แม้เป็นธนาคารทำไมจะ ‘ยั่งยืน’ ไม่ได้ ผ่านมุมมอง ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’

แม้เป็นธนาคารทำไมจะ ‘ยั่งยืน’ ไม่ได้ ผ่านมุมมอง ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’

‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ CEO KBank กับมุมมองการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และ Sustainability ในยุคที่ทุกอย่างต้อง Call to Action เริ่มทำ และต้องทำให้ได้ดี โดยร่วมมือกับ ‘ลอมบาร์ด โอเดียร์’ ธนาคารสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อยกระดับปัญหาสู่ระดับโลก

KEY

POINTS

  • KBank กับ ลอมบาร์ด โอเดียร์ จากสวิตเซอร์แลนด์ จับมือเพื่อช่วยกันสู่ Sustainability Model
  • ถึงยุค Call to Action เพื่อความยั่งยืน และ Net Zero
  • ธนาคารคือ ธุรกิจต้นน้ำ ที่มีอำนาจช่วยเปลี่ยนถ่ายลูกค้าสู่ความยั่งยืน

คำว่า ‘ความยั่งยืน’ เราอาจได้ยินมาแล้วเป็นสิบ ๆ ปี ไม่ว่าจากอุตสาหกรรมไหน แต่ในแง่ของ Action หรือ การปฎิบัติจริง สถานะปัจจุบันของเมืองไทย เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนคงจะตอบได้ไม่ชัดนัก

แต่ในแง่ของสถาบันการเงิน ใครอาจนึกภาพตามไม่ออกว่า การเงินกับความยั่งยืน ควบคู่กันไปได้ไม่ต่างกัน ซึ่งวันนี้ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ก้าวขาเรื่องความยั่งยืนชัดมาก และ The People อยากแชร์บางส่วนจากงานเสวนาด้านความยั่งยืน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ โดย ธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์

แม้เป็นธนาคารทำไมจะ ‘ยั่งยืน’ ไม่ได้ ผ่านมุมมอง ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’

‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้พูดถึง ‘Sustainability’ และเริ่มต้นประโยคที่ค่อนข้างน่าสนใจ เธอบอกว่า วันนี้คงไม่ต้องมาพูดแล้วว่า Sustainability คืออะไร หรือมันสำคัญอย่างไร แต่ด้วยอำนาจที่ภาคเอกชนถือในมือ ต้องมาดูแล้วว่าเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง มันคือยุคของการ call to action แล้ว

โดย ขัตติยา ได้พูดถึง 4 ด้านที่ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีสำหรับการเริ่มต้นทำให้เกิด ‘ความยั่งยืน’ และ ‘Net Zero’ ก็คือ

1. การกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์จากภาครัฐ: การหาคำนิยามที่เหมาะสมกับนโยบายนี้ การตั้งกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้คนอื่นทำตามได้ รวมไปถึงการให้รางวัลกับองค์กรที่ตั้งใจทำ และทำเรื่องความยั่งยืนได้ดี

2. พฤติกรรมผู้บริโภค: ความต้องการของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคสำคัญมาก เพราะมันเป็นตัวเร่งที่จะทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น

3. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม: สำคัญต่อการเปลี่ยนถ่ายไปสู่เรื่อง Net Zero จะทำให้เกิดได้เร็ว

4. การเลือกลงทุนของนักลงทุน: การที่ได้เจอเพื่อนที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน และร่วมกันทำนั้นจะทำให้ Sustainability เป็นจริงได้ และเกิดขึ้นได้เร็วกว่าทำคนเดียว

แม้เป็นธนาคารทำไมจะ ‘ยั่งยืน’ ไม่ได้ ผ่านมุมมอง ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’

“ธนาคารกสิกรไทย สามารถให้เงินลงทุน หรือ สินเชื่อสำหรับกิจกรรมที่ต้องการเปลี่ยนไปสู่ sustainability หรือต้องการสนับสนุนกิจกรรมที่จะทำให้เกิด Net Zero ได้”

“ในฐานะที่เป็นธนาคาร เป็นนักลงทุน เป็นคนที่ให้เงินสนับสนุนเรื่องแบบนี้ได้ ฉันมองว่าเราใช้อำนาจด้านนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิด sustainability ได้ ซึ่งเรามีเป้าหมายที่จะตั้งงบประมาณ 1-2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านนี้ เพราะปัจจุบันก็ปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว 73,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ขัตติยา ได้แชร์ประสบการณ์ช่วงที่ธนาคารได้ไปโรดโชว์ 3 อาทิตย์ แล้วเจอนักลงทุนจากหลากหลายประเทศทั่วโลกกว่า 50 กองทุน ทั้งจากสิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ และ อเมริกา เสียงส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า สำหรับ KBank ก้าวขาไปสู่ Sustainability หรือยัง?

นอกจากนี้ fund manager ที่ได้พูดคุยกับ KBank ยังถามถึงการสแกนพอร์ตโฟลิโอของลูกค้าว่า แต่ละรายมีความลำบากในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะหากเป็นอย่างนั้น ธนาคารกสิกรไทยก็จะลำบากไปด้วย เพราะลูกค้าขายจของไม่ได้ ธนาคารก็จะไม่ได้เงินต้นคืน นี่คือสิ่งที่คนระดับโลกเขามองเกี่ยวกับความยั่งยืนในวันนี้

นอกจากเรื่องความยั่งยืน ประเด็น Net Zero ในมุมของสถาบันการเงิน เหล่า fund manager ทั่วโลกต่างก็กังวล และปฏิเสธที่จะรับนัดธุรกิจที่มีโอกาส หรือมีความเสี่ยงที่จะสร้าง Carbon Emission

ขัตติยา พูดย้ำว่า “ถ้าวันนี้เราไม่ปรับตัว จะเกิดความสูญเสียอย่างแน่นอน จะหมดโอกาสในการหาตลาดใหม่ ๆ รวมไปถึงโอกาสที่เคยมีอยู่ก็อาจจะหายไปด้วย เราจะสูญเสียความสามารถในการทํากําไร เพราะเราแข่งขันไม่ได้ แต่ถ้าเราปรับตัว นอกจากจะเป็นโอกาสที่ดีแล้ว จะเป็นการสร้างแบรนด์ของบริษัท จนไปสู่การสร้างรายได้ต่อเนื่องในระยะยาวด้วย”

CEO ของธนาคารกสิกรไทย ยังได้พูดถึง จุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Sustainability ไม่ว่าจะตั้งเป้าไว้อย่างไร แต่ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน เริ่มที่บริษัทของตัวเองก่อน อย่าง KBank ที่ตั้งเป้าให้ตัวเองบรรลุ Net Zero ในปี 2030 ซึ่งระหว่างทางก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ปัจจุบันเรียกว่า ธนาคารกสิกรไทย พยายามทำทุกทางที่จะวางเส้นทางตัวเองให้ไปสู่จุดนั้น

อย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทยทำ Solar Rooftop ที่สาขา, รถยนต์ของธนาคารเองก็กำลังทำให้เอื้อต่อเป้าหมาย Net Zero หรือแม้แต่การตั้งเป้าที่จะสแกนพอร์ตโฟลิโอ ‘กลุ่มลูกค้า’ ของธนาคารกสิกรไทยให้เป็น Net Zero จนไปถึง ความร่วมมือกับภาคธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งธนาคารกสิกรไทยและกรุงศรี ร่วมกันร่างเจตนารมณ์ช่วยกันเปลี่ยนผ่านลูกค้าไปสู่ Net Zero ด้วยกัน ซึ่งได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว

เท่าที่ฟังมาในงานดังกล่าว รู้สึกได้ว่า ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องปรับตัวเรื่องความยั่งยืน แต่ธนาคารเอง ในฐานะที่เป็น ‘ต้นน้ำ’ ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะคนที่รอดในสมรภูมิโลกเดือดนี้ ไม่ใช่คนเก่งที่อยู่รอดเพียงผู้เดียว แต่เป็นทุกคนที่ช่วยกันในเรื่องที่เชี่ยวชาญ จึงเป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้ที่ ธนาคารกสิกรไทย ได้จับมือกับ ‘ลอมบาร์ด โอเดียร์’ ธนาคารสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

*หมายเหตุ: ข้อมูลในบทความนี้มาจากงานเสวนาด้านความยั่งยืน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567

 

ภาพ: KBank