B2 ไอเดียจากโมเดล ‘อะพาร์ตเมนต์พลัส’ เริ่มธุรกิจเพราะอยากเข้าถึง ‘นักเดินทาง - เซลส์แมน’

B2 ไอเดียจากโมเดล ‘อะพาร์ตเมนต์พลัส’ เริ่มธุรกิจเพราะอยากเข้าถึง ‘นักเดินทาง - เซลส์แมน’

การเติบโตของโรงแรม B2 ผ่านมุมมองของผู้ก่อตั้ง ‘พิชัย จาวลา’ และน้องชายคนที่ 2 ก่อนร่วมกันบริหารทั้ง 3 พี่น้องในปัจจุบัน จากธุรกิจรุ่นพ่อแม่กระโดดมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในวันที่ความรู้ในตลาดนี้เป็นศูนย์ เรียนรู้ความพยายาม และอุปสรรคกว่าจะเป็น B2 ได้ที่บทความนี้

  • ‘พิชัย จาวลา’ ผู้ก่อตั้ง B2 พยายามศึกษาและเรียนรู้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากวันที่ความรู้เป็นศูนย์ จนกลายเป็น case study ที่นักธุรกิจโรงแรมพูดถึงบ่อย ๆ
  • B2 ในแบบของ พิชัย และพี่น้องอีก 2 คน อะไรตัดได้ต้องตัด เพื่อทำให้ราคาห้องพักถูกลงอีก แนวคิดมาร์เก็ตติ้งแบบใหม่
  • พิชัย จาวลา พูดถึงแนวคิดแบบกลับหัว จากคำแนะนำทำให้เป็นกลยุทธ์ในแบบของตัวเอง จนประสบความสำเร็จ

เมื่อเดือนตุลาคม 2566 เราน่าจะเคยเห็นข่าวผ่านตามาบ้างเกี่ยวกับ ‘เครือโรงแรม B2’ ที่ปรับทิศทางธุรกิจครั้งใหญ่ ยอมขายแฟรนไชส์ B2 อย่างจริงจังครั้งแรก (หลังทดลองตลาดมา 4 - 5 ปีที่ผ่านมา)

และอย่างที่ทราบกันว่า B2 เป็นเครือโรงแรมราคาประหยัดที่ติดอยู่ใน recommended lists มาตลอดสำหรับขาจร ที่ต้องการหาที่พักชั่วครั้งชั่วคราว โดยไม่จำเป็นต้องหรูหรา หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มัน extra ไปจากพื้นฐาน

สมัยก่อนอนุสรณ์โรงแรมเก่าเยอะมาก

B2 ก่อตั้งขึ้นโดย ‘ตระกูลจาวลา’ ครอบครัวนักธุรกิจขายผ้าจากเชียงใหม่ (รุ่นพ่อแม่) แต่มาเริ่มโฟกัสตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่รุ่นลูก ๆ ซึ่งตอนนั้นก็มีหัวเรือนำทัพอย่างพี่คนโต ‘พิชัย จาวลา’ และน้องคนกลาง ‘วสันต์ จาวลา’ ที่ช่วยกันศึกษาธุรกิจนี้ช่วงแรก ๆ ส่วนน้องคนที่ 3 อย่าง ‘ดร.นิรันดร์’ เข้ามาช่วยธุรกิจทีหลังเพราะยังเรียนอยู่

‘พิชัย’ ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกโรงแรม B2 ได้ให้สัมภาษณ์กับ Property Expert Live เขาพาไปย้อนถึงยุคแรก ๆ ที่เริ่มทำธุรกิจ ทั้งยังแชร์วิธีคิดตอนนั้นด้วยเกี่ยวกับที่มาของ B2 ผู้เขียนคิดว่ามีหลาย ๆ แง่คิดที่น่าสนใจ จึงอยากหยิบบางส่วนของบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาแชร์ให้อ่านกัน

พิชัยได้พูดถึงสมัยก่อนว่าตลาดอสังหาฯ ยังไม่อิ่มตัว ยังมีช่องโอกาสเยอะมาก ซึ่งก็น่าจะเป็นไอเดียเริ่มแรกที่ทำให้พี่น้องตระกูลจาวลาสนใจธุรกิจนีขึ้นมา ผู้เขียนคิดว่าอาจจะเพราะเขาเชื่อมโยงไปถึงยุคก่อน ๆ ตามความเชื่อที่มองว่า การมีที่ดินเยอะถือว่าเป็นเรื่องดีเป็นการออมเงินอย่างหนึ่ง

และนั่นจึงทำให้พิชัยและวสันต์ อยากจะพัฒนาที่ดินแต่ละผืนมาต่อยอดเป็นเม็ดเงินต่อ ๆ ไป ซึ่งเขาได้พูดในบทสัมภาษณ์ว่า “ผมคิดอยู่แล้วว่าจะพัฒนาเป็นโรงแรม เพราะอะพาร์ตเมนต์มันดูธรรมดาไป แต่ในเชียงใหม่ตอนนั้นเป็นจังหวัดที่จะคึกคักเฉพาะช่วง high season แล้วก็มีโรงแรมใหญ่ ๆ เยอะมาก”

ว่าด้วยเรื่อง ‘โรงแรมใหญ่สมัยก่อน’ จุดนี้พิชัยได้อธิบายเพิ่มว่า ในจังหวัดเล็ก ๆ หลายที่ เช่น ลำปาง บุรีรัมย์ หรือแม้แต่ในเชียงใหม่เอง จะมีโรงแรมใหญ่จำนวนมาก ที่ถูกทิ้งเป็นอนุสรณ์เพราะสร้างไว้นานแล้ว แล้วก็เก่ามากแล้ว ปล่อยไว้จนเกือบจะร้างเพราะไม่มีคนมาใช้บริการ

“ผมมองเรื่องนี้ว่าเป็นความไขว้เขวของยุคนั้น เพราะในมุมมองสมัยนั้นถ้าเราย้อนกลับไปคิด เรายังมองเลยว่า โอ้โห! สร้างได้ยังไงใหญ่ขนาดนั้น แล้ววันนี้ก็แทบไม่มีใครมาใช้บริการแล้ว

“เหมือนตอนนั้นคนจะรู้สึกว่า ที่ดินมันจะหมดแล้ว และจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ต้องใช้ที่ดินให้คุ้มที่สุด สร้างสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่ที่สุด เราจึงเห็นโรงแรมขนาดใหญ่เยอะ เพราะเขาใช้เต็มพื้นที่ที่มี”

หากย้อนไปในยุคนั้น จะว่าไป B2 ก็เกือบจะมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่แล้วในย่านสุขุมวิท แต่โชคดีที่พิชัยไหวตัวทัน ยังไม่กล้าลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่หลักร้อยล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินตรงย่านนั้น แต่เขากลับไปเริ่มต้นธุรกิจที่เชียงใหม่ด้วยพื้นที่สเกลธุรกิจเล็กลง เพื่ออย่างน้อย ๆ ก็ได้ลองทดลองตลาดก่อน

 

B2 กับไอเดีย ‘อะพาร์ตเมนต์พลัส’

คำว่า ‘อะพาร์ตเมนต์พลัส’ ในมุมของพิชัยก็คือ เป็นธุรกิจที่มากกว่าอะพาร์ตเมนต์ปกติ เกือบจะคล้าย ๆ โรงแรมแต่ยังไม่ขนาดนั้น

“ช่วงที่ผมกลับไปที่เชียงใหม่ เราศึกษาเรื่องอสังหาฯ อย่างจริงจัง จนวันหนึ่งคุณวสันต์เขาไปอะพาร์ตเมนต์หนึ่ง คอนเซ็ปต์ก็คือ B2 นี่แหละ ซึ่งตอนนั้นมีคนทำแล้วนะครับ เราไม่ใช่คนคิดคนแรกนะ

“คุณวสันต์มาเล่าให้ผมฟัง คิดว่าน่าสนใจ เรา 2 คนพี่น้องจึงไปดูสถานที่จริง มันจะคล้ายกับเป็นอะพาร์ตเมนต์พลัส ก็คือห้องเล็ก ๆ เหมือนอะพาร์ตเมนต์ แต่พอลงมาก็จะมีล็อบบี้ใหญ่หน่อย พนักงานมียูนิฟอร์มเหมือนโรงแรม ส่วนค่าบริการก็ 500 - 600 บาทต่อคืน

“เราคิดว่าโมเดลแบบนี้น่าสนใจและตลาดก็ยังมีช่องว่างอยู่ เราเห็นว่าทั่วประเทศยังมีเซลส์แมนเดินทางอยู่ไปทุกจังหวัด แล้วก็ต้องไปพักตามอะพาร์ตเมนต์แบบนี้ ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ก็เก่า บางทีพรมเก่าแล้วก็เหม็นด้วย แต่ก็ต้องยอมจ่ายเพราะราคาคืนละ 300 - 400 บาท

“เพราะคำว่าโรงแรมในสมัยนั้นถือว่ายังแพง คืนหนึ่งก็เป็นพัน ราคาแบบ 800 - 900 ก็ยังหายากเลย ซึ่งราคานั้น เซลส์แมนเขาจ่ายไม่ได้ เพราะเขาจะได้งบมาแค่ 300 - 500 บาท เราก็เลยเริ่มจากตรงนั้น”

ทั้งนี้ มีประโยคหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนเซอร์ไพรส์เหมือนกัน คือที่พิชัยเล่าว่า โครงการแรก ๆ ที่ก่อสร้างขึ้นยังไม่ได้ใช้ชื่อ B2 นะ ใช้ชื่ออื่นเรื่อยเปื่อยตามที่คิดออก ซึ่งชื่อนี้คงต้องยกเครดิตให้กับ ‘วสันต์’ ที่จู่ ๆ ก็คิดคำว่า B2 ขึ้นมาได้ คือมาจากคำว่า Boutique & Budget ซึ่งก็ลงตัวด้วยชื่อนี้ จึงเริ่มใช้ชื่อ B2 ในโครงการที่ 3

ซึ่ง 2 โครงการแรกที่แถวคันคลอง และสันผีเสื้อ คือ 2 โครงการแรกที่เรียกว่าเป็นช่วงลองผิดลองถูกของ B2 ทุกวันนี้ เพราะครั้งแรก ๆ พิชัยเริ่มโครงการห้องพักด้วยจำนวน 100 - 140 ห้อง และถ้าถามว่า ‘ทำเล’ ดีหรือไม่สำหรับสมัยก่อน ตอบได้เลยว่า ไม่!

“สำหรับผมโครงการที่ 1 และ 2 ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะมันอยู่ไกลเกินไป และห้องพักก็เยอะเกินจำเป็น เราใช้พื้นที่เยอะไป

“พอมาโครงการที่ 3 ตอนนั้นกระแส ‘บูติก’ กำลังมา เราก็เลยเอาโมเดลนี้มาทำเป็นธีมบูติก และสร้างแค่ 79 ห้อง ลดราคาจากที่เขาขาย 1,000 - 2,000 บาทต่อคืน เราก็อยู่ที่ 500 - 600 บาทต่อคืน โครงการนี้เริ่มลงตัวทั้งทำเล และไซซ์

“ที่จริงเริ่มแรกธุรกิจสำหรับผมไม่ได้ทำเลดีนะ แต่เราทำได้เพราะคู่แข่งไม่มี เราก่อสร้างในซอยเล็ก ๆ ก็มีมาแล้ว และตอนแรก ๆ ไม่มีใครสนับสนุนเลย ไม่ยอมให้ทำโรงแรมด้วยซ้ำ เพราะมองว่ากำไรมันน้อย ถ้าจะทำโรงแรมให้ทำแบบ 4 ดาว 5 ดาวไปเลย”

แต่ไม่ว่าจะด้วยความดื้อรั้นลึก ๆ ของพิชัย หรือเพราะด้วยความมั่นใจว่าศึกษามาพอสมควรแล้ว จึงทำให้เขามุ่งมั่นในการตัดสินใจครั้งนั้นเต็มที่ ซึ่งเขาบอกว่า ทุกครั้งเวลาที่มีไอเดียทำธุรกิจอะไรก็จะใช้วิธีปรึกษากับคนเยอะ ๆ กับนักธุรกิจอยู่แล้ว และเขาจะมาตกผลึกกับตัวเองอีกครั้งก่อนลงมือ

ผู้เขียนชอบประโยคหนึ่งจากพิชัยที่แชร์ว่า “นักธุรกิจส่วนใหญ่จะคิดแบบเดียวกัน คิดคล้ายกัน เช่น ลองปรับตรงนี้หน่อยสิ ลองเพิ่มสระว่ายน้ำสิ เผื่อสปาจะเข้า เผื่อธุรกิจกลุ่มอื่นจะเข้า แล้วก็ไปเส้นทางเดียวกัน สุดท้ายก็ไปแข่งกันเอง

“แต่ตอนที่ผมทำ ผมรู้สึกกลัว เราจะ conservative (อนุรักษนิยม) อยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยค้าผ้าเราก็ใช้โมเดลเดียวกันหมด เน้นที่ซื้อถูกขายเยอะ ผมใช้โมเดลนี้กับโรงแรมด้วย เลยมาคิดว่าด้วยความที่เชียงใหม่เป็น season market เราจะตัดอะไรได้บ้างเพื่อที่จะลดราคาได้

“เราเอามุมมองที่เขาแนะนำ มากลับด้านให้หมด”

สุดท้าย final decision พิชัยพยายามตัดโน่น ไม่เอานี่ ลดสเกลเท่าที่ลดได้ สุดท้ายก็เหลือแค่ล็อบบี้เล็ก ๆ กับห้อง เพื่อที่จะทำให้ราคามันถูกลงได้อีก แล้วธุรกิจยังพอมีกำไรอยู่บ้าง

แม้ว่าพิชัยจะปรับและตัดไปเยอะเพื่อออกแบบโมเดลของตัวเอง แต่ก็ย้ำว่าบางอย่างก็ไม่สามารถปรับลดได้ เช่น อุปกรณ์ในห้อง สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามมาตรฐานไปจนถึงดี

“ธุรกิจ B2 ชื่อนี้เริ่มติดตลาดแล้วตั้งแต่โครงการที่ 4 และ 5 ผมมั่นใจแล้วว่า เส้นทางนี้ โมเดลนี้เราไปถูกทาง เพราะเริ่มมีสื่อมาขอสัมภาษณ์ และเริ่มมีคนที่อยู่กับธุรกิจโรงแรมมาตลอดชีวิตย้ายมาทำงานด้วย”

ผู้เขียนชื่นชอบตรงที่พิชัยมองภาพธุรกิจและความมั่นคงยืนยาวด้วยการสร้าง ‘พื้นฐาน’ ที่มั่นคงก่อน ก็คือว่า สิ่งที่ต้องดีและเป็น priority แรกคือ ‘ห้องพัก’ ที่ลูกค้าทุกคนจะคาดหวัง ต้องดี! เพราะเมื่อมันดีตามคาดหรือเกินคาดหวังแล้ว การขยายธุรกิจจะทำได้เร็วและมั่นคงในระยะยาว ซึ่งมันหมายถึง ‘กำไร’ ที่จะได้เป็นกอบเป็นกำแน่นอน

 

ภาพ : B2 / Pichai Chawla

อ้างอิง :

Thepeople

Youtube

Prachachat