์หนึ่งของโลก มันคงต้องมีอะไรมากกว่านั้น

‘Passion’ ความรักในยานพาหนะสี่ล้อน่าจะเป็นเรื่องแรก ๆ เลยที่โคจิโดดเด่น เขาชอบแข่งรถ แม้เป็นผู้บริหารก็มักไปเยี่ยมชมสนามแข่ง หรือชมการแข่งขันเสมอ เขาเคยหลั่งน้ำตาเมื่อรถ Corolla ที่เขาพัฒนาให้วิ่งด้วยไฮโดรเจน ได้ลงสนามแข่งและวิ่งได้ถึงระยะทางที่กำหนดสำเร็จ

‘ไม่ย่อท้อ’ เพื่อนร่วมงานของเขาบอกว่า เขาเป็นคนทำงานหนัก และลงมือปฏิบัติจริงเสมอ เขาจะพยายามจนถึงที่สุด เขาเชื่อว่าหากไม่สู้ถึงที่สุด สิ่งใหม่ ๆ จะไม่มีทางเกิดขึ้น 

‘ฉายแววผู้บริหาร’ เพื่อนร่วมงานของเขาบอกอีกเช่นกันว่า เขาเป็นคนที่มีพลังเสมอและไม่แสดงออกถึงความกังวลให้ผู้อื่นเห็นเลยสักครั้ง นอกจากนั้น เขายังทำงานด้วยปรัชญา เทคนิค และแนวปฏิบัติของ Toyota อย่างเข้มข้น

แนวทางบริหารของซาโตะ

สิ่งที่อากิโอะ คาดหวังให้โคจิทำแน่ ๆ หนึ่งเรื่อง คือการทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจยุทธศาสตร์ Zempo I Senryaku หรือการที่ Toyota จะต้องตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของตลาดและผู้บริโภคให้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องตลาดรถ EV ซึ่ง Toyota ในฐานะผู้นำการผลิตรถยนต์ที่ริเริ่มใช้พลังงานสะอาดควบคู่สันดาปมาโดยตลอด จะต้องหาวิธีการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เหนือกว่า และมากกว่าค่ายอื่น ๆ ให้ได้

และโคจิ จะต้องทรานสฟอร์ม Toyota จากบริษัทผลิตรถ สู่ Mobility Company การผลิตยานพาหนะที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมยานพาหนะที่ต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ๆ ได้ ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ และแน่นอน รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

นอกจากนี้ ความท้าทายของการบริหารงานในยุคโคจิ ยังมีทั้งตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน และการเผชิญหน้ากับภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนผลิตรถสำคัญในยุค Post-Covid ที่ความต้องการใช้รถกลับมาพุ่งสูงลิ่ว

แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ คือเรื่องที่โคจิ ถูกคาดหวังให้คลี่คลาย พร้อม ๆ กับการพาค่ายรถยักษ์ใหญ่ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโลก และแน่นอนว่าหลายคนรอคอยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาในทศวรรษข้างหน้า - แน่นอนว่าอีกเพียง 15 ปีเท่านั้น Totoya ก็จะอายุครบ 100 ปีแล้ว

โคจิ ยอมรับว่า เขาไม่แน่ใจว่าจะทำได้เหมือนประธานคนเก่าหรือไม่…

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อากิโอะ ฝากไว้กับเขาก็คือ “อย่าพยายามเป็นเหมือนผม แต่ให้เห็นคุณค่าความเป็นตัวเอง จงเป็นตัวของตัวเอง” 

.

ภาพ : Toyota, Getty Images

.

อ้างอิง 

.

cnbc

asia.nikkei

asia.nikkei

toyota