เรื่องราว 51 ปี ‘ช.การช่าง’ ก่อตั้งโดย ‘เจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์’ เริ่มต้นจากตึกแถวเล็ก ๆ สู่บริษัทรับเหมาเบอร์ต้นของไทย

เรื่องราว 51 ปี ‘ช.การช่าง’ ก่อตั้งโดย ‘เจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์’ เริ่มต้นจากตึกแถวเล็ก ๆ สู่บริษัทรับเหมาเบอร์ต้นของไทย

เรื่องราวของ ‘เจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์’ และธุรกิจ ‘ช.การช่าง’ ที่ก่อตั้งมากว่า 51 ปี จากวันที่ครอบครัวหาเลี้ยงชีพในจ.สุพรรณบุรี สู่การเปิดร้านอู่ซ่อมรถในกรุงเทพฯ จนวันนี้กลายเป็นธุรกิจรับเหมารายใหญ่ของประเทศไทย

  • ‘ช.การช่าง’ ก่อตั้งโดย เจ้าสัวปลิว (หรือ ปลิว ตรีวิศวเวทย์) ซึ่งครอบครัวอพยพมาอยู่ประเทศไทยใน จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่เขายังเด็ก
  • เจ้าสัวปลิว เป็นเด็กหัวดี มีโอกาสได้เข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และได้ทุนต่อมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น
  • เขาเริ่มธุรกิจเปิดอู่ซ่อมรถกับพี่น้อง ก่อนขยายมาสู่บริษัทรับเหมารายใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ช.การช่าง’

 

ในประเทศไทยมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างเบอร์ใหญ่ ๆ อยู่หลายรายที่น่าสนใจ หนึ่งในบริษัทที่วันนี้เราจะมาพูดถึงก็คือ ‘ช.การช่าง’ 1 ใน 3 บริษัทรับเหมาของไทยที่เติบโตและมีรายได้หลักพันล้าน ทั้งยังเป็นผู้ก่อสร้างโปรเจกต์ใหญ่ ๆ มากมายในไทย

อย่างโครงการก่อสร้างสถานีและอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT), โครงการรถไฟฟ้า (BTS), โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการปรับปรุงสนามบินดอนเมือง ยังไม่รวมอีกหลายโครงการสาธารณูปโภคนับไม่ถ้วน จุดเริ่มต้นของ ช.การช่าง จริงแล้วเป็นเพียงการลองผิดลองถูกในการทำธุรกิจ และได้แรงบันดาลใจมาจากคนในครอบครัว ช่วยกันทำมาหากินจนธุรกิจเติบใหญ่เป็นอาณาจักรอย่างในปัจจุบัน

 

เด็กหัวดีที่สอบชิงทุนไปญี่ปุ่น

‘เจ้าสัวปลิว’ หรือ ‘ปลิว ตรีวิศวเวทย์’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ช.การช่าง ผู้รับเหมาของไทยเบอร์ท็อป ๆ เจ้าสัวปลิวเป็นคนจีนแต้จิ๋วโดยกำเนิด เกิดวันที่ 10 กันยายน 2488 ปัจจุบันอายุ 78 ปี ครอบครัวของเจ้าสัวปลิวอพยพมาจากเมืองจีนและมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยพ่อแม่ของเจ้าสัวปลิว ได้เช่าโรงสีข้าวในตัวจังหวัด เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่และยึดเป็นอาชีพตั้งแต่นั้นมา

มีข้อมูลบอกว่า พ่อแม่เจ้าสัวปลิวทำอยู่หลายอาชีพแต่ก็ยังไม่พอจุนเจือครอบครัว ขณะเดียวกัน เจ้าสัวปลิวมีโอกาสได้เข้าไปสอบชิงทุนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ เพราะครูในโรงเรียนที่สุพรรณบุรีเห็นแววว่า เจ้าสัวปลิวเป็นเด็กหัวดีและตั้งใจเรียน จึงอาสาเป็นคนพาไปสอบที่กรุงเทพฯ

หลังจากที่เจ้าสัวปลิวสอบติดในปี 2495 พ่อแม่ก็ตัดสินใจย้ายทั้งครอบครัวมาอยู่กรุงเทพฯ และเริ่มต้นทำธุรกิจอู่ซ่อมรถเป็นอาชีพหลักของครอบครัว เหตุผลเพราะว่าพ่อและพี่ ๆ ของเจ้าสัวปลิวชอบการซ่อมรถอยู่แล้ว จึงลองทำเป็นอาชีพ ซึ่งในสมัยนั้นก็ยังมีร้านที่รับซ่อมรถไม่มากนัก

ทั้งนี้ เจ้าสัวปลิวถือว่าเป็นคนที่เรียนสูงที่สุดในบรรดาพี่น้องตระกูลตรีวิศวเวทย์ เขามีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่ประเทศญี่ปุ่น ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยโอซากา โดยเจ้าสัวปลิวสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘ทุนมง’ (Monbukagakusho (MEXT) Scholarship) เป็นทุนการศึกษาเต็มจำนวน และไม่จำกัดสาขา

จุดเริ่มต้นช.การช่าง

ในระหว่างนั้นจากเดิมที่ธุรกิจครอบครัวเป็นอู่ซ่อมรถเล็ก ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป หลังจากที่เจ้าสัวปลิวเรียนจบและกลับไทยมาเพื่อทำธุรกิจที่บ้าน แต่เขาได้ปรึกษากับพี่น้องแล้วจึงตัดสินใจเปลี่ยนร้านซ่อมรถให้เป็นบริษัทที่รับสร้างสิ่งก่อสร้าง และขยายธุรกิจของที่บ้านให้ใหญ่ขึ้น

ในปี 2515 เจ้าสัวปลิวและพี่น้องได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า ‘บริษัท ช.การช่าง จำกัด’ หรือ CK (แล้วมาเปลี่ยนเป็น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 10 ตุลาคม 2537)

ช.การช่าง ในยุคนั้นยังเป็นเพียง ‘ตึกแถว 2 ชั้น’ ที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน โดยหลัก ๆ ก็จะเป็นเจ้าสัวปลิว กับพี่น้องเป็นคนลงมือทำ ถือเป็นโชคดีอีกอย่างที่ตอนนั้นประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนประเทศปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่ง ซึ่ง ช.การช่าง เริ่มเข้าไปมีบทบาทรับงานก่อสร้างด้านงานโยธา และงานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ  มากขึ้น

เจ้าสัวปลิว ถูกพูดถึงในฐานะที่เป็นผู้ที่นำวิชาความรู้ ความสามารถด้านวิศวกรรม ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการศึกษาและการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น นำมาปรับปรุงและปรับใช้กับธุรกิจ ช.การช่าง ให้ประสบความสำเร็จ

ปัจจุบันมีอีกหลายโครงการที่ก่อสร้างโดย ช.การช่าง และอยู่นอกเหนือจากที่ยกตัวอย่างมาข้างบน เช่น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนน้ำงึม 2, การเจาะอุโมงค์ผันน้ำด้วยวิธีการเจาะระเบิดด้วยรถเจาะจัมโบ้, โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นการออกแบบการก่อสร้างที่ประกอบด้วยฝายทดน้ำ, โรงไฟฟ้า รวมถึงช่องทางเดินเรือ, ช่องระบายตะกอน และทางปลาผ่านตามมาตรฐานสากลที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ของเจ้าสัวปลิวที่ติดตัวมาตั้งแต่เรียนที่ญี่ปุ่น

คาแรคเตอร์เด่นของเจ้าสัวปลิว เขาเชื่อในเรื่องการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘ช.การช่าง’ เติบโตเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของไทยอย่างทุกวันนี้ เขามักจะร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้างและเทคโนโลยีการก่อสร้าง อย่างที่ผ่านมา ช.การช่าง ได้ร่วมทุนกับ บริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด ท็อป 10 ของญี่ปุ่นด้านงานก่อสร้าง

นอกจากนี้ยังมี บริษัท บิลฟิงเกอร์ เอจี จำกัด จากเยอรมนี, บริษัท เธมส์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งความรู้ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมานั้นทำให้ ช.การช่าง สามารถดำเนินงานก่อสร้างที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการก่อสร้าง

ทั้งนี้ เจ้าสัวปลิว เคยติดเป็น 1 ใน 50 มหาเศรษฐีคนไทย และมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 425 ล้านบาท ในปี 2558 จากการจัดอันดับของ Forbes

แม้ว่าปัจจุบัน ช.การช่าง ได้ส่งไม้ต่อให้กับลูก ๆ อย่างลูกสาวคนโต ‘ดร.ศุภมาส ตรีวิศวเวทย์’ ที่รับหน้าที่คุมธุรกิจระบบราง รถไฟฟ้าใต้ดิน และระบบถนน ทางด่วน ส่วนลูกชายคนที่ 2 ‘ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์’ ที่รับหน้าที่คุมธุรกิจโรงไฟฟ้า และลูกชายคนเล็กก็คือ ‘ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์’ ที่ดูแลธุรกิจโฆษณาของรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่เรื่องราวของ เจ้าสัวปลิว ถือเป็นไอคอนิกของ ช.การช่าง ที่เฟื่องฟูมาก ๆ จนถึงตอนนี้ ทั้งยังเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของไทยที่มีแนวคิดน่าสนใจสร้างโมเดลหารายได้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

 

ภาพ : ช.การช่าง

อ้างอิง :

Ch-karnchang

Graduation.rmutt

Forbes

Set

ฺBangkokbiznews

Longtunman

Prachachat